สุขเวทนาอันน่ากลัว

สังโยชน์ คือความพอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ

เมื่ออายตนะหกทำงานร่วมกันคือ
ตากระทบสัมผัสรูป
เสียงกระทบหู
กลิ่นกระทบจมูก
รสกระทบลิ้น
สัมผัสกระทบกาย
และอารมณ์กระทบใจ
 
คนทั่วไปที่ยังไม่ได้
อบรมวิปัสสนามาก่อน
หรือวิปัสสนามาผิดทาง
 
ก็จะเกิดเวทนา 3 อย่าง
คือรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ
และเฉยๆ แบบไม่ใส่ใจ
 
ส่วนทางกายนั้น
ก็มีฐานความรู้สึกทางกาย
อยู่ตลอดเวลา คือ
รู้สึกสบาย ไม่สบาย
ไม่ชัดว่าสบายหรือไม่สบาย
 
เวทนาทั้งสามจะเกิดขึ้นทันที
แต่จะเกิดที่ละอย่าง
ในสามอย่างนั้น
 
ความรู้สึกนั้นคือพอใจ ไม่พอใจ
และเฉยๆ จึงถูกสมมุติ
เป็นภาษาตำราว่า “สังโยชน์”
 
ที่มาของสังโยชน์
เช่นตากระทบรูปดอกไม้
(ขาดสัมมาสติสัมมาปัญญา)
รู้สึกพอใจในดอกไม้
กามสังโยชน์เกิดขึ้นทันที
 
ถ้ารู้สึกไม่พอใจ
เพราะดอกไม้อาจจะเหี่ยวหรือไม่สวย
เกิดปฏิฆะสังโยชน์ทันที
 
หรือเห็นดอกไม้แล้ว
ไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่สนใจ
เพราะใจลอยไปทางอื่น
เกิดโมหะสังโยชน์ทันที

สุขเวทนาก่อให้เกิดโสมนัส อภิชฌา กามราคะ

ในกรณีที่มีสติในการเห็น
เกิดปัญญาว่า
นี่คือสักแต่ว่า “รูป”
แต่ไม่เกิดบัญญัติขึ้นในใจว่า
“รูปอะไร”
 
ไม่มีความรู้สึกว่า
“ชอบหรือไม่ชอบ หรือ เฉยๆ”
แต่เห็นสักแต่ว่าเห็น
ไม่ได้เห็นแบบใจลอย
 
ไม่มีแม้กระทั่งภาษาบัญญัติ
เกิดขึ้นในใจว่า
“นี่คือรูป หรือนึกว่านี่สักแต่ว่ารูป”
 
แต่รู้สึกว่าเห็นก็คือเห็น
หรือเห็นแบบไม่เห็น
(เรียกภาษาบัญญัติว่า “สักแต่ว่า”)
 
“ความรู้สึกพอใจ”
หรือสุขเวทนาทางกาย
ที่ไม่มีสติกำหนดรู้
หรือไม่ถูกตามรู้ ตามดู
ตามสังเกตอาการของกาย
ในขณะนั้น
 
ความพอใจในความรู้สึกทางกาย
ก็จะถูกเก็บไว้ในภวังคจิต
(จิตใต้สำนึก = Subconscious)
 
เก็บสะสมมากเข้าๆ จนมีกำลัง
ก็เกิดเวทนาทางจิต
เรียกว่า “โสมนัสเวทนา”
 
อาการทางความพอใจ
เมื่อเกิดการกระทบสัมผัส
ทางใดทางหนึ่ง
แสดงว่าเกิดการตอบสนอง
ทางกาย วาจา โดยไม่รู้ตัว
เพราะขาดสติตามรู้กาย
 
แม้จะเกิดในอายตนะส่วนอื่นๆ
เช่น เสียงกระทบหู เป็นต้น
การขาดสติตามรู้
ก็เกิดอาการเช่นเดียวกัน
คือพอใจ
 
เมื่อเกิดความพอใจ
ก็ขาดสติตามรู้อีก
“โสมนัสเวทนา” ก็ถูกสะสม
ไว้ในจิตสำนึกไปเรื่อยๆ
จนมีกำลังมากขึ้น
 
เมื่อความพอใจมีกำลัง
ก็พัฒนาตัวเป็น “กามฉันทะ”
(หนึ่งในห้าของนิวรณ์)
เ้พราะแสดงความต้องการ
ทางจิตออกมาชัดเจน
เพราะแรงของความยินดีพอใจ
ไม่ได้ถูกตามรู้
 
แต่ในกรณีที่คนผู้ได้ปฏิบัติมาแล้ว
มีสติตามรู้อยู่
อาการของความรู้สึกยินดี พอใจ
ก็ลดน้อย อ่อนกำลังทันที
โสมนัสเวทนาก็หายไป
จิตก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม
ไม่แสดงอาการออกมา
ทางกาย-วาจา

กามฉันทะก่อให้เกิดกามราคะ

ความฝักใฝ่ในความพอใจ
เมื่อตาเห็นรูปสวยๆ
จะเป็นรูปอะไรก็ตาม
 
โดยเฉพาะรูปอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความรักความใคร่ในอารมณ์
ก็เนื่องมาจากความพอใจ
ที่เป็นผลรวมของการกระทบ
ที่ขาดการกำหนดรู้ทั้งสิ้น
 
เช่น เสียงเพราะๆ กระทบหู
ก็รู้สึกพอใจ
กลิ่นหอมๆ กระทบจมูก ก็พอใจ
รสอร่อยๆ กระทบลิ้น ก็รู้สึกพอใจ
สัมผัสนิ่มนวลกระทบกาย ก็พอใจ
 
ความรู้สึกพอใจที่เกิดขึ้น
จากอายตนะทั้งห้า
แล้วขาดสติทุกครั้ง
เป็นผลให้เกิดเป็นกำลัง
ของกามคุณห้า
เพราะกามฉันทะนั่นเอง
เพราะไม่ใส่ใจต่อการเจริญวิปัสสนา
ความพอใจเกิดขึ้นทุกเวลานาทีนี่เอง
ก็ไปกระทบจิตบ่อยๆ
 
เหมือนเราเอามือทั้งสอง
มาเสียดสีกันสักพัก
ก็จะเกิดความร้อนมากขึ้นๆ
ตามลำดับ
 
ยิ่งเป็นของแข็งมากระทบกัน
ด้วยความเร็วและแรง
ก็สามารถทำให้เกิด
ประกายไฟได้ฉันใด
 
อำนาจของความอยาก ความพอใจ
บางครั้งเกิดขึ้น
เพราะการกระทบจิต
ในอัตราความเร็วและความแรงสูง
ก็ย่อมทำให้เกิดไฟราคะ
 
เช่น การได้ทานอาหารรสจัดๆ
เกิดความอร่อยถูกลิ้น
 
หรือได้ฟังดนตรีที่ไพเราะถูกใจ
เสียงดนตรีไพเราะดุดัน
รุนแรง เร่งเร้า
กระตุ้นให้เกิดความพอใจอย่างสูง
 
แม้เรื่องความรุนแรง
ของ กลิ่น รส สัมผัส
ก็ทำนองเดียวกัน
 
ด้วยการกระทบที่พอใจ
รุนแรงเหล่านี้
จึงเกิดเป็นกำลังของ
กามราคะและกามกิเลส
เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
จึงกล่าวไว้ว่ากามฉันทะ
ก่อให้เกิดกามราคะในที่สุด

กามตัณหาเหมือนไฟไหม้ป่า

แม้กามราคะรบกวนจิตบ่อยๆ
ก็ไม่เกิดความรู้สึกกลัวโทษ
กลัวภัยของมัน
 
เกิดการแสวงหาความรู้สึกพอใจ
ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส
ที่ทำให้เกิดความพอใจยิ่งๆ ขึ้นไป
 
จนเป็นเหตุทำให้กามตัณหา
ซึ่งมีลักษณะเป็นความอยาก
ที่มีพลังรุนแรง
 
สามารถทำให้เกิดพลัง
ของการแสวงหาในรูปแบบต่างๆ
โดยมีความคิดและจินตนาการ
เป็นเครื่องมือของตัณหา
 
มีความหวัง อุดมการณ์ การวางแผน
ที่จะครอบครองวัตถุกาม
คือ รูป เสียง กลิ่น รส อารมณ์
เป็นความพอใจ เรียกว่า “อภิชฌา”
 
ปุถุชนที่ไม่ได้สดับคำสอน
ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ไม่ได้พบกับกัลยาณมิตรทางธรรม
ก็ยากที่จะเกิดปัญญา
เห็นโทษของกามทั้งหลาย
 
ชีวิตของสัตว์โลก
จึงอยู่ด้วยอำนาจของกามตัณหา
อันเนื่องมาจากความพอใจ
เพียงเล็กน้อย
ลุกลามต่อกันมาเรื่อยๆ
เหมือนไฟไหม้ป่า ไฟไหม้บ้าน
ตราบใดไม่หมดเชื้อ มันก็ดับไม่ได้
 
สรรพสัตว์จึงเป็นทุกข์
เพราะกามตัณหา

กามตัณหาลุกลามเป็นโลภจริต ราคานุสัย โลภานุสัย กามุปาทาน

เมื่อความอยากในกาม
มีกำลังกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง
เพราะขาดสติปัญญา
ขาดการภาวนา ทั้งสมถะและวิปัสสนา
เพราะไม่ได้พบกับกัลยาณมิตร
 
กามตัณหาพัฒนาเป็น
ราคานุสัยและโลภจริตในที่สุด
 
เมื่อรากเหง้าของความอยาก
ไม่ได้ถูกถอนขึ้นเลย
มันก็หยั่งรากลึกลงไปเรื่อยๆ
 
จนเกิดเป็นพฤติกรรม
แห่งความอยากอย่างต่อเนื่อง
จนเกิดอกุศลมูล
คือรากเหง้าของความโลภชนิดต่างๆ
ก็หยั่งรากลึกและแน่นหนา
 
จึงก่อให้เกิดการสั่งสม แย่งชิง ลักขโมย
จี้ ปล้น ฉ้อฉล คดโกง เห็นแก่ตัว เป็นต้น
อันเป็นผลเนื่องจาก ความโลภ ความอยาก
ที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง
จนพัฒนาเป็นกามุปาทานในที่สุด
 
เมื่อความยึดถือตั้งมั่นเป็นนิสัยแล้ว
ก็ทำให้เกิดพฤติกรรมและบุคลิก
โน้มไปในความโลภอย่างรุนแรง
 
จนเป็นตัณหานุสัย-โลภานุสัย
ก่อให้เกิดการคุ้มครอง ยึดครอง
ปกป้องวัตถุกามทั้งหลาย
ที่ได้มาด้วยความอยาก ความพอใจ
 
แสวงหาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
มาไว้เป็นสมบัติ เช่น ข้าวของ เงินทอง
สามี ภรรยา ลูก หลาน เป็นต้น
 
ใช้เวลาในการแสวงหาได้ทั้งคืนทั้งวัน
จะหนักเบา เท่าไหร่ ไม่กลัว
ขอให้ได้อย่างใจ อย่างตนชอบ
 
จนพัฒนาเป็นกามสุขัลลิกานุโยค
คือความหมกมุ่นในกามารมณ์
โลกียารมณ์ทั้งหลาย

กามุปาทานกลายเป็นกามาสวะ

เมื่อไม่มีเวลาไม่มีโอกาสได้ศึกษาธรรม สดับธรรมจากพระอริยเจ้า และกัลยาณมิตรผู้รู้จริง ขบวนการของความอยากก็พัฒนาต่อไป จนฝังแน่นติดเป็นอุปนิสัย เป็นสันดานแห่งความอยาก ก่อให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ความประมาทขาดสติก็ตามมา ความผิดพลาดต่างๆก็ตามมา ความทุกข์ตามมา วิบากกรรมตามมา

เมื่อความอยากได้ฝังหมุดลงในจิตใจของสรรพสัตว์ก็ยากที่จะไถ่ถอนได้ ถ้าเป็นฝุ่นผงหรือตะกอนก็จะทับถมสะสมเป็นตะกลัน จึงเรียกความพอใจที่แสนจะละเอียดแนบเนียนนี้ว่า “กามาสวะ” คือเป็นความเคยชิน เรียกว่า “อาสวัฏฐานียธรรม” ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียด ครอบครองหัวใจสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้ติดในความอยาก ความรัก ความใคร่ ความเสน่หาอาลัย เรียกว่า กามารมณ์ อันติดเป็นนิสัยสันดาน เป็นบุคลิก พฤติกรรม เป็นสัญชาตญาณในที่สุด

รากเหง้าของความอยาก

เมื่อไม่มีเวลาไม่มีโอกาส
ได้ศึกษาธรรม สดับธรรม
จากพระอริยเจ้า
และกัลยาณมิตรผู้รู้จริง
ขบวนการของความอยาก
ก็พัฒนาต่อไป
จนฝังแน่นติดเป็นอุปนิสัย
เป็นสันดานแห่งความอยาก
ก่อให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ
 
ความประมาทขาดสติก็ตามมา
ความผิดพลาดต่างๆ ก็ตามมา
ความทุกข์ตามมา
วิบากกรรมตามมา
 
เมื่อความอยากได้ฝังหมุด
ลงในจิตใจของสรรพสัตว์
ก็ยากที่จะไถ่ถอนได้
 
ถ้าเป็นฝุ่นผงหรือตะกอน
ก็จะทับถมสะสมเป็นตะกลัน
 
จึงเรียกความพอใจ
ที่แสนจะละเอียดแนบเนียนนี้ว่า
“กามาสวะ” คือเป็นความเคยชิน
เรียกว่า “อาสวัฏฐานียธรรม”
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ
 
ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียด
ครอบครองหัวใจสัตว์ทั้งหลาย
ให้ได้ติดในความอยาก
ความรัก ความใคร่ ความเสน่หาอาลัย
เรียกว่า กามารมณ์
 
อันติดเป็นนิสัยสันดาน
เป็นบุคลิก พฤติกรรม
เป็นสัญชาตญาณในที่สุด

รากเหง้าของกามาสวะ

ขบวนการวิวัฒนาการ
ของความสบายกายหรือสุขเวทนา
เพียงผิวๆ เบา
แต่ขาดการกำหนดรู้
ขาดการตามรู้ ตามสังเกต ตามเฝ้าดู
ตามเห็น ตามพิจารณา
ได้พัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว
จนกลายมาเป็นความพอใจที่มีความเร็วสูง
หรือความอยากที่มีรากแก้วอันลึกซึ้ง
ยากแก่การไถ่ถอน
 
เพราะชีวิตแห่งความอยาก
ได้วิวัฒนาการรูปแบบต่างๆ
ออกมาเป็นชีวิตสังคม
ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา
เพื่อสนองความอยาก
และความควบคุมความอยาก
 
โลกจึงหมุนไปด้วยพลังของความอยาก
ด้วยประการดังนี้

เมื่อรวบรวมรากเหง้าและขบวนการวิวัฒนาการของความอยากออกมาเป็นแผนที่ อาจจะทำได้ ดังลำดับการพัฒนาการของมันดังนี้

  • สุขเวทนาทางกาย ที่ขาดสติตามรู้ก่อให้เกิด
  • โสมนัสเวทนาความรู้สึกพอใจ
  • อภิชฌา คือความรู้พึงพอใจออกมาเป็นอาการทางจิต
  • กามฉันทะ ความพอใจเป็นพฤติกรรมสนองตอบความอยาก
  • กามราคะ ความสนุกสนานเพลิดเพลินในความพอใจ
  • กามตัณหา อาการแสวงหาความสนุกยิ่งๆขึ้นไป
  • โลภจริต แสดงอาการอยากได้ออกมาเป็นพฤติกรรม คำพูดในวัตถุกาม (รูป-เสียง-กลิ่น เป็นต้น)
  • ราคานุสัย ความเคยชินที่ตอบสนองความอยากโดยไม่รู้ตัว
  • โลภานุสัย แสดงอาการครอบครองตัวตนของตนและตัวตนของสิ่งที่ตนรักและครอบครอง
  • กามุปาทาน ความอยากพัฒนาเป็นบุคลิกและพฤติกรรม การแสดงอาการทางกาย วาจา เป็นนัยยะ เป็นสัญลักษณ์แทนความอยากได้
  • กาโมฆะ คือ ตกอยู่ในห้วงอารมณ์รักใคร่ อยากได้อย่างรุนแรง เมื่อประสบกับสิ่งที่ตนเองต้องการ แล้วติดจม แช่อยู่ในความรัก ความใคร่นั้นๆ
  • กามาสวะ แสดงอาการแห่งความอยาก ความรัก ความต้องการ ออกมาในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นนิสัย บุคลิก ทั้งทางกาย วาจา ใจ และก่อกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศลได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

นี่คือสายโซ่แห่งการวิวัฒนาการของความรู้สึกสบายกาย เพียงชั่วขณะหนึ่งๆ แล้วขาดสติปัญญาตามรู้ มันจะพัฒนาตามแรงกระทบไปเรื่อยๆ จนครบวงจรของความพอใจจากกาย วาจา ทะลุถึงจิต และจากจิตทะลุถึงกาย แสดงออกมาทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมในที่สุด

พระพุทธยานันทภิกขุ