พระธรรมเทศนา เหตุต้นของวิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว

เหตุต้นของวิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว จากไฟล์เสียงชุด ครุสติรีทรีท ๑๑-๑๗ สิงหาคม ๕๙ แสดงธรรมโดย พระพุทธยานันทภิกขุ, หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, Deva Nanda, Direk Saksith

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

รักษามรรคให้มีกำลัง

ในกรณีที่ร่างกายไม่พร้อมใช้
หนักกายหนักใจ เราก็ไม่มีกำลัง
การภาวนาก็ไม่ได้ผล
ไม่มีกำลังกาย กำลังใจ

ถ้าเราเบากายเบาใจ ก็มีกำลัง
มีกำลังกาย กำลังจิต
การดำรงชีวิต มีความกระตือรือร้น
ไม่มีข้อขัดข้องอะไร
นั่นคือผลของการปฏิบัติ

แต่ในกรณีที่เราขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็ต้องหาข้อบกพร่องของมันว่า
เราหนักกายเพราะอะไร
เพราะโรคภัยไข้เจ็บหรือเปล่า

นักปฏิบัติต้องเป็นแบบอย่างทั้งสามอย่าง
เราขาดข้อไหนก็ทำตรงนั้น

การที่เราพยายามแก้ไขปัญหา
ถือว่าเป็นการปฏิบัติภาวนา
ร่างกายพร้อมใช้ คือผลการปฏิบัติ

อาจไม่ต้องหวังผลถึงขั้นมรรคผลนิพพาน
อะไรมาก
แต่ให้ร่างกายของเราเบากายเบาใจมีกำลัง
ถือว่าเป็นต้นทางแห่งมรรคผลแล้ว

ทำอย่างไรจึงจะรักษาภาวะ
เบากายเบาใจให้มีกำลัง อย่างนี้ไปตลอด
นั่นคือการรักษามรรค

เราปรารถนากันมากมาย
ขอให้ได้เป็นมรรคเป็นผล
ได้ญาณนั้นญาณนี้ ได้หมดสิ้นกิเลส

แต่ภาวะปัจจุบัน เรามีอะไรอยู่ เราเป็นอะไรอยู่
เราไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยสำรวจ ไม่ตรวจสอบ
เราปรารถนามรรค ผล นิพพาน เท่าใด
มันก็ไม่เกิด เพราะเราไม่ทำเหตุของมัน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

รูปแบบที่ไม่ตายตัว

ในวิธีการเจริญสติของหลวงพ่อเทียน
เราโชคดีมากที่มีความหลากหลาย
ในการใช้เป็นอุปกรณ์

เราไม่มีรูปแบบที่ตายตัว
สามารถสร้างวิหารธรรม
ที่สร้างความรู้สึกตัวได้เสมอๆ
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

ซึ่งต่างจากวิธีอื่นตรงที่ว่า
เขาพยายามเลือกคิดเอาว่า
ให้รู้สึกตัวอย่างนี้

ให้มีความตั้งใจ มีความตั้งมั่น
ให้การคิดขึ้นมา
ซึ่งเนื้อหาสาระจริงๆ ของมัน อาจจะไม่มี

แต่ในวิธีการนี้ เราสัมผัสความรู้สึกตัวได้ทันที
สัมผัสความตั้งมั่นของความรู้สึกตัวได้ทันที
สามารถเอาสติไปเคลียร์จิตใจของเราได้ทันที
ถ้าเราฝึกจนชำนาญ

รู้ที่มาของปัญหาและอุปสรรค
ที่จะทำให้เกิดความไม่รู้สึกตัวคืออะไร
รู้ที่มาที่ไปของมัน ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ
เราจึงทำซ้ำซากในสิ่งนี้

กระตุ้นความรู้สึกตัวให้เกิด มีพลัง
มีความเข้มแข็ง อย่างสม่ำเสมอ
การยกมือ การเคลื่อนไหว การเดินจงกรม
ถือว่าเป็นสิ่งพิเศษ
ที่หลวงพ่อเทียนท่านนำเสนอให้กับเรา

ไม่ได้บอกว่าวิธีการอื่นผิด
แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้ง่ายกว่าเท่านั้นเอง

วิธีการที่จะทำให้รู้สึก รู้เนื้อรู้ตัว
เวลาเราง่วง เราเหงา
เรามีวิธีการจัดการกับมันอย่างไร
รู้จักวิธีการจัดการ

ส่วนมันจะสะเด็ดน้ำ หรือมันจะชัดเจนหายไป
ตามที่เราต้องการหรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของเราเอง
ไม่ได้ขึ้นกับวิธีการ

ถ้าเรามีความเพียรพยายามมาก
ความง่วง ความเหงา ความฟุ้งซ่าน
ความเบื่อหน่าย ความอึดอัด
ก็ไม่ยากในการที่จะจัดการ

แต่ขอให้เรามีพลังของสติ
พลังของสมาธิ พลังของปัญญา
อย่างสม่ำเสมอ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เปิดเผยสว่างไสวไม่ลึกลับ

เมื่อก่อนพูดถึงเรื่องสติ สมาธิ ปัญญา
ดูเหมือนเป็นทฤษฎีในหนังสือ
เป็นคำพูดที่พระเอามาบรรยายซ้ำซาก
แต่ว่ามันไม่เกิด

ไม่รู้ว่าท่านมีศีล สมาธิ ปัญญา จริงหรือเปล่า
เพราะบางทีก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดี
สอนเขาให้มีสติ แต่ตัวเองก็ขาดสติเป็นบางครั้ง

สอนให้เขามีกำลัง แต่ตัวเองอ่อนแอ
สอนให้เขาไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
แต่ตัวเองมีโรคภัยไข้เจ็บ
ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่เรามั่นใจได้

ในวิธีการหลวงพ่อเทียนทำให้เรามีช่องทาง
มีหนทางที่มองเห็น อันนี้คือข้อพิเศษ
ทำให้เรามองเห็นทางได้ง่ายกว่า
ที่สำคัญคือ เรามีการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้

ในวิธีการนี้ เราไม่มีเรื่องส่วนตัว
ถ้าปฏิบัติไปนานๆ
เราทุกคนสามารถตรวจสอบกันได้

เรื่องของอาตมาเหมือนเรื่องของโยม
เรื่องของโยมเหมือนเรื่องของอาตมา
เราช่วยเหลือกัน เราตรวจสอบกัน
ในแง่ของการแบ่งปันประสบการณ์

อันนี้หมายถึงผู้ปฏิบัติที่ได้ผลแล้ว
แต่ผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ได้ผล
จะไปแตะต้องมากไม่ได้
ยังมีเหลี่ยมมีมุม มุมอับ มุมลับ มุมลึก
ที่ยังสงวนเอาไว้อยู่

แต่ถ้าเราปฏิบัติไปนานๆ
ลักษณะใจของเรามันจะเปิดเผย
สว่างไสวขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีความลับในใจ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

กายหนักเป็นรูปนาม ใจหนักเป็นนามรูป

หลักการหลวงพ่อเทียนนั้น
เริ่มต้นที่รูปนาม
การที่จะเข้าใจรูปนามได้
เราต้องมาตั้งต้นแบบที่ไม่มีอะไรเลย

รูปคือตัวตนที่สัมผัสได้
เช่นเรานั่งอยู่
สัมผัสได้ว่ามีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
มีความสบาย ไม่สบาย ความหนัก ความเหนื่อย
ความง่วง ความเหงา ความอึดอัด ฯลฯ
เราสัมผัสได้ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นรูป

ลักษณะของความรู้สึกในกายในใจ
มีสองอย่าง
หนึ่ง ลักษณะที่เป็นหนัก
สอง ลักษณะที่เป็นเบา

ลักษณะที่เป็นหนัก
ออกมาเป็นความไม่สบาย
ลักษณะที่เป็นเบา
ออกมาเป็นความสบาย

ในขณะที่เป็นหนัก มีความสบายซ่อนอยู่
ในความไม่สบาย มีความสบายซ่อนอยู่
ในความสบาย มีความไม่สบายซ่อนอยู่

เรารู้ภาวะนี้ได้อย่างไร?
รู้ภาวะทั้งสองอย่างที่มีอยู่ร่วมกัน
ใครมารู้?

ตรงนี้เราเรียกว่านาม
ถ้าเราไม่มีนาม เราจะไม่รู้ว่า
กายหนักหรือกายเบา
กายเบากี่เปอร์เซ็นต์
กายหนักกี่เปอร์เซ็นต์
เราจะไม่รู้ถ้าเราไม่มีนาม

ถ้ากายหนักเป็นอาการของรูปนาม
แต่ถ้าใจหนักเป็นอาการของนามรูป
ผู้รู้หนัก ผู้รู้เบา ผู้รู้อาการหนัก อาการเบา
เราเรียกว่านามล้วนๆ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

กุศล-อกุศลในรูปนาม-นามรูป

นามล้วนๆ เป็นกุศลฝ่ายเดียว
นามรูป เป็นทั้งกุศลและอกุศล
รูปนาม เป็นทั้งกุศลและอกุศล

แต่นามล้วนๆ คือสติ สัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา
เป็นฝ่ายกุศล หรือเป็นนามล้วนๆ
ทำหน้าที่เป็นผู้รู้ เรียกว่ารูปนาม

เมื่อเข้าใจลักษณะอาการเหล่านี้
ถามว่าเราสัมผัสและใช้ได้หรือยัง?
รู้จักเหตุของมันหรือยัง?

ความรู้สึกตัว เหตุของความรู้สึกตัว
และการสร้างความรู้สึกตัว
การดำรงความรู้สึกตัว มีหรือยัง?

ถ้าเมื่อใดเรารู้รูปนาม
สามารถเข้าใจว่านี่คือรูปนาม
รู้จักที่มาของรูปนามคืออะไร
และสามารถรักษาความรู้สึกในรูปนามได้
รู้วิธีนำกลับคืนมาเมื่อรูปนามหายไป
ถ้าทำอย่างนี้ได้ เรียกว่าผู้นั้นเห็นรูปนาม

แต่ถ้าเข้าใจความหมายอย่างที่ว่ามา
อันนี้คือรูปนาม อันนี้คือนามรูป
ความรู้สึกตัวต้องเป็นอย่างนี้
แค่รู้เฉยๆ แต่ยังทำไม่ได้ เรียกว่ารู้รูปนาม
เข้าใจแต่ยังทำไม่ได้

แต่ต่อไปทำได้ด้วย
รูปนามเป็นอย่างนี้
เหตุให้เกิดรูปนามเป็นอย่างนี้
วิธีการทำรูปนามให้เข้มแข็งเป็นอย่างนี้
วิธีการดำรงรักษารูปนามให้อยู่ได้นานๆ
ต้องทำอย่างนี้ เรียกว่าเห็นรูปนาม

คนเก่าคือกลุ่มที่หนึ่งและสอง
ต้องไปทำความเข้าใจตรงนี้ให้ชัด

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

อริยสัจระดับรูปนาม

ในวิธีการหลวงพ่อเทียน
ถ้าเห็นรูปนามหมายถึง
เห็นอริยสัจในระดับรูปนาม

ง่วง ทำให้กายใจของเราหนัก
ถ้าเรารู้ว่าความง่วงมาจากไหน
เรียกว่ารู้ที่มาของรูปนาม

เรามีวิธีแก้ความง่วงได้หรือไม่
ถ้ายังไม่รู้วิธีแก้ คนนั้นรู้รูปนาม
แต่ยังไม่เห็นรูปนาม
เพราะไม่เห็นวิธีแก้

จะบอกว่าคนนี้รู้รูปนามไม่ได้
เพราะรู้ว่าความง่วง ความหนัก เป็นทุกข์
เรายังไม่รู้ที่มาของมัน
เรียกว่ายังไม่เห็นรูปนาม

แต่รู้รูปนาม เข้าใจเป็นอย่างดี
แต่ยังไม่เห็น เพราะยังแก้ปัญหา
และอุปสรรคที่เกิดขึ้นยังไม่ได้

กลุ่มที่สามที่สี่ ต้องไปทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดี
เพราะวิธีการหลวงพ่อเทียน
พิสูจน์กันที่ความจริง
ไม่ได้พิสูจน์กันที่ความรู้

จะบรรยายได้สามวันสี่วัน
แต่ถ้าแก้ไขตัวเองไม่ได้ถือว่ายังไม่รู้
รู้แต่ยังไม่เห็นนั่นเอง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

นิวรณ์ต้องแก้ทั้งสองทาง

เรื่องที่สองคือนามรูป
รูปนามเกิดตลอดเวลา
นามรูปเกิดขึ้นเมื่อใด?

รูปนามคืออาการสบาย ไม่สบาย
เกิดขึ้นตลอดเวลา
เรารู้จักวิธีแก้ได้ตลอดเวลา

รู้จักรูปนาม ต้องรู้จักนามรูปด้วย
นามรูปคืออาการของจิต

ง่วง เป็นอาการของกายหรือจิต?
นิวรณ์ทุกตัว เป็นตัวร่วม
ของอาการของกายและจิต

นิวรณ์จึงเป็นปัญหาเบื้องต้นของรูปนาม
เพราะมันร่วมทั้งกายและจิต
เป็นอาการทั้งสองอย่าง
เป็นทั้งรูปนามและนามรูป จึงแก้ยาก

วิธีแก้ ต้องแก้ทั้งสองทาง
แก้ทั้งรูปด้วยและแก้ทั้งนามด้วย
แก้รูปก่อน คือพยายามปลุกเร้า
ให้กำลังของสติสัมปชัญญะมากขึ้น

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เปลี่ยนรูป เปลี่ยนอารมณ์

เด็กหนุ่มคนหนึ่งเข้าเก็บอารมณ์ที่วัด
เขาตั้งใจทำ ในช่วงบ่ายหลังอาหาร
มีอาการง่วง เดินโซซัดโซเซ
อาตมาไปเจอพอดี
เขาถามว่าจะแก้อย่างไร เป็นอย่างนี้ทุกวัน

เบื้องต้นที่สุด ถ้ารู้สึกง่วงเมื่อใด
ให้ลุกขึ้น เอาหลังถูเสาไม้
เขาทำอย่างที่แนะนำก็ได้ผล ตื่นเลย

จะต้องเลี่ยงพฤติกรรม
อย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้น
เราจะแช่อยู่ในอาการอย่างนั้นไม่ได้
จะเปลี่ยนอย่างไรก็ได้

การเปลี่ยนเป็นเจตนา
เป็นความตั้งใจ
การเอาหลังถูเสา เป็นการแก้ทั้งรูปและนาม
ในเวลาเดียวกัน

แก้นามคือเปลี่ยนอารมณ์
แก้รูปคือเอาหลังถูเสา
ต้องเอาเสื้อออกด้วย ถูสดๆ เลย
แผงด้านหลังของเราเป็นที่รว
จุดลมปราณหลายจุด
พอเอาหลังไปถู เป็นการกระตุ้นลมปราณ

ในการแก้ปัญหาของรูปของนาม
ต้องหารูปแบบที่แก้ทีเดียวได้สองอย่าง
เช่น การออกกำลังกายแบบทิเบต
เราจะใช้รูปแบบอันใดอันหนึ่งก็ได้
ถ้ามันง่วงขึ้นมา ทำสักสี่ห้าครั้ง
ทำจนหายง่วง อันนี้คือแก้ปัญหารูปนาม

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

แก้ความรู้สึกที่จิตไม่ได้

สมมติว่านั่งสร้างจังหวะไป คิดโน่นคิดนี่
เป็นปัญหาทางใจโดยเฉพาะ
ไม่ง่วง แต่ว่ามันคิด

คิดถึงการงาน คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้
ลักษณะนี้เป็นปัญหาเรื่องนามรูป
แก้อย่างไร?

อารมณ์ที่สอง อารมณ์นามรูป
วิธีแก้คือ มาดูว่าความเพียรที่เราทำอยู่
เราทำในท่าไหน
เราก็มาเปลี่ยนที่นาม
คือมาเปลี่ยนความรู้สึกตัว

ถ้าความรู้สึกตัวมันแช่
อยู่ในอาการใดอาการหนึ่งนานเกินไป
มันไม่มีกำลัง มันแช่ มันล้า

กำลังของสติมันตก
ทำให้ตัวสติที่จะไปตามรู้
อาการของกายไม่ชัด
อาการของกายก็เป็นทุกข์
คือความไม่สบาย

และความไม่สบายนี้
ถ้าเราไม่ตามรู้อย่างชัดเจน
มันไหลไปสู่จิต
เป็นความไม่สบายของจิตด้วย

เมื่อจิตไม่สบายมันอยู่เฉยไม่ได้
มันต้องสร้างเรื่อง หาเรื่องคิด

เพราะฉะนั้น อาการที่คิด
เป็นเพราะความไม่สบายของกาย
หรือของรูป มันไหลไปสู่จิต

เราก็ต้องหาวิธีเปลี่ยนอิริยาบถ
เปลี่ยนความรู้สึกใหม่
คือมากระตุ้นความรู้สึกทางกาย

ไม่ต้องไปแก้ความรู้สึกที่จิต
เพราะแก้อย่างไรก็ไม่ตก
เพราะไม่ใช่เหตุของมัน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ใช้ความคิดแก้ความคิดไม่ได้

เหตุของอาการคิดก็คือ
ความที่จิตของเราปรุงแต่งฟุ้งซ่าน
เนื่องจากเป็นความไม่ชัดเจน
ในการรู้ความไม่สบายของกาย

ความไม่สบายของกายรู้ไม่ชัด
มันจึงไหลเข้าสู่จิต

วิธีแก้ ก็ต้องมากระตุ้นร่างกาย
ให้เกิดความปลอดโปร่ง ความสบาย ให้ชัด
พอร่างกายปลอดโปร่งชัดเจน
มันหนัก มันหน่วง มันถ่วง มันทับ มันแช่
ก็ปรับให้มันโปร่ง ร่างกายให้เกิดความตื่นตัว

พอนามมีกำลัง นามรูปที่มีก็อยู่ไม่ได้
หายไปเลย นี่คือวิธีแก้

แต่ถ้าเราปรุงแต่งฟุ้งซ่าน
เรายิ่งไปแก้การปรุงแต่งด้วยการคิด
มันไม่จบ มันก็คิดเรื่องใหม่

พอออกจากเรื่องนี้ มันก็คิดเรื่องนั้นต่อ
เอาความคิดไปแก้ความคิดไม่ได้
ต้องเอาความรู้สึกตัวชัดๆ
ไปแก้ความคิด

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

คิดเพราะกายไม่ชัด

เพราะเรารู้ว่าความคิด
มาจากการที่เรารู้กายไม่ชัด

เมื่อรู้กายไม่ชัด
เราไม่สามารถบำบัดความไม่สบายกายออกไปได้
ความไม่สบายกายไหลเข้าสู่จิ

จิตก็อยู่ไม่ได้ ต้องหาเรื่องคิด
โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตา

เราก็กลับมาที่กาย
มากระตุ้นความรู้สึกตัวให้ชัด
ความรู้สึกตัวที่กายชัด
ความรู้สึกไม่สบายกายหายไป
กำลังของนามดีขึ้น
นามรูปก็เปลี่ยนจากที่คิด
มาเป็นความรู้เนื้อรู้ตัว

เมื่อรู้เนื้อรู้ตัว
ความคิดหรือนามรูปหายไป
นี้เรียกว่าเห็นนามรูป
เห็นอะไรก็จะแก้ไขสิ่งนั้นได้

เหมือนเราเห็นงู
เราจะไม่กล้าเหยียบงู
แต่ถ้าเราไม่เห็นงู เราเหยียบงู

อาการสบาย ไม่สบาย ที่เกิดขึ้น
ถ้าเราไม่เห็นมัน เราแก้มันไม่ได้

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ทุกข์ในรูปนามไม่ใช่สมุทัย

ได้สองอย่างแล้ว
รูปนาม เหตุเกิดรูปนาม
การทำให้รูปนามเข้มแข็งสม่ำเสมอ
และวิธีรักษากำลังสติและรูปนาม
ให้เข้มแข็งทำอย่างไร

อันที่สองเรารู้จักนามรูป
เหตุเกิดของนามรูป
วิธีการแก้ไขปัญหาในนามรูป

แก้ไขไปแล้ว รักษาไม่ให้นามรูปเกิด
เพราะนามรูปเป็นเหตุ
เป็นสมุทัยในอริยสัจ

ทุกข์ในรูปนามเป็นเพียงเหตุร่วมของสมุทัย
แต่ไม่ใช่สมุทัยโดยตรง

ความปวดแข้ง ปวดขา
ความเจ็บ ความคันในร่างกาย
ไม่ถือว่าเป็นความทุกข์ในสมุทัย

แต่เป็นความทุกข์ในขันธ์
เป็นความทุกข์ในธาตุ
เป็นลักษณะของไตรลักษณ์

แต่ถ้าเมื่อใดเราไม่ได้ตามรู้
ความทุกข์ของรูป ของขันธ์ หรือของรูปนาม
ปล่อยให้มันไหลไปสู่จิต
ก็จะกลายเป็นนามรูป

ตัวนั้นเป็นสมุทัยตัวจริง คือนามรูป
เป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดตัณหา ความอยาก

แต่ความไม่สบายกาย
ไม่ได้เป็นเหตุของความอยาก
เป็นเหตุร่วมเท่านั้นเอง
เพียงแต่เราไม่ได้ตามรู้มัน
มันก็เลยสร้างตัวเองขึ้นมา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

นามรูปสมุทัยตัวจริง

ถ้าคนไหนรู้ว่านามรูปคืออะไ
เหตุเกิดของนามรูปคืออะไร
การขจัดนามรูป ทำได้อย่างไร
รักษาตัวนามล้วนๆ โดยที่ไม่มีรูป
ทำอย่างไร

เพราะเรารู้ว่ารูปอยู่ที่ไห
ก็ต้องสร้างเหตุที่นั่น
เพราะฉะนั้นต้องเอารูปออก
ให้เหลือแต่นามล้วนๆ
คือเหลือแต่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
คือสติสัมปชัญญะ

ถ้าเราเห็นอย่างนี้และทำได้
หมายความว่า
เรารู้ชัดในอารมณ์ที่สองแล้

กลุ่มที่หนึ่งที่สองต้องไปสำรวจแล้ว
ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้ก็ต้องตกลงไป
อยู่ในกลุ่มที่สามที่สี่

แต่ถ้ากลุ่มที่สามที่สี่ เข้าใจอาการอย่างนี้
ก็ไปอยู่กลุ่มที่หนึ่งที่สองได้
มีการตรวจสอบแบบนี้

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เห็นรูปทำ สบายหรือไม่สบาย

อารมณ์ที่สามคือ รูปทำ
รูปทำงานอะไรในขณะนี้?
เคลื่อนไหวสร้างจังหวะ
รู้ไหมว่าในร่างกายมีการเคลื่อนไหว
และมีความรู้สึกชัดๆ กี่จุดในขณะนี้

การทำงานของรูปส่วนใหญ่เป็นไป
ในทางสุขหรือทางทุกข์?…ทางทุกข์
รูปทำงานอะไรอยู่ให้รู้

ถ้าใครเห็นอาการของรูป
กำลังทำอะไรอยู่
เห็นอยู่ในคลองสติ
ในคลองรู้สึกตัวอยู่เสมอ
เรียกว่าเราเห็นรูปทำ

แต่คนที่ไม่ได้ฝึก
ไม่เห็นตัวเองทำงานตลอดเวลา
เพราะใจไปอยู่ที่อื่น

เห็นรูปทำคือเห็นรูปกำลังทำอะไรอยู่
และขณะทำอยู่ ทำด้วยความถูกหรือความผิด
ความสุขหรือความทุกข์
ความสบายหรือไม่สบาย เห็นอยู่

สมมติว่านั่งง่วงอยู่
เราเห็นความง่วงหรือไม่
ถ้าไม่เห็นแสดงว่าไม่เห็นรูปทำ
และไม่เห็นนามทำด้วย
เพราะเหตุเกิดอยู่ แต่เราไม่แจ้ง
รู้แต่แก้ไม่ได้ เรียกว่ายังไม่เห็นรูปทำ

ในขณะนี้สมมติว่าเรานั่งอยู่
เราเห็นความสบาย ไม่สบายหรือไม่
ถ้าเราเห็น เราจะเลือกท่าที่สบายหรือไม่สบาย?

ถ้าเห็นแล้วมันจะแก้ไขตรงที่เป็นปัญหา
แล้วเราสามารถรักษาส่วนที่ไม่มีปัญหาไว้ได้
เรียกว่าเห็นรูปทำ เป็นอันดับที่สาม

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เห็นนามทำ กุศลหรืออกุศล

อันดับที่สี่ การเห็นนามทำ
ขณะนี้นามทำงานอะไร
นามทำงานในส่วนที่เป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้ามันทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว
ก็เป็นกุศล
แต่ทำไปด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ก็เป็นอกุศล

นามทำมันจะออกมาเป็นดีหรือไม่ดี
กุศลหรืออกุศล สบายหรือไม่สบาย

ถ้าเป็นกุศล ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย
ถ้าเป็นอกุศล ก็จะรู้สึกอึดอัด หนักหน่วง
ไม่สบาย เป็นอกุศล

เห็นการกระทำอะไร แล้วอยู่เฉยๆ
อกุศลเกิดเฉยเลย
เพียงแต่เราไม่ตั้งสติสัมปชัญญะขึ้นมา
อย่างเข้มแข็งเท่านั้น
นี้เรียกว่ารู้รูปทำ นามทำ

แต่ถ้าเราไม่รู้รูปทำนามทำ
มันจะก่อเป็นตัวต่อไป เป็นตัวที่สี่

รู้รูปทำ แก้ไขให้มันสบายได้
โปร่ง เบาสบายได้ เรียกว่าเห็นรูปทำ

เห็นนามทำ ในขณะนี้นามทำงานอะไร มันเห็น
มันคิด มันชอบ หรือไม่ชอบ
มันพอใจหรือไม่พอใจ เห็นอาการของมัน
เรียกว่าเห็นนามทำ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เห็นรูปทำนามทำแล้วเลือกได้

เห็นนามทำงานอะไรอยู่ขณะนี้
รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล
เป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
เห็นอาการของมัน

ถ้ามันเป็นฝ่ายอกุศล
เราแก้ไขให้เป็นกุศลได้
แต่ถ้าเราไม่เห็น
เราก็จะไม่เห็นว่าเป็นกุศลอกุศล
แก้ไม่เป็น

จิตรู้กับคิด เป็นทั้งกุศลและอกุศล
เราจะรู้ในทางถูกหรือทางผิด

ถ้ารู้ในทางถูกเป็นกุศล
รู้ในทางผิดเป็นอกุศล
คิดในทางถูก เป็นกุศล
คิดในทางผิด เป็นอกุศล
เราก็เลือกได้แล้ว
เรียกว่าเห็นรูปทำนามทำ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ไตรลักษณ์เป็นเหตุของรูปทำ

เหตุของรูปทำคืออะไร?
เรารู้รูปทำแล้ว ต้องรู้เหตุด้วย
รู้สมุทัยของมัน

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเหตุของรูปทำ
คือไตรลักษณ์
เพราะมันเปลี่ยนแปลง ทำงานได้
มันถึงเจ็บปวดได้

ความเจ็บปวดนั้นแก้ไขได้
เพราะมันเป็นอนัตตา
ถ้ามันเป็นอัตตา เป็นตัวตน จะแก้ไขไม่ได้

แต่ที่เป็นอนัตตา แก้ไขได้
เพราะมันไม่มีตัวตน เราจึงแก้ไขได้
ปรับได้ เอาเข้าเอาออกได้

เวลานั่งอย่างนี้มันหนัก
เราแก้ไขด้วยการปรับให้มันเบา
หนักก็หายทันที

พอลุกปั๊บ ตัวหนักหายไปทันที
นั่นเป็นอนัตตา จึงปรับได้
นี่คือเหตุของรูปทำ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เหตุของนามทำคือไม่รู้ทันเวทนา

เหตุของรูปทำก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เหตุของนามทำคืออะไร?
เหตุที่ทำให้จิตเราทำงาน
ทำให้จิตต้องคิด ต้องนึก ต้องรู้ ต้องเห็น
คืออะไร?

ถ้าเราไม่มีสติตามรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ความเปลี่ยนแปลง ความไม่สบาย
ความดับไปของสิ่งเหล่านี้
ถ้าเราไม่ตามรู้มัน สามตัวนี้มันก่อให้เกิด
ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ
และไม่แน่ใจ เป็นนามทำ

เพราะฉะนั้น เหตุของนามทำก็คือเวทนาทั้งสาม
เวทนาคือ ความสบาย ไม่สบาย และความยังไม่แน่

พอไม่ตามรู้สามอย่างนี้
มันกลายเป็นความพอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ

เหตุของมันก็คือ เวทนาทั้งสาม
พร้อมที่จะทำให้เกิดอกุศลทั้งสาม
นี่คือเหตุของนามทำ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

กุศล อกุศล เหตุของรูปทุกข์

สี่ข้อแล้ว รูปนาม นามรูป รูปทำ นามทำ

รูปทำ นามทำ ถ้าทำในฝ่ายอกุศล
อกุศลของรูปคือ ความไม่สบายของรูป
อกุศลของนามคือ ความไม่สบายของนาม

อกุศลทางกายทำให้เกิดรูปทุกข์
อกุศลทางจิตทำให้เกิดนามทุกข์

รูปทุกข์ นามทุกข์ เป็นผลของรูปทำ นามทำ
รูปทำ นามทำ ทำถูกหรือไม่ถูก
เป็นกุศลหรืออกุศล
สบายหรือไม่สบาย ดีหรือชั่ว
ผลออกมาจะเป็นรูปทุกข์ นามทุกข์ต่อมา

เพราะฉะนั้น เหตุของรูปทุกข์ก็คือ
กุศลและอกุศล ถูกและผิด

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

รูปทุกข์ นามทุกข์ เป็นผลของอนิจจัง อนัตตา

เบื้องต้นมีหกประการด้วยกัน
๑. รูปนาม ๒. นามรูป ๓. รูปทำ ๔. นามทำ
๕. รูปทุกข์ ๖. นามทุกข์

รูปทุกข์ นามทุกข์ เป็นผลจาก
การที่เราปฏิบัติต่อรูปนาม นามรูป
รูปทำ นามทำ ไม่ถูก

รูปทุกข์ นามทุกข์
เป็นผลรวมของอนิจจัง อนัตตา

โครงสร้างของรูปนามมีเท่านี้
เรารู้ได้ เห็นได้ เข้าใจได้
เป็นเรื่องไม่ยุ่งยากซับซ้อน

แต่ต้องเข้าไปทำตัวรู้ให้เป็นตัวเหตุ
ท่านใช้คำว่าสันทิฏฐิโก
ต้องเห็นด้วยตัวเอง

การเรียนกรรมฐาน
ถ้าเราไม่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้
เราจะสับสนไม่รู้ว่าไปถึงไหน
ปฏิบัติอะไรอยู่ เพื่ออะไร จะเอาอะไร
มันจะสงสัยเนื่องจาก
เราไม่ได้เดินในเส้นทางที่ถูกต้อง

ในหลักการของหลวงพ่อเทียน
ไม่ต้องไปเทียบกับหลักการอื่น
เพราะมันจะเกิดความสงสัยขึ้นมาทันที
แล้วเราก็จะลังเลว่าใช่หรือเปล่า
จะกลายเป็นถือลัทธิของอาจารย์
ไม่ได้ถือสภาวะที่ถูกต้อง

เราเอาหลักการหลวงพ่อเทียนมาเป็นตัวตั้ง
เทียบกับหลักการดั้งเดิม
ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้
ถ้าจะให้ดีก็เทียบกับหลักของบาลี
แต่ก็เกินจำเป็นสำหรับพวกเรา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

รู้เห็นรูปนามแล้ว ละอบายมุขได้

เมื่อรู้เห็นรูปนามแล้ว มันละอะไรได้บ้าง
เบื้องต้นที่สุด ต้องละอบายมุขได้
สิ่งที่เราติดไม่ว่าของหยาบ ของละเอียด
ในเบื้องต้นของหลวงพ่อเทียนชัดเจนมากคือ
ต้องละการสูบบุหรี่ได้ ละเหล้าได้
ละการพนันได้ ละหวยเบอร์ได้

ถ้าละไม่ได้ถือว่ารูปนามไม่สมบูรณ์
เพราะยังละอบายมุข
พื้นฐานความเสื่อมไม่ได้

อบายมุขภายนอกคือสิ่งที่เป็นวัตถุ
สิ่งเสพติดทั้งหลาย

อบายมุขภายในมีสามอย่าง
๑. ความถือเนื้อถือตัว
เป็นอบายมุขระดับหนึ่งของรูปนาม
เราเห็นรูปเห็นนามแล้ว
ยังถือเนื้อถือตัวอยู่ ยังมีเรามีเขา
เป็นอบายมุขขั้นมราหนึ่งของนาม

๒. ความสงสัย
คำสอนนี้ใช่หรือเปล่า
นรกสวรรค์มีจริงหรือเปล่า
ความไม่แน่ใจที่จะทำ

๓. พิธีรีตอง ความดี ความชั่ว
เคยกินมังสวิรัติ เห็นคนไม่กินมังสวิรัติ
เริ่มดูถูกแล้ว
เคยทำวัตรประจำ วันไหนไม่ทำวัตรนอนไม่หลับ
ยึดติดแล้ว
วันไหนทำความเพียร รู้สึกสบายใจ
วันไหนไม่ได้ทำความเพียร รู้สึกไม่สบายใจ

เรียกว่ายึดติดในสิ่งที่ดี
เป็นอบายมุขทางจิตที่ค่อนข้างลึกมาก
ถ้าคนไหนละตรงนี้ได้
หมายความว่ารูปนามสมบูรณ์แล้ว
ในขั้นตอนที่หนึ่ง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

รูปนามสมบูรณ์หรือไม่

ผลของอารมณ์รูปนาม
คือทำให้ละอบายมุขได้
ทั้งฝ่ายรูปและฝ่ายนาม

แต่ถ้าละได้บางอย่าง ก็ถือว่า
อารมณ์รูปนามยังไม่สมบูรณ์

ถ้าอารมณ์รูปนามยังไม่สมบูรณ์
แล้วขึ้นไปสู่อารมณ์ปรมัตถ์
มันก็จะไม่เข้มแข็ง

บางคนรู้จักอารมณ์ปรมัตถ์แล้ว
แต่ยังละสิ่งนี้ไม่ได้
รู้ได้ เห็นได้ แต่อารมณ์ยังไม่เข้มแข็ง
ร้อยเปอร์เซ็นต์
มีแค่สิบ ยี่สิบ ห้าสิบเปอร์เซ็นต์

จะวัดถึงปรมัตถ์และรูปนาม
ว่าสมบูรณ์หรือไม่
ดูที่อาการละในสิ่งที่เราเคยยึดติด
ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน
ทางกายหรือทางจิต

ถ้าลดละได้มาก เปอร์เซ็นต์ของนาม
ก็สมบูรณ์มากขึ้น
เช่น เราติดความสบาย
ไปไหนเจอที่นอนไม่ดี น้ำไม่มีอาบ
ไม่มีสบู่ แปรงสีฟัน จะอยู่อย่างไร
รูปนามไม่สมบูรณ์ ปรมัตถ์ไม่สมบูรณ์

บางแห่งที่อาตมาไป ไม่มีผ้าเช็ดตัว
อาตมาก็เอาผ้าเช็ดเท้าไปซักใหม่
ก็เช็ดตัวได้เหมือนกัน
บางแห่งไปอาบน้ำไม่มีขัน
เห็นกระโถนเก่าๆ เอามาใช้เป็นขันได้

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เข้าใจธรรมะ อะไรก็ง่ายไปหมด

การที่เราไปยึดว่าดีหรือไม่ดี
อยู่ที่การทำให้เหมาะหรือไม่เหมาะ
ใช้ได้หรือไม่ได้

อาหารต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าผิดจากนี้ไปทานไม่ได้
อันนี้เป็นอบายมุขเหมือนกัน การยึดติดรสชาติ
ต้องเป็นรูปแบบที่ฉันชอบ
สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ให้ไปดู

สิ่งที่เราเคยยึดติด แม้แต่เสื้อผ้า
เครื่องสำอางค์ ที่อยู่อาศัย ต้องเป็นอย่างนี้
เรียกว่าการยึดดี การติดดี ยึดสบาย ติดสบาย

พอขาดในสิ่งที่เราเคยทำ
วันนี้ไปไหนไม่ได้ ไม่มีรถ เดือดร้อนแล้ว
อาตมาออกจากวัด จะไปกรุงเทพ
เอาย่ามใส่บาตรแล้วเดินออกมาไม่มีรถ
ไปหาเอาข้างหน้า เดี๋ยวก็เจอเอง

พอเข้าใจธรรมะ การใช้ชีวิตก็ง่ายไปหมด
ไม่มีอะไรยากเลย
เราเห็นอานิสงส์ความสะดวก ง่ายดายของชีวิต
เราจึงอยากให้คนอื่นได้รู้บ้าง

เพราะทุกคนสามารถทำได้
เพียงแต่เขาไม่มีวิธีการเท่านั้นเอง
เราก็มาบอกวิธีการ
คนไหนทำได้เร็ว ทำได้ดี
หมายความว่าคนนั้นมีศักยภาพ
มีศรัทธา มีความเพียร มีความฉลาดเพียงพอ

คนไหนที่มีศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย
ก็จะช้าไปตามลำดับ แต่ละคนจะต่างกัน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ของยากสี่อย่าง

ชีวิตของเรามีความหมายมาก
กว่าเราจะกลั่นกรองให้มันได้
รูปขันธ์ รูปธาตุ เป็นมนุษย์แบบนี้
เราผ่านพัฒนาการมาไม่รู้กี่ล้านปี
กว่าจะได้โมเดลร่างกาย จิตใจ
ระบบประสาท สมอง แบบนี้
ผ่านพัฒนาการจากสัตว์ต่างๆ มาล้านๆ ปี

แล้วทำไมเราใช้มันไปในทางที่ไม่คุ้ม
ใช้ในทางที่เป็นทุกข์
ใช้ในทางที่ไม่ใช่ความเจริญ
ทั้งๆ ที่เราได้ชีวิตนี้มา

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
สิ่งที่ยากที่สุดมีสี่อย่าง
๑. กิจโฉ มนุสสะปฏิลาโภ
การได้สภาวะการเกิดมาเป็นของยากที่สุด

๒. กิจฉัง มัจจานะ ชีวิตัง
เกิดมาแล้วจะทำอะไรได้ดังใจทั้งหมด
ตลอดชีวิต ยากที่สุด

๓. กิจจัง สัทธัมมัสสวนัง
การได้ฟังสิ่งที่ดีและเอาไปพัฒนาตัวเองได้
หาฟังได้ยาก

๔. กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท
เมื่อได้ทำสิ่งนั้นแล้ว ได้เข้าถึงสิ่งนั้น
ได้บรรลุถึงองค์ความรู้สิ่งนั้น
แล้วทำได้อย่างที่เรารู้ เป็นสิ่งที่ยาก

มีสิ่งที่ทำได้ยากอยู่สี่อย่าง
๑. เกิดเป็นมนุษย์
๒. เกิดแล้วสบายตลอดชีวิต
๓. การได้ยินได้ฟังแล้วสามารถพัฒนาชีวิตตัวเองได้
๔. นำสิ่งที่ฟังมาพัฒนาจนเป็นคุณธรรม

ตอนนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว
จะทำชีวิตให้สบายได้อย่างไร
ลองทำดู ทำให้ชีวิตมันง่ายขึ้น
ทำให้กินง่าย อยู่ง่าย ไปง่าย มาง่าย
หลับง่าย นอนง่าย พูดง่าย เข้าใจง่าย

กินยาก นอนยาก หลับยาก เข้ากับคนได้ยาก
ชีวิตเราไม่ง่ายแล้ว มีเงื่อนไขเยอะแยะเลย

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ

การได้พบครูบาอาจารย์ที่มาสอน
แล้วเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง
ยากที่จะพบ

เราโชคดีแล้วที่ได้พบสิ่งเหล่านี้
ได้พบความเป็นมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการ
มาหลายร้อยล้านปี

เกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
มีสติปัญญาที่สมบูรณ์
คนที่เกิดเป็นมนุษย์ที่พิการก็มีเยอะ
คนที่ปกติจริงๆ หายาก

แต่ละคนมีข้อบกพร่องต่างกัน
บางคนตาไม่ดี บางคนประสาทไม่ดี
บางคนสุขภาพไม่ดี บางคนหูไม่ดี

บางคนเป็นอัลไซเมอร์
หามนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด
โดยที่ไม่เป็นอะไรเลย
ยากที่สุดเหมือนกัน

การเกิดเป็นมนุษย์ที่ว่ายากนั้น
หลวงพ่อพุทธทาสให้คำจำกัดความว่า

“เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง
เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน
ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน
ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา

ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ
ใครมีครบควรเรียกมนุสสา
เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา
เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันติ์จริง”

นิยามของท่าน เป็นมนุษย์ได้เพราะใจสูง
การเป็นมนุษย์ไม่ได้ตัดสินที่ร่างกาย
สำคัญที่ใจสูง มีศีลธรรมพร้อมหรือไม่
ความเป็นมนุษย์จะสมบูรณ์ตรงนั้น

มีร่างกายที่สมบูรณ์ที่สุดอย่างพวกเพาะกล้าม
แต่เขาก็ยังทุกข์อยู่ ใจก็ยังไม่สูง
แต่คนที่อ่อนแอขี้โรค
แต่ใจเต็มไปด้วยคุณธรรมยอดเยี่ยม
ก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

เพราะร่างกายต้องตกอยู่ใน
กฎของไตรลักษณ์ตลอดเวลา
จึงไม่มีความสมบูรณ์ในตัว

แต่จิตของเราสามารถอยู่เหนือไตรลักษณ์ได้
สามารถหาความสมบูรณ์ในตัวได้
ถ้าใจเราสูง มีศีลธรรม มีเหตุผล
เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่แท้

ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ
เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องมีสามอย่างนี้
เราต้องสำรวจใจเราตลอดเวลา
ใจดี ใจสบาย ใจสงบ

มีสติสัมปชัญญะไปตรวจสอบใจเรา
ได้ตลอดเวลาหรือไม่
เราต้องปฏิบัติให้มากขึ้น
แล้วจะสุขสบาย

พระพุทธยานันทภิกขุ

Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)

ไฟล์เสียงชุด ครุสติรีทรีท (๑๑-๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙)