เวทนาปริคคหสูตร

 

พระพุทธยานันทภิกขุหลวงพ่อมหาดิเรกพุทธยานันโทDirekSaksithDevaNandaการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวแนวหลวงพ่อเทียนจิตตสุโภBuddhismVipassanaวิปัสสนาศาสนาพุทธพุทธศาสนา

เวทนา ทางลัดสู่ประตูนิพพาน

พระสารีบุตรบรรลุธรรมเพราะฟังธรรมชื่อเวทนาปริคคหสูตร พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาของพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาเป็นเลิศกว่าทุกองค์ ใกล้คียงกับพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อโมคคัลลานะ พากันไปแสวงหาอาจารย์ แล้วไม่ได้อย่างใจ ไม่มีอาจารย์ไหนที่ตอบคำถามได้อย่างถูกใจ

ตอนนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีทั้งห้าแล้วบรรลุธรรมพร้อมกัน แล้วท่านก็แยกย้ายกันไปประกาศศาสนา ทางละองค์ บังเอิญว่าท่านอัสสชิผ่านหมู่บ้านของท่านสารีบุตร ตอนนั้นท่านเป็นคฤหัสถ์ชื่อว่าอุปติสสะ แล้วอุปติสสะกำลังสัญญากับเพื่อนๆว่าเราแยกทางกันเดินไปแสวงหาอาจารย์เดินคนละทาง ถ้าหากว่าใครเจออาจารย์ดีกว่าก็มาบอกกัน เช้าวันนั้นพระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ อุปติสสะเห็นว่าพระรูปนี้เดินแปลกกว่าเพื่อน เดินสบายสำรวมไม่หลุกหลิกไม่กระวีกระวาด ไม่รีบร้อน และไม่ช้าเกินไป ก็เลยตามไปติดๆ จะเข้าไปถามปัญหาท่าน แต่เวลาบิณฑบาตเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม ท่านจึงตามไปห่างๆ เมื่อพระอัสสชิบิณฑบาตได้มาพอสมควร ท่านก็มานั่งฉันใต้ร่มไม้ ในสมัยนั้นยังไม่มีวัดวาอาราม อุปติสสะก็นั่งอยู่ใกล้ๆ พอเห็นว่าท่านทำภารกิจในการฉันเสร็จแล้ว ก็เข้าไปถามว่า ท่านมาจากสำนักไหน อาจารย์ของท่านชื่ออะไร และอาจารย์ของท่านสอนธรรมอะไรแก่ท่าน พระอัสสชิก็บอกว่าอาตมาเป็นพระใหม่เพิ่งบวช และเพิ่งฟังธรรมมาจากอาจารย์ของเรา เพราะฉะนั้นจะตอบคำถามท่านทั้งหมดไม่ได้หรอก อุปติสสะจึงขอร้องให้พูดสักนิด ท่านก็พูดเป็นภาษาของท่าน “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณฯ” คาถานี้ชาวพุทธต้องจำได้ดี อาจารย์ของฉันสอนว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าจะทำให้มันดีก็ทำที่เหตุ ถ้าจะทำให้มันเสียก็เสียที่เหตุ ทำให้มันเกิดก็เกิดที่เหตุ ทำให้มันดับก็ดับที่เหตุ อาจารย์ของฉันสอนอย่างนี้ โอ ใช่แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม ง่ายอะไรขนาดนั้น ก็อาจจะมีการสนทนากันยาวกว่านั้น แต่ว่าในคาถาท่านว่าไว้แค่นั้น ท่านก็อธิบายตามหลักของท่าน

 

มิจฉาสมาธิเหตุแห่งถีนมิทธะ

พอท่านได้ดวงตาเห็นธรรมก็เลยถามว่าอาจารย์ท่านอยู่ไหน แต่ว่าผมยังไปพบท่านไม่ได้ผมยังมีเพื่อนอีกคน ได้นัดหมายกันไว้คือท่านโมคคัลลานะ แต่ตอนนั้นท่านเป็นคฤหัสถ์ชื่อ โกลิกะ หลังจากเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ท่านโกลิกะฟัง ก็ปรากฏว่าท่านโกลิกะเข้าใจได้ดวงตาเห็นธรรม ทั้งสองจึงพากันไปพบพระพุทธเจ้า หลังจากพบพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านโกลิกะกับท่านอุปติสสะก็ขอบรรพชากับพระพุทธเจ้า ทั้งสองท่านก็มีเพื่อนฝ่ายละร้อยสองร้อยคน ไปชวนเพื่อนมาฟังธรรมอีก ปรากฏว่าเพื่อนที่ติดตามมาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมก่อน เพราะทั้งสองท่านมัวแต่ขวนขวายที่จะให้ลูกน้องตัวเองมาฟังธรรม พอเห็นว่าเพื่อนที่ชวนมาบรรลุธรรมหมดแล้ว แต่เรายังไม่ได้อะไร แค่ได้ดวงตาเห็นธรรม แค่ฟังธรรมเข้าใจ จากนั้นพอบวชได้เจ็ดวัน โมคคัลลานะก็เลยขอพระพุทธเจ้าปลีกวิเวก ไปเจริญสติคนเดียว วันที่หนึ่งก็ง่วง วันที่สองก็ง่วง พระพุทธเจ้าก็แอบดูอยู่ แต่ในคัมภีร์บอกพระพุทธเจ้าเล็งเห็นญาณว่าท่านโมคคัลลานะนี่ไปปลีกวิเวกอยู่ที่ไหน ท่านก็อาจไปเดินจงกรมอยู่ใกล้ๆ ก็ปรากฏว่าวันที่หนึ่งถึงวันที่หก ท่านง่วงตลอดเลย นั่งพิงต้นไม้ ในที่สุดวันที่เจ็ดท่านก็เข้าไปถาม อ้าว โมคคัลลานะ ทำไมนั่งพิงง่วงตลอดล่ะ ง่วงนักก็ไปเอาดอกหญ้า ไปเด็ดใบหญ้ามาปั่นหู ปั่นไปได้สักพัก ก็นั่งสมาธิไป นั่งทำการเคลื่อนไหวไปสักพักก็หลับอีก พระพุทธเจ้าก็เดินมาใหม่ อ้ะ ลุกขึ้น ไปล้างหน้า กลับมาปฏิบัติได้สักพัก หลับอีกแล้ว ลุกขึ้นเดินจงกรม เดินไปเดินมาสักพัก หลับต่ออีก เอ้า เธอจำคาถาอะไรได้บ้าง จำนะโมครับ ว่านะโมเร็วๆ ดังๆ ท่องไปอย่างนี้ พอนานเข้าๆ ก็แผ่วลงๆ หายไปอีกแล้ว ถ้างั้นท่านบอกมองไปไกลๆ มองไปโน่น ยอดไม้ ใบหญ้า ภูเขา มองไปไกลๆ อย่าไปมองใกล้ตัวเอง เดี๋ยวมันจะง่วง ก็มองโยนสายตาออกไปไกล โยนความคิดออกไปไกล สักพักหนึ่ง ง่วงอีกแล้ว พระพุทธเจ้าบอก เธอไปนอนเดี๋ยวนี้ ไปนอนเลยว่างั้น แต่มีข้อแม้ว่า ต้องนอนยังไง นอนแบบสีหไสยาสน์ แต่ว่าเวลาตื่นแล้วให้ลุกขึ้นทันทีนะ อย่าไปหลับต่อ ทีนี้นอนไปสักพักหน้าฟุบลงกับพื้นเลย เพราะไม่ได้นอนหงาย ตื่นขึ้นมาโพลงเลย บรรลุธรรม ก็ปรากฏว่า ความง่วงทั้งหมดมันหายกระจายไป มันโล่ง โปร่ง สว่างหมดเลย พระโมคคัลลานะทำไมจึงง่วงขนาดนั้น เสริมนิดนึงว่า เพราะในอดีตของท่านเคยเป็นฤาษีมานานหลายภพชาติกัปกัลป์ เพราะฉะนั้นตัวสมาธิที่ติดอยู่ในสันดาน ติดอยู่ในลึกๆ เป็นอาสวะมันไปทับจิต เพราะฉะนั้นคนที่ง่วงหนักๆ ตนเองอาจจะเคยนั่งสมาธิมายาว เป็นฤาษีมาก่อน ก็เลยต้องแก้หลายๆอย่าง แก้ในที่สุดแล้ว มันจะมีจุดหนึ่งมันเกิดโพลงขึ้นมา ก็ปรากฏว่าด้วยที่ท่านมีสมาธิสูง พอท่านได้บรรลุธรรมแล้วท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย

 

เวทนาเหตุแห่งปัญญาของพระสารีบุตร

ทีนี้กล่าวถึงพระสารีบุตรบ้าง หลังจากที่ได้พาเพื่อนมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อนได้บรรลุธรรมกันหมด ตัวเองก็ยังสงสัยอยู่ เพราะเป็นคนฉลาด พระสารีบุตรก็เหมือนนักศึกษาปัจจุบัน เป็นคนฉลาด คิดหาเหตุผลหาผลหาต้นหาปลาย ไปถึงวันที่สิบสี่ ปรากฏว่าลุงของท่านชื่อว่าทีฆนขะอัคคิเวสสนโคตร ก็ตามหาหลาน ตามปกติลุงกับหลานก็แลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกันเป็นประจำ แต่นี่หายไปไหนสิบห้าวัน ก็เลยตามหา ลุงเขาเป็นเจ้าลัทธิ จะเอาหลานมาเลื่อมใสตัวเองให้ได้ แต่ว่าหลานเป็นคนมีเหตุผลมาก เวลาสอน หลานก็มีเหตุผลมาโต้เถียงจนแพ้หลานทุกครั้ง ในที่สุดเมื่อไม่มีใครเป็นคู่สนทนาก็ออกตามหาว่าหลานอยู่ที่ไหน สืบได้ว่าไปบวชกับพระพุทธเจ้าแล้ว ในหน้านั้นเป็นหน้าร้อน พระพุทธเจ้าท่านนั่งอยู่ พระสารีบุตรก็ถวายงานพัดอยู่ข้างหลัง ท่านทีฆนขะเข้าไปถามว่าท่านได้แสดงธรรมอะไรกับหลานของข้าพเจ้าที่ชื่ออุปติสสะมานพที่อยู่ข้างหลังของท่าน พระพุทธเจ้าก็รู้กิตติศัพท์ว่าทีฆนขะเป็นเจ้าสำนัก จึงถามกลับว่าท่านก็สอนเขามาเหมือนกันนี่ ท่านสอนอะไรกับเขา ทีฆนขะก็ตอบ สอนว่าอะไรมันถูกใจสิ่งนั้นก็ถูกต้อง อะไรมันถูกต้องสิ่งนั้นก็ถูกใจ ถ้าหากว่าสิ่งไหนไม่ถูกใจสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง อันไหนถูกใจสิ่งนั้นต้องถูกต้อง อันนี้คือความเชื่อของข้าพเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ทีฆนขะ ถ้าสมมติว่าท่านมีศัตรูคู่เวร ท่านเกิดพอใจที่จะทำร้ายเขา พอใจที่จะฆ่าเขา ท่านไปฆ่าเขาตายเพราะมันถูกใจท่าน อันนี้ถือว่าถูกต้องมั้ย เอ๊ะชักงงแล้ว ไม่มีใครเคยถามย้อนแบบนี้ หรือบางครั้งท่านเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เขาเอาหมอ เอายาขม ยาไม่น่ากินมาให้กิน ท่านอยากจะหายจากโรค แต่ถ้าท่านไม่กิน โรคของท่านจะหายมั้ย ทั้งๆที่ยานี้มันขมมาก ท่านไม่ชอบ เพราะไม่ถูกใจท่าน จนต่อคำถาม ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็สรุปว่า ทีฆนขะ สิ่งที่ท่านเชื่อมันเป็นเพียงความรู้สึกที่เป็นเวทนา ไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นสติปัญญา ความรู้สึกที่เป็นเวทนานั้น ไปสนองความคิดของเรา เพื่อให้สนองตามกิเลสเป็นเวทนา ตรงนี้สำคัญนะ อะไรก็ตามที่เรารู้สึกมันชอบมันอยาก แล้วเราสนองมันทุกครั้ง ตัวนั้นเป็นเพียงเวทนา แล้วก่อให้เกิดสัญชาตญาณ ก่อให้เกิดตัณหา อยากจะทำอะไรทำไปโดยที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ไม่คำนึงถึงเหตุถึงผลถึงต้นถึงปลายที่ถูกต้อง ตรงนั้นมันเป็นเพียงเวทนาไม่ใช่ตัวอริยธรรม

 

เราตถาคตสอนว่าเวทนาเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้

เราตถาคตสอนว่าเวทนาเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต้องกำหนดรู้ ต้องเข้าใจ เพราะเวทนานั้นสามารถก่อให้เกิดสุขก็ได้ เกิดทุกข์ก็ได้ ถ้าก่อให้เกิดความสบายเรียกว่าสุขเวทนา ถ้าก่อให้เกิดความไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา แต่ถ้าหากมันยังไม่ชัดว่าเป็นสุขหรือทุกข์เรียกว่าอทุกขมสุขเวทนา แต่ยังไม่ใช่อุเบกขาเพราะมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้มันยังเป็นรูปและนามรูปได้อยู่ ก็สนทนากันไปอย่างนี้ ทีฆนขะก็ถามทุกประเด็นที่สงสัย พระพุทธเจ้าก็ตอบได้ทุกประเด็น แล้วคนบางคนพอใจที่จะทรมานตัวเองเพื่อจะบำเพ็ญพรต ในสมัยนั้นมันเยอะพวกฤาษีชีไพรทั้งหลาย ทรมานตัวเองด้วยการย่างไฟ เหยียบหนาม กำมือบางทีเล็บทะลุหลังมือแล้วก็ยังไม่ยอมปล่อย ถือว่าเป็นการบำเพ็ญตบะ เขาพอใจที่จะทำ ทั้งๆที่เป็นทุกขเวทนา ท่านว่าถูกหรือผิด มันก็ผิด คือการทรมานตัวเองอันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทำตนให้ลำบาก ไม่ใช่ธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นอันนั้นเป็นเพียงลัทธิความเชื่อเพราะมันเป็นเพียงเวทนา ทำไปทำมาเข้าใจ

คนทุกวันนี้ก็ยังถือลัทธิของทีฆานขะอยู่ อันไหนถูกใจทำตามอันนั้น อันไหนไม่ถูกใจฉันไม่เอาด้วย การปฏิบัติธรรมนั่งสร้างจังหวะ ยกมืออย่างนี้ ถามว่าคนทั่วไปเขาทำได้เขาถูกใจมั้ย ไม่ถูก มันฝืนจะตายไปมันเหมือนกับคนไม่เต็ม พอดูแล้วก็รับไม่ได้ เดินจงกรม เดินไปเดินมาเดินอะไรกันนักหนาทั้งวัน เขาก็ไม่ถูกใจ เขาก็ไม่เอา เขาก็เลิก แต่ว่ายาบางอย่างมันขมและกินนาน โรคนี้ถึงจะหาย ขมก็ต้องฝืนกินทั้งๆที่ๆไม่ถูกใจ แต่ต้องกินครบโดส วันละสามเวลา ถ้าไม่กินโรคก็ไม่หาย เพราะฉะนั้นเวทนาเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำตามแต่ต้องฝืน ถ้ามันไม่ถูกต้องฝืน แต่ถ้ามันถูกต้องทำตามได้ ต้องเช็คก่อน ถ้าเวทนาที่ตรวจสอบแล้วทำตามนั้น เวทนาตัวนั้นกลายเป็นปัญญาเพราะถูกตรวจสอบด้วยสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกนั้นถ้าสติสัมปชัญญะเข้าไปตรวจสอบ แล้วทำตาม เวทนาก็เปลี่ยนเป็นวิชชาหรือเป็นปัญญา แต่ถ้าหากว่าความรู้สึกอันนั้น ไม่ถูกตอบสนองในทางที่ถูก ตอบสนองทันทีโดยไม่มีสติสัมปชัญญะ เวทนานั้นก็เป็นสัญชาตญาณ พอเทศน์กันไป ถกกันไปถกกันมาสองคน ปรากฏว่าคนข้างหลังบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ทีฆานขะที่กำลังซักไซ้ไล่เลียงพระพุทธเจ้าได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ธรรมเทศนากัณฐ์เดียวนี่แต่มีคนบรรลุธรรมสองคนคนละชั้นกัน คนที่ถวายงานพัดอยู่ข้างหลังเป็นพระอรหันต์ แต่คนที่ซักถามอยู่ข้างหน้าเป็นเพียงพระโสดาบัน ธรรมเทศนากัณฐ์นี้จึงไดชื่อว่าเวทนาปริคคหสูตร เหตุที่ท่านมีปัญญามาก เพราะท่านกำหนดรู้เวทนาเสมอ ยิ่งมากเท่าใด เวทนาจะเปลี่ยนแปลงเป็นปัญญาเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ พระสารีบุตรจึงเป็นผู้มีปัญญามาก แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านมีปัญญามาแต่กำเนิด แต่ก็เป็นคนฉลาดคนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่เป็นการเพิ่มความฉลาดที่ถูกต้อง เป็นคนมีสัมมาปัญญา อันนี้จึงว่าทำไมพระสารีบุตรจึงเป็นผู้เลิศในทางปัญญา เพราะฉะนั้นเราอยากจะมีปัญญาเหมือนท่าน ก็ต้องมารู้เวทนาบ่อยๆ กำหนดรู้เวทนา รู้รูปรู้นามบ่อยๆ ปัญญาก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ

Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)

เวทนา สะพานเชื่อมกายและใจ

พระธรรมเทศนา การค้นพบตัวเองคือการค้นพบโลกุตตรธรรม

2 thoughts on “เวทนาปริคคหสูตร

Comments are closed.