ถ้าขบวนการรู้นามในลักษณะที่ว่า
รูปเข้าไปสู่นามลักษณะไหน
แล้วคอยแยกออกว่า อาการของรูป
เป็นความสบาย ไม่สบาย ไม่รู้
เป็นอาการที่เกิดกับรูป แล้วสกัดออกไป
ให้รู้เฉยๆ โดยที่ไม่ต้องไปพอใจไม่พอใจ
กับสิ่งที่มันปรากฏในจิต
เข้าไปรู้อาการนั้นเฉยๆ
แสดงว่าแยกรูปและนามออกจากกันได้
เพราะแยกความรู้สึกชอบในอนิจจังออกไป
แยกความรู้สึกไม่ชอบในทุกขังออกไป
และรู้ขบวนการด้วย รู้ใจด้วย เป็นปัญญาขึ้นมา
อนิจจัง ทุกขัง แทนที่จะเป็นอนัตตา
เพราะขบวนการนี้เข้าไป ก็เลยกลายเป็นตัวรู้ล้วนๆ
เราสมมติว่าเป็นปัญญา
อนิจจัง ทำให้ปกติได้ เป็นศีล
ทุกขัง ทำให้เราตั้งใจที่จะปรับแก้ เป็นสมาธิ
อนัตตา รู้ขบวนการทั้งหมด เป็นปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นชื่อของนาม
ในฝ่ายที่ประกอบด้วยวิชชา
แต่ถ้าเราปล่อยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ปล่อยรูปไหลไปเข้าสู่จิต โดยจัดการไม่ได้
ก็เปลี่ยนเป็นพอใจ ไม่พอใจ
เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา
ไม่ได้เปลี่ยนเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
เพราะฉะนั้น ตัวรู้เท่าทันนี้เอง
เราต้องมาสร้างขึ้นให้มากที่สุด
เพื่อที่จะไปเปลี่ยนกฎของไตรลักษณ์
ให้กลับมาเป็นกฎของไตรสิกขา
คือศีล สมาธิ ปัญญา
ไม่ง่าย ไม่ยาก อยู่ที่มีศรัทธาที่จะทำหรือไม่
มีความเพียรที่จะพิสูจน์หรือไม่
ถ้าคนไม่มีศรัทธาในศาสนาจะทำไม่ได้
เมื่อไม่มีศรัทธาก็ไม่มีความเพียรที่จะทำ
ถึงบอกว่าบางคนรับพุทธศาสนาไม่ได้
เพราะเขาไม่มีศรัทธาในพุทธศาสนา
แต่บางคนมีศรัทธาในพุทธศาสนาเหมือนกัน
แต่ว่าศรัทธาไปอีกด้านหนึ่ง
เป็นมิจฉาศรัทธา หรือมิจฉาทิฏฐิ
คนที่เข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้มีประเภทเดียว
คือประเภทที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเท่านั้น
ประเภทที่เป็นสัมมาทิฏฐิ อย่างไรก็ต้องรู้
เราจึงมาปรับที่ทิฏฐิก่อน
ในมรรคมีองค์แปด ท่านจึงมาเริ่มที่สัมมาทิฏฐิก่อน
ต้องมาปรับความคิดเห็นตรงนั้นให้ถูกต้องทีเดียว
ถ้าปรับความคิดเห็นถูกต้อง เรื่องอื่นไปได้หมดเลย
มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด
ในคำสอนของพระพุทธเจ้า
เวลาที่พระพุทธเจ้าจะด่าใครสักคน
มิจฉาทิฏฐิเป็นการด่าที่ร้ายแรงมาก
มันไม่มีอะไรดีเลยในชีวิต น่ากลัวมาก
เพราะฉะนั้นไปปรับความคิดเห็นเป็นเบื้องต้น
สัมมาทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิมีความสำคัญอย่างไร
พระพุทธเจ้าจึงให้ความสำคัญ
สัมมาทิฏฐิอย่างไรถึงจะถูกต้อง
อันนี้อาตมาได้ขยายไปหลายรอบแล้ว
ท่านให้เห็นอย่างไรถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ?
ท่านให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นที่ตั้งของทุกข์
รูปนามนี้เป็นที่ตั้งของทุกข์
มีความสุขเหมือนกันในบางครั้ง
จะบอกว่าเป็นที่ตั้งของทุกข์ได้อย่างไร?
ความสุขคือความทุกข์ประเภทหนึ่ง
เป็นความทุกข์ที่อ่อนลงมา
เราไปสมมติว่าเป็นความสุข
สมมติว่าเรายกของมันหนัก เรียกว่าทุกข์
พอผ่อนลงมา ให้เห็นว่ารูปทั้งหลายเป็นที่ตั้งของทุกข์
ทุกข์เกิดขึ้นเองหรือว่ามันมีที่ไปที่มา
แก้วน้ำอยู่ตรงนั้น ถ้าอาตมาไม่ยกมา มันจะหนักมั้ย?
ที่ไปที่มาคือเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน
ตรงนี้เขาเรียกว่าสมุทัย
ให้รู้ที่ไปที่มาของทุกข์ ว่าทุกข์เกิดจากไหน
เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันถึงรู้สึกว่าหนัก
แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับมัน
เราก็ไม่รู้สึกว่าแก้วน้ำนี้หนัก
การเข้าไปเกี่ยวข้องทำให้เรารู้สึกหนักทันที
นี่คือที่ไปที่มาของคำว่าหนัก
เพราะเราเข้าไปสัมผัส ไปเกี่ยวข้องกับมัน
เมื่อก่อนเราไม่เคยมีสามีภรรยา
เราไม่เคยเป็นทุกข์กับสามีภรรยา
แต่พอเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะสามีภรรยา
ความสุขความทุกข์ในฐานะสามีภรรยาจึงเกิดขึ้น
เพราะการเข้าไปเกี่ยวข้อง
เกี่ยวข้องอย่างไรที่จะทำให้เกิดทุกข์และไม่ทุกข์
ตรงนี้มีทางออกแล้ว
จะต้องรู้ก่อนว่าถ้าเราไม่เกี่ยวข้อง
มันสบายหรือไม่สบาย…
รู้สึกปกติ ความสบาย ไม่สบายไม่มีมาก่อน
อันนี้ก็ไม่ทุกข์ ความรู้สึกก็ไม่หนัก
มันทุกข์โดยไม่มีโดยธรรมชาติของมัน
ลักษณะนี้เรียกว่านิโรธ มันไม่มีทุกข์มาก่อน
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ
แก้วน้ำนี้เรารู้สึกไม่หนัก เพราะเราไม่เกี่ยวข้อง
แต่ถ้าจำเป็นต้องเกี่ยวข้อง ฉันต้องดื่มน้ำ ต้องยก
ถ้าจำเป็นต้องหนัก การที่หยิบขึ้นมาแล้ว ดื่มเสร็จแล้ว
แล้วก็ถือเอาไว้ ไม่ถูกต้อง
ต้องวางลง นี่คือมรรค ต้องทำให้ถูกต้อง
ใช้แล้วต้องวาง
เรามีสามีภรรยา
ถ้าอยู่ด้วยกันอย่างถูกต้อง
ไม่มีความทุกข์
อยู่ด้วยกันถูกต้อง หมายความว่า
อย่ายึดซึ่งกันและกัน
พร้อมที่จะปล่อยวาง
ใช้แล้วก็ปล่อย ใช้แล้วก็วาง
ใช้แล้วไม่ปล่อยไม่วาง มันถึงทุกข์
มีลูกก็เป็นทุกข์เพราะลูก
มีสามีก็ทุกข์เพราะสามี
ถ้าคุณปล่อยวาง คุณก็ไม่ทุกข์
คุณต้องปฏิบัติ นิโรธถึงเกิด
ภาคปฏิบัติเรียกว่ามรรค
ถ้าปล่อยวางได้เรียกว่านิโรธ
เห็นลักษณะสี่อย่างนี้คือสัมมาทิฏฐิ
คนไม่ศึกษาเรื่องนี้ก็ไม่รู้เรื่อง ต้องมีศรัทธา
เราฟังเรื่องนี้มาตลอดชีวิต
ไม่มีศรัทธาและความเพียรที่ถูกต้อง
แล้วเราก็ไม่เข้าใจ
เพราะศรัทธาของเราไม่ถูกต้อง
ไปศรัทธาเรื่องอื่น ศรัทธาหลวงพี่ หลวงพ่อ
หลวงปู่ หลวงตา เจ้าแม่ เจ้าพ่อ รูป เหรียญ
พิธีกรรมอะไรต่างๆ ที่มันถูกกับกิเลสเรา
แต่ไม่ได้ศรัทธาที่จะมาศึกษาเรื่องการปล่อยวาง
การฝึกฝนให้เกิดการปล่อยวางให้ถูกต้อง
เราอยู่กับภรรยาก็มีความสุข
เราอยู่กับสามีก็มีความสุข
เรามีลูกก็มีความสุข
เพราะอยู่ด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่น
อยู่ด้วยความรู้ ด้วยสติปัญญา
ลักษณะนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะก็เกิดตามมา
เมื่อเห็นถูกต้องก็คิดถูกต้อง
พิจารณาใช้อย่างถูกต้อง สัมมากัมมันตะ
พูดกันในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่พูด
เป็นสัมมาวาจาเกิดขึ้น
ทำมาหากินด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน
สัมมาอาชีวะ ปัญหาก็ไม่เกิด
สัมมาวายามะ พยายามในการระมัดระวัง
ในสิ่งที่ผิดพลาดอย่าให้เกิด
เมื่อผิดพลาดไปแล้วต้องรู้จักขอโทษกัน
รู้จักให้อภัยกัน
แล้วพยายามพอกพูน
ในสิ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจให้ถูกต้องเสมอ
รักษาสัญญาว่าฉันจะไม่นอกใจเธอ
เธอไม่นอกใจฉัน มันก็จะไม่มีปัญหา
เรียกว่าสัมมาวายามะ
แต่ในภาคปฏิบัติต้องใช้สัมมาสติและสัมมาสมาธิ
สัมมาทิฏฐิจึงเป็นไปตามนั้น
ภาคปฏิบัติเราจึงมาเจริญสติ เจริญสมาธิ
และเจริญปัญญา
แล้วสัมมาทิฏฐิก็จะทำงานของมันเอง
เมื่อสัมมาทิฏฐิทำงานแล้ว
ตัวปล่อยวาง ตัวหมดทุกข์ มันก็มีมาเอง
เป็นนิโรธ
เข้าใจถูกต้อง คือเข้าใจทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เราเรียกธรรมะชุดนี้ว่าอริยสัจสี่
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ คือเข้าใจอย่างนี้
เราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องไม่ยาก
ที่พูดมาทั้งหมดสื่อความหมายได้ เข้าใจได้
แต่การที่จะเข้าใจความหมาย
เราต้องมีศรัทธาระดับหนึ่งแล้ว
ต้องมีความเพียรระดับหนึ่ง ถึงเข้าใจได้ง่าย
เบื้องต้นเราจึงขาดศรัทธาและความเพียรไม่ได้
ถ้าเราไม่มีศรัทธา ใครจะมานั่งฟังอย่างนี้
ถ้าไม่มีความเพียรมาก่อน
ก็จะไม่เข้าใจอย่างนี้เหมือนกัน
ไม่รู้ท่านพูดเรื่องอะไร
แต่เดี๋ยวนี้เราฟังแล้วเข้าใจ
เพราะเราได้ทำมาระดับหนึ่งแล้ว
เราก็สามารถเข้าใจธรรมะนั้นได้
เรียกว่ามรรค
ในเบื้องต้นการเข้าถึงมรรค
ต้องมีศรัทธาและความเพียร
ศรัทธาเกิดจากอะไร
นี่คือรายละเอียดอย่างหนึ่ง
ในภาคปฏิบัติวันนี้ที่อยากจะแนะ
คือให้ไปทำสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
สติที่ถูกต้อง และความตั้งใจที่ถูกต้อง
สัมมาสติต้องดูสี่อย่างเป็นหลัก
กาย เวทนา จิต อารมณ์
คำว่าธรรมารมณ์เป็นเรื่องกว้าง
ใช้คำว่าอารมณ์ใกล้ตัวกว่า
ถ้ามันคิดออกจากสิ่งนี้ไป
หมายความว่าเราออกจากมรรคแล้ว
สมุทัยก็จะเกิด ทุกข์ก็จะเกิด
เพราะเราออกจากมรรค
คือเราออกจากกาย เวทนา จิต ธรรม
ที่นี้ดูอย่างไร? รายละเอียดต้องไปทำ
ดูกายก่อน กายมันหนัก บำบัดเวทนาให้เบาบาง
ถ้าเวทนาเบาบาง จิตก็จะไม่ปรุงแต่ง จะรับรู้เฉยๆ
ถ้าเวทนาหนัก จิตมันก็จะปรุงแต่ง
ถ้ามันไม่สบาย จิตมันก็ปรุงแต่ง
ถ้าสบายเกินไป จิตมันก็ปรุงแต่ง
เกี่ยวข้องด้วยความสุดโต่ง ไม่สุดโต่งตัวนั้นด้วย
อารมณ์ดีหรือไม่ดีขณะทำ
ถ้าทำด้วยอารมณ์ไม่ดี
ก็ไปเรียบเรียงดูใหม่
ว่ากาย เวทนา จิต ถูกหรือไม่
ถ้าอารมณ์ดี หมายความว่าเราทำกาย เวทนา จิต
ถูกต้องแล้ว
ขณะที่ทำ สบายหรือไม่สบาย
ถ้ามันไม่สบาย
แสดงว่าทำกาย เวทนา จิต ไม่ถูก
ถ้ามันสบาย
แสดงว่าทำกาย เวทนา จิต ได้ถูก
ปรับกันอยู่อย่างนี้
เดินอย่างไรให้พอดี ไม่หนัก ไม่เบื่อ
ไปทำความเข้าใจเรื่องสัมมาสติ
นั่งอย่างไร เดินอย่างไร ทำอย่างไร
ถึงจะไม่เบื่อ ไม่เซ็ง ไม่ง่วง ไม่เหงา
ก็ต้องมาทบทวนเรื่องการดูกาย เวทนา จิต
ด้วยการดูแล้วแก้ไขๆ ดูแล้วปรับ ดูแล้วแก้
การปรับแก้เราเรียกว่ามรรค
ทำมรรคให้ถูกเป็นสัมมากัมมันตะ ทำถูกต้อง
ความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ก็จะหายไป
โดยอัตโนมัติของมันเอง
คิดว่าเราจะไปหาความสบาย
ทำอย่างไรให้กายสบาย
ฉันนอนดีกว่า สบายดี อันนี้ไม่ได้
หาความสบายในการทำ ไม่ยากเลย