ใครบ้างที่ไม่เชื่อเรื่องผี ยกมือขึ้น ! ถ้าถามอย่างนี้อาจจะมีคนยกมือกันเยอะแยะ แต่ถ้าถามว่าใคร บ้างที่จะกล้าอาสาไปเดินในป่าช้าคนเดียวตอนดึก ๆ หรืออาสาไปนอนเล่นในห้องดับจิตหรือในโกดังเก็บศพสักคืนหนึ่ง คิดว่าถ้าถามแบบนี้คนที่ยกมือบอกว่าไม่เชื่อเรื่องผีตะกี้นี้คงจะชักมือหดมือลงเป็นแถว ๆ นี้เป็นเพราะสาเหตุใด ตอบได้ง่าย ๆ ก็เป็นเพราะ “กลัวผี ” นั่นเอง
ความเชื่อเรื่อง “ผี” เป็นความเชื่อของคนไทยมีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาสู่สยามประเทศของเรา เสียอีก เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมานานนับพันปี ความกลัวผีจึงเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกลงอยู่ในกมลxxxของคนไทย ยากยิ่ง ที่จะถอดถอนความเชื่อนี้ออกไปได้ แม้เราจะชอบอ้างตัวเองว่าอยู่เสมอ ๆ ว่าเป็นคนที่อยู่ยุควิทยาศาสตร์ ก็ตาม
ความกลัวผีเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต บางคนกลัวมาก ๆ อาจจะถึงกับช็อคตายไปเลยก็ได้ ถ้าจะให้บอกกับตัวเองว่าเราไม่เชื่อเรื่องผี ก็ไม่ไหว เพราะทั้งที่ปากบอกว่าไม่เชื่อ ๆ แต่ใจมันก็ยังหวาดกลัวอยู่ดี เพราะความคิดนี้มันฝังตัวอยู่ในสัญชาติญาณกลัวตายของเรา พูดง่าย ๆ คือ ตราบใดที่ เรายังกลัวตาย ตราบนั้นเราก็ยังคงต้องกลัวผีอยู่นั่นเอง แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไรดี
พุทธศาสนาเข้าใจถึงจิตใจของปุถุชนดี ท่านจึงสอนวิธีคิดชนิดที่สามารถไปสลายความกลัวผีให้หมดลงไปได้ คือทำให้ความกลัวผีลดน้อยลงไป หรือ ถึงกับเลิกกลัวผีไปเลยก็ยังได้ โดยไม่ต้องจำเป็นต้อง ไปเลิกเชื่อเรื่องผีแต่อย่างใด ดังจะขอยกวิธีคิด ๓ วิธีมาอธิบาย ดังต่อไปนี้
๑. คิดปรารถนาดีต่อชีวิตทั้งปวง (เมตตา)
วิธีคิดนี้ง่ายมาก คือสร้างความรักความปรารถนาดีเผื่อแผ่ไปให้แก่ ทุก ๆ ชีวิต โดยจินตนาการให้ความรู้สึก “รัก” นี้แผ่ไพศาลไปทั่วฟ้า มหาสมุทร หรือ ถ้าเป็นสมัยใหม่นี้ ก็ต้องแผ่ไปให้ไกลทั่วแกแล็คซี่ ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ความคิด “เมตตา”เช่นนี้ถ้าคิดได้อย่างต่อเนื่องจนเป็นสมาธิ ก็จะมีพลังมหาศาล สามารถที่จะสลายความกลัวให้หมดไป
คนที่มีเมตตามาก ๆ สามารถที่จะสร้างอิทธิพลในทางบวกให้แก่ผี เช่นแบ่งปันความดีงาม ให้ผีสางนางไม้พลอยได้รับส่วนบุญกุศลอีกด้วย นี้แสดงถึงอำนาจของเมตตาที่มีอำนาจเหนือผีนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป คนที่มีเจริญเมตตาอยู่ในใจตลอดเวลา จะมีสมาธิดีมาก จนอำนาจภายนอกไม่ สามารถที่จะมาครอบงำหรือหลอกหลอนได้แต่อย่างไร ไปไหนมาไหนสบายใจ ไม่ต้องสะดุ้งกลัว
วิธีคิดสร้างเมตตา (ในกรณีต้องไปอยู่ในสถานที่น่ากลัว) “ขอให้ทุก ๆ ชีวิต ณ ที่แห่งนี้จงมีความสุข ขอให้สัตว์เล็กสัตว์น้อย ณ ที่แห่งนี้จงสุขกายสุขใจ ขอให้ความรักความปรารถนาดีของฉันจงมีแก่ทุกชีวิต ขอให้ความรักของฉันจงเผื่อแผ่ไปทั่วสกลจักรวาล อย่างไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณ ขอให้ต้นไม้ใบหญ้า ทุกต้นทุกใบจงมีความสันติสุข ขอให้ความเป็นมิตรของฉันจงมีแก่ทุก ๆ ชีวิต ณ ที่แห่งนี้ ขอให้ท่านสุขกาย สุขใจ มีสุขภาพจิตใจที่แจ่มใส ขอเผื่อแผ่ความดีงามที่ฉันได้ทำไว้ มอบให้แก่ท่านทั้งหลาย ขอให้ชีวิตทีเศร้าหมองทั้งหลายจงสดใสร่าเริง ขอให้ทุกชีวิตจงมีความสุขใจโดยพลันเทอญ ฯลฯ ”
วิธีคิดให้เกิดเมตตานี้ สามารถจะปรุงแต่งเป็นความคิดต่าง ๆ นานาได้ตามความปรารถนา เพียงแต่ว่า ให้อยู่ในประเด็นหลักของเมตตา คือ แผ่ความรักปรารถนาดีไปยังสรรพสัตว์อย่างไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณ เท่านั้นเอง
อนึ่ง คนที่ชอบฝันร้าย หากรู้จักแผ่เมตตาก่อนนอน ก็จะฝันดี มีความสุขทั้งตอนหลับและตื่น หาก ปฏิบัติได้เป็นประจำก็ดีเยี่ยมเลยครับ
(อ่าน กรณียเมตตสูตร สุตตันต.เล่ม ๑๗ ขุททกนิกาย ข้อ ๑๐ หน้า ๑๑ )
๒. ความเชื่อมั่นเคารพในความดีงาม (ศรัทธา)
วิธีนี้ ชาวพุทธที่มีความศรัทธาอยู่แล้วจะได้เปรียบสักหน่อยนะครับ เพราะความ”ศรัทธา” เป็นพลังความคิดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสลายความกลัวให้หมดลงไปได้เช่นเดียวกัน หากท่านศึกษาในประวัติศาสตร์ของศาสนาต่าง ๆ ท่านจะเห็นว่าคนที่มีความศรัทธาในศาสนามาก ๆ เขาจะไม่กลัวแม้แต่ความตาย ความศรัทธาหรือ ความรู้สึกประทับใจ เชื่อมั่น ซาบซึ้งใจ นี้ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในขั้นต้นของการปฏิบัติธรรม ศรัทธาทำหน้าที่สร้างพลังขับเคลื่อนไปสู่กระบวนการทางปัญญา คือ ก่อนที่ปัญญาจะวิ่งไปได้ บางทีต้องอาศัย พลังศรัทธาคือความเคารพเชื่อมั่นในความดีงามนี้ทำหน้าที่เป็นตัวสร้างช่องทางนำร่องให้ความคิดเดินไปได้ ไม่อย่างนั้นมันคิดไม่ค่อยจะไปเหมือนกัน
ยกตัวอย่าง ชาวพุทธในสมัยโบราณก่อนที่เขาจะตัดสินใจจะทำอะไร เขาก็ตั้ง นโม..ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อันเป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม ความบริสุทธิ์ ความมีปัญญา เพื่อให้จิตใจผ่องใส เมื่อจิตใจดีแล้วเขาก็อาศัยพลังศรัทธานั้นแหละขับเคลื่อนความคิดเชิงเหตุผลต่อไป จนกลายเป็น พลังปัญญาด้วยตัวของมันเอง (ปัญญาพละ) ที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริงต่อไป นี้เป็นจุดมุ่ง หมายของศรัทธาในทางพุทธศาสนา
ผลพลอยได้ของ “ศรัทธา” คือ ช่วยทำไม่ให้กลัวผีได้ด้วยครับ อย่างที่บอกแล้วว่า คนที่ศรัทธามาก ๆ นี่ แม้ “ตาย”ยังไม่กลัวเลย แล้วจะไปกลัวผีได้อย่างไร ดังนั้นหากท่านเกิดความกลัวขึ้น ณ ที่ใด ให้สร้างศรัทธา ขึ้นในใจ ความกลัวผีก็จะหายไปในบัดดล
วิธีคิดสร้างศรัทธา (เวลาต้องไปอยู่ในที่น่าหวาดกลัว ) ให้หลับตา นึกมโนภาพว่าเรากำลังกราบพระพุทธองค์อยู่ตรงหน้าที่ประทับ พร้อมทั้งระลึกถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ ที่ห่างไกลจากความโลภ โกรธ หลงทั้งมวล (วิสุทธิคุณ) ระลึกถึงความเมตตาอันไม่มีประมาณของพระพุทธองค์ที่รักมวลมนุษย์ชาติดังมารดารักบุตร (เมตตาคุณ) ระลึกถึงปัญญาอันสว่างไสวของพระพุทธองค์ที่ทรงรู้แจ้งสรรพสิ่งในสกลจักรวาล (ปัญญาคุณ) พร้อม ๆ กับ ภาวนา คำว่า ” นะโมตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ ไปเรื่อย ๆ ให้นึกวาดภาพว่าตัวเองก้มกราบพระพุทธองค์ พร้อมทั้งระลึกถึงพระคุณทั้งสามประการ อยู่เช่นนี้ตลอดเวลา จิตใจของท่านจะเกิดความร่าเริงแจ่มใส ปีติยินดี ความกลัวต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะเข้ามากล้ำกรายจิตใจอย่างแน่ นอน
(อ่าน ธชัคคสูตรที่ ๓ สุตตันต.เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๘๖๓ )
๓. คิดใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา (ฉันทะ)
อันนี้ใช้พลังปัญญาล้วน ๆ เลย คือความเชื่อมั่นในเหตุผล ในความจริง จิตใฝ่รู้นี้ มีพลังมหาศาล ที่ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในตนเองจนไม่หวาดหวั่นอะไร คนประเภทนี้ผีหลอกไม่ไหวหรอกครับ เพราะจิตมีกำลังมาก (มีสมาธิ) ดังนั้นคนที่มีความใฝ่รู้จริง ๆ จึงมักจะไม่ค่อยจะเชื่อเรื่องผี และ ไม่กลัวผี คนประเภทนี้ถ้าผีตัวไหนขืนถลำตัวไปหลอกเข้า ผีตัวนั้นคงเป็นต้องโดนวิ่งไล่จับพิสูจน์เป็นแน่ เพราะคนใฝ่รู้เขาจะเข้าไปหาถึงตัวเลย เพื่อจะดูซิว่าผีมันมีสิวกี่เม็ด, เท้าไม่ติดพื้นจริงหรือเปล่า, เสื้อผ้าผีมีเนื้อผ้าเป็นอย่างไร, ผีทำไมต้องพูดช้า ๆ ยานคาง , ทำไมผีถึงชอบทำหน้าเละ ๆ ฯลฯ แล้วผีที่ไหนจะยอมให้พิสูจน์ล่ะครับ คงต้องหนีลูกเดียว เพราะ ผีมันก็ดีแต่เก่งแค่ทำผลุบ ๆ โผล่ ๆ หลอก ๆ หลอน ๆ แต่คนขวัญอ่อนเท่านั้นเอง เจอคนจริงแบบนี้ ผีก็ไม่ไหวเหมือนกันล่ะครับ ..สวัสดี
(อ่าน ความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ของ “ปัญญา” ที่มีอยู่มากมายมหาศาลในพระไตรปิฎก )