พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท ณ วัดพระธาตุแสงเทียน จ.แพร่
๑
บริหารน้ำฝน เปียกมะล่อกมะแล่ก
ตรวจดูแต่ละแทงค์ น้ำไม่เข้าแทงค์ไหน
ก็ไล่เปิดไล่ปิด
ช่วงที่ไปไล่ตักน้ำฝน ไม่ได้ใส่รองเท้า
เหยียบตะเข็บเข้า
พอทำธุระเสร็จก็ไปเอาน้ำมันมาทา
ถ้าใส่รองเท้าก็กลัวจะลื่นล้ม
ในช่วงที่ฝนตก
อาตมาจะพยายามบริหารน้ำ
เพราะถ้าสูบน้ำขึ้นมานาทีละหลายบาท
แต่พอน้ำฝนตกลงมาประหยัดได้หลายตังค์
พยายามทำรางน้ำฝน
สร้างแทงค์น้ำฝนให้มากพอ
เพื่อให้มีน้ำอยู่บนเขาเยอะๆ ใช้รดต้นไม้
๒
#เปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็รวดเร็ว
ทุกอย่างมีการเสื่อมสิ้นตลอดเวลา
ถ้าเราอยากได้ประโยชน์
จากความเสื่อมสิ้นของสิ่งทั้งปวง
ก็ต้องมีสติปัญญาไม่ประมาท
ใช้คำว่า “วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ”
ต้องเตรียมตัว ไม่ประมาทอยู่เสมอ
เมื่อเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น
แล้วเราละเลยประมาท
เราก็ไม่ได้ประโยชน์มากเท่าที่ควร
แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะเปลี่ยนแปลง
เราสามารถได้ประโยชน์
จากการเปลี่ยนแปลงของมัน
เช่น ใช้การเปลี่ยนแปลงของดิน น้ำ ลม ไฟ
มาเป็นกระแสไฟฟ้า
เปลี่ยนแปลงกระแสน้ำให้เป็นประโยชน์
เปลี่ยนทิศทางมันได้
หน้าที่ของเราคือบำเพ็ญความไม่ประมาท
ไม่ขาดสติปัญญาตลอดเวลา
๓
เราสามารถที่จะได้ประโยชน์
จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย
ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับ
ความสิ้นไปตลอดเวลา
ร่างกายสังขารเปลี่ยนแปลงแตกดับตลอดเวลา
ถ้าเราบริหารจัดการมันดี
ก็จะได้ประโยชน์จากมันเยอะ
บางคนเกิดมาสร้างประโยชน์ต่อโลกมากมาย
คนนับถือ ร่ำลือไปทั่วโลก
แต่บางคนไม่มีใครรู้จักเลย
อยู่ที่การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง
พระอริยเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ตายไปสองสามพันปี
ก็ยังมีคนรู้จักเคารพนับถืออยู่
พระมหาจักรพรรดิทั้งหลายตายไป
ไม่มีคนรู้จักเลยก็มี
นี่คือการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง
ใครทำได้มากกว่า คนนั้นก็เป็นอมตะบุคคล
คนรู้จักไปตลอดกาล
คนไหนไม่ทำเลย ตายไปเป็นหินเป็นหญ้า
ไม่มีใครรู้จัก
เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นไตรลักษณ์
ให้เป็นไตรสิกขา
ถ้าได้ประโยชน์เฉพาะส่วนตัว
ก็ขยายไปสู่ส่วนรวมให้กว้างขึ้น
ตามรัศมีของความสามารถ
สามารถปรับปรุงการเปลี่ยนแปลง
การแตกดับตลอดเวลา
ให้เป็นประโยชน์ต่อโลกและสังคม
๔
แต่ถ้ามนุษย์ผู้ที่ประมาท
ไม่สามารถปรับกระแสของไตรลักษณ์
ให้เป็นไตรสิกขาได้ โลกนี้ก็จะเสื่อมไว
โลกมีการเปลี่ยนแปลงแตกดับในตัวเองระดับหนึ่งแล้ว
มนุษย์ซึ่งมีความประมาท
ไม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงกระแสเหล่านี้
มัวแต่ซ้ำเติมโลก ทำให้เสื่อมไวขึ้น
เช่นเราจะได้ยินข่าวเสมอ
ถึงการทำลสยโลกในระดับต่างๆ
ทำลายป่าไม้ ภูเขา แหล่งน้ำ ทรัพยากร
การทำลายชั้นบรรยากาศ
ทำลายธรรมชาติ
ในที่สุดมนุษย์ก็ทำลายตัวเอง
อายุสั้นลงมา โรคภัยไข้เจ็บมากยิ่งขึ้น
แม้กระทั่งการสร้างสั่งสมอาวุธร้ายแรงต่างๆ
มาทำลายซึ่งกันและกัน
เรียกว่ามนุษย์ประมาท
ไปซ้ำเติมการเปลี่ยนแปลง
ตามกฎธรรมชาติอยู่แล้ว
ให้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
แทนที่โลกจะเสื่อมและเปลี่ยนแปลง
ไปตามกฎธรรมชาติของมัน
ด้วยความประมาทของมนุษย์
กลับไปเพิ่มการเปลี่ยนแปลง
ความเสื่อมทรามให้เร็วขึ้น
๕
เราจะได้ทราบข่าวความวิบัติ
จากความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ไฟไหม้ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภูเขาแผ่นดินทรุด
เกิดมาจากความประมาทของมนุษย์ทั้งนั้น
เราทั้งหลายควรตระหนักรู้
ถึงการเปลี่ยนแปลง
อันเกิดจากตัวเราเองประมาท
เราก็ต้องมาพัฒนาตัวเราเอง
ไม่ต้องไปวิตกกังวล หรือตำหนิสังคมส่วนกว้าง
หรือผู้อื่นว่าทำให้โลกเป็นอย่างนี้
ถ้าเรามัวไปวิตกกังวลและตำหนิผู้อื่น
โลกก็ยิ่งเสื่อมไวขึ้นอีก
ถ้าเราหลายคนรู้หลักของการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว
เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนตัวปัจเจกบุคคล
หลายคนเข้าก็สามารถที่จะต้านการเปลี่ยนแปลง
ให้ชะลอการแตกดับ ชะลอการเสื่อมทรามได้มากขึ้น
โลกก็จะมีการเปลี่ยนไป
เช่นประเทศมหาอำนาจบางประเทศ
ตระหนักรู้ถึงภัยพิบัติเหล่านี้
ก็มีการประชุมกัน
เพื่อลดมลภาวะ ลดการผลิต
เปลี่ยนมลพิษต่างๆ ไม่ให้เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ
เขาตระหนักรู้ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดในระดับลึกลงไป
๖
หลักพุทธศาสนาได้กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ชัดเจน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นพินัยกรรมชิ้นสุดท้าย
ของชีวิตท่าน ก่อนที่ท่านจะลาจากโลกนี้ไป
เป็นคาถาที่เรานำมาใช้ มาสวดกันแทบทุกวัน
แต่ว่าเราเข้าใจความหมายน้อยมาก
ท่านสั่งก่อนจะปรินิพพานว่า
“อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ”
เป็นปัจฉิมโอวาทของท่าน
เรียกว่าเป็นพินัยกรรมชิ้นสุดท้าย
บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นสังขารธรรม
เป็นไตรลักษณ์ มีการเสื่อมการสิ้นไปคลอดเวลา
หน้าที่ของท่านทั้งหลายคือ
ทำความไม่ประมาทตลอดเวลาเหมือนกัน
ต้องไม่ประมาท ตระหนักรู้ถึงว่าอะไรมันเสื่อมมันสิ้น
เราก็พยายามดัดแปลงแก้ไขสิ่งนั้นให้เท่าทัน
ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
คือหน้าที่ของชาวพุทธ
หน้าที่ของทุกคนก็ว่าได้เป็นสากล
ไม่ใช่ว่าชาวพุทธไม่ประมาท
แต่ศาสนาอื่นยังประมาทอยู่
ความไม่ประมาทของชาวพุทธก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก
ก็ต้องช่วยกันรณรงค์ให้พุทธศาสนา
เป็นศาสนาสากลมากขึ้น
เราจะเห็นว่าประเทศมหาอำนาจต่างๆ
ประชากรเขาเริ่มหันมาศึกษาพุทธศาสนา
แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างศาสนาเดิม
แต่เขาก็หันมาศึกษาการเจริญสมาธิ
การเจริญวิปัสสนา
อันนี้เป็นความไม่ประมาทเหมือนกัน
สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมได้
๗
เราทั้งหลายเวลาเกิดอะไรขึ้น
เราเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญความไม่ประมาท
ทดสอบดูว่าเราบริหารการเปลี่ยนแปลงแตกดับ
ได้ระดับใดบ้าง ระดับครอบครัว ระดับชุมชน
คนเหล่านี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สัตบุรุษ”
บุรุษผู้มีสัปปุริสธรรม
รู้จักใช้ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เข้าไปบริหารจัดการความเสื่อม
ความแตกดับของสังขาร
ให้มันใช้ประโยชน์ได้
คำว่าใช้ประโยชน์ได้ ไม่ได้หมายความว่า
จะให้มันเที่ยง มันสุข หรือไม่แตกดับ
แต่บริหารความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความแตกดับ
ให้เป็นประโยชน์เท่านั้นเอง
เหมือนเราแปลงแสงอาทิตย์เป็นโซลาร์เซล
แปลงกระแสน้ำ กระแสลม มาปั่นแบตเตอรี่
แปลงกระแสดิน ถ่านหิน ให้เป็นกระแสไฟฟ้า
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เขาตระหนักรู้ระดับนี้
แม้เขาจะเป็นชาวคริสต์
แต่เขาก็ใช้ทฤษฎีของพุทธโดยไม่รู้ตัว
๘
ทีนี้มาในระดับจิตใจของเรา
ความจริงแล้วศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลงของจักรวาล
ที่เราสามารถสัมผัสได้ก็คือจิตใจของเรานี่เอง
ที่มันเปลี่ยนตลอดเวลา
เปลี่ยนไปทั้งดีทั้งร้าย
เปลี่ยนไปทางร้ายก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เปลี่ยนในฝ่ายดีก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุเรียกว่า “พัฒนา”
หรือวิวัฒนาการ
พอเราเปลี่ยนทางด้านนามธรรม
เราใช้คำว่า “ภาวนา”
สมถะภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา
พัฒนากับภาวนา มีรากศัพท์เดียวกัน
คือทำให้มันเจริญงอกงาม
ทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีนั่นเอง
๙
สภาวะสังขารทั้งกายและจิตของเรา
ท่านบอกว่า กายนี้แม้จะเป็นสังขาร
แต่จิตควรจะเป็นวิสังขาร
กายเปลี่ยนแปลงตามกฎของไตรลักษณ์
เพราะมันเป็นวัตถุ เป็นรูปธรรม
ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามกฎของไตรลักษณ์
แน่นอนพันเปอร์เซ็นต์
แต่การเปลี่ยนแปลงของรูปกายสังขาร
ไม่ควรจะมีผลต่อจิตซึ่งเป็นนามธรรม
เป็นธาตุอมตะ
เหมือนสายไฟและสายดิน
สายไฟถ้าไม่มีสายดินก็อันตราย
ช็อตได้ง่าย
ในส่วนเกิด ถ้าไม่มีส่วนดับเข้าไปบาลานซ์
มันก็อันตราย
ส่วนดับคือส่วนที่เป็นนามธรรม หรือ Energy
ส่วนเกิดคือเป็นรูปธรรม หรือ โมเลกุล
กำเนิดมันอยู่ตรงนี้เอง
ในกายในใจของเรา
๑๐
การที่มาเจริญสมถะและวิปัสสนา
คือการมาเจริญความไม่ประมาท
เพื่อที่จะดัดแปลงความเปลี่ยนแปลงแตกดับ
ของรูปของนามให้เป็นประโยชน์
ต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น
เปลี่ยนแปลงความไม่เที่ยงที่เป็นลบ
ไปในทางที่เป็นบวก
เปลี่ยนแปลงทุกขังในทางที่ลบ
เปลี่ยนแปลงมาเป็นบวก
เปลี่ยนแปลงอนัตตา
ความแตกดับเสื่อมสลาย
เปลี่ยนแปลงมาเป็นปัญญา
ใช้ประโยชน์ได้
ความเสื่อมสลายของดิน ซากพืชสัตว์ทั้งหลาย
แทนที่มันจะเสื่อมสลายไป
เอามาดัดแปลงเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้
ให้เราได้อยู่ได้กิน
ดัดแปลงความเสื่อมสลายของน้ำ
ที่ไหลลงสู่ทะเล โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไร
เปลี่ยนเป็นระบบชลประทาน การเกษตรต่างๆ
การเสื่อมของน้ำก็เกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมา
๑๑
ต้นตอของการเปลี่ยนแปลงแตกดับ
เราใช้คำว่า “เกิดดับ” ในกายในใจของเราเอง
การเกิดดับในระดับกาย หรือระดับรูป
มันจะช้า สามารถควบคุมได้
เช่น เรานั่งพลิกท่านั่งท่าหนึ่ง
ก็ทนได้ตั้งนานกว่าท่านั้นมันจะแตกดับไป
เมื่อทนไม่ได้หมายความว่ามันแตกดับ เป็นอนัตตา
คือทุกขังเปลี่ยนเป็นอนัตตา
ตลอดเวลาที่เรานั่ง
กระแสของการเปลี่ยนแปลงทำงานตลอดเวลา
เลือดลมต้องหมุนเวียนเปลี่ยนไป
ความไม่สมดุลของการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
ก่อให้เกิดทุกขัง
เช่น เรานั่ง ความไม่สมดุลของน้ำหนักของเรา
ไปลงที่ใดที่หนึ่ง แทนที่มันจะบาลานซ์ทั่วตัว
แต่มันไปลงที่สะโพกที่เดียว
เกิดการไม่สมดุลขึ้นมา
เราจึงเกิดทุกขัง ความปวด ความหนัก
ความเมื่อย เหน็บชา
เราก็คอยเปลี่ยนเพื่อปรับไปสู่ความสมดุล
ปรับได้สักพักมันก็เป็นใหม่
มาจากกฎของการเปลี่ยนแปลงคืออนิจจัง
นำไปสู่ทุกขัง
แล้วไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ถ้ามันเปลี่ยนแปลงของมันเอง
นำไปสู่ความแก่ และความตาย
ความเจ็บ ความปวด
เราจึงต้องเข้าไปพัฒนาการเปลี่ยนแปลง
โดยการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ
๑๒
การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถมี ๒ อย่าง
๑ การเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ด้านเดียว
คือความสบายกาย
เรียกว่าเปลี่ยนแปลงโดยสัญชาตญาณ
๒ การเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติสัมปชัญญะ
ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางจิตด้วย
เรียกว่าเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร
ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะในการเปลี่ยนแปลง
ทุกขังที่เกิดขึ้นกับกายทุกครั้ง
ก็จะเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร
เมื่อเป็นวิสังขารแล้วก็ไม่เกิดการแตกดับ
เกิดเป็นอมตะธาตุขึ้นมา
เราจึงค้นพบกฎของอมตะธรรม
โดยการบริหารการเปลี่ยนแปลง
ให้เปลี่ยนอย่างมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลา
มีความรู้เนื้อรู้ตัว
เรียกว่ารู้รูปรู้นาม
สังขารธาตุก็เปลี่ยนเป็นวิสังขารธาตุ
มตะธาตุก็เปลี่ยนแปลงเป็นอมตะธาตุ
๑๓
สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบนี้
ถือว่าเป็นคุณูปการต่อโลกอย่างมหาศาล
ถ้าไม่มีการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า
มนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่มีการพัฒนา
การเปลี่ยนแปลงสังขารให้เป็นวิสังขารได้เลย
โลกก็จะเสื่อมไวกว่านี้
มนุษย์ก็จะเสื่อมไวกว่านี้
เราจะเห็นอายุขัยของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์
ไม่เท่ากัน บางองค์สูงสุดได้แปดหมื่นปี
ลดลงมาเรื่อยๆ เจ็ดหมื่น ห้าหมื่น หนึ่งหมื่น
เก้าพัน ลดลงมาจนถึงร้อยปีในภ้ทรกัปป์นี้
ลดลงมาตอนนี้เหลือเจ็ดสิบห้า
แต่คนที่หลงไปถึงร้อยก็ยังมีให้เห็นอยู่
แสดงว่าเรามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงความเสื่อม
ตามกฎของไตรลักษณ์ให้เป็นไตรสิกขา
น้อยลงมาเรื่อยๆ
ตามระดับสติปัญญาของมวลมนุษย์
๑๔
ภัทรกัปป์นี้เป็นของโคตมพุทธะ
อายุมนุษย์แค่ร้อยปีเป็นอย่างสูง
ถ้าจะให้พัฒนาไปถึงร้อยยี่สิบปี
ต้องมีความรู้พิเศษ
มีคนเคยถามพระอานนท์ว่า
ท่านจะอยู่เกินภัทรกัปป์ร้อยปีจะได้หรือไม่
ท่านตอบว่าได้ ต้องเจริญอภิสังขารสี่
คือเจริญฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
กับรูปนามนี้
มีความขยันหมั่นเพียรในการดูแล
บริหารจัดการสังขารคือสุขภาพให้ดี
มีความเข้าใจ เอาใจใส่ต่อสุขภาพ
และสภาพจิต ให้คงที่มากที่สุด
ฉันทวิสังขาร วิริยาวิสังขาร
จิตตาวิสังขาร วิมังสาวิสังขาร
บำเพ็ญในส่วนที่เป็นประโยชน์
ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
๑๕
ถ้าบำเพ็ญอภิสังขาร
ตามหลักของอิทธิบาทสี่นี้แล้ว
เธอจะสามารถขยายอายุให้เกินกัปป์ได้
ร้อยยี่สิบปีบ้าง ร้อยสามสิบปีบ้าง
ในครั้งพุทธกาล
พระมหากัสสปะ พระอัญญาโกณฑัญญะ
พัฒนาได้ถึงร้อยหกสิบปี
พระอานนท์ได้ร้อยยี่สิบปี
นางวิสาขาได้ร้อยสี่สิบปี
ในประวัติศาสตร์จีน
ชิงหยาง นักปราชญ์จีน
นักสมุนไพรเป็นฤาษี
ได้ถึงสองร้อยห้าสิบหกปี
ซึ่งก็ไม่แน่คนจีนชอบ make
ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไรนัก
แม้แต่ท่านตั๊กม้อที่ว่าถูกวางยาพิษตาย
ความจริงท่านไม่ได้ตาย
ท่านรอดมาได้อยู่เขาหิมาลัย
อายุถึงแปดร้อยปี
เป็นประวัติศาสตร์ที่เขาว่ากันมา
เป็นไปได้ที่เราจะพัฒนาให้เกินภัทรกัปป์
ในสมัยพระพุทธเจ้า
พวกเราทั้งหลายก็ต้องลองดู
อาตมาขออยู่ถึงสองร้อยปี
เป็นปริศนาสัญลักษณ์ว่า
เราต้องอยู่ด้วยความไม่มีทุกข์ทางกาย
ร้อยเปอร์เซ็นต์
ไม่มีทุกข์ทางจิตร้อยเปอร์เซ็นต์
๑๖
อายุแปลว่าการสืบต่อความสบาย
มาจากรากศัพท์อายะ อายติ อาริยะ
รากศัพท์เดียวกัน
อายติมาเป็นอายตะ
มาเป็นอายตนะ
มาเป็นอายุ
รากศัพท์อันเดียวกัน
แต่ต่างกันที่ความต่อเนื่องของความสุข
ถ้าคนไหนมีชีวิตอยู่
แต่ความต่อเนื่องของความสุขขาดหายไป
ในช่วงที่เราเป็นทุกข์
ในช่วงนั้นเราขาดอายุ อายุเราหมดแล้ว
อายุรจิตหมดแล้ว เหลือแต่อายุรเวช
ในขณะที่เราทุกข์กายทุกข์ใจขึ้นมา
เราทุกข์ใจ อายุรจิตก็หมด
เราไม่สบายกาย อายุรเวชก็หมด
เราตายไปแล้ว
ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีความสุข
การมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีความหมายอะไร
อายุหมายความว่า
การสืบต่อของความสุขทางกายและใจ
เรียกว่ามีอายุ
แม้ว่าเขาจะอายุสั้น
แต่เขามีความสุขทั้งกายและใจ
ก็ถือว่าเขามีอายุยืน
มากกว่าคนที่อยู่เป็นร้อยปี แต่ว่าทุกข์ตลอด
แต่ทนอยู่ได้เพราะวิบากกรรม
ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุมากเกินร้อย
จะเป็นคนมีความสุขตลอด
แต่ด้วยอำนาจวิบากกรรม มันไม่ตายสักที
แม้ว่าอยากจะตายเท่าใดก็ตาม
บางคนบ่นอยากจะตายทุกวัน แต่ไม่ได้ตาย
บางคนไม่รู้ ไปแขวนคอตายก่อนก็มีเยอะ
เพราะทุกข์จนทนไม่ไหว หมดอายุแล้ว
แต่บางคนก็ไม่กล้าฆ่าตัวตาย
เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ก็ไม่ยอมตายสักที
เรียกว่าเป็นโรควิบาก
อายุยืนเพราะวิบากกรรม
ไม่ได้อายุยืนเพราะเงื่อนไขทางด้านอภิสังขาร
แต่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านอายุยืน
เพราะเงื่อนไขทางอภิสังขาร
ร้อยปีสองร้อยปีท่านก็มีความสุขทั้งกายทั้งใจอยู่
๑๗
ช่วงเช้านี้ได้นำเรื่องการเปลี่ยนแปลงไตรลักษณ์
ให้เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวก
เป็นไตรสิกขา
เพื่อเราจะได้เห็นความสำคัญ
ของการเปลี่ยนอิริยาบถทุกอิริยาบถ
ว่าเราต้องการอมตะ หรือต้องการมตะ
ต้องการมรณะ หรือต้องการอมตะ
ยกมือเป็นการเปลี่ยนแปลง
ถ้าเราตั้งใจทุกครั้ง มีสติสัมปชัญญะทุกครั้ง
อมตะธาตุก็เพิ่มขึ้น
วิสังขารธาตุก็เพิ่มขึ้น
แต่ถ้าทำไปป๊อกๆ แป๊กๆ ก็ได้เปอร์เซ็นต์นิดหน่อย
ร้อยหนึ่งจะได้หกสิบ เจ็ดสิบ ห้าสิบลงมา
ตามเปอร์เซ็นต์ของมัน
เหมือนมันหัวเท่ากัน แต่ราคาไม่เท่ากัน
แล้วแต่เปอร์เซ็นต์ของแป้งอันไหนจะสูงกว่า
อ้อยลำเท่ากัน
ถ้าเปอร์เซนต์ความหวานต่ำ ราคาก็ต่ำ
เหมือนเรายกมือเหมือนกัน
แต่สติสัมปชัญญะเปอร์เซ็นต์ต่ำ
ก็ได้แค่นั้น
อันนี้คือธรรมชาติทั้งรูปธรรมนามธรรม
ไม่ต่างกันเลย
๑๘
บางคนตั้งใจทำอย่างถูกต้อง
รู้ตัวตลอดเวลา มีเปอร์เซ็นต์สูง
การเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปในทางที่ดี
จากสังขารเปลี่ยนเป็นวิสังขาร
บางคนเปลี่ยนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
บางคนเปลี่ยนได้สามสิบ สี่สิบ ห้าสิบเปอร์เซ็นต์
ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ถูกต้อง
เราเปลี่ยนอิริยาบถลุกขึ้น นั่งลง สิบครั้ง
เรามีความตระหนักรู้ชัดๆ เพียงห้าครั้ง
อีกห้าครั้งชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
ก็ได้เปอร์เซ็นต์ตามนั้น
โอกาสที่เราจะมีความสมบูรณ์ทางวิสังขารก็เร็วขึ้น
ถ้าเข้าใจหลักเกณฑ์อันนี้
มีหลักฐานตามพระคัมภีร์รองรับตามพระคัมภีร์
และจากการพิสูจน์โดยการปฏิบัติ
โดยพระอรหันต์ทั้งหลาย
ขอนำเสนอเรื่องนี้เพื่อให้เราตระหนักรู้
ในการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ให้เป็นวิสังขารได้