กรอบแห่งนามรูป (นามรูป ตอนที่ ๓)

กรอบแห่งทุกข์

คนทั้งหลายที่ไม่ได้เรียนรู้และปฏิบัติวิปัสสนาอย่างถูกต้อง จิตก็จะนึกคิดปรุงแต่งวนเวียนหาแต่เรื่องสุขเรื่องทุกข์ ไม่สามารถมองผ่านออกไปจากกรอบนี้ได้เลย และเป็นไปไม่ได้เลย ผู้ที่ได้วิปัสสนาญาณ จะเปิดทางออกของจิตไปนอกกรอบนี้ได้ ผู้ที่จะสัมผัสความไม่ทุกข์ที่แท้จริงได้ คือผู้เข้าใจวิปัสสนาแล้วเท่านั้น นอกนั้นสัมผัสได้เหมือนกันแต่เป็นลักษณะชั่วคราว แต่ก็สัมผัสแบบโมหะมากกว่า

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาจะสัมผัสความไม่ทุกข์ได้ถาวรแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับระดับของภูมิธรรม คนไหนเข้าสู่กระแสพระโสดาบันไม่ทุกข์ 25 % ถ้าเข้าสู่กระแสสกิทาคามีไม่ทุกข์ 50% ถ้าเข้าสู่กระแสอนาคามี ไม่ทุกข์ 75% คนไหนเข้าสู่กระแสพระอรหันต์แล้วก็ไม่ทุกข์ 100%

ธรรมนิยาม เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

รูปนามคือกายสังขาร

กายหรือรูปทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นไปตามกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเกิดที่ไหน กฎทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องติดตามไปปฏิบัติหน้าของมันที่นั่น กฎธรรมชาติอันอมตะนี้ เรียกว่า ธรรมนิยาม เป็นกฎตายตัวของสิ่งที่เป็นสังขารทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น สังขารอย่างหยาบ สังขารอย่างกลาง สังขารอย่างละเอียดก็ตาม

นามรูปคือจิตสังขาร

ความคิดปรุงแต่งเป็นจิตสังขาร หรือนามรูปนั้นเอง ส่วนกายสังขาร คือรูปนาม ถ้ามีสติปัญญาเข้าไปรู้เท่าทันอยู่มันเป็นประจำ สังขารเหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ไปทันที แต่ถ้าไม่มีปัญญาเข้าไปรู้เท่าทันมัน ทั้งรูปนามหรือนามรูปทั้งปวงนั้น ก็ยังเป็นสังขารเหมือนเดิม คือลื่นไหลไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือแปรปรวน กายไม่สบาย ใจไม่สงบ อยากอะไรต่ออะไรไปเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนเรื่องเก่าไปหาเรื่องใหม่เรื่อยๆ

รูปนามและนามรูป เปลี่ยนเป็นปรมัตถ์ได้

ด้วยอาศัยสัมมาสัมโพธิญาณ คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราจึงได้อาศัยความรู้ของท่านที่สืบสานกันมาจนถึงรุ่นเรา ก็เกือบ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว เมื่อเราได้มีโอกาสมาเรียนรู้ตรงนี้และวันนี้ เราก็สามารถเปลี่ยนรูปนามและนามรูป คือกายสังขาร และจิตสังขารให้เป็นปรมัตถ์ได้สำเร็จ เราจึงได้สำนึกถึงบุญคุณของท่าน หรือกราบไว้พระรัตนตรัยอยู่ทุกเช้าทุกเย็น ไม่เคยหลงลืมและศรัทธาท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย (ขยันทำวัตรเช้า เย็นไงละ อย่าลืมเลยทีเดียว )

วิสังขารจิตเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ

เมื่อมีสติ คือเกิดความรู้เนื้อรู้ตัวที่ถูกต้องเมื่อใด สามารถรู้เท่าทันเวทนาทางกาย และรู้เท่าทันจิต ใจไม่มีการปรุงแต่งหรือดำริอารมณ์ใดๆ จิตก็เป็นวิสังขารทันที วิสังขารจิต มันเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ จิตจึงไปเหนือสมมุติ ท่านจึงบัญญัติคำสมมุติขึ้นใหม่ว่า บรมสุข เช่นบทบาลีว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง หรือที่มาในคาถาปฐมพุทธอุทานว่า “วิสังขารคตัง จิตตัง ตัณหานัง ขยะมัชฌคา” แปลว่า จิตของเราได้ถึงแล้วซึ่งสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้ (คือถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา คือถึงนิพพาน)

สังสารวัฏเกิดดับสลับกับนิพพาน

วิสังขารจิต หมายถึงความรู้สึกระลึกได้ เห็นตัวเองชัดเจน แต่เมื่อหลงคิดปรุงแต่ง สังขารจิตก็เกิดใหม่ได้อีก ดังนั้น สังสารวัฏกับนิพพาน จึงเกิดดับสลับปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ไม่ขาดสาย สังขารจิตเกิดทุกข์ก็เกิด นิพพานจิตเกิดทุกข์ก็ดับเท่านั้นเอง แต่เนื่องจากเรายังไม่เข้าใจเรื่องสังขาร และวิสังขารอย่างแจ่มแจ้ง เราก็ยังงุนงงสงสัยเป็นธรรมดา