ทำไมเราจึงต้องเกิด?
ทุกอย่างในโลกทั้งหมด
มันเริ่มต้นที่เรามีชีวิตจิตใจ
เพราะมีเราจึงมีโลก
เพราะมีโลก
เราจึงเป็นศูนย์กลางของสิ่งมีชีวิต
ถ้าไม่มีชีวิตของเราเกิดขึ้น
ไฉนเลยจะรู้ได้ว่า
โลกนี้มีอยู่จริง
รากเหง้าดั้งเดิมของชีวิต
จึงประกอบด้วยสิ่ง 2 สิ่ง
คือชีวิตกับจิตวิญญาณ
ที่ทั่วไปเรียกว่า กายกับใจ
หรือรูปกับนาม
ธรรมชาติของสองสิ่งนี้
ต้องมีที่มาหรือประวัติศาสตร์
ว่ามันเป็นมาอย่างไร
หรือเป็นผลผลิตออกมาจากอะไร?
เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อน
ว่าเราจะนิยามชีวิตที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
จะไม่สืบสาวไปไกลถึงอดีตอนาคต
อันยาวไกลของมัน
ดังนั้น เราจึงตั้งต้นที่ว่ารูปกับนาม
หรือกายกับใจ
มันเริ่มต้นมาจากสิ่งเดียวกัน
คือ “จิตวิญญาณ”
เมื่อจิตวิญญาณ ให้กำเนิดชีวิต
จึงเรียกมันใหม่ว่า “ชีวิตจิตใจ”
จิตวิญญาณของแต่ละคน
ได้ก่อเกิดมาจากพลังงาน
ของธรรมชาติชนิดหนึ่ง
ที่เรียกว่า “กรรมหรือมโนกรรม”
นั้นคือการเกิดและการดับ
ของธรรมชาติภายใน
พลังงานส่วนนี้
ดั้งเดิมกำเนิดมาจากอะไร?
เราจะไม่ย้อนหลังไปไกลกว่านี้
ความจริงขั้นปรมัตถ์กล่าวว่า
พลังงานธรรมชาตินี้ ดำรงอยู่ได้
เพราะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
การเคลื่อนไหวนี้เอง
ทางพุทธศาสนาให้นิยามว่า “การเกิดดับ”
ธรรมชาติของพลังส่วนนี้
มีประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาการ
มายาวนาน ไม่อาจรู้ว่าเริ่มต้นกันเมื่อไร
ที่พระพุทธเจ้าของเราเคยกล่าวไว้ว่า
“วัฏฏสงสารนี้ยาวนาน
มีเบื้องต้นและที่สุดอันไม่อาจนับได้”
อะไรทำให้เราต้องมาเกิด?
ธรรมชาติแห่งพลังบริสุทธิ์นี้
(ศาสนาอื่นอาจจะเรียกว่า“พระเจ้า”)
อุบัติเกิดขึ้นเพราะกฎ
(ออกเสียงคล้ายๆคำว่า GOD)
ของจักรวาลสามประการ
ที่เรียกต่อมาว่า “ไตรลักษณ์”
คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเอง
การทำงานของกฎไตรลักษณ์
มี 3 ลักษณะ คือ
1. เปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ (อนิจจัง)
2. ไม่อยู่ในสภาพเดิม แปรปรวน (ทุกขัง)
3. ไม่มีรูปแน่นอน แตกดับแปรเปลี่ยน
เป็นรูปใหม่ตลอดเวลา (อนัตตา)
ด้วยการงานของธรรมชาติ 3 ประการ
จึงก่อให้เกิดอาการ
ของธรรมชาติสากล 2 ประการ
คือ “ธรรมชาติเกิดและธรรมชาติดับ”
ธรรมชาติเกิด
ถูกเรียกเป็นภาษาบาลีว่า
“อุบัติหรืออุปัตติ”
คือ เกิดหรือก่อกำเนิด
และธรรมชาติที่ดับลง
เรียกว่า “จุติหรือดับ-หายไป”
ธรรมชาติของการเกิดและดับ
เป็นการทำงานของกฎไตรลักษณ์
คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง
กฎอันแน่นอนของธรรมชาติ
แต่เนื่องจากมันเป็นกฎ
ของลักษณะที่สาม คือ อนัตตา
มันไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง
ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น
พระโคดมพุทธะ จึงเรียกกฏนี้ว่า
“นิยาม หรือ ธรรมนิยาม”
“นิยาม” แปลว่า “ กฎอันแน่นอน”
คือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน
ของธรรมชาติ
หรือกฎของธรรมชาติ
มี 5 อย่าง คือ
อุตุนิยาม
(กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ
หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ
โดยเฉพาะ ดิน น้ำ อากาศ
และฤดูกาล
อันเป็นสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต)
พีชนิยาม
(กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์
มีพันธุกรรม เป็นต้น)
จิตนิยาม
(กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต)
กรรมนิยาม
(กฎธรรมชาติเกี่ยวกับ
พฤติกรรมของมนุษย์
คือกระบวนการให้ผล
ของกรรม-การกระทำ)
ธรรมนิยาม
(กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์
และอาการที่เป็นเหตุเป็นผล
ของกันและกันแห่งสรรพสิ่งทั้งหลาย)
ในนิยามทั้ง 5 นั้นคือ
กฎของธรรมชาติโดยรวมทั้งจักรวาล
แต่ในการนำเสนอในเรื่องนี้
จะขอเป็นเรื่องกฎข้อสุดท้าย
คือ “ธัมมนิยาม”
เพื่อให้ประเด็นแคบเข้าสู่เรื่อง
ของหลักวิปัสสนา
ภาคปฏิบัติโดยเฉพาะ
การทำงานของกฎธรรมชาติ
ที่เรียกว่า ธัมมนิยาม
เกิดจากการทำงาน
ของนิยามทั้ง 4 ย่อเข้าเหลือ 3
การทำงานของพีชนิยาม
และอุตุนิยาม
เรียกว่า “รูป”
สร้างการเกิดขึ้นของรูปหยาบ
การทำงานของจิตนิยาม
และกัมมนิยาม
เรียกว่า “นามรูป”
คือการแปรเปลี่ยนจากรูปหยาบ
มาเป็นรูปละเอียด
การทำงานของธัมมนิยาม
คือทำให้ทั้งรูปหยาบและรูปละเอียด
กลับมาเป็นพลังบริสุทธิ์
ที่เรียกว่า “จุติ” หรือ “ดับ”
เรียกว่า “นิพพาน”
เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานปรมัตถ์
หรือเรียกว่า “โลกุตตรธรรม”
ลมหายใจมาจากไหน?
กลไกลการทำงานของธรรมชาติ
ที่เริ่มขึ้นเป็นชีวิตจิตใจ
เริ่มต้นอย่างไร?
“เราจะเริ่มต้นกันขณะปัจจุบัน”
เพื่อสะดวกแก่การเจริญธรรมวิจัย
ไปสู่ธรรมนิยาม
ตามหลักวิปัสสนาต่อไป
เริ่มต้นกันที่ลมหายใจ
เป็นธรรมชาติที่เป็นตัวกลาง
ของธาตุทั้งหก คือ
ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ
ลมจึงเป็นตัวเชื่อมระหว่าง
รูปหยาบ รูปกลาง รูปละเอียด
เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน
ลมอาศัยอากาศธาตุ
เป็นตัวกลางนำไปสู่วิญญาณธาตุ
และลมก็อาศัยอากาศธาตุ
นำไปสู่ธาตุฝ่ายรูปหยาบ
อีกสามตัวได้ด้วย
(ดิน น้ำ ไฟ)
เพราะธาตุลมและอากาศ
เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน
และอากาศธาตุก็เป็นเหตุปัจจัย
ของวิญญาณธาตุไปด้วย
คนเราเมื่อสิ้นลมหายใจ
ก็ถือว่าสูญสิ้นหมดทุกธาตุ
ในด้านรูปธรรม
ส่วนนามธรรม
เมื่อวิญญาณธาตุแตก
นามธาตุก็แปรสภาพไป
ตามกฎธรรมชาติ
ถ้านามธาตุนั้นบริสุทธิ์
ก็แปรเป็นพลังบริสุทธิ์
ถ้านามธาตุนั้น ยังไม่บริสุทธิ์
เพราะยังมีอาสวะเหลืออยู่
นามธาตุนั้น ก็เปลี่ยนสภาพ
ไปตามกฎของกรรม
อยู่เหนือไตรลักษณ์ ต้องชำระวิญญาณธาตุ
การเคลื่อนไหวของธาตุลม
มีอิทธิพลต่อรูปธาตุทั้งปวง
การเคลื่อนไหวของรูปธรรม
จะทำงานได้เพราะธาตุลม
แต่การเคลื่อนไหวของนามธรรม
อาศัยการทำงานของวิญญาณธาตุ
ดังนั้น วาโยธาตุ และวิญญาณธาตุ
จึงทำงานพร้อมกันอย่างแยกไม่ได้
ธาตุทั้ง 5 คือ
ปฐวี อาโป วาโย เตโช และอากาศ
ต้องแปรปรวนไปตาม
กฎของไตรลักษณ์โดยฝ่ายเดียว
แต่วิญญาณธาตุ
สามารถเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง คือ
อยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์ก็ได้
อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ก็ได้
วิญญาณธาตุอยู่ภายใต้
กฎของไตรลักษณ์
เพราะวิญญาณธาตุนั้น
ยังมีอาสวธรรมหลงเหลืออยู่
กฎของไตรลักษณ์
ทำงานภายในจิตวิญญาณได้
เพราะอาศัยกฎของกรรม
กฎของกรรมจึงเป็นกฎที่
ทำหน้าที่ใต้อำนาจของอาสวธรรม
แต่ถ้าวิญญาณธาตุ
ได้ถูกชำระให้หมดจดจากอาสวะแล้ว
วิญญาณธาตุนั้น
ก็อยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์
ได้โดยสิ้นเชิง
กฎไตรลักษณ์ครอบงำเราอยู่
กฎของไตรลักษณ์เป็นใหญ่
สามารถครอบงำในธรรมชาติ
ที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายทั้งปวง
กฎแห่งกรรมเป็นใหญ่
ครอบงำธรรมชาติ
แห่งนามธรรมทั้งปวง
ดังนั้น ผู้คนที่ยังไม่อาจ
ทำลายอาสวะ
ออกจากจิตวิญญาณได้
ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด
ภายใต้กฎของไตรลักษณ์
และกฎไตรกรรม
(กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)
การอุบัติขึ้นของพระโคดมพุทธะ
และองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์
จึงอุบัติขึ้นเพื่อชี้นำกฎแห่งไตรสิกขา
แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายให้ปฏิบัติตาม
เพื่อปลดเปลื้องกฎแห่งกรรม
ออกจากจิตวิญญาณ
ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
แต่รูปธาตุของคนผู้สิ้นอาสวะแล้ว
ก็ยังอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์อยู่
อย่างเดิมทุกประการ
คนที่สิ้นอาสวะและยังมีอาสวะอยู่
มีสิทธิ์เสมอกันในกฎของไตรลักษณ์
แต่แตกต่างในกฎของกรรม
ดังนั้นกฎของไตรลักษณ์
จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
“สามัญญลักษณะ”
เพราะธรรมชาติของรูปธาตุทั้งมวล
ล้วนตกอยู่ภายใต้ของกฎของ
สามัญญลักษณ์นี้
ไม่ว่าธรรมชาตินั้น
จะเป็นรูปนามหรือนามรูป
รูปภพ อรูปภพ รูปฌาน อรูปฌานก็ตาม
กฎแห่งกรรมคือพลังขับเคลื่อนของไตรลักษณ์
สรรพสัตว์ทั้งหลาย
ที่เจริญแล้วด้วยวุฒิปัญญา
เมื่อได้ตระหนักรู้
เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
คือการเวียนว่ายตายเกิด
ด้วยอำนาจกฎแห่งกรรม
ย่อมเริ่มต้นด้วยการ
เสาะแสวงหาวิธีการ
ที่จะทำตนให้พ้นไปจาก
กฎแห่งกรรม
คือหาวิธีการทำลาย
อาสวธรรมทุกชนิด
อันเป็นต้นตอ
ของกฎแห่งกรรมทั้งมวล
การเริ่มต้นการแสวงหาวุฒิปัญญา
จึงเป็นหน้าที่สำคัญ
ประการแรกของมนุษย์ทุกคน
เพราะวุฒิปัญญาจะทำให้
เกิดการตระหนักรู้ถึงภัยของทุกข์
อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิด
ของรูปธรรม นามธรรม
ที่อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์
และกฎแห่งกรรม
วุฒิปัญญาจะเจริญเติบโต
ในทางที่ถูกต้องได้
ต้องสามารถทำให้เกิดความรู้
ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม
เหตุเกิดของกรรม
การดับกรรม
และมรรควิธีของการดับกรรมได้
ต้องอาศัยการศึกษา
ที่ดำเนินตามกฎของไตรสิกขา
จนกว่าจะเกิดโลกุตตรปัญญาได้เท่านั้น
จึงสามารถอยู่เหนือกฎแห่งกรรมได้
อยู่เหนือกฎแห่งกรรมได้ด้วยไตรสิกขา
อะไรคือกฎของไตรสิกขา?
เมื่อจักรวาลเริ่มต้นด้วย
ภาวะเกิดและดับตลอดเวลา
มันจึงก่อให้เกิดพลังงาน
การเคลื่อนไหว แปรปรวน
และแตกดับ
มาจากส่วนลึกสุดคือ
การเกิด-ดับ
ดังนั้นกฎไตรลักษณ์คือ
ตัวขยายของกระบวนการเกิด
และไตรสิกขาก็คือ
ขบวนการขยายผล
ของการดับนั่นเอง
กฎทั้งสองอย่างนี้
มันได้เริ่มต้นมาพร้อมๆ กับ
การเกิดขึ้นของจักรวาล
มันมีวิวัฒนาการมานาน
เท่าไรไม่มีใครทราบแน่นอนได้
จนกระทั่ง มหาบุรุษอ
ย่างพระพุทธเจ้า
ได้อุบัติขึ้นในโลกในแต่ละยุค
ท่านจึงได้มาเปิดเผย
ความลี้ลับของจักรวาลทั้งหมด
ให้เราได้ทราบว่า
ในการเกิดก็มีการดับตามมาด้วย
และในการดับ ก็มีการเกิดตามมาด้วย
เมื่อมีไตรลักษณ์
ก็มีไตรสิกขาตามมาด้วย
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์
ทรงทำหน้าที่ในการ
เปิดเผยความจริงตรงนี้เท่านั้นเอง
ไตรสิกขาคือศึกษาทุกข์
ดังที่มีพุทธพจน์ได้ตรัสว่า
“เราตถาคตอุบัติในโลกนี้
ก็เพื่อมาทำหน้าที่ชี้บอกว่า
ในจักรวาลนี้มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น
มีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป
ถ้าไม่มีทุกข์และการดับทุกข์
เราตถาคตก็ไม่จำเป็น
ต้องอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เลย”
ดังนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์
จึงตรัสรู้หลักอริยสัจสี่
เหมือนกันทุกพระองค์
อริยสัจสี่โดยหลัก ก็คือ
ทุกข์+สมุทัย = การเกิดทุกข์
นิโรธ+มรรค = การดับทุกข์
ขบวนการในการศึกษา
เรื่องทุกข์และการดับทุกข์
จึงต้องอาศัยขบวนการ
การศึกษาเรื่องของไตรสิกขา
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
เข้ามาช่วยขยายความว่า
อะไรคือทุกข์
อะไรคือเหตุเกิดทุกข์
อะไรคือการดับทุกข์
และอะไรคือวิธีการดับทุกข์
ต้องศึกษาให้ครบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
ขบวนการศึกษา
แบบพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น
ต้องศึกษาแบบบูรณาการ คือ
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เข้าด้วยกัน
ด้วยผ่านขบวนการปฏิบัติ
สมถะและวิปัสสนาไปพร้อมๆ กัน
และบูรณาการหลักธรรมอื่นๆ
เข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ ในขณะปฏิบัติ
ซึ่งจะทำให้หลักไตรสิกขา
ดำเนินไปพร้อมๆ กัน
เราเริ่มมีชีวิตจากการ
หายใจเข้าและหายใจออก
หายใจเข้า สืบเนื่องมาจากการเกิด
หายใจออกสืบเนื่องมาจากการดับ
ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้
ดังนั้น การทำงานของ
ลมหายใจทั้งเข้าและออก
จึงชี้บอกถึงการดำรงอยู่
ของการเกิดและการดับ
ของจิตวิญญาณ
ที่เราไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส
การมีอยู่ของลมหายใจ
เป็นเครื่องชี้บอกถึงการมีชีวิต
การทำงานร่วมกันของกายกับใจ
ก็คือปรากฏการณ์
ของการเกิดดับทางจิตนั่นเอง
ดังนั้น ชีวิตจึงดำรงอยู่บนพื้นฐาน
ของการเกิดดับตลอดเวลา
สิ่งมีชีวิตทั้งหมดจึงเป็นผลสืบเนื่อง
ออกมาจากกฏของธรมชาติสองสิ่งนี้
ดังนั้น สิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายทั้งปวง
จึงถูกสร้างขึ้นไปเรื่อยๆ
ด้วยกฎธรรมชาติอันนี้
เริ่มต้นศึกษาจากรูปธรรม
เริ่มต้นจากรูปธรรม
การเกิดดับทางรูป
เรารับรู้จากการมีลมหายใจเข้า
และหายใจออก
การหายใจเข้าและออกนี้เอง
ทำให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้
และชีวิตก็ได้ให้กำเนิดความรู้สึก
สองรูปแบบ คือ
ความรู้สึกทางกาย
และความรู้สึกทางใจ
ความรู้สึกทางกาย
(กายสังขารหรือเวทนา)
แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ
รู้สึกสบาย และรู้สึกไม่สบาย
ความรู้สึกไม่สบายเกิดขึ้นก่อน
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก
การเกิดของจิต
(เพราะการทำหน้าที่
ของกฎไตรลักษณ์)
ความรู้สึกสบายก็ตามมา
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก
การดับของจิตนั่นเอง
ดังนั้น ความรู้สึกทางกาย
ทั้งสองแบบ
ก็เป็นผลของการเกิดดับ
ของจิตเหมือนกัน
ความรู้สึกตัว
จึงเป็นผลรวมของ
ความรู้สึกสบายและไม่สบาย
อันสืบเนื่องมาจาก
การเกิดและการดับ
ดังนั้น ความรู้สึกตัว
จึงมิใช่ภาวะเกิดและดับ
อย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่เป็นผลรวม
อุปมาเหมือนกองไฟ
อาการของไฟ
เป็นการทำงานของการเกิดดับ
แต่แสงไฟ
เป็นผลรวมของกองไฟ
ดังนั้น แสงไฟจึงมิใช่กองไฟ
แสงจึงไม่เป็นรูป
ของความเย็นหรือร้อน
แสงเป็นเพียงปรากฏการณ์
การเกิดดับของไฟฉันใด
ความรู้สึกตัวจึงเป็นปรากฏการณ์
การเกิดดับของจิตฉันนั้น
ต่อมาศึกษาเวทนา สะพานเชื่อมรูปธรรมสู่นามธรรม
ความรู้สึกตัวเป็นพลังบริสุทธิ์
เรียกว่า นาม
นามเป็นพลังรู้บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ
ซึ่งเกิดจากรูป
เหมือนแสงไฟเกิดจากกองไฟ
ความรู้สึกที่อาศัยรูปเกิดนี้เอง
จึงเรียกว่า “เวทนา”
และเวทนาก็สร้างความรู้สึกขึ้นมาใหม่
อีก 3 อาการคือ ความรู้สึกสบาย ไม่สบาย
และรู้สึกกลางๆ (สุข ทุกข์ อทุกขมสุข)
ความรู้สึกที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง
เชื่อมต่อระหว่างกายกับใจเข้าถึงกัน
เรียกว่า “เวทนา”
ดังนั้น เวทนาจึงเป็นได้ทั้งรูปและนาม
และความรู้สึกที่เป็นเวทนา
จึงทำหน้าที่ได้ทั้งสองฝ่าย
คือฝ่ายรูปนาม และฝ่ายนามรูป
ความรู้สึกที่ปรากฏในรูปนาม
ทำหน้าที่โดยอาศัยธาตุทั้งหก
(ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ)
เป็นที่ตั้ง
ส่วนความรู้สึกที่ปรากฏในนามรูป
ทำหน้าที่โดยอาศัยขันธ์ทั้งห้า
(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
เป็นที่ตั้ง
เวทนาในรูปนาม จึงเป็นความรู้สึก
ที่เป็นธรรมชาติของรูป
และทำหน้าที่เป็นสัญชาตญาณ
ป้องกันรูปให้ดำรงอยู่ได้
โดยไม่ให้วิบัติไปด้วยอันตรายต่างๆ
ซึ่งมีอยู่ในทุกๆ สรรพชีวิต
ไม่ยกเว้นแม้แต่ชีวิตที่เล็กที่สุด
เช่นเหลือบ ยุง ลิ้น ไร
ก็มีเวทนาประจำกายของมัน
เมื่อภัยเกิดขึ้นมันก็รู้จักหลบหลีก
ด้วยเวทนาประเภทนี้
ดังนั้น วิญญาณในธาตุหก
จึงทำหน้าที่เป็นเพียงสัญชาตญาณ
เวทนา ในนามรูป ที่อาศัยขันธ์สี่
คือรูป สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นที่ตั้ง
สามารถพัฒนาตัวเองร่วมกัน
กับสัญญาและสังขาร
แล้วทำหน้าที่ของวิญญาณ
ดังนั้นเวทนาในขันธ์ห้า
จึงให้ก่อเกิดวิญญาณหก
(จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ
ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ
คือความรู้สึกที่เกิดจาก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เมื่อกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส) ได้ด้วย
ศึกษาขั้นสูงขึ้นไปอีก จนถึงมโนวิญญาณ
เวทนาในขันธ์ห้า
ทำหน้าที่ของมโนวิญญาณ
มโนวิญญาณสามารถสร้างความรู้สึก
ทั้งทางกายและทางใจได้
เวทนาทางกาย
ทำให้เรารู้สึกถึงความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง
เคร่งตึง เจ็บ หิว กระหาย เป็นต้น
เวทนาทางรูปอันเป็นสัญชาตญาณ
ทำหน้าที่เตือนให้สัตว์ทั้งหลาย
เอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆได้
สัตว์จึงสร้างสิ่งต่างๆ
เพื่อป้องกันตนเองให้อยู่รอด
ด้วยอาศัยเวทนา
ที่เป็นสัญชาตญาณทางกายวิญญาณ
กายวิญญาณเป็นวิญญาณฝ่ายรูปนาม
แต่มโนวิญญาณ สามารถเป็นวิญญาณได้
ทั้งสองฝ่ายคือรูปนามและนามรูป
ความรู้สึกที่เป็นมโนวิญญาณ
ที่รับรู้ได้ทางอายตนะทั้งหก
สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลง
จากสัญชาตญาณให้เป็นปัญญาญาณได้
โดยอาศัยความรู้สึกจากมโนวิญญาณ
มาทำหน้าที่ตามรู้เวทนา
ในรูปนามบ่อยๆ และอย่างต่อเนื่อง
อุปมาดังการนำวัตถุสองชิ้น
มาสีเข้าด้วยกัน
ย่อมทำให้เกิดความร้อนได้
และถ้าได้เงื่อนที่เหมาะสม
ก็สามารถเกิดเป็นประกายไฟได้
ความร้อนหรือไฟ
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ได้ ฉันใด
ตัวรู้ที่เกิดขึ้นใหม่
โดยอาศัยการตามรู้บ่อยๆ
ของมโนวิญญาณ
และเวทนาในรูปนาม
ปรากฏออกมาเป็นตัวรู้ต่างหากได้
ที่เรียกว่า “ปัญญาญาณ”
มโนวิญญาณ คือความรู้สึกเฉยๆ
เป็นความรู้สึกเดิมแท้ของจิต
ที่เป็นไปใน “รูปนาม”
เมื่อได้เงื่อนในการพัฒนาที่ถูกต้อง
(มีการเรียนรู้ถึงเรื่องของอินทรีย์ห้า
และพัฒนาให้เป็นพละห้า
คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)
ก็สามารถแยกความรู้สึกในรูปนาม
ออกมาออกมาเป็นนามล้วนๆ คือ
ความรู้สึกบริสุทธิ์ได้
อุปมาเหมือนกับการเปลี่ยนน้ำกะทิ
ให้เป็นน้ำมันต่างหากได้
โดยอาศัยเงื่อนไข
หรือขบวนการที่ถูกต้อง
ก็จะเริ่มเห็นสมมติ ปรมัตถ์
ความรู้สึกตัวที่เป็นนามล้วนๆนั้น
สมมติเรียกว่า “ปรมัตถ์”
(จิต เจตสิก รูป นิพพาน)
ความรู้สึกตัวล้วนๆ
ที่เป็นเพียงมโนวิญญาณแต่แรกนั้น
สามารถพัฒนาให้เป็นปรมัตถ์ได้
โดยอาศัยขบวนการของสติปัฏฐานสี่
ส่วนที่เรียกว่า “สัจจธรรม”นั้น
จึงถูกแยกออกเป็น 2 ลักษณะคือ
สัจจธรรมของรูป
เรียกว่า “สมมุติสัจจะ”
สัจจธรรมของนาม
เรียกว่า “ปรมัตถสัจจะ”
ความจริงต่าง ๆ
ที่ถูกสมมติขึ้นจากฝ่ายรูปหรือนาม
ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป
ตามกฎของไตรลัษณ์
แต่ความจริงที่ไม่ถูกสมมติ
คือไม่ได้สร้างขึ้นจากความคิดปรุงแต่ง
ไม่ถูกบัญญัติจากรูปของจริง
เรียกว่าปรมัตถ์
เช่น จิต คือสภาวะรับรู้
เจตสิก คืออาการของจิต
ที่หน้าที่รับรู้อารมณ์
รูป ก็คือสภาวะธรรมที่ถูกรู้
นิพพาน ก็คือสภาวธรรมที่รับรู้
การเกิดและดับของจิต
รวมหน้าที่ของสภาวะรู้ล้วนๆ ทั้งหมด
เรียกว่า “โลกุตตรธรรม”
โลกุตตรธรรม จึงเป็นธรรม
ที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติทั้งปวง
คือสภาวธรรมที่พ้นไป
จากความเป็นคู่
เช่น เหนือสุข เหนือทุกข์
เหนือดี ชั่ว เหนือถูก เหนือผิด เป็นต้น
แต่ทำหน้าที่เป็นผู้รู้สมมติสัจจะ
ทั้งหมดทั้งปวง
สภาวธรรมนี้เอง
จึงถูกเรียกว่า “พุทธภาวะ”
คือภาวะตื่น รู้ ซึ่งมีอยู่ในคนทุกคน
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธโคตรมะ (สิทธัตถะ)
ได้นำมาแสดงและเปิดเผยให้แก่มนุษยชาติ
เป็นเวลานานถึง 26 ศตวรรษมาแล้ว
พระพุทธยานันทภิกขุ