อาหารของวิชชาและวิมุตติ

ทวนกระแสความอยาก

กายเปรียบเสมือนบ้าน
ใจเปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน
เมื่อมีสิ่งมากระทบ
ไม่ว่าจะเป็นลม ฝน พายุ
พัดกระหน่ำ
 
กายและใจของเรา
ก็โดนอารมณ์ ร้อน เบื่อ
ดีใจ เสียใจ ฯลฯ มากระทบ
ทำให้เกิดสุข ทุกข์ เช่นกัน
 
การทำวิปัสสนา
เป็นการหาวิธีสกัดกั้น
เมื่อมีสิ่งที่มากระทบ
 
สามารถรับมือ
กับสิ่งที่มากระทบนั้นได้
โดยไม่สะดุ้งสะเทือน
 
เป็นการข้ามห้วงแห่งความคิด
ความเห็น ความเข้าใจ ความรู้
ทิฏฐิ ความอยากมี อยากเป็น
 
ห้วงแห่งภพ ภโวคะ
ที่เราเคยหลงไป
เวียนว่ายตายเกิดมาแสนนาน
เป็นห้วงแห่งอวิชชา
การทวนกระแส
จึงเป็นการว่ายทวนความอยาก
ทวนกระแสของกาย ของใจ
 
ทวนกระแสห้วงแห่งอวิชชา
ด้วยการว่ายทวนขึ้นมา
จนถึงต้นตอ ต้นน้ำ ตาน้ำ
ว่ามันผุดออกมาจากที่ไหน
 
เรามาปฏิบัติเพื่อทวนกระแส
ของกายของใจ
 
ก่อนทวนกระแสจิต
ต้องฝึกการทวนกระแสกายเสียก่อน
เพราะกระแสกาย
เป็นกระแสที่ทวนง่ายกว่า

ทวนกระแสไตรลักษณ์

การปฏิบัติธรรม
คือการทวนกระแสของ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
 
อนิจจังไม่จำเป็นต้องไปสู่ทุกขัง
โดยการทวน การปรับ การแก้
เรียกว่าปฏิบัติ
 
ใช้สติเป็นตัวกั้นกระแส
แม่น้ำเล็กแม่น้ำน้อย
ไม่ให้ไหลลงมาสู่แม่น้ำใหญ่
 
เมื่อเกิดผู้รู้
หรือนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมา
เห็นประโยชน์ของกระแสน้
ที่ไหลทิ้งไปเฉยๆ
 
หน้าแล้งก็แห้ง
หน้าฝนก็ท่วม
จึงสร้างเขื่อนขึ้นมา
ตอนแรกก็สร้างฝายก่อน
พัฒนามาเรื่อยจนเป็นเขื่อน
สามารถกั้นกระแสน้ำได้มากขึ้นๆ
จนกระทั่งน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนมีพลัง
สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นมา

สร้างเขื่อนแห่งสติ

กระแสความเปลี่ยนแปลง
ของอนิจจัง
ถ้าหากว่าเราสร้างเขื่อน
มากั้นไม่ให้มันไหล
เราก็เอาตัวสติมาสร้างเป็นเขื่อน
 
การสะสมตัวรู้เหมือนเรา
โยนหินลงไปทีละนิด
สติสัมปชัญญะอัดแน่นลงไปที่เก่า
 
น้ำหนักของดินเป็นตัวสมถะ
ใช้วิปัสสนาเป็นซิเมนต์เสริมเหล็ก
 
แต่ถ้าเราทำเขื่อนดิน
ขนาดใหญ่เกินไป
มันเอาไม่อยู่ เขื่อนก็แตก
 
เขื่อนซิเมนต์เสริมเหล็ก
เป็นเชื่อนของวิปัสสนา
ที่แข็งแรง
อัดด้วยน้ำหนักของดินคือสมถะ
 
แทนที่กระแสน้ำจะไหลลงทะเล
มันก็ไหลย้อนกลับ
กลายเป็นทะเลสาบ
สติทำหน้าที่เป็นเขื่อน
สมาธิเป็นน้ำที่มีพลังงานเหนือเขื่อน
เมื่อถูกระบายออกไปในท่อส่งน้ำ
เป็นกระแสของปัญญา
นำไปสู่แสงสว่างเป็นกระแสไฟฟ้า

ฝนแห่งผัสสะ

ตัวสติเป็นตัวกั้น
รูปกระทบตา
เหมือนฝนตกกระทบดิน
 
ถ้าเราไม่มีสติที่เข้มแข็ง
การเห็นก็จะสร้างภาพขึ้นมา
ไหลไปสู่ภพของรูปไปเรื่อยๆ
 
แต่พอได้สติ รู้ว่าคิด
ก็มากั้นกระแส รูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส
ที่มากระทบ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ใจ
 
เหมือนห่าฝนที่ตกลงมา
ตลอดเวลา
 
ฝนข้างนอกยังมีฤดูกาล
แต่ฝนข้างในคือการกระทบ
ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มากระทบแทบตลอดเวลา
ไม่เว้นแม้แต่นอนหลับ
ก็มากระทบให้เราฝัน
 
กระแสเหล่านี้ก็รวมกัน
เป็นความคิด อารมณ์ขึ้นมา
 
พอมีสติสัมปชัญญะ
ก็เข้าไปสกัดกั้น
 
ตาเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น
เสียงมากระทบหู
เสียงก็เป็นรูปอันหนึ่ง
หูก็เป็นรูปอันหนึ่ง
 
พอมีความรู้สึกว่าได้ยิน
สติก็เข้ามาทัน
ไม่เกิดเวทนาที่พอใจและไม่พอใจ
ไปกับเสียง
เพราะสติมาทันเวทนา
 
ภาชนะคือจิต
ผัสสะคือเม็ดฝน
สติสัมปชัญญะมารองรับ
ชำระจิตให้สะอาดอยู่เสมอ

กัลยาณมิตรจะพาเราทวนกระแสไตรลักษณ์

กัลยาณมิตรคือ
ผู้ที่จะทำให้เราเกิดศรัทธา
โยนิโสมนสิการ อินทรีย์สังวร

ทวนจนเห็นกระแสของ
ความสบาย ไม่สบายกาย
ความขัดแย้ง ความไม่สมบูรณ์

กระแสของการเปลี่ยนแปลง
กระแสอนิจจัง กระแสอนัตตา
วิจัยดูว่าเราจะทำอย่างไร
ไม่ให้ไหลไปตามกระแสดังกล่า

เริ่มต้นด้วยการสังเกต
กระแสของกาย ของธาตุสี่
ทุกข์ที่เกิดจากกาย
การปวด การเมื่อย ความง่วง
ความสบายกาย การผ่อนคลาย ฯลฯ

เกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร
มันหายไปอย่างไร

เริ่มจากเมื่อเรานั่ง
แรกๆ ยังสบาย
นานเข้า เริ่มเมื่อย
เมื่อยมากเข้า กลายเป็นปวด

ปวดจากน้อยไปหามาก
จนทนไม่ไหว จึงขยับ ปรับเปลี่ยน
ทำให้ความปวดคลายไป
ลดระดับลง จนถึงสบาย

จนเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่ง
ก็กลับเข้าวงจรเดิม
เริ่มเมื่อย จนปวดน้อยไปหามาก
เป็นวงจรอย่างนี้

เขื่อนแห่งสติกั้นความคิดและอารมณ์

ไม่ให้ไหลไปตามกระแสผัสสะ

การที่จะเห็นอย่างนี้ได้
ต้องเจริญสติ ด้วยการเคลื่อนไหว
ให้เห็นความรู้สึกเสียก่อน
 
การสร้างสติเป็นการสะสม
เหมือนเราสร้างฝาย สร้างเขื่อนกั้นน้ำ
ไม่ให้น้ำไหลไปตามกระแส
 
กระแสคืออะไร
เช่น เมื่อตากระทบรูป
จิตเราจะไหลไปตามรูป
ปรุงแต่งไปตามรูป สวย ไม่สวย
พอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ
ตามเงื่อนไขที่ปรากฎ
 
ไม่ว่าจะกระทบทางใด
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อกระทบ
จิตเราจะไหลไปตามกระแสหมดเลย
เป็นความคิด เป็นอารมณ์
เป็นภพ ชาติ ไปเลย
 
ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
แม้แต่เรานอนหลับ
ก็มาในรูปของความฝัน
 
หากเราสร้างสติกั้นแล้ว
สติจะไปกั้นไม่ให้เราไหล
ไปตามกระแส
 
ทำให้เห็นเป็นสักแต่ว่าเห็น
ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน
ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น
ไม่ไหลไปตามสิ่งที่มากระทบ
 
ไม่เกิดเวทนา พอใจ ไม่พอใจ
ไปกับสิ่งที่มากระทบนั้น

สติเข้มแข้ง จิตสะอาด

เมื่อสะสมสติเข้มแข็ง
จนสามารถกั้นกระแส
รับมือกับสิ่งที่มากระทบได้ดีแล้ว
 
ก็ทำให้จิตเราสะอาด
ไม่รกรุงรังไปด้วยอารมณ์ ความคิด
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
 
เป็นจิตที่บริสุทธิ์
เรียกว่าการเจริญสติ
เป็นการชำระจิต
เป็นวิถีแห่งอริยบุคคล
 
เมื่อกายนี้ได้รับความไม่สบาย
มันส่งผลต่อจิตใจ
ให้อึดอัด ขัดเคือง ไม่สบายใจได้
 
หากเราฝึกเจริญสติให้รู้เท่าทัน
กั้นกระแสได้
เมื่อไม่สบายกาย รู้เท่าทัน
ปรับเปลี่ยน ให้คลายหายไป
 
เห็นเป็นอนิจจัง เป็นเรื่องธรรมดา
ความไม่สบาย ความทุกข์นั้น
ก็ไม่สามารถไหลไปสู่จิต
ให้อึดอัด ขัดเคือง
ไม่สบายใจ เป็นทุกข์ได้
ทางที่จะไปสู่วิมุติ
จะต้องมีกัลยาณมิตร
ซึ่งมีหลายวิธี
ตั้งแต่ ยุบหนอ พองหนอ
พุทโธ ดูลมหายใจ
ดูจิต ทำสมาธิ
เจริญสติด้วยการเคลื่อนไหว ฯลฯ
แล้วแต่จริตของเรา
 
กัลยาณมิตร นี่สำคัญ
พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า
กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมด
ของพรหมจรรย์
 
ช่วยชี้แนะนำทาง
ในการเดินทางสู่วิมุติ
 
ต้องมีธรรมสัปปายะ
มีความสะดวก สบาย ในการปฏิบัติ
 
ปฏิบัติแล้ว สบายใจ
ไม่อึดอัด ขัดแย้ง เข้าอกเข้าใจ
ปลอดโปร่ง ไม่สงสัย
 
ทำแล้วพิสูจน์ได้ เห็นจริง
จนเกิดศรัทธา
 
ศรัทธาในวิธีปฏิบัติแบบนี้
เชื่อว่าปฏิบัติแล้วจะนำไปสู่วิมุติผล
 
พิสูจน์แล้ว เชื่อในวิถีทาง
เห็นผลอย่างชัดเจนแล้ว
จึงเกิดศรัทธา
 
ไม่ใช่ศรัทธาแบบงมงาย
ที่ยังไม่ได้พิสูจน์
 
และมีโยนิโสมนสิการ
มีความแยบคายในการปฏิบัติ
เพื่อพิสูจน์ ให้เห็นผล
เมื่อพิสูจน์เห็นผลแล้ว
จะก่อให้เกิดสติ สัมปชัญญะ

ขั้นตอนการทวนกระแส

สติ ทำให้รู้ว่ากำลังทำอะไร
สัมปชัญญะ ทำให้รู้ว่า
ทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน
แก้ไขอย่างไร
 
เกิดการใคร่ครวญ พิจารณา
หาเหตุ หาผล ในการกระทำ
หาความจริง หาต้นตอ
 
ทำให้รู้ คิดก็รู้ ไม่คิดก็รู้
เฉยๆ ก็รู้
เรียกว่าเกิดอินทรีย์สังวร
 
เกิดความระมัดระวัง
สืบหาเหตุให้ลึกลงไปเรื่อยๆ
เกิดจิตสำรวม โฟกัสจิต
 
เพื่อให้เห็นกระบวนการทำงานของจิต
ว่ามันทำงานอย่างไร
กระทบอย่างไร
เกิดเวทนาอย่างไร ปรุงอย่างไร
 
เกิดอารมณ์ พอใจ ไม่พอใจ
สุข ทุกข์ อย่างไร
คงอยู่อย่างไร
ดับหายสลายไปอย่างไร
 
เห็นกระบวนการของ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
 
เห็นโทษของการไหลไปตามกระแส
เกิดการสำรวม ระมัดระวัง
ไม่อยากให้จิตไหลไป
แปดเปื้อนกับอวิชชา
 
พยายามชำระให้จิตสะอาดอยู่เสมอ
จนสะอาดบริสุทธิ์ในที่สุด

พระพุทธยานันทภิกขุ