เวทนาที่มาของสวรรค์หกชั้น

เราตกอยู่ในอำนาจของเวทนาทั้งสาม

คือ ความรู้สึกสบาย ความรู้สึกไม่สบาย
และความรู้สึกกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข
หรือ อทุกขมสุขเวทนา
แต่ยังไม่รู้ แต่ถ้ามีตัวรู้กำกับ
จะเรียกว่าอุเบกขา
 
คนที่ไม่เคยปฏิบัติภาวนา
กับคนที่เคยปฏิบัติภาวนา
จะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสบาย
และความรู้สึกสุขเวทนาต่างกัน
 
คนที่ไม่เคยปฏิบัติ
หรือปฏิบัติแล้วยังรู้ไม่เท่าทัน
เมื่อเกิดสุขเวทนาจะหลงไปเสพ
ไปข้อง ไปชอบ ไปพอกพูนรักษา
อยากให้อยู่นานๆ
 
แต่คนที่เคยปฏิบัติ
เมื่อพบกับความสบาย
หรือสุขเวทนาเกิดขึ้น
จะรู้สึกทันทีถึงความไม่เที่ยง
ไม่ได้คิดอยากให้ความสุขนั้น
อยู่กับเรานานๆ
 
ไม่ได้ไปยึด ไปต่อ
เพื่อให้สุขเวทนาคงอยู่ให้นาน
สติจะเตือนตัวเองเสมอถึงความไม่เที่ยง
 
ตัวเวทนานี้จึงสำคัญมาก ให้คอยสังเกต
เมื่อเรามีสุขเวทนา
มันจะเคลื่อนไปหาอทุกขมสุขเวทนาก่อน
แล้วจึงเคลื่อนต่อไป
เข้าหาทุกขเวทนา
 
เช่น การนั่ง ตอนแรกก็สบาย
พอนั่งนานก็เริ่มเมื่อย
หนักขึ้นๆ จนถึงกับปวด
ปวดจนทนไม่ได้ ก็ปรับเปลี่ยนท่านั่ง
ก็ทำให้คลาย เข้าสู่ความสบาย
 
สลับกันไปมา
ระหว่างสุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
และ ทุกขเวทนา
ไปอย่างนี้ตลอดเวลา
 
เราจึงตกอยู่ในอำนาจ
ของเวทนาทั้งสามนี้กันทุกคน
ดังนั้น เราจะทำอย่างไร
ให้อยู่เหนือเวทนาทั้งสามตัวนี้ได้

เทวดาก็ยังละสุขเวทนาไม่ได้

 

ความสบาย พัฒนาเป็นความพอใจ
ความพอใจ พัฒนาเป็นความอยาก
ความอยาก พัฒนาเป็นกิเลส
 
หากได้ดั่งใจต้องการ ก็เป็นสุขเวทนา
หากไม่ได้ดั่งใจ ก็กลายเป็นทุกขเวทนา
 
การพัฒนาจากความสบาย
ไปสู่ความพอใจ ความอยาก สุขเวทนา
หากตามรู้จะไปสู่อารมณ์วิปัสสนาได้
 
ตรงข้าม หากตามรู้ไม่ทัน
ความสบายไต่ระดับเป็นความพอใจ
ความอยาก สุขเวทนา
 
ก็กลายเป็นไปยึด ไปชอบ เป็นอภิชฌา
กลายเป็นกามฉันทะ ความอยาก
ความขี้เกียจ แช่อยู่ในอารมณ์สุขนั้น
พัฒนากลายเป็นราคะ
 
หากราคะ ยังจัดการไม่ได้
ก็พัฒนาต่อเป็นตัณหา
กามตัณหา ก่อให้เกิดการแสวงหา
กลายเป็นโลภะ
 
รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่ทันอีก
ก็กลายเป็นตัวยึด ต้องหามาให้ได้
เป็นกามานุปาทาน กลายเป็นอาสวะ
ตกตะกอน เป็นกิเลสละเอียดที่สุด
เป็นต้นตอของภพชาติทั้งหมด
เทวดาทุกชั้นก็ละตัวนี้ไม่ได้

สวรรค์หกชั้นมีที่มาจากเวทนาหกทาง

จะเห็นว่าจากความสบายเท่านั้นเป็นต้นเหตุของกามฉันทะ กามฉันทะเป็นอาสวะ ดังนั้น เทวดา 6 ชั้น ก็มาจากเวทนาทั้ง 6 ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนี้เอง เทวดาทั้ง 6 ชั้น ประกอบไปด้วย

  • สวรรค์ชั้นที่หนึ่ง เรียกว่า ชั้นจาตุมหาราชิกา ทางตา เป็นความพอใจ ในการเห็น การดู ของสวยของงาม เกิดความพึงพอใจ อยากได้
  • สวรรค์ชั้นที่สอง เรียกว่า ชั้นดาวดึงส์ ทางหู เป็นสวรรค์ชั้นมายา เช่น การได้ยินเสียงไพเราะ เสียงเป็นรูป หูเป็นรูป เมื่อเสียงกระทบหู ตัวที่จะแปรรูปไปเป็นความพอใจ ไม่พอใจ เรียกว่าโสตปะสาทะ โสตวิญญาณเริ่มจากผัสสะคือกระทบ เมื่อไม่รู้เท่าทัน เป็นอวิชชา ก็ชอบ ไม่ชอบ เป็นเวทนา เป็นตัณหา อยากได้ หาทางแสวงหา ตอบสนอง กลายเป็นอุปาทาน
  • สวรรค์ชั้นที่สาม เรียกว่า ชั้นยามา ทางจมูก พอใจในกลิ่น ติดใจในกลิ่นหอม
  • สวรรค์ชั้นที่สี่ เรียกว่า ชั้นดุสิต ทางลิ้น พอใจ ในรส ความอร่อย พระพุทธเจ้าจึงให้พระภิกษุต้องพิจารณาอาหารถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะฉันอาหาร เพื่อต่อรอง ยับยั้ง ชั่งใจ ในความเพลิน ความพอใจ ทางลิ้น ดังในพุทธกาล มีหญิงนางหนึ่ง มีความสามารถในการทำอาหารได้อร่อยมาก หากผู้ใดไม่มีวิปัสสนาแล้ว ได้ลิ้มรสอาหารของนาง จะหลงยึด ติดใจในรสอาหารนั้นอย่างแน่นอน พระพุทธองค์จึงให้พิจารณาก่อนฉันอาหารถึง 3 ครั้ง พิจารณาในความอยาก ความติดใจในรส ในความอร่อย ในความพอใจนั้น การพิจารณาดังนี้ สามารถทำให้ผู้พิจารณาบรรลุธรรมได้
  • สวรรค์ชั้นที่ห้า เรียกว่า ชั้นนิมมานรดี พอใจในเพศตรงข้าม เรื่องเพศ เรื่องตัณหา โลกีย์
  • สวรรค์ชั้นที่หก เรียกว่า ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เป็นสวรรค์แย่งบัลลังค์ คือแย่งใจ แย่งพื้นที่จิต ระหว่างเทพกับมาร เป็นสวรรค์ชั้นที่ต่อสู้กัน ยากที่สุด

รู้ทันความสบาย ทำลายอาสวะ

 

เมื่อรู้อย่างนี้ เราต้องพึงระวัง
ด้วยการเจริญสติ
เพื่อพัฒนาสติ ให้มีกำลัง
รู้เท่าทันในประตูทั้งหก
 
จากทันบ้าง ไม่ทันบ้าง
พัฒนาเร็วขึ้นๆ
สามารถรู้เท่าทันได้เร็วขึ้นๆ
จนสั้นมากที่สุด
จนกระทั่งกระทบปุ๊บ ขาดปั๊บทันที
จาก 25% 50% 75% กระทั่งเต็ม100%
 
สัมมาวายามะ
เมื่อตากระทบรูป สติรู้เท่าทัน
ตัดได้ขาดทันทีก็ดี
 
แต่เมื่อไม่ทัน ไปทันที่เวทนาก็ยังดี
ขึ้นอยู่กับว่าสติเราเข้มแข็งเพียงใด
เข้มแข็งมากก็ตัดได้เร็ว
ไม่เข้มแข็งก็ยาวเลยไป
เป็น เวทนา ตัณหา อุปาทาน กรรม
นี่คือความสำคัญของเวทนา
 
ให้พวกเราคอยสังเกตเวทนา
โดยเฉพาะความสบาย ให้ชัดเจน
 
เพราะความสบายดังที่บอกไว้
เป็นตัวเหตุให้เกิดกามฉันทะ
ราคะ ตัณหา โลภะ เป็นอาสวะ
 
จากเวทนาเรื่องเดียว
สาวไปได้ทุกเรื่องเลย

ประตูนรกและสวรรค์ เป็นประตูเดียวกัน

สุขเวทนาเป็นที่มาของคำว่าสวรรค์
สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นมาจากเวทนาทั้ง ๖ นั่นเอง

เวทนาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าเราไปติดสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สวรรค์ ๖ ชั้นเกิดขึ้นทันที

พอเวลาไปประสบกับสิ่งที่ตรงกันข้าม
ความไม่พอใจในการเห็นรูป ได้ยินเสียง
ได้กลิ่น ลิ้มรส ไม่พอใจในอารมณ์
เกิดนรกทันที

เพราะฉะนั้น
ประตูนรกกับประตูสวรรค์
อยู่ประตูเดียวกัน
จะเปิดบานซ้ายหรือบานขวาเท่านั้นเอง

บางคนความพอใจก็ไม่อยากได้
ความไม่พอใจก็ไม่อยากอยู่
ฉันจะสงบอย่างเดียว
ไปสู่ความสงบตั้งแต่ฌาณ๑ ถึงฌาณ๘
กลายเป็นพรหม ๑๖ ชั้น
ความละเอียดของชั้นจิตมากขึ้นไป
ก็ยังหลุดพ้นไม่ได้

จุดสูงสุดของศาสนาพราหมณ์คือพรหม
ยังอยู่ในหลักของไตรลักษณ์อยู่ดี

พระพุทธยานันทภิกขุ