เราตกอยู่ในอำนาจของเวทนาทั้งสาม
เทวดาก็ยังละสุขเวทนาไม่ได้
สวรรค์หกชั้นมีที่มาจากเวทนาหกทาง
จะเห็นว่าจากความสบายเท่านั้นเป็นต้นเหตุของกามฉันทะ กามฉันทะเป็นอาสวะ ดังนั้น เทวดา 6 ชั้น ก็มาจากเวทนาทั้ง 6 ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนี้เอง เทวดาทั้ง 6 ชั้น ประกอบไปด้วย
- สวรรค์ชั้นที่หนึ่ง เรียกว่า ชั้นจาตุมหาราชิกา ทางตา เป็นความพอใจ ในการเห็น การดู ของสวยของงาม เกิดความพึงพอใจ อยากได้
- สวรรค์ชั้นที่สอง เรียกว่า ชั้นดาวดึงส์ ทางหู เป็นสวรรค์ชั้นมายา เช่น การได้ยินเสียงไพเราะ เสียงเป็นรูป หูเป็นรูป เมื่อเสียงกระทบหู ตัวที่จะแปรรูปไปเป็นความพอใจ ไม่พอใจ เรียกว่าโสตปะสาทะ โสตวิญญาณเริ่มจากผัสสะคือกระทบ เมื่อไม่รู้เท่าทัน เป็นอวิชชา ก็ชอบ ไม่ชอบ เป็นเวทนา เป็นตัณหา อยากได้ หาทางแสวงหา ตอบสนอง กลายเป็นอุปาทาน
- สวรรค์ชั้นที่สาม เรียกว่า ชั้นยามา ทางจมูก พอใจในกลิ่น ติดใจในกลิ่นหอม
- สวรรค์ชั้นที่สี่ เรียกว่า ชั้นดุสิต ทางลิ้น พอใจ ในรส ความอร่อย พระพุทธเจ้าจึงให้พระภิกษุต้องพิจารณาอาหารถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะฉันอาหาร เพื่อต่อรอง ยับยั้ง ชั่งใจ ในความเพลิน ความพอใจ ทางลิ้น ดังในพุทธกาล มีหญิงนางหนึ่ง มีความสามารถในการทำอาหารได้อร่อยมาก หากผู้ใดไม่มีวิปัสสนาแล้ว ได้ลิ้มรสอาหารของนาง จะหลงยึด ติดใจในรสอาหารนั้นอย่างแน่นอน พระพุทธองค์จึงให้พิจารณาก่อนฉันอาหารถึง 3 ครั้ง พิจารณาในความอยาก ความติดใจในรส ในความอร่อย ในความพอใจนั้น การพิจารณาดังนี้ สามารถทำให้ผู้พิจารณาบรรลุธรรมได้
- สวรรค์ชั้นที่ห้า เรียกว่า ชั้นนิมมานรดี พอใจในเพศตรงข้าม เรื่องเพศ เรื่องตัณหา โลกีย์
- สวรรค์ชั้นที่หก เรียกว่า ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เป็นสวรรค์แย่งบัลลังค์ คือแย่งใจ แย่งพื้นที่จิต ระหว่างเทพกับมาร เป็นสวรรค์ชั้นที่ต่อสู้กัน ยากที่สุด
รู้ทันความสบาย ทำลายอาสวะ
ประตูนรกและสวรรค์ เป็นประตูเดียวกัน
สุขเวทนาเป็นที่มาของคำว่าสวรรค์
สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นมาจากเวทนาทั้ง ๖ นั่นเอง
เวทนาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าเราไปติดสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สวรรค์ ๖ ชั้นเกิดขึ้นทันที
พอเวลาไปประสบกับสิ่งที่ตรงกันข้าม
ความไม่พอใจในการเห็นรูป ได้ยินเสียง
ได้กลิ่น ลิ้มรส ไม่พอใจในอารมณ์
เกิดนรกทันที
เพราะฉะนั้น
ประตูนรกกับประตูสวรรค์
อยู่ประตูเดียวกัน
จะเปิดบานซ้ายหรือบานขวาเท่านั้นเอง
บางคนความพอใจก็ไม่อยากได้
ความไม่พอใจก็ไม่อยากอยู่
ฉันจะสงบอย่างเดียว
ไปสู่ความสงบตั้งแต่ฌาณ๑ ถึงฌาณ๘
กลายเป็นพรหม ๑๖ ชั้น
ความละเอียดของชั้นจิตมากขึ้นไป
ก็ยังหลุดพ้นไม่ได้
จุดสูงสุดของศาสนาพราหมณ์คือพรหม
ยังอยู่ในหลักของไตรลักษณ์อยู่ดี
พระพุทธยานันทภิกขุ