จิตตานุปัสสนาสติแบบเคลื่อนไหว



j1

แยกแก้วจากน้ำ แยกน้ำใสจากน้ำขุ่น

เรื่องกายและเวทนา
เปรียบได้กับการแยกแก้วจากน้ำ
เรื่องจิตและธรรม
เปรียบได้กับการแยกน้ำใสจากน้ำขุ่น

เราแยกแก้วกับน้ำไม่ยาก
แต่แยกน้ำใสจากน้ำขุ่นยากกว่า

ความรู้สึกที่เป็นจิต
กลายเป็นอารมณ์ได้อย่างไร?

ถ้าเราไม่เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมชัดๆ
เราจะเห็นนามธรรมไม่ได้เลย

เบื้องต้นให้เราได้เปิดดวงตาธรรม
คือ ดูกายเป็น ดูเวทนาเป็น
เห็นชัดว่าอันไหนเป็นเวทนา
อันไหนเป็นกาย

ระหว่างเวทนากับจิต
ให้เราเห็นชัดว่าเวทนาทางกาย
แปลงเป็นเวทนาทางจิตได้อย่างไร?

เห็นความสบาย ไม่สบาย
แปลงเป็นความพอใจ ไม่พอใจ ได้อย่างไร?

 

j2

วิญญาณธาตุเหมือนแก้วซับอากาศ

ตอนแรกให้เรียนรู้กายกับใจ รูปกับนาม
หมายถึง กายในส่วนที่เป็นอาการต่างๆ
เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
ไม่ได้หมายถึงกายที่เป็นดุ้นเป็นแท่ง
ที่เป็นธาตุ ๔ เท่านั้น

เมื่อธาตุ ๔ ทำงานร่วมกันในอัตราส่วนที่พอดี
ก็เกิดธาตุอีก ๒ ตัว
คือ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ

วิญญาณธาตุเป็นตัวเชื่อมต่อให้เห็นว่า
ในธาตุ ๔ มีอาการอะไรอยู่
อาการ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
เรียกว่า เวทนาทางกาย
อันนี้ยังเป็นกายอยู่ เรียกว่า รูปนาม

เช่น แก้ว เดิมไม่ได้เป็นรูปแก้ว
เดิมเป็นธาตุธรรมชาติ
ธาตุเดิม ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
มันมาจากคนละที่
พอมาผ่านเตาหลอมอุณหภูมิสูง
ก็หลอมเป็นแก้วขึ้นมา

ในแก้วใบนี้มันก็ต้องมีน้ำหนัก
เวลาใส่น้ำเย็น แก้วก็เย็น
เวลาใส่น้ำร้อน มันก็ร้อน

วิญญาณธาตุ ทำหน้าที่
แสดงถึงความร้อน ความหนาว
เหมือนแก้วที่ซับอากาศเข้ามา
แสดงถึงความร้อน ความเย็น จากสิ่งที่อยู่ข้างใน
นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างรูปกับนาม

 

 

j3

ในส่วนที่เป็นเวทนากับจิต
หรือระหว่างแก้วกับน้ำ
ความสบาย ไม่สบาย ของกาย
ก่อให้เกิดความสบาย ไม่สบาย ของจิต
ตัวนี้เรียกว่าเวทนา

ในส่วนที่เป็นจิตกับอารมณ์
หรือระหว่างน้ำใสกับน้ำขุ่น
จากเวทนาที่มาเชื่อมเป็นจิต
คือ ความพอใจ ไม่พอใจ
จิตก็มาเชื่อมเป็นอารมณ์

จิตเดิมแท้มันก็เหมือนธาตุทั่วไป
ที่กระจายอยู่ตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จิตปรากฏ เมื่อมีการกระทบ
เมื่อไม่มีการกระทบ จิตวิญญาณก็ไม่ปรากฏ

จักขุวิญญาณทำหน้าที่เห็นสีเห็นแสง
พอหลับตาลง การเห็นก็หายไป
จักขุวิญญาณก็หายไปทันทีเหมือนกัน

คนหูหนวก โสตวิญญาณก็หายไป
คนหูปกติ โสตวิญญาณก็ทำหน้าที่ตามปกติ

วิญญาณในทางพุทธศาสนา
คือวิญญาณที่ทำหน้าที่ในอายตนะทั้ง ๖
ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ
ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ

 

 

j4

การเจริญสติเครื่องมือแยกสภาวธรรม

ในขั้นตอนของการปฏิบัติ
เมื่อเราทำการเคลื่อนไหว
มีสติสัมปชัญญะอันแหลมคมหนักหน่วง
ก็พอที่จะแยกให้เห็นสภาวะเหล่านี้ได้ชัด

การเจริญสติ เป็นเครื่องมือ
แยกให้เห็นสภาวะต่างๆ
ตามความเป็นจริง

เมื่อเห็นสภาวะต่างๆ
ตามความเป็นจริงแล้ว
ความสำคัญมั่นหมายว่าเราว่าเขา
มันจะหายไป
ความสำคัญว่าหญิงว่าชาย
ก็ค่อยๆ จางลงไป
มันจะไปลดตัวสักกายทิฐิ
ความสำคัญมั่นหมายในตัวตนลงไป

ตัวตัณหา อุปาทาน ก็จะเบาบางลงไป
เพราะตัณหา อุปาทาน เกิดจาก
เราไปเห็นรูปนามที่สมมติ
เป็นเรา เป็นของเรา

 

j5

ที่แท้รูปก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
ตามธาตุ ๔ ที่เราเสริมเข้ามาทุกวัน

เราเสริมเอาลม เข้ามาทุกเวลานาที
เสริมเอาดินเข้ามาทุกมื้อ
เสริมเอาน้ำเข้ามาทุกครั้งตอนเราดื่ม
เสริมเอาไฟเข้ามาทุกวัน เวลาเรากิน

อาศัยกลไกทางจิตวิญญาณ
เข้ามาหลอมธรรมชาติธาตุ ๔
จากภายนอกที่นำเข้าไป กลายเป็นธาตุ
ด้วยวิบาก ด้วยกฎของกรรม

เราก็ไปสำคัญว่าตัวธาตุเหล่านี้
เป็นเรา เป็นของเรา
เราไม่ได้ศึกษา สดับรับฟังคำสอนของพระพุทธองค์
หรือสดับแต่ยังไม่มีศรัทธาและความเพียร
ที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ
ดวงตาธรรมจึงยังไม่เกิด

แต่เมื่อเรามีศรัทธาและความเพียร
ทำความเข้าใจได้ถึงสภาวะความเป็นจริง
ดวงตาธรรมก็เกิด เรียกว่าธรรมจักษุ

 

j6

สิ่งมีชีวิตแปรปรวนได้ไว เพราะมีวิญญาณธาตุ

เมื่อธาตุ ๔ วิญญาณธาตุ และอากาศธาตุ
ทำงานร่วมกัน ก็ออกมาเป็นอาการ
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
เรียกว่า เวทนา

พอมีการกระทบเกิดขึ้น
ระหว่างธาตุภายนอกและภายใน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กระทบ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ก็ออกมาเป็นธาตุใหม่
คือ ราคะธาตุ โทสะธาตุ โมหะธาตุ
ความพอใจ ไม่พอใจ

เมื่อเราเห็นสภาพเหล่านี้
เราก็จะเห็นความสัมพันธ์
ระหว่าง รูปกับนาม กายกับเวทนา
ว่ามีผลต่อรูปนี้อย่างไร
ทำให้เห็นการแปรปรวนได้ชัด

ธรรมชาติธาตุ ๔ มีอยู่แล้ว
แต่มาสังเคราะห์ด้วยบาปกรรม
จึงมาเป็นกายนี้

การทำความเพียร
ด้วยอุบายที่ถูกต้อง
คือการใช้สติปัฏฐาน ๔

เห็นธาตุ ๔ ข้างนอก ธาตุ ๔ ข้างใน
สัมพันธ์กันอย่างไร
เห็นความสัมพันธ์ของธาตุที่เป็นรูป
คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
และธาตุที่เป็นนาม คือ วิญญาณธาตุ

 

 

j7

ธาตุ ๔ ที่ไม่มีวิญญาณ เช่นเก้าอี้
กว่าจะหักพังใช้เวลาหลายปี

แต่ถ้าเก้าอี้ตัวนี้เป็นร่างกายของเรา
มันก็จะแสดงความแปรปรวนให้เห็น
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
อาจจะป่วยหรือตาย วันนี้พรุ่งนี้ก็ได้

แต่เก้าอี้มันไม่ได้ป่วยให้เราเห็น
เพราะเป็นธรรมชาติธาตุ ๔ ที่เป็นรูปธาตุ
ไม่มีวิญญาณธาตุ

ที่ร่างกายแปรปรวนได้ไว
เพราะมีวิญญาณธาตุ
นี่คือความวิเศษของมนุษย์
ที่เราได้ร่างกายนี้มา

 

 

j8 

สร้างแว่นขยายให้ความรู้สึกตัว

ด้วยการเคลื่อนไหวสร้างจังหวะ

เราจึงต้องมาสร้างธรรมจักษุ
ให้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

การที่จะเห็นกายกับเวทนาสัมพันธ์กันอย่างไร
เราอาจจะใช้ความสว่างของธรรมจักษุ
แค่ ๕-๑๐ แรงเทียน ก็จะเห็นได้ชัด

แต่ถ้าจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง
ความรู้สึกที่เป็นเวทนาทางกาย
ไหลไปสู่จิตได้อย่างไร
ความสว่างของธรรมจักษุ
แค่ ๕-๑๐ แรงเทียนก็ยังไม่พอ
จะต้องเป็น ๕๐-๑๐๐ แรงเทียน
เพราะมันละเอียดขึ้น
ถ้าใช้แสงสว่างที่มีแรงเทียนต่ำ
เราจะไปหาของละเอียดไม่เจอ

 

 

j9

เราต้องมาสร้างแว่นขยาย
ให้เป็นเลนส์ซูมที่มีพิกเซลสูงขึ้น
ภาพก็จะถูกขยายชัดขึ้น
ความรู้สึกที่เป็นเวทนาที่เราสัมผัสไม่ชัด
ก็เริ่มเห็นชัดขึ้น
จิตคิดออกไปอย่างไร กลับเข้ามาอย่างไร
ก็เริ่มเห็นชัดขึ้น

เริ่มเห็นว่าวันนี้คิดกี่ครั้ง
แต่ละครั้งยาวแค่ไหน

เริ่มเห็นอารมณ์ดี ไม่ดี มีอาการอย่างไร
ขยายความรู้สึก
ที่เป็นแสงสว่างของสติสัมปชัญญะ
ได้มากขึ้น ด้วยการทำความเพียร

การเดินจงกรม การสร้างจังหวะ
ก็เพื่อไปเพิ่มแรงของสติสัมปชัญญะ
ให้มีกำลังของตัวรู้สึกตัว
ให้ชัดเจน แหลมคม มีความถี่สูงขึ้น
เหมือนเราขยายเลนส์กล้อง
นี่คือคุณค่าของวิปัสสนา

 

j10

สติสัมปชัญญะเปรียบได้กับที่ปัดน้ำฝน

ในแง่ของวิปัสสนา
ไม่ได้ขยายรายละเอียด
เฉพาะในส่วนของรูปธรรมเท่านั้น
แต่ขยายรายละเอียดส่วนที่เป็นนามธรรมด้วย
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไปไม่ถึง

ความเพียร หรืออาตาปี
จะทำไปเล่นๆ เพลินๆ
ง่วงบ้าง เบื่อบ้าง เซ็งบ้าง ไม่ได้

แต่ด้วยความไม่พร้อมของกายของจิต
มันก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้เข้ามา ห้ามไม่ได้
เราก็มีหน้าที่บำบัด ขจัด ปัดเป่า

เหมือนเราขับรถ บางวันหมอกลงจัด
เราก็ต้องใช้ที่ปัดน้ำฝน
ถ้ามันเสียก็ไปไหนไม่ได้

เช่นเดียวกับสติสัมปชัญญะ
บางครั้งเมื่อมีอารมณ์ขุ่นมัวเข้ามา
เราอยู่ในสังคม ก็ต้องมีการกระทบกระทั่ง
เพราะความเหลื่อมล้ำทางอารมณ์
ทางการศึกษา ทางประสบการณ์ ทางสติปัญญา
เมื่อกระทบกันก็เกิดปฏิฆะความขุ่นมัวได้ง่าย

ความจำเป็นของสติสัมปชัญญะ
เปรียบเสมือนที่ปัดน้ำฝน
ต้องทำงานบ่อยครั้ง

คนที่ไม่มีวิปัสสนา
ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องปัดน้ำฝน
ฝนตก แดดออก ก็ต้องไปด้วยความลำบาก

แม้แต่เราซึ่งปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว
อยู่ร่วมกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา
ก็จะรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ขุ่นๆ มัวๆ อยู่เรื่อย

แต่ถ้าครอบครัวปฏิบัติกันทุกคน
เรื่องขุ่นมัวก็แทบจะไม่มีเลย

 

 

j11

ความรู้สึกตัวแบบปรมัตถ์

ทำงานเองโดยอัตโนมัติ

ภารกิจในการศึกษาวิปัสสนา
ต้องทำต่อเนื่องไปตลอด
จนกระทั่งสามารถ
เปลี่ยนระบบแมนนวลให้เป็นออโต้ได้
จากระบบรูปนาม ให้เป็นปรมัตถ์

ตราบใดที่อารมณ์ยังเป็นรูปนามอยู่
ก็ต้องคอยแก้ไขปรับปรุง
ลืมเมื่อใดก็เหมือนเดิม
ต้องคอยกระตุ้นให้มันทำงาน

เราพัฒนาไปจนกระทั่งมันกลายเป็นปรมัตถ์
คำว่าปรมัตถ์หมายถึง มันรู้เอง เข้าใจเอง
ในสภาวะที่มากระทบ
ไม่ต้องคอยกระตุ้นให้สติสัมปชัญญะทำงาน
เมื่อมีอารมณ์ขุ่นมัวเข้ามา
ตัวสติสัมปชัญญะที่ฝึกมาจนชำนาญแล้ว
มันทำงานเอง เหมือนเราตั้งระบบออโต้ไว้
ปรับระดับความพอดี

หมายความว่าจิตของเราเข้าสู่ศูนย์กลาง
คือมัชฌิมาปฏิปทา
เหมือนเราตั้งระดับน้ำไว้ พอถึงจุดนี้ต้องหยุด

ความรู้สึกตัว ถ้าปรับระดับเป็นปรมัตถ์แล้
เมื่อมีอะไรมากระทบ มันทำงานเลย

 

j12

ถ้าเป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว
จะไม่อยู่เฉย จะทำงานไปเรื่อยๆ
ตามหน้าที่ของท่าน
ใครจะรู้ไม่รู้ ใครจะเห็นไม่เห็น
ใครจะฟังไม่ฟัง ใครจะเคารพบูชา ไม่สนใจ

เหมือนระบบสุริยจักรวาล
พระอาทิตย์ทำหน้าที่ส่องแสง
ไม่ได้สงสารสัตว์หรือคน

ฝนตกไม่ได้หมายความว่า
มันสงสารต้นไม้ หรือชาวนา
แต่มันทำหน้าที่ของมัน

 

 

j13

พาสเจอร์ไรส์จิต (๑)

ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์
ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำใสกับน้ำขุ่น

น้ำในแก้วใสๆ จู่ๆ มันก็ไม่ได้ขุ่นขึ้นมาเอง
เพราะมีเชื้อ มีฝุ่น ไม่ได้ปิดฝา
หรือเจตนาที่จะเอาน้ำใสไปปรุงแต่ง

น้ำใสเป็นน้ำที่จำเป็นในครอบครัว
น้ำชนิดอื่นๆ ก็ล้วนมาจากน้ำใสทั้งสิ้น

ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เหมือนน้ำใสๆ
ที่เราจะต้องหาเอาไว้ประจำบ้าน
และน้ำใสๆ นี้
ถ้าเราเป็นนักวิปัสสนา
เราจะนำไปปรุงเป็น เมตตา กรุณา
ศีล สมาธิ ปัญญา ญาณ ก็ได้

น้ำใสๆ ปรุงเป็นอาหารได้หลายร้อยอย่าง
ถ้าขาดน้ำใส ก็ไม่มีน้ำอาบ ซักผ้า ล้างหน้า
เราก็จะลำบาก

กิจกรรมสั่งสมสติสัมปชัญญะ
จึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของมนุษย์

 

j14

พาสเจอร์ไรส์จิต (๒)

น้ำใสในบ้านมี ๒ ลักษณะ
น้ำประปาใส แต่เราไม่ใช้ดื่ม
เราจะดื่มน้ำที่กรองหรือต้มแล้ว

สติสัมปชัญญะในตัวเรา
ก็มี ๒ ระดับ เหมือนกัน
ระดับที่เป็นสัญชาตญาณ
เหมือนน้ำประปาที่ใส แต่ยังไม่ได้กรอง
เรานำมาใช้ในส่วนที่ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ

และน้ำใสที่ผ่านการกลั่นกรอ
พาสเจอร์ไรส์อย่างดี
โดยการนำน้ำใสที่ยังไม่ได้กรอง
มาผ่านกระบวนการกรองอีกครั้งหนึ่ง

นั่นคือการนำสติสัมปชัญญะ
ที่เป็นสัญชาตญาณ
มาพาสเจอร์ไรส์โดยระบบ ๒ ระบบ
คือ สมถะ และวิปัสสนา

การกรองมี ๒ ระดับ
กรองแบบหยาบ และกรองแบบละเอียด

กรองหยาบ เช่น ผ่านชั้นหิน ดิน ทราย
เรายังไม่ค่อยกล้าดื่มเท่าใ
ต้องนำมากรองด้วยเครื่องกรองอย่างดีอีกครั้งหนึ่ง

ในระบบรูปธรรมเราฉลาดมากในการจัดการ
แต่ในระบบนามธรรม เราไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะเราขาดธรรมจักษุ ขาดวิปัสสนาภาวนา

ถ้าเราจัดการจิตได้ละเอียดละออ
เหมือนการจัดการวัตถุ
เราก็จะทุกข์ไม่เป็น

บางครั้งเราทุกข์มากกว่าสัตว์
หมาแมวกินแล้วมันนอนหลับสบา
แต่คนกินแล้วกลับต้องก่ายหน้าผาก

 

 

j15

จัดการรูปธาตุ ใช้ความรู้ระดับรูปนาม

จัดการรูปขันธ์ ใช้ความรู้ระดับนามรูป

พาสเจอร์ไรส์จิต (๓)

ระหว่างจิตที่จะแปลงเป็นอารมณ์
ระหว่างน้ำใสที่จะแปลงเป็นน้ำขุ่น
ให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมชัดก่อน

เมื่อเห็นรูปธรรมชัดแล้ว
มาดูในแง่ของนามธรรมบ้าง

พระพุทธเจ้าตั้งระบบกรองไว้
เป็นวิปัสสนาญาณ ๑๖ ตามตำรา
อันนี้คือเครื่องกรอง

แต่ที่จริงแล้ว มีแค่ ๓ ชั้น
คือ บุพเพนิวาสนุสติญาณ
จุตูปปาตญาณ
และอาสวักขยญาณ

จุตูปปาตญาณ
คือการเห็นการเกิดดับของจิต
ความรู้สึกตัวจะต้องอยู่ในระดับปรมัตถ์
ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์

บุพเพนิวาสนุสติญาณ
เป็นการเห็นอดีตอนาคตแบบง่ายๆ
แค่อารมณ์รูปนามก็เห็นแล้ว

อาสวักขยญาณจะต้องเป็น
ปรมัตถ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
จึงจะพาสเจอร์ไรส์อาสวะได้

 

 

j16

น้ำใสที่ได้จากการพาสเจอร์ไรส์จิต (๑)

ทุกคนต้องการเป็นคนดี
แต่คนดีก็ยังเป็นทุกข์
พระโสดาบัน ถึงพระอนาคามี
ยังเป็นทุกข์ เพราะยังมีอาสวะ

อาสวะมี ๓ ระดับ
กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ

พระโสดาบันยังขจัดกามาสวะไม่ได้
พระอนาคามีขจัดกามาสวะ ภวาสะ ได้
แต่ยังขจัดอวิชชาสวะไม่ได้
พระอรหันต์ขจัดได้ทั้ง ๓ อย่าง

ส่วนการแยกตามหลักปริยัติ
นามรูปปริจเฉทญาณ
มีญาณกำหนดรู้นามรูป
นามรูปคือความคิด อารมณ์
เอาตัวรู้ที่เราฝึก เข้าไปดูอารมณ์ที่เป็นนามรู

ในวิปัสสนาญาณ ๑๖ จะไม่มีเรื่องของรูปนาม
เป็นเรื่องของนามรูปทั้งนั้
เป็นเรื่องของอารมณ์ที่เกิดกับจิต
ภาพที่เกิดในใจเท่านั้น

แค่ความรู้ระดับรูปนาม
ก็จัดการเรื่องรูปธาตุได้แล้ว

แต่ความรู้ในระดับรูปขันธ์
หรือในระดับนามรูป
สติสัมปชัญญะในระดับรูปนามเข้าไม่ถึง
ต้องเป็นสติสัมปชัญญะในระดับปรมัตถ์
จึงจะมารู้ในส่วนที่เป็นนามรูปได้

 

j17

น้ำใสที่ได้จากการพาสเจอร์ไรส์จิต (๒)

ญาณที่ ๑ เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ
ตามรู้ให้ขาดไปเลย
คิดปั๊บกำหนดรู้ขาดเลย

ถ้าเป็นในระดับรูปนาม
ใช้คำว่ากายานุปัสสนา
เป็นการตามรู้เรื่อยๆ
ความคิดยังคาใจอยู่
แต่ก็ค่อยๆ จางลงตามลำดับ

ญาณที่ ๒ เรียกว่า สัมมสนญาณ
พิจารณาดูอาการ
ถ้าตัดอันแรกไม่ขาด
ท่านให้พิจารณาอาการว่า
ความคิดมีลักษณะอย่างไร

สมมติว่าใครมากระทบให้เราโกรธ
นามรูปปริจเฉทญาณตัดขาดไม่ได้
มันก็ยังขุ่นอยู่
เอาสติเข้าไปดูอาการขุ่นของจิต
แต่ถ้าคนทั่วไปจะไม่เข้ามาดูอาการนี้

 

j18

น้ำใสที่ได้จากการพาสเจอร์ไรส์จิต (๓)

ถ้าเราได้ธรรมจักษุ
เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ มันจะชี้เข้ามาที่ตัว
ไม่สนใจว่าใครมากระทบเรา
แต่สนใจอาการของจิตว่าเป็นอย่างไร
การสั่นสะเทือนของจิต
การสั่นสะเทือนของอารมณ์
ระหว่างกายกับจิตมันส่งทอดกันอย่างไร
จิตของเราเกิดชอบ เกิดรัก
มันไปกระตุ้นอาการของกายตอบสนองได้อย่างไร
เกิดการเข้าไปดูตรงนี้ เรียกว่า สัมมสนญาณ
หรือธัมมวิจยะในแง่ของสัมโพชฌงค์

ตัวที่จะเป็นญาณได้
จะต้องผ่านสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยะก่อน
คือ เราเข้าไปวิจัยอาการสภาวะที่เกิดขึ้น
แต่อาการเหล่านั้นต้องปรากฏก่อน
ถึงจะเป็นธรรมวิจัย
เป็นนิโรธ ทำให้ทุกข์ดับได้
เรียกว่า สัมมสนญาณ

ถ้ามันเกิดไปแล้วมาคิดตามทีหลัง
เรียกว่าธรรมวิจารณ์
เป็นสมุทัยให้เกิดทุกข์ได้

 

j19

น้ำใสที่ได้จากการพาสเจอร์ไรส์จิต (๔)
ญาณที่ ๓ เรียกว่า ภังคญาณ
รู้เห็นตัวภังคะ เห็นการดับไป
พิจารณาแล้วเห็นการดับสลายไ
ของอารมณ์นั้น

เมื่อมีการกระทบขุ่นมัว
เราตัดทันทีไม่ได้
เราก็เอาอาการนั้นมาวิจัย
เห็นความหดไปหายไปทีละนิด

แต่ถ้าเราไม่มีความรู้สึกตัวระดับญาณ
เราจะเห็นอาการเหล่านี้ไม่ชัด
ผู้ที่มีระดับญาณแก่กล้า
ก็ยิ่งเห็นสภาวะความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ในจิตของตัวเองชัดเจน
โอกาสที่จะทำให้อาการเหล่านี้หายไปก็เร็วขึ้น
การที่มันหายช้าเพราะเราเห็นไม่ชัด
มันก็คาอยู่อย่างนั้น มันมัวๆ
จิตของเราก็ไม่แจ่มใส

 

j20

น้ำใสที่ได้จากการพาสเจอร์ไรส์จิต (๕)

ญาณที่ ๔ เรียกว่า ภยญาณ
เห็นพิษภัยของการกระทบ
เกิดการระวังสังวรณ์
เห็นภัยว่าสิ่งที่มากระทบ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
เราห้ามมันไม่ได้
รู้ว่าเมื่อกระทบแล้วมีภัยเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่น่ากลัว
เมื่อก่อนการกระทบในทางดีเราก็ขอบ
กระทบในทางไม่ดีก็ไม่ชอบ
ทั้ง ๒ อย่างต่างก็เป็นภัย

ความชอบจะพัฒนาเป็นราคะ ตัณหา ฯลฯ
ความไม่ชอบจะพัฒนาเป็นปฏิฆะ โทสะ พยาบาท ฯลฯ
ทั้ง ๒ อย่างต่างก็เป็นภัยต่อจิต
เกิดการระวังสังวรณ์
กลัวว่า ๒ ตัวนี้จะมาขยายผลในจิตของเร

 

 

j21

พัฒนาแรงเทียนของธรรมจักษุ โดยการเก็บอิริยาบถย่อย

การเจริญสติสัมปชัญญะ
เฉพาะในคอร์ส มันไม่พอ
แค่ให้รู้วิธีที่ถูกต้องเท่านั้นเอง
สนามจริงก็คือการเคลื่อนไหวในชีวิตปกติ

ในสัมปชัญญะปัพพะ
ท่านจึงแยกย่อยไว้ละเอียดมา
การเดินไปเดินมา การเหลียวซ้ายแลขวา
การคู้การเหยียด การแต่งตัว
การเข้าห้องน้ำ การกิน ดื่ม เคี้ยว
การนั่ง หลับ ตื่น การพูด การนิ่ง การไป การมา
เป็นอุปกรณ์ให้เกิดสติสัมปชัญญะละเอียดขึ้น
พัฒนาแรงเทียนของธรรมจักษุ
โดยอาศัยการเก็บอิริยาบถย่อยเหล่านี้ให้มาก

การที่เรามีความตั้งใจอย่างต่อเนื่อง
ในการเก็บอิริยาบถย่อยเหล่านี้
ถ้าเรามีศรัทธา เป็นเรื่องง่าย
ถ้าเราไม่มีศรัทธา ทำบ้างไม่ทำบ้าง
ก็อาจจะเลิกไปเลย

มันจึงไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย
เพียงแต่ศรัทธาของเราเพียงพอหรือไม่

 

j22

ถ้าเรามีศรัทธาไม่ถูกต้อง
เราก็ทำด้วยความอยาก

เพราะศรัทธาที่ไม่ถูกต้อง
มันกลายเป็นตัณหา
ตัณหาที่ถูกต้อง
กลายเป็นศรัทธา

ตัณหากับศรัทธาเป็นขบวนการเดียวกัน
เพียงแต่เราเห็นถูกหรือเห็นผิดเท่านั้นเอง

เราจะเข้าใจถูกหรือผิด
อาศัยการสื่อของกัลยาณมิตร
เพื่อจะเห็นว่า
อย่างไรเรียกว่าศรัทธา
อย่างไรเรียกว่าตัณหา

อย่างไรเรียกว่ากิเลส
อย่างไรเรียกว่าปัญญา

อย่างไรเรียกว่าวิชชา
อย่างไรเรียกว่าอวิชชา

เรามาทำความเข้าใจกัน นำไปใช้ได้
ถือว่าได้ดวงตาเห็นธรรม
เพราะใช้เครื่องมือเป็น

 

 

j23 

โสดาปัตติมรรค

เห็นแรงสั่นสะเทือนของอารมณ์กระทบจิต

จิตที่จะกลายเป็นอารมณ์
พัฒนามาจากเวทนา ๓ ตัว

พอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ
พัฒนามาเป็น
โสมนัส โทมนัส อุเบกขา

ในระดับกายเรียกว่า
สุข ทุกข์ อทุกขมสุข
ระดับที่เข้ามาสู่จิต เรียกว่า
โสมนัส โทมนัส อุเบกขา
ระดับอารมณ์ เรียกว่า
ราคะ โทสะ โมหะ

เมื่อจิตมีราคะก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะ
เมื่อจิตไม่มีราคะก็ให้รู้ว่าจิตไม่มีราคะ
ในชีวิตประจำวัน เราคงไม่รู้ขนาดนี้
ถ้ามีราคะเรายังพอรู้
แต่ถ้าไม่มีราคะ ไม่อยากตามรู้มันเลย
จิตที่ไม่มีความรัก ความชอบ ความใคร่
เราไม่เคยตั้งใจเจตนาดูมันจริงๆ

ปุถุชนทั่วไป
ตอนที่มันมีราคะ เราก็ไม่ได้ดู
มัวแต่เสาะหาวิธีตอบสนอง

พอเราได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว
มันมาเห็นแรงสั่นสะเทือน
ว่าความรัก ความชอบ ความใคร่
เวลากระทบใจ
มันมีแรงสั่นสะเทือนขนาดไหน
ถ้าสามารถเห็นขนาดนี้
ก็ถือว่าเป็นโสดาปัตติมรรคแล้ว

แต่ถ้าเอามันออกได้ด้วยก็ยิ่งดีเลย
ตอนที่มันไม่มีราคะ
ก็ให้รู้ภาวะจิตที่ไม่มีราคะด้วย

 

j24 

เปลี่ยนศรัทธาแบบสมมติ

ให้เป็นศรัทธาแบบปรมัตถ์

กายมาสู่เวทนา
เวทนามาสู่จิต
จิตมาสู่อารมณ์

จิตมาสู่อารมณ์เป็นเรื่องที่ยากขึ้น
ในระหว่างวันเรามีความพอใจ
หรือความไม่พอใจ มากกว่ากัน

คนที่อยู่ในภพภูมิเทวดา
ก็จะมีความพอใจมากกว่า
คนที่อยู่ในอบายภูมิ
ก็จะมีความไม่พอใจมากกว่า

เราตรวจสอบตัวเองได้
ถ้าเราอารมณ์เสียบ่อยๆ
แสดงว่าเรามาจากอบายภูมิ
ถ้าเรามีความปิติยินดี ความพอใจ
รักสวยรักงาม ร่าเริง เพลิดเพลิน แจ่มใส
แสดงว่าเรามาจากสุคติภูมิ

การที่เราจะเปลี่ยนภพภูมิได
มีเงื่อนไข หรือบุพพนิมิต ๒ ประการ คือ
๑. มีกัลยาณมิตร
๒. มีโยนิโสมนสิการ

บางทีเรามีกัลยาณมิตรเป็นพระอรหันต์
แต่เราไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพูด
เพราะเราขาดปัญญา หรือโยนิโสมนสิการ

การแสวงหากัลยาณมิตร
และทำตนเองให้เกิดปัญญา ๓ ประการ คือ
๑. สุตตมยปัญญา ได้ยินได้ฟัง
๒. จินตามยปัญญา ทำความเข้าใจได้ถูกต้อง
๓. ภาวยนามยปัญญา เอาไปลองทำดู

ถ้าลองทำดูได้ถูก ก็หมายความว่า
เราได้เข้าสู่ทางอริยมรรคแล้ว

 

j25

เราต้องมีความเข้าใจเป็นหลั
ส่วนจะทำได้หรือไม่
ก็ไปเพิ่มศรัทธาและความเพีย

การเพิ่มศรัทธาทำได้โดย
พัฒนาศรัทธาที่เป็นสมมติ
ให้เป็นศรัทธาที่เป็นปรมัตถ
พัฒนาศรัทธาที่เป็นโลกียะ
ให้เป็นศรัทธาที่เป็นโลกุตตระ

ศรัทธาที่เป็นสมมติ
อาศัยวัตถุภายนอกเป็นที่ตั้งให้เกิดศรัทธา
เช่น ชื่อวัด ชื่ออาจารย์ รูปแบบวิธีการ

ศรัทธาที่เป็นปรมัตถ์
ปรารภสัจจธรรมเป็นที่ตั้งของความเลื่อมใส
มี ๔ ประการ

๑. กัมมสัทธา
มั่นใจในการกระทำของตัวเอง ว่าเราทำได้
๒. วิปากสัทธา
ทำแล้วเห็นผลชัดเจน พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง
๓. กัมมัสสกตาสัทธา
ทำแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง
๔. ตถาคตโพธิสัทธา
เชื่อว่าเราเลือกการกระทำได

 

j26

ระวังจะเครียด เกร็ง เพ่ง จนเพี้ยน

จิตตานุปัสสนา
ความเชื่อมต่อระหว่างจิตไปหาอารมณ์
เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาสูงมาก
ต้องให้เชื้อเพลิง คือการตามรู้ตัวเอง

ถ้าต้องการให้ญาณปัญญาเร็ว
แก้ปัญหาได้ทันที
ก็ต้องเพิ่มสติสัมปชัญญะ
เก็บรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ต้องไม่ทำให้เครียด เกร็ง เพี้ยน
ถ้ากำลังเราไม่พอ

จิตตานุปัสสนามีทั้งหมด ๘ คู่
๑. ราคะ ไม่มีราคะ
๒. โทสะ ไม่มีโทสะ
๓. โมหะ ไม่มีโมหะ
๔. ฟุ้งซ่าน หดหู่
๕. ได้อารมณ์ ไม่ได้อารมณ์
๖. มีอารมณ์รบกวน ไม่มีอารมณ์รบกวน
๗. อารมณ์ตั้งมั่น อารมณ์ไม่ตั้งมั่น
๘. อารมณ์พ้น อารมณ์ไม่พ้น

วิปัสสนาเบื้องต้น คือการเห็นธรรม
เราต้องประเมินตัวเองถูก
รู้จักเหตุ
รู้จักผล
รู้จักตน
รู้จักประมาณ
รู้จักกาล
รู้จักบุคคล
รู้จักชุมชน

 

 

 

j27

ถ้าเราทำอะไรด้วยความเข้าใจ
เรื่องยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย

สัจจธรรมเป็นเรื่องยาก
เพราะเรายังไม่เข้าใจ
แต่ถ้าเราเข้าใจสัจจธรรม
ลึกแค่ไหนเราก็เข้าใจได้ ทำได้

เข้าใจได้ ทำได้
เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม

 

พระพุทธยานันทภิกขุ

ไฟล์เสียงชุด “วิปัสสนาตามวิถีพุทธ” ตอน “จิตตานุปัสสนาสติแบบเคลื่อนไหว”

https://archive.org/details/RungArunRetreat