ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท ต้นเหตุของทุกข์ ความคิด อวิชชา

ความเผลอสติ ความไม่รู้สึกตัว
เป็นต้นเหตุของการเกิดทุกข์
เป็นสายโซ่ข้อหนึ่งทำหน้าที่เกาะเกี่ยว
กับเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกหลายตัว

เช่น เมื่อเราเผลอสติ(อวิชชา)
สังขาร(การปรุงแต่ง)
วิญญาณ(การรับรู้)
นามรูป(ภาพในใจ) เกิดขึ้น

สฬายตนะ(การเชื่อมต่อภาพภายในและภายนอก)
ผัสสะ(การกระทบกันระหว่างภาพทั้งสอง)
เวทนา(การเข้าไปรับรู้ภาพที่มากระทบ)
เกิดขึ้นตามลำดับ

เมื่อภาพเชื่อมต่อกัน
ขบวนการของทุกข์ยังไม่ครบวงจร

หากผู้ที่ฝึกฝนมาดี
มีความชำนาญในการตามรู้
จนถึงขั้นปรมัตถ์แล้ว
โอกาสที่จะเกิดสติ รู้เท่าทัน
และตามเห็นกระบวนการของอวิชชา
เป็นไปได้มาก

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องศึกษา
ทบทวนประสบการณ์ตรงนี้บ่อยๆ
ทุกๆ ครั้งที่ความคิดเกิดขึ้น
อย่าพลาดโอกาสเลยทีเดียว

เพราะตรงนี้อาจกล่าวได้ว่า
เป็นหัวใจของการปฏิบัติวิปัสสนา
ที่สำคัญมากจุดหนึ่ง

อิทัปปัจจยตา อนัตตา เสียงระฆัง

อุปมาเหมือนเสียงระฆัง
ระฆังเป็นสิ่งหนึ่ง
ค้อนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง

เมื่อค้อนกระทบระฆัง
เสียงระฆังก็เกิด
เสียงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง

ทุกสิ่งทุกอย่าง
เป็นเหมือนกับเสียงระฆัง

การเกิดขึ้นของเสียงระฆังนั้น
มันไม่ได้บังคับให้ตัวมันเกิด

แต่มันเกิดเพราะสิ่งอื่น
ผลักดันให้มันเกิด

สิ่งอื่นทำเหตุปัจจัยให้มันเกิดขึ้น
และเสียงระฆังเอง
ก็ไม่สามารถควบคุมเสียงตัวเอง
ให้ดัง ให้ค่อย ให้ไพเราะ
หรือว่าให้ดับเองได้

มันเองก็ยังบังคับตัวเองไม่ได้
เหตุมันมาจากที่อื่น
เสียงมันจะดังหรือไม่ดัง
เพราะหรือไม่เพราะ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระฆัง

นั่นแหละคือ ความหมายของอนัตตา
น้อมเข้ามาใส่ตัว
ทุกสิ่งปรากฏเหมือนเสียงระฆัง

รู้ทันปฏิจจสมุปบาท

นามรูป เกิดขึ้นจากการกระทบ
ตาได้เห็นรูป สร้างภาพขึ้นในใจ
หูกระทบเสียง เกิดนึกขึ้นมาในใจ
จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส
กายกระทบสัมผัส จิตกระทบอารมณ์
เกิดสร้างภาพขึ้นมา

นามก็สร้างรูปขึ้นมา
เราเรียกว่า นามรูป

รูปทั้งสองฝ่าย รูปภายใน รูปภายนอก
คืออายตนะภายในภายนอก กระทบกัน
ก็เกิดตัวรูป คือเกิดภาพขึ้นมา

หากนามสร้างรูปขึ้นมาปั๊บ
ถ้าไม่มีตัวปรมัตถ์เข้าไปกั้น
ก็หมายความว่า
รูปก็ต้องสร้างตัวของมันไปเรื่อยๆ

จากรูปที่ปรากฎ
ก็จะแตกเป็นเรื่องเป็นราว
เรียกว่าสังขาร

ปรุงแต่งไป เกิดการรับรู้
เป็นวิญญาณ
รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ
เกิดความอยาก ไม่อยากขึ้นมา

เข้มข้นถึงกับบังคับปากพูด
บังคับกายกระทำ
ก็เป็นกายกรรมขึ้นมา

การกระทำครบเลยสามอย่าง
ตอนแรกเกิดทางจิต
ต่อมาก็เกิดทางกาย ทางวาจา
ก็เกิดเป็นภพเป็นชาติขึ้นมา

และภพชาติอันนี้
ก็มาสร้างตัวแก่ และตายไป

ความคิดเก่าตายไป
ความคิดใหม่เกิดขึ้นมา
เป็นโศกะเทวะไปตามลำดับ

แล้วมีการกระทบใหม่
ก็เริ่มต้นใหม่ อย่างนี้เรื่อยไป
อันนี้เป็นขบวนการของการเกิดดับ

ตัวเกิดทำหน้าที่ดับ ตัวดับทำหน้าที่เกิด

ของคู่ปรากฏเสมอ
ในทุกส่วนที่เป็นรูป
เราต้องรู้การเกิดดับ
แบบสมมตินี้ก่อน
 
และต้องแปลงการเกิดดับ
ของของคู่ในสมมติ
ในกายของเรา
ให้เป็นนิมิตกรรมฐาน
 
เพียงแต่ใส่ใจและรู้เข้าไป
ในสิ่งที่มันกำลังปรากฏคู่ของมัน
 
คู่หนึ่งเป็นคู่ดับ อีกคู่หนึ่งเป็นคู่เกิด
คู่เกิดเป็นคู่ทุกข์ คู่ดับเป็นคู่ดับทุกข์
 
เช่น เรานั่ง ความหนักเกิด
แต่พอเราเคลื่อน ความหนักก็ดับ
พอหยุด หนักก็เกิด
 
ตัวเกิดทำหน้าที่ดับ
ตัวดับก็ทำหน้าที่เกิด
เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
สิ่งหนึ่งก่อให้เกิดสิ่งหนึ่ง
 
ซ้ายก่อให้เกิดขวา ขวาก่อให้เกิดซ้าย
ดับก่อให้เกิดเกิด เกิดก่อให้เกิดดับ
สุขก่อให้เกิดทุกข์ ทุกข์ก่อให้เกิดสุข
 
มันสัมพันธ์กันตามหลักของปัจจยาการ
ตามหลักของปฏิจจสมุปบาท
 
เรามัวแต่เรียนปฏิจจสมุปบาท
ที่เป็นภาษาบาลี
เป็นทฤษฎีวิชาการไม่รู้เรื่อง
แต่หลักที่เกิดจากเหตุปัจจัยง่ายๆ
กลับมองไม่เห็น

เวทนาในขันธ์ห้า สู่เวทนาในปฏิจจสมุปบาท

การจะรู้หรือหลงนั้น
พัฒนามาจากปฏิจจสมุปบาท
วงจรปฏิจจสมุปบาท
 
ชุดหนึ่งมีสิบสองตัว
ย่อให้เหลือสี่ตัว คือ
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
 
จากอวิชชามาถึงสฬายตนะ
เป็นอดีต
จากผัสสะมาถึงอุปาทาน
เป็นปัจจุบัน
ภพ ชาติ กรรม
เป็นอนาคต
 
เวทนาเกิดมาจากขันธ์ห้า
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
หากไม่มีสติ ไม่รู้สึกตัว
ก็จะเกิดเวทนา
ตามวงจรปฏิจจสมุปบาท
 
ปฏิจจสมุปบาท
เป็นการเกิดขึ้นพร้อมกัน
แห่งธรรมทั้งหลาย
เพราะอาศัยกัน
 
การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้น
เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย
สิบสองเรื่อง
เกิดขึ้นสืบๆ เนื่องกันมาตามลำดับ

จากไตรลักษณ์ สู่ปฏิจจสมุปบาท

การทำใจในช่วงที่กำลังเจริญสติ
ต้องทำจิตให้เป็นกลาง
คือ กำหนดตัวรู้ให้อยู่กับปัจจุบันให้ชัดเสมอ
ทำตัวรู้กับใจให้เป็นสิ่งเดียวกัน
ถ้าไม่ตามรู้ปัจจุบันให้ชัดๆ ใจก็เผลอ
แฉลบหลงออกไปนอกตัวเองตลอดเวลา

เพราะการเกิดการดับของจิตมีความถี่สูงมาก
จึงต้องตั้งกำลังความถี่ของสติ
ให้สูงและเร็วกว่าจิตเสมอ

ถ้าความถี่ของสติเกิด-ดับช้ากว่าจิต
ก็ไม่รู้เท่าทันจิต
อาการหลงหรือเผลอก็เกิดขึ้น
ในขณะนั้นทันที

เช่น เรารู้สึกปวดหลัง ปวดเอว
สติก็ต้องตามรู้ให้ทันว่า
รูปกำลังเกิดความรู้สึกเจ็บอย่างไร
เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จะแก้ไขอย่างไร

แต่ถ้าเผลอสติ
ไม่ตามเฝ้าดูอาการของรูปอย่างใกล้ชิด
อวิชชาก็เกิดขึ้นพร้อมกับจิตทันที

จิตก็เกิดรู้สึกเป็นตัวเรา ผู้ทุกข์ ผู้ปวด
และรู้สึกอยากจะลุกหนี
ไปจากทุกข์อันนั้น แต่หนีไม่ได้
เพราะยังทำงานไม่เสร็จ

จิตก็สร้างความคิดความอยาก
เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา
ตามกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จากไตรลักษณ์ภายนอก
ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง
วงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์
ก็ผูกเงื่อนไขให้เกิดไตรลักษณ์ภายในได้ทันที
สมุทัยแห่งทุกข์ก็เกิด

พระพุทธยานันทภิกขุ

ปฏิจจสมุปบาท และการเกิดของอัตตา

(บางตอนของข้อธรรมของท่านอาจารย์ โกวิทย์ เขมานันทะ)

พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาท
หรือวงจรกลไกการเกิดและการดับของความคิด
ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งก็คือ อริยสัจใหญ่นั่นเอง

ปฏิจจสมุปบาทยังเป็นการอธิบายถึง
การเกิด-ดับของสิ่งทั้งหลาย
ว่าเป็นไปตามเหตุและปัจจัย
ไม่ใช่เกิดขึ้นมาโดดๆ โดยไร้สาเหตุ
หรือมีผู้สร้างแต่อย่างใด

เมื่อเหตุพร้อม ผลย่อมเกิดตามมา
และทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ตามเหตุและปัจจัย

ไม่มีความคงทนถาวรหรือความเป็นอัตตาตัวตน
ที่ยั่งยืนอยู่ตลอดกาล
จึงเกี่ยวเนื่องให้เห็นสามัญญลักษณะหรือไตรลักษณ์

นอกจากนี้ ปฏิจจสมุปบาทยังเป็นขบวนการ
ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังการทำงาน
ของอายตนะ ๖ และขันธ์ ๕

ตลอดถึงการเกิดขึ้นของอัตตา
และความเกี่ยวเนื่องกับการเกิดขึ้น
ของความคิดปรุงแต่งที่เข้าข้างตนเอง หลงตนเอง

เช่นที่พระองค์ทรงสอนไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้ว่า
ทุกข์เกิด(หรือดับ)จากสิ่งที่รับรู้
ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะ ๖)
ด้วยประสาทวิญญาณทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (วิญญาณ ๖)

ดังนั้น เมื่อเกิดการสัมผัส (ผัสสะ)
ให้เกิดความรู้สึก (เวทนา)
ด้วยความหมายรู้จำได้ (สัญญา)

หากเป็นไปด้วยความหมายรู้
ด้วยความลำเอียงเข้าข้างตนเอง (สัญญเจตนา)
ย่อมก่อให้เกิดความอยาก(ตัณหา)
นำไปสู่การตรึกวิตกกังวล (วิตก)
มีผลให้เกิดการตรองครุ่นคิด (วิจาร)
ทำให้เป็นทุกข์เพราะคิดเพื่อหวังผลประโยชน์
ให้กับอัตตาตัวตน