ความคิดทำให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ถ้าเราต้องการจะพ้น
จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เบื้องต้นเราต้องเห็นก่อนว่า
สังขารนี้มันเป็นทุกข์
เมื่อเราศึกษามันจริงๆ แล้ว
เราจะดับเหตุแห่งการเกิดได้
เหตุเกิดจากใจที่ชอบคิดปรุงแต่ง
ไปชอบสิ่งลวงไม่ชอบความจริง
ถ้าใจเราอยู่แต่กับปัจจุบัน
ใจจะออกไปปรุงแต่ง
เป็นอดีตอนาคตไม่ได้เลย
มันจะเห็นแต่สภาวะ
ที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น
เวลาที่ความคิดเกิด
แล้วเราจัดการมันไม่ได้
เรายังคงทำกรรม
และรับวิบากกรรม
ตามความอยาก
ต่อให้เราเบื่อชีวิต
ไม่อยากเกิดแค่ไหน
เราก็ต้องเกิด
เพื่อทุกข์ซ้ำซาก
ตายแล้วตายเล่าอยู่ต่อไป
นั่นเป็นเพราะเราหาเหตุ
แห่งการเกิดไม่เจอ
พระพุทธเจ้าจึงเน้น
ให้อยู่กับปัจจุบัน
เพื่อให้ทันอดีตอนาคต
เรื่องนี้มีคนบางคนเท่านั้น
ที่สัมผัสได้
คือคนที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้จริง ๆ
เราเสียเวลาในชีวิต
ไปกับเรื่องไร้สาระมามากแล้ว
เรามาสละเวลาให้กับ
การศึกษาความจริงกันเถิด
ความร้อนของรูปธรรม และนามธรรม
นามรูปคือความอยาก
หรือตัณหาทั้ง ๓ ระดับ
(กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)
เมื่อก่อตัวขึ้นในใจ
ก็ขยายผลออกไปเรื่อยๆ
เหมือนไฟไหม้ป่าฉันใด
ความอยากในใจของมนุษย์ก็ฉันนั้น
ถ้าไม่รู้จักวิธีดับ
ก็ไหม้กายไหม้ใจไปเรื่อยๆ
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
ความร้อนของรูปธรรม
คือ ความเกิด ความแก่
ความเจ็บ และความตาย
ส่วนความร้อนที่เป็นต้นเหตุ
ให้เกิดความคิดปรุงแต่ง หรือนามรูป
ก็คือ ตัณหา ๓ ประการ
เมื่อเป็นไปในทางที่ผิด
อย่างต่อเนื่องและซ้ำซาก
ก็ก่อให้เกิดผลลบต่อจิตตนเอง
กลายเป็นความเศร้าโศก
พิไรรำพัน บ่นเพ้อ คร่ำครวญ
หงุดหงิด ผิดหวัง หดหู่
เหี่ยวแห้ง ระทมตรมใจ
ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจก็ตามมา
อย่าเล่นกับของจริง อย่าจริงกับของเล่น
ถ้าเราไม่สามารถ
รู้เท่าทันนามธรรม
อันเป็นเหตุแห่งทุกข์
เราก็จะไม่สามารถแก้ไข
ต้นเหตุของการ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ที่เป็นรูปธรรมได้
เราอาจจะเบื่อชีวิต
ไม่อยากเกิด
แต่เราไม่รู้จักเหตุของการไม่เกิด
เบื่ออย่างไรก็ต้องเกิด
เพราะเราไม่รู้จักแก้ไขที่เหตุ
การเจริญสติสัมปชัญญะ
เป็นเรื่องจริง
เราอย่าทำเล่น
ถ้าเราไปเล่นกับของจริง
เราจะทุกข์ปางตาย
และถ้าเราไปจริงกับของเล่น
เราก็ทุกข์ปางตายเหมือนกัน
ยารักษาโรคกิเลส
เราเป็นคนไข้ของสังสารวัฏ
ที่ป่วยด้วยโรคกิเลส
เราต้องกินยาพุทธโอสถ
ธรรมโอสถ สังฆโอสถ
ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นหมอ
ได้ทรงจัดไว้ให้
เปรียบได้กับการตั้งใจปฏิบัติ
แต่ถ้าวันใดวันหนึ่ง
เราต้องการรู้ว่ายาเม็ดนี้
ประกอบด้วยอะไรบ้าง
เราก็ต้องไปเรียนเภสัช
เปรียบได้กับการเรียนปริยัติ
ศีล รักษาความโลภ
สมาธิ รักษาความโกรธ
ปัญญา รักษาความหลง
เราก็บริโภคยาโดยการตั้งใจปฏิบัติ
การที่จิตไม่ปรุงแต่ง โรคเข้าไม่ได้
เกิดแก่เจ็บตายก็ไม่มี
สอบตกเกิดภพชาติ
เราเกิดมาแล้ว
เหมือนนักเรียนที่สอบตก
ต้องเรียนซ้ำชั้น
นักเรียนเรียนซ้ำชั้น
ไม่กี่ครั้งก็สอบผ่าน
แต่เรามาเกิดซ้ำชั้นเป็นร้อยๆ ครั้ง
เราเป็นนักเรียนที่ดีแล้วหรือยัง
เพราะเราตกเป็นทาส
ของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
เราจะทดสอบตัวเองง่ายๆ
วันนี้เราคิดขึ้นมาในใจครั้งที่เท่าไร
ถึงจะรู้ว่าตัวเองคิด
ถ้าคนไหนคิดไม่เกิน ๗ ครั้ง
แล้วรู้ตัวเสียก่อน
แสดงว่าภพชาติสั้นเข้ามาแล้ว
แต่บางทีคิดไปครึ่งวัน
เพิ่งรู้ตัวว่าคิด
มันเยอะเกินไป
แล้วไม่รู้ว่าวันหนึ่งคิดกี่หน
ในหนึ่งชั่วโมง
ถ้าเราตามรู้จิตของเราจริงๆ
มันคิดกี่เรื่อง ตามตรงนี้ให้ได้ก่อน
ชั่วโมงหนึ่งเยอะไป
เอาครึ่งชั่วโมงคิดกี่เรื่อง
ครึ่งชั่วโมงเยอะไป
ห้านาที สิบนาทีคิดกี่เรื่อง
ตามรู้ตรงนี้ให้ได้ก่อน
ถ้าตามรู้ตรงนี้ได้
แสดงว่าเรามีศรัทธา
และความจริงใจ ที่จะรู้เรื่องนี้
ฝึกตามรู้อริยสัจจ์สี่จากรูป
ที่เราสวดว่าการเกิดเป็นทุกข์
การแก่เป็นทุกข์
การตายเป็นทุกข์
การเจ็บเป็นทุกข์
หมายถึงตัวทุกข์กาย
ยังไม่ใช่สมุทัย
แต่การเกิดของอารมณ์
การแก่ของอารมณ์
การเจ็บของใจ
การตายของสติสัมปชัญญะ
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แบบนี้
เป็นสมุทัย
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทางกาย
ถือเป็นกฎธรรมชาติ
เรียกว่า ธรรมนิยาม
ไม่มีใครฝืนได้
แต่ตัวสมุทัย ฝืนได้ แก้ได้
จิตของเราเมื่อรับเอา
ความชอบไม่ชอบ
พอใจ ไม่พอใจ ราคะ โทสะ
เข้าไปแล้ว
มันแก้ให้หายโดยเด็ดขาดได้
ร่างกายของเรามันเวียนเจ็บ
เวียนเมื่อย เวียนเกิด เวียนตาย
มันแก้ไขไม่ได้
แต่เราสามารถบำบัด
ทุกขเวทนาทางกายได้
โดยไม่ต้องใช้ปัญญามาก
ตัวบำบัด แก้ไข ขจัด ตัดออกไป
ท่านใช้คำว่านิโรธ ทำให้มันดับ
ความไม่พอใจ ถ้าเราทำให้มันดับได้
นิโรธปรากฏแล้ว
แต่ก็ต้องมาทำนิโรธที่มันเป็นสมมติ
ให้ชำนาญเสียก่อน
เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือการเกิดดับ
ที่เราไม่ประมาท ก็เพื่อที่จะ
ไม่ให้กาย ไม่ให้ใจ ของเราถูกปรุง
ถูกความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำ
จนไม่เหลืออะไร
พอเรามีสติรู้เท่าทันขึ้นมาบ้าง
จิตของเราที่มันแก่ มันเจ็บ มันตาย
มันเกิด มันดับ
มันก็จะไม่มีช่องว่างที่แปรปรวนได้
ถ้าแปรปรวนมากและนาน
ช่องว่างระหว่างการเกิดดับ
ก็ยาวขึ้น กว้างขึ้น
ถ้าเปลี่ยนน้อย แปรปรวนน้อย
แล้วดับไป
ช่องว่างก็จะแคบเข้ามา
ตัวช่องว่างที่มันแปรปรวนมากน้อย
เป็นไปตามกำลังของสติ
ต้องใช้อุบายกำจัดกิเลสตลอดเวลา
สุขมี เราก็ไม่เสพ
ทุกข์มี เราก็ไม่กลัว
ความตายมี เราก็ไม่กลัว
ใช้ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
เป็นอุบายในการจัดการกิเลสได้หมด
เวลาปฏิบัติไป มีดี มีชั่ว มีเจ็บ มีปวด มีเมื่อย
มีเพลีย มีเบื่อ มีเหงา เซ็ง ฟุ้งซ่าน
ใช้เป็นอุบายได้หมดเลย
แต่จะใช้มันเป็นหรือไม่ นี่คือปัญหา
เราจึงต้องมี skill
มีทักษะ ความฉลาดในการใช้
เราปฏิบัติไม่ใช่เพื่อการดับทุกข์
แต่เพื่อหาอุบาย
เหมือนในห้อง มีสมบัติอยู่แล้ว
แต่ไม่มีกุญแจเปิดเข้าไป
กุญแจดอกนี้ก็คือทักษะ
ในการรู้วิธีการแก้ปัญหา
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวเลย
ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องใช้มัน
ถ้าเราใช้มันไม่เป็น มันก็ใช้เรา
ถ้าเราเผามันไม่ได้ มันก็เผาเรา
ถ้ามันไม่ตาย เราก็ตาย
เวลาไปอาบน้ำ
ใช้วิธีการอาบน้ำกำจัดกิเลสได้
เวลากินข้าว
ใช้วิธีการกินข้าวกำจัดกิเลสได้
เวลานั่งขับถ่าย
ใช้วิธีการขับถ่ายกำจัดกิเลสได้
ทุกอย่างใช้เป็นอุบายได้หมด
การจะใช้อุบายเหล่านี้เป็น
จะต้องมีความรู้สึกตัว
มีสติสัมปชัญญะที่เราทำกันอยู่นี่
เมื่อมีความรู้สึกตัวเป็นฐานแล้ว
สิ่งที่เกิดตามมาคือปัญญา
เปลี่ยนพลังงานความไม่รู้เป็นความรู้
เหมือนไฟที่มันถูกเปลี่ยน
ให้เป็นกระแสไฟฟ้า
ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
ไม่ใช่ทำหน้าที่เผาไหม้อย่างเดียว
ทำหน้าที่เป็นแสงสว่างก็ได้
ทำหน้าที่เป็นแอร์เย็นๆ ก็ได้
ทำหน้าที่สื่อสัญญาณคอมพิวเตอร์ก็ได้
นั่นคือตัวไฟ ที่เราเข้าใจและใช้ถูกต้อง
สามารถได้ประโยชน์จากมันหลากหลาย
ตัวสภาวะธรรมหรือจิตของเรา
ที่เป็นพลังงาน
ถ้าเราเข้าใจมันถูกต้อง
ก็สามารถใช้กำลังนี้
ให้เกิดคุณธรรมมากมาย
ให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา เมตตา
ขันติ วิริยะ ฉันทะ เกิดไปเรื่อยๆ
เราแปลงส่วนที่เป็นลบให้เป็นบวกได้
เพราะชีวิตของเรามันมีความลบ
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
อวิขขา ตัณหา อุปาทาน เป็นพื้นฐาน
เราก็สามารถทำตัวรู้นี้บ่อยๆ
แปลงตัวไม่รู้เรื่อยๆ
เดินก้าวหนึ่งรู้ ก็แปลงก้าวหนึ่ง
เดิน ๒ ก้าวรู้ ก็แปลง ๒ ก้าว
บางครั้งเดินไป ๕ ก้าว เราเพิ่งรู้
รู้ตรงไหนมันก็เปลี่ยนแปลงตรงนั้น
ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยาก
พระพุทธยานันทภิกขุ