เริ่มต้นสังเกตอย่างไร
ครูบาอาจารย์ อาจจะไม่ได้ไปคุม
แต่จะทำให้ดู
ไปเป็นเพื่อนในการปฏิบัติ
ขอให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติ
ดูอาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ละขณะๆ
ว่าเราประกอบด้วยองค์สามของการปฏิบัติไหม
รู้ตัวไหม ตื่นตัวไหม แล้วก็ใจเป็นอย่างไร
เศร้าหมองไหม เบิกบานไหม
ในช่วงทำวัตร ได้สังเกตทั้งพระ ทั้งโยม
ดูเหมือนตกอยู่ในความเพลินอะไรสักอย่าง
อย่างเรานั่งสวดไปนานๆ ก็จะง่วงเหงา หลับ
กิจกรรมการสวดก็ทำให้มันเพลิน มันหลงได้
แทนที่สวดแล้ว มันจะเกิดความตื่นรู้
เบิกบาน ชัดเจน
แต่กลับเป็นการกล่อมให้หลง
ที่หลวงพ่อไปจัดอบรม
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หลวงพ่อจะเอาพระสูตร
โดยเฉพาะสติปัฎฐานสูตร เป็นบทตั้ง
ในวันแรกก็จะใช้บทกายานุปัสสนาสติ มาสวด
เพราะหนังสือของวัดแพร่แสงเทียน
จะเป็นสวดแปลทั้งหมด
พระสูตรใหญ่ๆ เป็นสติปัฎฐาน
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มาสวด
แล้วเอาความหมายมาอธิบาย
ในแต่ละขณะ เราต้องสื่อกับตัวเองให้ได้
สื่อทางกายก่อน กายานุปัสสนา สื่ออย่างไร
สื่อว่า ขณะนี้ เรานั่งอยู่นี่
นั่งมาเป็นชั่วโมงนานๆ เรารู้สึกอย่างไร
รู้สึกหนัก ปวด เมื่อย ตึง ไหม
ลมหายใจเป็นอย่างไร ลึกไหม
หลัง ไหล่ เอว รู้สึกอย่างไร ลองสำรวจ
ให้ใส่ใจต่อสิ่งที่เกิด ณ ปัจจุบัน
ทีละขณะๆ ให้ชัด
ว่าด้วยหมวดกาย คือ ให้เห็นกายจริงๆ
ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด
โดยเฉพาะพระที่นำเสนอ พระที่ขึ้นมาพูด
ต้องชักจูงเข้าสู่อารมณ์ปฏิบัติ
เพราะวิธีการของหลวงพ่อเทียน
เป็นวิธีการที่ปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นวิธีการฟัง
เราต้องสื่อให้ตัวเองให้ได้ในแต่ละขณะๆ
ในขณะนี้ เราตื่นรู้ไหม หรือ สะลืมสะลือ
เช็คตัวเองทีละขณะเลยทีเดียว
วิธีการของหลวงพ่อเทียน
ต้องสื่อกับรูปกับนามของตัวเองให้ได้
ขณะนี้รูปกำลังทำอะไรอยู่ เรียกรูปธรรม
และใจได้รับรู้ต่อความเป็นไปของรูปไหม
เรียกว่า นามธรรม
ตั้งใจอย่างไร
พระพุทธยานันทภิกขุ