แล้วแต่จะเลือกทางเดินของตัวเอง

ศรัทธาต้องเต็มร้อย จึงจะได้ผลที่ถูกต้อง

ปุจฉา;

กราบเรียนนมัสการเจ้าค่ะ ปัจจุบันมีการเผยแพร่ ธรรมะในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปจากที่ครูบาอาจารย์สอน หากเป็นเช่นนี้จะส่งผล อย่างไรเจ้าคะ?

วิสัชชนา;

ในการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา
“ศรัทธาต้องเต็มร้อย
จึงเกิดผลที่ถูกต้อง”
 
บางคนปฏิบัติธรรมมานาน 20-30ปี
แต่มีความขัดแย้งแตกแยกจากรูปแบบ
ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนและชี้แนะ
 
ทั้งๆ ที่เราได้ประโยชน์
และอานิสงส์จากรูปแบบนี้
เพราะเขาเห็นรูปแบบอย่างอื่น
ที่มีสีสัน จึงไปหลงว่าดีกว่า
จึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป
 
ซึ่งเป็นผลของการที่ไม่เคารพ
ครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ
พร้อมที่จะเปลี่ยนใจไปทางอื่น
จึงส่งผลออกมาเป็นความขัดแย้ง
เป็นความไม่ลงตัว
 
ในการปฏิบัติธรรม
ไม่สามารถวัดผลความถูกต้อง
ในระยะเวลาแค่ 1 ปีหรือ 2 ปี
แต่ต้องวัดผลกันในระยะยาว 30-50ปี
 
ซึ่งแน่นอนว่าการภาวนา
1-2 ปีและ 30-50ปีนั้น
ย่อมแสดงผลออกมาแตกต่างกัน
เพราะมันเป็นการสั่งสม
ตามหลักธรรมชาติ
 
หากเราภาวนาแบบผิดเพี้ยน
เราจะก็สั่งสมสิ่งที่ผิดพลาด
ผิดเพี้ยนไป ทีละนิด ทีละนิด
 
กว่าจะออกดอกออกผล
ออกมาเป็นความผิดเพี้ยน
หรือความถูกต้อง
มันต้องอาศัยเวลานาน
เรียกว่าเป็นวิบาก
ผิดน้อยค่อยสะสมจนผิดเพี้ยน
ความผิดพลาด ความบกพร่อง
เล็กๆ น้อยๆ นี้เราไม่ควรประมาท
เพราะมันสั่งสมทีละนิด ทีละนิด
จะทำให้เราแก้ไขยาก
หากเราไม่แก้ไขตั้งแต่ต้น
 
ยิ่งถ้าพบว่ามันไปผิดเพี้ยน
ในตอนปลายแล้วนี้
มันแก้ไขไม่ได้เลย
เพราะมันสั่งสม
ความผิดพลาดมานาน
ผลมันจึงบิดเบี้ยวไป
ตามส่วนที่มันขาด
 
สาเหตุเพราะไม่มีความศรัทธา
เลื่อมใสเต็มร้อย
หมายถึงมีความศรัทธา
แต่ศรัทธาไม่เต็มร้อยเท่านั้นเอง
 
เรื่องนี้อาตมาได้คอยสังเกตศึกษามา
ตลอดระยะการปฏิบัติ 20-30 ปี
 
อาตมามีหน้าที่คอยเตือนบอกกล่าว
ใครจะทำตาม หรือไม่ทำตาม
ก็เป็นหน้าที่ของเขา
อาตมาไปบังคับเขาไม่ได้
 
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญา
และความศรัทธาของเขาด้วย
แต่อาตมาก็ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด
เท่าที่ทำได้ ในการรักษาสิ่งที่ดีงาม
สิ่งที่ถูกต้องที่ครูบาอาจารย์
หรือพระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติไว้แล้ว
 
เราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน
เมื่อเราเป็นต้นแบบ
เราก็ต้องทำให้มันถูกแบบ
แม้ว่าเราจะมีความคิดเห็นแตกต่างไป
ก็ไม่เป็นไร
 
แต่ขอให้รักษารูปแบบที่ถูกต้องเอาไว้
ถ้ารูปแบบนี้ไม่ถูกต้อง
เขาก็จะไม่ทำกันมาหลายสิบปี
พวกเราเพิ่งมาพบกันทีหลัง
 
เราก็อย่าเพิ่งทำอะไร
ผิดแปลกแตกต่างไป
พยายามรักษารูปแบบให้เคร่งครัด

พระพุทธยานันทภิกขุ