คลิปนวัตกรรมการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว๓๖ ณ วัดพระธาตุแสงเทียน (เช้า ๒๒ ก.ค.๖๐) พระธรรมเทศนาโดย หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
เรื่อง พัฒนาการของปรมัตถ์
คนที่ชอบเปลี่ยนวิธีบ่อยๆ
ยังไปไม่ถึงปรมัตถ์
เพราะจิตยังไม่หยั่งรากลึก
ก็จะหาวิธีใหม่มาเสริมเรื่อยๆ ทำให้สับสน
ปรมัตถ์เป็นเรื่องสำคัญ
ถ้ายังเป็นสมมติหรือสมถะ
ยังไม่เข้าถึงกระแสพุทธธรรม
มีโอกาสไขว้เขวได้เสมอ
ถ้าเข้าสู่ปรมัตถ์แล้วจะไม่ไขว้เขว
เหมือนต้นไม้ที่หยั่งรากลึกแล้ว
แม้อากาศจะแปรปรวนก็ไม่ตาย
ถ้ารากตื้นก็ตายได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นอารมณ์รูปนาม
สมมติ หรือปรมัตถ์?
ถ้ายังเป็นอารมณ์รูปนามอยู่
ยังต้องตั้งเจตนารู้
ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ ไม่ค่อยรู้เอง หรือรู้แบบผิวเผิน
มักแฉลบออกไปได้ง่าย
รูปนามก็จะพัฒนาไปเป็นสมมติได้
ปรมัตถ์มีสามระดับ
ปรมัตถ์เบื้องต้น ปรมัตถ์เบื้องกลาง
และปรมัตถ์เบื้องสูง
ปรมัตถ์เบื้องต้นคืออารมณ์รูปนามนั่นเอง
ยังเป็นไปกับอารมณ์พอใจไม่พอใจอยู่
เวลามีอะไรมากระทบ
จะเกิดอารมณ์หงุดหงิดปฏิฆะไปสักพัก
กว่าจะรู้ก็นาน
แล้วแต่ความแรงของเรื่องที่มากระทบ
ปรมัตถ์เบื้องกลางรู้สึกตัวได้เองเป็นส่วนใหญ่
อารมณ์อะไรเกิดขึ้น ชอบไม่ชอบ ปฏิฆะหงุดหงิด
จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง แล้วกลับเข้ามาแก้ไขเป็น
ระดับไหนเป็นสมมติหรือปรมัตถ์
ให้ดูที่การรู้ตัวได้ช้าหรือเร็ว
จิตของเราไปกับการถูกกระทบ
ได้มากน้อยแค่ไหน
ปรมัตถ์เบื้องสูง กระทบแล้วดับเลย
ไม่ทันได้ปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว
วัดกันที่ความเร็วของสติ
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไปจนถึงปัญญา
ปรมัตถ์เบื้องสูงขึ้นไปก็ยังแบ่งไปอีก
ระดับวิปัสสนาญาณรู้ความคิดได้เร็ว
รู้ทันอาสวะต้องใช้ญาณทัสสนะ
วิปัสสนาญาณเอาไม่อยู่
เพราะอาสวะไม่ต้องอาศัยความคิด
วิปัสสนาญาณเหมือนไฟตกใส่ผ้าชุ่มแล้วดับ
ญาณทัสสนะเหมือนไฟตกใส่น้ำ
จะดูว่าระดับไหนเป็นสมมติหรือปรมัตถ์
ดูที่ความเร็วของสติปัญญา
ถ้าสติปัญญารู้ตัวได้เร็ว
ก็พัฒนาเป็นปรมัตถ์มากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าสติสัมปชัญญะรู้ตัวได้ช้า
ก็ยังอยู่ในขอบเขตอารมณ์รูปนามอยู่
เราจะคิดไปตามสมมติว่าอยู่ไหนขั้นไหนไม่ได้
ต้องดูตามความเป็นจริงคือตอนที่ถูกกระทบ
ว่าจิตของเราไปกับเรื่องที่มากระทบมากน้อยแค่ไหน
ถ้ากระทบแล้วรู้เร็วขึ้นเรื่อยๆ
ไม่พอใจแค่แว็บเดียว
พอใจก็แค่แว็บดียวแล้วกลับมา
เรียกว่าเป็นปรมัตถ์มากขึ้น
ต้นตอของรูปนามและสมมติปรมัตถ์
คือการเกิดดับ
ภาวะที่เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์เป็นเกิด
ภาวะที่อยู่เหนือกฎไตรลักษณ์เป็นดับ
เรียกว่าไตรสิกขา
หลักปริยัติเหมือนภาชนะที่บรรจุปรมัตถ์
เปรียบได้กับถังข้าวสาร
ถ้าไม่มีภาชนะก็ต้องขนข้าวสารทีละเม็ด
ปริยัติสามารถบรรจุความหมายของปรมัตถ์ได้หมด
ถ้าใช้ภาษาสมมติ
เหมือนเราขนข้าวสารทีละถุงเล็กๆ
จะช้าและขนได้ไม่หมด
มีโอกาสที่จะสับสนปนเปื้อนได้ง่าย
พอใช้ศัพท์ทางปริยัติก็จะเข้าใจง่าย
กระทัดรัดชัดเจน
คำสอนพระพุทธเจ้าที่ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบันได้
เพราะมีปริยัติ
ในส่วนของรูปเป็นการเกิดโดยธรรมชาติ
มีเวทนาให้เห็นตลอดเวลา
เช่น เวทนาเย็น เวทนาร้อน
น้อยมากที่เราจะไม่รู้สึกว่ามีเวทนา
เวทนาเป็นตัวแสดงออกของไตรลักษณ์ทั้งหมด
สุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์
ออกมาที่เวทนาทางกายและเวทนาทางจิต
ถ้าไม่มีเวทนา ไตรลักษณ์ที่อยู่ในรูปนาม
ก็ไม่สามารถต่อไปที่สัญญา สังขาร วิญญาณได้
ต้องมีเวทนาเป็นตัวกลางถึงจะต่อกันติด
ถ้าจะรู้รูปนามว่าเป็นเกิดหรือดับ
ให้มาตามรู้ที่เวทนา
เวทนาที่เป็นภาระต่อจิต มีความหนัก
เป็นเวทนาที่เสี่ยงต่อการเกิดสมุทัยของทุกข์
เป็นเกิด
เวทนาที่เย็น เบา สบาย ไม่ถ่ายทอดไปเป็นสมุทัยของจิต
เป็นดับ
เวทนาที่เสี่ยงต่อการเกิดสมุทัยของทุกข์
เวทนานั้น…เป็นเกิด (เพราะสมุทัยเป็นเกิด)
เวทนาที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดสมุทัยของทุกข์
หยุดอยู่ที่รูป เวทนานั้น…เป็นดับ
เรื่องนี้ถ้าเราไม่แยกแยะให้เห็นชัดๆ
โอกาสลังเลไม่แน่ใจมีสูง
เพราะเราอยู่กับกฎไตรลักษณ์มาไม่รู้กี่ภพชาติ
ถ้าเราแยกแยะไม่ออก
ว่าอันไหนเป็นน้ำ น้ำมัน นม น้ำธรรมดา
ก็ยากที่จะใช้ประโยชน์ได้ครบถ้วน
บางครั้งเราต้องการใช้กะทิ
บางครั้งต้องการใช้น้ำมัน
เราต้องรู้วิธีแยกแยะ
บางทีต้องใช้เกิด บางทีต้องใช้ดับ
แต่ให้รู้ว่าอันไหนเป็นเกิด อันไหนเป็นดับ