เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ
ในการรีทรีทครั้งนี้ เราจะทำความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานสูตร ทั้งที่เป็นวิธีการของหลวงพ่อเทียนและที่เป็นตำรา ผสมผสานกันไป เพราะที่แล้วมา ส่วนใหญ่ปฏิบัติกันแบบไม่เข้าใจ เมื่อขาดความเข้าใจ การนำไปใช้ ก็ไม่ถูกต้อง เกิดความไม่มั่นใจ การปฏิบัติก็ไม่เข้มแข็ง ความก้าวหน้าก็ไม่เกิด ตัวอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็ไม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เรื่องของการทำความเข้าใจหรือสัมมาทิฏฐิ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องทำให้ชัดเจนไว้ สำหรับผู้ที่กำลังปฏิบัติ
วิธีการของหลวงพ่อเทียน กับสติปัฎฐานสี่แบบเคลื่อนไหว กับสติปัฎฐานสี่แบบตัวบท ต้องดำเนินไปด้วยกันอย่างผสมผสานกลมกลืน หากเราปฏิบัติแบบเคลื่อนไหว โดยไม่เข้าใจสติปัฎฐานสูตร เหมือนกับเราเดินทางโดยใช้แผนที่ของเราเอง ไม่ใช่แผนที่สากล มันไม่สามารถให้ทิศทางที่ถูกต้อง เราอาจจะหลงทางได้
อานิสงส์จากการเจริญสติปัฏฐานสี่ที่ถูกต้อง
ในสติปัฏฐานสูตรที่เราสวดตอนเช้า บอกว่าหนทางนี้เป็นหนทางเพียงทางเดียว “เอกายะโน อะยัง ภิกขะเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา” เมื่อเดินทางนี้ทางเดียวแล้ว จะได้อานิสงส์พบกับผลที่จริงๆ ๕ ประการ คือ
๑. สัตตานัง วิสุทธิยา เป็นหนทางที่นำพาสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่ความบริสุทธิ์
๒. โสกะปริเทวานัง สะมะติกะมายะ ทำให้ก้าวพ้นความโศกเศร้าร่ำไรต่าง ๆ
๓. ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ ความทุกข์โทมนัสเสียใจน้อยใจต่าง ๆ ก็จะดับไป
๔. ญายัสสะ อะธิคะมายะ ธรรมทั้งหลายก็จะเจริญขึ้น
๕. นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ กระทำให้แจ้งได้ซึ่งพระนิพพาน
ประการที่ ๑ สัตตานัง วิสุทธิยา
เพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดของจิต
สัตตานังตัวนี้ อาจจะต้องพ่วง จิตตานังไปด้วย หมายความว่า เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของจิต ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
หากเราเจริญสติปัฎฐานสี่ อย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดอานิสงส์ ข้อที่๑ คือ จิตต้องสะอาดหมดจด แต่ที่เราเจริญสติปัฎฐานสี่ กันมายาวนาน ถ้าถามว่าจิตของเราสะอาดหมดจดหรือยัง มันก็ยังไม่แน่ ตามหลักควรสะอาดหมดจดอย่างน้อย ๒๕ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ตั้งแต่ ๗ วัน ไม่เกิน ๗ ปี จิตของเราต้องสะอาดหมดจดระดับหนึ่ง แม้อุปาทิยังเหลืออยู่ เราก็จะไม่กลับมาคิดซ้ำซากในเรื่องเดิมๆ อีก หรือระดับสูงสุดก็คือกระทบแล้วหลุดเลย
เราปฏิบัติมา ๑-๗ ปี เราได้ระดับใดระดับหนึ่งหรือยัง ระดับที่ ๑ เรื่องใดเรื่องหนึ่งมากระทบแล้ว เรื่องนั้นไม่กลับมาอีก หรือระดับที่ ๒ กระทบแล้วหลุดเลย ภายใน ๗ ปี ถ้ายังไม่ได้ ๒ ระดับนี้ ถือว่ายังทำไม่ถูก เมื่อทำไม่ถูก เราก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ ถ้ารู้ว่าเราหลงทาง เราจะเดินหน้าไปตะพึดตะพือ มันก็ยิ่งหลงเข้าไปเรื่อยๆ มีทางเดียวคือ ถึงจะเดินไปไกลเพียงใดก็ตาม ต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ หากจะดันทุรังเดินไปเรื่อยๆ มันก็หลงไปเรื่อยๆ มีแต่ตายอย่างเดียว ไม่ตายก็ไม่ใช่ทิศทางที่เราต้องการ
ประการที่ ๒ ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ
เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์ และโทมนัส
ความทุกข์คือความไม่สบายกาย โทมนัสคือความไม่สบายใจ เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้ของความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ข้อนี้ยิ่งต้องพิสูจน์กันว่า คำว่า ทุกขโทมนัส ท่านไม่ได้หมายถึง ความไม่สบายใจอย่างเดียว ความไม่สบายกายก็ตั้งอยู่ไม่ได้ด้วย ทีนี้เรามาวิเคราะห์กันดูว่า ตั้งแต่ปฏิบัติมานี่ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ของเรานี้ มันยังมีอยู่ไหม ทุกคนมีความไม่สบายด้วยกันทั้งนั้น แต่มันก็ยังตั้งอยู่ได้ การตั้งอยู่ไม่ได้ หมายความว่า ความไม่สบายกายเกิดขึ้นก็จริง แต่มันตั้งไม่ได้นาน ความไม่สบายกาย เรานับตั้งแต่กายกับเวทนาขึ้นไป ส่วนความไม่สบายใจนับตั้งแต่ จิตกับอารมณ์ มันจะตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าหากมันตั้งอยู่ได้ ต้องมาดูว่า เราได้นำ อาตาปี สติมา สัมปชาโน เข้ามาแก้ไขแล้วหรือยัง ถ้ายัง ความไม่สบายกายไม่สบายใจ มันก็ยังตั้งอยู่ แสดงว่าเราปฏิบัติสติปัฏฐานยังไม่ถูกต้องครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราจะต้องทำให้มันตั้งอยู่ได้น้อยที่สุด จนกระทั่งตั้งอยู่ไม่ได้เลย เวทนาทางกาย เป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายกาย มันตั้งอยู่เหมือนกัน แต่ตั้งอยู่ไม่นาน หรือตั้งอยู่ไม่ได้ เช่น เรานั่งแล้วปวดขา ถ้าความปวดขาตั้งอยู่ได้นาน แสดงว่าสติสัมปชัญญะยังไม่ถูกนำมาใช้ แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ความไม่สบายกายตามหลักธรรมชาติของรูปของนาม มันเกิดขึ้นแต่จะตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมันถูกแก้ไขบำบัดเสียก่อน นิวรณ์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน มันเกิดขึ้น แต่ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมันถูกแก้ไขไปเสียก่อน สาเหตุที่มันตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมันเกิดคุณธรรมอื่น แต่เกิดจากคุณธรรม ๓ ประการ คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน ที่แล้วมาเราได้ใช้คุณธรรม ๓ ประการนี้ถูกต้องสมบูรณ์แล้วยัง
เราไม่ได้ปฏิเสธการเกิดขึ้นของความไม่สบายกาย เพราะมันเป็นธรรมชาติ แต่เรายอมรับถึงการจัดการความไม่สบายกายได้ ผู้เจริญสติปัฎฐานสี่ได้ถูกต้อง ต้องมีหัวใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับหนึ่ง ต้องเข้าไปพิสูจน์ วิจัยในสิ่งที่เกิด ความไม่สบายใจคือโทมนัส ความไม่สบายกายคือทุกขะ
ทุกขโทมนัสของกายและใจ นิวรณ์เป็นทั้งทุกข์และโทมนัส เป็นทุกข์เพราะทำให้ร่างกายผิดปกติ นั่งสับปะหงก ไม่สบายกาย เป็นโทมนัสคือความรู้สึกไม่ปกติ ไม่สบายใจ เรามีนิวรณ์เพราะปฏิบัติไม่ถูก และไม่ได้รับการแก้ไข ที่เรานั่งสับปะหงกกัน แสดงว่ามันตั้งอยู่ได้ ถ้าเราปฏิบัติถูก นิวรณ์ ๕ จะตั้งอยู่ไม่ได้
คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสวากขาตธรรม ทุกบททุกตอนต้องได้รับการพิสูจน์ให้เห็นเป็นจริงแล้ว ตัวแก้ไขท่านตั้งไว้ ๓ อย่าง คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน เท่านั้น ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรเลย แต่ว่าเราเอามาบูรณาการใช้หรือเปล่า คำว่า บูรณาการ หมายความว่า เอา ๓ ตัวนี้ มาผสมผสานกัน ใช้พร้อมกัน ไม่ใช่ทีละอย่าง เช่น เราใช้มีดตัดไม้ เราทำแบบบูรณาการ มีดมีองค์ประกอบคือ ๑. มีคม ๒.มีสัน ๓. มีด้าม ๔. มีผู้ถือ ๕. มีแรงที่กระทำลงไป ทั้ง ๕ ประการนี้ทำงานพร้อมกัน เรียกว่า บูรณาการ (Holistic) อาตาปี สติมา สัมปชาโน ทำงานพร้อมกัน เรียกว่า บูรณาการ เมื่อบูรณาการแล้ว มันจะเข้าไปแก้ไข ตัวทุกขโทมนัส ให้ออกไปได้ แต่ในกรณีที่ทุกข์ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจยังอยู่ แสดงว่าเรายังไม่ได้ใช้ทั้ง 3 ตัว มาบูรณาการใช้อย่างถูกต้อง นิวรณ์ จึงยังอยู่เหมือนเดิม ง่วงเหงา ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด สงสัย ได้ทั้งปีทั้งชาติ แล้วจะเรียกว่าเราเจริญสติปัฏฐานสี่อย่างถูกต้องได้อย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่นักกรรมฐานต้องตรวจสอบเป็นอย่างยิ่ง
แต่ถ้าเราเอามาบูรณาการใช้แล้ว พยายามแล้ว เราก็ยังใช้ไม่ได้ มันจะต้องมีอะไรผิดพลาด นั่นคืออินทรีย์ของเรายังไม่เข้มแข็งพอ เราก็ต้องพัฒนาอินทรีย์ของเรา เหมือนให้เด็กอายุ ๕ ขวบ ยกกระสอบข้าว ๕๐ กิโล ย่อมไม่ไหว เด็กคนนี้ไม่ผิด แต่กำลังไม่พอ ถ้าเด็กคนนี้ฉลาด ต้องขนไปทีละนิด ตามกำลังของตัวเอง ถ้าเด็กคนนี้ไม่ฉลาด ก็รอให้ตัวเองโตเสียก่อน วิธีแบบไม่ฉลาดคือแบบสมถะ ไม่เกิดปัญญา วิธีแบบวิปัสสนา คือ กระสอบข้าวหนัก ๕๐ กิโล ย้ายไปทีละกิโล ยอมเสียเวลา ๕๐ เที่ยว ก็จะย้ายข้าวไปสู่จุดหมายได้ เด็ก ๕ ขวบ หิ้วของ ๑ กิโล เป็นไปได้ เด็ก ๗ ขวบ ๑๐ ขวบ ก็เพิ่มขึ้นไป สิ่งที่เขาจะยกต้องเกินกำลังเขาแน่นอน แต่จะทำให้สิ่งที่เขาจะนำไป อยู่ในกำลังของเขา เรียกว่าการปรับอินทรีย์
คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราทำเป็นหรือไม่เป็น ถ้าเราบอกว่าอินทรีย์เรายังอ่อน ไม่สามารถเอาชนะนิวรณ์ได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว เราเอาชนะได้ แต่เอาชนะตามกำลังของเรา สมมติว่าตัวง่วง เมื่อก่อนอินทรีย์เราอ่อน กว่าจะเอาชนะได้ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แต่พอเรามีบูรณาการในเงื่อนไข ๓ ข้อ คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน อย่างถูกต้อง เราก็อาจจะลดจำนวนเวลาเหลือครึ่งชั่วโมง ต่อมาเราพัฒนากำลังอินทรีย์ขึ้นไปอีก ความง่วงอาจจะเหลือแค่ ๑๕ นาที พยายามต่อไปอาจจะเหลือ ๕ นาที เราบูรณาการใช้ไปอีก อาจจะเหลือแค่ ๑ นาที
นี่คือการใช้บูณาการอย่างถูกต้อง มีการปรับอินทรีย์ของตนตามกำลัง ถ้าเราไม่ชัดเจนในสติปัฏฐานสูตรในการแก้ไข มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติอย่างถูกต้องในฐานะเป็นนักพิสูจน์ หรือนักวิทยาศาสตร์ทางนามธรรม
ประการที่ ๓ โสกะปริเทวานัง สะมะติกะมายะ
เพื่อการก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกเศร้าพิไรรำพัน
เราก้าวล่วงความโศกเศร้าพิไรรำพันได้หรือยัง เนื่องมาจากข้อที่ ๑ และ ข้อที่ ๒ เราจะเห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า มีเหตุผลเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเสมอ ข้อที่ ๒ มีได้ ก็เพราะข้อที่ ๑ เพราะจิตไม่บริสุทธิ์ ก็ทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เพราะความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ก่อให้เกิด ความโศกเศร้า พิไรรำพัน สัมพันธ์กัน ไม่ได้ทิ้งขาดกันเลย เกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่ ดังนั้นธรรมมะของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าฝ่ายลบ หรือฝ่ายบวก ไม่ว่าฝ่ายอกุศล หรือฝ่ายกุศล บูรณาการกัน เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งนั้น เกิดด้วยเหตุปัจจัย เป็นปัจจยาการ หรือ อิทัปปัจจยตา นี่คือหลักของคำว่าบูรณาการ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพื่อความก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกเศร้าพิไรรำพัน ความโศกเศร้าพิไรรำพัน เกิดมาจากความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นั่นเอง มี ๕ ระดับ ระดับสูงสุด ความโศกเศร้าพิไรรำพันจะปรากฎ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือ ฟูมฟาย ร้องไห้ คร่ำครวญ จากการสูญเสียคนรัก สมบัติ เป็นต้น เป็นความโศกเศร้าของชาวบ้าน ปุถุชนคนธรรมดา จะแสดงออกทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งภายนอกและภายใน
สำหรับนักปฏิบัติ ความโศกเศร้า พิไร รำพัน มีหลายระดับ ระดับหยาบ ระดับกลาง ระดับละเอียด ขึ้นอยู่กับระดับความรู้ ความเข้าใจ สติปัญญา อินทรีย์ และภูมิธรรมของผู้นั้น
นักปฏิบัติที่มีภูมิธรรมระดับหยาบๆ ก็นำเรื่องความไม่สบายกายไม่สบายใจมาคิดมาปรุงบ่อยๆ เช่น เราไม่สบายใจเรื่องลูก ก็เอาเรื่องลูกมาคิดบ่อยๆ มาคร่ำครวญ มาปรุงแต่ง มาวิเคราะห์ วิจัย มาวิจารณ์ รอบแล้วรอบเล่า ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
นักปฏิบัติที่มีภูมิธรรมระดับกลางๆ เรื่องที่ไม่พอใจเข้ามาเป็นพักๆ พักหนึ่งก็สั้นบ้าง ยาวบ้าง
นักปฏิบัติที่ชำนาญขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถบูรณาการใช้ อาตาปี สติมา สัมปชาโน อย่างถูกต้องเต็มที่ ก็คิดปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ไม่นาน เผลอก็คิดเรื่องเก่าเข้ามาอีก ไม่ชอบหน้าใครสักคน พอเผลอ ก็แว่บเข้ามา
ประการที่ ๔ ญายัสสะ อะธิคะมายะ
เพื่อการเข้าถึงซึ่งธรรมอันควรเข้าถึง
การบรรลุซึ่งธรรมอันควรบรรลุ
ในอานิสงส์ทั้งหมด ๕ ข้อ เป็นฝ่ายลบ ๓ ข้อ เป็นฝ่ายบวก ๒ ข้อ ถ้าเราเจริญสติปัฎฐานสี่อย่างบูรณาการได้ครบทั้ง ๓ ข้อ (อาตาปี สติมา สัมปชาโน) อย่างถูกต้อง จะเข้าถึงธรรมในสิ่งที่เราควรจะเข้าถึง หมายความว่า มันอยู่ในกำลังของภูมิปัญญาและกำลังความสามารถของเรา ที่จะรู้ได้เห็นได้ เช่น เมื่อเราปฏิบัติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน สิ่งแรกที่เราควรจะรู้ ควรจะเข้าถึง คือ อารมณ์รูปนาม ในอารมณ์รูปนาม ถ้าเราบูรณาการอย่างถูกต้องกลมกลืน ใช้ความเพียรพยายามแล้วพยายามอีก ด้วยการเคลื่อนไหว อย่างมีสติสัมปชัญญะ ใช้เวลา ๑-๓ วัน มันจะรู้อารมณ์รูปนามแบบสมมติได้ แต่อารมณ์รูปนามแบบปรมัตถ์ อาจใช้เวลาเป็นเดือน
รูปนาม มี 2 ระดับ คือ ระดับสมมุติและระดับปรมัตถ์ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นรูปนามแบบสมมติหรือปรมัตถ์
รูปนามระดับสมมุติ จะเกี่ยวข้องกับกายหรือกับรูป หมายความว่า จิตของเรามันไปวกวน อยู่กับเรื่องรูป ไม่ใช่ไปนึกถึงกายของเราเป็นนั่นเป็นนี่ แต่นึกถึงเวทนาที่เกิดกับกาย ถ้าพูดถึงกายต้องพ่วงเวทนาเข้าไปด้วย เพราะตัวเวทนาเป็นตัวบ่งชี้ว่าเรามีกาย ถ้าไม่มีเวทนาเป็นตัวชี้บ่ง เราก็จะไม่รู้ว่าเรามีกาย เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปเกี่ยวข้องกับเวทนา ไปยึดอยู่กับเวทนา ไปสำคัญมั่นหมายเวทนาว่าเป็นเราอยู่ ยังเป็นการรู้รูปนามในขั้นสมมุติ
แต่เมื่อใดเราบูรณาการ 3 ข้อนี้ คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน อย่างเข้มข้นมากเข้าๆ ก็เหมือนเราเคี่ยวกะทิ เบื้องต้นกะทิ ยังเป็นน้ำกะทิเข้มข้นอยู่ ต่อเมื่อเคี่ยวไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง มันเกิดการเปลี่ยนแปลง มันเดือด มันร้อน อย่างต่อเนื่อง กะทิก็หายไป น้ำมันก็ปรากฏ ถ้าความต่อเนื่องของไฟยังอยู่ตราบใด การแปรกะทิเป็นน้ำมันก็ปรากฏขึ้นตราบนั้น ความต่อเนื่องยาวนานของความเพียรและสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องต่อเนื่องยาวนานอยู่ตราบใด การแปรเปลี่ยนอารมณ์จากเวทนาให้เป็นปัญญา ก็ปรากฏมากขึ้นเท่านั้น แปรเปลี่ยนเวทนาที่เป็นอยู่ในรูปของสัญญา เป็นปัญญาได้มากขึ้น เมื่อปัญญามากขึ้น เราจะเริ่มเห็นกายของเรา เวทนาของเรา เป็น “สักแต่ว่า” มากขึ้น ไม่เป็นเราแล้ว มันเป็นสักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าเวทนา เราต้องไม่ลืมหลัก เราต้องมองให้เป็น “สักแต่ว่า” ให้ได้ ส่วนความรู้สึกที่เป็น “สักแต่ว่า” จะกินเวลายาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่า เราใช้ อาตาปี สติมา สัมปชาโน ต่อเนื่องเพียงใด หากอายุของการเข้าไปรับรู้รูปรู้นามรู้กายเวทนาเป็น ”สักแต่ว่า” สั้น หมายความว่าอำนาจของความเพียร หรือสติสัมปชัญญะ ยังไม่เข้มแข็งพอ เหมือนกะทิกับน้ำมันที่ยังปนกันอยู่ ยังแยกกันไม่ชัดเจน หน้าที่ของเราก็ต้องเร่งไฟ รักษาความต่อเนื่องของไฟ รักษาความต่อเนื่องของความเพียรต่อไป
ดังนั้น ในวิธีการของหลวงพ่อเทียน “ความต่อเนื่องของความเพียร” จึงเป็นกุญแจสำคัญ อาตมาจึงสรุปเป็นหลักสั้นๆ ว่า “เชื่อมั่น จริงจัง ตั้งใจ ต่อเนื่อง และถูกต้อง” สรุปมาจากหลักของอินทรีย์ ๕ พละ ๕
เชื่อมั่น จริงจัง เป็นเรื่องของศรัทธาและความเพียร
ตั้งใจ ต่อเนื่อง เป็นเรื่องของสติและสมาธิ
ถูกต้อง เป็นเรื่องของปัญญา
ถ้าทำหลักการนี้ได้อย่างเป็นจริงแล้ว ก็มีโอกาสที่รูปนามระดับสมมุติจะแปลงเป็นปรมัตถ์ ทีละน้อยๆ คำว่า ปรมัตถ์ ในที่นี้ คือ เห็นรูปและเวทนา หรือ กายและเวทนา นี้เป็น “สักแต่ว่า” ได้มากขึ้น ยาวขึ้น แต่เมื่อใดที่เราเห็นกายและเวทนาที่ปรากฎ เป็นเราปวด เราเจ็บ เราไม่สบาย แสดงว่า ยังมีอัตตาตัวตนอยู่ คำว่า “สักแต่ว่า” น้อย แสดงว่า การบูรณาการของ อาตาปี สติมา สัมปชาโน ยังไม่แก่กล้า ยังไม่เข้มแข็ง คือ ยังไม่เชื่อมั่น ยังไม่จริงจัง ไม่ตั้งใจ ไม่ต่อเนื่อง ไม่ถูกต้อง นั่นเอง ต้องกลับไปตรงนั้นเสมอ
เราจะเห็นว่า หลักพุทธธรรม มีกฎกติกา ที่ล็อคไว้ในตัวของมันเอง เพราะทำอย่างนี้จึงเกิดอย่างนี้ เพราะไม่ทำอย่างนี้จึงไม่เกิดอย่างนี้ ดังนั้นการปฏิบัติในสติปัฎฐานสูตร ถ้าทำอย่างถูกต้องแล้ว มันจะสนุก ทุกข์ก็จะค่อยๆ หายไป “เราจะรู้ธรรมอันควรจะรู้ เราจะเห็นธรรมอันควรจะเห็น” ระดับรูปนามเบื้องต้น มันไม่ยากที่จะรู้จะเห็น ร่างกายที่มันตึง มันเคร่ง มันไหว มันสบาย ไม่สบาย ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้เลย มันเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็รู้ได้ แต่เราจะตั้งใจที่จะรู้อย่างจริงจังไหม เราจะตั้งใจรู้อย่างต่อเนื่องไหม เราตั้งใจที่จะรู้อย่างถูกต้องไหม ตรงนี้แหละ ที่มันจะเป็นสติปัฎฐานขึ้นมา
ฉะนั้นเบื้องต้นนี้ “รู้ธรรม อันเราพึงรู้” คือ รู้ไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่า รู้ทีเดียวทะลุไปถึงนิพพานเลย เมื่อเรารู้ธรรมไปตามลำดับ จากรูปนาม เป็นนามรูป จากนามรูป เป็นนามล้วนๆ จากนามล้วนๆ เป็นปรมัตถ์ ตามลำดับขึ้นไป ในที่สุดมันก็จะมาเกิดอานิสงส์ข้อที่ ๕
ประการที่ ๕ นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ
เพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้ง
เมื่อทำได้ ๔ ข้อ อย่างถูกต้อง เข้าใจอย่างถูกต้องตามลำดับแล้ว การทำพระนิพพานให้แจ้งจะปรากฎ คำว่า ”นิพพาน” ในที่นี้ หมายความว่า จิตของเราดับจากการปรุงแต่ง สงบจากการปรุงแต่ง กายของเราสงบจากเวทนามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การทำพระนิพพานให้แจ้ง หากเราไม่เข้าใจรูปนามมาก่อน เราจะไม่เข้าใจว่านิพพานคืออะไร นิพพานตามหลัก คือ สภาพที่จิตไร้การปรุงแต่ง ไร้การเสียดแทง หรือ ดับการปรุงแต่ง เยือกเย็นจากการปรุงแต่ง ไร้สภาวะการปรุงแต่งเข้ามาเสียดแทงจิต การทำเรื่องนี้ให้ปรากฎ หมายความว่า การกำหนด จดจ่อ ต่อเนื่อง อยู่ในภาวะปัจจุบัน มันจะต้องเข้มแข็งจริงๆ สิ่งนี้จึงจะปรากฏ
ดังนั้น หลักที่ว่าการทำพระนิพพานให้แจ้ง ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนสูงสุด จนเราเข้าถึงไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ เมื่อไม่รู้ก็ยังไม่เห็น นึกว่านิพพานอยู่ไกลข้างหน้า บุญวาสนาเราคงเข้าไม่ถึง ประการสำคัญอยู่ที่ว่า เราได้ทำหลักทั้ง ๕ ประการ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาถูกต้องหรือยัง ย้อนไปดูที่ตรงนั้น จิตของเราหมดจดจากการปรุงแต่งหรือเปล่า ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ถูกจัดการได้อย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการปรุงแต่งภายในที่เรียกว่า ความโศกเศร้าพิไรรำพันทุกระดับ เราได้ทำให้มันลดลงหรือเปล่า ธรรมที่เราควรจะรู้ตามลำดับ (ญายัสสะ อะธิคะมายะ) ตามขั้นตอนของแต่ละสูตร แต่ละหลักการ เราได้เห็นชัดแจ้งเข้าใจตามลำดับ และใช้ถูกหรือเปล่า เราย้อนไปดู หากถูกต้อง นิพพานจะปรากฎเอง หากไม่ถูกต้อง ยังสับสน การทำนิพพานก็ยังไม่แจ้ง มันก็ยังเป็นปริศนาอยู่นั่นเอง
ดังนั้น เรื่องนี้จึงอยากจะให้เรามีการศึกษา ตรวจสอบอย่างถูกต้อง ไม่ใช่นั่งทำแบบทำไปเถอะ เดี๋ยวมันรู้เอง ทฤษฎีนี้ควรจะเลิกกันได้แล้ว ควรทำด้วยความเข้าใจ ว่ากำลังทำอะไร และขณะที่ทำ ใจเราอยู่ตรงไหน กายเราอยู่ตรงไหน เข้าใจกายถูกหรือเปล่า เข้าใจใจถูกหรือเปล่า ต้องตรวจสอบ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เป็นกุญแจสำคัญ เพราะ มันเป็นด่านแรกที่เราต้องเจอ ความไม่สบายเป็นไปตามกฎของรูปนาม คือจะต้องเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย ไร้สภาพที่เป็นเอง มันไม่มีตัวของมัน มันต้องอาศัยกัน มันจึงจะมี เรียกว่าอนัตตา
ความสัมพันธ์ของหลักอนัตตา กับ ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ จึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เช่น เรามีรูป เราก็ต้องเป็นไปตามกฎของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำจิตของเราไม่ให้เป็นรูป แต่ให้มันเป็นนามล้วนๆ มันจะต้องผ่านด่านของนามรูปเสียก่อน นั่นหมายความว่า เรายังมีความคิดปรุงแต่งอยู่ ก่อนที่จะไปสู่คำว่า “สักแต่ว่ารู้” มันก็จะต้องคิดปรุงแต่ง ตามอารมณ์ของรูปอยู่ ลักษณะนี้ทุกข์และโทมนัสจึงสัมพันธ์กัน เช่น เวลาเราปวดหลังปวดเอว ถ้าเราไม่รู้รูปนาม ก็จะคิดว่าฉันปวด ฉันเมื่อย ฉันไม่สบาย ทีนี่รู้ว่าเมื่อย ก็ย้อนไปดูว่า ทำไมจึงปวด ทำไมจึงเมื่อย ความปวดเมื่อยมันตั้งอยู่ได้เพราะเราไม่บูรณาการทั้ง ๓ ตัว คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน เราจึงแก้ไขจุดนั้นยังไม่ได้ ความปวดเมื่อยจึงตั้งอยู่ได้ แต่ในหลักการบอกว่า เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้ของความไม่สบายกายไม่สบายใจ สาเหตุจากการบูรณาการตรงนั้นยังไม่ครบถ้วน อาตมาจึงอยากให้ทำให้มันชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่ปฏิบัติมาเป็น ๓ ปี ๕ ปี ๗ ปี ๑๐ ปี อารมณ์ยังไม่ไปถึงไหนเลย แสดงว่าเราใช้หลักตัวนี้ไม่ถูกต้อง แล้วมาบอกว่าวาสนาบารมีปัญญาเรายังไม่พอ มันไม่ใช่ เพียงเราขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นเอง คือขาดมรรค
ซึ่งตรงนี้เราจะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ใช้กาลเวลามากมาย อย่างในครั้งพุทธกาล เราจะเห็นว่า บางท่านอย่างพระอัญญาโกณทัญญะ ฟังไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ท่านเห็นรูปนามเลย นี่เราใช้เวลา ๕ ปี ๗ ปี ๑๐ ปี ก็ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังสงสัยอยู่ มันคงไม่ใช่ธรรมะ เราคงจะเดินทางผิดแน่ ต้องกลับมาตรวจสอบใหม่ เพราะฉะนั้น นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้ง จึงเป็นตัวผลสรุปที่สำคัญ เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันทั้ง ๔ ข้อ ที่ผ่านมา ต้องสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ทีเดียว
“กาเยกายานุปัสสีวิหะระติ อาตาปีสติมาสัมปชาโน วินัยยะโลเก อภิชชาโทมนัสสัง”
เมื่อมีสติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เธอมีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ ย่อมนำความพอใจและความไม่พอใจในกายในใจนี้ออกเสียได้ อภิชชาคือความพอใจ โทมนัสคือความไม่พอใจ อภิชชาโทมนัสต่างกับทุกขโทมนัส ถ้าเรารู้ไม่ทันความไม่สบายกาย มันจะนำไปสู่ความไม่สบายใจ เบื้องต้นให้รู้รูปนาม เพื่อให้รู้เท่าทันกายเสียก่อน ให้รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับกาย แต่ส่วนใหญ่เราติดสมถะมาก่อน กายมันปวด เมื่อย หนัก เหน็บ มาตั้งหลายนาทีแล้ว เรายังไม่ยอมเปลี่ยนมัน เพราะจิตของเรายังติดยึดอยู่กับความสงบ ทำให้เรายอมทรมาน แทนที่จะเข้าไป สติมา สัมปชาโน หรือวิปัสสนา กับมัน คือไปเห็นมันชัดๆ แล้วพอจะแก้ไขเพื่อให้ความไม่สบายตั้งอยู่ไม่ได้ โดยการเข้าไปจัดการ ไม่ใช่ให้มันหายไปเอง ถ้ามันหายไปเองหมายความว่ามันมีปัญหาแล้ว เราต้องทำให้มันหาย มีการรู้ว่ามันหายไปอย่างไร แต่ถ้ามันหายไปโดยที่เราไม่รู้ เช่น บางคนบอกว่านั่งไปนานๆ เดี๋ยวมันปวดแล้วมันหายเอง ในแง่ของรูป มันเป็นไปตามกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การที่หายปวดเอง ร่างกายมันเกิดความผิดปกติแล้ว เราจะต้องจัดการให้มันหายจึงจะถูกต้อง ตัวจัดการนี้เอง คือการบูรณาการ โดยใช้ธรรม ๓ ข้อ คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน
จึงอยากให้แจ่มแจ้งในตัวบท ในวิธีการ ทีแล้วมาเราโฆษณาประชาสัมพันธ์ เราเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว แต่ถ้าเราไม่ผสมผสานให้เห็นตัวบท เราก็ทำไปอย่างสงสัย ไม่มั่นใจ ทำให้ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติเท่าที่ควร เราอาจจะคิดว่าการปฏิบัตินี้ไม่ถูกจริต ทำมาตั้งนานไม่เห็นก้าวหน้า มันเปลี่ยนไปในทางสร้างความคิดขึ้นมา
ถ้าเราใช้หลักการเคลื่อนไหวเราจะจัดการกับทุกข์และโทมนัสได้ง่ายขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวเป็นหลักของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยธรรมชาติ มันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงนั้น มันจะต้องมีเจตนาในการเปลี่ยนแปลง ถ้าการเปลี่ยนแปลงที่มันเป็นไปเอง แสดงว่าเป็นไปตามกฎของมัน แต่เมื่อใดการเปลี่ยนแปลงนี้ ถูกเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีสติปัญญา การเปลี่ยนแปลงก็กลายเป็นตัวกัมมัฏฐานหรือตัวอาตาปีทันที การเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้อง เป็นสติมาและสัมปชาโนในฝ่ายกาย หรือฝ่ายรูปนาม
เบื้องต้นเราต้องฝึกฝน เอาสติมา สัมปชาโน ทั้ง ๓ ข้อ มาฝึกฝนกับรูปนาม กับกายนี้ให้ขัดเจนเสียก่อน เพราะกายเป็นรูปมันเห็นชัด สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง ๖ ได้ชัดเจน ถ้าหากว่ามันเป็นเรื่องยากเหลือวิสัย พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ตรัสเอาไว้ มันมีอยู่ในวิสัยของคนทุกคนที่จะทำได้
แต่ทำไมเราจึงทำบ้างไม่ทำบ้าง ทำถูกบ้างผิดบ้าง ก็เพราะขาดองค์ประกอบ ๒ ประการ คือหลักของ ปรโตโฆสะ และ หลักของ โยนิโสมนสิการ หลัก ๒ ประการนี้ เป็นตัวสำคัญที่จะประกอบให้ อาตาปี สติมา สัมปชาโน ทำงานได้อย่างถูกต้อง
องค์ประกอบ ๒ ประการ
ที่จะทำให้การบูรณาการ ด้วยอาตาปี สติมา สัมปชาโน
เป็นไปอย่างถูกต้อง
การที่เราจะบูรณาการ อาตาปี สติมา สัมปชาโน ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องมีองค์ประกอบ ๒ ประการนี้เข้ามาช่วย คือหลักของปรโตโฆสะ และหลักของโยนิโสมนสิการ
๑. ปรโตโฆสะ
คำว่า ปรโตโฆสะ ท่านกล่าวว่า ได้แก่ การฟังจากคนอื่น เสียงสะท้อนจากผู้อื่น อันได้แก่ กัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ มิตรสหายของเรานั่นเอง เราจึงสวด “ปะระมะกัลยาณะมิตตะสุต” แทบทุกวัน
ดังที่เราสวดว่า ดูก่อนอานนท์ การเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เราจึงต้องแสวงหาองค์ประกอบ ๓ ประการนี้
ปรโตโฆสะ แยกเป็น ๓ ประการ คือ
- กัลยาณมิตร
- กัลยาณสหาย
- สิ่งแวดล้อม
กัลยาณมิตรต่างจากกัลยาณสหาย กัลยาณมิตรหมายถึงครูบาอาจารย์ผู้รู้แจ้งเห็นจริง กัลยาณสหาย หมายถึงบุคคลที่ปฏิบัติร่วมกับเราอย่างเข้าใจ โดยที่ไม่เกิดการขัดแย้งในหลักการวิธีการ
กัลยาณะสัมปะวังโก คือสิ่งแวดล้อม บุคคลแวดล้อม ในที่นั้นๆ เอื้อให้เกิดความสงบทั้งกายวิเวก จิตวิเวก อุปาทิวิเวก เรียกว่า กัลยาณะสัมปวังกะ
๒. โยนิโสมนสิการ
ถึงแม้ว่าเราพบครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ดี พบมิตรสหายที่ปฏิบัติให้กำลังใจ และพบสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่เราก็ยังชักช้าเสียเวลา ความก้าวหน้าของคุณธรรมยังไม่ไปไหน อาจเป็นเพราะเราขาดโยนิโสมนสิการ
อะไรคือโยนิโสมนสิการ? นักปฏิบัติเราคุ้นเคยดีกับคำว่าทำใจให้แยบคาย ก็ยังฟังยากอยู่ หมายความว่าเป็นผู้สังเกตอะไรได้ละเอียดถี่ถ้วนพอสมควร เบื้องต้นให้สังเกตในเรื่องรูปนามเสียก่อน มันปวด เมื่อย ขัด ตึง เครียด เราจัดการมันถูกไหม จัดการจนกระทั่งรู้สึกว่าความรู้สึกหนักหน่วงเหล่านี้มันตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าเราทำได้ หมายความว่าโยนิโสมนสิการของเรามีผลแล้ว แต่ถ้าเรายังใช้ทุกขเวทนามาเป็นเครื่องมือทรมานตัวเอง แล้วสำคัญมั่นหมายว่ากิเลสของเรามันจะลดลง พระพุทธเจ้าทำมาแล้ว สมัยท่านบำเพ็ญทุกกรกิริยาแทบจะปางตาย และท่านก็บอกมันไม่ใช่ทาง เป็นทางของฤาษี แต่เราก็ยังมาทำกันเป็นวรรคเป็นเวรทุกวันนี้ นั่งทีละชั่วโมง ๒ ชั่วโมงโดยไม่พลิก แต่เราก็สนับสนุนให้นั่งนานๆ เราควรพลิกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจะอยู่ท่าเดิมตลอด เพราะมันจะผิดหลักของ มัชฌิมาปฏิปทา
เราจะทำอย่างไรก็ได้ เพียงแต่อย่าให้ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันตั้งอยู่ได้ แต่บางสำนักกลับสอนว่าถ้าคุณเปลี่ยนบ่อยๆ แสดงว่าคุณไม่มีความอดทน กลับเป็นแบบนี้ไป
เรามาสังเกตว่ามีอะไรเกิดขึ้นในตัวเอง คอยดูว่ามันจะทำให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจหรือไม่ ถ้ารู้ว่ามันไม่สบายแล้วยังไม่แก้ไข แสดงว่าความแยบคายไม่พอ อาตาปี ความเพียรเครื่องเผากิเลส กลายเป็นเครื่องเผาตัวเองไป
คำว่ากิเลสคือโทมนัสและมิจฉาทิฏฐิ สำคัญว่ากายนี้เป็นเรา แล้วพยายามบังคับกายนี้ให้ได้อย่างที่เราต้องการ ดูว่าฉันจะนั่งท่าเดิมไม่เปลี่ยนสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง จะเป็นอย่างไร อันนี้ไปฝืนกฎของธรรมแล้ว กฎของรูปคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามเขา มันก็จะก่อให้เกิดทุกข์ แล้วสภาพร่างกายก็จะใช้ไม่ได้ ไร้สภาพ เป็นอนัตตา
คำว่าอนัตตาแปลได้หลายอย่าง แปลว่า ไร้สภาพ หมดสภาพ พึ่งพาไม่ได้ ไม่มีสาระ ตั้งอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยอิงกันจึงจะเกิดขึ้น หลักอนัตตากับหลักปฏิจจสมุปบาท จึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ถ้าเราเข้าใจหลักปรมัตถ์แล้ว
อาตมาเองก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนในระดับของสมมติ คือการพูด การชี้แจงด้วยเหตุผล ให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวบทที่พระองค์ทรงตรัสไว้ กับหลักการที่เราปฏิบัติอยู่ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ถึงจะทำดีแค่ไหนก็ได้แค่ ๕๐ เปอร์เซนต์ แต่อีก ๕๐ เปอร์เซนต์ เป็นเรื่องของเราที่ต้องทำเอง คือ โยนิโสมนสิการ
พระพุทธยานันทภิกขุ