ขั้นบันไดสู่มัชฌิมาปฏิปทา
นึกถึงความจริงว่า
มีขั้นบันไดบ้านไหน
บางขั้นถี่ บางขั้นห่าง บางขั้นลึก
บางขั้นกว้าง บางขั้นแคบ
ทำไมต้องทำให้มันเท่ากันหมด
มันคือความสมดุลของรูปธรรม
เป็นธรรมดาที่สุดเราคิดไม่ถึง
ฉันใดก็ดี
ในแง่ของสภาวะจิตที่เป็นนามธรรม
ท่านก็ต้องการให้มันสมดุล
ท่านใช้คำว่ามัชฌิมาปฏิปทา
แปลว่าเท่าๆ กัน
สมมติว่าเราปรุงอาหาร
ถ้าเค็มมากไป จืดมากไปก็ไม่อร่อย
การที่มันอร่อยแสดงว่ามันพอดี
ขึ้นอยู่กับฝีมือว่าใครฉลาดทำ
จิตเราก็เหมือนกัน
ถ้าปรับให้สงบเกินไปมันก็จืด
ไม่คิดอะไรเหมือนแกงจืด
แต่คิดมากเกินไปเหมือนแกงรสจัด
เค็มจัด เผ็ดจัด ก็กินไมได้อีก
ดังนั้นการปฏิบัติธรรม
จึงเป็นศิลปะในการสร้างความพอดี
เมื่อชีวิตทุกส่วนเข้าสู่ภาวะความพอดี
พระพุทธเจ้าบอกว่ามันหมดทุกข์
แต่เราจะรักษาความพอดี
ได้มากน้อยแค่ไหน
ความพอดีที่เป็นอัตโนมัติ
ความพอดีมีสองแบบ
หนึ่งความพอดีที่ยังไม่พอดี
หมายความว่าต้องคอยปรับ
สองความพอดีที่มันเป็นอัตโนมัติ
เรียกว่าระบบออโตเมติก
มันปรับความพอดีของมันเอง
ถ้าหากว่าระบบแมนนวล
หมายความว่าต้องคอยปรับ
จิตของเราเหมือนกัน
ถ้าให้มันรู้ ไม่ให้มันคิดเลย
พอหนักเข้ามันจะเครียด
มันเกินพอดี
แต่คิดมากๆ มันก็จะฟุ้งเกินพอดี
เราก็คอยปรับ
นี่คือการปฏิบัติธรรม
คือปรับเข้าสู่หลักของความพอดี
รู้ตัวไม่ให้เกินความพอดี
ที่เรารู้มากๆ ก็เพื่อให้เกิดปัญญา
ตัวปัญญานี้ก็จะไปปรับ
ให้จิตสู่สภาวะที่มีความพอดี
สงบพอดี
สงบมากก็ไม่ได้เป็นพรหมไป
เป็นสมาธิไป
ถ้าสนุกมากก็เป็นเทวดา
ถ้าไม่สงบเลยก็เป็นอบายภูมิ
รู้ซื่อๆ คือพอดี
ดังนั้นการปฏิบัติจึงเป็นศิลปะ
ให้เราได้หาความพอดี
จนกระทั่งว่าความพอดีนี้
เป็นอัตโนมัติ
นี่คือเบื้องต้น
การที่จะรู้จักความพอดีได้
ท่านให้รู้ทั้งสองส่วน
จิตมีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ
จิตไม่มีราคะก็ให้รู้ว่าไม่มีราคะ
ให้รู้ทั้งในส่วนที่มันมี
และส่วนที่มันไม่มี
แล้วจึงมาหาตัวกลาง
ตัวกลางคือรู้ว่ามันมี
หรือไม่มีนั่นแหละ
ถ้ารู้ว่ามันมีอันนี้ข้างนึง
รู้ว่ามันไม่มีอีกข้างนึง
แล้วมารู้สภาวะทั้งสองอย่าง
มีก็รู้ ไม่มีก็รู้
จิตของเราไม่ได้มีความพอใจ
ตลอดเวลา
และไม่ได้มีความไม่พอใจ
ตลอดเวลา
เรามาอยู่ตรงกลางที่รู้
ตั้งตัวรู้ไว้รู้เฉยๆ
ตัวนี้คือตัวพอดี
คือจิตของเรา
ไม่ได้ไปอยู่กับราคะ
คือความพอใจ
ไม่ได้อยู่ข้างโทสะ
คือความไม่พอใจ
แต่ในขณะเดียวกัน
ถ้าสภาวะที่ราคะก็ไม่มี โทสะก็ไม่มี
เราก็ไม่เข้าไปรู้มันอีก
ตัวนี้เป็นโมหะ
เพราะไม่เข้าไปรู้
มีก็ไม่เข้าไปรู้ ไม่มีก็ไม่เข้าไปรู้
แต่ถ้ามีก็เข้าไปรู้ ไม่มีก็เข้าไปรู้
เรียกว่าเรามีตัววิชชา
รู้กับหลงให้สมดุล
ความจริงไม่ได้ให้รู้ตลอดเวลา
และไม่ได้ให้หลงตลอดเวลา
รู้บ้างหลงบ้างให้มันสมดุลกัน
ให้มันสลับกันไปเรื่อยๆ
เหมือนขึ้นบันไดที่สูงๆ
ยกแล้วก็หลง ยกแล้วก็หลง
ถ้าเราขึ้นในที่ชันๆ ไม่มีขั้นบันได
เราจะรู้สึกหนักเหนื่อย
แต่ถ้ามีขั้นบันได
เราจะได้พักตรงนั้น
ก่อนที่จะเหยียบขั้นต่อไป
เหมือนลมหายใจเข้าและออก
ถ้าเข้าไปแล้วไม่ออกมีปัญหา
ถ้าเข้าเร็วออกช้ามีปัญหา
ถ้าเข้าช้าออกเร็วก็มีปัญหา
เข้าก็เท่ากัน ออกก็เท่ากัน
ตัวรู้กับตัวหลงเหมือนกัน
ต้องสลับกันอยู่ตลอดเวลา
จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม
มันเป็นขั้วบวกขั้วลบ
ไฟมีขั้วบวกอย่างเดียวก็สว่างไม่ได้
มีขั้วลบอย่างเดียวก็สว่างไม่ได้
ต้องมีทั้งขั้วบวกขั้วลบ
ในการรู้สึกตัวเหมือนกัน
ถ้าเราจะรู้อย่างเดียว
มันก็เกิดปัญญาไม่ได้
มันจะหลงอย่างเดียว
ก็เกิดปัญญาไม่ได้
แต่ถ้าเรารู้ก็รู้ยาว
พอหลงก็หลงยาว
มันไม่สมดุลกันตรงนี้
รู้เท่าไรหลงเท่านั้น
หลงเท่าไรรู้เท่านั้น
ตรงนี้ถือว่าสมดุลทั้งรู้ทั้งหลง
พระพุทธยานันทภิกขุ
ดูกีทีก็น่ารักอ้ะ