ฤดูกาลในใจเปลี่ยนไปตลอดเวลา
ธรรมชาติของร่างกายคือ เกิดขึ้น แปรปรวน ดับไป ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาตินี้ จิตของเราก็จะแปรปรวนไปด้วย ไม่มีความสุข เย็น สงบ เท่าใดนัก จิตก็ยังสับสนวุ่นวาย แปรปรวนไปตามอาการของเวทนาที่เกิดจากดินฟ้าอากาศ แต่ถ้าเรารู้ความจริง จิตใจของเราก็ไม่แปรปรวนไปตามดินฟ้าอากาศ เราตั้งใจดูมันเฉยๆ ไม่เป็นไปกับอาการของเวทนาที่เกิดจากไตรลักษณ์ตลอดเวลา เราจึงมาศึกษาปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะไม่ให้ใจของเราแปรปรวนไปตามสิ่งแวดล้อม
วัตถุที่ไม่มีวิญญาณดูเหมือนไม่แปรปรวน แต่ถ้าเราสังเกตดีๆ มันก็แปรปรวนเหมือนกัน ต้นไม้ใบหญ้า พอถึงฤดูกาลก็แปรปรวนไป หน้าฝนก็เขียว หน้าแล้งก็แห้ง ฤดูกาลภายนอกเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนทุก ๓-๔ เดือน แต่ฤดูกาลของจิตหมุนเวียนตลอดเวลา วันหนึ่งเปลี่ยนแปลงหลายฤดู
ร่างกายและจิตใจ เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติภายนอกอยู่เหมือนกัน เราจึงต้องมาศึกษาวิธีการปรับให้จิตใจของเราไม่แปรปรวนไปตามอารมณ์ อารมณ์ก็คือฤดูกาลนั่นเอง เราก็จะพอมีความสุขสงบได้บ้าง
ใช้พลังการเคลื่อนไหว แปรตัวทุกข์ให้เป็นตัวรู้
การศึกษาวิปัสสนาก็คือ การศึกษาความจริงในร่างกายของเราที่กำลังเป็น กำลังมีอยู่ เช่น เรานั่งอยู่ ความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง เจ็บ ปวด เบื่อ เซ็ง ปรากฏ เราศึกษามัน เพื่อที่จะแยกมันออกจากใจ ไม่ให้ใจทุกข์ไปกับอาการแปรปรวนเหล่านั้น เมื่อเห็นการแปรปรวน สุขบ้างทุกข์บ้าง สบายบ้าง ไม่สบายบ้าง เราต้องคอยบำบัดปัดเป่าทุกข์อยู่ตลอด ทำให้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
เราจะนั่งนิ่งตลอดเวลาไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหว
ท่านผู้รู้จึงปรับเอาการเคลื่อนไหวมาเป็นตัวกำลังของตัวรู้ แทนที่จะเป็นกำลังของตัวทุกข์ ด้วยการเคลื่อนไหวให้เป็นจังหวะ มีเจตนาเข้าไปร่วมกับการเคลื่อนไหว ให้มันมีระเบียบ แปรพลังทุกข์ให้เป็นพลังรู้ เหมือนการแปรพลังแสงอาทิตย์ ให้เป็นพลังโซลาร์เซลล์
ใช้สติตามรู้การเคลื่อนไหว จัดระเบียบใหม่ให้เกิดประโยชน์
แผงโซลาร์เซลล์ จะต้องมีมอนิเตอร์ ทำหน้าที่แปลงความร้อนให้เป็นแสงสว่าง วิปัสสนาเป็นตัวแปลงสัญญาณของทุกขเวทนาให้เป็นพลังของตัวรู้ ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา วิธีการแปลง เราก็กลับเข้ามารู้สิ่งที่เคลื่อนไหว ความสบาย ความไม่สบาย เข้าไปรู้ว่ามันต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ไม่มีที่สิ้นสุด เราก็รู้มันเฉยๆ การรู้เฉยๆ ก็ได้แปลงเป็นพลังเรียบร้อยแล้ว เราจึงมีการจัดระเบียบการเคลื่อนไหวให้เป็นระบบ เป็นจังหวะ แทนที่จะให้มันเคลื่อนไหวไปตามสัญชาตญาณ ตามความต้องการของจิต หรือตามความเคยชิน ใช้สติตามรู้การเคลื่อนไหว จัดระเบียบใหม่ให้เกิดประโยชน์ เป็นตัวรู้ที่มีเจตนา ไม่ใช่ตัวรู้ที่ไม่มีเจตนา ตัวรู้ที่ไม่มีเจตนาเป็นตัวรู้แบบสัญชาตญาณ ซึ่งมันไม่เป็นประโยชน์ในแง่ของการภาวนาเจตนารู้เข้าไปทุกการเคลื่อนไหว ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ตามกำลังสติของเรา แต่ถ้ากำลังสติยังไม่เพียงพอ เราก็รู้การเคลื่อนไหวได้ในระดับหยาบๆ แต่การเคลื่อนไหวระดับละเอียดก็ยังมีอีกเยอะ เราจะรู้ได้ระดับไหนอยู่ที่กำลังสติปัญญาของเรา เราจึงมาฝึกฝนกำลังสติเพื่อให้มันมีพลัง ที่จะสามารถรู้ลึกลงไป ในการเคลื่อนไหวระดับต่างๆ อย่างชัดเจน
การเคลื่อนไหวที่ไม่มีระเบียบ เกิดจากความอยาก
ถ้าเราไม่ใส่ใจศึกษาอย่างจริงจัง เราก็ปล่อยผ่านไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเรามีศรัทธา มีความเพียรที่จะศึกษาเรื่องนี้ เราก็ตั้งสติ ตั้งสมาธิ คอยสังเกต คอยปรับ แผงโซล่าร์เซลที่เราติดตั้งไว้
จะเรียบเรียงมวลแสงแดดให้เป็นกำลังไฟฟ้า ซึ่งมีระบบที่แนบเนียนซับซ้อน
นามธรรมไม่สามารถเรียบเรียงอย่างเห็นได้ชัดเหมือนรูปธรรม แต่มันก็เป็นขบวนการเดียวกัน เพราะนามธรรมก็เติบโตมาจากรูปธรรม และรูปธรรมก็เติบโตมาจากนามธรรม บางครั้งพลังงานก็เปลี่ยนเป็นสสาร บางครั้งสสารก็เปลี่ยนเป็นพลังงาน สลับสับเปลี่ยน เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน
แต่ถ้าเราไม่รู้ ไม้เข้าใจกระบวนการนี้ เราก็ไม่เห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลง คุณค่าของการเคลื่อนไหวต่างๆ ในร่างกาย แล้วก็ปล่อยการเคลื่อนไหวผ่านไปอย่างไม่มีระเบียบ ตามแต่ความอยากจะพาไป
ชีวิตของเราจึงเป็นทุกข์เพราะความอยากพาไป เหมือนให้ความมืดพาไป แต่ถ้าให้ความรู้พาไป เหมือนให้แสงสว่างพาไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเอาอะไรเป็นตัวนำชีวิต แสงสว่างหรือความมืด
ที่จริงไม่มีใครอยากให้ความมืดเป็นตัวนำ เพียงแต่ไม่เข้าใจระบบนี้จึงยอมให้ความมืดเป็นตัวนำ
โดยที่ไม่รู้ว่ามันนำอย่างไรเหมือนกัน
ความอร่อยเกินพอดี เป็นเหตุแห่งทุกข์
ความอยากระดับไหนถึงจะเป็นทุกข์ อยากกิน อยากถ่าย อยากหลับอยากนอน ความอยากที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย คือความต้องการของร่างกาย ไม่เรียกว่าความอยาก แต่เป็นความจำเป็น ถ้าเราตอบสนองตามความพอดี ถือเป็นการปฏิบัติธรรม
แต่ถ้าเราตอบสนองความต้องการของร่างกายที่เกินจำเป็น แล้วแยกไม่ออกว่าความต้องการที่ปรากฏ เป็นความต้องการของกายหรือของจิต เช่น เราอยากจะกินให้อิ่ม อาหารชนิดใดก็ทำให้หายหิวได้ แต่บางครั้งเราไม่ต้องการบำบัดความหิวอย่างเดียว เราต้องการรสชาติเอร็ดอร่อยด้วย
อันนี้ถือว่าเกินจำเป็น
ความซับซ้อนของความรู้สึกเช่นนี้ยากต่อความเข้าใจ พระพุทธองค์ท่านจึงแนะนำให้เราได้ศึกษา ให้แยกออกระหว่างความต้องการทางกายและทางจิต ความต้องการทางกาย คือความจำเป็นตามธรรมชาติ ความต้องการทางจิต เป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง ซึ่งถ้าเราให้มันแต่พอดี ก็จะไม่เป็นพิษเป็นภัย อร่อยอย่างพอดี ไม่มากเกินไป แต่ถ้ามันอร่อยเหลือเกิน ก็จะก่อนิสัยส่วนเกินขึ้นมาเรื่อยๆ ชอบอะไรก็ชอบมาก พอใจมากๆ ไม่ชอบสิ่งใดก็ไม่ชอบมากๆ เพราะเราเกินพอดี ไม่รู้จักความพอดีของร่างกายมาก่อนจึงเป็นเหตุ ออกมาเป็นผลให้จิตไปรัก ไปชอบ ไปชัง เกินจำเป็น เป็นเหตุของทุกข์ เรียกว่า ตัณหา
ถ้าไม่มีทุกข์ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ไม่มีอะไรตั้งอยู่ และไม่มีอะไรดับไป
การที่เราขวนขวายภาวนาด้วยการมาศึกษาความจริง มีอานิสงส์ทำให้เราพ้นจากความทุกข์และปัญหาได้ ถ้าเราจับประเด็น จับทางได้ถูก หมายถึงใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายจิตใจของเรา
ใส่ใจกับสิ่งที่กำลังดำเนินไปว่าคืออะไร ใส่ใจกับสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ถ้าไม่มีทุกข์ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรตั้งอยู่ และไม่มีอะไรดับไป ทรงบัญญัติอริยสัจจ์ข้อที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจ์ ความจริงแท้คือทุกข์ ทุกคนมีอยู่ ข้อที่ ๒ ท่านบอกว่า เมื่อมีทุกข์แล้ว ทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ทุกข์มีที่ไปที่มา มีเหตุ ก็ตามไปศึกษาถึงเหตุเกิดทุกข์
ทุกข์เกิดเพราะความสุดโต่ง เกินความพอดี สุดโต่งซ้ายสนุกสนานในเรื่องทุกข์ สุดโต่งขวาสนุกสนานในเรื่องสุข ติดสุข คนที่ติดทุกข์ก็มี เช่น คนติดเหล้า บุหรี่ เกมส์ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้สุขอะไร แต่มันสนุกแบบเจ็บปวด กินอาหารรสจัด มันทุกข์ แต่เราก็เพลินในทุกข์ สุขเกินพอดี ทุกข์เกินพอดี เรียกว่าสุดโต่ง แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้ชีวิตอย่างพอดี คือ มัชฌิมาปฏิปทา
ความไม่ทุกข์มีอยู่ เราเจอมันทุกวัน
แต่เราไม่เคยจดจำมัน
เราทำอาหารอร่อยๆ เพื่อให้ได้กินมากๆ ก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมามากๆ ส่วนนี้เองคือ สมุทัย เมื่อมีสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ แล้วสามารถดับได้ เรียกว่า นิโรธ ถ้ารู้จักวิธี เรียกว่า มรรค ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ สามารถดับได้หมด ถ้าเรารู้จักวิธี เรามาฝึกวิปัสสนา คือมาเรียนรู้วิธี ทดลองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใจ สามารถดับทุกข์อย่างชำนิชำนาญ ชีวิตของเราก็จะมีแต่ความสงบ สบาย โดยธรรมชาติ เพียงแต่เอาความทุกข์ออกไป ความไม่ทุกข์ก็ปรากฏ สุขทุกข์เป็นสิ่งเดียวกัน แต่อยู่คนละขั้ว ท่านให้ค้นหาความไม่ทุกข์ไม่สุข ความไม่ทุกข์มีอยู่ เราเจอมันทุกวัน แต่เราไม่เคยจดจำมัน เราชอบจดจำแต่ความทุกข์ ความสุข จิตเราก็ไม่คุ้น ทั้งๆ ที่ความไม่ทุกข์มีอยู่กับเราทุกวัน แต่เราไม่ค่อยทำความรู้จักมันเท่าใดนัก เราจะแสวงหาสุข วิ่งหนีทุกข์ ความไม่ทุกข์ไม่สุขเราข้ามมันไป ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่เราควรสั่งสม พอกพูนให้มากขึ้น
อาหารที่อร่อยหายากกว่าอาหารที่กินแล้วอิ่ม เวลาหิวขึ้นมา ข้าวเหนียวสักปั้น กล้วยสักลูก ก็อิ่มแล้ว ไม่ทุกข์ไม่สุข แต่ก็อิ่ม เป็นสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ต้องหา ความสุขที่เราแสวงหาเจอแล้ว มันไม่อยู่กับเราตลอด มื้อใหม่ก็ต้องหามาใหม่อีก ไม่เคยเพียงพอ แต่ถ้าเราทำอะไรก็ได้ที่ไม่ทุกข์ เราก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหาสุข หรือหนีทุกข์เลย
ทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ เรียกว่า รูป
การดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ เรียกว่านาม
ทุกข์ให้กำหนดรู้ ศึกษา เข้าใจมัน สมุทัยให้ละ มรรคให้เจริญ ทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ เรียกว่า รูป
การดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ เรียกว่านาม พอเรามาดูรูปกับนาม กายกับใจ เรียกว่าดูอริยสัจจ์ ๔ แล้ว ดูทุกอย่างเป็นรูปเป็นนาม เป็นกายเป็นใจ แต่ที่แล้วมา แทนที่จะเป็นกาย ก็เป็นกู แทนที่จะเป็นรูป ก็เป็นเรา เราสวย เราไม่สวย เราสุข เราทุกข์ กลายเป็นเราไปหมด เราจึงมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญา ให้เห็นร่างกายนี้เป็นเพียงรูปนาม ไม่ใช่เรา มันจะยากอย่างไรก็ต้องทำ เพราะมันไม่มีทางอื่น ที่จะทำให้เกิดความไม่ทุกข์ให้ได้
ถ้าเรามาภาวนา เราไปนั่งหลับตาเพื่อให้สงบ เรามาหาสุข แต่กลับเจอแต่ความง่วง เราจึงมานั่งลืมตาหาตัวไม่ทุกข์ เพราะมันมีอยู่แล้ว วันๆ อาตมาก็หาแต่เรื่องที่ไม่ทุกข์ อะไรก็ได้ที่ไม่ทุกข์ กิน นอน ทำ แบบไม่ทุกข์ อันไหนทำแล้วเป็นทุกข์ ก็อย่าเพิ่งทำมัน ปล่อยไว้ก่อน
เข้าใจรูปนาม ใจไม่แปรปรวนไปตามฤดูกาล
อากาศที่เราหายใจ ไม่ต้องไปวิ่งหา เพียงแต่หายใจเข้า มันก็เข้ามา แต่ถ้าเราอยากจะได้กลิ่นหอมๆ ก็ต้องไปหาซื้อมา ความไม่ทุกข์มันจืดๆ เหมือนลมหายใจนั่นแหละ ไม่หอมเหมือนกลิ่นมะลิ ถ้าหอมมันก็กลายเป็นสุขไปแล้ว พอดอกมะลิเหี่ยว กลิ่นก็หืนไม่หอม แต่อากาศที่บริสุทธิ์เฉยๆ ไม่หอมไม่เหม็น มันเหมือนความไม่ทุกข์ไม่สุข มันมีอยู่ เพียงแต่ตั้งใจ หายใจเข้า หายใจออก ก็เจอแล้ว ใจเราก็เหมือนกัน เพียงแต่ตั้งใจดูมัน ที่มันไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่คิด ไม่ปรุง ไม่แต่ง มันรู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ แต่ส่วนของร่างกายมันก็ไปตามเรื่องตามราวของมัน เดี๋ยวมันก็สบาย เดี๋ยวมันก็ไม่สบาย ไม่แน่นอน เพราะร่างกายมันเป็นรูป มันแปรปรวนไปตามอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ถ้าจิตใจเราไม่เข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม ก็แปรปรวนไปตามรูปเหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจรูป เข้าใจนาม ใจก็จะไม่แปรปรวนไปตามรูป นามก็บริสุทธิ์ เป็นตัวสมาธิ ตัวปัญญา
พระพุทธยานันทภิกขุ