นาฬิกาขันธ์ห้า

จิตเหมือนนาฬิกา ขันธ์ห้าเหมือนเฟือง

ถ้าจิตทำงานเหมือนนาฬิกา
ขันธ์ห้าก็เหมือนเฟืองนาฬิกา

เพราะจิตของเรานี้
มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่
โดยผ่านการรับรู้ของระบบประสาททั้ง ๕
คือ ประสาททางตา หู จมูก
ลิ้น กาย และใจ

เมื่อไปกระทบกับรูป เสียง
กลิ่น รส สมผัส อารมณ์
แล้วก่อให้เกิด รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ

โดยอาศัยระบบประสาทวิญญาณ
รับรู้ผ่านทางอายตนะทั้งหก
เป็นตัวรับข้อมูลให้

แล้วส่งให้แก่จิต
จดเป็นฮาร์ดดิสก์
เก็บข้อมูลอีกทีหนึ่ง

แล้วแปลงข้อมูลที่รับมา
นำออกมาใช้เป็นหน้าที่ต่างๆ
โดยผ่านทางความคิด
เรียกว่า “ขันธ์” คือรูปขันธ์

ได้แก่ ภาพที่เกิดจากจินตานาการ
แล้วเกิด เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์
สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
รวมเรียกว่า “จิต”

นาฬิกาบอกเวลา จิตบอกความคิด

ความคิดแต่ละครั้ง
เป็นผลรวมของทุกขันธ์
ที่ทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติ
 
เหมือนกับการทำงานของนิ้วมือ
ซึ่งจำลองมาจาก
การทำงานของขันธ์ห้านั้นเอง
 
ดังนั้น นิ้วมือนิ้วเท้ามนุษย์
จึงมีแค่ห้านิ้ว
ถ้ามากหรือน้อยกว่านั้น
ถือว่าผิดปกติ
 
พอคิดปั๊ป เรื่องราวก็ปรากฏทันที
เหมือนกับการทำงานของนาฬิกา
 
เฟืองแต่ละตัวของ Clock Machine
ข้างในมันหมุนติกๆ
มันทำงานไปวันละ ๒๔ ชั่วโมง
 
แม้เฟืองทุกตัวของมัน
จะหมุนอยู่กับที่ก็ตาม
 
แต่ว่าเข็มนาฬิกามันหมุนไปเรื่อยๆ
บอกเวลาเป็นหน่วยวินาที นาที
เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี
เป็นหลายปี
 
มันบอกเรื่องราว
และเหตุการณ์ต่างๆ
 
แต่ว่าฟันเฟืองที่หมุนอยู่กับที่
มันไม่เคยบอกอะไร
มันเพียงทำหน้าที่หมุนอยู่เท่านี้

กาย วาจา ใจ เป็นเข็มบอกเวลา

ลูกตุ้มของมันทำงานตามหน้าที่ฉันใด
จิตหรือขันธ์ทั้งห้าของเรา
ก็เหมือนเฟืองนาฬิกาฉันนั้น
 
ทำให้เกิดระบบการทำงานของจิต
อันอาศัยเฟืองทั้งห้า คือ นามรูป
ที่รวมเอา รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ เข้าด้วยกัน
แล้วแปลงออกมาเป็นความคิด
สามารถคิดได้สารพัดอย่าง
 
ทวารทั้งสาม คือ กาย วาจา ใจ
ก็เหมือนเข็มวินาที เข็มนาที เข็มชั่วโมง
มันจะบอกเวลาได้ตลอดไป
เป็นกัปป์เป็นกัลป์
 
ดังนั้น การเจริญสติ
ทำให้เราเกิดญาณปัญญา
และสามารถจัดการกับความคิดได้
 
เราจะต้องรู้จักโครงสร้างของจิตเสียก่อน
ว่าความคิดเกิดจากอะไร?
มันประกอบด้วยอะไร?
ความคิดเริ่มต้นทำงานอย่างไร?
สิ้นสุดอย่างไร?
 
ในขณะที่เราคิด
เราเคยเห็นความคิดของตัวเองบ้างไหม?
ความรู้สึกกับความคิดต่างกันอย่างไร?
เราต้องตอบปัญหาเหล่านี้ให้ได้ก่อน
 
ถ้าไม่แจ่มแจ้งกับคำถามหล่านี้
เราจะปฏิบัติวิปัสสนาไป
ด้วยความสงสัยและท้อแท้
และล้มเลิกในที่สุด

Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)