พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (พระอาจารย์อาวุโสในสายงาน หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) เช้าวันที่ ๓ ก.ค. ๖๐ ณ วัดพระธาตุแสงเทียน อ.เด่นชัย จ.แพร่
นวัตกรรมแห่งสติ ๓
๑
ถ้าเราทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ก็จะเสียเวลา
ในแต่ละวันให้เกิดสติปัญญาอยู่เสมอ
ถ้าไม่เกิดสติปัญญาก็เสียเวลา
หลวงพ่อเทียนบอกว่าทำอะไรก็ได้
แต่มีเงื่อนไขว่า ทำให้เกิดสติปัญญา
จะดูหนังฟังเพลง ดูละครต่างๆ ก็ไม่ว่า
แต่ต้องให้เกิดปัญญา
ถ้าดูแล้วเกิดความมัวเมา ประมาท หลงใหล
ไม่ว่าอะไรก็ตามก็ไม่ควรทำ
ทำแล้วไม่เกิดปัญญา
เพราะตัวปัญญาทำให้แก้ปัญหาได้
ทั้งทางกายทางใจทั้งภายนอกภายใน
ปัญหาที่แก้ต้องนำมาสู่ความสบายใจ
ทั้งตัวเองและผู้อื่น
๒
บางคนมีปัญญาแล้วทำให้ตัวเองสบาย
แต่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
อันนี้ไม่ใช่ปัญญาในพุทธศาสนา
ปัญญาทางโลก มีความสบายในตัวเองเยอะ
มีลาภ มีสรรเสริญ มีสมบัติ
ทำให้ตัวเองสบายใจ แต่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
ปัญญาทางธรรม เมื่อตัวเองสบาย
ทำอย่างไรให้คนอื่นสบายได้ด้วย
บางทีเราคิดว่าทำให้คนอื่นสบาย
แต่กลายเป็นทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็มี
เมื่อทำให้เกิดปัญญาด้วยความเหมาะสม
ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
ก็จะทำให้บรรลุสูงขึ้นไป
ถ้าไม่เกิดความเหมาะสม
เราก็ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
แต่คนอื่นไม่ได้ประโยชน์ด้วย
สิ่งนั้นก็เสียเวลา เสียความตั้งใจ
๓
ในวิธีการหลวงพ่อเทียน
ระหว่างการนั่งเฉยๆ นิ่งๆ
กับการได้เคลื่อนไหวทำอะไรสักอย่าง
ได้ประโยชน์ต่างกัน
นั่งนิ่งๆ ทำใจให้สงบ หลับตา
ก็ได้ประโยชน์อีกอย่าง คือความสงบ
แต่อีกคนมีการเคลื่อนไหว
ด้วยการทำงาน หรือด้วยการเจริญสติ
๔
คำว่า “สมาธิ” ไม่ได้แปลว่าความสงบ
สมาธิแปลว่าความผ่องใส
เรียกว่า ปริสุทโธ
สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น
เรียกว่า สมาหิโต
สมาธิแปลว่าเหมาะควรแก่การทำงาน
เรียกว่า กัมมนีโย
จะว่าตรงนี้เป็นผลของสมาธิก็ไม่ใช่
เป็นตัวสมาธิเลยทีเดียว
ทำแล้วทำให้เกิดตัวบริสุทธิ์
จิตที่จะผ่องแผ้วบริสุทธิ์ได้ ต้องเป็นปัญญา
กัมมนีโยเป็นตัวปัญญา
ปริสุทโธคือความสงบ
สงบแบบไหนก็ได้ที่จิตใจสะอาดผ่องใส
สมาหิโตคือนิ่ง ตั้งมั่น
แต่ไม่ใช่นิ่งแบบหลับตา นิ่งเฉยๆ
ทำอะไรก็ได้ แต่จิตนิ่งอยู่กับปัจจุบัน
๕
กายจับอะไรจิตก็นิ่ง
นิ่งไม่ใช่แบบทื่อๆ
นิ่งอยู่กับกาย นิ่งอยู่กับเวทนา
นิ่งอยู่กับจิต นิ่งอยู่กับอารมณ์
ไม่ใช่นิ่งแบบทื่อๆ
กายทำอะไร เวทนารู้สึกอย่างไร
จิตคิดอะไร อารมณ์เป็นอย่างไร
เข้าไปตั้งมั่นในสี่สถาน
เรียกว่าจิตนิ่ง ณ ปัจจุบัน
ไม่ใช่นิ่งไม่ยอมรับรู้อะไรเลย
นิ่งแบบนั้นเรียกว่านิ่งแบบสมถะ
๖
ถ้าระลึกสี่ฐานเป็นสัมมาสติ
แต่ถ้าไม่ระลึกในสี่ฐานเป็นมิจฉาสติ
ถ้าไม่ครบก็ไม่เป็นสัมมาสติ
กาย เวทนา จิต ธรรม ทำงานร่วมกัน
เวลากายเคลื่อนไหว มีเวทนาหนักเบา
จิตก็จะบอกว่าควรจะทำอะไร
แล้วสิ่งที่เราทำไป ดีหรือไม่ดี
ถูก หรือผิด สบายหรือไม่สบาย
จิตเป็นอารมณ์
๗
กาย เวทนา จิต ธรรม คือร่วมกันในขณะเดียวกัน
ไม่ว่าเราจะทำอะไร มีสี่อารมณ์ในหนึ่งอย่าง
ไม่ใช่ระลึกทีละอย่าง
การที่จิตตั้งมั่นหนึ่งอารมณ์ในสี่อย่าง
เรียกว่า “สมาหิโต”
ถ้าเป็นสมาธิแบบสมถะ นิ่งๆ อยู่กับอารมณ์เดียว
ก็จะไม่ครบสติปัฏฐานสี่ ก็ไม่เป็นสัมมาสติ
เมื่อไม่เป็นสัมมาสติ ก็ไม่เป็นสัมมาสมาธิ
๘
ตรงนี้เราลืมคิดกัน
เคลื่อนไหวแล้วจิตมันจะสงบได้อย่างไร?
แต่โดยวิธีของสติปัฏฐาน
ท่านไม่ได้ดูที่ความสงบอย่างเดียว
ท่านพูดถึงการตื่นรู้ เบิกบาน
ท่านจึงไม่เอาสมาธิเป็นฐาน
ไม่มีสมาธิปัฏฐาน ปัญญาปัฏฐาน
ใช้สติปัฏฐาน
สติปัฏฐาน แปลว่าระลึกรู้ในสี่อย่างนี้
ตรงนี้เราต้องไม่หลงประเด็น ในการปฏิบัติ
๙
ถ้าหลงประเด็นในการปฏิบัติ
เราก็จะสงสัย ใช่หรือเปล่า
เรามีหลักในอริยมรรคมีองค์แปด
จะถูกหรือไม่ เทียบดูตัวหลักเสมอ
ถ้าถูกตามความเห็นของฉัน
ตามอาจารย์ของฉัน อย่างนี้ไม่ใช่
จะต้องใช่ตามหลักที่พระพุทธเจ้าว่าไว้
เราอย่าหลงประเด็นในเรื่องนี้
เตือนนักปฏิบัติที่เรามักหลงใหลคลั่งไคล้
ในวิธีนั้นวิธีนี้ แต่ไม่นึกถึงหลักว่าตรงมั้ย
ถ้าหลักไม่ถูกแล้ว
สิ่งที่เราทำไปก็ไม่เกิดปัญญา
เมื่อไม่เกิดปัญญาก็ไม่เกิดประโยชน์
ไม่เป็นสัมมาสมาธิ แล้วปัญญาจะเกิดตรงไหน
สัมมาปัญญาก็ไม่เกิด
๑๐
ปัจจุบันเราชอบปฏิบัติเจริญสติ
เจริญสมาธิ เจริญปัญญากัน
แต่เราว่าตามอาจารย์ ว่าตามทิฏฐิของเรา
ตามความเห็นของเรา ตามสื่อว่าไว้
แต่องค์ความรู้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
เราเอาไปทำแล้วก็ได้ประโยชน์น้อย
อย่างน้อยก็ทำจิตให้สงบ
มีความใฝ่ดี มีจิตเป็นกุศล
แต่ส่วนที่ถูกต้องตามหลักเราได้หรือเปล่า
เราต้องตรวจสอบ
โดยเฉพาะนิยามคำว่า สัมมาสมาธิ
บางท่านก็เอาตัวฌานสี่ ฌานแปด เป็นนิยาม
แต่ในนิยามตามหลักแล้วมีสามประการ
ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย
อันนี้เป็นนิยามตามหลักเลย
นิยามตามองค์ฌาน
จะว่ากันตอนไหนเมื่อไรเราก็ไม่ทราบ
๑๑
อยากให้เกิดปัญญาที่ถูกต้อง
สัมมาปัญญา
สมาธิถูกต้อง สัมมาสมาธิ
เกิดสัมมาสติ คอยระลึกในฐานทั้งสี่
คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
ฐานทั้งสี่ก็รวบมาเป็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
ในการพูด การทำ การคิด อย่างใดอย่างหนึ่ง
เราจะได้เห็นชัดในอาการนั้นๆ
เพราะจิตของเรามันจะรับรู้ได้ชัดเจน
เพียงหนึ่งอาการ สองอาการ
ถ้าสาม สี่ ห้า อาการก็จะพร่าเบลอไป
แค่หนึ่งสองอาการ มันก็จะชัดขึ้นมาเรื่อยๆ
๑๒
เหมือนเราโฟกัสไฟฉาย
ถ้าเราโฟกัสกว้าง แสงมันก็จะเบลอไม่ชัด
พอเราโฟกัสแคบเข้ามาให้พอดี
ระดับหนึ่ง สอง สาม ก็พอดี
ถ้าจะให้ชัดที่สุดก็มาที่ระดับสอง ระดับหนึ่ง เป็นต้น
สติเราก็เช่นเดียวกัน
ถ้าเราตระหนักระลึกอยู่อย่างนี้
การกระทำของเราก็เกิดประโยชน์ตลอดเวลา
ได้ปัญญาตลอดเวลา
จะเดินก็ได้ปัญญา
เดินแล้วหนัก เสียงดัง เกิดความไม่สมดุล
ก็ไม่เกิดประโยชน์
เพราะทำให้ตัวเองเจ็บป่วยโดยไม่รู้ตัว
เดินเสียงดังกระเทือนถึงกระดูกสันหลัง
เราเดินไม่ลงส้น เอาหน้าเท้าลงนิดนึง
การเดินก็จะได้สติ จะนุ่ม ช้าลง เบาลง
๑๓
การที่เราทำแล้วได้มิจฉาสมาธิ
เพราะทำตามความเคยชิน
ตามสัญชาตญาณ
เราไม่ได้ทำตามความรู้เนื้อรู้ตัว
ทุกวันนี้แม้โลกจะเจริญด้วยเทคโนโลยี
มีความแม่นยำถูกต้อง
ในแง่ของนามธรรมก็เช่นเดียวกัน
เราต้องการความแม่นยำถูกต้อง
เรียกว่าสายกลาง
อะไรก็ตามที่ไปสายกลาง
เป็นความแม่นยำ
ถ้าลูกกระสุน ลูกธนู มันชี้ออก
มันไม่ตรงหรือมันชี้ออกข้างนิดนึง
มันก็จะออกจากเป้า
ทางสายกลางคือทางตรง ทางลัด รวดเร็ว
ทางที่ไม่เอียงไปซ้ายไปขวา
๑๔
การกำหนดตัวสติ สมาธิ ปัญญา
เป้าหมายตัวในสุดคืออารมณ์
เป้าวงนอกออกมาคือจิต
เป้าวงนอกต่อมาคือเวทนา
เป้าวงนอกสุดคือกาย
เป้าที่เรายิงมีสี่รัศมี
ถ้าตรงเป้าเลยคือรัศมีที่หนึ่งอยู่ในสุด
เป้าที่สองคุณก็ยังได้ เป้าที่สามก็ยังได้อยู่
เป้าที่สี่ก็ยังได้ แต่เป้าที่ห้าคะแนนเริ่มอ่อนลง
ตามลำดับของวงรัศมี
เวลามีงานเราไปยิงเป้าเขามีรางวัลให้
วงในสุดได้หนึ่งร้อยบาท วงนอกได้ห้าสิบบาท
วงที่สามได้ยี่สิบห้าบาท วงที่สี่เหลือสิบบาท
ลักษณะที่เป็นนามธรรมก็เช่นเดียวกัน
ขอให้จิตของเรามีเป้าที่กาย เวทนา จิต อารมณ์
แต่ทั้งสี่อย่าง รวมเป็นเป้าเดียวได้
ทำอะไรก็รู้การเคลื่อนไหว
รู้หนักรู้เบาคือเวทนา
ขณะที่เคลื่อนไหว เรารู้สึกถึงสติสัมปชัญญะ
การเคลื่อนไหวนี้มีเป้าหมายทำดีหรือไม่ดี
ทำถูกหรือทำผิด อันนี้เป็นธรรมารมณ์
มีความเป็นหนึ่งในสี่ เรียกว่า Four in One
สติปัฏฐานสี่ก็เช่นเดียวกัน
๑๕
ชีวิตประจำวันคุณจะทำอะไรก็ได้
แต่อย่าให้เสียสติสัมปชัญญะ
ถ้าเสียสติสัมปชัญญะ
แม้สิ่งนั้นคุณจะทำถูกก็ตาม
มันไม่ถูกตามหลัก
จะถูกตามกฎหมายตามศีลธรรม
แต่ไม่ถูกตามหลักปรมัตถธรรม
เป้าหมายเราทำแล้วพ้นทุกข์หมดปัญหา
ถูกตามหลักปรมัตถธรรม
ถ้าถูกตามหลักศีลธรรมอาจมีปัญหาน้อยลง
แต่ถ้าไม่ถูกตามหลักปรมัตถธรรมเลย
ก็เป็นเรื่องของสัญชาตญาณ