ความมืดสีขาว

มืดสีดำคนมองเห็นได้เร็ว ถ้ามืดสีขาวคนมองเห็นได้ยาก มืดสีดำ คือ ความโกรธนั่นแหละมาแสดงให้ดู ใครๆ ก็รู้ เรื่องความโกรธนี่ เด็กน้อยเขาก็รู้แสดงความไม่พอใจอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันมีกิริยามารยาทฟุ้งออกมาข้างนอกให้คนเห็น ใครก็รู้ อันนั้นเรียกว่ามืดสีดำ ถ้าเป็นมืดสีขาวบัดนี้ มืดสีขาวคือความพอใจ คนมายกยอเรา มาสรรเสริญ…เราก็ยิ้ม แน่ะ! ลืมตัว อันนี้แหละมืดสีขาว คนอื่นไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ เพราะคนไม่มีปัญญา ถ้าคนมีปัญญาแล้ว เขาจะมองรู้ทันที แน่ะ! เอาแล้ว ความหลงผิดไปแล้ว… ถ้าหากว่าเรามีปัญญา มันคิดปุ๊บขึ้นมา เราเห็นทันที รู้…ตัดปั๊บไปทันที

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

เงามืดสีขาว คือการยึดดี ติดดี หลงดี

คนติดมืดสีดำไม่น่ากลัว
แต่กลัวคนที่ติดมืดสีขาว
เพราะว่าคนที่ติดมืดสีดำนั้น
พอได้รับการชี้แจงให้เข้าใจด้วยเหตุผล
เขาก็เลิกคิดในสิ่งที่ชั่วได้ง่าย

แต่คนที่ติดมืดสีขาว
คือ ไปติดในคุณงามความดี
ติดในเกียรติยศชื่อเสียง
หรือแม้กระทั่งไปติดในบุญกุศลที่ตนได้ทำมา

คนที่ติดแบบนี้เป็นอันตราย
เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่า
การยึดติดในสิ่งเหล่านี้มีผลเสียอย่างไร

 

ทำดีนั้นดีแล้ว แต่อย่าติดดี

แต่ความจริงไม่ได้บอกให้เลิ
ทำความดีหรอก
เพียงแต่ให้เข้าใจว่า ทำดีนั้นดีแล้ว
แต่ไม่ควรยึดติดในความดีเท่านั้นเอง
บางครั้งมันเปลี่ยนเป็นร้ายก็ปล่อยวางได้

เปรียบเหมือนเอากระดาษสีขาว
และสีดำมาบังข้างหน้า
ก็จะมองทะลุไปอีกด้านหนึ่งไม่ได้เลย
จนกว่าจะเอากระดาษทั้งสีขาว
และสีดำออกไป

อุปมานี้ฉันใด
การหลงยึดติดในความดีก็เช่นเดียวกัน
พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า
อย่ายึดเอาความดีความชั่ว
มาปรุงแต่งนึกคิด
เพราะมันจะบดบังจิตเดิมแท้ของเรา

 

ความคิดดีใช้แล้วทิ้ง

ความคิดดีเหมือนสีขาว
ถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ใช้ได้เป็นครั้งคราว
ถ้าหมดความจำเป็นแล้ว
ก็ให้สลัดความดีนั้นออกไป
แล้วทำใจให้บริสุทธิ์สะอาดด้วยการปล่อยวาง
ทำใจให้โล่งโปร่งเบาเอาไว้เสมอ

คำสอนนี้เป็นคำสอนหลักในโอวาทปาติโมกข์
ท่านสอนว่า
๑. ไม่ควรปล่อยให้ความคิดขุ่นมัวเศร้าหมองมาบดบังจิต
๒. ควรฝึกฝนจิตให้คิดสั่งสมแต่สิ่งที่ดีๆ ไว้เสมอ
๓. ควรปล่อยวางหรือชำระความคิดทั้งดีและไม่ดี ทันทีเมื่อใช้แล้ว

 

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท