ว่างจากจิต

ว่างจากจิตหรือจิตว่าง

ความรู้สึกตัว เป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นของอารมณ์วิปัสสนาและปัญญาญาณ ดังนั้น การเจริญสติให้รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นพื้นฐานที่ดีของการเจริญวิปัสสนาญาณ เพราะความรู้สึกตัวชัดๆในปัจจุบันขณะและเข้าใจว่าความรู้ตัวชนิดนี้ สามารถทำให้จิตหยุดปรุงแต่งได้เป็นพักๆได้ ซึ่งเป็นการพักจิต เมื่อเข้าใจกับอาการของจิตชนิดนี้ได้ ก็จะไม่เกิดภาวะเก็บกดใดๆซ่อนเร้นอยู่ในจิต เป็นการเจริญสัมปชัญญะและสัมมาสมาธิได้โดยตรง บางครั้งผู้ปฏิบัติ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้กิริยาท่าที หรือท่าทางตามพิธีกรรมใดๆ เข้ามาบังคับตนเองให้ลำบาก เพราะในชีวิตประจำวัน เราอาจไม่มีเวลาว่างมากนัก ที่จะปฏิบัติตามรูปแบบ แต่เราสามารถตามรู้อาการต่างๆของกายใจได้ไม่ขาดสาย

ดังนั้น การเจริญสติสัมปชัญญะที่สามารถเข้าใจได้แบบนี้ เป็นสมาธิที่เอื้อต่อการเจริญวิปัสสนาได้อย่างวิเศษ โดยไม่ต้องมีความลังเลสงสัยใดๆเลย เพราะสมาธิแบบนี้เรียกว่า อนันตริกะสมาธิ คือสมาธิที่ต่อเนื่อง แบบไม่มีอารมณ์อะไร มากระทบแซกแซงให้ขาดตอนได้ง่ายๆ เพราะมีกำลังของสัมปชัญญะคอยคุ้มกันอยู่ ความเข้าใจสมาธิชนิดนี้ เป็นผลให้ผู้ปฏิบัติ ไม่รู้สึกลังเลในการปฏิบัติ และจะสามารถทุ่มเทเวลาปฏิบัตได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะดังได้กล่าวแล้วว่าการทำสมาธิแบบนี้ ไม่มีท่าทีลีลา หรือรูปแบบใดๆมากำหนดตายตัวว่า ต้องนั่งแบบนี้ เดินแบบนั้น มาเป็นกรอบให้เดิน จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกๆอิริยาบถ และทุกๆกิจกรรม ทุกๆการงานในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ตั้งจิตให้มั่นคงไว้กับการเคลื่อนไหวของกาย เวทนา จิต และอารมณ์อย่างชัดเจนและต่อเนื่องไปเรื่อยๆเท่านั้น ผู้เริ่มต้นฝึกใหม่ ต้องเดินตามรูปแบบก่อน แต่สำหรับผู้ใหม่หัดขับ ต้องไปเริ่มต้นตั้งไข่ที่รูปแบบการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภมาก่อน เจริญสติตามรูปแบบนั้นมา จนกว่าจะเห็นอารมณ์รูปนามตามความเป็นจริงแล้ว จึงจะสามารถเจริญอนันตริกะสมาธิ คือสมาธิแบบไร้รูปแบบได้ดี และเห็นผลชัด ถ้าไม่เริ่มต้นฝึกแบบนั้นมาก่อน ก็เป็นเรื่องยากที่จะผลชัดเจน เพราะการเห็นรูปนามเบื้องต้นที่ถูกต้องจริงๆนั้น จะสามารถช่วยลดกรแสความรุนแรงของความเคยชินหรือสัญชาตญาณ อย่างน้อยก็หนึ่งในสี่หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของความเคยชินที่มีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์  ด้วยการเข้าใจสมาธิแบบไร้รูปแบบเช่นนี้ จะเป็นกำลังให้ปัญญาญาณเจริญได้ง่าย และเจริญได้ตลอดเวลาด้วย เพราะอาศัยปัญญาญาณชนิดนี้มีความเข้มแข็งของสติสัมปญญะเป็นฐานราก จะทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งได้เป็นเวลานานๆ ตราบเท่าที่สติสัมปชัญญะของเรายังต่อเนื่องอยู่ เพราะรู้สาเหตุของมันว่า จิตปรุงแต่งเกิดจากกำลังสติสัมปชัญญะอ่อนตัวนั้นเอง แล้วจะสามารถระงับเหตุของการปรุงแต่งจิตนั้นๆได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ จิตจึงว่างจากการปรุงแต่งได้เป็นเวลานานๆได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดนิโรธสัญญา และสุญญตาจิตในเวลาต่อมา

 

จิตกับวิญญาณต่างกันอย่างไร?

ดังนั้น คำว่า “สุญญตา” น่าจะแปลว่าว่างจากจิต มากกว่าที่จะแปลว่า “จิตว่าง” เพราะมีบางช่วงบางเวลา จิตมันก็ว่างของมันโดยธรรมชาติอยู่แล้วแต่เราไม่รู้ตัวว่ามันว่าง เพราะเรามักคุ้นอยู่กับความคิด แต่ช่วงที่ความคิดปรุงแต่งต่างๆไม่เกิดในจิตเลยก็มีถ้าว่ากันตามสภาวะแล้ว ตัวรู้สึกจึงไม่ใช่จิต แต่ความรู้สึกจึงเป็น มโนวิญญาณ ดังนั้น จิตกับตัวรู้ จึงคนละตัวกัน จิตคือภาวะรองรับอารมณ์เข้าไปสั่งสมเพื่อที่จะเป็นจิตตสังขารต่อไป ถ้าจะให้เข้าได้ง่าย ตัวรับรู้ คือวิญญาณ เปรียบเสมือนฝนที่ตกลงมา จิตก็เปรียบเสมือนภาชนะรองรับน้ำ เพราะจิตแปลว่าภาวะสั่งสมอารมณ์ แล้วเก็บสิ่งที่รับรู้เข้ามาเป็นตัวของมันเองแล้ว พร้อมที่จะปรุงแต่งได้ตลอดเวลา แต่เมื่อใช้เป็นภาษาพูด เรามักจะใช้ร่วมกันว่า จิตวิญญาณ แต่จิตมิใช่วิญญาณ และวิญญาณก็มิใช่จิต ดังเช่นน้ำมิใช่ภาชนะๆ ก็มิใช่น้ำวิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ เมื่อเกิดวิปัสสนาปัญญา สามารถแยกอารมณ์ต่างๆ ออกจากตัวรู้ได้ ก็คงเหลือแต่ญาณล้วนๆ เป็น pure knowing หรือ intuition เมื่อเข้าใจตามหลักการนี้ จึงไม่มีคำว่าสุญญตาจิต คือว่างจากจิต จิตไม่มี มีแต่ตัวรู้หรือ ญาณทัศนะหรือวิปัสสนาญาณต่อไป

นักปฏิบัติที่กำลังศึกษาในระดับรูปนาม และสามารถเข้าใจปรมัตถ์ได้บ้างแล้ว อยากให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเรื่องนี้ เพราะการที่เราเรียนลัด โดยไม่ยุ่งกับภาษาปริยัติมากนัก เราต้องรู้รายละเอียดจากกัลยาณมิตรพอสมควร เหมือนเราเดินทางลัดจู่ๆเราจะเดินทางเองเลยไม่ได้ ต้องหลงทางแน่นอน แต่เมื่อได้ถามเส้นทางจากกัลยาณมิตร คือผู้เดินทางสายนี้มาก่อนเรา ท่านจะบอกรายละเอียดของเส้นทางให้กับเราถี่ถ้วน และเราก็เดินอน่างถี่ถ้วนและเข้าใจด้วย ถึงจะไปบรรลุจุดหมายปลายทางได้ในที่สุด เมื่อจิตรองรับอารมณ์ที่เป็นกุศล ในช่วงของการทำความเพียร เป็นความเพียรที่ถูกต้อง จิตจะรองรับอารมณ์ที่เป็นมหากุศลตลอดเวลา ดังนั้น เราเรียกว่าได้อารมณ์กรรมฐาน ทำให้ผู้ปฏิบัติ เกิดอารมณ์ธรรมปีติ สามารถปฏิบัติต่อเนื่องได้ยาวนาน โดยไม่มีนิวรณ์ห้าเข้ามารบกวนได้เลย สามธิก็ตั้งมั่น ในช่วงนั้น เรียกว่า จิตได้อารมณ์ธรรม เปรียบเหมือนฝนตก ผืนดินชุ่มชื่น ต้นไม้ก็จะดูดซึมธาตุต่างๆ ในดินได้มาก จิตใจของเราก็ซึมซับเอาธรรมธาตุต่างๆ เข้าไว้ในตัวมัน จิตเราก็เติบโต สติเราก็เข้มแข็งขึ้น ตัวรูปนามเบื้องต้นจะเป็นตัวแยกระหว่างความคิดกับความรู้สึกตัวออกให้เห็นชัด สัมผัสได้ ถ้าช่วงไหนที่เรามีความรู้สึกตัวชัดๆ มันจะโปร่งเบาสบายไม่มีความคิดอารมณ์ใดมารบกวน ถึงมีบ้างก็สลัดได้ง่ายๆ ภาษาว่าแยกคือเห็นรูปเป็นรูป เห็นนามเป็นนาม แต่เมื่อก่อนเราเห็นนามเป็นรูป เห็นรูปเป็นนาม เห็นความคิดเป็นความรู้สึก เห็นความรู้สึกเป็นความคิด แต่ถ้าหากมันได้อารมณ์รูปนาม เราก็จะเห็นกายคือกาย เห็นจิตคือจิตไม่ปนกัน

จิตเป็นกลางระหว่างรูปและนาม สามารถรับรู้ทั้งสองอย่า แต่ไม่เข้าไปเป็นทั้งสองอย่าง จึงเห็นรูปนามชัดเจน จิตก็จะเกิดโลกุตตรปัญญาได้ง่าย เป็นเหตุให้เกิดปีติ มีปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ในเวลาต่อมาเข้าใจรูปนามทำให้เห็นเวทนาชัด

ดังนั้น มาถึงตอนนี้ สมมติว่า เรานั่งปฏิบัติติดต่อกันมาหลายชั่วโมง เราได้เปลี่ยนอริยาบถต่างๆไปตั้งหลายครั้งแล้ว พลิกไปพลิกมาก็หลายหนแล้ว แต่สังเกตว่า นักปฏิบัติบางคนเปลี่ยนอิริยาบถได้น้อยมาก คือนานๆเปลี่ยนที เพราะว่า สามารถบำบัดทุกขเวทนาต่างๆในตัวเองแบบเบาๆ ถ้าหากจิตเป็นสมาธิ เราไม่รู้สึกเจ็บปวดง่ายๆ ก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนบ่อย ขยับเบาๆก็หายแล้ว แต่นักปฏิบัติที่ยังไม่ได้อารมณ์สมาธิ ทุกขเวทนาทางกาย ก็หยาบกล้า รู้สึกเจ็บปวดได้ไว จิตก็ไม่อดทนที่จะตามดูนานๆ  ดังนั้น สำหรับผู้ปฏิบัติที่ได้อารมณ์ภาวนาแล้ว จะสามารถตามดูเวทนาตั้งแต่ขั้นละเอียดขึ้นไป (เวทนาละเอียดหมายถึง ความรู้สึกสบายๆ ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร) พอเวทนาเริ่มเข้นขึ้น ก็ตามดูมันไปเรื่อยๆ และดูอย่างใกล้ชิด พอเห็นว่ามันจะเข้มมากขึ้น ก็เฝ้าดูจนแน่ใจว่าทนไม่ได้ ก็ขยับนิดเดียวมันก็ผ่านแล้ว นี้ผู้ที่เข้าใจเวทนา และเห็นรูปนามในขั้นละเอียด ดังนั้น เวทนาจึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างรูปกับนามในขันธ์ห้า ในส่วนของนามล้วนๆ ก็คือสัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะ ฉะนั้นเวทนาจึงมี ๒ แบบ คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางจิต เวทนาทางกายมี ๓ ระดับ คือ รู้สึกสบาย ไม่สบาย และเฉยๆ คือยังไม่แน่ เวทนาทางจิตก็มี ๓ ระดับคือ รู้สึกพอใจ( โสมนัสสเวทนา ) รู้สึกไม่พอใจ (โทมนัสสเวทนา ) เทุกข์และรู้สึกเฉยๆ ( อุเบกขาเวทนา )

ดังนั้น ความรู้สึกสบายทางกาย จึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดความรู้สึกสบายทางจิต เรียกว่าโสมนัสสเวทนา ความรู้สึกไม่สบายทางกาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิดความรู้สึกไม่สบายทางจิต เรียกว่า โทมนัสสเวทนา ความรู้สึกยังไม่แน่นอนทางกายคือยังไม่ชัดว่า สบายหรือไม่สบาย ก็เป้นเหตุให้เกิดความรู้สึกยังไม่แน่นอนทางจิต ก็เรียกว่าอุเบกขาเวทนา

Link : https://www.facebook.com/groups/khonphian/permalink/665505583500710/

One thought on “ว่างจากจิต

Comments are closed.