ใช้สติตามรู้อยู่กับปัจจุบัน

เงาเกิดจากวัตถุกับแสง ความคิดเกิดจากรูปกับนาม

 

ในแง่การมองตนแบบมีสัมมาสติ
เราต้องมองทุกสิ่งทุกอย่าง
ในฐานะเป็นเพียง
รูปธรรม นามธรรมเท่านั้น
 
การมีสติเผ้าดูอยู่กับปัจจุบัน
ที่เป็นจริงนั้น
เราต้องรู้ตัวให้ชัดๆ
 
เปรียบเสมือนกล่องกระดาษ
ที่ใกล้แสงไฟ
ที่เราหยิบมาวางอยู่ตรงนี้
จะให้เงาปรากฏ
หรือไม่มีเงาปรากฏก็ได้
 
ถ้าไม่ต้องการเห็นเงา
ก็ยกหลอดไฟให้สูงขึ้น
และเลื่อนมาไว้ตรงกลาง
เงาก็ไม่ปรากฏ
นี่เรียกว่าปัจจุบัน
เพราะวัตถุกับแสง
เคลื่อนเข้ามาอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
 
แต่บางครั้งเราจะต้องการใช้เงา
ก็เคลื่อนหลอดไฟ
ห่างออกมาวัตถุ
เงาก็ปรากฏ ฉันใด
 
เราต้องการให้ความคิดปรุงแต่ง
ปรากฏหรือไม่ปรากฏ
ก็ทำเช่นเดียวกัน
กับวัตถุกับแสงไฟ
 
เพราะเงาเป็นปรากฏการณ์
อันเกิดจากวัตถุกับแสง
ความคิดก็เป็นเพียงปรากฏการณ์
แบบหนึ่งของรูปกับนามเท่านั้น
 
แสงสว่างของดวงไฟ
ก็เปรียบเสมือนแสงสว่าง
ของดวงสติปัญญา
 
ดังนั้น พระอริยบุคคล
คือผู้มีชีวิตอยู่ภายใต้แสงสว่าง
แห่งสติสัมปชัญญะอย่างเข้มแข็ง
 
ส่วนจะสมบรูณ์มากน้อยแค่ไหน
ก็ขึ้นกับระดับสติปัญญา
ของอริยะธรรมของแต่ละคนไป
ว่าท่านบรรลุถึงขั้นใด
 
หากแสงสว่างอยู่ห่างจากตัวเรา
มากเท่าใด
เงาก็ปรากฏมากเท่านั้น
 
ถ้าเราต้องการแสงสว่างมาก
ก็เคลื่อนสติสัมปชัญญะ
เข้ามาให้ใกล้ตัวเองให้มาก
 
พระพุทธองค์ ท่านสอนเรื่องปรมัตถ์
คือจริงแท้ล้วน
ถ้าเราเข้าใจเรื่องสมมุติและปรมัตถ์
อย่างแจ่มแจ้งแล้ว
ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง
เรื่องของปัจจุบัน อดีต และอนาคต
ด้วยตนเอง

ทำไมคนเราไม่ชอบอยู่กับปัจจุบัน?

ปัญหาที่ชอบถามว่า “ ทำไมคนเราจึงไม่ชอบอยู่กับปัจจุบันขณะ”? เพราะจิตของเรายังไม่ยอมรับความจริงที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเอง แต่เรามักสนใจเรื่องอื่นที่นอกตัวเอง การสนใจความจริงนอกตัวเอง จนลืมรู้จักตนเอง แบบนี้ก็ไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะยังไม่รู้จักตัวเองอย่างชัดแจ้ง ดังนั้น เราจะต้องอยู่กับปัจจุบัน ให้ชัดเจนเสมอ แล้วเราจะเข้าใจตัวเอง และจะไม่เกิดความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ท่านผู้รู้จึงกล่าวว่า การเห็นนิพพานก็คือการรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์ปัจจุบันนั้นเอง เรามีเวลาที่จะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ไม่นานนัก สิ่งแรกที่เราควรทำ คือทำความสงสัยเรื่องราวของชีวิตให้สิ้นไป หมดไปเสียก่อน แล้วค่อยไปสนใจเรื่องอื่น เพราะเราไม่รู้แน่ว่า เราจะจากโลกนี้ไปเมื่อใด
เรื่องนี้ว่าไปแล้ว มันทำได้ง่ายๆ แต่คนทั่วไปในปัจจุบัน ทำไมจึงไม่สนใจที่จะทำ ดังนั้น ในฐานะเราเป็นชาวพุทธ จึงควรพยายามฝึกจิตของตนอย่างสม่ำเสมอ ประการแรกต้องฝึกใจให้มีศรัทธาและความเพียรในเรื่องนี้ก่อน โดยการเรียนรู้จากกัลยาณมิตรผู้รู้จริง

วิธีการของหลวงพ่อเทียน เป็นการปฏิบัติไป เห็นไป รู้ไป เป็นการเรียนรู้ ในความรู้สึก มีปวด มีตึง มีพอใจ ไม่พอใจ
วิชาจรณะสัมปัณโณ คือ เรียนรู้จากการกระทำไปพร้อมๆ กัน ทำไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความจริง เหมือนช่างซ่อมรถ หากไปเรียนกับอู่รถยนต์ เรียนจากประสบการณ์ เรียนจากการซ่อมจริง จะซ่อมเป็น ซ่อมได้เก่งกว่า ที่ไปเรียนจากวิทยาลัยเทคนิค เราก็เรียน ศึกษา จากการปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ศึกษาจากอาการทางร่างกายเราเห็นความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในแต่ละขณะ.

พระพุทธยานันทภิกขุ