คลิปนวัตกรรมแห่งสติ๔๘ ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคมฯ (ศูนย์ ๒ ปทุมธานี) วันที่ ๒ – ๘ สิงหาคม (เย็น ๓ สิงหาคม ๖๐) โดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
ยิ่งเรียนมากยิ่งรู้ยาก
ผู้ที่สนใจการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่
เป็นพวก intellectual หรือปัญญาชน
แต่คนธรรมดาที่จบป.๔ ถ้ามีจิตใจซื่อตรง
มีความคิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
ก็จะเข้าใจได้เร็วเช่นกัน
นักปราชญ์ชาวบ้าน ใช้ปัญญาจากประสบการณ์
ศึกษาซื่อๆ ตรงๆ ชัดๆ
บางทีเราเรียนรู้อะไรเยอะๆ อาจจะสับสน
เพราะใช้ความคิดแทนความรู้
คนที่มีการศึกษาสูงจิตใจอาจจะบิดเบี้ยว
ไปตามสมมติ ตามภาษา
กลายอุปสรรคอย่างมากในการปฏิบัติ
นั่งสมาธิแช่นานๆอาจกลายเป็นอัมพฤกษ์ได้
คำถาม:
๑. การรู้เฉยๆ กับการรู้หนักรู้เบาต่างกันอย่างไร?
การรู้หนักเบาเป็นการตัดสินหรือไม่?
๒. เมื่อปฏิบัติใหม่ๆ นั่งสิบห้านาทีก็รู้สึกว่าหนัก
ปฏิบัตินานเข้าไม่รู้สึกหนักเลย
ใช่ความรู้สึกเฉยๆหรือไม่?
ตอบคำถาม:
๑. น้ำสองแก้ว แก้วหนึ่งเป็นน้ำธรรมดา
อีกแก้วหนึ่งเป็นน้ำที่มีสี ย่อมไม่เหมือนกัน
๒. ที่จริงยังมีความเจ็บปวดอยู่
แต่จิตของเราไม่ได้ไปใส่ใจตรงนั้น
นั่งตอนแรกยังไม่ได้สมาธิ เวทนามันแรง
พอได้สมาธิจิตสงบ สารเอนโดรฟินหลั่ง
ทำให้อาการเจ็บปวดหายไป
เรามักคิดว่าได้สภาวะ
แต่ความจริงเป็นกฎธรรมชาติของร่างกาย
ทำหน้าที่ปกป้องตัวเองไม่ให้เซลถูกทำลาย
แต่สารเอนโดรฟินในร่างกายมีไม่มาก
ไม่ใช่นั่งแล้วจะเบาทุกครั้งไป
แสดงว่าสารเอนโดรฟินถูกใช้ไปเยอะแล้ว
ถ้าทำบ่อยๆ ต่อไปอาจกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
กลายเป็นนิมิต เป็นอารมณ์ของสมถะไป
แช่กิเลสให้ตายแต่คนจะตายก่อน
ถ้าเป็นวิปัสสนา
ความรู้สึกเฉยๆ เป็นอาการของนาม
ความรู้สึกหนักเบาเป็นอาการของรูป
เราต้องพอกพูนความรู้สึกเฉยๆ ให้เข้มแข็ง
เพื่อเปลี่ยนอาการของรูปให้เป็นอาการของรูปนาม
ไม่ให้เป็นนามรูป
แต่ถ้าตัวเฉยๆ ไม่เข้มแข็ง
มันก็ไม่สามารถสกัดทุกขเวทนาที่อยู่ในรูปได้นาน
อาการทุกขเวทนาของรูปก็จะไหลไปสู่นาม
เป็นนามรูป ซึ่งเป็นสมุทัย
การปฏิบัติจึงไม่ควรแช่อยู่ในอาการหนัก
และจมอยู่ในอาการเบา
ซึ่งจะนำไปสู่ความเพลิน ความพอใจ เป็นสมุทัย
การแช่อยู่ในอาการหนักเพื่อให้กิเลสมันตาย
กิเลสมันไม่ตายแต่เราจะตายก่อนทีละนิด
เป็นการปฏิบัติแบบสุดโต่ง
หนักเบาเป็นเพียงอาการของรูป
ถ้าเราไปกดทับอาการหนักเบานานๆ
ทำให้จิตแปรปรวนเกิดเป็นนิมิตสีแสง เบาผิดปกติ
เป็นอาการที่จิตถูกบังคับจึงต้องหาทางออก
เกิดความลึกลับซับซ้อนทางอารมณ์ขึ้นมา
ทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าได้สภาวะ
สติจับขโมยปัญญาจับโจร
ถ้าเป็นวิปัสสนา ทุกอย่างเพียงแค่รู้แล้วผ่าน
อันไหนที่ผิดทำแล้วหนักก็ต้องแก้ไข
อันไหนที่ถูกมันเบาก็ทำต่อไป
เหมือนเราอยู่บ้านถึงจะไม่มีอาวุธ
ขโมยก็ไม่กล้าเข้ามา
สติเฝ้าดูกายอยู่
ความคิดปรุงแต่งคือขโมยก็ไม่กล้าเข้ามา
ยกเว้นความคิดและอารมณ์ที่เป็นโจร
ความคิดบางอย่างทั้งๆ ที่เรารู้สึกตัว
มันก็ยังกล้าเข้ามา
เป็นเหมือนโจรปล้นฆ่าไม่ใช่ขโมยธรรมดา
เราจำเป็นต้องมีอาวุธคือปัญญา
รู้เฉยๆ ป้องกันขโมยธรรมดา
ประเภทลักเล็กขโมยน้อย
ที่เป็นความคิดเล็กๆ น้อยๆ
พอเห็นความรู้สึกตัวก็หลบแล้ว
บางคนสร้างกรรมไว้เยอะ
มีแต่โจรใหญ่ๆ เป็นเจ้ากรรมนายเวร
พอรู้ว่าเรามาเจริญสติ มันจะล็อคคอกลับบ้าน
มาถึงยังไม่ทันค้างคืนก็กลับบ้านไปแล้ว
ถ้าเอาโทรศัพท์ให้ตอนลงทะเบียนแต่แรก
โจรก็ตามมาไม่ทัน
สติสัญชาตญาณเหมือนผู้พิพากษารับสินบน
เวลาเดินรู้สึกตัวหนักเบา
โดยไม่ได้ตั้งใจให้หนักเบา
เป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือไม่?
ความรู้สึกเฉยๆ ต่างจากความรู้สึกหนักเบา
ความรู้สึกหนักเบาเราเจาะจงรู้เฉพาะกาย
แต่ความรู้สึกเฉยๆ ต้องรู้ทั้งกายและใจ
เราก็มาดูกายว่ามีความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
และสังเกตจิตด้วย จิตรู้สึกพอใจไม่พอใจ
กับอาการของกายหรือไม่
มองให้ชัดว่าร่างกายบอกว่าอย่างนี้
จิตจะว่าอย่างไร
สมมติให้เป็นคน
กายกับใจเหมือนคนสองคนเดินไปด้วยกัน
ผู้รู้เป็นผู้คอยตรวจสอบว่ากายกับใจเอาเปรียบกันหรือไม่
บางทีกายเบียดเบียนใจ เช่น ทำอะไรเกินจนใจรับไม่ได้
บางทีใจเบียดเบียนกาย เช่น กายอิ่มแล้ว
ก็ยังกินต่ออีกด้วยความอยาก ทำให้กายอึดอัด
ผู้ตัดสินคือความรู้สึกเฉยๆ คอยห้ามใจไม่ให้กินเยอะ
เดี๋ยวกายจะลำบากต้องปวดท้อง
คอยไกล่เกลี่ยให้ความเป็นธรรม
เหมือนเป็นผู้พิพากษาที่ไม่รับสินบน
คู่กรณีคือกายกับใจ
ถ้ายังไม่เป็นสัมมาสติหรือสัมมาญาณ
ก็ยังเป็นผู้พิพากษาไม่ได้
สติโดยสัญชาตญาณเหมือนผู้พิพากษาที่ยังรับสินบนอยู่
เข้าข้างกายบ้าง เข้าข้างใจบ้าง เข้าข้างกิเลสบ้าง
ไม่ซื่อตรง เป็นผู้พิพากษาที่ไม่มีธรรมะ
มองแบบนี้แล้วการปฏิบัติก็จะสนุก
ดูว่าเราเป็นผู้พิพากษาที่ถูกต้องซื่อตรงหรือไม่
เฉยมองหรือเฉยเมย
คำถามที่ว่าความรู้สึกหนักเบา
ต้องใช้ความคิดเปรียบเทียบตีความว่าหนักเบาอยู่
จะรู้สึกหนักเบาโดยที่ไม่ต้องตัดสินได้หรือไม่?
การรู้หนักเบาไม่ถือว่าเป็นการตัดสิน เพราะรู้เฉยๆ
แต่ถ้าเราไปยินดี เบาก็ชอบ หนักก็ไม่ชอบ
ถึงจะเป็นการตัดสิน
รู้เฉยๆ แบบถูกต้อง เรียกว่าเฉยมอง
มองดูว่าอะไรจะเกิด เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
รู้เฉยๆ แบบไม่ถูกต้อง เรียกว่าเฉยเมย
อะไรเกิดขึ้นฉันก็ไม่สน เป็นอุเบกขาเวทนา
อุเบกขามีสองอย่าง
อุเบกขาที่เป็นสังขารคือเฉยเมย ยังเป็นเวทนาอยู่
และอุเบกขาที่รู้เฉยๆ แต่มองอยู่ เรียกว่า stand by
พร้อมจัดการทันทีที่มีอะไรเกิดขึ้น
เป็นอุเบกขาแบบเฉยมอง
เหมือนยามสะพายปืนเดินไปเรื่อย
พอมีอะไรเกิดขึ้นก็เข้าชาร์จทันที
เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
เดินจงกรมต้องมีเกียร์ถอยหลัง
การบริหารสติสัมปชัญญะมีหกชุด
ชุดที่หนึ่งลมหายใจอานาปานสติสิบหกขั้น
ชุดที่สองคือเรื่องของอิริยาบถสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน
ชุดที่สามเป็นอิริยาบถย่อย สัมปชัญญะปัพพะ มีเจ็ดชุด
๑. เดินก้าวหน้าถอยหลัง
๒. เหลียวซ้ายแลขวา
๓. ยกมือเข้าออก หลวงพ่อเทียนนำมาดัดแปลงเป็นการสร้างจังหวะมือ
๔. การแต่งตัว
๕. การอาบน้ำ ขับถ่าย
๖. การดื่มน้ำ การรับประทานอาหาร
๗. การไปการมา การนิ่ง การหลับ การตื่น การพูด ฯลฯ
“อะภิกกันเต ปะฏิกกันเต สัมปะชานะการี โหติ”
การเดินจงกรมก้าวหน้าและถอยหลัง
ถ้าเดินก้าวหน้าและหันหลังกลับ
ถือว่ายังก้าวหน้าอยู่ ยังเป็น “อะภิกกันเต”
แต่ถ้าเป็น”ปะฏิกกันเต”
จะต้องเดินถอยหลังทางเดิมโดยไม่หันกลับ
ที่เราเดินจงกรมกันส่วนใหญ่จะก้าวไปข้างหน้าตลอด
ไม่มีเกียร์ถอย เหมือนขับรถไปข้างหน้าอย่างเดียว
การเดินจงกรมจึงต้องมีเกียร์ถอยด้วย
ยกมือคือลมหายใจ
ทุกครั้งที่ยกมือสร้างจังหวะ
ให้คิดว่าการยกมือสร้างจังหวะคือลมหายใจ
เพราะลมหายใจละเอียดเกินกว่าที่จะตามรู้ได้ชัดเจน
ดูไปดูมาก็อาจจะหลงหลับได้
บางทีลมหายใจหายไปเลย
เพราะมันละเอียดเกินไป
ทางที่ปลอดภัยที่สุดคือการยกมือสร้างจังหวะ
ตราบใดที่ยกมืออยู่
จิตจะสามารถสัมผัสได้ทุกขณะ
แม้ว่าจะทำไม่ได้แต่ก็ฝึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกสนุก
ถึงแม้จะช้าในตอนแรกต่อไปจะไวขึ้น
หรี่สติเพิ่มความคิด
เมื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
กับการเคลื่อนไหวเป็นอันเดียวกัน
เรียกว่าสติสัมปชัญญะเข้มแข็งสมบูรณ์ขึ้น
ความคิดก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ
ไม่ต้องไปไล่มัน
เหมือนสวิตช์ไฟที่ค่อยๆ หมุนสว่างขึ้นและเฟดลง
ไม่ใช่กดเปิดปิดเท่านั้น
ลักษณะสติก็เป็นแบบนั้น
ถ้าเราหมุนกำลังสติสัมปชัญญะลดลง
ความคิดและอารมณ์ก็จะค่อยๆ เข้ามาแทนที่
แต่พอเราหมุนกำลังสติสัมปชัญญะให้สว่างขึ้น
ความคิดและอารมณ์ก็จะห่างออกไป
ความรู้สึกตัวตามธรรมชาติเป็นสัญชาตญาณ
ความคิดและอารมณ์เป็นเหมือนเงามืด
ถ้าใครยังมีความคิดและอารมณ์อยู่มาก
หมายความว่ากำลังสติสัมปชัญญะ
ที่เป็นเหมือนแสงสว่างยังไม่พอ
จะต้องเพิ่มแรงเทียนคือกำหนดรู้ให้ถี่ขึ้น
ยิ่งความถี่ของสติสูง แรงเทียนก็สูงขึ้น
ไฟก็ยิ่งสว่าง เราต้องทำความถี่นี้ให้เสถียรขึ้น
รู้เฉยๆต่างกับรู้หนักเบาอย่างไร?
ความรู้สึกตัวเฉยๆ กับความรู้สึกตัวหนักเบา
ต่างกันอย่างไร?
ความรู้สึกเฉยๆ แบบรู้เนื้อรู้ตัวและไม่ตัดสิน
เฝ้าดูเฉยๆ เป็นไตรสิกขา
แต่การที่เข้าไปรู้และตัดสินว่าหนักเบา
ชอบไม่ชอบ เป็นไตรลักษณ์
การรู้เฉยๆ เฝ้าดูเป็นผู้รู้ มีสติสัมปชัญญะ
เป็นไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา
ขึ้นอยู่กับตัวรู้ตัวเดียว
ถ้าตัวรู้ชัดเจน ละเอียด ทั่วพร้อม
จะรวมศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในตัว
ทำงานพร้อมกันไปเลย
ศีล สมาธิ ปัญญา รวมอยู่ที่ตัวรู้ตัวเดียว
ถ้ามีตัวรู้ที่ชัดเจน ละเอียด รู้ตัวทั่วพร้อม
แต่ถ้าตัวรู้ไม่ชัดเจน ไม่เข้มแข็ง
รู้แบบตอบสนองความอยาก
รู้แบบตัดสิน มีเรามีเขา
ตัวรู้แบบนี้เป็นสติโดยสัญชาตญาณ
ซึ่งเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้ารู้การเปลี่ยนแปลงของรูปคือหนักเบา
เป็นการรู้กฎของไตรลักษณ์
ตัวรู้นี้ยังเปลี่ยนแปลงแปนปรวนได้อยู่
ยังมีการยึดอาการว่ารูปเป็นของเรา หนักเป็นของเรา
รู้ว่าเราหนักเบาเป็นไตรลักษณ์
รู้หนักเบาเฉยๆ โดยไม่สำคัญมั่นหมาย
ว่าอาการหนักเบาเป็นเรา เป็นไตรสิกขา
ถ้าอาการหนักเกินก็เข้าไปจัดการ
ให้อยู่ในขอบเขตที่ร่างกายพอทนได้
ถ้าหนักเกินจนทนไม่ได้
ต้องปรับเอาความรู้สึกหนักออกไป
เพื่อไม่ให้เศษที่เหลือของอาการหนักเข้าไปสู่จิต
ถ้ามันเข้าไปสู่จิตได้
จิตก็จะแปลงเป็นความรู้สึกไม่พอใจ ไม่ชอบใจ
เป็นสมุทัยของทุกข์
ถ้าไม่มีความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ
กับอาการหนักเบาทางกาย เรียกว่ารู้เฉยๆ
แต่ถ้าอาการหนักเบาไปก่อให้เกิดความพอใจไม่พอใจ
เรียกว่ารู้ไม่เฉยแล้ว
เพราะมันกลายไปเป็นความพอใจไม่พอใจ
เป็นอาการของสมุทัย หรือของทุกข์
ความรู้สึกเคลื่อนไหวกับความรู้สึกหนักเบาต่างกันอย่างไร?
การเคลื่อนไหวมีสี่ระดับ
๑. การเคลื่อนไหวของกาย
๒. การเคลื่อนไหวของเวทนา
๓. การเคลื่อนไหวของจิต
๔. การเคลื่อนไหวของอารมณ์
รู้การเคลื่อนไหวทั้งสี่ระดับ
เป็นอาการของไตรสิกขา
แต่ถ้ารู้การเคลื่อนไหวหนักเบาเฉยๆ
เป็นอาการของกายมิติเดียว ยังเป็นไตรลักษณ์อยู่
เพราะเป็นการเคลื่อนไหวของรูป
ถ้ารู้การเคลื่อนไหวของกาย เวทนา จิต ธรรม ครบ
เกิดความสมดุล
จิตของเราจะไม่เกาะเกี่ยว
อยู่กับการเคลื่อนไหวอันใดอันหนึ่ง
เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่เรา
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นการเคลื่อนไหวไม่ใช่เรา
อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย
เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของอารมณ์ไม่ใช่เรา
ดูว่าทั้งหมดเป็นอาการของการเคลื่อนไหว
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เข้าไปสำคัญว่าเป็นเรา
ก็จะเป็นไตรสิกขา
พาหิยทารุจีริยะพระอรหันต์จำเป็น(๑)
ในแง่ของอารมณ์ปฏิบัติ
อยากให้สื่อความหมายของคำว่ารู้เนื้อรู้ตัวให้ขึ้นใจ
เพราะเป็นความรู้ สักแต่ว่ารู้
ในวิธีการหลวงพ่อเทียน คนที่รู้แบบนี้ไม่ถึงชั่วโมง
บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้เร็วที่สุด
ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
คนนั้นชื่อว่า “พาหิยทารุจีริยะ”
ในอดีตชาติเขาเคยบำเพ็ญเพียรมาก่อน
ต่อมาเกิดเป็นเพลย์บอยลูกเศรษฐี
ไปข่มขืนและฆ่าเขาตาย
ในสมัยพระพุทธเจ้าท่านเกิดมาเป็นลูกพ่อค้า
ไปค้าขายทางเรือสำเภา
เกิดพายุเรืออับปาง ลูกเรือตายหมด
ท่านมีบารมีไม่ตายไปติดที่หมู่บ้านหนึ่ง
ไม่มีเสื้อผ้าเหลือแต่ตัวล่อนจ้อน
ในสมัยนั้นมีนิกายหนึ่ง
นับถือว่าถ้าใครแก้ผ้าได้เป็นพระอรหันต์
คนจึงพากันมาบูชาท่าน
เพราะคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์
ท่านเลยตกกระไดพลอยโจนต้องตั้งสำนัก
แต่ในใจลึกๆ ท่านรู้ว่ามันไม่ใช่
เป็นการหลอกลวงชาวบ้าน
ต่อมาได้ข่าวว่ามีพระอรหันต์ตัวจริงเกิดขึ้น
ท่านจึงต้องการหนีออกจากสำนัก
เพื่อไปพบพระอรหันต์ตัวจริง
ท่านต้องการไปถามพระพุทธเจ้าว่า
ความเป็นอรหันต์ดีอย่างไร?
คนจึงได้พากันมากราบไหว้บูชา
และจะเข้าถึงได้อย่างไร?
พาหิยทารุจีริยะพระอรหันต์จำเป็น(๒)
ท่านหนีออกจากสำนักตอนกลางคืน
และไปถึงสำนักเชตวันตอนเช้า
ท่านได้พบพระพุทธเจ้าขณะที่กำลังจะไปบิณฑบาตร
ท่านถามพระพุทธเจ้าว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร?
พระพุทธเจ้าให้รอพระองค์บิณฑบาตรกลับมาก่อน
แต่ท่านพาหิยทารุจีริยะ ก็ยังตามซักถามอยู่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าจึงตรวจสอบวาระจิต
พบว่าท่านเคยบำเพ็ญสมถะมานานจึงได้เป็นเช่นนี้
แต่ท่านอยู่ในวิสัยที่จะบรรลุธรรมได้
พระพุทธเจ้าจึงตอบว่า ดูก่อนพาหิยทารุจีริยะ
ภาวะที่เห็นอะไรสักแต่ว่าเห็น ไม่ไปปรุงแต่งในสิ่งที่เห็น
ได้ยินอะไรก็ตามสักแต่ว่าได้ยิน
ไม่ปรุงแต่งในสิ่งที่ได้ยินว่าดีหรือไม่ดี
รู้อะไรสักแต่ว่ารู้ ไม่ต้องคิดว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด
นี้คือสภาวะของผู้เป็นพระอรหันต์
ไม่มีข้างหน้า ไม่มีข้างหลัง ไม่มีข้างบน ไม่มีข้างล่าง
ไม่มีที่ไป ไม่มีที่มา จบ ณ ปัจจุบัน
พาหิยทารุจีริยะพระอรหันต์จำเป็น(๓)
ท่านพาหิยทารุจีริยะฟังแล้วเข้าใจทันทีจึงขอบวช
พระพุทธเจ้าจึงให้ไปหาผ้าจีวรมา
ผ้าในสมัยนั้นหาได้สองที่คือที่กองขยะและที่ป่าช้า
ท่านพาหิยทารุจีริยะไปหาผ้าที่กองขยะ
มีวัวแม่ลูกอ่อนหากินอยู่แถวนั้น
ลูกวัวเข้ามาเล่นกับท่าน
แม่วัวนึกว่าคนจะมาทำร้ายลูก
จึงวิ่งมาขวิดท่านอย่างแรงจนล้มลง
ท่านไม่มีอาการทุรนทุราย
ได้แต่พิจารณาว่าเป็นวิบากกรรม
จนสิ้นลมไปอย่างสงบ
เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากบิณฑบาต
พระองค์ทราบเรื่องและตรัสว่าเขาได้บรรลุธรรมแล้ว
จึงมีผู้ถามว่าทำไมผู้บรรลุธรรมแล้ว
ยังต้องพบชะตากรรมเช่นนี้
พระพุทธเจ้าจึงเล่าวิบากกรรมในอดีตชาติของเขาให้ฟัง
ว่ามีที่มาอย่างไร
นี่คือตัวอย่างถึงการรู้ซื่อๆ เห็นซื่อๆ ได้ยินซื่อๆ
เราเจริญสติเพื่อให้สติตั้งมั่น
สิ่งกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ก็จะไปตั้งอยู่ที่สติก่อน
เครื่องกรองน้ำปัญญาญาณ
สติเป็นตัวกรองเมื่อมีการกระทบ
ตัวรู้สึกจะสะอาด
จากสัญชาตญาณกลายเป็นปัญญาญาณ
จากน้ำบ่อที่ไม่สะอาด นำมากรอง
เครื่องกรองอย่างดีจะมีชั้นหินแร่
จากน้ำขุ่นออกมาเป็นน้ำใสและมีแร่ธาตุ
สัญชาตญาณคือน้ำดิบ
สติสัมปชัญญะและปัญญาเหมือนเครื่องกรอง
กรองออกมาเป็นน้ำใสสะอาดคือจิตที่บริสุทธิ์
สตินั้นต้องเป็นสติที่เป็นปัญญาญาณ
กรองสี่ชั้น
ชั้นที่หนึ่งคือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ชั้นที่สองคือเวทนานุปัสสนา
ชั้นที่สามคือจิตตานุปัสสนา
ชั้นที่สี่คือธัมมานุปัสสนา
แต่ละชั้นก็มี sub filter ละเอียดลงไปอีก
เช่น กายานุปัสสนามีสิบหกชั้นกรอง
เวทนานุปัสสนามีเก้าชั้นกรอง
จิตตานุปัสสนามีสิบหกชั้นกรอง
ธัมมานุปัสสนามีเยอะกว่านั้นอีก
น้ำดิบเหมือนอกุศลธรรม
ผ่านเครื่องกรองกลายเป็นกุศลจิต
น้ำดิบเหมือนบาป กรองออกมาแล้วกลายเป็นบุญ
กุศลและอกุศลจึงเกิดจากน้ำเดียวกัน
กุศลผ่านการกรองของสติปัฏฐาน
การที่เราคิดอกุศลต่างๆ
แสดงว่าเครื่องกรองเราไม่ดี
เสียงขุ่นมาเราก็ขุ่นไป ไม่ได้กรอง