ความไม่ทุกข์คือเป้าหมาย
อยากในสุข กลัวในทุกข์
เพราะความสุข จึงทำให้เรากลัวทุกข์ เธอพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด สำหรับตัวเอง ครอบครัวและคนที่เธอรัก เพราะเธอกลัวตัวเองเป็นทุกข์และกลัวครอบครัวเป็นทกข์ เธอจึงวิ่งหาเงินทองข้าวของ หาทรัพย์สมบัติเก็บสะสมไว้ให้มาก เพื่อเป็นหลักประกันว่าเธอจะไม่ทุกข์ เผื่อว่าเธอจะมีความสุขในวันข้างหน้า ดังนั้น เบื้องหลังแห่งความกลัวทุกข์ และเบื้องหลังที่ต้องการความสุข อันยั่งยืน จึงทำให้ชีวิตส่วนมาก พบเจอแต่ความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด เธอตายจากชาตินี้ ถ้าชาติหน้าเกิดอีก เธอก็จะทำอย่างนี้อีก คือวิ่งหาสุข วิ่งหนีทุกข์ ซึ่งมันสวนทางกับเส้นทางอริยมรรคของพระพุทธศาสดา ซึ่งพระองค์ทรงสร้างบารมีมานับชาติไม่ถ้วน เพียงเพื่อต้องการทราบคำตอบของคำถามเพียงประโยคเดียวว่า “ทุกข์คืออะไร?” ในที่สุด พระองค์ก็ได้พบคำตอบ และได้พบชาติสุดท้ายของพระองค์ เพราะคำตอบชุดนี้
ทุกข์ต้องกำหนดรู้
พระองค์ได้พบคำตอบว่า ” ทุกข์เป็นสิ่งต้องกำหนดรู้” ด้วยคำตอบเพียงเท่านี้เอง มันทำให้พระองค์ได้ไขความลับทั้งปวงของชีวิตทั้งของพระองค์เอง และของสรรพสัตว์ทั้งปวง ในวันค้นพบคำตอบนี้ พระองค์ได้ทรงเปล่งอุทานด้วยพระสุรเสียงดังก้องไปทั่วจักรวาลว่า “เมื่อเรายังไม่พบคำตอบนี้ เราได้แล่นท่องเที่ยว เวียนว่ายตายเกิดไปมาจนนับชาติไม่ถ้วน เป็นเอนกอนันตรชาติ บัดนี้ เรารู้เห็นเจ้าแล้ว ดูก่อนเจ้าความอยากในสุขความกลัวในทุกข์ เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะหลอกล่อใช้เราไม่ได้อีกต่อ สุขภายนอกเราก็ตัดเสียแล้ว สุขภายใน เราก็รื้อทิ้งเสียแล้ว ดูก่อน เจ้าสุขเอ๋ย เจ้าจะสร้างเรื่องให้เราไม่ได้อีกต่อไป ใจของเราจะไม่มีเจ้ามาปรุงแต่งอีกต่อไป จิตของเราได้ถึงแล้วซึ่งภาวะที่ไม่ทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ้นเจ้าสุขไปแล้วนั้นเอง”
แก่นคำสอน
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธะโคตมะ จึงได้อุบัติขึ้น ณ กาลครั้งนั้น แต่คำสอนของพระองค์ ก็ถูกกล่าวขานสืบสานมาจนกระทั้งทุกวันนี้ ด้วยคำสอนสรุปสั้นๆเ พียง 4 ข้อเท่านั้นเอง ที่เป็นแก่นของคำสอนมาตราบเท่าทุกวันนี้คือ
1. ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ (ปริญเญยยกิจ)
2. สมุทัย ต้องละ (ปะหานะกิจ)
3. นิโรธะ ต้องทำให้แจ้งชัด (สัจฉิกรณัตถกิจ)
4. มรรค ต้องเจริญทำให้มาก (ภาวะนากิจ)
ด้วยทำกิจเพียง 4 อย่างนี้
เธอก็จะพบกับความไม่ทุกข์ตลอดไป
ความสุขกับความไม่ทุกข์ แตกต่างกันอย่างไร?
เมื่อเธอมีเวลาพอหายใจได้ยาวๆ และนานๆ และปล่อยให้แผ่วเบาลงอย่างผ่อนคลาย แล้วให้เธอตอบปัญหาต่อไปนี้มาเป็นข้อๆ
1. ลองฝึกใช้พลังแห่งสติ ตามสำรวจรู้ดูกายส่วนต่างๆ ด้วยใจเป็นกลางๆ ว่างๆ ไม่ต้องคิดคำนวณเรื่องใดๆ นั่งหรือนอนในท่าที่สบายๆ แล้วสังเกตดูว่า ความไม่สบายกายยังตกค้างอยู่ในส่วนไหนของร่างกายบ้าง และเธอสามารถบำบัดมันออกไปเดี๋ยวนั้นเลยได้ไหม แล้วบำบัดมันออกไปเสีย แล้วลงมือสำรวจใหม่อีกหลายๆ รอบ และบำบัดอาการไม่สบายใดๆ ที่หลงเหลืออยู่ ออกไปเรื่อยๆ จนหมด
ทีนี้หันมาสังเกตตามดูใจบ้าง มีอารมณ์อะไรบ้าง ที่ยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในห้วงแห่งอารมณ์ ที่ทำให้ใจไม่สบาย แล้วเธอลองถามตัวเองเล่นๆ ดูว่า “ระหว่างความสุขกับความไม่ทุกข์ มีความแตกต่างกันอย่างไร?” เธอรู้จักอันไหนดีกว่า ขอให้เธออธิบายความต่างของความรู้สึกทั้งสองอย่างนั้นออกมาให้ฉันได้อ่านด้วย
ความโปร่งเบาและความสุข แตกต่างกันอย่างไร?
2. บางวันเธอมีเวลาว่างอยู่บ้าง ให้เธอจงหาสถานที่เงียบๆ มุมใดมุมหนึ่งของห้องในบ้าน ให้เธอเดินจงกรมอย่างผ่อนคลาย ไม่ช้าและไม่เร็วเกินไป แล้วเธอจงฉายแสงแห่งสติสัมปชัญญะสาดส่องลงไปในกาย ให้จิตไปกระทบสัมผัสจุดต่างๆ ของร่างกาย จากจุดที่เธอสามารถรู้สึกได้ชัดเจน และรู้สึกสัมผัสได้ปานกลาง และจุดที่จิตสัมผัสได้เพียงแผ่วเบา จนถึงเบามากๆ เธอเฝ้าตามดูจากอาการรู้สึกหนักไปสู่เบา สังเกตกลับไปกลับมาอย่างนี้หลายรอบ จนร่างกายผ่อนคลายที่สุด เธอจะใช้เวลาเดินนานเท่าไรก็ได้ จนกว่าเธอจะได้คำตอบต่อคำถามต่อไปนี้ แล้วเธอตอบคำถามข้อต่อไปนี้ว่า “ระหว่างความโปร่งเบาสบายกาย และความสุขกายแตกต่างกันอย่างไร?” จงอธิบายให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ความทุกข์และความไม่สุข แตกต่างกันอย่างไร?
3. บางวันที่เธอมีเวลาว่างพอ เธอจงหาที่ๆ นั่งแล้วปลอดภัยจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย เช่น เสียงสุนัขตัวโปรด เสียงโทรของเพื่อนและลูกค้า เสียงบรรยายธรรม เธอต้องปิดเครื่องเล่นทุกชนิด อาจหมายถึงโทรศัพท์ด้วย และบนผ้ารองนั่งพื้นบางๆ และยกมือไปตามจังหวะสิบสี่จังหวะ ตามที่เธอเคยฝึกมา และขณะยกมือ ไม่ช้าเกินไป และไม่ไวเกินไป ไม่มีความรู้สึกกด เกร็ง เพ่งจ้อง มองเขม็ง ทอดสายลงต่ำ แล้วสังเกตความรู้สึกต่างๆ ในร่างกาย ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั่ง แล้วตอบคำถามต่อไปนี้ว่า
เธอจงสังเกตให้ชัดเจน แล้วอธิบาย “ระหว่างความทุกข์ และความไม่สุข แตกต่างกันอย่างไร?” ถ้าเธอไม่อาจหาคำตอบได้ชัดเจนในวาระที่หนึ่ง เธออาจเริ่มต้นพิจารณาทำใหม่ในรอบที่ 2-3-4 ให้ทำซ้ำๆๆจนกว่าจะได้คำตอบชัดเจน และมั่นใจว่า ไม่มีใครคัดค้านหรือเห็นต่างในคำตอบนี้ได้เลย
เมื่ออธิบายแล้ว เธอจงทบทวนแก้ไขบทบัญญัตินี้ให้แน่นอนที่สุด แล้วส่งมาให้ฉันได้อ่าน อย่ารีบร้อน เพราะนี่คือภารtหน้าที่ๆ เธอกำลังสร้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้กับชีวิตของเธอเอง เป็นบทบัญญัติที่กลั่นกรองแล้ว จะไม่มีการแก้ไขไปตลอดชีวิต และมันจะกลายเป็นอมตธรรมที่จะส่งทอดต่อไปให้สู่อนุชนรุ่นต่อๆ ไปอีกยาวนาน และเธอจะต้องพิสูจน์คำตอบของเธอให้ได้ว่าถูกต้องแน่นอน
Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)
2 thoughts on “ความไม่ทุกข์คือเป้าหมาย”
Comments are closed.