พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (พระอาจารย์อาวุโสในสายงาน หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) ค่ำวันที่ ๗ กรกฎาคม ๖๐ ณ วัดพระธาตุแสงเทียน อ.เด่นชัย จ.แพร่
วัดเป็นของทุกคนต้องช่วยกันดูแล
เมื่อก่อนเราต้องหาดอกไม้มาประดับแจกันหน้าพระ
ในงานศพก็จะมีพวงหรีดดอกไม้มาประดับ
เสร็จงานก็ทิ้งกัน ซื้อมาไม่ใช่ถูกๆ
แต่งานหลวงปู่จันทะ ซื้อต้นไม้กระถางมาประดับหน้าศพ
เสร็จงานก็ยกถวายหลวงพ่อมาไว้ที่วัดนี่
กระถางดอกไม้ห่อกระดาษสวยๆ ยกไปประดับหน้าพระ
ที่ศาลาและที่หน้าวัด ก็จะสดใส
ท่อพีวีซีเก่าๆ เก็บเอามาต่อกัน
ซ่อมแซมซุ้มดาวอินคาที่ผุพัง
ก่อนจะทิ้งอะไรเราต้องใช้ให้คุ้มค่า
เพราะเราผลิตเองไม่ได้
การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าเราจะปฏิบัติทางจิตใจ
ไม่เหลียวแลวัตถุเลย ต้องไปพร้อมๆ กัน
วัตถุทั้งหลายเหมือนรูป คือกายเรา
เราต้องบริหารการใช้งานให้ดี
ให้ร่างกายเกิดโรคภัยไข้เจ็บน้อยที่สุด
ใช้ประโยขน์ได้มากที่สุด
จิตใจเหมือนเจ้าของบ้าน ต้องมีระเบียบวินัย
ต้องมีสติปัญญาสามารถใช้วัตถุสิ่งของต่างๆ
ให้คุ้มค่ากับแรงที่เราเสียไป
การปฏิบัติธรรมคือการใช้ทุกสิ่ง
ให้เกิดประโยชน์สูงประหยัดสุด
เราต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำให้วัดน่าอยู่
ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อไม่อยู่แล้ววัดกลายเป็นป่าช้า
วัดจะต้องสง่างามสดใส
ไม่ว่าหลวงพ่อจะอยู่หรือไม่ก็ตาม
ช่วยขวนขวายดูแลถึงจะถูกต้อง
ถ้าให้หลวงพ่อรับผิดชอบคนเดียว
เกิดหลวงพ่อตายไปวัดก็อยู่ไม่ได้
ต้องช่วยกัน ตรงไหนมันรกไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบ ก็จัด
การจัดเหมือนการปฏิบัติธรรม
วัดเหมือนบ้านของคนทุกคน เรามาใช้ร่วมกัน
ถือว่าเป็นเสมือนบ้านเรา
เราอยู่บ้านเราอะไรที่เสียหายทรุดโทรม
เราต้องช่วยกันซ่อม ดูแล รักษา
ไม่ใช่ว่าเป็นของวัด ของหลวงพ่อ แตะต้องไม่ได้
แตะต้องได้ทำให้มันดีขึ้น
ช่วยกันส่งเสริมรักษา เป็นสมบัติส่วนกลาง
บริหารร่างกายคือไตรสิกขา
การบริหารร่างกายและจิตใจก็เหมือนกัน
ร่างกายและจิตใจไม่ใช่ของเรา
เป็นสมบัติส่วนกลาง
ถ้ามันเป็นของเรา เราต้องสั่งมันได้
ร่างกายไม่ใช่ของเรา ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าเราไม่บริหารเขา เขาก็บริหารเรา
ถ้าให้เขาบริหารเรา ก็จะเป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา
แต่ถ้าเราบริหารเขา ก็จะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
เป็นภาคบังคับ ถ้าเราไม่บริหาร
หมายความว่าเราไม่ดูแลร่างกาย
มันต้องทรุด เสื่อม โทรม ดับไปในเวลาอันใกล้
เพราะเขาบริหารเอง ก็ต้องเป็นไปตามกฎของเขา
เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวน แตกดับ
เขาบริหารตามกฎของเขาโดยธรรมชาติ
เรียกว่ากฎของไตรลักษณ์
แต่ถ้าเราซึ่งเป็นเจ้าของมีส่วนบริหาร
ให้มันยั่งยืน ปลอดภัย ใช้งานได้นาน
ก็ต้องมาเจริญศีล สมาธิ ปัญญา
เปลี่ยนอนิจจังเป็นศีล
เปลี่ยนทุกขังเป็นสมาธิ
เปลี่ยนอนัตตาเป็นปัญญา
ถือศีลคือถือหิน
เปลี่ยนอนิจจังเป็นศีลได้อย่างไร?
อนิจจังแปลว่าเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่
ศีลโดยปรมัตถ์ แปลว่า ปกติ
ศีลโดยสมมติ แปลว่า ข้อห้าม
ระเบียบวินัย ข้อยกเว้น กติกา
คำว่าศีล มาจากคำว่าศิลา แปลว่าหิน
คุณลักษณะของหิน
๑. แข็ง
๒. หนักแน่น
๓. ไม่หวั่นไหว
๔. นิ่งสงบ
๕. ลึกซึ้ง (เวลาโยนลงน้ำจะจมลง)
๖. ไม่แตกสลายง่าย
คนที่มีศีล มีความเข้มแข็ง หนักแน่น
ไม่หวั่นไหว ลึกซึ้ง เยือกเย็น สงบ
เรียกว่ามีศีลโดยปรมัตถ์
แต่ถ้าไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้
จะรักษาศีล๒๒๗ ศีล๕ ศีล๘ ดีขนาดไหน
ก็ยังเป็นศีลสมมติ
ศีลโดยปรมัตถ์ ไม่ต้องไปคิดถึงศีล๕ ศีล๘ ศีล๒๒๗
เป็นคนหนักแน่น เยือกเย็น ไม่หวั่นไหว
เป็นคนลึกซึ้ง ละเอียด ปกติ ไม่ขึ้นๆ ลงๆ
แม้จะไม่รู้จักศีล๕ ศีล๘ ก็ถือว่าเป็นผู้มีศีลโดยสมบูรณ์
เราจึงต้องเข้าใจคำว่าศีลให้ถูกต้อง
เปลี่ยนอนิจจังให้เป็นศีล (๑)
อนิจจังมันหวั่นไหว อ่อนแอ เคลื่อนไหว ไม่คงที่
ตรงข้ามกับคำว่าศีล
ศีลคือการทำให้มันไม่หวั่นไหว คงที่ หนักแน่น
ถ้าเราจะบริหารอนิจจัง
เปลี่ยนอนิจจังให้เป็นศีล
จะเอาอะไรมาเปลี่ยน?
สมมติว่าข้าวมันแข็ง ยังกินไม่ได้
จะทำให้มันกินได้จะทำอย่างไร?
ต้องเอาไปหุง ต้มให้มันอ่อนถึงจะกินได้
ถ้าสิ่งไหนที่มันอ่อน ทำให้มันแข็งได้หรือไม่?
ธาตุเหล็กที่อยู่ในดินมันยังอ่อน
เขาต้องเอามาหลอม
ทองคำเป็นฝอยเป็นฝุ่นอยู่ตามดินตามทราย
เอามาหลอมให้มันแข็ง
อนิจจังเหมือนธาตุต่างๆ โดยธรรมชาติ
ต้องเอามาหลอม
สิ่งที่มันอ่อนเป็นผุยผง นำมาหลอมให้มันแข็ง
จิตของเราที่มันกระจุยกระจาย
วิ่งไปตามอารมณ์โน่นนี่นั่น
เป็นอนิจจัง หวั่นไหว อ่อนแอ
เดี๋ยวฟุ้งไปตรงนั้น เดี๋ยวคิดไปตรงนี้
มันไม่เที่ยง ไม่แน่นอน เพราะไม่มีศีล
เราเอาความเพียรมาหลอม
หลอมจิตที่มันหวั่นไหว อ่อนแอ ฟุ้งซ่าน
ไม่คงที่ เบา ลอย ไม่ลึก ไหล
ถ้าความเพียรน้อย
จะหลอมธาตุเหล็กที่เป็นฝุ่น เป็นฝอย เป็นผง
ให้มันแข็งไม่ได้ ต้องใช้อุณหภูมิสูง
การบริหารจิตของเราที่เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์
จะใช้ความเพียรต่ำๆ ไม่ได้
ต้องใช้ความเพียรเข้มแข็งต่อเนื่อง
เดินจงกรมสร้างจังหวะทั้งวัน
ทำเล็กๆ น้อยๆ เล่นไป หัวเราะไป
หลับก็ทำ เบื่อก็เลิก ไม่ได้
ไฟไม่พอที่จะหลอมแร่ให้เป็นทองคำได้
เปลี่ยนอนิจจังให้เป็นศีล (๒)
เราเปลี่ยนอนิจจังให้เป็นศีล
ด้วยการใช้ความเพียรเป็นเตาหลอม
คืออาตาปี
ใช้สัมปะชาโน สติมา (สติสัมปชัญญะ) เป็นตัวหลอม
ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
เหมือนเร่งไฟเผาเหล็ก
อันไหนที่มันแข็งก็ทำให้มันอ่อน
อันไหนที่มันอ่อนก็ทำให้มันแข็ง
ถึงจะใช้ได้
จิตของเราเหมือนกัน
จิตของเราอ่อนก็หลอมให้มันแข็ง
จิตของเราแข็งกระด้างเกินไป
ก็หลอมให้มันอ่อนน้อมลงมา
ลักษณะนี้เรียกว่าความเพียร
ถ้าเราไม่มีความเพียร
ก็ไม่สามารถทำสิ่งที่อ่อนให้แข็ง
ทำสิ่งที่แข็งให้อ่อนได้
นี่คือวิธีเปลี่ยนอนิจจังให้เป็นศีล
เปลี่ยนของที่มันไหลลื่น เปลี่ยนแปลง แปรผัน
ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง
เปลี่ยนแปลงอนิจจังให้คงที่ เข้มแข็ง
กลายเป็นศีล โดยอาศัยอาตาปี
เป็นเตาหลอมด้วยความเพียร
เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเพราะใจยังไม่เป็นหิน
เรามานั่งสร้างจังหวะเดินจงกรม
เพื่อให้เกิดความเร่าร้อนของกำลังสติปัญญา
สติปัญญามีอุณหภูมิสูง
มันก็ไปหลอมจิตของเราที่มันเปลี่ยนไปมา
เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย สามวันดีสี่วันร้าย
เดี๋ยวอารมณ์เสีย เดี๋ยวอารมณ์ดี
เพราะจิตยังไม่มีศีล ยังเป็นอนิจจาอยู่
ยังไม่เป็นศิลา
ก็ต้องมาทำความเพียรบ่อยๆ
ถ้าไม่ทำความเพียรบ่อยๆ จิตก็คลอนแคลน
ถูกกระทบดีก็ดีไปกับเขา
ถูกกระทบไม่ดีก็หงุดหงิดโมโห อารมณ์เสีย
ถึงจะอยู่ในวัดรักษาศีล ก็ไม่มีศีลแล้ว
เรามาอยู่วัดเพื่อทำความเพียร
ไม่ใช่มาสนุกสนาน เรื่องอยู่ เรื่องกิน เรื่องเล่น
มาเพื่อทำความเพียร
เพื่อเปลี่ยนไตรลักษณ์ให้เป็นไตรสิกขา
เราต้องเปลี่ยนทีละตัว
ถ้าเป็นอนิจจัง จะนำไปสู่ทุกขัง
ถ้าเปลี่ยนมาเป็นศีลได้
ศีลก็จะไปเปลี่ยนทุกขังให้กลายเป็นสมาธิ
เหล็กถ้าไม่ร้อน มันจะแข็งไม่ได้
ถ้าจะทำมีดจากเหล็กกล้า เหล็กที่แข็งที่สุด
ต้องเอาไปเผาไฟ ให้มันกล้าแข็งขึ้นไปอีก
แล้วมาตีเป็นมีด
เผาแล้วมันจะไม่ค่อยมีสนิม
ถ้ายังไม่เผาจะยังมีสนิม
จิตของเราเหมือนกัน
ถ้ามันเป็นทุกขัง ที่มีต้นตอมาจากอนิจจัง
มันก็จะเป็นสนิม เศร้าหมอง ขุ่นมัว หงุดหงิด
เรียกว่าทุกขัง
เปลี่ยนทุกขังให้เป็นสมาธิได้อย่างไร?
สมาธิแปลว่าตั้งมั่น ตั้งใจ ต่อเนื่อง
เกิดความต่อเนื่องของความตั้งใจ
เรียกว่าฌาน
ฌานที่หนึ่ง จิตตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน
ไม่มีวิตกวิจารณ์ ไม่มีความคิดเข้าออก
คิดเล็กคิดน้อยไม่มี
เพ่งเผาด้วยความร้อนสี่ระดับ
เพิ่มความเพียรสร้างจังหวะต่อเนื่อง
ไม่มีความคิดเล็กคิดน้อย
ไม่มีวิตกวิจารณ์ จิตนิ่ง ทำต่อไปอีก
วิตกวิจารณ์หมด ทำให้เกิดปีติและสุข
ความสบาย เดินไปนานๆ เบาสบาย
สร้างจังหวะได้อารมณ์ เรียกว่าเกิดปีติ สุข
เข้าไปสู่เตาหลอมที่สอง คือฌานที่สอง
ฌานแปลว่าเพ่งเผา เหมือนเตาหลอม
ตั้งใจทำต่อไปเรื่อยๆ ชั่วโมงที่สามที่สี่ก็ไม่เลิก
ปีติสุขระงับไป ความยินดียินร้ายไม่มี
โทมนัสโสมนัสไม่มี ความพอใจไม่พอใจไม่มี
จิตไม่ไปยึดติดกับความสุขในฌาน
และไม่เกิดปฏิฆะกับทุกขเวทนาทางกาย
จิตเข้าสู่ภาวะเบาสบาย
ไม่ติดในความพอใจไม่พอใจ ละสุขละทุกข์
“ทุกขสัจจะปะหานา สุขสัจจะปะหานา”
ในฌานที่สาม ละสุขละทุกข์ได้
เพ่งเผาความพอใจไม่พอใจออกไป
เราก็ไม่หยุดเพ่งเผาต่อไป สู่ฌานที่สี่
มีแต่เกิดอุเบกขาด้วยสติอันบริสุทธิ์
มีสติและอุเบกขาอันบริสุทธิ์
เรียกว่าจิตรู้ซื่อๆ
รักษาจิตตัวรู้ซื่อๆ ไว้ตลอดเวลา
โดยที่ไม่ยินดียินร้ายในอะไรเลย
เป็นฌานที่สี่
นี่คือวิธีแปลงตัวทุกขังให้เป็นสมาธิ
ด้วยการเพ่งเผาทุกข์อย่างต่อเนื่อง
ทุกข์หมดไปขั้นที่หนึ่ง วิตกวิจารณ์หายไป
ตั้งใจทำต่อไปอีก เกิดปีติและสุข
ความเบาสบาย โปร่งเบา
เพ่งเผาต่อไป ไม่ติดในสุขทุกข์ เบาสบาย
ทำความเพียรไม่หยุด ถึงแม้จะได้ปีติสุขแล้ว
ไปละความพอใจไม่พอใจได้
เพ่งเผาต่อไปอีกจนจิตนิ่งสงบ เฉย
มีสติและอุเบกขา เป็นฌาณที่สี่
ในที่สุดตัวทุกขังก็เป็นตัวสมาธิ ด้วยประการฉะนี้