เหนือสมถะยังมีวิปัสสนา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

นิทานเรื่อง หนอนผีเสื้อ

อาตมาเคยฟังนิทานเรื่องหนึ่งว่า
หนอนผีเสื้อทั้งหลายเมื่อถึงฤดูกาล
ก็จะพากันไต่ขึ้นยอดเขา

เมื่อไปถึงยอดเขา
มันจะพบอากาศที่ดี
สามารถเปลี่ยนตัวมัน
จากหนอนดักแด้
ให้เป็นตัวผีเสื้อได้

พอถึงฤดูกาล
ผีเสื้อทั้งหลายก็พากันไต่ขึ้นเขา
บางตัวขึ้นไปแล้วไม่รอด ตายก็มี
เพราะเหน็ดเหนื่อย หมดเสบียง
หมดแรง

บางตัวขึ้นไปก็เกิดไปกัดกัน
ตายกลางทาง
บางตัวขึ้นไปเกือบถึงแล้ว
ถูกแมลงอื่นเอาไปกินเสียก่อน
น้อยตัวมากที่ขึ้นไปถึงยอดเขาแล้ว
กลายเป็นผีเสื้อได้

มนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกับดักแด้ผีเสื้อ
เราพยายามไต่ไปสู่ที่สูง

สูงฝ่ายสมมติก็คือ
อยากจะมีลาภ ยศ ชื่อเสียง สุข
พอไปถึงที่สูงแล้ว บางตัวก็ขึ้นถึงยอดเขา
บางตัวก็ขึ้นไม่ถึงเพราะอุปสรรคต่างๆ

บางคนกำลังหาเงินหาทองอยู่ดีๆ
ก็เกิดรถคว่ำตาย เกิดเจ็บป่วยตาย
บางคนกำลังรุ่งเรืองอยู่ก็เกิดถูกฆ่าตาย

ในแง่ของสมมติ แม้จะขึ้นไปถึงยอดแล้ว
ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
มันเห็นว่าไม่มีอะไร ก็กลับลงมา

แต่บางตัวขึ้นถึงยอดเขาแล้ว
ไม่พอใจเพียงเท่านั้น มันปีนขึ้นต้นไม้ต่อ
ไปกินใบไม้แล้วแปลงตัวเป็นผีเสื้อได้

เมื่อเราขึ้นถึงยอดเขาแล้ว
บางคนก็ยังเป็นสมถะอยู่
แต่บางตัวไม่ติดอยู่แค่นั้น
ยังสามารถปีนขึ้นต้นไม้ต่อไปอีก

นั่นหมายความว่า ยกตัวสมถะสู่วิปัสสนา
สามารถขึ้นไปสูงกว่านั้นอีก คือบินได้
หมายความว่า เมื่อยกจิตเข้าสู่วิปัสสนาแล้ว
ก็ได้รับความเบาสบายของจิต

เหมือนเราอยู่ในที่สูง
ไม่ติดสภาวะที่เป็นรูปภพ อรูปภพ
จิตก็แปรสภาพเป็นจิตที่เบาโปร่ง สบาย
ก็สามารถที่จะอยู่เหนืออารมณ์ที่หนักได้

อารมณ์ที่หนัก
คืออารมณ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งหลาย
สุข ทุกข์ สรรเสริญ ลาภ ยศ
แต่พอจิตของเราเข้าสู่วิปัสสนา
คือจิตไม่หนักหน่วง
ด้วยสิ่งที่เป็นรูป และนามรูปทั้งหลาย

จิตก็มาอยู่กับตัวสภาวะนามธรรม
ที่เป็นปรมัตถ์ โปร่งเบา
ก็เกิดปีติ ปัสสัทธิ ขึ้นได้ไม่ยาก
ก็จะแปลงตัวเป็นผีเสื้อ
บินอยู่เหนือโลกธรรมนั่นเอง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

วิปัสสนาใช้ตัวรู้เป็นอารมณ์

ถ้าเรามาจับตัวรู้ที่รูป
เอาจิตมาตั้งที่รูป เรียกว่าสมถะ
ถ้าเอาจิตมาตั้งที่ตัวรู้
เรียกว่าวิปัสสนา

ถ้าเอาจิตมาตั้งที่รูป
จิตก็สงบได้เหมือนกัน
แต่สงบชั่วคราว
เพราะมันไม่เกิดปัญญา
เป็นการสะกดให้มันอยู่กับรูป

เช่นเอารูปต่างๆ มาเป็นกสิณ
กสิณสีขาว สีแดง กสิณสีเขียว
เอาพระพุทธรูปจินตนาการไว้ในใจ
หรือเราสร้างคำพูดบริกรรมขึ้นมา
แล้วเอาจิตไปไว้ตรงนั้น
จิตก็สงบได้เหมือนกัน
แต่เป็นสมถะ

แต่วิปัสสนาเอาตัวรู้ที่เรากำลังทำ
มาเป็นที่ตั้งของจิต
เรายกมือ เรารู้
ไม่ได้เอาจิตมาตั้งที่มือ
แต่เอาจิตมาตั้งกับตัวรู้สึกที่เกิดกับมือ
เราเดิน ไม่ใช่เอาจิตไปตั้งที่เท้าหรือที่ขา
แต่เอาจิตไปตั้งที่ความรู้
ที่เกิดจากการเคลื่อนของขา

เอาตัวรู้เป็นนิมิต เอาตัวรู้เป็นอารมณ์
เรียกว่าเอาตัวปรมัตถ์เป็นอารมณ์
เพราะตัวรู้เป็นปรมัตถ์

แต่พอเอาตัวรูปเป็นอารมณ์
เรียกว่าเอาสมมติเป็นอารมณ์
เป็นสมถะ เรียกว่ารูปทำนามทำ
รูปมันทำงานก็รู้ นามมันทำงานก็รู้

แต่ถ้าเราเข้าไปเห็นการทำงาน
ของรูปกับนาม ทำงานด้วยกัน
มันก็กลายเป็น รูปธรรม นามธรรม
แต่ต้องเห็น ”ทำ” คือการกระทำก่อน
มันถึงจะเกิด “ธรรม”

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

จิตว่างแบบสมถะหรือวิปัสสนา

ถาม:
กราบหลวงพ่อครับ
ขอถามเรื่องสุญญตา
แปลว่าว่างจากจิต
 
แล้วจิตสงบกับจิตว่าง
ใช่ตัวเดียวกันไหมครับ
 
ถ้าไม่ใช่แตกต่างกับสุญญตา
อย่างไรครับ
ขอบคุณหลวงพ่อที่เมตตาครับ
 
ตอบ:
จิตว่างเป็นสมถะ
ว่างจากจิตเป็นวิปัสสนา
 
จิตว่างแบบสมถะ
เรียกว่า เอกัคคะตาจิต
 
ว่างจากจิต
เรียกว่า สุญญตาจิต
หรือวิสังขาระจิต
 
นี่เป็นเรื่องของวิชาการ
แต่เป็นภาคปฏิบัติหรือปรมัตถ์ ก็คือ
เมื่อมีอารมณ์มากระทบแล้ว
มีตัวรู้เข้าไป พยายามปล่อย
ถ้าสติแรงพอ สามารถสลัด
หรือขจัดอารมณ์นั้นออกไปได้
จิตจึงว่าง
ว่างแบบนี้ เรียกว่าสมถะ
 
แต่ถ้าอารมณ์มากระทบจิต
ตัวรู้ทำหน้าที่รู้
แล้วอารมณ์นั้นหลุดเอง
โดยไม่ต้องพยายามใดๆ
นี้เป็นวิปัสสนาญาณ
เพราะไม่มีสังขารจิตมาปรุงต่อนั้นเอง
พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

จิตว่างแบบอวิชชา

ถาม:
บางขณะ จิตมีอารมณ์ว่าง
แต่ว่างแบบแห้งแล้ง
ไม่ชุ่มชื่นเบิกบาน
เพราะอะไรครับหลวงพ่อ

ตอบ:
ความจริง ขณะนั้น
จิตมิได้ว่างอย่างที่เข้าใจ
แต่มีอุบกขาเวทนาเป็นอารมณ์อยู่
แต่มิใช่ว่างแบบอุเบกขาสัมโพชฌงค์
คือการมีสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยมขณะนั้นๆ
จิตจึงว่างจากการปรุงแต่งขณะนั้นๆ
แต่มิได้ว่างจากอารมณ์

แต่ว่างแบบอุเบกขาเวทนา
คือว่างแบบไม่รู้
หรือเป็นความว่างของอวิชชา
ต่างจากอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ซึ่งเป็นความว่างแบบรู้
หรือว่างของวิชชานั่นเอง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

หยุดคิดต่างกับเห็นคิด

ถาม:
อาการนิ่ง และอาการว่างของจิต
ขณะที่สร้างจังหวะอยู่นี้
ไม่มีความคิดใดๆ เลย
ถือว่าหมดกิเลสหรือไม่?
 
ตอบ:
อาการนิ่งของจิต มีสองลักษณะ
ลักษณะที่หนึ่งคือ นิ่งเพราะความไม่รู้
หรือนิ่งด้วยอำนาจของอวิชชา
เรียกว่า นิ่งด้วยโมหะจิต
 
ลักษณะที่สองคือ นิ่งเพราะความรู้สึกตัว
หรือนิ่งเพราะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
คือนิ่งด้วยอำนาจของวิชชา เรียกว่า “ฌานจิต”
หรือเรียกว่าอุเบกขาก็ได้
 
ถือว่าเป็นการหมดกิเลสได้ไหม?
การที่จิตหยุดปรุงแต่งชั่วครั้งชั่วคราว ทุกคนมีอยู่แล้ว
แต่ก็ไม่ถือว่าหมดกิเลสหรือมีกิเลส
 
เพราะกิเลสมันเกิดตอนเราเผลอคิดเท่านั้น
หรือไม่เผลอ แต่เราเข้าไปในความคิดและอารมณ์นั้นๆ
จนออกไม่ได้ แม้จะรู้ตัวว่ากำลังคิดก็ตาม
 
ดังนั้น การหยุดคิดชั่วคราว จึงเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ถ้ารู้จักความคิดว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร
และมันดับลงอย่างไร รู้แบบนี้สิ กิเลสมันจะดับในขณะนั้นๆ
แต่ถ้าเผลออีก มันก็เกิดอีกเรื่อยไป
แต่ถ้าไม่เผลอคิด เฝ้าดูมันคิดอยู่ตลอดเวลา
นั้นแหละ กิเลสมันจึงจะหมดไปได้

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

สงบแบบสมถะหรือวิปัสสนา

ในเรื่องของวิปัสสนา
ต้องการธรรมชาติมาก
เพราะจิตของเรา
ถูกครอบงำด้วยสิ่งปรุงแต่ง
ของอาหาร สิ่งแวดล้อม
รูป เสียง กลิ่น รส

จิตถูกเขย่าด้วยคลื่น
ของสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ
ทำให้จิตกระเพื่อม
แต่พอจิตของเราอยู่กับธรรมชาติมากๆ
จิตก็จะสงบตามธรรมชาติ

เราต้องการความสงบโดยธรรมชาติ
ไม่ใช่สงบจากอารมณ์
หรือการกระทบของ รูป เสียง กลิ่น รส
แต่สงบจากกิเลส การปรุงแต่ง นิวรณ์

เราเคยนั่งง่วงเหงาหาวนอน
ติดสงบแบบไม่มีอารมณ์
แต่พอเราปลุกให้อารมณ์ตื่นตัวขึ้น
ก็สงบจากนิวรณ์ ความตื่นรู้ปรากฏ
ความสงบแบบนี้เป็นวิปัสสนา

แต่สงบจากอารมณ์
สงบจากการกระทบ
สงบจากการไม่ต้องรู้
ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน
รู้แบบนิ่งๆ
เป็นวิถีของสมถะแบบพราหมณ์

สงบจากการรบกวน
ของนิวรณธรรมต่างๆ
สงบจากการรบกวนปรุงแต่ง
ของอารมณ์ต่างๆ
เป็นสงบแบบวิถีวิปัสสนา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ฌานเป็นรูป(สมมติ) ญาณเป็นนาม(ปรมัตถ์)

นักปฏิบัติที่จิตยังอยู่ในระดับฌาน
เล่นไปนานๆ ก็เสื่อม
เพราะเป็นธรรมที่ยังเกี่ยวข้อง
ด้วยอารมณ์ที่เป็นรูป

ซึ่งจะต้องเปลี่ยนไป
ตามกฎของไตรลักษณ์เสมอไป
จะเสื่อมช้าหรือไวเท่านั้นเอง

แม้แต่พระอนาคามีบางเหล่า
ก็ยังข้องอยู่กับอารมณ์ที่เป็นรูป
ซึ่งต้องได้ไปเกิด
ในพรหมชั้นสูงอีกครั้ง
ก่อนจะเข้าสู่นิพพาน

แต่ผู้เล่นในญาณ
จิตจะไม่เสื่อมง่ายๆ
วิปัสสนาญาณ ไม่เกี่ยวข้องด้วยรูป
แต่เข้าสู่อารมณ์ปรมัตถ์ล้วนๆ
ซึ่งเป็นนามที่อยู่เหนือ
กฎของไตรลักษณ์

ดังนั้นในเบื้องต้น ผู้ปฏิบัติใหม่
ต้องทำความเข้าใจกันบ่อยๆ
เพื่อจะได้ทำใจให้ถูกขณะปฏิบัติ
แล้วจึงจะปฏิบัติได้สนุก

ถ้าปฏิบัติไปด้วยอารมณ์
ที่ฝืดและฝืน
กว่าจะผ่านไปได้เจ็ดวัน
ก็แทบตายทีเดียว
เหมือนเราติดคุก

แต่ถ้าทำด้วยความเข้าใจ
มันจะสนุกเพลิดเพลิน
บางคนก็มาขอปฏิบัติต่ออีกเจ็ดวันก็มี

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

นิ่งแบบโมหะจิต นิ่งแบบฌาณจิต

ลักษณะที่หนึ่ง การเอาสติไปเพ่งจิต
ไม่ให้มันทำงานตามหน้าที่
จิตมันจึงนิ่งเพราะถูกบังคับ
 
แต่ถ้านิ่งไปนานๆ จะมีปัญหา
ทำให้จิตเกิดอาการเกร็ง
และเครียดโดยไม่รู้ตัว
 
เพราะมันไปฝืนต่อกฎไตรลักษณ์ที่ว่า
รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง(อนิจจัง)
ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
ปัญหาและความทุกข์ต้องเกิดตามมาอย่างแน่นอน
 
คนทั่วไป ไม่รู้จักกฎความจริงข้อนี้
อยากยึดไว้ อยากให้คงอยู่ อยากให้เที่ยง
จึงทุกข์กันโดยถ้วนหน้า
และต้องทุกข์กันไปตลอดชีวิต
จึงเรียกจิตชนิดนี้ว่า “โมหะจิต”
 
ลักษณะที่สอง คือมันว่าง
โดยไม่ต้องกด เกร็ง เพ่ง จ้อง ใดๆ
เป็นลักษณะของจิตที่ว่าง
เพราะรู้เห็นอารมณ์ปัจจุบันเป็นอารมณ์เดียว
 
เป็นลักษณะอาการของสมาธิจิต
มันจะรู้สึกโปร่ง โล่ง ว่าง ตั้งมั่น บริสุทธิ์ ว่องไว
เป็นเหตุใกล้ของสุญญตาจิต
 
ถ้าจิตนิ่งแบบนี้ถูกต้อง
เพราะเป็นสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
เป็นเหตุใกล้ให้เกิดความสุขสงบ
ตราบเท่าที่เราดำรงจิตไว้ในสติ สมาธิได้
 
จึงเรียกจิตชนิดนี้ว่า”ฌานจิต”
หรือคนที่เป็นวิปัสสนาแล้ว
เรียกว่าญาณจิตก็ได้
พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ติดสงบในฌาณเหมือนเด็กติดเกมส์

ถ้าเรารู้จักเล่นกีฬาทางจิตใจ
ก็สนุกเหมือนเล่นเกมส์
เช่นตอนนี้ ญาติโยมกำลังนั่งปฏิบัติ
พระก็นั่งปฏิบัติเหมือนกัน
แต่ในใจของแต่ละคน
อาจจะรู้สึกไม่เหมือนกัน

ผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติมามากกว่า
ก็ทำจิตให้สนุกไปกับการปฏิบัติได้ง่ายกว่า

แต่ผู้มาปฏิบัติใหม่ยังทำใจไม่เป็น
ก็จะรู้สึกฝืดฝืนในขณะนั่งปฏิบัตินานๆ
อาจจะคิดถึงงานอื่นหรือเรื่องอื่นเข้ามาแทน
ไม่รู้สึกสนุกในการปฏิบัติ
ก็เกิดการขัดแย้งในใจ
ความทุกข์ทรมานใจก็ตามมา

เพราะในชีวิตจริง
เราไม่เคยนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานๆ
เคยไปทำแต่งานที่เกี่ยวกับวัตถุ สิ่งของ
ก็รู้สึกเพลินไปกับสิ่งนอกกาย

พอมาทำกับนามธรรม
หรือสิ่งที่อยู่ในกายในใจ
เลยวางใจยาก หรือวางความรู้สึกไม่เป็น

พระผู้มีประสบการณ์ในการทำสมาธิ
พอได้โอกาสนั่งนิ่ง ท่านก็เล่นฌาน
มีความสุขในสมาธิ
แล้วก็เสพติดในฌานได้เช่นกัน
เหมือนเด็กติดเกมส์

แต่พระที่ชำนาญในงานวิปัสสนา
ท่านก็เล่นกับญาณ หรือวิปัสสนาญาณ
ด้วยการวิจัยธรรมต่างๆ
ที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และดับไปตลอดเวลา

ยิ่งปฏิบัตินานไป
ก็ยิ่งชำนาญในวิปัสสนาญาณมากขึ้น
แบบนี้จะเป็นการทำตรงเป้าหมาย
ของพระพุทธศาสนามากที่สุด

พระพุทธยานันทภิกขุ

One thought on “เหนือสมถะยังมีวิปัสสนา

Comments are closed.