Skip to content
ถอดพระธรรมเทศนา นวัตกรรมแห่งสติ๔๗ (เช้า ๓ ส.ค. ๖๐) ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคมฯ (ศูนย์ ๒ ปทุมธานี) วันที่ ๒ – ๘ สิงหาคม โดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
ถ้าเรามีชีวิตอยู่
แต่กายกับใจไม่ได้อยู่ด้วยกัน
เราตายหรือเราทุกข์?
ถ้ามันไปอย่างถาวรเราตาย
ถ้ามันไปๆ มาๆ เราทุกข์
เมื่อธาตุขันธ์ยังไม่แตกดับ
มันก็ไปๆ มาๆ ทำให้เราทุกข์
ความตายมีสองลักษณะคือ
ตายจากธาตุและตายจากขันธ์
ตายจากธาตุหมายความว่า
ธาตุสี่แยกจากกันคนละทาง
ตายจากขันธ์หมายความว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
หมายความว่ารูปกับเวทนาอยู่ด้วยกัน
แต่สัญญา สังขาร วิญญาณ คิดไปที่อื่นแล้ว
จึงเป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราเข้าไปยึดไม่ได้
เพราะ “รูปังอนิจจัง”
มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เราเกิดอุปาทานขันธ์ห้ายึดว่าเป็นของเรา
เพราะเห็นใจเป็นเรา
รูปังอนิจจัง กายยึดไม่ได้
เพราะไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน
แต่ที่เราไปยึดเพราะเห็นว่ามีตัวตน
ความจำ ความรู้สึกก็ไม่เที่ยง
สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง ยึดไม่ได้
เพราะมันไม่มีตัวตน
แต่ที่เราไปยึดเพราะเราสำคัญว่ามีตัวตน
เราไปค้านกับคำสอนของธรรมชาติ
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไปค้นพบแล้วมาบอกเรา
ถ้านำคำสอนมาใช้จึงเรียกว่าคำสอน
ถ้าไม่นำมาใช้ไม่เรียกว่าคำสอน
ถ้าเราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็ไม่มีทุกข์
เรามีทุกข์เพราะเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าบอกว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ไม่มีตัว
แต่เราก็อยากให้มันเที่ยง
อยากให้ลูก สามี ภรรยาอยู่กับเรานานๆ
แต่ทั้งลูก ภรรยา สามี ไม่เที่ยง
เขาอยู่กับเรานานไม่ได้
กลับไปบ้านสามีไปกับคนอื่นแล้ว
ธรรมะที่ฝึกมาเจ็ดวันหายหมดเลย
เพราะเราไม่ได้เชื่อพระพุทธเจ้าสักนิดเดียว
ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า สามีหนีไปกับคนอื่น
ขออนุโมทนาสาธุ ยิ้มร่าหัวเราะ ฉันเป็นอิสระแล้ว
สาธุ แถมบ้านให้อีกหลังหนึ่งเลย จะได้บวชเสียที
เราไม่ได้เชื่อพระพุทธเจ้า
จนกว่าเราจะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสอนตัวเองได้
คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นคำสอนของเราเอง
เรามาปฏิบัติเพื่อแปลงคำสอนของพระพุทธเจ้า
มาเป็นคำสอนตัวเอง สอนใจตัวเองได้
อันนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ถ้าไม่นำมาใช้ก็ไม่เรียกว่าคำสอน
ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้าว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง
เราก็จะไม่ทุกข์
ทุกข์ในส่วนที่ดีคือทำให้เราได้ศึกษา ได้เรียนรู้
เราเลือกในส่วนที่ดีของมัน
คุณลักษณะของไฟมีสองอย่าง
คือความร้อนและแสงสว่าง
ในส่วนที่เป็นความร้อน
ถ้าเราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่มันเกิดขึ้น
แสดงว่ามันเป็นของเสียเพราะเราไม่ต้องการ
เราต้องการความร้อนเพื่อหุงข้าวต้มแกงเท่านั้น
พอเสร็จแล้วก็ปิด
แต่เราขึ้นมาที่ห้องนี้ เราต้องการแสงสว่าง
ถ้าเกิดความร้อนเรารับไม่ได้ ต้องติดแอร์
เปลี่ยนความร้อนเป็นความเย็น
การที่เราศึกษาเพื่อที่จะเปลี่ยนมันได้
นำมาใช้อย่างที่เราต้องการ
ทุกข์จึงต้องศึกษา
เพราะทุกข์เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง
เป็นของกลางๆ ไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของเสีย
มันจะดีจะเสียอยู่ที่เราใช้ได้หรือไม่ได้
ทุกข์จึงต้องกำหนดรู้ ทุกข์ต้องละ
แต่เรากลับหนีจากทุกข์
อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะดับทุกข์
เป็นการทวนกระแสพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าบอกให้ศึกษาเรียนรู้วิจัย
แต่เราอยากจะดับในส่วนที่เราไม่ต้องการ
และใช้ในส่วนที่ต้องการ
โดยแปลงความทุกข์มาเป็นแสงสว่าง
ของญาณปัญญา สติ สัมปชัญญะ สมาธิ
ส่วนใหญ่เรามักจะแปลงทุกข์
เป็นตัณหาอุปาทาน ราคะ โทสะ โมหะ
ซึ่งมันจะกลายเป็นความร้อน
เมื่อเราแปลงราคะ โทสะ โมหะ
เป็นศีล สมาธิ ปัญญา
ก็จะกลายเป็นแสงสว่าง
เราใช้ทุกข์ได้สองวิธี
บางครั้งจำเป็นต้องใช้ความร้อน
บางครั้งต้องใช้แสงสว่าง
ถ้าเราต้องการใช้ความร้อนหุงข้าว
แต่เตาเสีย มีเพียงแสงสว่างจากหลอดไฟ
บางครั้งเราต้องการแสงสว่างจากหลอดไฟ
แต่มีเพียงความร้อนจากหม้อหุงข้าว
ในสิ่งเดียวกัน อันไหนที่ใช้ไม่ได้ ถือว่ามันเสีย
อันไหนที่ใช้ได้ถือว่าเป็นคุณ
ทุกข์ต้องรู้ต้องศึกษา
เพื่อใช้ในส่วนที่เป็นคุณ
และละในส่วนที่เป็นโทษ
เมื่อทุกข์เปลี่ยนเป็นตัณหา
กลายเป็นสมุทัยที่ต้องละ
เราต้องการเปลี่ยนราคะ โทสะ โมหะ
จากความร้อนให้เป็นแสงสว่าง
เปลี่ยนราคะเป็นศีล
เปลี่ยนโทสะเป็นสมาธิ
เปลี่ยนโมหะเป็นปัญญา
ซึ่งการที่จะเปลี่ยนได้นั้นเราต้องไปจ้างช่าง
แต่ถ้าเราเป็นช่างเองก็จะสบายกว่า
แสงอาทิตย์มีทั้งคุณและโทษ
มีคุณคือเราเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์ได้
เช่น ใช้ผลิตพลังงานโซล่าร์เซล
ใช้ตากอาหารให้แห้ง
ในยุโรปแสงสว่างและความร้อน
มีคุณค่ากว่าบ้านเรา
สามารถเปลี่ยนหญ้าให้เป็นเนื้อสัตว์
นำมาบริโภคได้ แต่มันก็ยังมีเชื้อโรคอยู่
ถ้าเราแปลงวัตถุดิบ
คือกายล้วนๆ จิตล้วนๆ เป็นสังขาร
มันก็จะมีเชื้อ เหมือนเปลี่ยนหญ้ามาเป็นเนื้อ
จิตล้วนๆ ที่ยังไม่แปลงเป็นสังขาร
จิตนั้นจะแปลงเป็นปัญญาหรือตัวรู้ได้
ถ้าตัวรู้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นอวิชชา
ก็จะก่อให้เกิดอดีต อนาคต
ถ้าเราไม่รักษาตัวรู้
มันก็จะไหลไปกับอดีตอนาคต
ถ้าเทน้ำใส่ขวดที่ยังไม่ได้เปิดฝา
น้ำจะไหลเข้าขวดไม่ได้
มันจะไหลลงซ้ายขวาทันที
ถ้าไม่ให้น้ำไหลไปซ้ายขวาก็ต้องเปิดฝาขวด
มาปฏิบัติถ้าใจเราไม่เปิด
สิ่งที่หลวงพ่อพูดไปจะกลายเป็นความคิด
ซึ่งเป็นอดีตอนาคต
แต่ถ้าใจเราเปิดสิ่งที่หลวงพ่อให้
มันจะไม่ลงซ้ายลงขวา
มันจะลงตรงกลาง ณ ปัจจุบัน
เทลงมาเท่าไรเก็บได้หมด
บางคนมาปฏิบัติเจ็ดวันไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แถมวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิอาจารย์อีก
แสดงว่าใจยังไม่เปิด
ความผิดอยู่ที่อาจารย์หรืออยู่ที่ใจเรา?
ถ้าเราไม่ได้เปิดใจ
ฝนตกทั้งวันไม่ได้น้ำฝนแม้แต่เม็ดเดียว
เพราะลืมเปิดฝาตุ่ม
สิ่งแรกคือเปิดใจรับรู้อยู่กับปัจจุบัน
ถ้าใจไม่อยู่กับปัจจุบัน
มันจะไหลไปอยู่กับอดีตอนาคต เพราะมีอุปาทาน
สำคัญว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร เป็นเรา
เมื่อมีเราก็ต้องมีเขา
สัญญาเป็นอดีต สังขารเป็นอนาคต
เราต้องกลับมาอยู่กับเวทนา ให้สติรู้อยู่กับเวทนา
เวทนาจึงเป็นรูปกับนาม ความรู้สึกทั้งกายทั้งใจ
พอหลุดจากเวทนากลายเป็นสัญญา
สัญญานึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ปิดประตู
สังขารเกิดความกังวล ต้องขอโทรศัพท์กลับบ้าน
เพื่อนบ้านบอกว่าปิดแล้ว ฉันลืมไป
เป็นสัญญาอนิจจา ทั้งที่ปิดแล้วบอกว่ายังไม่ได้ปิด
เราไปยึดว่าความจำนั้นเป็นเรา
มันไม่เที่ยง มันลืมไปแล้ว
เพราะร่างกายเริ่มแก่ความจำเริ่มเสื่อม
“วะยะธัมมา สังขารา” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
เปลี่ยนแปลงเสื่อมไปตลอดเวลา
หน้าที่ของเราคือ “อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ”
ต้องเจริญสติให้ถึงพร้อมตลอดเวลา
เป็นคำสั่งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า
“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ”
บัดนี้สุดท้ายแล้ว ขอเตือนว่าสังขารไว้ใจไม่ได้
มันเป็นทั้งขยะ(เสื่อม)และวะยะ(สิ้น)
หมายความว่ามันเป็นอนิจจังและอนัตตา
สังขารทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของอนิจจังและอนัตตา
ผลออกมาเป็นทุกขัง
พอเรามีสติบริหารอนิจจัง อนัตตา ได้ถูก ทุกขังก็ไม่มี
เพราะเราเปลี่ยนอนิจจังเป็นสติ
เปลี่ยนอนัตตาเป็นปัญญา
เปลี่ยนทุกขังเป็นสมาธิ
ร่างกายเป็นสังขารโดยธรรมชาติ มันต้องเสื่อม
ความจำ สติปัญญาต้องเสื่อม
ทำอย่างไรให้มันเสื่อมช้าที่สุด เราต้องไม่ประมาท
โดยการบริหารออกกำลังกายทุกวัน
เลือกรับประทานอาหาร เลือกอากาศที่ดี
มีการไหลเวียนโลหิตที่ดี
ก่อนที่จะมาปฏิบัติธรรม ร่างกายอาตมาเสื่อมทรุด
เป็นโรคนั้นโรคนี้หลายโรค
โรคหัวใจ โรคปลายประสาทเสื่อม
โรคกระเพาะ โรคภูมิแพ้ โรคไซนัส ฯลฯ
พอมาเข้าใจธรรมะแล้ว ไม่ใช้ว่ามันดีขึ้น
แต่มันรู้จักวิธีแก้ แก้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี ๓๐ จนถึงปัจจุบัน
โรคทุกโรคหายหมดยกเว้นภูมิแพ้
สิ่งที่หายยากที่สุดคือกรรมทายาท
เราได้วิบากกรรมมาจากพ่อแม่
เมื่อเราประมาทไม่ได้ออกกำลังกายต่อเนื่องมันก็จะเป็น
รูปังอนิจจัง ทำไมรูปจึงไม่เที่ยง?
ทำไมจึงเป็นอนัตตา?
คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้เลยคืออนิจจังและอนัตตา
แต่ทุกขังแก้ไขได้
เพียงแต่ทำอนิจจังและอนัตตาให้สมดุลกัน
ตัวทุกขังก็จะหายไป
ทุกขังเกิดขึ้นเพราะอนิจจังกับอนัตตาไม่สมดุลกัน
อนิจจังกับอนัตตา มาจากผลสองอย่าง
คือการเกิดและดับระหว่างอนิจจังและอนัตตา
คือความไม่เที่ยงและความไม่มีสาระแก่นสาร
ที่แท้จริง (ความแตกดับ)
ตัวไหนเป็นเกิด? ตัวไหนเป็นดับ?
เพราะต้นกำเนิดมาจากสองตัวนี้
ที่เรามาใช้คำว่าสสารกับพลังงาน
หรือโมเลกุลกับ Energy ในวัตถุ
ส่วนที่เป็นโมเลกุลเป็นตัวเกิด
Energyเป็นตัวดับ
รูปเป็นตัวเกิด นามเป็นตัวดับ
อนิจจังเป็นตัวเกิด อนัตตาเป็นตัวดับ
เราบริหารการเกิดดับในฐานะที่เป็นรูปและนาม
รูปมีสองอย่างคือ รูปที่เป็นธาตุและรูปที่เป็นขันธ์
รูปที่เป็นธาตุหมายถึงธาตุสี่ที่เรานั่งได้
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
ถ้าเราไม่มีจิตไปรับรู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นี้
ก็จะไม่มีผลให้เราสุขเราทุกข์
เช่น เก้าอี้ เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมัน
ถ้ามันเสื่อมเราก็ไม่เป็นทุกข์ไปกับมัน
แต่ถ้าขาเสื่อมเราเป็นทุกข์
เพราะมันมีนามอยู่ มีความรู้สึก
แต่เก้าอี้เราไม่ได้รู้สึกอะไรกับมัน
ขาเก้าอี้จะหักอย่างไร
เราก็ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับมัน
แต่ถ้าขาเราหักก็เป็นเรื่อง เพราะเรามีนาม
นามเป็น Energy นามจึงเป็นขันธ์
ความรู้สึกตัวเรียกว่าขันธ์
แต่ตัวธาตุดินน้ำลมไฟ เป็นธาตุ
บริหารธาตุขันธ์คือบริหารรูปนามกายใจ
ให้เป็นปกติ สบาย
ธาตุขันธ์จะสบายเป็นปกติเองไม่ได้
ต้องใช้ปัญญา
เราจึงต้องเจริญสติสัมปชัญญะให้มาก
เพื่อให้เกิดปัญญา
เอาปัญญาไปบริหารธาตุขันธ์ให้เป็นปกติ
โดยธรรมชาติมันผิดปกติ
เพราะมันเป็นอนิจจังและอนัตตาตลอดเวลา
แต่เราจะทำให้อนิจจังและอนัตตาเป็นปกติ
ต้องเปลี่ยนค่าของอนิจจังเป็นศีล
เปลี่ยนค่าของอนัตตาเป็นปัญญา
จะเปลี่ยนอย่างไรก็ต้องศึกษา
เรามาปฏิบัติเพื่อมาสร้างสติสัมปชัญญะให้มากที่สุด
เมื่อสติสัมปชัญญะคงที่ ปัญญาก็จะเกิดตลอด
บริหารธาตุขันธ์ได้สบาย ทุกข์ก็ไม่มี
เพราะสติสัมปชัญญะเป็นเชื้อเพลิงของปัญญา
ที่เราเห็นแสงสว่างมันต้องมีเชื้อเพลิง
สติสัมปชัญญะเหมือนถ่านหรือแก๊ส
ปัญญาเหมือนความร้อนหรือแสงสว่าง
ที่เรานำมาใช้
เราเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญา
นำปัญญามาใช้เป็นแสงสว่างและความร้อน
บางครั้งเราใช้ความร้อน บางครั้งใช้แสงสว่าง
แต่สติสัมปชัญญะต้องมีมากพอ
เพราะมันเป็นเชื้อเพลิง เป็นแหล่งพลังงาน
เหมือนแบตเตอรี่ขนาดใหญ่
ต้องเก็บสะสม(สแตนด์บาย)ไว้ตลอดเวลา
เพื่อจุดปัญญาพร้อมใช้งานได้ทันที
นี่เป็นกฎของธรรมชาติล้วนๆ
แต่เนื่องจากเราไม่ค่อยศึกษากำหนดรู้ในทุกข์
เราไปเป็นทุกข์เสียเอง
เพราะมีเราจึงเป็นทุกข์
แต่ถ้ามีแค่รูปกับนามเราจะไม่เป็นทุกข์
รูปต้องใช้สมมติ นามต้องใช้ปรมัตถ์
รูปนามหมายถึงคนทุกคน
ปรมัตถ์เป็นเพียงธาตุอันเดียวกันทั้งหมด
แต่พอเป็นสมมติกลายเป็นสิ่งของต่างๆ เช่นหนังสือ
สมมติแยกออกเป็นอีกหลายสมมติ
เช่น เป็นหนังสือสวดมนต์ เป็นต้น
และเป็นหนังสือสวดมนต์ของใคร
การปฏิบัติเราตั้งต้นที่ความรู้สึกตัว
ต่อไปความรู้สึกตัวจะขยายเป็นอะไรบ้าง
ขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของแต่ละคน
ถ้าเรามีสติปัญญารู้สมมติได้มากแค่ไหน
เราก็จะขยายใช้ตัวปรมัตถ์คือนามได้มากเท่านั้น
เราต้องบริหารสติสัมปชัญญะให้เป็นชีวิตจิตใจ
ไม่เช่นนั้นเราจะหลีกเลี่ยงความทุกข์ไม่ได้เลย
เหมือนเรารู้ว่าไฟอาจไหม้บ้านได้
ทุกอาคารจึงต้องติดถังดับเพลิง
เพราะเราเห็นคุณค่าของชีวิต
เรามาเจริญสติสัมปชัญญะมากๆ
เพื่อให้เกิดปัญญา
นำปัญญามาบริหารสิ่งที่เป็นธรรมชาตินี้
ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ชีวิตเราก็จะมีคุณค่า
ภายในเวลาเจ็ดวันนี้
ขอให้เราตั้งสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่อง
เพราะมันสำคัญมาก
กลับไปบ้านเราก็ไม่ได้มานั่งทำแบบนี้
ต้องบริหารสติสัมปชัญญะให้เกิดทุกเวลานาที
แต่ต้องทำให้เป็น
ถ้าทำแล้วเครียดแสดงว่าทำผิด
ต้องรีบหาสาเหตุอย่าปล่อยไว้
ถ้าทำไปแล้วรู้สึกสบาย รู้ตื่น เบิกบาน แจ่มใส
แสดงว่าถูกต้องแล้ว
ถ้าทำแล้วเครียดแสดงว่ายึดตัวรู้เป็นตัวตน
ตัวรู้เกิดแล้วต้องดับ
ถ้าไปยึดเป็นตัวตน เกิดแล้วไม่ให้ดับ
พยายามรักษาตัวรู้ไว้ตลอดเวลา
ประคองตัวรู้หนอ โยกหนอ นานเข้าไม่ไหว เครียด
ลืมรู้สึกตัวไปแล้วไม่เป็นไรตั้งสติใหม่ได้
เพราะมันเกิดก็ต้องดับ
เราทำให้มันเกิดแล้วมันก็ต้องดับไป
ลักษณะที่เราบริหารการเกิดดับ
จะกลายเป็นปัญญา
เหมือนไฟต้องมีเปิดปิด
เปิดนานเครื่องร้อนไหม้
ปิดนานจนเกินเวลาที่ต้องการจะใช้ก็ไม่ได้
แต่ให้เปิดเมื่อจำเป็นต้องใช้
ปิดเมื่อไม่ใช้ เรียกว่าปกติ
การบริหารความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
โดยใช้ธาตุลม
ระบบที่๑ ลมหายใจที่เข้าออกตามธรรมชาติ
อย่าหายใจทิ้ง ตามรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะรู้ได้
คนส่วนใหญ่หายใจทิ้ง เอาคืนมาไม่ได้
ต้องเปลี่ยนค่าลมหายใจ
เป็นสติ สมาธิ ปัญญา ได้เสมอ
ระบบที่ ๒ ลมหายใจที่ประยุกต์ใช้
เช่น อิริยาบถสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน
เป็นธาตุลมอย่างหนึ่ง
คำว่าเป็นลมนี่ใช้ภาษาไม่ถูก
ถ้าเป็นลมมันต้องใช้ได้
แต่ถ้าคนเป็นลมแล้วร่างกายใช้ไม่ได้เลย
แสดงว่าไม่ได้เป็นลม แต่ลมไม่มี
ธาตุลมใช้ไม่ได้ ลมตายไม่ใช่ลมเป็นหรือเป็นลม
เราต้องบริหารธาตุลมส่วนใหญ่
ขณะยืน เดิน นั่ง นอน
และธาตุลมส่วนย่อย
ขณะพับตา อ้าปาก หายใจ เหลียวซ้ายแลขวา
เพราะธาตุลมเปลี่ยนเป็นธาตุรู้ได้ง่ายกว่าธาตุอื่น
(ธาตุดิน ธาตุน้ำ เปลี่ยนเป็นธาตุรู้ได้ยาก)
อากาศไม่ใช่ลม
อากาศธาตุและวาโยธาตุต่างกัน
ทำไมวันนี้ลมไม่ดีเลย?
ทำไมวันนี้อากาศไม่ดีเลย?
คำว่าลมไม่ดีกับอากาศไม่ดีต่างกันอย่างไร?
ถ้าเอาลานมันมาอยู่ตรงนี้จะเหม็นมากเลย
ทั้งที่ไม่มีลม แสดงว่าอากาศไม่ดี อากาศเสีย
แต่ถ้าลมพัดไปทางอื่น
ลานมันอยู่ใกล้ก็ไม่เหม็น
ลมมันพัดเอาอากาศนั้นไป
เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง มันจึงกลายเป็นลม
เมื่ออากาศไม่เปลี่ยนแปลง ลมกลายเป็นอากาศ
เป็นอัญญมัญญปัจจัยซึ่งกันและกัน
อากาศเปลี่ยนแปลงแสดงว่ามีลมพัด
ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีอากาศ
แต่เมื่อดิน น้ำ ลม ไฟ ทำงานสมดุลกันพอดี
มีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุตามมา
ลมต้องเปลี่ยนเป็นอากาศจึงจะเป็นตัวรู้ได้
ถ้าเราจุดไฟในที่ๆ ไม่มีอากาศ มันก็ไม่ติด
แต่ถ้าจุดไฟในที่ๆ มีลม
อาจจะติดได้ถ้าไม่โดนลมพัดดับ
อากาศมีออกซิเจนทำให้ไฟติด
อากาศที่เราใช้คือออกซิเจน เราไม่ใช้คำว่า wind
wind คือลม(วาโย)
ออกซิเจนคืออากาศ
อากาศธาตุทำให้เกิดไฟ
จากธาตุสี่กลายเป็นธาตุหก
ตัวรู้เกิดจากอากาศธาตุและวิญญาณธาตุ
ถ้าธาตุสี่ไม่สมดุล อากาศไม่ดี
การรู้สึกตัวก็ไม่ดีแล้ว
รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง หลงๆ ลืมๆ
แสดงว่าธาตุสี่ไม่สมดุลกัน
รูปกับนามเป็นอัญญมัญญปัจจัย
อาศัยซึ่งกันและกัน
เราจึงต้องใช้สติสัมปชัญญะและปัญญา
เข้ามาบริหารกฎของการเปลี่ยนแปลง(อนิจจัง)
และกฎของอนัตตาให้เป็นปัญญา
กฎของอนัตตาที่เป็นปัญญา
หมายความว่าเราต้องควบคุมได้
แต่ถ้ามันเป็นอนัตตาที่ไม่เป็นปัญญา
จะควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้
ความไม่มีตัวตนหรืออนัตตามีสองลักษณะ
ในแง่ของปรมัตถ์และสมมติ
แก้วน้ำตอนแรกเป็นรูปของแก้ว
พอเอาไปบดกลายเป็นรูปของผง
เรียกว่าเป็นอนัตตา
เพราะมันสลายตัวและเปลี่ยนแปลงรูปได้
จึงไม่มีรูปที่แน่นอน
แต่พอเอาผงไปเผาไฟ กลายเป็นขี้เถ้า
เรียกว่าอนัตตาในแง่ของสมมติ
อนัตตาในแง่ของปรมัตถ์
เราจะไม่ให้แก้วไม่แตกเลยเป็นไปไม่ได้
ตกแล้วต้องแตก ควบคุมไม่ได้
ร่างกายเกิดมาแล้วต้องตาย เพราะเป็นอนัตตา
แต่จิตของเรามันดับไปแล้ว มันเกิดอีกได้
มันไม่ใช่อนัตตา เพราะมันไม่ใช่รูป รูปต้องแตก
เราต้องทำอนัตตาของรูปให้เป็นนาม
ต้องแปลงอนัตตาให้เป็นปัญญา
มันถึงจะเป็นนาม
เพราะอนัตตาเป็นรูป
ต้องแปลงให้เป็นปัญญา
มันถึงจะเป็นนามได้ จึงจะเป็นอมตะ
อนัตตาต้องเปลี่ยนแปลงตามกฎของไตรลักษณ์
มีรูปบ้าง ไม่มีรูปบ้าง
ความรู้สึกตัวเป็นนามล้วนๆ
มันจึงไม่แตกดับ ควบคุมได้
ช่วงไหนเราต้องการให้มันเกิด ก็เกิดได้
ช่วงไหนไม่ต้องการให้เกิด เราก็ดับมันได้
แต่ถ้ามันเกิดเองดับเอง เราใช้มันไม่ได้
ความรู้สึกตัวที่เกิดเองดับเอง เราใช้งานมันไม่ได้
เพราะมันเป็นอนัตตา
ถ้าเราเปลี่ยนให้เป็นปัญญา เราใช้งานได้
เพราะมันไม่เป็นรูปแต่เป็นนาม
เราจะใช้งานมันได้ต่อเมื่อ
มีกำลังของสติสัมปชัญญะที่คงที่แล้ว
แต่ถ้ากำลังสติสัมปชัญญะไม่คงที่
เหมือนไฟฟ้าไม่มีแหล่งที่มา
เปิดสวิตช์ไม่มีไฟออก เพราะไม่มีแหล่งที่เก็บไฟ
เพราะสติสัมปชัญญะคือที่เก็บกำลังของปัญญา
เราต้องชาร์จแบตตลอดเวลา
ยิ่งใช้ปัญญามากเราต้องชาร์จมาก
เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่ที่ต้องเน้น
เพื่อให้เห็นความสำคัญของความรู้สึกตัว
จะได้ขยันเก็บขยันชาร์จ
ถ้าไม่เจริญสติบ่อยๆ ปัญญาก็หมด
เรียกว่าคนไร้ปัญญา
เราใช้มือถือบ่อยต้องเสียบชาร์จบ่อย
ตอนที่ใช้เป็นปัญญา
เราใช้ปัญญาบ่อยต้องขยันเก็บสติสัมปชัญญะ
เมื่อเจริญสติบ่อยๆ ปัญญาก็เกิดขึ้นตลอดเวลา
เป็นกฎของธรรมชาติ
สมาธิหมายความว่าสติสัมปชัญญะคงที่
เต็มรอบเต็มส่วนของมัน
สติสัมปชัญญะที่ไม่เต็มรอบ เป็นสมาธิไม่ได้
เพราะสมาธิคือความเต็มรอบเต็มส่วน
ของความรู้สึกตัว
ถ้าเจริญสติสัมปชัญญะบ่อยแต่ปัญญาไม่เกิด
เพราะเก็บไม่อยู่ มันรั่วไหล เลยไม่เต็มสักที
สมมติว่าปัญญาต้องใช้กำลังไฟสามพันแรงเทียน
เราต้องสะสมให้ได้ตามนั้นไฟถึงจะสว่าง
ปัญญาจะแหลม คม ลึก เร็ว
เมื่อสติสัมปชัญญะเต็มรอบเต็มส่วน เรียกว่าสมาธิ
ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เต็มรอบเต็มส่วน
เรียกว่าสมาธิไม่ได้ สมาธิยังอ่อนอยู่
คนที่นั่งสมาธินิ่งมาก แต่ยังทำอะไรเด๋อด๋าอยู่
แสดงว่าสมาธิแบบนั้นมีแต่โครง
แต่ไม่มีกำลังของสติสัมปชัญญะอยู่เลย
บางคนสติสัมปชัญญะเสียไปเลย
เพราะทำสมาธิมาก
จิตอ่อนเพราะแช่ในสมาธิ
จนกำลังสติสัมปชัญญะเสียหมด
บางคนนั่งสมาธิมาหลายปีแล้ว
แต่ทำไมเป็นแบบนี้ไปได้ เพราะไปแช่ในสมาธิ
สติสัมปชัญญะเลยอ่อน
สมาธิหมดกำลังจนเลอะเลือนไป
เราต้องเจริญสัมมาสติจึงจะเป็นสัมมาสมาธิได้
สัมมาสติต้องมีสัมปชัญญะ
ถ้าไม่มีสัมปชัญญะไม่ใช่สัมมาสติ
ถ้าทำถูกจะไม่เพี้ยน
สัมปชัญญะหมายความว่ารู้ทั้งหมด
ไม่ใช่รู้ที่มืออย่างเดียว
ขณะยกมือต้องรู้หัวจรดเท้า
รู้ว่าร่างกายเป็นอย่างไร ง่วงรู้ว่าง่วง
แต่ถ้าเจริญสติสัมปชัญญะแล้ว ง่วงก็ไม่รู้ตัว
สัมปชัญญะไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด
เพราะแก้ไม่ได้ ปัญญาไม่เกิด
สัมปชัญญะพร้อมที่จะเป็นปัญญา
เจริญสติแต่ไม่เกิดสัมปชัญญะ
เพราะไม่รู้ตัวทั่วพร้อม
ความปวดเกิดขึ้นก็ไม่รู้ตัว
ง่วงอยู่ก็ไม่รู้ตัว คิดก็ไม่รู้ตัว
มันแปลงเป็นสัมปชัญญะไม่ได้
ทั้งๆที่ยกมืออยู่ ไม่รู้ทั้งหมด
รู้ส่วนใดส่วนหนึ่ง ยกมือรู้แค่ที่มือ
ง่วงก็ยังไม่รู้ตัว ปัญญาไม่เกิดเพราะแก้ไขไม่ได้
เจริญแต่สติเป็นมิจฉาสติ ไม่เกิดสัมปชัญญะ
มิจฉาสติกลายเป็นมิจฉาสมาธิ
ถ้าเจริญสติสัมปชัญญะถูกต้องจะไม่เพี้ยน
มีแต่ความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญา
เข้มแข็งทั้งกายและใจ
รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน รู้บริษัท
ว่าอันไหนควรอันไหนไม่ควร
แต่ถ้าไม่เป็นสัมมาสติ ก็จะเลอะเทอะเลอะเลือน
เป็นบ้าไป เพราะทำไม่ถูก