ถอดธรรมบรรยายจากคลิป นวัตกรรมแห่งสติ ๒๗

พระธรรมเทศนา ณ ครุสติสถาน เย็น ๑๖ ก.ค. ๖๐ โดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

เรื่อง ตามรู้ด้วยความแยบคาย

ในระหว่างทางมีสิ่งมาทดสอบเยอะแยะมากมายไปหมด แล้วแต่วาสนา ใครทำมาดีก็จะไม่สับสนลังเลมุ่งไปทางเดียว ปัญหาอุปสรรคระหว่างทางเยอะมาก ถ้าหากว่าบุญไม่มาวาสนาไม่ช่วย มันจะต้องมีจุดหักเห ณ จุดใดจุดหนึ่งจนได้
เราต้องอธิษฐานจิตแต่แรก อาตมาตั้งจิตอธิษฐานแต่แรกว่า “ข้าพเจ้าปฏิบัติวิธีนี้จะรู้หรือไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ขอให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม” แล้วก็มุ่งมั่นว่า ทางไหนที่จะเบี่ยงเบนออกไปจากสัมมาทิฏฐิก็ให้ละ
คำนิยามสัมมาทิฏฐิ คือ
๑ ให้รู้ว่าชีวิตนี้เป็นที่ตั้งของทุกข์ ไม่ใช่ที่ตั้งของเรา
๒ ทุกข์ต้องมีเหตุ ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ
๓ ทุกข์ดับได้
๔ ให้ค้นหาวิธีดับทุกข์
จับจุดนี้ให้มั่นคงแล้วจะไม่ไขว้เขว ศาสดาอาจารย์ไหนมาอธิบายได้ไพเราะลึกซึ้งอย่างไร ถ้าไม่ลงล็อคสี่ข้อนี้ ก็ยังไม่ใช่ บางท่านอาจจะเป็นแต่อธิบายไม่เป็น ตรงนั้นน่าเชื่อถือมากกว่า ถ้าเป็นจริงจะดูออกว่าเป็น แต่ถ้าอธิบายจนหยดเยิ้มหยดย้อย แต่ไม่เป็นก็จะรู้โดยสามัญสำนึก แม้แต่สุนัข เราจะรู้ว่าตัวไหนมันรักหรือมันชังเรา
เราต้องเชื่อมั่นในตัวรู้นี้อย่างมั่นคง ถ้าไม่เชื่อมั่นอย่างมั่นคงแล้ว ต้องมีอันไขว้เขวสับสนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เราต้องไม่ว่อกแว่กกับสิ่งข้างทาง มุ่งมั่นทำสิ่งที่เป็นกุศล พยายามละสิ่งที่จะทำให้เดือดร้อนในภายหลัง คนส่วนใหญ่พยายามทำดีเพื่อทำบุญ แต่ไม่ละบาป หลวงพ่อเทียนบอกว่าไม่ต้องไปทำบุญที่ไหน แต่ให้ละบาป เปลี่ยนไตรลักษณ์เป็นไตรสิกขา แค่นี้ก็ทำบุญแล้ว อยู่ที่บ้านเราก็ทำบุญได้ เพียงแต่ละสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาคือไตรลักษณ์ อย่าเป็นไปกับไตรลักษณ์ แต่ให้เฝ้าดูไตรลักษณ์ และเปลี่ยนมันเป็นไตรสิกขา เปลี่ยนตัวไม่รู้ให้เป็นตัวรู้อยู่เสมอ แค่นี้ก็ทำบุญแล้ว
เราต้องไม่ลังเล เพราะมีสิ่งรอบข้างมาชักจูงเยอะ มีสื่อสารพัดรูปแบบ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ มันอันตรการงดงามดุจราชรถ ผู้หลงใหลคือผู้โง่เขลา ผู้ที่รู้เนื้อรู้ตัวจะไม่หลงใหลกับสิ่งเหล่านี้
สมัยพุทธกาลวัตถุยังไม่วิจิตรขนาดนี้ การบรรลุธรรมจึงไม่ยาก ความแหลมคมของวัตถุ โทรศัพท์ รถยนต์ บางทียังใช้ได้อยู่ แต่เราต้องการวัตถุชิ้นใหม่ให้ถูกใจมากขึ้น
ความอดทนมีอยู่สี่อย่าง
๑ อดทนต่อทุกขเวทนาต่อความเจ็บป่วย
๒ อดทนต่อความหิว
๓ อดทนต่อการทำงาน
๔ อดทนต่อการดูถูกเหยียดหยาม การนินทาว่าร้าย
ข้อสี่นี้สำคัญมาก เพราะเป็นการอดทนต่อความยั่วยุ อดทนต่อมารและธิดามาร
ยิ่งฝึดความอดทนมาก สมาธิยิ่งสูง เพราะสมาธิเริ่มจากความอดทน คนที่นั่งทนได้หลายชั่วโมงเพราะมีความอดทน เขาจะได้สิ่งตอบแทนคือสมาธิ ถ้าไม่มีความอดทน สมาธิก็เกิดขึ้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าชนะมารด้วยการอดทนอย่างมีปัญญา บีบมวยผมต้องใช้ปัญญา แต่ถ้าเราอดทนแบบไม่มีปัญญา จะกลายเป็นเก็บกด กดดัน และความอดทนนั้นจะเปลี่ยนเป็นมานะทิฐิ อัตตาตัวตน สร้างสมพลังกลายเป็นโทสะในที่สุด เป็นความอดทนที่อันตราย มวยผมมีน้ำมาดับไฟ ขันติเหมือนไฟ ปัญญาหมายถึงน้ำ ขันติเป็นเกิด ปัญญาเป็นดับ
ที่ไหนมีเกิด ที่นั่นมีดับ ก็จะสมดุลกัน แม่ธรณีเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดและการดับของกิเลส จะต้องมีสมาธิและปัญญา แม่ธรณีคือสมาธิ มวยผมคือปัญญา เราต้องอดทนอย่างมีปัญญา
เวลาปฏิบัติ เรานั่งนานๆ เดินนานๆ แต่อย่าทนจนเกิดมานะทิฐิ หรือโทสะ อดทนแค่ไหนถึงจะพอดี อดทนแค่พอทนได้ โดยที่จะไม่แปรความทุกข์นั้นไปสู่จิต จำกัดอยู่แค่กาย เรียกว่าอดทนอย่างถูกต้อง แต่เมื่อใดที่ความทุกข์มันเกินทน มันต้องแบ่งไปสู่จิตแล้ว ตรงนั้นเป็นสมุทัย ต้องแก้ไขทันที โดยใช้ปัญญา ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็จะไม่สามารถสกัดตัวทุกข์ที่ล้นไปจากกายได้
เราจำเป็นต้องใช้ตัวรู้ เหยียบหนักเบา รู้จักทน เบาเกินไปก็ต้องทน หนักเกินไปก็ต้องทน แต่ถ้าหนักเบาสมดุลกัน มันก็จะเป็นพอทนได้ เป็นความพอดี การตามรู้หนักเบาชัดเจนนี้ ก็จะกลายเป็นองค์ของไตรสิกขา
สิ่งเหล่านี้ถ้าคนไม่เข้าใจ ก็จะเห็นว่าไม่สำคัญ แต่คนที่เข้าใจจะรู้ว่ามันสำคัญและจำเป็นมาก
เพราะชีวิตมนุษย์ไม่ได้เกิดมาง่ายๆ ถ้าเรามัวแต่ใช้ชีวิตที่เป็นทุกข์ทั้งกายและจิตตลอดไป การเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่เป็นประโยชน์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดในอบายภูมิอีกมากมาย ถ้าไม่มีการฝึกฝน ก็ต้องไปเกิดอีกด้วยอำนาจตัณหาอุปาทานอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้
เราจึงปฏิบัติอย่างจริงจัง ตั้งใจ ต่อเนื่อง ถูกต้อง อันไหนผิดพลาดก็แก้ไข เราต้องสบายทั้งกายและใจที่สัมผัสได้จริงๆ คือสบายพอทนได้ ทุกข์พอทนได้ ถ้าสบายมากเกินไป เกิดเป็นเทวดา สงบมากไปเป็นพรหม ทุกข์มากเกินไปเป็นอบายภูมิ
สุขพอทน ทุกข์พอทน เป็นอาริยะภูมิ
ถ้าเราเห็นความสำคัญของไตรลักษณ์และไตรสิกขาชัดๆ จะเข้าใจธรรมะตามลำดับ ในวิธีการหลวงพ่อเทียนคือ รู้รูปนามเพื่อไม่สำคัญผิดว่ารูปนามนี้เป็นเราเป็นเขา เพราะถ้าสำคัญผิดว่าเป็นเราเป็นเขา จะเป็นที่ตั้งของนามรูป กิเลส ตัณหา เมื่ใดมีนามรูป อวิชชา ตัณหาอุปาทานก็เกิด
แต่เมื่อใดไม่ปล่อยให้ความทุกข์เปลี่ยนมาเป็นนามรูป ให้มันอยู่แค่รูปนาม อวิชชา ตัณหา อุปาทานก็ไม่มีที่ตั้ง ทุกข์เกิดไม่ได้
การทำเรื่องนี้ให้จริงจัง รู้แจ้งรู้จริง ต้องมีกติกาโดยย่อ ๔ อย่าง
๑ ต้องมีการสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้มันออกนิกเนื้อนอกตัวไปไกลเกินไป อิทรีย์สังวรต้องระมัดระวัง เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก
๒ เราต้องเคารพกฎกติกาที่ทำให้ดำรงอยู่ในตัวรู้อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นศีล วัฒนธรรม ประเพณี ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้จิตดำรงอยู่ในตัวรู้ได้ต่อเนื่อง เรียกว่าสำรวมปาฏิโมกข์
๓ ให้พิจารณาปัจจัยสี่ก่อนใช้สอย ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ท่านให้พิจารณาก่อนใช้สามครั้ง ก่อนใช้ ขณะใช้ และใช้เสร็จแล้ว
ครั้งแรกให้พิจารณาว่ามันคือรูปกับนาม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สิ่งที่มากระทบเรา อาหารเปนรูปอันหนึ่ง กำลังกระทบกับรูปนามอันหนึ่ง แล้วเกิดปฏิกิริยา อร่อยหรือไม่อร่อย
ครั้งที่สอง เสื้อผ้าที่เราใส่เป็นเพียงรูปนาม เมื่อเราใส่ทำให้ไม่น่าอาย ไม่น่ารังเกียจ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประดับตกแต่ง แต่เพื่อบำบัดทุกขเวทนาอันเกิดจากเหลือบยุงลมแดด เท่านั้น
ครั้งที่สาม พิจารณาก่อนใช้ ขณะใช้ และหลังใช้
๔ ขยันรู้เรื่อยๆ ชอบทำความเพียรเป็นชีวิตจิตใจ ประกอบการตื่นรู้เป็นประจำ
กติกาสี่ข้อดูเหมือนสั้นๆ แต่ครอบคลุมทั้งพระไตรปิฎก ถ้าสี่ประการนี้ทำได้ จะสมบูรณ์ตามเปอร์เซ็นต์ที่เรารู้ ถ้าเรามีใจทำอยู่ มันก็ต้องเดินไปเรื่อยๆ ส่วนเปอร์เซ็นต์มันจะเต็มเมื่อไรเป็นเรื่องของมัน เราไม่ถอย
ในช่วงการเดินทางเราต้องไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างมากเกินไป มันพร้อมที่จะเป็นอันตรายกับเราได้เสมอ วัตถุนิยม จิตนิยม สามารถดึงดูดเราไปในทางที่ผิดมากมาย ไม่ว่าทางโลก ทางธรรม เป็นทางของมาร
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป เรารู้จักเจ้าแล้ว เจ้าจะมาหลอกล่อเราไม่ได้อีกต่อไป ขนาดพระพุทธเจ้าแล้ว มารก็ยังไม่เว้นที่จะหลอกล่อ
มารจะมาในรูปแบบต่างๆ ถ้าเราไม่แหลมคมก็จะไม่รู้ บางครั้งมารปลอมตัวเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้พระต้องก้มกราบ มารหัวเราะชอบใจได้แกล้งพระ
เรามีทางเดียวคือต้องบำเพ็ญตัวรู้คือตัวปัญญาให้มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จได้รู้ว่าอะไรเป็นพระอะไรเป็นมาร อะไรเป็นของจริงของปลอม คำสอนไหนแท้ คำสอนไหนปลอม
มุ่งมั่นในเส้นทางอย่างจริงจัง ตั้งใจ อดทน โดยไม่อ้างความเป็นหญิงเป็นชาย อยู่ที่จิตใจไม่เกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับพลังของจิต ความมุ่งมั่นของผู้หญิงอาจมากกว่าผู้ชาย อย่าให้สมมติครอบงำว่าเป็นผู้หญิงทำได้แค่นี้
ความขลาดหวาดกลัวที่เราสั่งสมมาด้วยอุปาทาน แก้ยากเหมือนกัน การไปธุดงค์ทำให้เข้มแข็งมากขึ้น แต่เราต้องไม่ประมาท ใช้ความกล้าหาญปลดเปลื้องอุปาทาน
เพิ่มเติม:
ความหนักและเบาเป็นสมถะ รู้ว่าหนักและเบาเป็นวิปัสสนา ความเชื่อมต่อระหว่างหนักและเบาเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้ายังไม่เข้าใจให้เดินอีกสองรอบ
ถาม: ในช่วงที่เรายกย่างเหยียบ ช่วงไหนเป็นไตรลักษณ์ ช่วงไหนเป็นไตรสิกขา เฉลย: เมื่อเดินรู้ตัวเป็นไตรสิกขา เดินไม่รู้ตัวเป็นไตรลักษณ์
อยากให้เข้าใจสองเรื่องนี้ชัดๆ ก็จะทะลุไปหมด เราจะได้เห็นความสำคัญของความรู้สึกตัวมากขึ้น
Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)