โดยสภาพแห่งธรรมอันคืออริยสัจ ที่เราได้พิจารณาและเกิดความเข้าใจในธรรมดังกล่าว มันจึงเป็นเพียงธรรมที่เกิดจากการปรุงแต่งไปในการพิจารณา มันจึงยังไม่ใช่สภาพธรรมอันคือธรรมชาติอันแท้จริง ซึ่งมันคงมีแต่ความว่างเปล่าเกิดขึ้นอยู่อย่างนั้น
เมื่อกล่าวตามสภาพความเป็นจริง ธรรมอันคืออริยสัจที่เกิดขึ้น มันจึงหาใช่ความหมายในความเป็นตัวเป็นตนไม่ ธรรมชาติแห่งธรรมที่แท้จริงมันย่อมมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมัน ตามสภาพธรรมชาติของมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว จึงหามี “ธรรมอันคืออริยสัจ” นี้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงไม่
จึงเสมือนว่า มันไม่เคยมีความปรุงแต่งธรรมอันคืออริยสัจนี้ เกิดขึ้นมาก่อนเลย มันคงมีแต่ธรรมชาติอันแท้จริง คงทำหน้าที่ ใน “ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ของมันอยู่อย่างนั้น”
นี่ก็เป็นเหตุผลเดียวตามความเป็นจริง ที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ได้ตอบคำถามต่อจักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้ ที่ได้ถามปัญหาธรรมต่อท่าน ในคราวที่ท่านได้เดินทางมาสู่แผ่นดินจีนที่เมืองกวางโจวใหม่ๆ และท่านได้รับการนิมนต์เข้าไปยังเมืองหลวง ก็จักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้องค์นี้ มีความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
แต่ท่านก็ได้เอาแต่ทำบุญก่อสร้างวัดวาอาราม โดยมิได้ใส่ใจในการศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริง ก็ในคราวนั้นจักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้ได้ถามปรมาจารย์ตั๊กม้อว่า ธรรมอันคือ “อริยสัจ” คืออะไร ท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อได้ตอบไปว่า “ไม่มี” คำตอบอันเป็นความจริงโดยสภาพแห่งธรรมมันเอง กลับทำให้จักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้เกิดความขุ่นเคืองพระทัย ก็ความเป็นจริงโดยสภาพแห่งธรรมอันคือธรรมชาติอันแท้จริงนั้น มันย่อมไม่มีความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ตามธรรมชาตินั้นมันย่อมเป็น ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น หามีธรรมใดๆหรือสิ่งใดๆจะเกิดขึ้นในความว่างเปล่าตามธรรมชาตินี้ ก็หาได้มีไม่ เพราะฉะนั้นการที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ได้ตอบจักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้ไปว่า
“ธรรมอริยสัจ” นั้น “ไม่มี” จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เป็นความถูกต้องตามธรรมชาติว่า จะหาความมีตัวตนในธรรมอริยสัจนี้ไม่ได้แม้แต่น้อยเลย ธรรมอริยสัจนี้มันจึงเป็นความว่างเปล่าตามธรรมชาติ
…………………………….
แท้จริงความเป็นเราย่อมไม่มี แท้จริงความเป็นขันธ์ธาตุย่อมไม่มี ขันธ์ธาตุนั้นโดยตัวมันเองย่อมเป็นความว่างเปล่า ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปยึดถือจนก่อให้เกิดความเป็นตัวตนได้ ความเป็นจริงไม่เคยมีขันธ์ธาตุเกิดขึ้นมาก่อน หากกล่าวว่ามีขันธ์ธาตุเกิดขึ้น มันก็เป็นการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ธาตุด้วยความมีโมหะแห่งเราเอง จึงปรากฏความเป็นขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นในความรับรู้ และยึดเอาขันธ์ธาตุนั้นคือเรา มีความหมายในความเป็นตัวเป็นตนแห่งเรา
เพราะความเข้าไปยึดด้วยเหตุแห่งอวิชชาความไม่รู้ แต่ด้วยความเป็นจริงขันธ์ธาตุที่เราเข้าไปอาศัยและยึดมั่นถือมั่นมัน มันมีความเสื่อมโทรมมีความแก่ชรา มีความแปรเปลี่ยนไปในรูปทรงของมัน แปรเปลี่ยนไปในลักษณะที่จะพลัดพรากจากไป ด้วยความคงตัวรูปทรงเดิมของมันเอาไว้ไม่ได้ ขันธ์ธาตุหรือกายนี้ จึงเปรียบประดุจเรือนที่เราได้พักพิงอาศัยชั่วคราว ความแปรปรวนของมันเปรียบเสมือนเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้ ให้สูญสลายมอดหายไปในทุกกาลเวลานาที
เมื่อถึงเวลาที่ต้องอำลาจากกันไป ขันธ์ธาตุที่มาประชุมกันเป็นรูปกายเราเป็นอวัยวะต่างๆ มันก็พร้อมทำหน้าที่แห่งมัน เป็นหน้าที่ที่ต้องแยกย้ายสลายออกจากกัน ไปสู่ความเป็นธาตุเดิมของมัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แม้กระทั่ง ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ย่อมสลายหายไปอีกเช่นกันหามีตัวตนไม่
จึงเป็นการจากไปเพื่อกลับคืนสู่ฐานะดั้งเดิมตามธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นธรรมชาติที่คงปรากฏการณ์ “ความว่างเปล่า” ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน อยู่อย่างนั้นมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว เมื่อความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติมันเป็นเช่นนี้ สรรพสัตว์มนุษย์ผู้มืดบอดและไม่ยอมเข้าใจในกฎธรรมชาตินั้น จึงเอาความเคยชินซึ่งเป็นความทะยานอยากแห่งตน วิ่งไล่จับคว้าเงาของตนเองในความมืดอยู่อย่างนั้น เมื่อทุกสรรพสิ่งย่อมไม่มีตัวตนโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
การได้มาหรือการจากไป บนพื้นฐานความรู้สึกนั้นๆในความยึดมั่น จึงย่อมเป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่าและหาสาระอะไรไม่ได้เลย
………………………………
ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏมาในพระไตรปิฎก ถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น สามารถแบ่งแยกแยะออกเป็นชนิดแห่งธรรมได้สองประเภท คือ ธรรมที่มีคุณลักษณะเป็นสังขตธาตุ ซึ่งคือธรรมธาตุที่มีลักษณะปรุงแต่ง เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปโดยตัวมันเอง และธรรมที่มีคุณลักษณะเป็นอสังขตธาตุ ซึ่งคือธรรมธาตุที่มีลักษณะ ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันเองอยู่อย่างนั้น ก็ด้วยความที่พระพุทธองค์มาตรัสรู้และประกาศธรรมใน “กลียุค” เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในยุคนี้ ล้วนเป็นผู้มืดบอดไร้ซึ่งความมีปัญญาอันแท้จริง จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระพุทธองค์ต้องตรัสธรรมอันเป็นสังขตธาตุ คือ ธรรมว่าด้วยความมีความเป็น ความเป็นตัวเป็นตน ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ถึงแม้ธรรมเหล่านี้จะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้พ้นจากกองทุกข์ได้ แต่ด้วยการที่พระพุทธองค์ทรงมีความเมตตากรุณา แก่หมู่สัตว์น้อยใหญ่ ผู้ที่ยังต้องจมปลักอยู่ในเหตุปัจจัยแห่งตน และจะต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ โดยไม่อาจมีเหตุปัจจัยที่จะหลุดพ้นในยุคที่ พระพุทธองค์กำลังประกาศศาสนาได้เลย พระพุทธองค์จึงจำเป็น ต้องตรัสธรรมอันคือสังขตธาตุไว้ในทุกลักษณะ เพื่อความเหมาะสมแก่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เข้ามารับธรรมนั้น
พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่อง การกระทำกรรมและการรับผลแห่งกรรม เพื่อให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่มีปัญญามากพอ ที่จะเรียนรู้ศึกษาถึงธรรมซึ่งคือความเป็นจริงตามธรรมชาติได้ รับธรรมเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อให้เห็นคุณและโทษ แห่งการที่ตนได้ยึดมั่นถือมั่นและได้กระทำกรรมต่างๆเหล่านั้นออกไป
พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสเรื่องการรักษาศีล เพื่อบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่พอจะมีปัญญา แยกแยะถึงเหตุและผลได้พิจารณาถึงสภาพจิตใจของตน และให้ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยเหล่านี้ ได้ปรับปรุงสภาพจิตใจของตนเอง ด้วยศรัทธาที่จะงดเว้นการปรุงแต่งจิตของตน ไปในทางเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขแห่งใจตน และเพื่อความสงบสุขในสังคมที่ตนเองได้ดำรงชีวิตอยู่
พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสเรื่องการเจริญกรรมฐาน ก็เพื่อให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่พอจะมีปัญญาและความเพียรที่จะพัฒนาตนเอง ให้ไปสู่หนทางหลุดพ้นได้อย่างแท้จริงในกาลข้างหน้า ท่านจึงทรงแนะนำบัณฑิตเหล่านี้ ให้รู้จักอุบายเพื่อทำจิตใจของตนให้สงบไม่ซัดส่ายไปในทิศทางอื่น ก็ด้วยความสงบซึ่งเกิดจากการทำกรรมฐานนี้ เป็นภาวะที่ปราศจากสิ่งที่เป็นอุปสรรคของใจ ซึ่งมันเป็นธรรมที่เข้ามาทำให้จิตใจขุ่นมัวไป ในภาวะสับสนต่างๆตามเหตุตามปัจจัยแห่งมัน เมื่อจิตมีความสงบชั่วคราว มันก็จะเป็นบาทฐานที่จะทำให้สามารถพิจารณาธรรมต่างๆ ได้อย่างเข้าใจแจ่มแจ้งมากขึ้นกว่าเดิม
พระพุทธองค์ตรัสเรื่องธรรมอันคือธรรมชาติ ก็เพื่อให้เหล่าบัณฑิตที่มีปัญญามากพอแล้ว และมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้หลุดพ้นในชาตินี้หรือชาติต่อๆไปได้ เข้ามาทำความเข้าใจธรรมที่แท้จริง ซึ่งมันเป็นเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติที่นอกเหนือไปจากเหตุปัจจัย ที่จะทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องทนทุกข์ ไปเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้จบสิ้น
ก็ด้วยธรรมต่างๆเหล่านี้ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสมา และถูกรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎกถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น หาใช่ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสขึ้นมาเองก็หาไม่ และเป็นความจริงที่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย รวมทั้งพระพุทธองค์ด้วยนั้น “ล้วนมิได้แสดงธรรมอะไรเลย” ท่านเพียงแต่ได้ตรัสสิ่งที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ โดยเนื้อหาของมันเองแห่งธรรมชาตินั้นอยู่อย่างนั้น ธรรมบางอย่างก็มีเหตุและปัจจัยด้วยอาศัย “การที่มีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้อยู่” เช่นนั้นเป็นแดนเกิดแห่งธรรมนั้นๆ ธรรมบางอย่างก็เป็นธรรมที่เป็นสภาพอยู่นอกเหนือเหตุและปัจจัย ด้วยการที่มันเป็นเนื้อหาของมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น โดยมิต้องอาศัยเหตุและปัจจัยใดๆเป็นแดนเกิดแห่งธรรมนั้น การตรัสธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงเป็นเพียงการหยิบยกธรรมซึ่งมีเหตุปัจจัย ให้ท่านได้ตรัสในขณะนั้นขึ้นมากล่าว ตามสภาพแห่งธรรมในขณะนั้น ตามความเป็นจริงตามเหตุตามปัจจัยแห่งมัน
……………………………
ในคืนราตรีแห่งการตรัสรู้ ตถาคตเจ้าท่านทรงได้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมธาตุ แห่งความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ และด้วยความตระหนักอย่างชัดแจ้งในความจริง ของธรรมชาติแห่งสรรพสิ่งทั้งปวงนี้ ท่านจึงทรงตรัสเรียก “ความเข้าใจอย่างถูกต้อง” นี้ว่า “สัมมาทิฐิ” ซึ่งเป็นทิฐิความเห็นที่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ว่าธรรมชาตินั้นโดยสภาพแห่งมัน มันย่อมมีแต่ความว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้น
ก็ด้วยความเป็นมิจฉาทิฐิทั้งหลาย มันจึงเป็นความหลงผิดที่เกิดขึ้น เป็นความคิดเห็นที่เข้าใจผิดต่อความเป็นจริงไปต่างๆนานา มันจึงเป็น “ทาง” ที่มีความหลากหลายในการก้าวพลาดไป ในเส้นทางแห่งความหลงผิดนั้น และด้วยความจริงที่ปรากฏตามธรรมชาติว่า หนทางหลากหลายในมิจฉาทิฐิเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่เป็น “ความมีและความเป็นตัวตน” เกิดขึ้น มันมิใช่หนทางอันจะทำให้ท่านทรงพ้นทุกข์ได้ เมื่อท่านได้ค้นพบหนทางที่สว่าง ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ ท่านจึงตรัสเรียกหนทางอันคือ อริยมรรค นี้ว่า “ทางสายกลาง” มันเป็น “ทางสายกลาง” ที่จะพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดำเนินไปบนความนอกเหนือแห่งความมีความเป็นในทุกชนิดทุกรูปแบบ มันจึงเป็นทางสายกลางที่เป็นกลางโดยไม่มีความยุ่งเกี่ยว กับ “ความยุ่งเหยิงแห่งทิฐิที่มีความหลงผิดทั้งหลาย” ซึ่งมันเป็นความยุ่งเหยิงในความเกี่ยวพันแบบแนบแน่น ในความเห็นที่เป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้นแต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นทางสายกลาง มันจึงมีความเป็นกลาง “โดยสภาพธรรมชาติของมันเอง” เป็นสภาพที่เป็นเนื้อหาเดียวกันตลอดอยู่อย่างนั้น ในความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มันมิใช่ความเป็นกลางเพื่อเป็น “ภาวะ” ต่างหาก จากความมีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันมิใช่ความเป็นกลางเพื่อเป็น “ภาวะ” ต่างหาก จากความไม่มีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ในความเป็นกลางอย่างแท้จริงตามธรรมชาติแห่งสัมมาทิฐิ มันเป็นกลางที่เป็นความว่างเปล่าปราศจาก “ความมีหรือความไม่มี” ความว่างเปล่าตามธรรมชาตินั้น มันมิได้หมายถึง การยืนยันว่า “ไม่มี” สิ่งใดอยู่ แต่ความว่างเปล่าตามธรรมชาตินั้น มันก็ “ทำหน้าที่” ในความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมัน “อยู่อย่างนั้น” มันว่างเปล่าโดยตัวมันเอง มิได้ว่างเปล่าเพราะความมีหรือความไม่มีสิ่งใด มันจึงเป็นเพียงความว่างเปล่าของมัน ตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นเองแต่เพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้น “ความเป็นกลาง” ในทางสายกลาง มันจึงเป็น “ความเป็นกลาง” ตามธรรมชาติแห่งสภาพมันอยู่อย่างนั้น แต่ความหมายเดียว
……………………………..
การถ่ายทอดธรรมอันคือธรรมชาตินี้ มันเป็นเพียงการสื่อด้วยความเข้าใจ ในความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงเป็นหลัก การสื่อด้วยภาษาพุทธะนี้หรือไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ล้วนแต่มีความหมายไปในทางที่ทำให้เรา สามารถมีความซึมซาบกลมกลืนในความเป็นธรรมชาติ ของมันได้อยู่อย่างนั้นด้วยความแนบเนียนเป็นหนึ่งเดียว ในความเป็นเนื้อหาเดียวกันในธรรมชาตินั้น โดยไม่มีความรู้สึกถึงความแตกต่างและการแบ่งแยกออกเป็นสิ่งๆได้เลย ความเป็นหนึ่งเดียวแห่งทุกสรรพสิ่งในความเป็นธรรมชาตินั้น ก็คือความหมายแห่งการที่ “ธรรมชาติมันก็คงเป็นของมันอยู่อย่างนั้น” ซึ่งหมายความว่ามันเป็นของมันแบบนี้มานานแสนนานแล้ว และก็จะเป็นแบบนี้อยู่ตลอดไปตราบที่ไม่มีวันสิ้นสุด การอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และ “ความเข้าใจแล้ว” ในเนื้อหาธรรมชาตินี้ มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่นำเราไปสู่ ปากประตูแห่งธรรมชาติเท่านั้น มันเป็นปากประตูที่ยังอยู่ไกลแสนไกลนอกขอบวงพุทธะ ถึงแม้ความเข้าใจดังกล่าวมันจะเป็นเหตุผลให้เรา “เข้าถึง” ความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นได้ แต่โดยสภาพเนื้อหาแห่ง “การเข้าถึง” ซึ่งเป็นเหตุผลให้เราได้อิงแอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ตัวเราเองว่า นี่คือธรรมชาติแห่งพุทธะ ที่เราสามารถทำความเข้าใจและได้พบเจอะเจอมันแล้ว สภาพแห่งการเข้าถึงดังกล่าวมันจึงยังเป็นเพียง “ความฝัน” ที่คุณได้นอนหลับตาลง และความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น มันก็ได้ตามมาหลอกหลอนคุณ ให้คุณฝันถึง “สภาพของมัน” อย่างเป็นตุเป็นตะ ก็ถ้าเมื่อคุณตื่นและลืมตาขึ้น ก็เพียงแค่คุณลืมตาตื่นต่อความเป็นจริง และก็เมื่อคุณได้ก้าวข้ามประตูแห่งความสงสัยนั้น เข้ามาเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะนี้ได้แล้ว ซึ่งมันทำให้คุณไม่มีความแตกต่างอะไรเลย ในระหว่างความเป็นคุณเองกับความเป็นพุทธะนั้น มันจึงเป็นความเหมือนกันแบบถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ แห่งอาณาจักรพุทธะซึ่งมันมีความกว้างใหญ่ ไม่มีที่สิ้นสุดไม่มีประมาณ รวมเขตแดนได้ถึงความเป็นอนันต์แห่งล้านโกฏิจักรวาล
มันเป็นความหนึ่งเดียวกันที่ไม่เคยมีทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต มันเป็นความหนึ่งเดียวกัน “โดยไม่สามารถนำพาตัวเราเองออกไปจากมันได้” มันจึงไม่มีการออก ไม่มีการเข้า และไม่มีการเข้าถึง
………………………………..
เมื่อคุณกลับเหรียญด้านแห่งความรัก ความเกลียดชังก็จะปรากฏตัวขึ้นมาอย่างทันทีทันใด มันคือโลกแห่งปรากฏการณ์ความเป็นมายา เป็นโลกแห่งการเกิดขึ้นของทวิภาวะหรือภาวะแห่งความเป็นของคู่ มีความแปรเปลี่ยนจากภาวะหนึ่งสู่ความเป็นภาวะหนึ่งอยู่อย่างนั้น ก็ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยในเหตุปัจจัยหนึ่ง เมื่อหมดในเหตุปัจจัยนั้นๆแล้ว เหตุปัจจัยใหม่จึงเข้ามาแทนที่อยู่อย่างสม่ำเสมอ มันเป็นภาวะที่มาแล้วต้องจากไป มันไม่เคยมีความคงทนไม่เคยมีความสมบูรณ์แบบ ที่จะอยู่กับเราได้ตลอดไป โลกแห่งปรากฏการณ์จึงเป็นโลกที่มีแต่ความพร่องอยู่เป็นนิจ และในความพร่องนี้เองที่ทำให้มนุษย์ปุถุชนผู้มีความมืดบอด พยายามหาทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาเติมเต็มในความพร่องนั้น ด้วยความไม่รู้และความอยากแห่งตน ซึ่งแท้จริงมันก็ไม่มีวันที่จะทำความพร่องซึ่งอยู่ในสภาพถาวรนี้ ให้เต็มเปี่ยมขึ้นมาได้ มันไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ก็โดยรูปลักษณ์ของตัวมันเองในทวิภาวะ หรือความเป็นภาวะแห่งความเป็นคู่ ไม่ว่าจะเป็น ดีหรือชั่ว มืดหรือสว่าง สมหวังหรือผิดหวัง สะอาดหรือสกปรก ความร้อนหรือความเย็น ปฏิบัติหรือไม่ได้ปฏิบัติ รู้แจ้งหรือมืดมัว บรรลุหรือไม่บรรลุ มันย่อมไม่สามารถคงความเป็นสภาพของมันให้อยู่อย่างนั้นได้ตลอดไป เพราะโดยแท้จริงสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นมายาหามีตัวมีตนไม่ เมื่อหมดเหตุปัจจัยที่ทำให้มันได้แสดงปรากฏการณ์ของมันออกมา มันก็หยุดการทำหน้าที่ของมันโดยสภาพของมันเองอยู่แล้ว มันจึงเป็นความพร่องที่พร่องอยู่เป็นนิจโดยสภาพมันเองอยู่อย่างนั้น ก็โดยเนื้อหามันมันจึงไม่มีทางที่จะกลายเป็นอื่นไปได้
…………………………………..
หากเราหยั่งลึกลงไปให้ถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่มันมีแต่เนื้อหาตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้นในทางด้านเดียว และไม่มีวันที่จะเป็นไปในทางด้านอื่น ธรรมชาติมันจึงมิใช่ปรากฏการณ์ ธรรมชาติไม่ใช่เป็นอะไรที่มันหมายถึงความเป็นสิ่งสิ่งหนึ่ง และสิ่งสิ่งนั้นเราสามารถที่จะมีความรู้สึกกับมัน และจับฉวยมันเอามาเป็นส่วนส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ตามความต้องการและความปรารถนาของเราได้ ธรรมชาติมิใช่เป็นสิ่งที่เราต้องมีความต้องการ และมิใช่เป็นสิ่งที่จะต้องได้มันมา ธรรมชาติมันเป็นเนื้อหาที่เป็นความเป็นมันเองอยู่อย่างนั้น โดยมิใช่ความเป็นเนื้อหาที่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยใดๆ จึงจะมีความเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติเกิดขึ้น ก็ธรรมชาตินั่นแหละคือธรรมชาติ
มันเปรียบเสมือนเป็นเหรียญที่ไม่ว่าจะพลิกไปทางไหน ก็จะเจอแต่เหรียญด้านที่มีความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เป็นเหรียญที่ทุกด้านล้วนแต่มีความเสมอภาคกัน มีความเหมือนกันไม่แตกต่างในเนื้อหาในคุณลักษณะของมันเอง ธรรมชาติจึงเป็นโลกแห่งความสมบูรณ์พร้อม เป็นความสมบูรณ์ในความเสมอต้นเสมอปลาย ในความเป็นเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้น เป็นโลกแห่งธรรมชาติที่มีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ และเหล่าบัณฑิตทั้งหลายผู้ที่มีความสามารถและมีสติปัญญาอันรู้แจ้ง ได้สถิตอยู่ในทุกอณูธรรมธาตุ แห่งผืนแผ่นดินในความเป็นพุทธะนั้น
………………………………….
ด้วยอนาคตังสญาณแห่งปรัชญาตาระเถระ ที่ได้ล่วงรู้ด้วยอำนาจอภิญญาแห่งตนว่า ผืนแผ่นดินแห่งปัลลวะจะลุกเป็นไฟ เพราะการณ์ข้างหน้าจะเกิดเหตุมีศึกสงครามครั้งใหญ่ นับแต่ท่านจะได้ดับขันธ์ล่วงไปแล้ว 67 ปี เมื่อไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงกรรรมวิบากแห่งสรรพสัตว์ ที่ต้องชดใช้ซึ่งกันและกันนี้ได้ เมื่อเกิดอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง ในการเผยแผ่ธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมหาปรัชญาตาระเถระจึงได้แนะนำให้ลูกศิษย์ของตน คือ ท่านโพธิธรรม ให้ตระเตรียมการไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อถ่ายทอดธรรมนี้ไปยังผู้ที่สมควร จะได้รับธรรมให้สืบต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ท่านโพธิธรรมจึงวางแผนส่งพระภิกษุสองรูป ผู้ซึ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์และแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณ ให้เดินทางไปยังจีนล่วงหน้าก่อน เพื่อดูลาดเลาความเป็นไปในบ้านเมืองจีน
แต่การเดินทางมาถึงของภิกษุสองรูป กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากชนชาวจีนแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะด้วยการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน แต่การเดินทางเพื่อมาสำรวจล่วงหน้าของภิกษุสองรูปนี้ ก็มิได้เป็นการเสียเวลาเปล่า ภิกษุสองรูปนี้ก็ยังได้ถ่ายทอดธรรมอันแท้จริง ให้แก่ภิกษุชาวจีนรูปหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์มีลูกศิษย์มากมาย และเป็นเจ้าอาวาสวัดที่ภิกษุสองรูปได้เข้าพำนัก ซึ่งเป็นอารามที่อยู่บริเวณเทือกเขาหลู่ซัน ท่านพระอาจารย์รูปนี้มีนามว่า “ฮุ่ย เอวียน” ท่านฮุ่ย เอวียน เป็นพระที่เคร่งครัด ต่อการท่องสวดพระสูตรต่างๆในมหายาน เมื่อภิกษุสองรูปจากปัลลวะได้จาริกเดินทางมาถึงเขาหลู่ซัน และได้เข้าพำนักที่อารามแห่งนี้ จึงได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ฮุ่ย เอวียน พระอาจารย์ฮุ่ย เอวียน จึงถามภิกษุสองรูปนี้ไปว่า พวกท่านมาเผยแผ่ธรรมที่จีนนี้ได้นำเอาธรรมชนิดไหนเข้ามา แล้วทำไมล่วงมาถึงป่านนี้ชาวจีนจึงยังไม่ศรัทธาพวกท่าน ภิกษุชาวปัลลวะทั้งสองจึงได้โต้ตอบออกไปทันควัน ด้วยภาษามือที่สื่อกันโดยไม่ต้องออกเสียง ด้วยการยื่นมือไปข้างหน้าแล้วดึงมือนั้นกลับมาอย่างรวดเร็ว และภิกษุทั้งสองก็ได้กล่าวว่า ไม่ว่าความเป็นพุทธะที่ท่านอาจารย์อยากจะรู้ มันมีสภาพไม่ต่างกันเลยจากความทุกข์ที่ท่านอาจารย์ยังคงแบกไว้ มันก็มีอาการเกิดขึ้นและดับไปรวดเร็ว เช่นเดียวกับมือของข้าพเจ้าที่ยื่นให้ท่านดู ด้วยการเกิดขึ้นแห่งมัน และชักกลับคืนมา ด้วยการดับไปแห่งมันเช่นกัน และสิ่งที่ท่านเห็นอยู่ต่อหน้าด้วยความว่างเปล่าในอากาศ ด้วยความไม่มีอะไรของมันเองอยู่อย่างนั้น นั่นแหละคือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ ที่ข้าพเจ้าทั้งสองได้นำมาเผยแผ่ แต่หาคนรับธรรมนี้แทบไม่มีเลยสักคน เมื่อท่านอาจารย์ฮุ่ย เอวียน ได้ฟังได้เห็นดังนั้นแล้ว จึงมีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า ความอยากรู้ในสภาพธรรมที่แท้จริงของตนเองนั้น ที่จริงมันก็คือตัณหาใน “ความอยากรู้” และมันก็คือภาวะทุกข์ที่เกิดขึ้น และมันก็ไม่มีความแตกต่างจากความทุกข์เดิม ที่ตนเองมีก่อนอยู่แล้วและยังแบกมันอยู่ ด้วยภาวะแห่งการอยากแก้ไขทุกข์ของตน ด้วยการอยากรู้ธรรมอันแท้จริง กับภาวะทุกข์ที่ตนมีอยู่เดิม มันก็ล้วนเป็นความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ท่านจึงได้ตระหนักชัดรู้แจ้งในขณะนั้นเลยว่า แท้จริงธรรมชาติมันย่อมไม่มีอะไรอยู่แล้วโดยตัวมันเอง เหมือนอากาศที่มันว่างเปล่าที่อยู่ต่อหน้าท่าน ปราศจากมือที่ถูกชักกลับ แท้จริงธรรมชาติมันย่อมว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้วโดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น แท้จริงธรรมชาติมันย่อมคือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ อยู่แล้วโดยตัวมันเองเช่นกัน เมื่อท่านอาจารย์ฮุ่ย เอวียน ได้รู้แจ้งสว่างในธรรมแล้ว ท่านจึงได้นิมนต์ให้ภิกษุสองรูปชาวปัลลวะ ซึ่งกลายเป็นอาจารย์สอนธรรมท่านไปแล้วภายในพริบตาเดียว ได้พำนักอาศัยอยู่กับท่านที่นี่ และก็เป็นการมาที่มิได้ไปไหนอีกเลย ภิกษุสองรูปนี้ได้พำนักอาศัยอยู่ที่นี่ ตราบจนได้ดับขันธ์ทิ้งร่างสรีระไว้กลายเป็นศพ ถูกฝัง ณ เชิงเขาหลู่ซัน หลุมศพของภิกษุทั้งสองรูปนี้ ก็ยังปรากฏหลักฐานมาตราบจนทุกวันนี้ การตายของภิกษุทั้งสอง เป็นการตายเพื่อรอคอยพระอาจารย์ของตน คือท่านโพธิธรรมตั๊กม้อ มารับกลับไปเมืองปัลลวะที่อินเดีย เป็นการอยู่รอคอยถึงร้อยปี ณ หลุมฝังศพนั้น และภิกษุทั้งสองก็ได้เดินทางกลับปัลลวะพร้อมกับท่านโพธิธรรม เมื่อหลังจากที่ท่านโพธิธรรมได้เสียชีวิตลงแล้วศพหายไป
………………………………..
มรรคหมายถึงการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ จากสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปวง มรรคก็คือวิถีที่นำเราไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียว กับความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น มรรคก็คือการที่เราได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ตามธรรมชาติที่มันเป็นของเราอยู่อย่างนั้น โดยสามารถปลดปล่อยตนเองออกจากปรากฏการณ์ แห่ง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่มันเป็นอัตตาตัวตนเกิดขึ้น
ธรรมชาติแห่งพุทธะ คือธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่ทุกขณะ ตามความเป็นธรรมชาติของมันว่า ธรรมชาตินี้มันคือความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มรรคก็คือการที่ระลึกรู้ได้ตามธรรมชาติว่า ธรรมชาติมันยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้นตามปกติ เมื่อท่านเป็นปุถุชนคนหนึ่ง แต่สามารถเข้าใจและมีธรรมชาติแห่งการระลึกได้ตามธรรมชาตินั้น ก็ถือได้ว่าท่านได้เดินบนหนทางแห่งมรรคนั้นแล้ว แท้จริงแล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่ปรากฏการณ์อันเป็นตัวตนได้อย่างแท้จริง เพราะการเกิดขึ้นดังกล่าวมันไม่สามารถดำรงฐานะแห่ง “ความเป็นมัน” ได้อย่างมั่นคงถาวรได้อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เพราะธรรมชาติมันย่อมแปรปรวน มันจึงเป็นเพียง “มายา” แห่งปรากฏการณ์ เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญาอันเข้าใจได้ตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทุกสรรพสิ่งย่อมมีความเสมอภาคเป็นเนื้อหาเดียวกัน อันคือความเป็นจริงตามธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่า ได้เดินไปบนเส้นทางแห่งธรรมชาติอันคือมรรคนั้นแล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถถอนความเป็นตนเองออกจากภพทั้งสามได้
…………………………………….
ก่อนหน้าที่ท่านโพธิธรรมจะละทิ้งสังขารลาจากโลกนี้ไป ท่านได้เรียกประชุมบรรดาศิษยานุศิษย์ ผู้ที่มีความรู้ทางธรรมและอาจได้รับการสืบทอดให้เป็นทายาท ผู้สืบสานการเผยแผ่วิถีธรรมอันคือธรรมชาติ ให้คงดำรงอยู่ต่อสืบไปในภายภาคหน้า ท่านโพธิธรรมจึงได้ถามขึ้นกลางที่ประชุมว่า “ธรรมที่แท้จริงมันคืออะไร” หากพวกท่านตอบได้ เราจะมอบบาตรและจีวรของตถาคตเจ้านี้ให้ เพื่อเครื่องหมายแห่งการทำหน้าที่ ในวิถีธรรมต่อไปสืบไปในภายภาคหน้า
ภิกษุนาม “เต๋า หู” ได้ตอบว่า “การไม่ยึดติดในคัมภีร์หรือแม้แต่ตัวอักษร แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความหมายที่แท้จริงในตัวอักษรนั้นเลย ธรรมชาติที่แท้จริงอยู่เหนือการยอมรับและอยู่นอกเหนือการปฏิเสธ” ท่านโพธิธรรมจึงได้พูดขึ้นว่า “เต๋า หู เธอได้หนังของฉันไป”
ต่อมาศิษย์ผู้มีอาวุโสเป็นคนที่สอง เป็นภิกษุณีรูปเดียวในที่ประชุมนี้ มีนามว่า “จิ้งที้” ได้กล่าวตอบว่า “ธรรมที่แท้จริง เหมือนดังพุทธะภาวะแห่งตถาคตเจ้า ที่ได้เห็นเพียงครั้งเดียวและจะเป็นการได้เห็นมันอยู่ตลอดไปเจ้าค่ะ” ท่านโพธิธรรมจึงได้พูดต่อภิกษุณีจิ้งที้ว่า “ที่เธอกล่าวนั้นถูกต้องแล้ว เธอได้เนื้อของฉันไป”
ส่วนศิษย์คนที่สาม นามว่า “เต๋ายก” ได้ตอบว่า “ทุกสรรพสิ่งนี้ล้วนคือความว่างเปล่าตามธรรมชาติ ขันธ์ธาตุนั้นเป็นของว่างเปล่ามาแต่เดิม ก็ในธรรมชาติที่มันว่างเปล่าไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้น นั่นแหละคือธรรม” ท่านโพธิธรรมได้พูดขึ้นมาว่า “เธอได้กระดูกของฉันไป”
ส่วนศิษย์คนที่สี่ คือ เสินกวง เป็นผู้ซึ่งท่านโพธิธรรมได้เปลี่ยนชื่อให้ ตอนที่ท่านรับเป็นศิษย์ใหม่ๆว่า “ฮุ่ยเค่อ” เมื่อถึงลำดับที่ฮุ่ยเค่อจะต้องตอบคำถามว่าธรรมที่แท้จริงคืออะไร ฮุ่ยเค่อก็เอาแต่นิ่งหุบปากปิดปาก และเม้มปากของตนให้สนิทอยู่อย่างนั้น แล้วจ้องมาทางท่านโพธิธรรมโดยมิได้กล่าวอะไรออกมาเลย ท่านโพธิธรรมเมื่อเห็นฮุ่ยเค่อทำกริยาดังกล่าวและนั่งเงียบอยู่อย่างนั้นโดยมิได้กล่าวพูดอะไรออกมา ท่านโพธิธรรมจึงพยักหน้ารับและพูดขึ้นมาว่า “ฮุ่ยเค่อ เธอได้ไขกระดูกของฉันไป”
และในเวลานั้นเอง ท่านโพธิธรรมจึงได้ส่งมอบบาตรและจีวร ซึ่งเป็นของตถาคตเจ้าที่ตนได้รับสืบทอดมาและครอบครองไว้นั้น ส่งมอบต่อให้กับฮุ่ยเค่อต่อหน้าที่ประชุมของศิษยานุศิษย์ และท่านโพธิธรรมก็ได้กล่าวให้โอวาทแก่ที่ประชุมนั้น โดยกล่าวว่า ศิษย์ทุกคนของท่านล้วนแต่เป็นผู้ที่มีสติปัญญาความรู้ ในที่นี้ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มืดบอดไร้ซึ่งปัญญาอันรู้แจ้งเลย พวกเธอทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความเป็นบัณฑิตพร้อมด้วยกันทั้งสิ้น พวกเธอจงนำประสบการณ์ของพวกเธอเหล่านี้ที่ขึ้นตรงต่อธรรมชาติ จงออกโปรดบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยากไร้ พวกเธอจงดำรงตนตั้งมั่นในความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนี้ และจงช่วยกันถ่ายทอดธรรมชนิดนี้ให้ออกไปอย่างแพร่หลาย อย่าให้มันขาดสายสูญสลายหายไป ส่วนฮุ่ยเค่อเธอเป็นศิษย์ผู้ที่มีปฏิภาณในการตอบคำถามของฉัน และเธอก็เป็นผู้ที่มีความเข้าใจในธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมธาตุแห่งธรรมชาตินี้อย่างไม่เป็นที่สงสัย ก็ขอให้เธอจงทำหน้าที่ของเธอในการเป็นธรรมทายาทผู้สืบต่อจากฉัน การใดๆก็อย่าพึ่งเร่งรีบเพราะนับสืบต่อจากนี้ไป บ้านเมืองก็จะเกิดความวุ่นวาย ขอให้เธอจงเผยแผ่ธรรมในโอกาสที่เหมาะสม
………………………………..
เมื่อพวกเธอมีความเข้าใจตระหนักชัด ในธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวตน ก็เพียงแค่พวกเธอปล่อยให้ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันทำหน้าที่ของมันเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการที่เธอ “ได้ซึมซาบและกลมกลืน” กับมันแล้ว ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ มันก็จะทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ไม่มีความตกบกพร่องเลย มันก็จะปรากฏเนื้อหาของมันตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น “ไม่เป็นอื่น” มันเป็นความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตน แบบเสร็จเด็ดขาดอยู่อย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น “อยู่แล้ว” นี่คือ ตถตา ซึ่งคือ ธรรมชาติแห่งความหลุดพ้นจากภาวะการปรุงแต่งทั้งปวง ได้อย่างอิสระเด็ดขาดโดยเนื้อหาตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น
เมื่อพวกเธอตระหนักชัดและสามารถซึมซาบ กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ได้อย่างกลมกลืน ก็เท่ากับว่าพวกเธอทั้งหลายได้ทำหน้าที่ของพวกเธอเอง ในความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์บนโลกใบนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว พวกเธอได้ทำหน้าที่ “มนุษย์” ได้สมความภาคภูมิอย่างไม่มีที่ตำหนิ หลังต่อจากนี้ไป สิ่งใดๆที่พวกเธอจะหายใจและมีชีวิตอยู่ ก็เป็นการใช้ชีวิตอยู่แบบไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน ทนแบกความทุกข์ระทมอีกต่อไป ลมหายใจนั้นก็กลายเป็นลมหายใจแบบอุ่นๆกรุ่นละมุน ที่มันถูกฟอกออกมาจาก “หัวใจแห่งพุทธะ” อันบริสุทธิ์ของพวกเธอเอง ขาสองข้างของพวกเธอที่ยืนเหยียบบนโลกใบนี้ มันก็จะกลายเป็นการยืนได้อย่างมั่นใจ ในการที่พวกเธอจะดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แบบถูกทิศถูกทาง “เหมาะสมลงตัว” ตามที่มันควรจะเป็นไป
…………………………………..
เพราะธรรมชาติคือความเป็นจริงที่ไม่ซับซ้อน เป็นความเรียบง่ายในวิถีแห่งมัน ในความว่างเปล่าไร้ตัวตน สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงละทิ้งความซับซ้อนยุ่งเหยิงและความเหนื่อยหน่าย แห่งความมีความเป็นที่นำพาชีวิตของสรรพสัตว์ ให้โลดแล่นไปตามความทะยานอยากทั้งหลายเสีย แล้วหันหน้ามาทำความเข้าใจกับความจริงให้ตรงต่อความเป็นธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นเหตุและผลแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อนในความเป็นจริงแห่งตัวมันเอง แล้วธรรมชาตินั้น ก็จะพาท่านดำรงชีวิตไปบนวิถีที่เรียบง่ายแห่งมัน แต่ความเรียบง่ายนี้กลับเป็นความสุขที่ยืนยาวอย่างแท้จริง ตราบชั่วนิจนิรันดรในอมตธรรมนั้น
……………………………………
เมื่อฉันมาที่นี่ผู้เดียว ฉันจึงเป็นอาจารย์แต่ผู้เดียวที่สามารถสั่งสอนพวกเธอได้ ฉันได้รับวิธีการใดมาจากอาจารย์ของฉัน ฉันก็จะสอนพวกเธอไปแบบนั้น คำเทศนาที่พรั่งพรูออกมาจากหัวใจแห่งพุทธะของฉัน ที่พวกเธอได้ตั้งใจฟังนั้น มันเป็นคำสอนที่ล้วนออกมาจากสายเลือดแห่งความเป็นเซนของฉันเอง มันเป็นเลือดทุกหยดซึ่งคือประสบการณ์ในชีวิตของฉันทั้งชีวิต และเลือดแห่งเซนนี้ ก็นำพาฉันมาที่นี่เพื่อมาเป็นครูสอนพวกเธอโดยเฉพาะ ก็ทั้งร่างกายและจิตใจของฉันทั้งหมดนี่แหละ คือเซน คือธรรมชาติแห่งเซน พวกเธอทั้งหลายล้วนอย่าได้มีความวิตกกังวลใดๆเลย จงโปรดมอบความไว้วางใจนั้นหยิบยื่นมาให้แก่ฉัน ในฐานะที่ฉันเป็นอาจารย์ผู้ชี้หนทางอันสว่างให้แก่พวกเธอ ธรรมชาติที่ฉันตั้งใจจะมาถ่ายทอดให้กับพวกเธอนี้ ล้วนเป็นธรรมชาติอันสืบทอดมาโดยตรงจากองค์พระศาสดา อันจะทำให้พวกเธอไม่มีวันได้หลงออกไปจากหนทางที่แท้จริงนี้ได้อีก และมันจะทำให้พวกเธอได้ทำหน้าที่ของพวกเธอเองได้อย่างถูกต้อง และด้วยภาระหน้าที่อันสาหัสสากรรจ์ ฉันก็จะใช้ความอดทนและรอคอย ต่อความเป็นไปใน “การนับหนึ่ง” เพื่อให้ถึงความสมบูรณ์พร้อมในวันข้างหน้า ฉันเป็นเพียงฐานะตัวแทนแห่งกลีบเดียวของดอกไม้ดอกนั้น กาลเวลาและเหตุปัจจัย ในการลงมาทำหน้าที่ของเหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลาย ที่พวกเขาเหล่านี้ “ผูกใจไว้” ด้วยความศรัทธายิ่งต่อพระตถาคตเจ้า การสืบสายธรรมของเหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลายนี้ ก็จะเป็นไปอย่างบริบูรณ์พรั่งพร้อมในวันข้างหน้า เมื่อกลีบดอกไม้รวมได้ครบหกกลีบ และดอกไม้นั้นได้ผลิบานออกมา มันจึงเป็นนิมิตหมายถึงเมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะอันจำนวนมากมาย ที่สามารถแพร่กระจายเจริญเติบโต กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ไปทั่วดินแดนแห่งจีนนี้
…………………………………
จิตและโลกมันอยู่ตรงข้ามกันเสมอ การรู้เห็นด้วยความเป็น”จิต” ที่ทำให้ความหมายแห่งความเป็นโลกเกิดขึ้น เป็นการรู้เห็นเกิดจากการพบเห็นโดยใช้จิตเพ่งมองดู แต่เมื่อโลกและจิตทั้งสองมีความเสมอภาคแจ่มแจ้งเท่ากัน จึงเป็นการใช้จิตตามธรรมชาติมองดูโลกนี้ตามความเป็นจริง จึงเป็นการเห็นแบบสัมมาทิฐิ การมองไม่เห็นสิ่งใดๆ คือการเข้าใจมรรค การไม่เข้าใจสิ่งใดๆเลย คือการเข้าใจธรรมะ เพราะการเห็นที่แท้จริงมิใช่การมองเห็นหรือการมองไม่เห็น และการเข้าใจที่แท้จริงมิใช่การเข้าใจแล้วหรือยังมิได้เข้าใจ การเข้าใจโดยที่มิต้องอาศัยการเข้าใจ การเข้าใจจึงเป็นการเข้าใจตามความเป็นจริง การเห็นตามความเป็นจริงมิใช่เป็นการเห็นแต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นการเห็นตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นโดยมิต้องใช้วิธีดู และสัมมาทิฐิมันมิใช่เป็นการเห็นด้วยสติปัญญาแต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นการเห็นตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อท่านได้เป็นสิ่งเดียวกันกับธรรมชาตินั้นแล้ว จึงมิใช่เป็นเรื่องของความเข้าใจและความไม่เข้าใจ ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติมันมิใช่ความเข้าใจในภาวะที่เกิดขึ้น
…………………………………
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน แห่งตนย่อมพาสร้างกรรม แต่กรรมมิได้เป็นผู้สร้างคน เพราะคนคือธรรมชาติที่เป็นมาอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะเขาพากันก่อกรรมต่างๆ และต้องรับผลแห่งกรรมนั้นไปบนหนทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด ความเป็นคนไม่เคยพ้นเส้นทางกรรม มีแต่คนที่รู้จักตนเองในความเป็นธรรมชาติแห่งตนที่ได้เกิดมา คนเหล่านี้ได้เดินไปบนมรรคแห่งความเป็นธรรมชาติแล้ว ย่อมไม่สร้างกรรมในชีวิตนี้และไม่ต้องรับผลกรรม บุคคลผู้เดินอยู่บนมรรคอันบริบูรณ์ถึงพร้อมนี้ อาจสร้างกรรมด้วยการกระทำแสดงออก แต่บุคคลเหล่านี้ก็มิได้สร้างความเป็นตัวเอง ในความเป็นตัวตนในการกระทำนั้น ปุถุชนผู้ชอบทำกรรมและยืนยันอย่างผิดๆต่อความเป็นจริงว่า “กรรมที่ทำย่อมไม่มีผลตอบสนอง” ก็ในเมื่อพวกเขาคิดเช่นนี้ หากกรรมเหล่านั้นให้ผลตอบสนอง พวกเขาจะทนทุกข์ได้หรือไม่ เขาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจิตปัจจุบันของเขาเองได้สั่งสมกรรมอะไรมา สภาพจิตที่เกิดขึ้นด้วยการยึดมั่นถือมั่น ด้วยเหตุและปัจจัยในกาลข้างหน้า ก็ย่อม “เก็บเกี่ยวผล” มีความเกี่ยวข้องกับผลกรรมนั้นอีกต่อไป และพวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับกรรมเหล่านี้ เพราะพวกเขายังไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงตามธรรมชาติ พวกเขาจะหลบหลีกผลกรรมนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าความเป็นจริง พวกเขาได้รู้จักความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะของตน และเป็นอิสระอยู่นอกเหนือกรรม จิตอันเป็นปัจจุบันของพวกเขา ก็เป็นจิตที่เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ แล้วสภาวะจิตของพวกเขาในวันข้างหน้า ก็คงเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติเช่นนี้อยู่เหมือนเดิม จึงเป็นจิตที่ไม่สามารถสั่งสมกรรมได้อีกต่อไป
……………………………………
ไม่มีจิตก็ไม่มีพุทธะ ปราศจากพุทธะก็ไม่มีจิต ใครก็ตามที่พูดถึงการปลดเปลื้องแห่งจิต เขาผู้นั้นก็ย่อมอยู่ห่างจากจิตอันแท้จริง เพราะจิตอันคือธรรมชาติแห่งความเป็นจริงอยู่อย่างนั้น มันเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้วไม่มีอะไรให้ปลดเปลื้อง เพราะฉะนั้นจงอย่ายึดมั่นในปรากฏการณ์แห่งจิต และจะต้องเข้าไปปลดเปลื้องจิตอันคือปรากฏการณ์นั้นๆ ในพระสูตรกล่าวว่า “เมื่อท่านได้เห็นปรากฏการณ์แห่งจิต ท่านก็เห็นพุทธะ” ซึ่งหมายความถึง เมื่อท่านเข้าใจได้ตามความเป็นจริงแล้วว่า แท้จริงมันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่สามารถยึดมันให้เป็นตัวเป็นตน ตามความปรารถนาของท่านได้ตลอดไป มันเป็นเพียงความว่างเปล่าตามธรรมชาติอยู่แล้ว หาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ เมื่อปรากฏการณ์ย่อมมิใช่ปรากฏการณ์ด้วยความเป็นจริงตามธรรมชาติ ท่านก็ได้เห็นธรรมชาติแห่งพุทธะแล้ว
……………………………………..
อัตตาเป็นทรัพย์ของปุถุชน อนัตตาเป็นอริยทรัพย์ของบัณฑิต เมื่อท่านได้ทำความเข้าใจรู้จักความเป็นธรรมชาติ ความเป็นอนัตตาคือธรรมชาติแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นญาณที่ดีที่ทำให้ท่านเข้าถึงความเป็นธรรมชาตินั้นๆ โดยไม่ต้องทำอะไรลงไปอีกเลย เมื่อจิตเข้าถึงนิพพานอันคือธรรมชาติที่แท้จริงแห่งจิต ท่านก็จะไม่เห็นนิพพานในลักษณะเป็นภาวะนิพพานที่มันเกิดขึ้น แต่ถ้าท่านเห็นนิพพานด้วยความเป็นจิตแห่งภาวะที่เกิดขึ้น ท่านก็กำลังหลงตัวเอง
……………………………………..
การเห็นรูปแต่ธรรมชาติแห่งจิตไม่เศร้าหมองเพราะรูปนั้น การได้ยินด้วยธรรมชาติแห่งจิตนั้น ชื่อว่าเป็นการดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตหลุดพ้น อันคือความเป็นไปในความเป็นธรรมชาติของจิตนั้นนั่นเอง ตา ที่มองเห็นด้วยความเป็นธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่า เซน หู ที่ได้ยินด้วยความเป็นธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่า เซน เช่นกัน กล่าวโดยสรุปบุคคลที่ยอมรับว่าชีวิตตนคือธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น ชื่อว่า จิตอันหลุดพ้นเพราะความเป็นธรรมชาตินั้น เมื่อท่านมองดูรูปด้วยความเป็นธรรมชาติของจิต รูปก็ไม่ขึ้นต่อจิต และจิตก็ไม่ขึ้นต่อรูปทั้งรูปและจิตนี้ต่างก็บริสุทธิ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว
เมื่อปราศจากโมหะ จิตก็คือธรรมชาติแห่งพุทธะ เมื่อโมหะมี จิตก็คือจิตแห่งการยึดมั่นถือมั่น อวิชชาสร้างความหลงและให้จิตสร้างภพชาติให้เกิดขึ้น ปุถุชนจึงหลงไปเกิดในดินแดนแห่งการเกิดการตายนับไม่ถ้วน พระโพธิสัตว์ได้รู้แจ้งแทงตลอดถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ ท่านจึงเลือกที่จะอยู่เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น
ถ้าท่านไม่ใช้จิตปรุงแต่ง จิตโดยธรรมชาติมันนั้นมันคือธรรมชาติแห่งความหยุดนิ่ง ปราศจากความเคลื่อนไหวปรุงแต่งใดๆกลายเป็นจิตต่างๆนานา จิตมันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มันจึงชื่อได้ว่า ธรรมชาติแห่งการหยุดนิ่งภายใน เมื่อท่านหลงไปปรุงแต่งจนเกิดเป็นภาวะแห่งจิต ท่านก็จะหลงไปทำกรรมดีกรรมชั่ว ต้องไปเกิดในนรก ในสวรรค์
………………………………
พระสูตรกล่าวว่า “เมื่อท่านเห็นปรากฏการณ์ทั้งปวงไม่เป็นปรากฏการณ์ ท่านย่อมเห็นตถาคตเจ้า” ประตูที่นำไปสู่สัจจะความเป็นจริงนั้นเป็นหมื่นเป็นแสน ทุกๆประตูเหล่านี้ก็สงบออกมาจากจิต เมื่อปรากฏการณ์แห่งจิตก็มิใช่จิตที่แท้จริง มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่มิได้เกิดขึ้นเป็นตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด มันย่อมเลือนหายไปเหมือนมิได้ปรากฏขึ้นมาก่อนเลย มันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่มิใช่ปรากฏการณ์ เมื่อปุถุชนมีชีวิตอยู่ เขาย่อมกังวลถึงความตาย และเมื่อพวกเขามีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข พวกเขาก็กังวลถึงความหิว ที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาใช้ชีวิต ด้วยความอยากแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อยู่ตลอดเวลา ผู้รู้แจ้งย่อมมีชีวิตอยู่เพื่อรอสัจธรรมแห่งชีวิตคือความตาย ผู้รู้แจ้งเมื่อชีวิตเขามีความสุข พวกเขาก็มีความสุขที่แท้จริงแห่งสัจธรรมตามธรรมชาติ เขาย่อมไม่มีความกังวลใดๆ เมื่อหิวเขาก็ย่อมกิน เมื่อง่วงเขาก็ย่อมนอน
ชีวิตของปุถุชนคือชีวิตที่แปรผันไปตามเหตุและปัจจัยอยู่เสมอ แต่ชีวิตของบัณฑิตผู้ที่เดินบนมรรค ย่อมไม่กังวลถึงอดีต และไม่คิดถึงอนาคต และไม่ยึดติดอยู่กับความเป็นปัจจุบัน จิตอันคือธรรมชาติของบัณฑิตเหล่านี้ย่อมเป็นอิสระอย่างแท้จริง ย่อมอยู่นอกเหนือการไปการมาแห่งทุกห้วงของกาลเวลา ถ้าท่านเป็นผู้มืดบอดหลงอยู่ในวังวนแห่งชีวิตตนเอง ก็ขอให้ท่านรีบตื่นออกมาจากความหลับใหล
…………………………………
ในพระสูตรกล่าวว่า “พระพุทธเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะอาศัยอยู่กับอสรพิษทั้งสาม และรักษาบำรุงเองด้วยธรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านี้” ก็เพราะปรากฏการณ์ทั้งหลายที่แสดงฐานะแห่งมัน ปรากฏเป็นความทุกข์เกิดขึ้นอันได้แก่อสรพิษคือ ความโลภ โกรธ หลง พระพุทธเจ้าได้ใช้ธรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านี้ มารักษาใจของพระพุทธองค์เอง ด้วยการพิจารณาด้วยพุทธิปัญญาของพระพุทธองค์ ถึงความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ ว่าแท้จริงธรรมชาติเหล่านี้มันหามีความเป็นตัวเป็นตน ปรากฏขึ้นมาอย่างแท้จริงไม่ พระพุทธองค์จึงใช้ความเป็นจริงตามธรรมชาติแห่งอสรพิษเหล่านี้ มารักษาใจของพระองค์เองจนกลายเป็นใจแห่งพระพุทธเจ้า ที่มีความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติที่แท้จริงอยู่อย่างนั้น
ในพระสูตรกล่าวอีกว่า “ไม่มียานใดเลย เป็นยานของพระพุทธเจ้า” ใครก็ตามรู้แจ้งชัดว่า อายตนะทั้งหก ไม่ใช่ของจริง ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาพลวงตา แท้ที่จริงธรรมชาติไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์มาก่อน เพราะแท้ที่จริงแล้วธรรมชาติย่อมมีแต่ความว่างเปล่า ของมันตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เมื่อผู้ใดเข้าใจความเป็นจริงดังนี้ได้แล้ว ถือว่าผู้นั้นเข้าใจภาษาของพระพุทธเจ้า และได้ยานแห่งธรรมชาตินั้นพาไปสู่ความเป็นอิสรภาพชั่วนิจนิรันดร
…………………………………
สถานที่ที่ไม่น่าอยู่มีความอึดอัดคับแคบ คือสถานที่แห่งภพทั้งสาม ในความโลภ โกรธ หลง เมื่อมีความปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็เข้าไปอยู่ในภพทั้งสาม เมื่อรู้แจ้งและเข้าถึงธรรมอันเป็นธรรมชาติ ก็สามารถออกมาจากภพทั้งสามได้ การเริ่มหรือการอยู่กับภพทั้งสามก็ขึ้นอยู่กับจิต จิตนี้ย่อมเข้าถึงได้ทุกสรรพสิ่ง ใครก็ตามที่รู้ว่า จิตมันเป็นเพียงมายาแห่งภาวะที่เกิดขึ้นเป็นจิตต่างๆ จึงเป็นผู้รู้ว่าจิตนี้คือธรรมชาติแห่งความว่าง แต่ปุถุชนผู้ปกคลุมไปด้วยจิตของตนที่เป็นภาวะแห่งการปรุงแต่ง จึงชอบอ้างว่า “จิตมีอยู่” แต่โพธิสัตว์ทั้งหลายและพระพุทธเจ้า รู้แจ้งชัดถึงการไม่ปรุงแต่งและการปรุงแต่งเป็นจิต ซึ่งหมายถึงมิใช่การไม่มีอยู่ของจิตหรือการมีอยู่ของจิต มันมิใช่ความหมายทั้งสองนี้ในเรื่องการมีหรือไม่มี แต่มันเป็นเพียงธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องของจิต และมันไม่ใช่การเป็นเรื่องความมีหรือไม่มีจิต แต่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันจึงเป็นทางสายกลางอย่างแท้จริง มันเป็นกลางนอกเหนือความมีอยู่หรือไม่มีอยู่
ถ้าท่านศึกษาความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอันคือสัจจะ โดยไม่ใช้จิตมาเกี่ยวข้อง ท่านก็สามารถเข้าถึงความเป็นจริงอันคือสัจจะ และความเป็นจริงแห่งจิตได้ บุคคลผู้มืดบอดไม่มีปัญญาอันแท้จริงย่อมไม่เข้าใจสัมมาทิฐิ บุคคลผู้มีปัญญาอันแจ้งชัดย่อมเข้าใจในสัมมาทิฐิ บุคคลที่รู้ว่าธรรมชาติและจิตเป็นสิ่งเดียวกันมาตั้งแต่ต้น รู้ว่าแท้จริงจิตคือธรรมชาติที่มันว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น ก็คือบุคคลที่ได้ปัญญาแห่งความเป็นพุทธะแล้ว คนเหล่านี้ย่อมอยู่เหนือภาวะแห่ง การมีอยู่แห่งปัญญาญาณและการไม่มีอยู่แห่งปัญญาญาณ นั่นคือความเป็นสายกลางแห่งสัมมาทิฐิ
เมื่อได้ดำเนินไปในทางสายกลาง รูปจึงมิใช่รูป เพราะรูปมีความเสมอภาคกับธรรมชาติแห่งจิต จิตและรูปเป็นเพียงเหตุได้อาศัยซึ่งกันและกัน มันจึงมิใช่ความหมายแห่งการมีรูปและมีจิต มันจึงมิใช่เป็นการเกิดขึ้นแห่งการมีอยู่ของการที่รูปกับจิตได้อาศัยกัน ทางสายกลางจึงเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มิได้เกี่ยวกับอะไรและอะไรระหว่างรูปกับจิต
……………………………………
ความทุกข์ยากคือเมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ ความทุกข์เป็นสัจธรรมความเป็นจริง ที่เข้ามากระตุ้นให้ปุถุชนใช้ปัญญาพิจารณา ถึงธรรมชาติแห่งทุกข์นั้น
แต่ท่านอาจคิดไปว่า ทุกข์ทำให้พุทธะภาวะเกิดขึ้น แต่ไม่อาจกล่าวว่าทุกข์เป็นพุทธะภาวะ แต่ความเป็นจริงตามธรรมชาติ ทุกข์และพุทธะต่างก็เป็นเพียงเหตุและปัจจัย อาศัยซึ่งกันและกันแต่เพียงเท่านั้น ทุกข์และพุทธะต่างก็มีความเสมอภาคกัน ด้วยความเป็นเนื้อหาเดียวกันในความเป็นจริงตามธรรมชาตินั้น กายและจิตของท่านเปรียบเสมือนดั่งท้องทุ่งนา ทุกข์คือเมล็ดพืช ปัญญาคือต้นกล้า พุทธะคือเมล็ดข้าว อุปมาอีกอย่างหนึ่ง จิตอันคือธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นเปรียบเสมือนกลิ่นหอมในไม้ พุทธะเกิดจากธรรมชาติแห่งจิตที่มีความเป็นอิสระอยู่อย่างนั้น มันเป็นเหตุให้อาศัยซึ่งกันและกันในความเป็นธรรมชาตินั้น ถ้ามีกลิ่นหอมโดยปราศจากไม้ ก็เป็นกลิ่นหอมที่ประหลาด
……………………………………….
เมื่อปราศจากโมหะ จิตก็คือธรรมชาติแห่งพุทธะ เมื่อโมหะมี จิตก็คือจิตแห่งการยึดมั่นถือมั่น อวิชชาสร้างความหลงและให้จิตสร้างภพชาติให้เกิดขึ้น ปุถุชนจึงหลงไปเกิดในดินแดนแห่งการเกิดการตายนับไม่ถ้วน พระโพธิสัตว์ได้รู้แจ้งแทงตลอดถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ ท่านจึงเลือกที่จะอยู่เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น
ถ้าท่านไม่ใช้จิตปรุงแต่ง จิตโดยธรรมชาติมันนั้นมันคือธรรมชาติแห่งความหยุดนิ่ง ปราศจากความเคลื่อนไหวปรุงแต่งใดๆกลายเป็นจิตต่างๆนานา จิตมันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มันจึงชื่อได้ว่า ธรรมชาติแห่งการหยุดนิ่งภายใน เมื่อท่านหลงไปปรุงแต่งจนเกิดเป็นภาวะแห่งจิต ท่านก็จะหลงไปทำกรรมดีกรรมชั่ว ต้องไปเกิดในนรก ในสวรรค์
………………………………………..
จิตสู่จิต
ตราบใดที่ท่านยังไม่เข้าใจพุทธะที่แท้จริง หนทางที่ท่านเดินมันก็ยังคงเป็นหนทางที่ ได้สร้างกรรมให้กับตนเองอยู่ร่ำไป หนทางนี้จะพาให้ท่านต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เต็มใจก็ตามที แต่เมื่อท่านได้ประจักษ์ในความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว ธรรมชาตินี้ก็จะพาท่านหยุดสร้างกรรม และก็ไม่ต้องไปตายไปเกิด
ท่านอาจารย์ของฉัน คือ ท่านมหาปรัชญาตาระ ซึ่งเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 27 ท่านได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดรอยประทับจิตซึ่งเป็นการถ่ายทอดจิตสู่จิต เป็นการถ่ายความเข้าใจคือความเป็นจริงในธรรมชาติ มาสู่ความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นจิตของฉันเอง ดังนั้นการที่ฉันมาสู่ประเทศจีน ก็ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวก็คือ การถ่ายทอดธรรมอันคือธรรมชาตินี้ ให้แก่ชนชาวจีนได้สืบทอดธรรมเหล่านี้ต่อไป
ก็ “จิต” ที่พูดถึงนี่เองคือพุทธะ มันมิใช่จิตที่เป็นภาวะแห่งการเคลื่อนไหวไปในปรากฏการณ์ต่างๆ แต่มันเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง จิตสู่จิต ก็คือความชี้ตรงถึงความเป็นธรรมชาติ สู่ความเป็นธรรมชาติของพวกท่านเอง เมื่อจิตนี้คือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ มันจึงเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มิได้เกี่ยวกับการถือศีล การให้ทาน หรือการเคร่งครัดในข้อวัตรแบบฤาษี เป็นการทานข้าววันละมื้อ การเข้าฌาน การบำเพ็ญเหล่านี้เป็นความคลั่งไคล้ ซึ่งคุณเอาจิตของคุณเองเข้าไปยึดติดโดยความชอบ และคิดว่ามันคือสิ่งที่จะทำให้ความเป็นพุทธะเกิดขึ้นได้ ความคลั่งไคล้เหล่านี้เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งความเป็นภาพพจน์แห่งพุทธะ ให้เกิดขึ้นตามจินตนาการของเขา ที่ออกนอกเส้นทางความเป็นธรรมชาติไป เมื่อท่านได้หยุดพฤติกรรมการจินตนาการถึงพุทธะเหล่านี้ทิ้งไปเสีย แล้วหันหน้าเผชิญกับความเป็นจริง ตามที่ธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว จิตอันคือการรู้แจ้งแห่งธรรมชาติเหล่านี้ ก็จะเป็นเช่นเดียวกันกับจิตของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์
พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ล้วนแต่กล่าวถึงการถ่ายถอดเรื่องจิต พระพุทธองค์ไม่สอนธรรมชนิดอื่นเลย ท่านสอนแต่ความเป็นจริงตามธรรมชาติเท่านั้น และถ้าหากผู้ใดเข้าใจและเข้าถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติเหล่านี้ได้ ถึงแม้เขาจะไม่มีความรู้อะไรเลย และไม่สามารถอ่านหนังสือออกได้ แต่ความเป็นจริงที่พวกเขาได้ตระหนักชัด ที่ทำให้เขาเป็นพุทธะที่แท้จริงได้คนหนึ่ง แต่ถ้าท่านไม่พบความเห็นแจ้งอันคือธรรมชาติแห่งตน ไม่เห็นธรรมชาติแห่งการตื่นออกมาจากการหลับใหลมืดมิด ท่านก็จะไม่พบพระพุทธเจ้าเลย และไม่มีวันที่จะได้รู้จักความเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงได้เลย ต่อให้ท่านต้องปฏิบัติอย่างหนักหน่วง จนทำลายตัวเองให้เป็นผุยผงย่อยยับไปเลยก็ตาม
……………………………………….
เป็นเพียงเพราะเราเข้าไปยึดการปรากฏขึ้นแห่งภาวะ เป็นการเข้าไปยึดติดในรูปกาย จึงเกิดภาวะเคลื่อนไหวไปในทางทวิภาวะแห่งความเป็นคู่ เช่น ร้อนเย็น หิวกระหายและอิ่ม จึงเกิดเป็นมลทินแห่งตัณหา อุปาทาน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ในความเป็นจริงตามธรรมชาติแห่งพุทธะ ธรรมชาตินั้นมันบริสุทธิ์โดยตัวมันเอง มันเป็นความบริสุทธิ์โดยพื้นฐานแห่งความเป็นไปตามธรรมธาตุ มันเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจมีใครเข้ามาทำให้มันเศร้าหมองลงไปได้เลย มันเป็นความบริสุทธิ์มาแต่เดิมของมัน มันเป็นธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์ที่ปราศจากการเคลื่อนไหว ไปในทิศทางใดแห่งความมีตัวมีตนทั้งสิ้น ธรรมชาติมันจึงไม่หิวไม่อิ่ม ไม่อุ่นไม่เย็น ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่รักไม่ชัง ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่สุขไม่ทุกข์ จริงๆแล้วธรรมชาติมันไม่มีอะไรเลย มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เพราะมันมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนตามธรรมชาติ เราจึงเรียกความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยของมันว่า “ความบริสุทธิ์” คือความที่มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ปราศจากสิ่งอื่นเข้ามาเจือปนปะปนกับมันได้ นี่คือความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติแห่งพุทธะ เมื่อท่านเข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว ท่านปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปตามหน้าที่ของมัน ซึ่งมันก็ทำหน้าที่ของมันตามความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น ท่านก็จะพ้นจากการเกิดและการตาย ท่านก็จะเป็นอิสระเป็นนายเหนือความต้องการของตนเอง ซึ่งธรรมชาติแห่งพุทธะที่ท่านได้พบนี้ มันคือธรรมชาติแห่งความสงบสุขในทุกหนทุกแห่ง
………………………………………….
การไม่แบ่งแยกหมายถึง ทุกข์กับนิพพานไม่มีความแตกต่างกัน หากเห็นว่ามีความแตกต่างกัน นิพพานที่เห็นก็เป็นเพียงนิพพานแห่งภาวะ ที่คุณปรุงแต่งถึงความเป็นหน้าตาแห่งมันขึ้น เพราะทุกข์กับนิพพานแท้จริงมีความเสมอภาคกัน ในความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น หากเห็นว่ายังแตกต่าง การเข้าถึงที่สุดแห่งความทุกข์และการเข้าสู่นิพพาน ก็เป็นเพียงภาพแห่งความคิดของเราแต่เพียงเท่านั้น เป็นการติดกับดักในความเป็นปรากฏการณ์แห่งนิพพานที่เกิดขึ้น นิพพานชนิดนี้มันย่อมตั้งอยู่ในสภาพแห่งมันได้ไม่นาน ภาวะแห่งนิพพานนี้ มันต้องดับไปในความเป็นตัวเป็นตนแห่งนิพพานอยู่อย่างนั้น แท้จริงหามีภาวะแห่งนิพพานปรากฏเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้นไม่ มันคงมีแต่ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น แต่ผู้ที่รู้แจ้งย่อมรู้ชัดว่าความทุกข์ โดยสาระตามความเป็นจริง มันคือความว่างตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น การตระหนักอย่างชัดแจ้งและกลมกลืน เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งความว่าง มันก็คือนิพพานโดยเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้น
……………………………………………..
ด้วยทิฐิซึ่งเป็นความเข้าใจอย่างถูกต้องอันคือธรรมชาตินี้ มันเป็นปฐมบททำให้พวกคุณสามารถตะเกียกตะกายขึ้นมา จากบ่อโคลนตมแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งมันเป็นความหนาแน่นไปด้วยความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น และกลับมามีสติระลึกได้ตามธรรมชาติอย่างแท้จริงว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติมันย่อมปรากฏเนื้อหาแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น และด้วยธรรมชาติแห่งความระลึกได้อยู่ทุกขณะเรื่อยไป ในความตระหนักอย่างชัดแจ้งในความเข้าใจในทิฐิที่ถูกต้อง มันก็ทำให้พวกคุณได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาตินั้น แต่แล้วในบางขณะ ก็ด้วยอนุสัยที่สั่งสมมาในความเป็นตัวตนของพวกคุณเอง มานานมากแล้ว ความเคยชินที่ชอบปรุงแต่งจิตไปในเรื่องราวต่างๆ ด้วยอวิชชาที่อาจยังคงมีอยู่ มันก็อาจทำให้พวกคุณมองเห็นไปตามสภาพความเคยชินเดิมๆ และก็อาจจะเผลอเข้าไปยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นจิตต่างๆขึ้นมาอีก
…………………………………………….
การไม่เป็นทุกข์กับการมาและการไป เป็นการเข้าถึงมรรค การรู้จักธรรมชาติและการไม่สร้างความหลงขึ้นมาอีก คือ โพธิ การดำรงชีวิตบนพื้นฐานความเป็นจริงตามธรรมชาติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับอวิชชาคือญาณปัญญา การพ้นจากความทุกข์ยาก คือ พระนิพพาน การหลุดพ้นจากจิตทั้งหลายอันคือมายา คือการเข้าถึงฝั่งแห่งวิมุตติ เมื่อยังถูกอวิชชาครอบงำ ท่านก็อยู่ฝั่งนี้ ฝั่งที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เมื่อท่านรู้แจ้งในธรรมชาติท่านก็มิได้อยู่ฝั่งนี้ ปุถุชนทั้งหลายผู้หลงอยู่ในความมืดบอด ก็ยังต้องอยู่ฝั่งนี้ แต่บุคคลผู้เดินไปตามมรรคที่มันเป็นความบริบูรณ์พร้อม ก็มิได้อยู่ฝั่งทางนี้หรือฝั่งทางไหน บุคคลผู้มีความสว่าง สามารถมองและรู้ด้วยใจของตนเองว่าอะไรเป็นอะไร บุคคลเหล่านี้ย่อมสามารถก้าวข้ามฝั่งทั้งสองนี้ไป ย่อมทิ้งฝั่งทั้งสองไปได้ บุคคลผู้ยังเห็นความแตกต่างระหว่างฝั่งนี้และฝั่งโน้น บุคคลเหล่านี้ชื่อว่ายังไม่เข้าใจธรรมชาติและยังไม่ใช่เซน
……………………………………………..
พระสูตรกล่าวว่า “ไม่มีธรรมชาติที่เป็นตัวของมันเองได้เลย มันคงมีแต่ธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น ในความเป็นจริงแห่งความว่างเปล่า” เมื่อท่านยังหลงไปในความเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อายตนะทั้งหกและขันธ์ทั้งห้าย่อมสร้างความทุกข์ และการเกิดการตายให้แก่ท่านได้อยู่ทุกเมื่อ แต่เมื่อท่านได้มีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่เสมอ อายตนะทั้งหกและขันธ์ทั้งห้าก็เป็นเพียงเหตุปัจจัย ที่ท่านได้อาศัยเพื่อความเป็นเสมอภาคในธรรมชาติ ที่คงอยู่กับท่านอยู่อย่างนั้น คนที่พบมรรคเดินไปบนหนทางที่ถูกต้อง ย่อมรู้ว่าธรรมชาติแห่งจิตตนนั้นคือมรรค เมื่อเขาพบกับจิตชนิดนี้เขากลับไม่พบอะไรในความเป็นจริงนั้น เมื่อเขาได้เดินไปบนหนทางแห่งความไม่มีอะไรในมรรคนั้น เขากลับพบความเป็นจริงในทุกย่างก้าวที่ได้ก้าวไป ถ้าท่านยังคิดว่ามรรคนั้นเกิดจากการใช้จิตค้นหา ท่านก็ยังดำเนินไปในทางที่ผิดอยู่ เพราะมรรคนั้นเป็นการทำความเข้าใจ ในความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมรรคจึงไม่ใช่การค้นหาและต้องใช้อะไรค้นหา ถึงท่านจะหลงทางไป แต่ความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นยังคงอยู่ เมื่อท่านมีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้ ถึงความที่ธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ความหลงก็จะหายไป ความเป็นมรรคที่แท้จริงก็จะปรากฏอยู่ต่อหน้า ต่อให้ท่านใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะค้นหามรรค จนลมหายใจท่านหยุดและร่างกายแตกดับ แต่เมื่อท่านหยุดการดิ้นรนค้นหา ในมายาแห่งมรรคนั้น มรรคนั้นก็จะกลับมาเป็นมรรคตามความเป็นจริงแห่งมัน จงปลดเปลื้องความคิดทุกความคิด อันเกี่ยวกับมรรคและธรรมทุกชนิดออกเสีย แล้วหันหน้ามาเผชิญต่อความเป็นจริงแล้ว ตามที่มันเป็นอยู่ของมันตามธรรมชาติอยู่แล้ว
……………………………………..
“การเข้าใจความเป็นจิตของตนอย่างไร จึงจะถือว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง”
เมื่อพระพุทธองค์ทรงค้นพบสัจธรรมความเป็นจริงอันยิ่งใหญ่ พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งชัดว่า ธาตุทั้งสี่ขันธ์ทั้งห้า แท้ที่จริงมันหามีตัวตนแห่งขันธ์ธาตุทั้งหลายไม่ โดยธรรมชาติมันย่อมเป็นความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนอยู่อย่างนั้น และรู้แจ้งชัดว่าจิตนี้โดยธรรมชาติ มันคือความบริสุทธิ์โดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าหากปรุงแต่งเป็นปรากฏการณ์แห่งจิตต่างๆที่เกิดขึ้น จิตเหล่านี้ก็เป็นความไม่บริสุทธิ์โดยเนื้อหามันเองอีกเช่นกัน จิตที่บริสุทธิ์พอใจในการกระทำความดี โดยทำไปแบบนั้นตามธรรมชาติของจิต แต่จิตที่ไม่บริสุทธิ์ก็ถูกปรุงแต่งขึ้น ตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แห่งการทำความดีและการทำชั่ว บุคคลที่มิได้รับผลกระทบใดๆจากอำนาจแห่งจิตชั่ว คือผู้ที่เป็นอิสระแล้วในความเป็นธรรมชาติแห่งเขาเหล่านั้น บุคคลเหล่านี้ย่อมอยู่ในความทุกข์และในสุขอันยั่งยืน โดยปราศจากความแปรผันด้วยความหมดเหตุปัจจัยในการปรุงแต่ง เป็นความสุขในความเป็นธรรมชาติแห่งการหลุดพ้นนั้น ส่วนปุถุชนผู้มืดบอดย่อมถูกบีบคั้นด้วยจิตสกปรก และยุ่งเหยิงซับซ้อนด้วยกรรมต่างๆนานาแห่งตน เพราะจิตสกปรกแปดเปื้อนมลทิน ไปด้วยการปรุงแต่งในลักษณะหลากหลาย ย่อมปิดบังธรรมชาติที่แท้จริงแห่งความเป็นเขาเหล่านั้น ด้วยอำนาจแห่งการปรุงแต่งจึงพาเขาต้องไปเวียนว่ายตายเกิด ในภพทั้งสามอยู่อย่างนั้น
ในพระสูตรได้กล่าวว่า “ในความเป็นปุถุชน ก็มีความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะที่ไม่อาจทำลายมันลงไปได้ เหมือนกับดวงอาทิตย์ที่แสงของมันได้สาดส่องไปทั่ว แต่เมื่อใดมันถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกอันหนาทึบ ด้วยเงาของขันธ์ทั้งห้า มันก็เหมือนแสงที่อ่อนแสงด้วยการถูกบดบังนั้น”
และในพระสูตรยังกล่าวอีกว่า “ปุถุชนย่อมมีธรรมชาติแห่งพุทธะ แต่มันถูกปกคลุมไปด้วยอำนาจมืดแห่งอวิชชา ความเป็นพุทธะก็คือธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ที่มันว่างเปล่าโดยความเป็นมันเองอยู่อย่างนั้น การรู้ชัดแจ้งในความเป็นธรรมชาตินี้ คือความหลุดพ้น” การประจักษ์แจ้งในความเป็นธรรมชาติแห่งจิตตน จึงเป็นรากฐานอันคือรากของต้นไม้ที่หาอาหารเลี้ยงบำรุงลำต้น จึงก่อให้เกิดต้นไม้แห่งธรรมและผลิตผลออกมาเป็นนิพพาน การเข้าใจจิตของตน ด้วยความหมายแห่งความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนี้ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง อันคือ สัมมาทิฐินั่นเอง
…………………………………………..
จึงเป็นเรื่องปกติในความเป็นไปแบบนั้นอยู่แล้ว เมื่อพระพุทธองค์ทรงออกประกาศธรรม และทรงอบรมสั่งสอนบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย ท่านทรงเลือกที่จะชี้ตรงไปยังธรรม อันคือความเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแต่ถ่ายเดียว ซึ่งเป็นหนทางอันหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงอย่างแท้จริง ในพระสูตรทุกๆพระสูตร ที่ปรากฏมาในพระไตรปิฎกที่พระองค์ทรงตรัสสอนไว้ และทำให้เหล่าพราหมณ์นักบวชนอกศาสนาทั้งหลายในยุคนั้น ได้มองเห็นแสงสว่างแห่งธรรมธาตุอันบริสุทธิ์ ก็ล้วนแต่มีเนื้อหาไปในทางเดียวกัน ในความที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแต่เพียงเฉพาะ ธรรมอันคือเนื้อหาธรรมชาติเท่านั้น ท่านทรงตรัสเพียง ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น หามีตัวตนไม่ หาใช่ตัวใช่ตนไม่ ความอนิจจังไม่เที่ยงแห่งขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้ มีความหมายไปในทางที่ว่า มันไม่เคยมีขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหมายความถึง มันไม่เคยมีความปรากฏแห่งขันธ์เกิดขึ้น เพื่อเป็นเหตุปัจจัยอันอาจจะทำให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น จนกลายเป็น ตัณหา อุปาทาน ขึ้นมาได้ ซึ่งหมายความถึง ความไม่ปรากฏอะไรเลยสักสิ่งเดียว มันคงไว้แต่ความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมัน ที่มันทำหน้าที่แสดงเนื้อหาของมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึง ธรรมชาตินั้นมันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความเป็นตัวเป็นตนแบบเสร็จสรรพเด็ดขาดถ้วนทั่ว โดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วมาตั้งแต่แรกเริ่ม มันเป็นธรรมชาติที่มีความอิสระเด็ดขาด ไม่อยู่ภายใต้การดำริริเริ่ม หรือ ความครอบครองครอบคลุม ของภาวะใดๆแม้สักอณูธรรมธาตุเดียว มันเป็นความเกลี้ยงเกลาในความว่างเปล่าปราศจากความเป็นตัวเป็นตน ของมันอยู่แบบนั้นโดยความเป็นธรรมชาติ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนหมู่เวไนยสัตว์แต่เพียงเท่านี้ การสอนเพื่อชี้ทางมุ่งไปสู่วิถีธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้วนั้น มันเป็นเพียงการทำความเข้าใจในปัญหาแห่งตนเอง และลุกหนีออกจากสภาพปัญหาไปสู่ความเป็นธรรมชาติแต่เพียงเท่านั้น วิถีธรรมชาตินี้จึงไม่ใช่รูปแบบที่จะต้องประกอบขึ้นด้วยอะไรกับอะไร มันจึงไม่ต้องมีอะไรตระเตรียมกับสิ่งใด เพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้ธรรมชาตินี้เกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง มันจึงเป็นเพียงการทำความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง จนหมดความลังเลสงสัยในธรรมทุกภาวะธรรม ซึ่งเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในทุกอณูธรรมธาตุ เพื่อคลายตัวเองออกจากภาวะการปรุงแต่งทั้งปวง ได้อย่างแนบเนียนตามวิถีธรรมชาตินั้น เป็นการคลายเพื่อความเป็นไปในธรรมชาตินั้นๆอย่างกลมกลืน ไม่มีส่วนต่างที่อาจจะแบ่งแยกออกมาเป็นสิ่งๆตามความไม่รู้ได้อีก
…………………………………..
พุทธะ แปลว่าผู้รู้ หมายความว่า เป็นการรู้ตามความเป็นจริง ตามสัจธรรมที่มันปรากฏอยู่บนโลกใบนี้ตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เป็นการรู้ชนิดที่เรียกว่าไม่ทำให้เราเป็นคนโง่หลงงมงาย หลงทางไปในข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นความเข้าใจผิด เป็นการรู้ที่ทำให้เราเข้าใจในธรรมชาติอันคือความเป็นจริง ที่มันดำรงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นมานานแสนนาน อันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจในสภาพความรู้ที่เป็นความจริงแท้ ตรงแน่วอยู่ในเนื้อหาแห่งธรรมชาติอันเป็นพุทธะนั้น โดยหามีความคลอนแคลนลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ไปในทางความหมายอื่นแม้แต่น้อย เป็นการรู้ชนิดที่ทำให้เราปักใจและเต็มใจ ที่จะอยู่กับความรู้ชนิดนี้ตลอดไปชั่วกัลปาวสาน มันเป็นการรู้ที่เป็นเนื้อหาพิเศษด้วยคุณสมบัติเฉพาะของมัน เป็นคุณสมบัติที่หากใครเข้ามารู้แล้ว จะทำให้ผู้นั้นสลัดทิ้งเสียทั้งหมด ซึ่งความรู้ในเนื้อหาชนิดอื่นๆอันทำให้เดินไปในหนทางอื่น
พุทธะ แปลว่า ผู้ตื่น หมายถึงเป็นการตื่นออกจากภวังค์แห่งความมืดหลง ในอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ถูกมันครอบงำพาเท้าทั้งสองข้างของเราเดินไปในหนทางที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคดในสามโลกมาเป็นเวลานาน เป็นการตื่นเพื่อเพื่อเริ่มต้นด้วยคุณงามความดีถูกต้อง ตรงต่อความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะที่แท้จริง มันเป็นแสงแห่งพุทธปัญญาที่นำส่องพาชีวิตเรา ให้เดินไปบนมรรคาแห่งธรรมชาติโดยไม่มีวันเดินถอยหลังกลับ เป็นการตื่นเพื่อมาดูธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ที่มันปรากฏอยู่ตรงหน้า เป็นการตื่นเพื่อดำรงชีวิตของตนไปตามปกติอยู่อย่างนั้น ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมแต่อย่างใด เป็นการตื่นเพื่อดำรงชีวิตของตนไปตามหน้าที่ของตนเอง เท่าที่ตนเองพึงมีและเต็มใจทำ เป็นการตื่นเพื่อดำรงชีวิตของตนเองไปตามเหตุปัจจัย ที่เคยประกอบมาและตนยังต้องรับกรรมนั้นอยู่
พุทธะ แปลว่า ผู้เบิกบาน หมายความว่าถึงเป็นผู้ที่มีมีความโชคดีอย่างมาก เป็นผู้ที่มีบุญวาสนาอย่างแท้จริง ที่สามารถนำพาชีวิตของตนเองก้าวพ้นออกมา จากห้วงแห่งความทุกข์ระทมได้เป็นความเบิกบานต่อความสุขที่ยั่งยืน ในความที่ธรรมชาติแห่งพุทธะได้หยิบยื่นให้กับเรามา เป็นความเบิกบานต่อธรรมธาตุแห่งพุทธะที่มันมีแต่ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตน ชึ่งมันหมดเชื้อหมดเหตุหมดปัจจัย อันจะทำให้เข้าไปยึดมั่นปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความทุกข์อีก เป็นความเบิกบานที่กลับมาสู่ความเป้นมนุษย์อย่างแท้จริง ที่สามารถดำรงตนได้อย่างอิสระเสรี ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ความเป็นทาสของใจตน
เพราะฉนั้นเมื่อสามารถทำความเข้าใจตระหนักได้แล้วว่า พุทธะที่แท้จริงนั้น ก็คือธรรมชาติที่มันเป็นสิ่งเดียวกันกับเรามาตั้งแต่ต้น เราคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือเรา ก็ในเมื่อธรรมชาติคือความเป้นพุทธะ ความเป้นพุทธะก็คือความเป้นธรรมชาติ การค้นหาพุทธะก็คือการค้นหความเป้นธรรมชาติแห่งตนเอง…
…………………………………………
ขอให้พึงสำเหนียกเอาไว้เลยว่าความสุขและทุกข์ที่เราได้รับตลอดเวลานั้น มันล้วนเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ของเราเอง พาเข้าไปมองเห็นแบบเข้าใจผิดว่า “มีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น”และอวิชชาความไม่รู้อีกเช่นกัน ก็พาเข้าไปยึดขันธ์ทั้งห้าที่เกิดขึ้นนั้นคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนปรุงแต่งกลายมาเป็นจิต เป็นจิตที่มีเนื้อหายินดียินร้ายไปในทางสรรพสิ่งแห่งมายาของตน ซึ่งเป็นผลพวงจากตัวเองเข้าใจผิดต่อความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ก็ทั้งหมดเป็นเพียงสังขารการปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัย แท้จริงแล้วเหตุปัจจัยที่เข้ามา ก็ “หามีไม่” “ความมี”แห่งเหตุปัจจัยนั้นมันก็หาคงตัวคงที่ถาวรไม่ มันย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน
เพราะฉนั้นเราจึงควรไม่ต้องเข้าไปรู้สึกดีใจหรือเสียใจในสิ่งที่เข้ามา เพราะมันอาจเป็นเพียงความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่ทั้งสองทางมันล้วนเกิดจาก “จิตที่ปรุงแต่งขึ้น” เมื่อมันล้วนแต่เป็นเพียงมายาแห่งการปรุงแต่ง สรรพสัตว์ผู้ที่เข้าใจในธรรมชาติแห่งทุกสรรพสิ่งว่า แท้ที่จริงหามีสิ่งใดไม่ ธรรมชาติยังคงปรากฏเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีอันหาจุดเริ่มต้นของมันไม่ได้ และไม่มีวันที่จะมีจุดจบสลายหายไป มันเป็นธรรมชาติที่ว่างเปล่าแบบคงตัวถาวรตลอดสายถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุตามเนื้อหาตามสภาพของมันแบบธรรมชาติอยู่อย่างนั้น
สรรพสัตว์ผู้มีความตระหนักชัดในความหมายแห่งธรรมชาตินี้ และสามารถซึมซาบกลมกลืนเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน “ได้แบบมั่นคง” หามีความหวั่นไหวไปตามมายาอันคือสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้น ก็ขึ้นชื่อได้ว่าสรรพสัตว์ผู้นั้นกำลังได้ปฏิบัติธรรม และกำลังเดินไปบนเส้นทางอริยมรรคอันคือหนทางไปสู่ความหลุดพ้น แบบเงียบๆอยู่คนเดียว ในท่ามกลางการใช้ชีวิตประจำวันของตน.
……………………………………………
พระโพธิธรรมส่งพระภิกษุสองรูป ผู้ซึ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์และแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาน ให้เดินทางมาจีนล่วงหน้าก่อนเพื่อมาดูลาดเลาความเป็นไปในบ้านเมืองจีน
แต่การเดินทางมากลับไม่ได้รับการต้อนรับจากชนชาวจีนแต่อย่างใดเพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจแต่การเดินทางมาครั้งนี้ก็ไม่เสียเวลาเปล่า ภิกษุทั้งสองรูปได้ถ่ายทอดธรรมอันแทัจริงให้แก่ภิกษุชาวจีนรูปหนึ่ง นามว่า “ฮุ่ย เอวี่ยน”
พระอ.ฮุ่ยเอวียนถามภิกษุสองรูปว่า พวกท่านมาเผยแผ่ธรรมที่จีนนี้ได้นำธรรมชนิดไหนเข้ามา แล้วทำไมล่วงหน้ามาถึงป่านนี้ชาวจีนยังไม่ศรัทธาพวกท่าน
ภิกษุทั้งสองโต้ตอบออกไปทันควัน ด้วยภาษามือมี่สื่อกันไม่ต้องออกเสียง ด้วยการยื่นมือไปข้างหน้าแล้วดึงมือกลับมาอย่างรวดเร็ว และภิกษุทั้งสองก็ได้กล่าวว่า
“ไม่ว่าความเป็นพุทธะที่ท่านอาจารย์อยากจะรู้ มันมีสภาพไม่ต่างกันเลยจากความทุกข์ของท่านอาจารย์ยังคงแบกไว้มันก็มีอาการเกิดขึ้นและดับไปรวดเร็ว เช่นเดียวกับมือของข้าพเจ้าที่ยื่นให้ท่านดู ด้วยการเกิดขึ้นแห่งมัน และชักกลับคืนมา ด้วยการดับไปแห่งมันเช่นกัน และสิ่งที่ท่านเห็นอยู่ต่อหน้าด้วยความว่างเปล่าในอากาศ ด้วยความไม่มีอะไรของมันเองอยู่อย่างนั้น นั่นแหละคือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ ที่ข้าพเจ้าทั้งสองได้นำมาเผยแผ่.
……………………………………….
“มองดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไปในอดีต
เหมือนภาพในความฝัน…
มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน เหมือนเป็นฟ้าแลบ..
มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในอนาคต..
เหมือนเมฆหมอกที่ล่องลอยอยู่ไปมา..”
……………………………………….
พระสูตรของพระองค์นั้น ได้บรรจุปริศนาธรรม คำอุปมาเอาไว้มากมาย เพราะปุถุชนทั้งหลายมีจิตใจตื้น (คิดตื้น) จึงไม่เข้าใจอะไรได้ลึกซึ้ง พระพุทธเจ้าทรงใช้รูปธรรม เพื่อแสดงนัยแห่งนามธรรม บุคคลผู้แสวงหาความสงบสุข โดยอาศัยการพิจารณาไปกับงานภายนอก แทนที่จะฝึกฝนอบรมในใจ มันจึงเป็นความพยายาม ที่สูญเปล่า
สิ่งที่เรียกว่า “วัด” เราเรียกว่า “สังฆาราม ” หมายถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมชำระจิต แต่ใครก็ตามป้องกันการเข้าไปของกิเลสทั้งสามกอง และระวังรักษาประตู คือ อายตนะ ของตนให้บริสุทธ์ ทั้งกายและใจสงบ และยังสะอาดทั้งภายในและภายนอกชื่อว่าเป็นผู้สร้างวัดๆหนึ่งทีเดียว
การก่อพระเจดีย์ หมายถึง บุคคลผู้แสวงหาการหลุดพ้น ต้องสามารถฝึกฝนตนเองในข้อวัตรปฏิบัติได้ทุกอย่าง อริยมรรคของพระตถาคต ไม่สมควรจะตีความหมายเป็นวัตถุภายนอก บุคคลผู้แสวงหาโมกขธรรม ถือว่ารูปกายของเขานั้นเป็นเสมือนเตาหลอม ธรรมะเป็นเสมือนไฟ ปัญญาเป็นเสมือนช่างผู้ชำนาญ และศีลทั้งสามข้อและปารมิตาทั้งหกข้อเป็นเสมือนแบบพิมพ์
พิมพ์เหล่านี้ ทำหน้าที่หล่อหลอม นำมาขัดเกลาตกแต่งให้ธรรมชาติแห่งพุทธะที่แท้จริงปรากฏกายขึ้นในตนเอง และเทลงไปในแบบที่ตกแต่งด้วยระเบียบวินัยและวัตรปฏิบัติต่างๆ ปฏิบัติให้ครบภ้วนตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเขาก็สามารถสร้างภาพเหมือนที่ครบถ้วนได้โดยธรรมชาติ กายอมตะและประเสริฐ (อริยรูป) ย่อมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเปลี่ยนแปลงและเสื่อมเสีย ถ้าแสวงหาสัจธรรม แต่ไม่เรียนรู้วิธีสร้างภาพที่เหมือนจริง(พุทธรูป)ท่านจะได้รับประโยชน์อะไรเล่า?
การจุดธูป(เผากำยาน) ไม่ได้หมายถึง การจุดธูปที่เป็นวัตถุธรรมดา แต่เป็นธูปแห่งธรรมที่ไม่อาจสัมผัสได้ ซึ่งขับไล่เอากิเลส อวิชชา และกรรมต่างๆ ออกไปด้วยกลิ่นหอมของธูปนั้น ธูปที่ว่านั้นมี5ดอกคือ…
ธูปที่หนึ่ง หมายถึง ศีล คือการเลิกละความชั่วและสร้างสมความดี
ธูปที่สอง หมายถึง สมาธิ คือมีความเชื่อมั่นอย่างมั่นคงในมหายานและมีความตั้งใจอันไม่หวั่นไหว
ธูปที่สาม หมายถึง ปัญญา คือการเพ่งพิจารณากายและใจทั้งภายในและภายนอก
ธูปที่สี่ หมายถึง วิมุติ คือการตัดบ่วงหรือเครื่องผูกของอวิชชาให้ขาด
ธูปที่ห้า หมายถึง ญาณปัญญา คือ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรขัดข้องในทุกหนทุกแห่ง
ธูป 5 ชนิดนี้ เป็นธูปที่มีค่ามากที่สุดและสูงส่งกว่าธูปใดๆที่จะพึงให้กันในโลก เมื่อพระพุทธองค์อุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงตรัสบอกให้สาวกทั้งหลายจุดธูปอันมีค่าเช่นนี้ ด้วยไฟแห่งสติสัมปชัญญะ อันเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้งสิบทิศ แต่สาธุชนคนทุกวันนี้ไม่เข้าใจความหมายอันแท้จริงของพระตถาคต พวกเขาใช้เปลวไฟธรรมดาจุดธูปหอมไม้จันทร์หรือกำยานแล้วสวดมนต์อ้อนวอนเพื่อขอโชคลาภซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นตามขอจริงๆ
…………………………………….
อุปมาเหมือนปลามาจากน้ำ แต่น้ำไม่ได้เกิดจากปลา ใครก็ตามต้องการเห็นปลาก็ต้องดูที่น้ำก่อน เขาจึงจะเห็นปลาได้ ฉันใด ใครก็ตามต้องการดูพุทธะก็ต้องดูจิตก่อน จึงจะเห็นพุทธะ เมื่อใดท่านเห็นปลา ท่านก็ลืมดูน้ำ และเมื่อใดท่านเห็นพุทธะท่านก็ลืมจิต ถ้าท่านไม่ลืมจิต จิตก็ทำให้ท่านสับสนยุ่งเหยิงเสมือนน้ำจะทำให้ท่านงง ถ้าท่านไม่ลืมมัน(ขณะต้องการดูปลา)
ปุถุชนและพุทธภาวะ เป็นเสมือนน้ำกับความเย็น การที่ชีวิตได้รับความทุกข์โศรกโรคภัยจากอสรพิษทั้งสามเป็นปุถุชนภาวะ การชำระจิตให้หลุดพ้นจากอสรพิษทั้งสามได้ เป็นพุทธภาวะ ภาวะที่เยือกเย็นในน้ำแข็ง ในฤดูหนาว ก็ละลายอยู่ในน้ำแข็งในฤดูร้อน ขจัดน้ำแข็งออกไป ก็ไม่มีความเย็นเหลืออยู่ต่อไป ฉันนั้น
แน่นอนธรรมชาติของน้ำแข็งก็มาจากน้ำธรรมดา ธรรมชาติของน้ำธรรมดาก็คือน้ำแข็ง ปุถุชนภาวะก็คือพุทธภาวะนั่นเอง
เมื่องูกลายเป็นมังกร มันก็ไม่ได้เปลี่ยนเกร็ดของมัน เมื่อปุถุชนเปลี่ยนเป็นบัณฑิต เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนใบหน้าของเขา เขารู้จักใจของเขาเพราะเห็นแจ้งด้วยปัญญาจักษุ และเอาใจใส่ในร่างกายของเขา โดยอาศัยศีลภายนอก(วินัย)
………………………………………
ทุกสิ่งที่ปรากฏในภพทั้งสามล้วนเกิดจากจิต ดังนั้น พระพุทธเจ้า ทั้งในอดีตและอนาคต ย่อมสอนด้วยวิธีจิตสู่จิต โดยไม่ยึดรูปแบบตายตัวใดๆ
“แต่ถ้าไม่ใช่รูปแบบตายตัว พระพุทธเจ้าเหล่านั้นจะใช้จิตโดยวิธีใด?”
“สิ่งที่ท่านถามนั้นแหละคือจิตของท่าน”
“สิ่งที่ฉันตอบนั้นแหละคือจิตของฉัน”
“ถ้าฉันไม่คิดฉันจะตอบได้อย่างไร”
“ถ้าท่านไม่คิดท่านจะถามได้อย่างไร”
“สิ่งที่ท่านถามก็คือความคิด (จิต) ของท่าน”
ตลอดกัปป์กัลป์ อันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ ท่านทำสิ่งใดก็ตามอยู่ที่ไหนก็ตามสิ่งนั้น คือ
จิตที่แท้จริงของท่าน สภาวะนั้นคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริงของท่าน จิตนี้คือพุทธะ ท่านกล่าวว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นอกเหนือจากจิตนี้แล้วท่านจะพบพระพุทธเจ้าที่อื่นไม่ได้เลย
นอกเหนือจากจิตไม่มีพุทธะ และนอกเหนือพุทธะก็ไม่มีจิต ถ้าท่านคิดว่ามีพุทธะเหนือจิตนี้แล้ว พระพุทธเจ้าอยู่ไหนกันละ
ตราบใดที่คุณยังหลงติดอยู่ในรูปที่ไร้ชีวิต(หมายถึงรูปกับนามไม่ได้อยู่ด้วยกันกายอยู่ที่หนึ่งแต่จิตคิดไปอีกทางหนึ่ง)คุณก็ยังไม่อิสระ ถ้าไม่เชื่อคำกล่าวนี้ คุณก็หลอกตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ มันไม่ใช่ความผิดของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าย่อมไม่ดูแลรักษาพระพุทธเจ้าด้วยกันเอง หมายความว่า ถ้าท่านใช้จิตของท่านหาพุทธะ ท่านก็จะไม่เห็นพุทธะ(การใช้ความคิดดูจิตย่อมไม่เห็นจิต ใช้สติดูจิตจึงจะเห็นจิต) ตราบใดที่ท่านหาพระพุทธเจ้าภายนอกตนเอง ท่านก็ยังไม่เห็นพระพุทธเจ้าอยู่ภายในจิตของท่านเอง.
ก็ด้วยความเป็นจริงในการทำความเข้าใจ เพื่อศึกษาธรรมทั้งหลายเพื่อเป็นไปในความหลุดพ้นนั้น มันอาจเกิดสภาพการปรุงแต่งได้ในสามลักษณะ
คือ ลักษณะปรุงแต่งไปด้วยสภาพความเป็นเนื้อหา แห่งการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยแห่งการสั่งสมอนุสัย ซึ่งเป็นการปรุงแต่งออกมาจากใจที่ยังถูกหุ้มไปด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ตามนิสัยสันดานเดิมๆแห่งตนนั้น คือการปรุงแต่งไปในความเป็นทุกข์ ที่ตนยังมีอยู่อย่างเต็มหัวใจอยู่อย่างนั้น
คือ ลักษณะปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมต่างๆว่า อะไรเป็นอะไร อะไรคืออะไร ในกระบวนการแก้ไขปัญหาให้กับตนเอง และลักษณะการปรุงแต่งไป ในการยึดจับฉวยความหมายในธรรมเหล่านั้น ซึ่งมันเป็นภาวะธรรมที่ทำให้เราเข้าใจ ในเหตุปัจจัยแห่งกระบวนการมันในการแก้ไขปัญหานั้น จึงเป็นการปรุงแต่งไปในภาวะให้เกิดขึ้น
คือ ลักษณะปรุงแต่งไป ในการเข้าไปตรวจสอบวินิจฉัยในภาวะธรรมต่างๆ ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ ในความหมายแห่งธรรมชาติตามความเป็นจริง ว่าแท้จริงธรรมชาติคือความว่างเปล่า แบบเสร็จสรรพอยู่แล้วโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติของมัน เมื่อไม่เข้าใจ จึงทำให้นักปฏิบัติทั้งหลายเกิดพฤติกรรมทางจิต เข้าไปตรวจสอบภาวะจิตใจของตนว่า จิตของตนอยู่ในลักษณะไหนแล้วในขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ และจะได้ทำการแก้ไขตนเองต่อไป แต่ในความเป็นจริงตามธรรมชาติของมัน มันคือความเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ซึ่งมันเป็นเนื้อหาความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือภาวะ แห่งปรากฏการณ์ความใช่หรือไม่ใช่ ความถูกหรือความผิด การตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติ การเข้าไปตรวจสอบจิตของตน ซึ่งคิดว่าตรงนั้นคือผลของการปฏิบัติ มันจึงล้วนเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาด้วยเหตุและปัจจัยนี้ในลักษณะหนึ่ง แท้ที่จริงแล้วด้วยธรรมชาติอันแท้จริง ซึ่งคือธรรมชาติตามความเป็นจริงของมันนั้น มันเป็นธรรมที่เป็นความเป็นจริงถูกต้องโดยเนื้อหาของมัน มาตั้งแต่แรกเริ่ม แรกเริ่มในความเป็นต้นธาตุต้นธรรม
……………………………………
การสลัดทิ้งซึ่งปรากฏการณ์แห่งอัตตาตัวตน โดยที่ไม่มีความเสียใจใดๆ เป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การไปอย่างมีอิสระเหนือความเคลื่อนไหวและเหนือความนิ่ง เป็นธรรมชาติที่มีความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่แปรผันไปเป็นอย่างอื่น เป็นกรรมฐานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ปุถุชนยังเคลื่อนไหวไปพร้อมกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย แต่พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นย่อมหยุดนิ่ง เป็นการหยุดนิ่งที่สามารถเคลื่อนไหวไปได้ด้วยการไร้ปรากฏการณ์ ก็เมื่อบุคคลทั้งหลายมีความเข้าใจ ถึงความเป็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมเห็นธรรมชาติที่สามารถปลดปล่อยตนเองออกมา จากปรากฏการณ์ทั้งปวงได้ โดยปราศจากปรากฏการณ์แห่งความพยายาม ที่จะเป็นธรรมชาติตามที่ใจตนต้องการ
……………………………………
ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมที่คุณเห็นว่า “มันมีสิ่งสิ่งนี้อยู่” และสิ่งที่คุณเห็นว่ามีนั้น “ความมีนั้นมันไม่เที่ยงดับไป” และความดับไปสิ้นไปในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างที่คุณทำได้นั้นปฏิบัติได้นั้น มันกลายเป็นความว่างเปล่าขึ้นมาตามที่คุณรู้สึกได้ หรือตามที่คุณคาดการณ์ไป ด้วยการที่พวกคุณได้ชั่งความมีความเป็นแห่งมันในใจแล้วว่า คุณได้ปฏิบัติโดยเอาความมีความเป็นแห่งมันออกไปเรื่อยๆ ตามที่คุณได้ทำความเพียรไป และด้วยผลแห่งการปฏิบัติที่พวกคุณคิดว่าใช่ และมันเป็นผลแห่งการปฏิบัติที่แท้จริงที่ทำให้ ความมีตัวมีตนของพวกคุณเบาบางลงไป โดยที่พวกคุณได้ตรึงผลแห่งการปฏิบัติของคุณ ไว้กับความว่างเปล่า ตามที่คุณได้ชั่งมันไว้อยู่ทุกขณะ และคุณก็ภูมิใจในความว่างเปล่านั้น
แต่ ความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความว่างเปล่าอันแท้จริง มันเกิดจากความเข้าใจในความหมายแห่งธรรมชาติ ว่าแท้ที่จริงธรรมชาติมันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ความว่างเปล่าที่พวกคุณภาคภูมิใจว่า มันคือการปฏิบัติธรรมของพวกคุณเอง แท้ที่จริงมันคือความว่างเปล่าจากการคาดคะเนของพวกคุณเองเท่านั้น มันเป็นความว่างเปล่าตามจิตนาการของพวกคุณเองแต่เพียงเท่านั้น มันมิใช่ความว่างเปล่าตามธรรมชาติ ตามสภาพที่แท้จริงของมันแต่อย่างใด มันจึงเป็นเพียง “ความว่างเปล่าตามความรู้สึก” มันเป็นเพียงความว่างเปล่าที่เป็นภาวะปรุงแต่งเกิดเป็นจิตขึ้นมา มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งไปในความว่างเปล่า มันมิใช่ความว่างเปล่าตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นความว่างเปล่าที่แท้จริง ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แต่อย่างใดเลย
ทุก สรรพสิ่งที่ปรากฏเป็นภาวะในสามภพ และรวมทั้งความเป็นสามภพของตัวมันเองนั้นด้วย ล้วนเกิดจากต้นตอแห่งจิต แต่แท้จริงแล้วจิตย่อมไม่มี ทุกสรรพสิ่งนั้นคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายย่อมสอนธรรมด้วย “จิตสู่จิต” ด้วยความเป็นธรรมชาติอันแท้จริงปราศจากรูปแบบและวิธีใดๆ
“ถ้าไม่ใช่ รูปแบบตายตัวแล้ว ความเป็นพระพุทธเจ้าเหล่านั้นจะใช้จิตด้วยวิธีใดๆ” “ก็สิ่งที่ท่านถามมานั่นเอง นั่นแหละคือจิตของท่าน” “และสิ่งที่ฉันตอบท่านไปก็คือจิตของฉัน” “ถ้าฉันไม่คิดแล้วฉันจะตอบได้อย่างไร” “ถ้าท่านไม่คิดแล้วท่านจะถามได้อย่างไร” “สิ่งที่ท่านถามก็คือความคิด ก็คือจิตของท่าน” อันเป็นความจริงตามธรรมชาติแล้ว จิตย่อมไม่ใช่จิต จิตท่านย่อมหาความเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของมันนั้นหามีไม่
………………………………………