เหตุคือการเกิดดับ
กลัวทุกข์เพราะไม่รู้จักทุกข์
ไตรสิกขาศึกษาทุกข์
การศึกษาในหลักของไตรสิกขาชนิดที่จะทำให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง คือ วิชชานั้น ต้องปฏิบัติภาวนา 2 ประการ คือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สมถะเป็นหลักเบื้องต้นเพื่อศึกษารายละเอียดของศีลและสมาธิ อันเป็นฐานของความรู้ และนำมาสู่การปฏิบัติในศีลและสมาธิที่ถูกต้อง หลักสมถะใดไม่ทำให้เกิดความรู้และเข้าใจในศีลและสมาธิอย่างถูกต้อง ไม่ถือว่าเป็นสมถะของวิชชา
วิปัสสนา เป็นฐานของความรู้ที่ถูกต้อง คือ วิชชา โดยการศึกษาเรื่องปัญญาสิกขา ดังนั้นขบวนการศึกษาจึงเริ่มต้นจากหลักการ หรือ หลักสูตรที่ทำให้เกิดวิปัสสนา คือ หลักของอริยสัจ 4 และดำเนินตามวิธีการ คือ ศึกษาไปตามหลักของอริยมรรคมีองค์ 8
เริ่มต้นดำเนินการต้องศึกษาทั้งหมดเป็นขบวนการเดียวกันทั้งสมถะและวิปัสสนา อริยสัจและอริยมรรค โดยอาศัยวิธีการของไตรสิกขา โดยทางตรงและลัดสั้น มีอยู่แค่นี้เรียกว่าใบไม้ในกำมือ ส่วนองค์ประกอบต่างๆ ที่นำมาอ้าง ก็เพื่อขยายความของขบวนการเรียนรู้ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง จึงไม่จำเป้นต้องรู้รายละเอียดเกินจำเป็น
ความรู้มีสองแบบ
เมื่อทราบโดยหลักว่า ความรู้มี 2 ลักษณะ คือ วิชชา และอวิชชา
- วิชชา รู้ตามความเป็นจริง
- อวิชชา รู้ตามความไม่จริง หรือ ผิดจากความเป็นจริง
การศึกษาให้รู้หลักทั้ง 2 นี้ มี 2 วิธี คือ
- ศึกษาเรื่องของกาย ของจิต เรียกว่า ศีลสิกขา และจิตตสิกขา
- ศึกษาเรื่องของตัวรู้ คือ วิญญาณ เรียกว่า “ปัญญาสิกขา”
“วิชชา” ความรู้ตามความเป็นจริง อันเกิดจากญาณปัญญาและแสงสว่าง ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในหลักของธัมมจักรว่า “วิชชา เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เพราะญาณเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น อาโลกะ เกิดขึ้น (จักขุงอุทปาทิญาณังอุทปาทิ วิชชา อุทปาทิ ปัญญา อุทปาทิอาโลโก อุทปาทิ)” ผู้รู้ท่านใด ถ้าต้องการทราบรายละเอียดเรื่องวิชชาและอวิชชาตามตำราพระไตรปิฎก กรุณาเข้าไปค้นหาได้จากหนังสือ “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม” ของ ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) จะได้รับรายละเอียดครบถ้วน ตามหลักวิชาการ
แต่ที่นี่อยากนำชี้ทางปฏิบัติตรงๆ ไม่ไปยุ่งกับศัพท์ทางตำราโดยไม่จำเป็น เพราะมักถูกกล่าวหาว่าติดตำราบ่อยๆ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องอ้างที่ไปที่มา เพื่อแสดงว่าสิ่งที่นำเสนอไม่ได้อ้างเอาตามความคิดของตนเอง เพียงแต่นำภาษาปฏิบัติมากล่าวโดยหลักปรมัตถ์ จึงจำเป็นต้องหลีกการใช้ศัพท์ทางปริยัติที่ฟุ่มเฟือยเกินไป เพราะจะทำให้สับสน ไม่แจ่มแจ้งต่อความเข้าใจ
รูปแบบของการแสวงหาโลกุตตรปัญญาจากการเจริญสมถะ-วิปัสสนา มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเถรวาทและมหายาน ในที่นี้ จะขอนำเสนอรูปแบบวิปัสสนา ที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงจากวิธีนี้ คือ วิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว สามารถรวมเอาสมถะ วิปัสสนามาทำร่วมกันในเวลาเดียวกัน บูรณาการเอาศีล สมาธิ ปัญญา มาเจริญร่วมกันในเวลาเดียวกัน จึงเป็นวิธีการที่ตรงและลัดสั้นไม่พาให้หลงทาง ใช้เวลาไม่นานก็สามารถสัมผัสผลการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
พระพุทธยานันทภิกขุ