ขั้นตอนการเก็บอารมณ์
ปุจฉา: พระอาจารย์เจ้าคะ
การเก็บอารมณ์เข้มที่วัดนี่ มีขั้นตอนอย่างไรคะท่าน ขอโปรดเมตตาชี้แจง เมื่อท่านมีโอกาสด้วยค่ะ
วิสัชชนา: ตอนนี้กำลังจัดเก็บอารมณ์เข้ม ที่วัดอยู่พอดี อาจจะต้องมี
กฎ ๑๐ ข้อในการเก็บอารมณ์
1. เข้าใจก่อนว่า เก็บอารมณ์ไปเพื่ออะไร ตอบว่า เพื่อพัฒนากำลังของสติ สมาธิ สัมปชัญญะ หรือความตั้งใจตามดู ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้เข้มแข็ง ต่อเนื่อง เพราะธรรมสามประการนี้เป็นเหตุให้เกิด สัมมาปัญญา ได้ง่าย
สัมมาปัญญา คือตัวรู้ที่มารู้เท่าทัน ความคิด ได้ทันเหตุการณ์ คือความคิดเกิดแล้ว รู้ทันที มิใช่ว่า ความคิดปรุงแต่ง เกิดตั้งนานแล้ว พึ่งรู้ตัว นี่เรียกว่า ไม่ร้เท่าทัน มิใช่สัมมาปัญญา
2. ต้องมีเวลาให้กับเรื่องนี้ชัดเจน ต้องการกี่วัน หรือกี่ชั่วโมง เพื่อจะได้ไม่ต้องเอาเรื่องอื่นมายุ่งด้วย ลงมือตามดูกายใจให้ต่อเนื่องอย่างเดียว ไม่จำเป็น ไม่พูดไม่คุย กินน้อย นอนน้อย เจริญสติมากๆ
3. ขณะทำความเพียร นั่งทำจังหวะ มากกว่าเดิมจงกรม ขณะทำต้องตามดูอาการของทุกขเวทนา ต่างๆทางกายเป็นหลักถึง 70% อีก 30% ให้ชำเลืองดูอาการของจิตเป็นพักๆ อย่าเพ่งจ้อง แต่สังเกตสบายๆ แต่ไม่ละสายตา จากกายใจเท่านั้นเอง เหมือนแม่ดูแลลูก ไม่บังคับแต่ดูแบบ ไม่ละสายตาเท่านั้นเอง
4. ตามแก้ไขทุกขเวทนาต่างๆ อย่างมีสติตามรู้ เพราะไตรลักษณ์มันทำงานตลอดเวลา อย่าเผลอส่งจิตออกนอกนาน จะทำให้ไม่เห็นการทำงานของไตรลักษณ์ เช่นนั่งสักพัก ตะโพกก็รู้สึกหนักแล้ว เราก็ตามดู จนทำท่าจะนั่งแช่ หรือทนไม่ไหว ก็ตามรู้อาการนั้นๆให้ชัดๆ แล้วขยับปรับทิ้งออกไป ตามแก้ทุกข์ในอิริยาบถ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
5. ไม่จำเป็น อย่าหลับตา เพราะทันทีที่หลับตาลง จิตจะสร้างนิมิตทางใจขึ้นมาทันที จะป็นภาพคิดหรือเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆก็ได้ นานเข้าก็จะป็นภาพบางๆปรากฏเรื่อยๆ จนเราลืมตัว จิตที่มีกำลังรู้ไม่พอ ก็จะ เผลอหลุดเข้าไปในความคิดมิติที่ละเอียด แล้วเราก็เสพสุขจากมัน
6. ต้องการเก็บอารมณ์ที่บ้าน ก็ได้ แต่ต้องเป็นคนปฏิบัติที่เจริญสติมาระดับที่เห็นรูปนามได้แล้ว เพราะคนที่ยังไม่เห็นรูปนาม ก็ ยังไม่สามารถแยกรูปแยกนามได้ คือยังแยกความรู้สึกตัวกับความคิดออก จากกันไม่ได้ เมื่ออยู่คนเดียว ก็จะเข้าไปในความคิดโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้น ก็เผลอเข้าไปในความคิด จิตยังไม่มีสติหรือนามเป็นที่พึ่ง
ดังนั้น เบื้องต้นต้องแน่ใจก่อนว่า เห็นรูปเห็นนามถูกต้องหรือเปล่า มิฉะนั้น จะถูกความคิดและนิวรณ์ต่างๆ ดึงไปคิดเรื่องราวต่างๆ ก็ไปไม่รอด
ดังนั้น จึง เก็บตัวอยู่คนเดียวไม่ได้ ด้วยเหตุนี้
7. ก่อนเข้าเก็บต้ว ต้องเก็บสื่อต่างๆไว้ให้ห่างตัวเช่นโทรศัพท์มือถือ ทีวี เครืองเล่นหูฟังชนิดต่างๆ
8. ตัดขาดการติดต่อพูดคุยกับคนอื่น หรือปิดวาจา ถ้าจำเป็นก็พูดได้เฉพาะ ที่จำเป็นจริงๆ เพราะการพูดคุยทำให้ สำรวมจิตได้ยาก ฟุ้งซ่านได้ง่าย
9. มีครูอาจารย์สามารถติดต่อได้ ตลอด เวลา เช่นพี่เลี้ยง พระอาจารย์วิปัสสนา ที่รู้จักวิธีแก้อารมณ์ หรือเพื่อนกัลยาณมิตร ผู้มีประสบการณ์ทางวิปัสสนามาก่อน
10. ความสงัดวิเวกเป็นสิ่งจำเป็น หากสถานที่เก็บตัว ไม่เป็นส่วนตัว ไม่สงัดเพียงพอ มีเสียงและผู้คน ไม่สงบอยู่ใกล้ การเก็บตัว ก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะจิตเราจะวิ่งออกไป รับอารมณ์ข้างนอกบ่อยทำให้เผลอตัวง่าย ดังนั้น ก่อนเก็บตัว ควรมีการวางแผน ล่วงหน้าไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อจัดหาสภาพ แวดล้อม ให้เอื้อต่อการเข้าเก็บอารมณ์ หาสถานที่ที่เงียบๆให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ประการสำคัญคือมีกัลยาณมิตร ที่เข้าใจจุดประสงค์ของเรา แล้วคอยเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เราได้ทุกเรื่อง ถ้าเราเจอกัลยาณมิตร แบบนั้น ก็ถือว่า โชคดีไป
พระพุทธยานันทภิกขุ
รายงานปฏิบัติบูชา หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ๑๒-๑๓ ก.ย. ๕๘ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ