หนังสือ “สติเคล็ดลับมองด้านใน คู่มือการเจริญสติ” ฉบับวัดแพร่แสงเทียน
พระพุทธยานันทภิกขุ ๒๕๓๖
ตอนที่๑
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติ
วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดงานอบรม ก็ขอให้ตั้งใจฟังกันตามสบาย ส่งใจมาทางนี้ อย่าส่งใจไปทางอื่น ปีนี้ก็นับว่าเป็นปีสำคัญเลยทีเดียว เพราะมีพระสงฆ์สามเณรมาร่วมกันเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติที่เราทำกันอยู่นี้ มีผลทำให้เกิดการดับทุกข์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติมาก่อนคงจะเข้าใจ และได้รับอานิสงส์กันพอสมควร เพราะถ้าหากวิธีนี้ไม่ได้ผลจริง สมาชิกก็คงไม่เพิ่มขึ้น การที่พระภิกษุสามเณรและญาติโยมทั้งหลาย ได้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นถึงผล หรืออานิสงส์ที่ปฏิบัติกันมาว่ามีจริง เป็นจริง
ทุกวันนี้การที่จะมาปฏิบัติกันจริงๆ นั้นหายากมาก เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย
๑.๑ อุปสรรคการจัดงานอบรม
ประการที่ ๑ ผู้ที่มาสอนหรือมาชี้แนะให้การอบรมนั้น ถ้าจะว่าตรงๆ ก็คือไม่รู้จริง ไม่เห็นจริง ไม่เข้าใจจริง แต่ก็นำเรื่องหรือสิ่งนั้นๆ มาบอกสอน ทำให้ผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติ ตามเข้าใจไม่ได้
ประการที่ ๒ ผู้จัดการ คือผู้บริหารงาน ใช้วิธีการที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจมีพิธีรีตรองมากไปบ้าง บางแห่งก็สวดมากไป บางแห่งก็บรรยายมากไป บางแห่งก็ใช้วิธีการหลายอย่างมาผสานกัน ไม่เป็นเอกภาพ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่มีอารมณ์ร่วม ก่อให้เกิดความหงุดหงิด เสียเวลาในบรรยากาศนั้นๆ
ประการที่ ๓ วิทยากรที่มาบรรยาย ให้คำแนะนำ พูดกันไปคนละเรื่อง ไม่มุ่งประเด็นเดียวกัน ทำให้ผู้ฟังฟุ้งซ่าน มากกว่าจะเกิดสมาธิเพื่อการปฏิบัติ ข้อนี้สำคัญ
ประการที่ ๔ พระสงฆ์ผู้นำในท้องถิ่น หรือเจ้าอาวาสวัดนั้นๆ ที่จะให้ความร่วมมือและเข้าใจวิธีการปฏิบัติอย่างแท้จริง แล้วสามารถปฏิบัติหรือบริหารงาน ให้เกิดความสอดคล้องกับพระวิทยากรได้อย่างถูกต้องนั้น อันนี้ก็หายาก
ประการที่ ๕ ผู้เข้าร่วมปฏิบัติ ไม่ให้ความร่วมมือด้วยดี พูดคุยคลุกคลีกันบ้าง บางคนก็ติดสิ่งเสพติด ติดอบายมุข พอมาปฏิบัติ หงุดหงิด ไม่รู้จักกาละเทศะ รบกวนการปฏิบัติของผู้อื่น ไม่ยอมเชื่อฟังใคร ก็ทำให้สถานที่นั้นขาดความศักดิ์สิทธิ์ ขาดความสงบวิเวก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การจัดงานอบรมกรรมฐานในปัจจุบันจึงเป็นไปได้ยาก เพราะความเข้าใจ และเห็นความสำคัญในเหตุผลต่างๆ นี้ คณะสงฆ์ในวิธีการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ จึงได้พยายามจัดเงื่อนไขและวิธีการต่างๆ ให้เกิดความสอดคล้องกับการปฏิบัติของเรา ให้มีผลอย่างแท้จริง ชนิดที่ว่าใครมีความตั้งใจจริง ภายในระยะเวลา ๗ วันนี้ ก็สามารถเห็นผลได้ สามารถรู้จักวิธีการดับทุกข์ อันจะเป็นเหตุปัจจัยในการนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ แล้วเราจะสบายตลอดชีวิต
๑.๒ คุณสมบัติของผู้เข้าปฏิบัติ
บรรดาญาติโยม ตลอดทั้งพระสงฆ์องคเจ้าของเราทั้งหลาย ถ้าปฏิบัติในวิธีการนี้แล้วไม่รู้ หลวงพ่อเทียนท่านเคยเอาชีวิตเป็นประกันเอาไว้ นี่ก็เช่นกัน อย่าว่าแต่ท่านเลย แม้แต่ตัวอาตมาเองก็ยอมเอาตัวเองเป็นประกันว่า ถ้าหากพวกเราทั้งหลายตั้งใจกันปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว จะต้องรู้กันทุกคน แต่การที่จะรู้มากรู้น้อย อันนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ขึ้นอยู่กับศรัทธาของเรา ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ของเราว่ามีความเข้มแข็งแค่ไหน การที่จะไม่รู้ไม่เห็นเลยนั้น มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
คุณสมบัติที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรจะมี หรือต้องสร้างให้เกิดขึ้นในตัวเอง สำหรับเป็นเครื่องมือในการที่จะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง มีอยู่ ๕ อย่าง
๑. ต้องมีศรัทธา คือ ความเชื่อในการที่เรามายกมือสร้างจังหวะ ทำให้เกิดความรู้สึกตัวนี้ เราต้องมีศรัทธา ต้องกระทำด้วยความศรัทธา ศรัทธาในการกระทำ จะมาทำแบบเพื่อทดลองทำดู นี่… เรื่องนี้ลองไม่ได้ ต้องทำจริงๆ เราต้องมีศรัทธาว่าจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยวิธีนี้ให้ได้
บางคนไม่เชื่อ เอ…เราไปนั่งหลับตา กำหนดลมหายใจ มันเคยสุขสบาย แต่พอมาทำอย่างนี้รู้สึกใจไม่สงบเลย สงสัยจะไม่ถูกจริตกระมัง นี่เรียกว่าศรัทธาคลอนแคลนแล้ว เพราะบางคนติดสงบมาเป็นเวลานาน เวลามานั่งยกมือรู้สึกมันไม่สบาย มันยุ่งไปหมด จิตไม่สงบ นี่เป็นเพราะเราไปติดความสงบ ไปเสพความสงบจนติด
ความสงบแบบนั้นเป็นสิ่งเสพติดทางอารมณ์ ฤทธิ์มันร้ายยิ่งกว่ายาเสพติดภายนอกเสียอีก เพราะฤาษีชีไพร นักบำเพ็ญพรตทั้งหลายในอดีต ก็ติดอารมณ์สงบพวกนี้แหละ อย่าว่าแต่ฤาษีในอดีตเลย แม้ปัจจุบันนี้ พระเราก็เป็นกันเยอะ พอปฏิบัติไปได้สักระยะหนึ่ง ก็ไปติดความสงบ ไปบอกให้ออกก็ไม่อยากออก มันเสียดายในรสชาติ
พวกเราทั้งหลายเคยนั่งสมาธิแบบหลับตามาก่อนแล้ว พอมานั่งสร้างจังหวะแบบนี้ แรกๆ จิตจะฟุ้ง จิตมันจะวุ่นอยู่บ้างก็ช่างมัน ให้เราทำไปเรื่อยๆ เพราะมันกำลังจะประสานตัว มันกำลังจะก่อตัวใหม่ เป็นอาการที่มันกำลังแตกตัวเพื่อก่อตัวใหม่ ให้ทำไปเรื่อยๆ
๒. ต้องมีวิริยะ คือความเพียร ต้องทำให้ต่อเนื่อง เพียร มาจากคำว่า วิริยะ แปลว่ากล้าหาญ หิวก็ไม่ท้อถอย หนาวร้อนก็ไม่ท้อถอย แม้จะง่วงคิดถึงบ้านก็ไม่ย่อท้อ อดทนสู้
วิริยะ แปลได้อีกอย่างหนึ่งก็คือสู้ แต่ให้รู้จักตัวเองด้วยว่าจะสู้แค่ไหน สู้อย่างไร ไม่ใช่สู้ตะพึดตะพือ เดินจงกรมสร้างจังหวะทั้งวันทั้งคืน เพราะเดี๋ยวติดความคิด ติดวิปัสสนูจะลำบกกันอีก ถึงเวลาหลับก็ต้องหลับ ถึงเวลานอนก็ต้องนอน ถึงเวลาตื่นต้องตื่น กลางคืนนอนให้เต็มที่ อย่าไปวิตกกังวล พอถึงเวลานอนก็กำหนดความรู้สึก แล้วค่อยๆ ล้มตัวลงนอน กำหนดสูดลมหายจ หรือจะพลิกมือเล่นเบาๆ ไปก็ได้ อย่าคิดอะไรมาก เดี๋ยวมันก็หลับไปเอง อย่านอนโดยขาดการกำหนดรู้ บางคนนอนเอามือก่ายหน้าผาก คิดไปโน่นไปนี่
๓. ต้องเป็นผู้มีอาพาธน้อย ความเป็นผู้มีอาพาธน้อยนี้ ถือว่าเป็นโชคลาภ คือมันปฏิบัติได้เต็มที่ ทำความเพียรได้สะดวก แต่หากว่าเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ก็อย่าไปวิตกกังวลกับมัน อย่าห่วงโรคภัยไข้เจ็บมากเกินไป
บางคนคิดว่าถ้าทำความเพียรมากเกินไป เดี๋ยวเกิดป่วยไข้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แล้วจะทำอย่างไร นี่มันเป็นการระแวงตัวเองมากเกินไป ห่วงไปเสียหมด เกิดกลัวไปเสียทุกอย่าง คนประเภทนี้เขาเรียกว่าเป็นผู้มีอาพาธมาก คือเป็นโรคทั้งกายและใจ
แต่สำหรับผู้ที่เป็นอยู่แล้ว ก็พยายามอย่าเอาจิตไปวิตกกับมัน ลืมมันไปก่อน มาอยู่กับตัวรู้นี้ เอาใจมาอยู่กับตัวสตินี้แหละ
หากมันไม่ชัดเจนก็มีการเคลื่อนไหวบ้าง จะเป็นการกระตุ้นหรือเขย่าธาตุรู้เพิ่มขึ้นอีกแรง เวลามันมีอาการขึ้นมาจริงๆ ถ้าบำบัดได้ก็ทำ หากบำบัดไม่ได้ก็แก้ไขกันไปตามเหตุปัจจัยอันเหมาะสม
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีอาพาธน้อย ไม่วิตกกังวลกับสุขภาพของตัวเองมากเกินไป ไม่ปรุงแต่งหรือกลัวจนเกินเหตุ
๔. ต้องเป็นคนซื่อตรง มีสัญชาตญาณของคนตรง เพราะคนทั่วไปใจไม่ค่อยตรง ความตั้งใจคิดว่าจะมาปฏิบัติสักเจ็ดวัน แต่พอสามวันคิดอะไรขึ้นมาได้ก็ไม่รู้ วันที่สี่มาลาครูบาอาจารย์ บอกว่านัดทางบ้านเอาไว้อย่างโน้นอย่างนี้ ต้องกลับให้ได้ บางคนอยู่ได้เต็มที่แค่ห้าวัน แต่ในความตั้งใจที่มาจากบ้านนั้น จะมาอยู่ถึงเจ็ดวัน แต่พอมารมันมาเรียก ถูกความคิดมันมากล่อมเข้าหน่อย ก็ถึงกับต้องวิ่งมาหาหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อห้ามไม่ไหว ก็จำเป็นต้องปล่อยให้มารมันเอาไป
การปฏิบัติไม่ตรงอย่างที่เราตั้งใจเอาไว้ ให้พยายามมีสัญชาตญาณของคนตรง ตรงต่อหน้าที่ ตรงต่อครูบาอาจารย์ ตรงต่อวิธีปฏิบัติ ตรงต่อศีลธรรม ตรงต่อพระรัตนตรัย ฝึกตัวเองให้เป็นคนเปิดเผย เปิดจิตเปิดใจ บูชาพระธรรมกันจริงๆ นี่จึงเรียกว่าเป็นคนตรง มีจิตตรง ไม่ได้มากระทำเพื่อหวังอะไรแอบแฝง มาทำเพื่อจะได้เทศน์เก่งๆ มาทำเพื่อหวังฤทธิ์เดช หวังลาภสักการะ เสียงสรรเสริญ นี่มันคดแล้ว มันคดไปเอาอย่างอื่นแล้ว
ขอให้ตรงต่อการรู้ธรรมเห็นธรรม ตรงไปสู่การดับทุกข์ ทำเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ เดี๋ยวจะลองวิธีนั้น เดี๋ยวจะลองวิธีนี้ ทำไปทำมาไม่ได้อะไรเลย เพราะไม่ตรง เป็นคนเหลาะแหละ คดไปงอมา แบบนี้รู้ยาก เข้าใจยาก
๕. ต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ข้อสุดท้ายนี้จะเรียกว่าเป็นปัญญาก็ได้
พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดประกอบด้วยธรรมห้าประการนี้ และมีเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว อย่าว่าแต่จะรู้ธรรมภายในระยะเวลาเพียงเจ็ดปี หรือภายในเจ็ดเดือน หรือภายในเจ็ดวันเลย บางคนปฏิบัติเย็นนี้ อาจรู้พรุ่งนี้เช้าก็ได้ บางคนปฏิบัติเช้าอาจรู้เย็นนี้ก็ได้
ข้อความนี้ท่านตรัสไว้ในโพธิราชกุมารสูตร พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้ขนาดนั้นเลย แต่ว่าผู้ปฏิบัตินี้จะได้ผล จะต้องประกอบด้วยองค์ธรรมทั้งห้าประการดังที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วย
๑.๓ เพราะเป็นทุกข์จึงต้องปฏิบัติธรรม (เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์)
ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ การเกิดทางความคิดเป็นสาเหตุที่แท้จริงของทุกข์ ส่วนการเกิดทางร่างกายนี้เป็นผลแล้ว ความคิดรักคิดชังเกิดขึ้นเป็นทุกข์ คิดรักแล้วเปลี่ยนไปเป็นเบื่อหน่ายชิงชัง นี่คือความคิดมันแก่ชรา นี่ก็เป็นทุกข์อีก และเมื่อเกิดความชังแล้ว มันก็ไม่อยู่เฉยๆ มันต้องการให้ความชังนั้นสำเร็จประโยชน์ มันก็อยากให้เขาเจ็บ ความเจ็บนี้ก็เป็นทุกข์
แค่นั้นยังไม่พอ ยังต้องการให้เกิดความพินาศสูญเสีย ต้องการให้ทุกข์ถึงที่สุด แต่หารู้ไม่ว่าตนเองนั้น ได้ประมาทขาดสติถึงที่สุดแล้ว ความประมาทขาดสติอย่างนี้ เป็นความตายจากสติปัญญา ตายจากศีลจากธรรม เรียกว่า มรณาปิทุกขา ความตายเป็นทุกข์
เราทั้งหลายหลงอยู่ในวังวนแห่งวัฏฏทุกข์อันนี้มา ตั้งแต่มนุษย์ได้ถือกำเนิดมาคู่กับโลกนี้แล้ว เราเพลินยึดติดอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ หาทางออกไม่ได้ จึงต้องเกิดแล้วเกิดอีก ตายแล้วตายอีกอยู่อย่างนั้น
จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้มาตรัสรู้ แล้วมาบอกให้เราได้ทราบว่า แท้จริงตัวเรานี้ไม่มีอะไร มีเพียงแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ หรือมีแต่ธาตุสี่ ขันธ์ห้าเท่านั้น
ตอนแรกก็เกิดเป็นรูปก่อน แต่เป็นรูปธาตุในธาตุสี่ ได้แก่ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อผสมกันเข้าในภาวะที่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดธาตุใหม่ขึ้นมา เรียกว่าขันธ์ห้า รูปในขันธ์ห้าไม่ใช่รูปธาตุ แต่เป็นรูปขันธ์
รูปขันธ์จะแสดงอาการออกมาในแง่ของมโนภาพ ความนึกความคิด มันเกิดเป็นรูปเป็นภาพอยู่ในใจ
เวทนาขันธ์ ความพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ
สัญญาขันธ์ ความจำในเรื่องนั้นๆ
สังขารขันธ์ การเก็บเอามาคิดปรุงแต่ง
วิญญาณขันธ์ การที่คิดจบลงไปเป็นเรื่องๆ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่าขันธ์ห้า หมายถึงใจหรือนาม แต่ธาตุสี่ ดิน ลม ไฟ เรียกว่าธาตุ หมายถึงรูปกายหรือรูปธาตุ
๑.๔ หลงสมมติ
พอเราเจริญสติแล้ว เราก็จะเกิดปัญญา สามารถแยกออกได้ว่า อันนี้เป็นรูป อันนี้เป็นนาม ใครจะด่าว่าไม่เป็นไร เมื่อเกิดความอยาก แล้วไม่ได้สมอยากก็ไม่เป็นไร เพราะรู้ว่าเราไม่ได้อยาก ความอยากไม่ใช่เรา ได้หรือไม่ได้ก็ไม่ทุกข์ แม้จะได้มาก็ไม่สุข เฉยๆ
สติจะเป็นตัวเข้าไปรู้เห็นว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไร มีแต่กายกับใจ หรือรูปกับนาม แต่เท่าที่มันมีมากมายเยอะแยะ มีศักดิ์ศรี มีบ้านช่อง มีลูก มีสามี ภรรยา มียศถาบรรดาศักดิ์ มีอะไรมากมาย ก็เพราะสำคัญผิดคิดว่ามันมีอยู่ แล้วเราก็ไปยึดมัน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “บุคคลอ่อนแอ ผู้เป็นอันธพาล มักสำคัญว่าลูกของเรา เมียของเรา สามีของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา” นี่เรียกว่าอันธพาล คนทั้งหลายสำคัญมั่นหมายสิ่งที่ไม่ใช่ของตัวว่าเป็นของตัว เพราะแม้กระทั่งตัวของตัวเองก็ยังไม่ใช่เลย คนอื่นจะมีได้อย่างไร
Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,