สัจจะแห่งชีวิตจิตใจ

ภาคที่ 1

 

สัจจะแห่งชีวิตจิตใจ

 

  1. ทุกอย่างในโลกทั้งหมด มันเริ่มต้นที่เรามีชีวิตจิตใจ เพราะมีเราจึงมีโลก เพราะมีโลก เราจึงเป็นศูนย์กลางของสิ่งมีชีวิต ถ้าไม่มีชีวิตของเราเกิดขึ้น ไฉนเลยจะรู้ได้ว่า โลกนี้มีอยู่จริง

 

  1. รากเหง้าดั้งเดิมของชีวิตจึงประกอบด้วยสิ่ง 2 สิ่ง คือชีวิตกับจิตวิญญาณ ที่ทั่วไปเรียกว่า กายกับใจ หรือรูปกับนาม ธรรมชาติของสองสิ่งนี้ต้องมีที่มาหรือประวัติศาสตร์ ว่ามันเป็นมาอย่างไร หรือเป็นผลผลิตออกมาจากอะไร?

 

  1. เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเราจะนิยามชีวิตที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จะไม่สืบสาวไปไกลถึงอดีตอนาคตอันยาวไกลของมัน ดังนั้น เราจึงตั้งต้นที่ว่ารูปกับนาม หรือกายกับใจ มันเริ่มต้นมาจากสิ่งเดียวกัน คือ “จิตวิญญาณ”

 

  1. เมื่อจิตวิญญาณ ให้กำเนิดชีวิต จึงเรียกมันใหม่ว่า “ชีวิตจิตใจ” แล้วจิตวิญญาณของแต่ละคน ได้ก่อเกิดมาจากพลังงานของธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กรรมหรือมโนกรรม” นั้นคือการเกิดและการดับของธรรมชาติภายใน

 

  1. พลังงานส่วนนี้ ดั้งเดิมกำเนิดมาจากอะไร? เราจะไม่ย้อนหลังไปไกลกว่านี้ ความจริงขั้นปรมัตถ์กล่าวว่า พลังงานธรรมชาตินี้ ดำรงอยู่ได้ เพราะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา การเคลื่อนไหวนี้เอง ทางพุทธศาสนาให้นิยามว่า “การเกิดดับ”

 

  1. ธรรมชาติของพลังส่วนนี้ มีประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาการมายาวนาน ไม่อาจรู้ว่าเริ่มต้นกันเมื่อไร ที่พระพุทธเจ้าของเราเคยกล่าวไว้ว่า “วัฏฏสงสารนี้ยาวนาน มีเบื้องต้นและที่สุดอันไม่อาจนับได้”

 

  1. ธรรมชาติแห่งพลังบริสุทธิ์นี้ (ศาสนาอื่นอาจจะเรียกว่า“พระเจ้า”) เจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ จากโคตมโคตร หลังจากพระองค์ออกบวชแล้ว ได้ใช้เวลาในการค้นคว้าแสวงหาความจริงเรื่องนี้เป็นเวลา 6 ปี ก็ทรงค้นพบความจริงว่า พลังงานธรรมชาตินี้ อุบัติเกิดขึ้นเพราะกฎ (ออกเสียงคล้ายๆคำว่า GOD) ของจักรวาลสามประการ ที่เรียกต่อมาว่า “ไตรลักษณ์” คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเอง

 

  1. การทำงานของกฎไตรลักษณ์ มี 3 ลักษณะ คือ 1. เปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ (อนิจจัง) 2. ไม่อยู่ในสภาพเดิม แปรปรวน (ทุกขัง) 3. ไม่มีรูปแน่นอน แตกดับแปรเปลี่ยนเป็นรูปใหม่ตลอดเวลา (อนัตตา)

 

  1. ด้วยการงานของธรรมชาติ 3 ประการ จึงก่อให้เกิดอาการของธรรมชาติสากล 2 ประการ คือ “ธรรมชาติเกิดและธรรมชาติดับ” ธรรมชาติถูกเรียกว่าเป็นภาษาบาลีว่า “อุบัติหรืออุปัตติ” คือ เกิดหรือก่อกำเนิด และธรรมชาติที่ดับลงของมันว่า “จุติหรือดับ-หายไป”

 

  1. 1 ธรรมชาติของการเกิดและดับเป็นการทำงานของกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง แต่เนื่องจากมันเป็นกฎของลักษณะที่สาม คือ อนัตตา มันจะไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง มันต้องอาศัยกันเกิดขึ้น พระโคดมพุทธะ จึงเรียกกฏนี้ว่า “นิยาม หรือ ธรรมนิยาม”

 

11. “นิยาม” แปลว่า “ กฎอันแน่นอน” คือ ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ หรือกฎของธรรมชาติ มี 5 อย่าง คือ

  • อุตุนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะ ดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต)
  • พีชนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรม เป็นต้น)
  • จิตนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต)
  • กรรมนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการให้ผลของกรรม-การกระทำ)
  • ธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลของกันและกันแห่งสรรพสิ่งทั้งหลาย)

*พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ประยุตโต)

 

12. ในนิยามทั้ง 5 นั่น คือ กฎของธรรมชาติโดยรวมทั้งจักรวาล แต่ในการนำเสนอในเรื่องนี้ จะขอเป็นเรื่องกฎข้อสุดท้าย คือ “ธัมมนิยาม”      เพื่อให้ประเด็นแคบเข้าสู่เรื่องของหลักวิปัสสนาภาคปฏิบัติโดยเฉพาะ ถ้าไม่จำเป็นจะไม่อ้างตำรา

 

  1. การทำงานของกฎธรรมชาติที่เรียกว่า ธัมมนิยาม เกิดจากการทำงานของนิยามทั้ง 4 ย่อเข้าเหลือ 3 คือการทำงานของพีชนิยาม และอุตุนิยาม เรียกว่า “รูป” สร้างการเกิดขึ้นของรูปหยาบ การทำงานของจิตนิยามและกัมมนิยาม เรียกว่า “นามรูป” คือการแปรเปลี่ยนจากรูปหยาบมาเป็นรูปละเอียด การทำงานของธัมมนิยาม คือทำให้ทั้งรูปหยาบและรูปละเอียดกลับมาเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่เรียกว่า “จุติ” หรือ “ดับ” เรียกว่า “นิพพาน” เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานปรมัตถ์ หรือเรียกว่า “โลกุตตรธรรม”

 

  1. กลไกลการทำงานของธรรมชาติที่เริ่มขึ้นเป็นชีวิตจิตใจ เริ่มต้นอย่างไร? ดังได้บอกแต่ต้นแล้วว่า “เราจะเริ่มต้นกันขณะปัจจุบัน” สามารถจับประเด็นไหนขึ้นมาเริ่มต้นก่อนก็ได้ เพื่อสะดวกแก่การเจริญธรรมวิจัยไปสู่ธรรมนิยาม ตามหลักวิปัสสนาต่อไป

 

  1. เริ่มต้นกันที่ลมหายใจ เป็นธรรมชาติที่เป็นตัวกลางของธาตุที่ 6 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ ลมจึงเป็นตัวเชื่อมระหว่างรูปหยาบ รูปกลาง รูปละเอียด เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน และลมก็อาศัยอากาศธาตุเป็นตัวกลางนำไปสู่วิญญาณธาตุ และลมก็อาศัยอากาศธาตุนำไปสู่ธาตุฝ่ายรูปหยาบอีกสามตัวได้ด้วย เพราะธาตุลมและอากาศเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน และอากาศธาตุก็เป็นเหตุปัจจัยของวิญญาณธาตุไปด้วย

 

  1. คนเราเมื่อสิ้นลมหายใจ ก็ถือว่าสูญสิ้นหมดทุกธาตุในด้านรูปธรรม ส่วนนามธรรม เมื่อวิญญาณธาตุแตก นามธาตุก็แปรสภาพไปตามกฎธรรมชาติ ถ้านามธาตุนั้นบริสุทธิ์ ก็แปรเป็นพลังบริสุทธิ์ ถ้านามธาตุนั้น ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะยังมีอาสวะเหลืออยู่ นามธาตุนั้น ก็เปลี่ยนสภาพไปตามกฎของกรรม

 

  1. การเคลื่อนไหวของธาตุลม มีอิทธิพลต่อรูปธาตุทั้งปวง การเคลื่อนไหวของรูปธรรมจะทำงานได้เพราะธาตุลม แต่การเคลื่อนไหวของนามธรรมอาศัยการทำงานของวิญญาณธาตุ ดังนั้น วาโยธาตุ และวิญญาณธาตุ จึงทำงานพร้อมกันอย่างแยกไม่ได้

 

  1. ธาตุทั้ง 5 คือ ปฐวี อาโป วาโย เตโช และอากาศ ต้องแปรปรวนไปตามกฎของไตรลักษณ์โดยฝ่ายเดียว แต่วิญญาณธาตุสามารถเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง คือ อยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์ก็ได้ อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ก็ได้

 

  1. วิญญาณธาตุอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ เพราะวิญญาณธาตุนั้น ยังมีอาสวธรรมหลงเหลืออยู่ เพราะกฎของไตรลักษณ์ทำงานภายในจิตวิญญาณได้ เพราะอาศัยกฎของกรรม กฎของกรรมจึงเป็นกฎที่ทำหน้าที่ใต้อำนาจของอาสวธรรม แต่ถ้าวิญญาณธาตุได้ถูกชำระให้หมดจดจากอาสวะแล้ว วิญญาณธาตุนั้น ก็อยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์ได้โดยสิ้นเชิง

 

  1. กฎของไตรลักษณ์เป็นใหญ่ สามารถครอบงำในธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายทั้งปวง กฎแห่งกรรมเป็นใหญ่ครอบงำธรรมชาติแห่งนามธรรมทั้งปวง ดังนั้น ผู้คนที่ยังไม่อาจทำลายอาสวะออกจากจิตวิญญาณได้ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดภายใต้กฎของไตรลักษณ์ และกฎไตรกรรม (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)

21. การอุบัติขึ้นของพระโคดมพุทธะและองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ จึงอุบัติขึ้นเพื่อชี้นำกฎแห่งไตรสิกขาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายให้ปฏิบัติตาม เพื่อปลดเปลื้องกฎแห่งกรรมออกจากจิตวิญญาณของสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่รูปธาตุของคนผู้สิ้นอาสวะแล้ว ก็ยังอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์อยู่อย่างเดิมทุกประการ

22. คนที่สิ้นอาสวะและยังมีอาสวะอยู่ มีสิทธิ์เสมอกันในกฎของไตรลักษณ์ แต่แตกต่างในกฎของกรรม ดังนั้นกฎของไตรลักษณ์ จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สามัญญลักษณะ” เพราะธรรมชาติของรูปธาตุทั้งมวลล้วนตกอยู่ภายใต้ของกฎของสามัญญลักษณ์นี้ ไม่ว่าธรรมชาตินั้นจะเป็นรูปนามหรือนามรูป รูปภพ อรูปภพ รูปฌาน อรูปฌานก็ตาม

 

23.สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เจริญแล้วด้วยวุฒิปัญญา เมื่อได้ตระหนักรู้ เห็นภัยในวัฏฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกฎแห่งกรรม ย่อมเริ่มต้นด้วยการเสาะแสวงหาวิธีการที่จะทำตนให้พ้นไปจากกฎแห่งกรรม คือหาวิธีการทำลายอาสวธรรมทุกชนิด อันเป็นต้นตอของกฎแห่งกรรมทั้งมวล

 

  1. การเริ่มต้นการแสวงหาวุฒิปัญญา จึงเป็นหน้าที่สำคัญประการแรกของมนุษย์ทุกคน เพราะวุฒิปัญญาจะทำให้เกิดการตระหนักรู้ถึงภัยของทุกข์ อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของรูปธรรม นามธรรม ที่อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์และกฎแห่งกรรม

 

  1. วุฒิปัญญาจะเจริญเติบโตในทางที่ถูกต้องได้ ต้องสามารถทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม เหตุเกิดของกรรม การดับกรรม และมรรควิธีของการดับกรรมได้ ต้องอาศัยการศึกษาที่ดำเนินตามกฎของไตรสิกขา จนกว่าจะเกิดโลกุตตรปัญญาได้เท่านั้น จึงสามารถ อยู่เหนือกฎแห่งกรรมได้

 

  1. อะไรคือกฎของไตรสิกขา? ตามประเด็นที่เสนอมาข้างต้นว่า เมื่อจักรวาลเริ่มต้นด้วยภาวะเกิดและดับตลอดเวลา มันจึงก่อกำเนิดให้เกิดพลังงาน การเคลื่อนไหว แปรปรวน และแตกดับ มาจากส่วนลึกสุดคือ การเกิด-ดับ ดังนั้นกฎไตรลักษณ์คือตัวขยายของกระบวนการเกิด และไตรสิกขาก็คือขบวนการขยายผลของการดับนั่นเอง

27. กฎทั้งสองอย่างนี้ มันได้เริ่มต้นมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของจักรวาล เมื่อมันมีวิวัฒนาการมานานเท่าไรไม่มีใครทราบแน่นอนได้ จนกระทั้ง มหาบุรุษอย่างพระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นในโลกในแต่ละยุค ท่านจึงได้มาเปิดเผยความลี้ลับของจักรวาลทั้งหมดให้เราได้ทราบว่า ในการเกิดก็มีการดับตามมาด้วย และในการดับ ก็มีการเกิดตามมาด้วย เมื่อมีไตรลักษณ์ ก็มีไตรสิกขาตามมาด้วย แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงทำหน้าที่ในการเปิดเผยความจริงตรงนี้เท่านั้นเอง

 

  1. ดังที่มีพุทธพจน์ได้ตรัสว่า “เราตถาคตอุบัติในโลกนี้ก็เพื่อมาทำหน้าที่ชี้บอกว่า ในจักรวาลนี้มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป ถ้าไม่มีทุกข์และการดับทุกข์ เราตถาคตก็ไม่จำเป็นต้องอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เลย” ดังนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงตรัสรู้หลักอริยสัจ 4 เหมือนกันทุกพระองค์ อริยสัจ 4 โดยหลัก ก็คือ

 

ทุกข์+สมุทัย = การเกิดทุกข์

นิโรธ+มรรค = การดับทุกข์

 

  1. ขบวนการในการศึกษาเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ จึงต้องอาศัยขบวนการการศึกษาเรื่องของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้ามาช่วยขยายความว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุเกิดทุกข์ อะไรคือการดับทุกข์ และอะไรคือวิธีการดับทุกข์

30. และขบวนการศึกษาแบบพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้นต้องศึกษาแบบบูรณาการ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เข้าด้วยกัน ด้วยผ่านขบวนการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาไปพร้อมๆ กัน และบูรณาการหลักธรรมอื่นๆ เข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ ในขณะปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้หลักไตรสิกขาดำเนินไปพร้อมๆ กัน

 

  1. เราเริ่มมีชีวิตจากการหายใจเข้าและหายใจออก การหายใจเข้า สืบเนื่องมาจากการเกิด หายใจออกสืบเนื่องมาจากการดับ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น การทำงานของลมหายใจทั้งเข้าและออก จึงชี้บอกถึงการดำรงอยู่ของการเกิดและการดับของจิตวิญญาณที่เราไม่อาจรู้ประสาทสัมผัส และการมีอยู่ของลมหายใจ จึงเป็นเครื่องชี้บอกถึงการมีชีวิต

 

  1. การทำงานร่วมกันของกายกับใจ ก็คือปรากฏการณ์ของการเกิดดับทางจิตนั่นเอง ดังนั้น ชีวิตจึงดำรงอยู่บนพื้นฐานของการเกิดดับตลอดเวลา และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดจึงเป็นผลสืบเนื่องออกมาจากกฏของธรมชาติสองสิ่งนี้ ดังนั้น สิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายทั้งปวง จึงถูกสร้างขึ้นไปเรื่อยๆด้วยกฎธรรมชาติอันนี้

 

  1. เริ่มต้นจากรูปธรรม การเกิดดับทางรูปเรารับรู้จากการมีลมหายใจเข้าและหายใจออก การหายใจเข้าและออกนี้เอง ทำให้เกิดชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ และชีวิตก็ได้ให้กำเนิดความรู้สึก 2 รูปแบบ คือ ความรู้สึกทางกายและความรู้สึกทางใจ

 

  1. ความรู้สึกทางกาย (กายสังขารหรือเวทนา) แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ รู้สึกสบาย และรู้สึกไม่สบาย ความรู้สึกไม่สบายเกิดขึ้นก่อน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดของจิต (เพราะการทำหน้าที่กฎของไตรลักษณ์) ความรู้สึกสบายก็ตามมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดับของจิตนั่นเอง ดังนั้น ความรู้สึกทางกายทั้งสองแบบ ก็เป็นผลของการเกิดดับของจิตเหมือนกัน
  2. ความรู้สึกตัว จึงเป็นผลรวมของความรู้สึกสบายและไม่สบาย อันสืบเนื่องมาจากการเกิดและการดับ ดังนั้น ความรู้สึกตัวจึงมิใช่ภาวะเกิดและดับอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นผลรวม อุปมาเหมือนกองไฟ อาการของไฟเป็นการทำงานของการเกิดดับ แต่แสงไฟ เป็นผลรวมของกองไฟ ดังนั้น แสงไฟจึงมิใช่กองไฟ แสงจึงไม่เป็นรูปของความเย็นหรือร้อน แสงจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ของไฟฉันใด ความรู้สึกตัวจึงเป็นปรากฏการณ์ของการเกิดดับของจิตฉันนั้น

 

  1. ความรู้สึกตัวจึงเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่เรียกว่า นาม ฉะนั้นนามจึงเป็นพลังรู้บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากรูป เหมือนแสงไฟเกิดจากกองไฟ เพราะความรู้สึกที่อาศัยรูปเกิดนี้เอง จึงเรียกว่า “เวทนา” และเวทนาก็สร้างความรู้สึกขึ้นมาใหม่อีก 3 อาการคือ ความรู้สึกสบาย ไม่สบาย และรู้สึกกลางๆ (สุข ทุกข์ อทุกขมสุข)

 

  1. ความรู้สึกที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เชื่อมต่อระหว่างกายกับใจเข้าถึงกัน เรียกว่า “เวทนา” ดังนั้น เวทนาจึงเป็นได้ทั้งรูปและนาม และความรู้สึกที่เป็นเวทนาจึงทำหน้าที่ได้ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายรูปนาม และฝ่ายนามรูป ความรู้สึกที่ปรากฏในรูปนาม ทำหน้าที่โดยอาศัยธาตุทั้งหก (ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ) เป็นที่ตั้ง ส่วนความรู้สึกที่ปรากฏในนามรูป ทำหน้าที่โดยอาศัยขันธ์ทั้งห้า (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นที่ตั้ง

 

  1. เวทนาในรูปนาม จึงเป็นความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติของรูป และทำหน้าที่เป็นสัญชาตญาณ ป้องกันรูปให้ดำรงอยู่ได้ โดยไม่ให้วิบัติไปด้วยอันตรายต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในทุกๆสรรพชีวิต ไม่ยกเว้นแม้แต่ชีวิตที่เล็กที่สุด เช่นเหลือบ ยุง ลิ้น ไร ก็มีเวทนาประจำกายของมัน เมื่อภัยเกิดขึ้นมันก็รู้จักหลบหลีกด้วยเวทนาประเภทนี้ ดังนั้น วิญญาณในธาตุหก จึงทำหน้าที่เป็นเพียงสัญชาตญาณ

 

  1. เวทนา ในนามรูป ที่อาศัยขันธ์สี่ คือรูป สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นที่ตั้ง สามารถพัฒนาตัวเองร่วมกันกับสัญญาและสังขาร แล้วทำหน้าที่ของวิญญาณ ดังนั้นเวทนาในขันธ์ห้า จึงให้ก่อเกิดวิญญาณหก (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ คือความรู้สึกที่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส) ได้ด้วย ดังนั้น เวทนาในขันธ์ห้า จึงหน้าที่ของมโนวิญญาณ

 

  1. มโนวิญญาณ จึงสามารถสร้างความรู้สึกทั้งทางกายและทางใจได้ เวทนาทางกาย ทำให้เรารู้สึกถึงความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง เจ็บ หิว กระหาย เป็นต้น เวทนาทางรูปอันเป็นสัญชาตญาณ ทำหน้าที่เตือนให้สัตว์ทั้งหลาย เอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆได้ สัตว์จึงสร้างสิ่งต่างๆเพื่อป้องกันตนเองให้อยู่รอด ด้วยอาศัยเวทนาที่เป็นสัญชาตญาณทางกายวิญญาณ กายวิญญาณก็เป็นวิญญาณฝ่ายรูปนาม แต่มโนวิญญาณ สมารถเป็นวิญญาณได้ทั้งสองฝ่ายคือรูปนามและนามรูปได้ด้วย
  2. ความรู้สึกที่เป็นมโนวิญญาณ ที่รับรู้ได้ทางอายตนะทั้งหก สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากสัญชาตญาณให้เป็นปัญญาญาณได้ โดยอาศัย ความรู้สึกจากมโนวิญญาณ มาทำหน้าที่ตามรู้เวทนาในรูปนามบ่อยๆและอย่างต่อเนื่อง อุปมาดัง การนำวัตถุสองชิ้นมาสีเข้าด้วยกัน ย่อมทำให้เกิดความร้อนได้ และถ้าได้เงื่อนที่เหมาะสม ก็สามารถเกิดเป็นประกายไฟได้ ความร้อนหรือไฟ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ได้ ฉันใด ตัวรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยอาศัยการตามรู้บ่อยๆของมโนวิญญาณและเวทนาในรูปนาม ปรากฏออกมาเป็นตัวรู้ต่างหากได้ ที่เรียกว่า “ปัญญาญาณ”

 

  1. มโนวิญญาณ คือความรู้สึกเฉย ๆ เป็นความรู้สึกเดิมแท้ของจิต ที่เป็นไปใน “รูปนาม” เมื่อได้เงื่อนในการพัฒนาที่ถูกต้อง (มีการเรียนรู้ถึงเรื่องของอินทรีย์ห้าและพัฒนาให้เป็นพละห้า คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ก็สามารถแยกความรู้สึกในรูปนามออกมาออกมาเป็นนามล้วนๆ คือ ความรู้สึกบริสุทธิ์ได้ อุปมาเหมือนกับการเปลี่ยนน้ำกะทิให้เป็นน้ำมันต่างหากได้ โดยอาศัยเงื่อนไขหรือขบวนการกระทำที่ถูกต้อง
  2. ความรู้สึกตัวที่เป็นนามล้วนๆนั้น สมมติเรียกว่า “ปรมัตถ์” (จิต เจตสิก รูป นิพพาน) ความรู้สึกตัวล้วนๆ ที่เป็นเพียงมโนวิญญาณแต่แรกนั้น สามารถพัฒนาให้เป็นปรมัตถ์ได้ โดยอาศัยขบวนการของสติปัฏฐานสี่ ตามที่พระพุทธโคดม พระองค์ได้ตรัสรู้และนำมาสั่งสอน (ส่วนรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะได้พิจารณา ในโอกาสต่อไป)
  3. ส่วนที่เรียกว่า “สัจจธรรม”นั้น จึงถูกแยกออกเป็น 2 ลักษณะคือสัจจธรรมของรูปเรียกว่า “สมมุติสัจจะ” สัจจธรรมของนาม เรียกว่า “ปรมัตถสัจจะ” ความจริงต่าง ๆ ที่ถูกสมมติขึ้นจากฝ่ายรูปหรือนาม ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของไตรลัษณ์ แต่ความจริงที่ไม่ถูกสมมติ คือไม่ได้สร้างขึ้นจากความคิดปรุงแต่ง ไม่ถูกบัญญัติจากรูปของจริง เรียกว่าปรมัตถ์ เช่น จิตคือสภาวะรับรู้ เจตสิกคืออาการของจิตที่หน้าที่รับรู้อารมณ์ รูป ก็คือสภาวะธรรมที่ถูกรู้ นิพพานก็คือสภาวธรรมที่รับรู้การเกิดและดับของจิต รวมการหน้าที่ของสภาวะรู้ล้วนๆทั้งหมด เรียกว่า “โลกุตตรธรรม”

 

  1. โลกุตตรธรรม จึงเป็นธรรมที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติทั้งปวง คือสภาวธรรมที่พ้นไปจากความเป็นคู่เช่น เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี ชั่ว เหนือถูก เหนือผิด เป็นต้น แต่ทำหน้าที่เป็นผู้รู้สมมติสัจจะทั้งหมดทั้งปวง สภาวธรรมนี้เองจึงถูกเรียกว่า “พุทธภาวะ” คือภาวะตื่น รู้ ซึ่งมีอยู่ในคนทุกคน ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธโคตรมะ (สิทธัตถะ) ได้นำมาแสดงและเปิดเผยให้แก่มนุษยชาติ เป็นเวลานานถึง 26 ศตวรรษมาแล้ว

 

 

สัจจะแห่งชีวิต (2)

 

 

  1. เมื่ออายตนะหกทำงานร่วมกันคือ ตากระทบสัมผัสรูป เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น สัมผัสกระทบกาย และอารมณ์กระทบใจ คนทั่วไปที่ยังไม่ได้อบรมวิปัสสนามาก่อน หรือวิปัสสนามาผิดทาง ก็จะเกิดเวทนา 3 อย่างคือรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆแบบไม่ใส่ใจ ส่วนทางกายนั้น ก็มีฐานความรู้สึกทางกายอยู่ตลอดเวลา คือ รู้สึกสบาย ไม่สบาย ไม่ชัดว่าสบายหรือไม่สบาย

 

  1. เวทนาทั้งสามที่เกิดขึ้นทันที แต่จะเกิดที่ละอย่างในสามอย่างนั้น ความรู้สึกนั้นคือพอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆ จึงถูกสมมุติเป็นภาษาตำราว่า “สังโยชน์” ที่มาของสังโยชน์คือ เช่นตากระทบรูปดอกไม้ (ขาดสัมมาสติสัมมาปัญญา) รู้สึกพอใจในดอกไม้ทันที กามสังโยชน์เกิดขึ้นทันที ถ้ารู้สึกไม่พอใจ เพราะดอกไม้อาจจะเหี่ยวหรือไม่สวย เกิดปฏิฆะสังโยชน์ทันที หรือเห็นดอกไม้แล้ว ไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่สนใจ เพราะใจลอยไปทางอื่น เกิดโมหะสังโยชน์ทันที

 

  1. ในกรณีที่มีสติในการเห็น เกิดปัญญาว่า นี่คือสักแต่ว่า “รูป” แต่ไม่เกิดบัญญัติขึ้นในใจว่า “รูปอะไร” ไม่มีความรู้สึกว่า “ชอบหรือไม่ชอบ หรือ เฉยๆ” แต่เห็นสักแต่ว่าเห็น ไม่ได้เห็นแบบใจลอย ไม่มีแม้กระทั่งภาษาบัญญัติเกิดขึ้นในใจว่า “นี่คือรูป หรือนึกว่านี่สักแต่ว่ารูป” แต่รู้สึกว่าเห็นก็คือเห็น หรือเห็นแบบไม่เห็น (เรียกภาษาบัญญัติว่า “สักแต่ว่า”)

 

  1. “ความรู้สึกพอใจ” หรือสุขเวทนาทางกายที่ไม่มีสติกำหนดรู้หรือไม่ถูกตามรู้ ตามดู ตามสังเกตอาการของกายในขณะนั้น ความพอใจในความรู้สึกทางกาย ก็ถูกเก็บไว้ในภวังคจิต (จิตใต้สำนึก = Subconscious) เก็บสะสมมากเข้าๆ จนมีกำลัง ก็เกิดเวทนาทางจิต เรียกว่า “โสมนัสเวทนา” คือ อาการทางความพอใจ เมื่อเกิดกระทบสัมผัสทางใดทางหนึ่ง แสดงว่าเกิดการตอบสนองทางกาย วาจา โดยไม่รู้ตัว เพราะขาดสติตามรู้กาย

 

  1. แม้จะเกิดในอายตนะส่วนอื่นๆ คือเสียงกระทบหู เป็นต้น การขาดสติตามรู้ ก็เกิดอาการเช่นเดียวกัน คือพอใจ เมื่อเกิดความพอใจก็ขาดสติตามรู้อีก “โสมนัสเวทนา” ก็ถูกสะสมไว้ในจิตสำนึกไปเรื่อยๆ จนมีกำลังมากขึ้นความพอใจก็มีกำลัง ก็พัฒนาตัวเป็น “กามฉันทะ” (หนึ่งในห้าของนิวรณ์) เพราะแสดงความต้องการทางจิตออกมาชัดเจน เพราะแรงของความยินดีพอใจไม่ได้ถูกตามรู้ แต่ในกรณีที่คนผู้ได้ปฏิบัติมาแล้ว มีสติตามรู้อยู่ อาการของความรู้สึกยินดี พอใจ ก็ลดน้อย อ่อนกำลังทันที โสมนัสเวทนาก็หายไป จิตก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ไม่แสดงอาการออกมาทางกาย-วาจา

 

  1. ความฝักใฝ่ในความพอใจในเมื่อตาเห็นรูปสวยๆ จะเป็นรูปอะไรก็ตาม โดยเฉพาะรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความรักความใคร่ในอารมณ์ ก็เนื่องมาจากความพอใจที่เป็นผลรวมของการกระทบที่ขาดการกำหนดรู้ทั้งสิ้น เช่น เสียงเพราะๆ กระทบหู ก็รู้สึกพอใจ กลิ่นหอมๆ กระทบจมูก ก็พอใจ รสอร่อยๆ กระทบลิ้น ก็รู้สึกพอใจ สัมผัสนิ่มนวลกระทบกาย ก็พอใจ ความรู้สึกพอใจที่เกิดขึ้นจากอายตนะทั้งห้า แล้วขาดสติทุกครั้ง ก็เป็นผลเกิดเป็นกำลังของกามคุณ 5 เพราะกามฉันทะนั่นเอง

 

  1. เพราะไม่ใส่ใจต่อการเจริญวิปัสสนา ความพอใจเกิดขึ้นทุกเวลานาทีนี่เอง ก็ไปกระทบจิตบ่อยๆ เหมือนเราเอามือทั้งสองมาเสียดสีกันสักพัก ก็จะเกิดความร้อนมากขึ้นๆ ตามลำดับ ยิ่งเป็นของแข็งมากระทบกันด้วยความเร็วและแรง ก็สามารถทำให้เกิดประกายไฟได้ฉันใด อำนาจของความอยาก ความพอใจ บางครั้งเกิดขึ้นเพราะการกระทบจิตในอัตราความเร็วและความแรงสูง ก็ย่อมทำให้เกิดไฟราคะ เช่น การได้ทานอาหารรสจัดๆ เกิดความอร่อยถูกลิ้น หรือได้ฟังดนตรีที่ไพเราะถูกใจ เสียงดนตรีไพเราะดุดันรุนแรง เร่งเร้า กระตุ้นให้เกิดความพอใจอย่างสูง แม้เรื่องความรุนแรงของ กลิ่น รส สัมผัส ก็ทำนองเดียวกัน ด้วยการกระทบที่พอใจรุนแรงเหล่านี้ จึงเกิดเป็นกำลังของ กามราคะและกามกิเลส เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกล่าวไว้ว่า กามฉันทะก่อให้เกิดกามราคะในที่สุด

 

53.แม้กามราคะรบกวนจิตบ่อยๆ ก็ไม่เกิดความรู้สึกกลัวโทษ กลัวภัยของมัน ก็เกิดการแสวงหาความรู้สึกพอใจในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ทำให้เกิดความพอใจยิ่งๆ ขึ้นไป จนเป็นเหตุทำให้กามตัณหา ซึ่งมีลักษณะเป็นความอยากที่มีพลังรุนแรง สามารถทำให้เกิดพลังของการแสวงหาในรูปแบบต่างๆ โดยมีความคิดและจินตนาการเป็นเครื่องมือของตัณหา มีความหวัง อุดมการณ์ การวางแผน ที่จะครอบครองวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส อารมณ์ เป็นความพอใจ เรียกว่า “อภิชฌา”

 

  1. ปุถุชนที่ไม่ได้สดับคำสอนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ได้พบกับกัลยาณมิตรทางธรรม ก็ยากที่จะเกิดปัญญาเห็นโทษของกามทั้งหลาย ชีวิตของสัตว์โลกจึงอยู่ด้วยอำนาจของกามตัณหา อันเนื่องมาจากความพอใจเพียงเล็กน้อย ก็ลุกลามต่อกันมาเรื่อยๆ เหมือนไฟไหม้ป่า ไฟไหม้บ้าน ตราบใดไม่หมดเชื้อ มันก็ดับไม่ได้ สรรพสัตว์จึงเป็นทุกข์ เพราะกามตัณหา

 

  1. ต่อมาเมื่อความอยากในกามมีกำลังกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดสติปัญญา ขาดการภาวนา ทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะไม่ได้พบกับกัลยาณมิตร กามตัณหาพัฒนาเป็นราคานุสัยและโลภจริตในที่สุด เมื่อรากเหง้าของความอยากไม่ได้ถูกถอนขึ้นเลย มันก็หยั่งรากลึกลงไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นพฤติกรรมแห่งความอยากอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอกุศลมูล คือรากเหง้าของความโลภชนิดต่างๆ ก็หยั่งรากลึกและแน่นหนา จึงก่อให้เกิดการสั่งสม แย่งชิง ลักขโมย จี้ ปล้น ฉ้อฉล คดโกง เห็นแก่ตัว เป็นต้น อันเป็นผลเนื่องจาก ความโลภ ความอยากที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องจนพัฒนาเป็นกามุปาทานในที่สุด

 

  1. เมื่อความยึดถือตั้งมั่นเป็นนิสัยแล้ว ก็ทำให้เกิดพฤติกรรมและบุคลิกโน้มไปในความโลภอย่างรุนแรงจนเป็นตัณหานุสัย-โลภานุสัย ก่อให้การคุ้มครอง ยึดครอง ปกป้องวัตถุกามทั้งหลายที่ได้มาด้วยความอยาก ความพอใจ แสวงหาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มาไว้เป็นสมบัติ เช่น ข้าวของ เงินทอง สามี ภรรยา ลูก หลาน เป็นต้น ใช้เวลาในการแสวงหาได้ทั้งคืน ทั้งวัน จะหนักเบา เท่าไหร่ ไม่กลัว ขอให้ได้อย่างใจ อย่างตนชอบ จนพัฒนาเป็นกามสุขัลลิกานุโยค คือ ความหมกมุ่นในกามารมณ์ โลกียารมณ์ทั้งหลาย

 

  1. เมื่อไม่มีเวลาไม่มีโอกาสได้ศึกษาธรรม สดับธรรมจากพระอริยเจ้า และกัลยาณมิตรผู้รู้จริง ขบวนการของความอยากก็พัฒนาต่อไป จนฝังแน่นติดเป็นอุปนิสัย เป็นสันดานแห่งความอยาก ก่อให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ความประมาทขาดสติก็ตามมา ความผิดพลาดต่างๆก็ตามมา ความทุกข์ตามมา วิบากกรรมตามมา

 

  1. เมื่อความอยากได้ฝังหมุดลงในจิตใจของสรรพสัตว์ก็ยากที่จะไถ่ถอนได้ ถ้าเป็นฝุ่นผงหรือตะกอนก็จะทับถมสะสมเป็นตะกลัน จึงเรียกความพอใจที่แสนจะละเอียดแนบเนียนนี้ว่า “กามาสวะ” คือเป็นความเคยชิน เรียกว่า “อาสวัฏฐานียธรรม” ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียด ครอบครองหัวใจสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้ติดในความอยาก ความรัก ความใคร่ ความเสน่หาอาลัย เรียกว่า กามารมณ์ อันติดเป็นนิสัยสันดาน เป็นบุคลิก พฤติกรรม เป็นสัญชาตญาณในที่สุด

 

  1. ขบวนการวิวัฒนาการของความสบายกายหรือสุขเวทนา เพียงผิวๆ เบา แต่ขาดการกำหนดรู้ ขาดการตามรู้ ตามสังเกต ตามเฝ้าดู ตามเห็น ตามพิจารณา ได้พัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วจนคลายมาเป็นความพอใจที่มีความเร็วสูง หรือความอยากที่มีรากแก้วอันลึกซึ้ง ยากแก่การไถ่ถอน เพราะชีวิตแห่งความอยาก ได้วิวัฒนาการรูปแบบต่างๆ ออกมาเป็นชีวิตสังคม ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา เพื่อสนองความอยาก และความควบคุมความอยาก โลกจึงหมุนไปด้วยพลังของความอยาก ด้วยประการดังนี้

60. เมื่อรวบรวมรากเหง้าและขบวนการวิวัฒนาการของความอยากออกมาเป็นแผนที่ อาจจะทำได้ ดังลำดับการพัฒนาการของมันดังนี้

  • สุขเวทนาทางกาย ที่ขาดสติตามรู้ก่อให้เกิด
  • โสมนัสเวทนาความรู้สึกพอใจ
  • อภิชฌา คือความรู้พึงพอใจออกเป็นอาการทางจิต
  • กามฉันทะ ความพอใจเป็นพฤติกรรมสนองตอบความอยาก
  • กามราคะ ความสนุกสนานเพลิดเพลินในความพอใจ
  • กามตัณหา อาการแสวงหาความสนุกยิ่งๆขึ้นไป
  • โลภจริต แสดงอาการอยากได้ออกมาเป็นพฤติกรรม คำพูดในวัตถุกาม (รูป-เสียง-กลิ่น เป็นต้น)
  • ราคานุสัย ความเคยชินที่ตอบสนองความอยากโดยไม่รู้ตัว
  • โลภานุสัย แสดงอาการครอบครองตัวตนของตนและตัวตนของสิ่งที่ตนรักและครอบครอง
  • กามุปาทาน ความอยากพัฒนาเป็นบุคลิกและพฤติกรรม การแสดงอาการทางกาย วาจา เป็นนัยยะ เป็นสัญลักษณ์แทนความอยากได้
  • กาโมฆะ คือ ตกอยู่ในห้วงอารมณ์รักใคร่ อยากได้อย่างรุนแรง เมื่อประสบกับสิ่งที่ตนเองต้องการ แล้วติดจม แช่อยู่ในความรัก ความใคร่นั้นๆ
  • กามาสวะ แสดงอาการแห่งความอยาก ความรัก ความต้องการ ออกมาในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นนิสัย บุคลิก ทั้งทางกาย วาจา ใจ และก่อกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศลได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

นี่คือสายโซ่แห่งการวิวัฒนาการของความรู้สึกสบายกาย เพียงชั่วขณะหนึ่งๆ แล้วขาดสติปัญญาตามรู้ มันจะพัฒนาตามแรงกระทบไปเรื่อยๆ จนครบวงจรของความพอใจจากกาย วาจา ทะลุถึงจิต และจากจิตทะลุถึงกาย แสดงออกมาทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมในที่สุด

สุขเวทนาอันน่ากลัว

 

แก้ปัญหากามาสวะ

 

  1. ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสถึง เหตุเกิดและการดับไปของเหตุนั้น พระมหาสมณะตรัสเรื่องนี้เท่านั้น (เย ธัมมา เหตุปปภวาเตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มหาสมโน) พระเถรคาถาบทนี้ที่พระอัสสชิกล่าวแก่อุปติสสมานพ (พระสารีบุตร) เป็นบทสรุปคำสอนของพระพุทธองค์อย่างชัดเจน ตรงประเด็นและสั้นลัดที่สุด สรุปเป็นภาษาไทยง่ายๆ อีกที ก็คือ พระตถาคตตรัสสอนแต่เรื่องเหตุของการเกิดและการดับเท่านั้น เพราะคำว่า “ธรรม” แปลว่า “เหตุ” เหตุคือการเกิด-ดับ

 

  1. ถ้าจะดับก็ดับที่เหตุ ตามที่กล่าวแล้วว่า “อาสวธรรม” เป็นเหตุเบื้องต้นและเบื้องปลายของทุกข์ แต่ความสบาย ความไม่สบาย ทางกาย เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากกฎของไตรลักษณ์ การไม่รู้จัก ไม่เข้าใจกฎของไตรลักษณ์นั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความไม่สบายใจ ความทุกข์กายมิใช่เหตุเกิดทุกข์ทางอริยสัจจ์โดยตรง สรุปก็คือ ทุกข์กายเป็นผลของไตรลักษณ์ ทุกข์ใจเป็นผลมาจากไม่รู้จักกฎของไตรลักษณ์

 

  1. เมื่อเราไม่รู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ เราจึงกลัวทุกข์ และอยากพ้นไปจากทุกข์ ดังนั้น ความกลัวจึงเกิดจากความไม่รู้ ไม่ใช่เกิดจากทุกข์ แต่ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ต่างหาก กิจของเราคือการสร้างความรู้ มิใช่สร้างความไม่รู้ เมื่อความรู้สมบูรณ์ ความกลัวก็ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มี มีแต่ธรรมชาติของการเกิดและดับ มันทำงานไปกับธรรมชาติของกฎไตรลักษณ์เท่านั้นเอง

 

  1. พระตถาคตเจ้าบังเกิดขึ้นทุกพระองค์ เพื่อมาทำหน้าที่ชี้นำขบวนการสร้างความรู้เรื่องอริยสัจเท่านั้น เพราะหลักของอริยสัจคือหลักของวิชชา รวมเรียกว่า “ไตรสิกขา” เพื่อเอามาแก้เหตุของทุกข์ คือ อวิชชา คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ดังนั้นการรู้ และเข้าใจเรื่องของอวิชชาทั้งหมด ต้องศึกษาตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา

 

  1. การศึกษาในหลักของไตรสิกขาชนิดที่จะทำให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง คือ วิชชานั้น ต้องปฏิบัติภาวนา 2ประการ คือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สมถะเป็นหลักเบื้องต้นเพื่อศึกษารายละเอียดของศีลและสมาธิ อันเป็นฐานของความรู้ และนำมาสู่การปฏิบัติในศีลและสมาธิที่ถูกต้อง หลักสมถะใดไม่ทำให้เกิดความรู้และเข้าใจในศีลและสมาธิอย่างถูกต้อง ไม่ถือว่าเป็นสมถะของวิชชา

 

  1. วิปัสสนา เป็นฐานของความรู้ที่ถูกต้อง คือ วิชชา โดยการศึกษาเรื่องปัญญาสิกขา ดังนั้นขบวนการศึกษาจึงเริ่มต้นจากหลักการ หรือ หลักสูตรที่ทำให้เกิดวิปัสสนา คือ หลักของอริยสัจ 4 และดำเนินตามวิธีการ คือ ศึกษาไปตามหลักของอริยมรรคมีองค์ 8

 

  1. เริ่มต้นดำเนินการต้องศึกษาทั้งหมดเป็นขบวนการเดียวกันทั้งสมถะและวิปัสสนา อริยสัจและอริยมรรค โดยอาศัยวิธีการของไตรสิกขา โดยทางตรงและลัดสั้น มีอยู่แค่นี้เรียกว่าใบไม้กำมือ ส่วนองค์ประกอบต่างๆ ที่นำมาอ้าง ก็เพื่อขยายความของขบวนการเรียนรู้ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง จึงไม่จำเป้นต้องรู้รายละเอียดเกินจำเป็น

 

  1. เมื่อทราบโดยหลักว่า ความรู้มี 2 ลักษณะ คือ วิชชา และอวิชชา
  • วิชชา รู้ตามความเป็นจริง
  • อวิชชา รู้ตามความไม่จริง หรือ ผิดจากความเป็นจริง

การศึกษาให้รู้หลักทั้ง 2 นี้ มี 2 วิธี คือ

  1. ศึกษาเรื่องของกาย ของจิต เรียกว่า ศีลสิกขา และจิตตสิกขา
  2. ศึกษาเรื่องของตัวรู้ คือ วิญญาณ เรียกว่า “ปัญญาสิกขา”

 

  1. “วิชชา” ความรู้ตามความเป็นจริง อันเกิดจากญาณปัญญาและแสงสว่าง ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในหลักของธัมมจักรว่า “วิชชา เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เพราะญาณเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น อาโลกะ เกิดขึ้น (จักขุงอุทปาทิญาณังอุทปาทิ วิชชา อุทปาทิ ปัญญา อุทปาทิอาโลโก อุทปาทิ)”  ผู้รู้ท่านใด ถ้าต้องการทราบรายละเอียดเรื่องวิชชาและอวิชชาตามตำราพระไตรปิฎก กรุณาเข้าไปค้นหาได้จากหนังสือ “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม” ของ ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)  จะได้รับรายละเอียดครบถ้วน ตามหลักวิชาการ

 

  1. แต่ที่นี่อยากนำชี้ทางปฏิบัติตรงๆ ไม่ไปยุ่งกับศัพท์ทางตำราโดยไม่จำเป็น เพราะมักถูกกล่าวหาว่าติดตำราบ่อยๆ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องอ้างที่ไปที่มา เพื่อแสดงว่าสิ่งที่นำเสนอไม่ได้อ้างเอาตามความคิดของตนเอง เพียงแต่นำภาษาปฏิบัติมากล่าวโดยหลักปรมัตถ์ จึงจำเป็นต้องหลีกการใช้ศัพท์ทางปริยัติที่ฟุ่มเฟือยเกินไป เพราะจะทำให้สับสน ไม่แจ่มแจ้งต่อความเข้าใจ

 

  1. รูปแบบของการแสวงหาโลกุตตรปัญญาจากการเจริญสมถะ-วิปัสสนา มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเถรวาทและมหายาน ในที่นี้ จะขอนำเสนอรูปแบบวิปัสสนา ที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงจากวิธีนี้ คือ วิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว สามารถรวมเอาสมถะ วิปัสสนามาทำร่วมกันในเวลาเดียวกัน บูรณาการเอาศีล สมาธิ ปัญญา มาเจริญร่วมกันในเวลาเดียวกัน จึงเป็นวิธีการที่ตรงและลัดสั้นไม่พาให้หลงทาง ใช้เวลาไม่นานก็สามารถสัมผัสผลการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

ถอนรากเหง้ากามาสวะ

 

ภาคที่ ๒

 

กายานุปัสสนา

 

  1. เบื้องต้นให้ใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวของกาย เป็นนิมิตและเป็นอารมณ์กรรมฐาน ตามหลักการเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านสื่อต่างๆ ที่ถูกนำเผยแพร่โดยกลุ่มและเครือข่ายของสายงานหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)

 

  1. เริ่มแรกให้ฝึกการสังเกต การเคลื่อนไหว ของการสร้างจังหวะมือ เป็น 14 จังหวะ (ตามรูปแบบ) เพื่อดึงความสนใจมาอยู่กับความเคลื่อนไหวของกายเฉพาะส่วน เพื่อรวมกำลังของสติ–สมาธิ มาอยู่ที่กายก่อน เน้นการทำจังหวะมือเพื่อศึกษาสังเกตความรู้สึกอันเกิดจากการเคลื่อนไหว เพราะการเคลื่อนไหวกายในชีวิตประจำวัน เป็นการเคลื่อนไหวด้วยความเคยชิน กำลังสติ-สมาธิ ไม่ได้ถูกรวบรวมมาเป็นส่วนเดียวกับกายอย่างชัดเจน  ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบทั่วไป จึงไม่อาจสร้างสติ–สมาธิ ให้มีกำลังได้

 

  1. ขบวนการเคลื่อนไหวแต่ละจังหวะ ให้ใส่เจตนาลงไปอย่างเบาๆ ไม่เพ่งจ้องหรือเน้นหนักจนเกร็งหรือตึงเกินไป แต่ก็ไม่เคลื่อนไหวแบบไร้เจตนา ให้นั่งทำเป็นเวลานานๆ เฝ้าสังเกตอาการของกายโดยทั่วไปด้วยว่า มีความกดเกร็ง เคร่งเครียด ส่วนใดของร่างกายอยู่บ้าง เพราะปกติของกายมันมีการเปลี่ยนแปลงภายในของธาตุทั้งหลายตลอดเวลา เช่น การหมุนเวียนของเลือดลม ทำให้เกิดการเต้นของหัวใจ ชีพจร ลมหายใจ เป็นต้น ด้วยการทำงานของกฎไตรลักษณ์ ผลการทำงานของอนิจจัง ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายกายตลอดเวลา เริ่มจากความรู้สึกไม่สบายบางๆ แล้วเปลี่ยนแปลงเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากละเอียด กลาง หยาบ เกิด ดับ ตลอดเวลา

 

  1. ขณะสร้างจังหวะมือ จะช่วยให้เกิดกำลังของสติ–สมาธิ มีกำลังเพิ่มขึ้น กำลังของสติ-สมาธิ จะทำงานในรูปแบบของเจตนาและความตั้งใจสังเกตอาการ การเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆ ของร่างกายออกมาในรูปของอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง นั่นคือผลร่วมของการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณ หรือ ความเคยชิน ก็จะทำงานด้วยการขยับปรับเปลี่ยนอิริยาบถตลอดเวลา ปรับเล็กบ้าง ปรับใหญ่บ้าง ปรับเล็ก เรียกว่า อิริยาบถย่อย ปรับใหญ่เรียกว่า อิริยาบถใหญ่

 

  1. การปรับอิริยาบถทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งภายในและภายนอก มันจะแสดงออกมาเป็นการขยับเขยื้อน เคลื่อนไหวออกมาโดยไม่รู้ตัว นั่นเป็นอาการบำบัดระบายความทุกข์ทางกายโดยธรรมชาติ แต่เราไม่เคยศึกษาและสังเกตในรายละเอียดเหล่านี้อย่างจริงจัง แต่การเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว แบบสร้างจังหวะ ก็เพื่อให้เกิดกำลังสติ–สมาธิ–ปัญญา  มาศึกษาสังเกตอาการทุกข์ทางกายเหล่านี้ มาเป็นนิมิตเครื่องหมายของการเฝ้าดูและสังเกต ตามรู้การเปลี่ยนแปลงของทางกายอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นี่คือเป้าหมาย จุดประสงค์เบื้องต้นของการสร้างจังหวะ 14 ท่า หรือ 28 จุด

 

  1. ผู้ปฏิบัติเบื้องต้นต้องทำใจก่อนว่า เราทำเพื่อศึกษาจิตตามหลักไตรสิกขา 3 คือ จิตตสิกขา เพราะสิกขา สาม ไม่มีคำว่า สมาธิสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) แต่กลับมี ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา เราทำสิ่งนี้ เรื่องนี้ เพื่อการพิสูจน์เท่านั้นว่า จะศึกษาเรื่องจิตด้วยวิธีนี้ได้อย่างไร มิได้เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือไม่เชื่อ

 

  1. เพราะคนทั่วไป ถ้าลงมือทำอะไรสักอย่าง มักจะมีความคาดหวัง ตั้งธงไว้เบื้องหน้าว่า จะได้อะไร รู้อะไร เห็นอะไร เป็นอะไร แต่การทำวิธีนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า การเห็นจิตนั้น เห็นอย่างไร จิตคิดปรุงแต่งเป็นอย่างไร จิตไม่ปรุงแต่งเป็นอย่างไร จิตว่างเป็นอย่างไร จิตไม่ว่างเป็นอย่างไร ให้ศึกษาจากการกระทำของงเราเอง ไม่จำเป็นต้องเชื่อใคร หรือไม่เชื่อใคร เพราะพุทธศาสนาสอนให้เราพิสูจน์ก่อนยอมรับความจริง

 

  1. ขณะสร้างการเคลื่อนไหว แต่ละจังหวะมือ ให้สังเกตอาการของจิตร่วมกับอาการเคลื่อนไหวของมือ คือขณะเคลื่อนไหว และขณะหยุด แต่จุดความรู้สึกเป็นอย่างไร สังเกตอย่างสบายๆ ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องจ้องที่จะรู้อะไร เห็นอะไร ให้รู้สึกแต่ว่ารู้ไป เรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็สังเกตอาการของกายทั้งหมดไปด้วย มิใช่รู้แต่อาการเคลื่อนไหวของมือที่ยกเพียงอย่างเดียว

 

  1. ขณะที่ยกมือก็ตั้งใจรู้อาการของกายให้ชัด รู้สึกอย่างไร คือรู้เท่าที่มันรู้ ไม่ต้องคิดปรุงแต่ง เพิ่มเติมอะไรไปมากกว่าเท่าที่รู้ แต่ถ้ามีการเผลอคิดไป ก็กลับมาเริ่มต้นสังเกตใหม่เรื่อยไป ไม่ต้องตั้งใจว่า ไม่ให้คิด หรือ ต้องรู้สึกตัวอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่รู้อาการของกายของจิตให้ชัดว่าเป็นอย่างไรเท่านั้น เพราะการศึกษา มิใช่ต้องการอะไร แต่ทำไปเรื่อยๆ

 

  1. โดยธรรมชาติของจิต มันเคยชินกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิด พอทำไปสักพัก มันก็อดคิด อดเผลอไม่ได้ แม้ทางกายก็เช่นเดียวกัน นั่งไปสักพัก มันก็เปลี่ยนจากสบาย เป็นไม่สบาย เปลี่ยนจากเบามาเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็เฝ้าดูอาการเหล่านั้นไป ถ้ารู้สึกว่าทนไม่ได้ ก็ตามรู้อาการนั้นให้ชัดๆ แล้วก็ค่อยปรับเปลี่ยนไปอย่างเจตนารู้ตัวในการเปลี่ยน ดังนั้น ร่างกายจึงมีการเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติของการบีบคั้นของทุกข์อันเกิดการเปลี่ยนแปลง คือกฎของไตรลักษณ์นั่นเอง

 

  1. ทางจิตก็เช่นเดียวกัน มันไม่อาจทนอยู่กับอะไรได้นาน เพราะมันเป็นกฎของมัน แต่การเจริญสติวิปัสสนา มิใช่เป็นการฝืนกฎธรรมชาติ แต่เป็นการตามศึกษาให้เห็นการทำงานของกฎไตรลักษณ์ เพื่อเราจะได้ไม่ไปสำคัญมั่นหมาย อาการของไตรลักษณ์นั้นว่า เป็นตัวตน แต่เราจะเข้าใจกฎธรรมชาตินี้ไปเรื่อยๆ จน เกิดปัญญาเห็นแจ้งไปเรื่อยๆ

 

  1. การปฏิบัติแบบเคลื่อนไหวมือ 14 จังหวะ จึงเป็นอะไรบางอย่างที่ว่าง่ายที่สุดสำหรับคนใจกว้างที่จะพิสูจน์ แต่ยากมากสำหรับคนที่คิดว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว หรือไม่ชอบการพิสูจน์ศึกษาในสิ่งใหม่ๆ เพียงการเคลื่อนไหว เล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่เคยสังเกตศึกษา มันกลับเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงของชีวิตที่เข้าถึงทางแห่งอิสรภาพของจิต ดังนั้น หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ผู้บรรลุธรรมด้วยวิธีนี้ จึงกล้ารับประกันว่า ถ้าทำอย่างถูกต้องและเข้าใจแล้ว ถ้าดับทุกข์ไม่ได้ ก็เอาชีวิตเป็นเดิมพัน มอบกายถวายชีวิตให้เลย

 

  1. การสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของร่างกายโดยทั่วถึงและสังเกตได้ตลอดเวลา จะเป็นไปไม่ได้ถ้าขาดการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปแบบ เพราะการเคลื่อนที่เป็นไปโดยธรรมชาติของร่างกาย ถูกครอบงำด้วยความเคยชินตลอดเวลา เหมือนลมหายใจ ทุกคนหายใจมาแล้วตลอดชีวิต แต่หาได้เรียกลมหายใจเหล่านั้นว่า อานาปาณสติไม่ เพราะขาดการตามรู้ ตามดู ตามสังเกต การเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็เช่นกัน เราก็เคลื่อนไหวกันตลอดเวลา แต่หาเรียกการเคลื่อนนั้นว่า “กายคตาสติ” ไม่ จนกว่าจะมีเจตนาตามรู้ ตามสังเกตลงไปอย่างจริงจังเท่านั้น การเคลื่อนไหวนั้นๆ จึงจะเป็นกรรมฐานได้

 

  1. ในช่วงของการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แบบเจตนาสร้างจังหวะมือ ต้องมีศรัทธาที่จะทำ ถ้าไม่มีศรัทธาก็ต้องมีปัญญาที่จะพิสูจน์เบื้องต้น ต้องมีคุณสมบัติทั้ง 2 ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีทั้ง 2 อย่างได้ยิ่งดี เพราะศรัทธาทำให้เกิดกำลังใจ แต่ปัญญาเป็นกำลังรู้ เริ่มต้นใหม่ที่ไม่มีข้อมูลมาก่อน ก็เริ่มต้นด้วยศรัทธา เพราะอาศัยการชี้นำของกัลยาณมิตร ผู้เริ่มต้นด้วยปัญญาอาจจะไม่ต้องการกัลยาณมิตรชี้นำ แต่ศึกษาจากสื่อต่างๆ ด้วยตนเอง และลงมือทดลองด้วยตัวเอง แก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยตนเอง ก็สามารถเข้าใจเช่นกัน

 

  1. อุปสรรคเบื้องต้นของการภาวนาแบบนี้ ต้องมีทุกคน นั่นคือนิวรณ์ธรรมต้องมาก่อน เพราะกิเลสขั้นพื้นฐานอันได้แก่
  • กามฉันทะ คือความรักสบายตามที่เคยมี และเสพติดความสบาย แต่เมื่อลงมือทำการเคลื่อนไหวด้วยความตั้งใจ จะรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้จิตหยุดอยู่กับที่ จิตจะเกิดการฝืน การต้านขึ้นมาทันที พอต้านไปนานๆ จะรู้สึกไม่สบายใจ เหมือนการจับสัตว์มาฝึก เบื้องต้นมันจะไม่ยอม แต่ต้องฝืนและบังคับไประยะหนึ่ง ถ้าฝืนจะรู้สึกเครียด และเบื่อขึ้นมาแทนที่ พัฒนาเป็นนิวรณ์คือ
  • พยาปาทะ ความรู้สึกอึดอัดขัดเคือง ไม่พอใจ ไม่เต็มใจ อาการทางกายก็ตอบสนองด้วยอาการเกร็ง เครียด เบื่อหน่าย ไม่พอใจ  แล้วยกเลิกในที่สุด
  • ในกรณีที่สามารถแก้ไขนิวรณ์ตัวที่ 1-2 ผ่านไปได้ ความที่สติยังไม่มีกำลังพอ จิตก็ถูกบังคับให้นิ่งอยู่นานๆ จะมีอาการง่วงซึมไม่มีกำลัง อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หรือมีอาการเกร็ง แข็งทื่อ ไม่กระปรี้กระเปร่า ถ้าไม่รีบแก้ไข อาการก็รุนแรง ถึงหงอยเหงา หรือหลับ เรียกนิวรณ์ตัวนี้ว่า “ถีนมิทธะ”
  • อุทธัจจะกุกกุจจะ ผู้ใหม่บางคน อาจจะไม่เกิดนิวรณ์ทั้ง 3 ตัวข้างต้น แต่กลับเป็นคนชอบคิดชอบสงสัย ก็จะสร้างความคิด ความสงสัยมากมาย เช่น คิดปรุงแต่งไปว่า ทำแบบนี้ เพื่ออะไร ได้อะไร สงบตรงไหน เหตุผลของการเคลื่อนไหวแบบนี้ คืออะไร  เป็นต้น จะเกิดคำถามขึ้นในใจ เยอะแยะไปหมด ก็เลยพาลไปสู่นิวรณ์ข้อสุดท้าย คือ
  • วิจิกิจฉา คือ คิดไป ทำไป ปรุงแต่งไป ก็เกิดข้อสงสัย นำเอาเรื่องราว และปัญหาต่างๆ มาคิด ปะติดปะต่อกันไปเรื่อยๆ เลยเกิดความลังเลสงสัย ว่าวิธีการนี้ ไม่เหมาะสำหรับตน เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่ายและยกเลิกไปในที่สุด
  1. วิธีแก้นิวรณ์โดยรวมเบื้องต้น ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ขอแนะนำให้ไปเริ่มต้นที่สำนักปฏิบัติที่สอนวีธีนี้ หรือไปขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ปฏิบัติแบบนี้มาก่อน และได้รับอานิสงส์จากการปฏิบัติแบบนี้มาระดับหนึ่ง และในกรณีที่ไปทำ หรือปฏิบัติในสำนักที่มีครูบาอาจารย์เอาใจใส่ดี จะช่วยดูแลจัดการ การรบกวนของนิวรณ์ได้มาก เพราะเขาจะคอยแนะนำ ตักเตือน กระตุ้นให้กำลังใจ เป็นระยะๆ ก็ทำให้กำลังของนิวรณ์ชนิดต่างๆ เบาบาง จางคลายไปได้ง่าย แต่ในกรณีที่บางคนไม่มีเวลาไปเข้าสำนักปฏิบัติฯ พยายามทำเองก็ค่อนข้างยากที่จะประสบความสำเร็จในวิธีนี้ หรือไปฝึกในสำนักที่ครูบาอาจารย์ไม่เอาใจใส่แนะนำ ก็ยากที่จะก้าวหน้าในวิธีนี้

 

  1. ในกรณีคนใหม่บางคน ที่มีพื้นฐานมาดีถึงพร้อมด้วยศรัทธา และปัญญา มีการเตรียมตัวพร้อม เข้าใจปัญหาและอุปสรรค ที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติ แล้วมีการสังเกต ศึกษา เฝ้าดู ปัญหาอุปสรรค ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และสามารถ แก้ไขไปได้เรื่อยๆ สามารถต่อบทเรียนได้เรื่อยๆ ผู้เริ่มต้นแบบนี้ หาได้ยากยิ่ง จะพบบุคคลประเภทนี้หนึ่งในร้อยเท่านั้น
  2. ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติบางคนสามารถผ่านการรบกวนของนิวรณ์ชนิดต่างๆ ได้ เพราะรู้วิธีแก้ จะด้วยวิธีแก้ด้วยอาศัยการช่วยเหลือแนะนำ ของกัลยาณมิตรก็ได้ โดยผ่านการพิสูจน์ด้วยศรัทธา ของตนเองก็ได้ ก็มีผลออกมาเป็นความขยันหมั่นเพียร มีสติตื่นรู้อย่างถูกต้อง เกิดสมาธิคือตั้งใจทำอย่างต่อเนื่องได้เป็นเวลานานๆ ก็เกิดปัญญาแก้ไขปัญหาอันเกิดจากนิวรณ์ธรรมได้ถูกตัว ผู้เริ่มแบบนี้จะประจักษ์แจ้ง กับอารมณ์รูปนาม เป็นเบื้องต้น

 

อารมณ์รูปนาม

 

  1. อารมณ์รูปนามเป็นอย่างไร การเห็นรูปนาม คือ การเห็นการแยกกันระหว่างความรู้ทางกาย และความรู้สึกทางจิตได้ชัดเจนมาก หรือเห็นการแยกกันระหว่างความคิดกับความรู้สึก คือเห็นตัวรู้สึกทางกายเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก เห็นความรู้สึกทางใจหรือจิต อยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ปะปนกัน เมื่อก่อนเราเข้าใจหรือเห็นว่า ความคิดกับความรู้สึกเป็นสิ่งเดียวกัน เช่นเราถูกน้ำร้อน หรือแดดเผา เราคิดว่า เรากับความร้อน เป็นความรู้สึกเดียวกัน หรือเราปวดหัว ก็เข้าใจว่า ความปวดหัวเป็นเรา แต่ความปวดหัวเป็นเรื่องของกาย เราคิดว่าเราปวดและไม่สบายใจกับความปวดนั้น เป็นเรื่องของจิต

 

  1. การเห็นรูปนามกับการรู้รูปนามต่างกันอย่างไร ต่างกันมาก การรู้เป็นการคาดคะเน หรือคิดเอาเองว่า รูปเป็นอย่างนี้ นามเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องของสัญญาและสังขาร พอเผลอก็ลืมและหลง เอาความคิดเป็นเราเหมือนเดิม แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่การเห็น เป็นการประจักษ์รู้ เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น เป็นการสัมผัสตัวรู้สึกจริงๆ มิใช่คิดเป็นความรู้สึก  เหมือนเราเดินทาง บังเอิญเหลือบไปเห็นงูตาย นอนขวางทางอยู่ แต่ด้วยความกลัวก็คิดว่างูเป็น โดยเข้าใจเอาเอง แล้วรีบเดินหลบไปอีกทาง แต่อีกคนพอเห็นงูนอนขวางทางอยู่ จะยืนดูก่อนแล้วมองหาอะไรมาไล่งูให้พ้นทางเดิน อาจจะด้วยไม้หรือก้อนดิน  แต่พอโยนไม้หรือก้อนดินใส่งูยังเฉยอยู่ ไม่ตอบโต้ ถึงได้รู้ว่า งูตาย เลยหายสงสัย เดินข้ามงูหรือเขี่ยงู ให้พ้นทางได้ฉันใด ก็ฉันนั้น

 

  1. คนรู้ความคิด ยังจัดการอะไรกับความคิดไม่ได้ มันคิดอยากก็ยังอยากกับมันอยู่ มันไม่พอใจ ก็ยังแสดงความไม่พอใจกับมันอยู่ หรือถูกอะไรกระทบกาย ก็ยังรู้สึกคล้อยตามกับความรู้สึกนั้นอยู่ แต่คนเห็นความคิด จะสามารถจัดการความคิดได้ เหยียบความคิดได้ ข้ามความคิดได้ และไม่กลัวความคิด ปล่อยให้คิดต่อก็ได้ เอาออกไปก็ได้ ดังนั้นการเห็นความคิดและรู้ความคิดจึงเป็นคนละเรื่องกัน

 

  1. การเห็นจะเกิดขึ้นเมื่อใด? ช่วงแรกๆ เมื่อลงมือปฏิบัติใหม่ๆ อาจจะต้องถูกนิวรณ์ธรรมรุมเร้า จนไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ถ้าศรัทธายังไม่หมดเสียก่อน ก็พยายามทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งความพร้อมของสติ สมาธิ ปัญญา ปรับเข้ากัน ภาษาสมัยปัจจุบันว่า “จูนโหมดตรงกัน” พอดี เกิดภาวะ “ตัวเห็น” หรือดวงตาธรรม ปรากฏขึ้นเอง โดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ความคิด หรือ คาดคะเนเข้าไปตัดสินอาการนั้น แต่เราจะรู้สึกรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง แล้วมันจะไม่หลับใหลอีกต่อไป

 

  1. เมื่อนิวรณ์ทุกตัวสงบราบคาบไประยะหนึ่ง สภาวะตัวรู้ หรือ รูปนามจะปรากฏเอง อุปมา เหมือนน้ำในบ่อ ระยะแรกๆ มันจะขุ่นๆ ทิ้งไว้ระยะหลังเมื่อโดนแสงแดดส่องนานเข้า จะเริ่มตกตะกอน น้ำจะเริ่มใส สะอาด สามารถมองเห็นสภาพก้นบ่อได้ชัดเจน ฉันใด ใจที่สงบจากนิวรณ์ ก็ใส สะอาด ฉันนั้น เราก็ตักน้ำสะอาดมาใช้ได้

 

  1. ดังนั้นนิวรณ์ต่างๆ จึงเป็นอุปสรรคเบื้องต้น เมื่อสงบจากนิวรณ์ เห็นรูปนามแล้ว ต้องหาทางเก็บตัวอยู่เงียบๆ สัก 5-7 วัน เรียก เข้าเก็บอารมณ์เข้ม เป็นกติกาของเทคนิควิธีการเคลื่อนไหว อุปมาเหมือนแม่ไก่ เมื่อไข่ออกมาจนครบแล้ว ธรรมชาติของแม่ไก่ ก็จะกกไข่ต่อไปจนไข่ออกตัวเป็นไก่ ฉันใด ผู้เจริญภาวนาแบบนี้ ถ้ารู้ว่าออกจากนิวรณ์ได้แล้ว ต้องหาทางเก็บอารมณ์เข้าให้ได้ มิฉะนั้นจะพลาดการพัฒนาจิตจากขั้นรูปนามขึ้นสู่อารมณ์ปรมัตถ์ เพราะถ้าไม่เข้าเก็บอารมณ์เข้ม ก็เหมือนไข่แล้วไม่ได้กกต่อนั่นเอง

 

  1. ในบทนี้ จะนำเอาเหตุเกิดนิวรณธรรมต่างๆ มาเปิดเผยให้เห็น ถึงรากเหง้าของมันให้ละเอียด ลึกลงไปอีก สำหรับกามฉันทนิวรณ์ได้แจงให้ละเอียดแล้วในบทที่ 86-87 ถ้ายังสงสัยไม่ชัดเจน กรุณากลับไปดูข้อที่ 85-86-87 อีกครั้ง เพื่อจะได้เห็นและเข้าใจความเชื่อมต่อสัมพันธ์กันในเครือข่ายของนิวรณ์ธรรมทั้ง 5 ได้ชัดเจนมากขึ้น

97. นิวรณ์ธรรมตัวที่ 2 คือพยาบาทนิวรณ์ เริ่มต้นต้องมาจากอะไร ได้แจงในเบื้องต้นว่า กามฉันทะกำเนิดจาก สุขเวทนาทางกาย แต่ทุกพยาบาทนิวรณ์ก็เกิดต่อเนื่องจากสุขเวทนาด้วยเช่นกัน ซึ่งมีลำดับของการเกิดสามารถเห็นขบวนการดังต่อไปนี้

  • ทุกขเวทนา คือความไม่สบาย ที่ขาดสติตามรู้ ตามแก้ไข ย่อมทวีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นตามกฎของไตรลักษณ์
  • โทมนัสสเวทนา ความไม่สบายทางกายที่บีบคั้นกายเพิ่ม เข้มข้นตามลำดับ แต่ไม่มีสติปัญญาตามรู้ เพราะไม่ได้ฝึกฝนอบรม ทุกขเวทนาทางกายก็จึงบีบคั้นจิตให้เกิดทุกขเวทนาทางจิต คือ ความไม่สบายใจ-ไม่พอใจ
  • ปฏิฆะ ความไม่สบายใจ ก่อให้เกิดความหงุดหงิด งุ่นง่าน รำคาญใจ แสดงออกมาในรูปของความเบื่อ ไม่พอใจ ขัดแย้ง แต่เพราะไม่ได้อบรมสัมมาสติ จึงไม่รู้เท่านั้นอาการของปฏิฆะ อารมณ์ตัวนี้มันก็พัฒนาต่อไปตามกฎของไตรลักษณ์
  • พยาปาทะ (นิวรณ์ตัวที่ 2) ความไม่สบายใจ อารมณ์ไม่แช่มชื่น เกิดอาการตึงเครียด และเกร็งตามร่างกาย เกิดความรู้สึกไม่ชอบใจ ไม่พอใจ เบื่อเซ็ง อย่างไร้เหตุผล แต่ก็เพราะขาดสติปัญญาตามรู้ ตามแก้ไข อาการนี้ก็พัฒนาต่อไป
  • โทสะ เมื่อขาดสติตามรู้ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ก็พัฒนาเป็นกำลังของอารมณ์ที่เข้มข้น กระจาย แผ่ซ่านไปทั่วกาย–จิต–อารมณ์  มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ทำให้เกร็ง เครียด บีบคั้นจิตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • โกธะ เมื่ออารมณ์พลุ่งพล่านออกมา ก็ยังไม่ได้สติตามรู้ ตามเห็นอีก ความโกรธพัฒนาออกมาเป็น บันดาลโทสะ เกิดอาการเร้าร้อนทั้งกายและใจ
  • อุปนาหะ ถ้าโกรธทำอะไรตอบสนองไม่ได้เต็มที่ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้แสดงออก ก็บังคับ สะกด ความโกรธนั้น ลงไปในจิตใต้สำนึก กลายเป็นการบังคับจิตและเก็บกดทางอารมณ์
  • ปฏิฆานุสัย–โทสานุสัย อาการที่จิต เก็บซ่อนความไม่พอใจ ไว้ภายใต้จิตสำนึกบ่อยๆ ถึงบางครั้งจะดับเอง ตามกฎของไตรลักษณ์ก็ตาม ไม่มีผลให้ความร้อนของจิตเย็นลงได้ แต่พัฒนาความโกรธเป็นรูปแบบใหม่
  • มานะ ความไม่พอใจเปลี่ยนรูปแบบที่ลึกลง ละเอียดขึ้นกว่าเดิม เป็นอาการของมานะ คือ เกิดเปรียบเทียบและก่อให้เกิดความขัดแย้งในอารมณ์ ก่อให้เกิด เป็นผล เกิดความน้อยใจ เสียใจ ผิดหวัง ซึมเศร้า ระทมขมขื่น ในอารมณ์ เมื่อไม่ถูกตอบสนองในทางตรงข้าม
  • มานานุสัย ก่อให้เกิดความถือเนื้อถือตัว ถือเรา ถือเขา มีมานะ อัตตาสูง มีการแบ่งแยกชนชั้น เป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นพรรค เป็นพวก ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง เป็นอติมานะ ก่อให้เกิดอาการดูหมิ่น ดูถูกผู้อื่น เป็นนิสัยส่วนตัว มาขั้นนี้ ก็เกิดเป็นความเคยชิน เป็นนิสัย เป็นบุคลิก
  • อัตตวาทุปาทาน การยึดถือตนเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลาง เกิดอาการรักตัวกลัวตาย แสวงหาความปลอดภัย สร้างเครือข่าย สร้างอำนาจ ปกป้องตนเอง ปกป้องคนของตน ด้วยอำนาจกิเลสและมีอาวุธ เครื่องมือขึ้นมาเป็นตัวช่วยและสร้างสัญลักษณ์สิ่งแทนความโกรธ เช่นเครื่องมือ อาวุธทำลายล้าง ชนิดต่างๆ มากมาย ตามรูปแบบและความเข้มข้นของมานะ อัตตา ของคนนั้นๆ ก่อให้เกิดสงครามทำลายล้าง ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผลิตอาวุธร้ายแรงขึ้นมา ปกป้องคนของตน เผ่าพันธุ์ของตน นั่นคือ ไฟนรกจึงตามมาในที่สุด
  • ภวานุสัย ความรู้สึก ไม่พอใจทุกระดับ ที่ไต่ระดับขึ้นมาเป็นกิเลสขั้นละเอียด จะถูกเก็บซ่อนไว้อย่างลึกสุด แต่มีการเตรียมพร้อมที่จะใช้ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นพลังกิเลสที่มีความเร็วสูง เป็นพลังทำลายล้างที่มีอานุภาพร้ายแรง ตามลำดับของสถานภาพของบุคคลนั้นๆ เปรียบเหมือนอาวุธที่เก็บซ่อนไว้ในที่ลับ ต่ำสุดๆ ตั้งแต่ ยาพิษ มีด ปืน ชนิดต่างๆ สูงขึ้นไปอาวุธสงครามทุกชนิด พัฒนาขึ้นไปถึง  ขีปานาวุธ และระเบิดนิวเคลียร์ ระดับต่างๆ  ตั้งแต่ปัจเจกบุคคล ไปถึงสังคม ประเทศชาติ และ นานาชาติ และของโลกในที่สุด

 

  1. ความที่ขาดสัมมาสติไม่รู้เท่าทันอาการของความรู้สึกไม่สบายทางกาย เพียงบางเบาเท่านั้น มันมีพัฒนาการต่อเนื่องกันไปอย่างลึกซึ้ง กว้างขวางเพียงใด มันสามารถหยั่งรากลงไปจากสวรรค์ถึงก้นบึ้งของอเวจีมหานรกได้ อุปมาเหมือนสะเก็ดไฟ เพียงเล็กน้อย ถ้าประมาทพลาดพลั้ง ปล่อยให้ตกไปในกองแห่งน้ำมันและแก๊ส มันสามารถกลายเป็นกองเพลิงมหาศาล ในพริบตาได้ฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงไม่ประมาทต่อทุกขเวทนาเพียงเล็กน้อย ที่ก่อเกิดในร่างกาย ท่านจะคอยบำบัดแก้ไขตลอดเวลา นั่นคือการขจัดต้นตอแห่งทุกข์ และไฟนรกได้มหาศาล

 

  1. เราสามารถนำเอาต้นตอของทุกข์ หรือ เหตุของทุกข์อันเกิดจากสุขเวทนา ทุกขเวทนามาโยงให้เห็นความเชื่อมสัมพันธ์ของมันอีกครั้ง เพื่อเห็นภาพการวิวัฒนาการที่ชัดเจนของมันอีก
  • สุขเวทนา ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • ทุกขเวทนา ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • โสมนัสสเวทนา ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • ปฏิฆะ ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • พยาปาทนิวรณ์ ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • โทสะ-โทสานุสัย ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • โกธะ ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • อุปนาหะ ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • ปฏิฆานุสัย ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • มานา มานานุสัย อติมานะ ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • อัตตวาทุปาทาน- อัตตสัญญา ขาดสติกำหนดรู้ก่อให้เกิด
  • ภวาสวะ กิเลสานุสัย

 

  1. วิธีแก้สายโซ่หรือปฏิจจสมุปปาทะของทุกขเวทนา ก็คือ เจริญสติปัฏฐาน 4 อย่างต่อเนื่อง ให้เป็นลูกโซ่ ไปตามขั้นตอนของการเจริญสติตามรูปแบบต่างๆ จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ย่อมใช้สัมมาสติระดับต้นๆ ตามรู้ ตามเห็น อาการของความไม่สบายทางกายอย่างใกล้ชิด แล้วคอยแก้ไขมันออกไปเรื่อยๆ ไปควรปล่อยให้เกิดแช่จมอยู่ในทุกขเวทนาทางกายให้นานเกินไป กลับไปอ่านวิธีการแก้ไขจากข้อ 85 ถึงข้อ 93 และทำตามอย่างถูกต้องก็สามารถแก้ไขได้ ตามหลักของไตรสิกขา ซึ่งมีรายละเอียดที่นำมากล่าววิสัชชนาในบทต่อๆ ไป

 

 

เวทนา

 

101 .ในจักรวาลนี้ มีลักษณะแห่งธรรมชาติอยู่ 2 อย่าง คือ เกิดและดับ ตลอดเวลา ธรรมชาติแห่งการเกิดพัฒนาเป็นธรรมชาติของทุกข์ ธรรมชาติแห่งการดับ พัฒนาเป็นธรรมชาติของการดับทุกข์ เพราะมีทุกข์ และการดับทุกข์ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจึงอุบัติขึ้น ถ้าไม่มีธรรมชาติทั้ง 2 อย่างนี้แล้ว พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องเกิดขึ้น

 

  1. พระตถาคตเจ้าตรัสสอนเหตุของทุกข์ ในบรรดาเหตุของทุกข์เหล่านั้น ตถาคตกล่าวว่า มีอวิชชา เหตุต้น และ อวิชชาเกิดจากอะไรเล่า? บัดนี้เราจะย้อนไปดูเหตุของทุกข์ ที่สัมผัสได้ในทุกขณะ คือ เวทนาทั้งสาม คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ในเวทนาทั้ง 2 ประการ ได้กล่าวไปแล้วว่าเป็นเหตุเกิดทุกข์ได้อย่างไร? บัดนี้จะกล่าวถึงเหตุที่สาม คือ อทุกขมสุขเวทนา ซึ่งเวทนาที่เข้าใจยาก เพราะไม่ชัดเจนในอาการของทุกข์และสุข

 

  1. อทุกขมสุขเวทนา จึงเป็นต้นตอของอวิชชา เพราะไม่รู้ชัดว่า ความสุขเป็นอย่างไร ความทุกข์เป็นอย่างไร จึงหลงใหล และจมแช่ในอาการของสุขและทุกข์ตลอดเวลา เพราะความไม่รู้ชัด ไม่รู้แจ้ง ไม่รู้เท่าทัน จึงรู้ผิดไปจากความเป็นจริง จึงเป็นต้นเหตุของการก่อเกิดของอทุกขมสุขเวทนา และพัฒนาการมันมีความเป็นมาอย่างไร เราจะมากล่าวกันในเห็นชัด ดังต่อไปนี้

 

  1. เพราะอทุกขมสุขเวทนา ไม่ถูกตามรู้ ไม่ถูกกำหนดรู้ รู้ด้วยสติ จึงก่อให้สายโซ่ของปฏิจจสมุปปาทของอวิชชาทั้ง 2 ราก ดังต่อไปนี้
  • อทุกขมสุขเวทนา ก่อให้เกิด
  • โมหะ คือความหลงลืม ก่อให้เกิด
  • ปมาทะ คือความมัวเมา  เผลอเลอ พลั้งพลาด
  • อวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าทันความเป็นจริง หรือรู้ผิด
  • มิจฉาทิฏฐิ  คือเห็นผิดในทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ การดับทุกข์และไม่รู้วิธีการดับทุกข์ หรือไม่รู้ทางหรือเทคนิควิธีดับ
  • มิจฉาสังกัปปะ เพราะไปเห็นผิด จึงคิดผิด เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง
  • มิจฉาวาจา เพราะรู้ผิด เห็นผิด เข้าใจผิด จึงพูดผิด
  • มิจฉากัมมันตา เพราะพูดผิดจึงเป็นอกุศลกรรมบถ 10
  • มิจฉาอาชีวะ เพราะทำผิดจึงใช้ชีวิตผิด
  • มิจฉาวายามะ เพราะใช้ชีวิตผิด จึงเพียรพยายามผิด
  • มิจฉาสติ เพราะพยายามผิด จึงระลึกรู้ผิด
  • มิจฉาสมาธิ เพราะระลึกผิด จึงตั้งจิตไว้ผิด
  • มิจฉาญาณ เพราะตั้งใจผิด จึงเดินทางผิด
  • มิจฉาวิมุตติ เพราะเดินทางผิดจึงถึงเป้าหมายผิด หรือบรรลุธรรมในทางผิด

 

  1. ความไม่รู้เท่าทันหรือรู้ผิดไปจากความเป็นจริง จึงเป็นต้นตอแห่งความซับซ้อน ยุ่งเหยิงทางนามธรรม เกิดขึ้น ซึ่งยากต่อการคลี่คลาย ทำให้แจ่มแจ้งชัดเจน (บุคคลผู้ใดต้องการทราบในรายละเอียดของศัพท์ทางวิชาการศาสนาให้ไปค้นคว้า หาอ่านในตำราพระไตรปิฎกเอาเอง เพราะคำศัพท์ภาษาแต่ละคำ มีความหมายและรากเหง้าแห่งความเป็นมาอย่างละเอียด ในหนังสือพจนานุกรมประมวลศัพท์ ประมวลธรรม ที่รวบรวมโดย พระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตฺโต เอาเอง เพราะในที่นี้ จะนำมาอ้าง คงต้องยืดยาวเกินจำเป็น)

 

  1. อวิชชาเป็นต้นตอโดยรวมของเหตุเกิดทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้นควรจะมาเข้าใจถึงพัฒนาการของอวิชชาตามหลักของปฏิจจสมุปปาท ที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ คือ ค้นพบวิวัฒนาการ หรือสายโซ่ของอวิชชาว่ามีพัฒนาตัวมันเองอย่างไร จึงขอยกศัพท์ทางตำราขึ้นมากล่าวอีกครั้ง เพื่อความชัดเจนเห็นภาพในแง่ของสมมุติ เพื่อนำไปสู่วิมุตติ ในลำดับต่อไป

107. อวิชชา คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงก่อให้เกิด

  • สังขาร เพราะไม่รู้ความจริง จึงปรุงแต่งไปตามอาการ
  • วิญญาณ เพราะปรุงแต่ง จึงเกิดการรับรู้ เกิดขึ้นในจิต
  • นามรูป คือ ภาพของจินตนาการ เริ่มปรากฎเป็นรูปของจิต
  • สฬายตนะ ภาพเหล่านั้น ปรากฎเข้ามาสู่ทางอายตนะ
  • ผัสสะ เกิดอายตนะภายใน จึงไปกระทบกับอายตนะภายนอก
  • เวทนา เมื่อกระทบย่อมเกิดความรู้สึก 3 อย่าง คือ เวทนา 3 (สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ทางกาย)
  • ตัณหา เมื่อขาดสติ ตามรู้เวทนา จึงเกิดอาการอยาก-ใคร่
  • อุปาทาน เข้าไปสำคัญความอยากนั้นเป็นตัวตน จึงเข้าไปยึด
  • ภพ เพราะเข้าไปยึดความอยาก จึงต้องการเป็นเจ้าของ
  • ชาติ เพราะอยากเป็นเจ้าของ จึงเกิดการทำกรรมในไตรทวาร
  • ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ ก่อเป็นสายโซ่แห่งกรรมทั้ง 3

 

  1. อวิชชา คือ ความไม่รู้จึงก่อความอยาก คือ ตัณหา เพราะขาดปัญญา จึงสำคัญความอยากว่าเป็นตัวตน จึงยึดไว้เป็นอุปาทาน เพราะยึดไว้ จึงเกิดปฏิกิริยาสนองตอบ จึงมีการกระทำ คือ กรรม และทำกรรม อย่างขาดปัญญา จึงวนไปหาอวิชชา ตัณหา อุปาทาน รวมสายโซ่ทั้ง 4 นี้ เข้าด้วยกัน เรียกว่า “กิเลส” กิเลสจึงเป็นคำรวมทั้งหมดของเหตุเกิดทุกข์ ด้วยประการฉะนี้ กิเลสจึงเป็นคำรวมยอดของสายโซ่แห่งทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ โดยประการทั้งปวง

 

 

นิโรธปฏิปทามัคคสัจจ์

 

  1. เมื่อได้กล่าวถึงเหตุของการเกิดทุกข์มาจนครบถ้วนแล้ว ลำดับต่อไปจะได้กล่าวถึงเหตุของการดับทุกข์ เพราะธรรมทั้งปวงมีการเกิดขึ้น แล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา ความทุกข์ก็เช่นกัน เมื่อมีเหตุให้เกิดแล้ว ก็มีเหตุให้ดับไปด้วยเช่นกัน เพราะการเกิดทุกข์และการดับของทุกข์ ก็มีต้นตอสืบเนื่องจากการเกิดดับของจิตนั่นเอง

 

  1. ปางเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีออกบวชจะด้วยเหตุอันใด เราท่านทั้งหลายคงได้ทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว จะไม่นำรายละเอียดกล่าวซ้ำอีก แต่จะนำประเด็นที่เหตุที่จะไปสู่ธัมมวิจัย เพื่อจาระไนให้เห็นเหตุของการดับทุกข์ของพระองค์หลายๆจุด ที่เป็นเหตุนำไปสู่ความเข้าใจเหตุให้ทุกข์ดับอย่างชัดเจน ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม หรือทั้งบุคลาธิษฐาน และธัมมาธิษฐาน ทั้งเป็นส่วนของสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ

 

  1. เหตุการณ์ที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ของการเสด็จออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะ หลายๆเหตุการณ์ที่ถือว่าไม่เป็นไปตามทฤษฎีทางรูปธรรม หรือ ขบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขัดกับหลักการและเหตุผลทางพุทธธรม ที่ปรากฏในตำราคัมภีร์พระไตรปิฎก ที่ว่าด้วยการของเหตุและผล เช่นหลักของอิทัปปัจจยตา หลักของปฏิจจสมุปปาทะ หลักของอริยสัจจ์ ดังจะเห็นตัวอย่างของเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

 

  1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบวชที่ฝั่งแม่น้ำอโนมา พระองค์ได้อธิษฐานบรรพชา ตามตำรากล่าวว่า พระองค์ได้ใช้พระขรรค์หรือดาบประจำพระองค์ ปลงพระเกศา หรือ ตัดพระโมลี ในขณะนั้น เหตุการณ์นั้น ได้ส่งสัญญาณกระทบไปถึงพระอินทราธิราชหรือท้าวสักกเทวราช พระองค์ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นำเอาผอบทองมารองรับเอาพระเกศาไว้ แล้วนำไปบรรจุ ณ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี อันเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระโพธิสัตว์ที่เคยเสด็จออกบวชในลักษณะเดียวกัน และทุกสิบห้าวัน ท้าวสักกเทวราชก็จะนำเหล่าเทพยดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาสักการบูชา ขอนำเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์ย่อๆ เพียงเท่านี้

 

  1. ตามหลักฐานในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ ในแง่ของสมมติเพื่อแสดงให้เห็นถึงบุญญาภินิหาริย์ขององค์พระโพธิสัตว์เจ้า แต่ในแง่ของปรมัตถ์ หรือ ความเป็นจริงอันเป็นสามัญ ที่จะสามารถเข้าใจได้ในแง่ของเหตุและผลนั้น ควรจะเป็นอย่างไร? บทธัมมวิจัยที่เรากำลังมุ่งทำนี้ เพื่อทำให้สมมติและปรมัตถ์เชื่อมต่อถึงกัน

 

  1. การวิจัยในแง่ของปรมัตถ์ หรือนามธรรมอันเป็นแก่นแท้ของเรื่อง โดยไม่อาศัยเหตุสมมติเป็นหลักฐาน เหตุการณ์นั้นยังเล่าต่อไปว่า พระพุทธองค์ทรงปลงผมครั้งเดียวและผมที่ปลงแล้ว จะไม่งอกขึ้นยาวเกินกว่า 2 องคุลี ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จากข้อความตรงนี้สามารถเป็นลายแทงจับทางความหมายทางปรมัตถ์ได้ดังนี้

 

  1. พระขรรค์ที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้ปลงพระเกศานั้นในแง่ของธัมมาธิษฐาน หมายถึงดาบแห่งวิปัสสนาญาณอันที่แหลมคม สามารถตัดรากเหง้าแห่งกิเลสได้เด็ดขาด เส้นพระเกศาหรือเส้นผม มันจำนวนมากจนยากแก่การกำหนดนับได้ แต่วิปัสสนาญาณของพระพุทธองค์นั้นแก่กล้า สามารถตัดครั้งเดียวได้เด็ดขาด เพราะวิปัสสนาญาณ เปรียบเสมือนดาบอันคมกริบ

 

  1. พญาอินทราธิราช ที่ลงมาเอาผอบทองมารองรับพระโมฬีเอาไว้ และนำไปประดิษฐานไว้ในเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในธัมมาธิษฐาน หมายถึง เจ้าชายสิทธัตถะ มีความตั้งใจและศรัทธาอันแน่วแน่สูงสุด ที่จะบำเพ็ญสมณธรรม จึงบรรลุถึงจุดสูงสุดแห่งการศึกษาและการปฏิบัติโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในการแสวงหาวิถีแห่งการหลุดพ้น

 

  1. พระองค์ทรงตัดผมครั้งเดียวแล้ว ผมนั้นไม่งอกยาวเกินกว่าสององคุลี หมายถึง ในแง่ของธัมมาธิษฐานที่หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้อธิบายไว้ว่า “การตัดผมเพียงครั้งเดียว และผมที่ตัดไม่งอกขึ้นอีกเลย แต่ยาวเพียง 2 องคุลี หมายถึง กิเลส ที่พระองค์ตัดได้แล้ว จะไม่กลับกำเริบงอกเงยขึ้นได้อีกต่อไป แต่ที่งอกได้เหลือเพียง 2 นิ้ว หมายความว่า พระองค์ตัดรากเหง้าของอกุศลได้หมดสิ้น แต่เหลือเพียงกุศลธรรม 2 ประการ คือ สติ–ปัญญา (สามารถแยกย่อยเป็นกุศลธรรมที่เป็นคู่ทั้งหลายได้ เช่น ธรรม-วินัย, สมมติ-ปรมัตถ์, การเกิด-ดับ, วิชชา-วิมุติ เป็นต้น)

 

  1. ประเด็นธรรมที่เป็นธัมมาธิษฐาน ที่ต้องการจะสื่อต่อไป ก็คือ การตัดผมครั้งเดียว หมายถึง สติที่เจริญได้จนเป็นสัมมาสติแล้ว สามารถตัดความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ละขณะนั้นได้อย่างเด็ดขาด เหลือแต่สติและสัมปชัญญะในรูปนามปัจจุบัน เท่านั้น เมื่อเกิดขึ้นอีก สติก็ตามรู้เท่าทันไปเรื่อยๆ เมื่อสติคมกล้า จนพัฒนาเป็นวิปัสสนาญาณสมบูรณ์แล้ว ความรู้เท่าทันเข้มแข็ง ฉับไว จนความคิดปรุงแต่ง ตั้งอยู่ไม่ได้ ถูกตามรู้จนเป็นสติสัมโพชฌงค์ในที่สุด

 

พระพุทธยานันทภิกขุ