ภาวนาให้สนุก เป็นสุขกับการเคลื่อนไหว ตอนที่ 1 รู้จริงต้องหายสงสัย

ภาวนาให้สนุก เป็นสุขกับการเคลื่อนไหว
ตอนที่ 1 รู้จริงต้องหายสงสัย

การบวชของหลวงพ่อเทียน ท่านมีเจตนาเพียงเพื่อมาบอกวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่ทำให้ท่านเข้าถึงสัจธรรม และพ้นทุกข์ตามแบบวิธีของท่าน และต้องการนำวิธีการนั้นมาบอกเพื่อนมนุษย์เท่านั้น เมื่อบอกแล้วใครรับได้ และปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็โชคดีไป ถ้าใครรับไม่ได้ ก็ไม่ต้องสนใจเท่านั้นเอง ท่านจึงต้องอาศัยรูปแบบสมมติสงฆ์ เป็นเส้นทางสำหรับสื่อความจริงขั้นสูงสุดให้เพื่อนมนุษย์เข้าถึงเหมือนอย่างท่านด้วยเท่านั้นเอง

เพราะพุทธศาสนิกชนคนไทยส่วนใหญ่ ยังติดรูปแบบของนักบวชอยู่ หลวงพ่อเทียนท่านเห็นประโยชน์ที่จะใช้สมมติตรงนี้ จึงอาศัยรูปแบบและพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเพียงสื่อเพื่อบอกความจริงอันนี้ให้คนเข้าใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พระอาจารย์มหาบัวทอง เป็นพระที่มีปริยัติรูปแรกที่ได้พบหลวงพ่อเทียนในยุคต้นๆ ด้วยวิสัยทัศน์แห่งผู้รู้แจ้งสัจธรรมอันสูงสุด การเผยแผ่ความจริงจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน เมื่อพบกันแล้ว หลวงพ่อจึงไม่พลาดโอกาสที่จะบอกความจริงขั้นปรมัตถ์แก่ท่านพระหนุ่มทันที จนท่านอาจารย์มหาบัวทองได้สัมผัสอารมณ์รูปนามระดับหนึ่ง ท่านจึงได้อาศัยท่านอาจารย์มหาบัวทอง ช่วยเผยแพร่สัจธรรมของท่านให้ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว มีประวัติบางตอนที่ท่านได้เล่าไว้ในเทปและซีดีว่า พอท่านอาจารย์มหาบัวทองเข้าใจรูปนามได้เท่านั้น หลวงพ่อบอกว่า เสมือนได้เรือใหญ่ พอได้อาศัยให้ช่วยเผยแพร่ธรรมะที่ท่านเข้าถึง และการเผยแพร่ไปผลก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในหมู่ของฆราวาส ญาติโยม เพราะท่านเป็นพระที่ได้ศึกษาปริยัติมาพอสมควร จึงได้ใช้ปริยัติเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและเผยแพร่

จากพระมหาบัวทองถึงหลวงพ่อบุญธรรม

ต่อมา ท่านอาจารย์มหาบัวทอง นำเรื่องนี้ไปบอกแก่หลวงพ่อบุญธรรม ซึ่งเป็นพระรุ่นพี่ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีมากรูปหนึ่ง ให้มารับวิธีการปฏิบัติแบบนี้ หลวงพ่อบุญธรรมได้ตั้งใจปฏิบัติและเข้าใจสัจธรรมของหลวงพ่อเทียนในเวลาต่อมา และหลวงพ่อบุญธรรมเป็นญาติผู้พี่ จึงไปชักนำหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ซึ่งเป็นญาติผู้น้องกัน หลวงพ่อคำเขียนเข้ามาปฏิบัติตั้งแต่สมัยยังเป็นคฤหัสถ์ เมื่อฝึกปฏิบัติได้ไม่นาน หลวงพ่อคำเขียนก็เข้าใจและเข้าถึงสัจธรรมอีกท่านหนึ่ง และตามหลวงพ่อสมหมายเข้าปฏิบัติด้วยในเวลาต่อมา

เมื่อสัมผัสความจริงได้ระดับหนึ่งแล้ว หลวงพ่อคำเขียนได้บวชเป็นพระภิกษุ และก็ได้ชักชวนพระรูปอื่นๆ อีกหลายรูปเข้ามาปฏิบัติ ช่วยเผยแพร่หลักการปฏิบัติออกไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ในเวลาต่อมา

หลวงพ่อเทียนเล่าว่า นักปฏิบัติธรรมทั่วไปในสมัยนั้นเกิดการตื่นตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งผู้เห็นด้วย ทั้งผู้ต่อต้าน หลวงพ่อเล่าว่าเหมือนกับแผ่นดินไหว หรือลูกระเบิดลงเลยทีเดียว

ด้วยสหายธรรมทั้งสามท่านนั้นเป็นชาวจังหวัดชัยภูมิ ดังนั้น จังหวัดชัยภูมิ จึงเป็นเป้าหมายแรกที่สามารถรองรับวิธีการของหลวงพ่อเทียนได้มากที่สุด แทบจะกล่าวได้ว่าวิธีการนี้แผ่ขยายออกไปเกือบทั่วทุกอำเภอและตำบลของจังหวัดชัยภูมิเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นศิษย์รุ่นต้นๆ จึงมาจากชัยภูมิเป็นส่วนมาก ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อาตมาเองก็ไปตั้งหลักปฏิบัติกับครูบาอาจารย์เหล่านนี้ เป็นกัลยาณมิตร และแบบอย่างที่ดีงาม และแนะนำสั่งสอน จนสามรถสัมผัสความจริงตามวิธีการนี้ได้ จากนั้น จึงได้เริ่มตั้งสำนักปฏิบัติครั้งแรก ที่อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ชื่อ วัดป่าชัยมงคล อ. อำเภอบ้านแท่น บ้านหนองผักหลอด นั้นเอง

ปฏิบัติวิธีนี้ได้จะทำให้ได้คำตอบเรื่องราวของชีวิต

วิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ จุดสำคัญเบื้องต้น จะต้องสัมผัสอารมณ์รูปนามที่แท้จริงให้ได้ก่อน อารมณ์นี้ จะเน้นให้เรารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คือ รู้จักรูปนามตามที่เป็นจริงชัดๆ ก่อน เพราะความเข้าใจที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฐินี้ เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก วิธีการนี้ จะไม่เห็นด้วยกับการรู้ความจริงแบบนึกคิดคะเนเอา ตามอาการหรือเทียบกับหลักปริยัติ ตามแบบวิธีการอื่นๆที่เขาปฏิบัติกัน

ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อเทียน ท่านจึงยกเอากาลามสูตรสิบประการ มากล่าวอ้างไว้เสมอๆ เพื่อเตือนนักปฏิบัติไม่ให้หลงทาง คือไม่ปลงใจเชื่อง่ายๆ ตามหลักของพุทธพจน์ที่มาในกาลาสูตรสิบประการคือ

1 มา อะนุสสะเวนะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
๒.มา ปะรัมปะรายะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆกันมา
๓.มา อิติกิรายะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการตื่นข่าวเล่าลือ
๔.มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคำภีร์
๕.มา ตักกะเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการนึกเดาเอา
๖.มา นะยะเหตุ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคาดคะเน
๗.มา อาการะปะริวิตักเกนะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการตรึกตามอาการ
๘.มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเข้าได้กับความเห็นเดิมของตนเอง
๙.มา ภัพพะรูปะตายะ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยผู้พูดควรเชื่อถือได้
๑๐.มา สะมะโณ โน คะรูติ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยเห็นว่าสมณะท่านนี้เป็นครูของเรา

สัมผัสรูปนามที่แท้จริง

แต่การปฏิบัติเบื้องต้น ส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีพื้นฐานมาเลย ก็ทำความเข้าใจรูปนามตามสัญญาไปก่อน จนกว่าความเพียรในรูปแบบจะเข้มแข็ง ไปสักระยะหนึ่ง ประกอบกับมีพี่เลี้ยงหรือกัลยาณมิตรผู้รู้จริงคอยแนะนำ ก็จะเริ่มเกิดปัญญาเห็นรูปนามตามความเป็นจริงชัดเจนไปเรื่อยๆ

สำหรับคนที่จริงใจกับการปฏิบัติตามรูปแบบนี้ ก็จะเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะถือว่าอารมณ์รูปนาม เป็นประตูธรรมบานแรกของกรรมฐานทุกๆสาย ถ้าเปิดประตูรูปนามไม่ได้ ก็หวังความสำเร็จในการปฏิบัติได้ยาก ถ้าเปิดได้ ก็เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงบ้างแล้ว

ความเชื่อถือตามประเพณีมีอุปสรรคมาก

จิตใจของคนเรา มักถูกครอบงำด้วยความคิดและสมมติต่างในเรื่องของประเพณีทางศาสนามานาน จึงมักคิดเอาเองว่า พุทธศาสนาเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน และเข้าไม่ถึง จึงหันไปสร้างบุญบารมีนอกพุทธศาสนา จนเข้าไปทางของศาสนาพราหมณ์ไปก็มาก ด้วยความเชื่อและเข้าใจแบบนี้ เมื่อหลวงพ่อเทียนมาชี้ให้เห็นจุดสำคัญที่ธรรมดาของรูปนาม ซึ่งนักปฏิบัติบางคน อาจจะมองไปว่า เป็นเรื่องง่ายๆ ตื้นๆ ไม่รู้ว่าจะนำมาสอนกันทำไม แม้ว่าความรู้สึกตัว ที่จะแสนธรรมดา และง่ายดายเช่นนี้ นักปฏิบัติบางคนที่เจริญสติแบบไม่จริงใจ ก็ไม่สามารถจะสัมผัสอารมณ์รูปนามได้ง่ายๆเหมือนกัน

แม้แต่พระพุทธองค์เอง ก็ทรงท้อพระทัยในครั้งแรกที่คิดจะเผยแพร่เรื่องนี้ ถึงกับตั้งใจว่าจะไม่เผยแพร่สั่งสอนเรื่องนี้กับใคร จนเป็นเหตุให้ท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งหยั่งรู้ถึงความตั้งใจของพระองค์ในตอนนั้น รีบมาเฝ้าและอาราธนาทูลเชิญให้ทำการเผยแพร่สัจธรรมแก่สรรพสัตว์ เผื่อว่าบางคนที่มีกิเลสในจิตใจเหลือน้อย จะรับได้ พระองค์จึงรับอาราธนาและเผยแพร่คำสอน ในเวลาต่อมา

ความรู้สึกตัว คือสัจธรรมของชีวิต

ความจริงแล้ว สัจธรรมไม่ใช่เรื่องลึกหรือตื้น แต่มันคือความจริงที่มีอยู่แล้วในชีวิตของๆทุกคน แต่เรายังไม่ใส่ใจที่จะค้นคว้าศึกษา จึงมองไม่เห็น และไม่เข้าใจถึงการมีอยู่ของสัจธรรมอันสูงสุดนั้น เหมือนกับเส้นผมบังภูเขา หรือเหมือนดวงตาอยู่บนใบหน้า แต่มองหน้าไม่เห็น หรือคำรหัสของท่านผู้รู้ที่เราได้ยินพูดกันเสมอที่ว่า นกมองไม่เห็นฟ้า ปลามองไม่เห็นน้ำ หนอนมองไม่เห็นคูต มนุษย์มองไม่เห็นตัว คนชั่วมองไม่เห็นทุกข์

รูปนามก็คือ ความรู้สึกตัวซื่อๆ ง่ายๆ ตื้นๆ พื้นๆ สดๆ ความรู้สึกตัวปกติ ที่ทุกคน สามารถรู้จักได้โดยไม่ยากเลย เพียงแต่ตั้งจิตไว้กับความรู้สึกแบบนี้ไปให้นานๆ และนานที่สุดเท่าจะนานได้ และให้รู้ ให้สัมผัสชัดๆ ด้วย พยายามตามรู้การเคลื่อนไหวของทุกส่วนของร่างกายและจิตใจไปเรื่อยๆ ประเดี๋ยวก็จะรู้ขึ้นมาเอง
ที่สำคัญให้เห็นและเข้าใจชัดๆ ว่า ความรู้สึกตัวที่กำลังสัมผัสนี้คือรูปกับนาม หรือกายกับใจ ความรู้สึกตัวแบบนี้ คือตัวสภาวธรรมที่เกิดมาพร้อมกับชีวิตเรา ก็เพราะมันอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดนี่แหละ เราจึงมองไม่เห็นความสำคัญของมัน น้อยคนเหลือเกินที่จะให้สำคัญและความสนใจที่จะรู้

เราทุกคน กลับไปให้ความสำคัญกับความคิดเป็นหลัก ก็เพราะความคิด ดูเสมือนว่า มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ คนทุกคนจึงชอบและให้ความสำคัญ เหมือนที่เราชอบดูหนัง ไม่ผิดอะไรกันนัก ชีวิตจริงมีใครบ้างที่จะนั่งดูหนังเรื่องเดียวได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีหรอก นอกจากคนบ้า แต่คนส่วนใหญ่ก็ชอบประพฤติเช่นนั้น ใช่ไหม? คือชอบคิดเรื่องๆเดิมแบบซ้ำซาก เรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้างได้ทั้งปีทั้งชาติ กลับไปกลับมาไม่เคยเบื่อ ถ้าจะว่าไป มันก็บ้ายิ่งกว่าบ้านะแหละ

จิตเป็นเสมือนกระจก

ธรรมชาติของจิตวิญญาณก็เหมือนกับกระจก จิตทำหน้าที่เป็นตัวกระจก ความคิดก็เป็นเหมือนแขก ที่แวะเวียนมาส่องกระจก คนส่องจะสนใจที่กระจก หรือสนใจที่ใบหน้าตัวเองที่อยู่ในกระจกกันเท่านั้น ฉันใด เราให้ความ สนใจความคิดกันมากกว่าสนใจความรู้สึกตัว จิตจึงเป็นกระจก มันเป็นเพียงเครื่องมือที่สะท้อนความคิดที่มากระทบแต่ละครั้งเท่านั้นเอง

จิตก็ทำหน้าเช่นเดียวกันกับกระจก ซึ่งจะสะท้อนภาพของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด และอารมณ์ที่มาปรากฏเฉพาะหน้า และกระทบในขณะหนึ่งๆ เท่านั้น คนที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกฝนให้รู้จักความจริงในเรื่องธรรมชาติของอายตนะภายใน และอายตนะภายนอกมาก่อน จึงไปสำคัญมั่นหมายความคิดหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ภาษาปริยัติเรียกความคิดที่ปรากฏว่า นามรูป (สังขารจิต) และเรียกความรู้สึกตัวว่า รูปนาม (จิตวิญญาณ) เพราะฉะนั้น ความรู้สึกตัวจึงเป็นเสมือนตัวกระจก ส่วนความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏกับใจ ที่ใจรับผ่านเข้ามาเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่สัมผัสเข้ามา ก็เหมือนคนเดินมาส่องดูกระจกนั้นเอง

ดังนั้น สัจธรรมด้านปรมัตถ์ ถ้าเข้าใจตามรูปธรรมที่ยกมานี้ จึงไม่ใช่เรื่อง ยากเกินไปที่จะเข้าใจเลย แต่เพราะไม่สนใจจะศึกษาให้รู้จักธรรมชาติด้านนี้ จึงหลงเข้าใจผิดคิดว่าปรากฏที่ในกระจกแห่งจิต นั้นเป็นตัวตนของเราจริงๆ ความจริงก็คือปฏิกิริยาสะท้อนกลับของนามรูปที่เกิดขึ้นเฉพาะเวลานั้นเท่านั้น

ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมคือจิตเดิมแท้

ดังนั้น อย่าไปสงสัยให้เสียเวลาเลย ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่สัมผัสได้แบบซื่อๆ ตรงๆ นี่แหละ คือพุทธจิตหรือจิตเดิมแท้ ที่มีติดตัวมาแต่เกิด เป็นสภาวธรรมพื้นฐานของชีวิตทุกตัวตน เป็นจุดเริ่มต้น และเป็นจุดสุดท้าย ที่เกิดและดับสลับกันไปทุกขณะ
หน้าที่ของเราผู้ปฏิบัติ ก็คือพยายามตามรู้ เฝ้าดูความรู้สึกตัวนี้ไปเรื่อยๆ และพยายามตามดูอาการของจิต และความคิดให้ชัดเจนอยู่เสมอว่า มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ความคิดมันมาแล้วก็ไป แต่จิตวิญญาณมันต้องอยู่ที่เดิมตลอดเวลา เสมือนกระจกตั้งอยู่กับที่ แต่คนส่องมาใช้แล้วก็จากไป
เพราะฉะนั้น ให้เก็บรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้สะอาดชัดเจนไว้เสมอ อย่าปล่อยให้ความคิดสกปรกบางเรื่องตกค้างในจิตนานเกินไป เหมือนคนส่องกระเกเรบางคน แต่งหน้าแล้วลืมทำความสะอาดกระในบางคราว ที่เศษเครื่องสำอางกระเด็นมาเปรอะเปื้อน เพราะความเผลอเรอ

คำว่า ?จิตเดิมแท้? คือความรู้สึกเดิมๆ?

สมัยที่เรายังเป็นเด็กตัวเล็กๆบางครั้งเราถูกยั่วยุให้ โกรธ เกลียด เครียดขุ่น แต่เราไม่เคยจดจำ หรือใส่ใจ ความรู้สึกแบบนั้น มันก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แต่เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ เวลาโกรธก็โกรธนาน เวลาเกลียดก็เกลียดนาน เวลาโลภก็โลภนาน เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนั้น เราคิดฉุดคิดกันบ้างไหม?

สมัยเด็กๆ จิตของเรา มีแต่พลังของความรู้สึกตัวล้วนๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความคิด แต่ยังไม่ได้รับการอบรมให้รู้ว่า ?ความรู้สึกตัวๆนี้แหละ มันคือชีวิตจริงของเรา? และก็ไม่มีใครที่จะมาเน้นย้ำ ให้เห็นว่าความรู้สึกตัวชนิดนี้ ว่ามันมีสำคัญมากมายเพียงไร

ในสมัยครั้งพุทธกาล มีผู้คนจึงเข้าใจความรู้สึกตัวนี้ได้เร็ว และเข้าใจการมีอยู่ของความรู้สึกตัวอย่างไม่สงสัย แม้เด็กๆ ก็เข้าใจธรรมะได้ง่ายและเร็ว เพราะพระพุทธองค์และพระสาวกค่อยพร่ำสอน เน้นย้ำให้เข้าใจแต่เรื่อง มิใช่พร่ำเรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมายอย่างที่นักบวชพร่ำสอนกันแต่เรื่องศีลเรื่องทานเช่นปัจจุบัน เป็นไปอย่างพร่ำเพรื่อและฟุ่มเฟือยมากๆ

แม้แต่เจ้าลัทธิอื่นๆ ก็มองข้ามเรื่องนี้กันหมด จึงมีแต่ลัทธิของพุทธโคตรมะเท่านั้น ช่วยกันสอน มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะชี้จะสอน ผู้รับยังไม่สับสนเหมือนยุคสมัยนี้ แต่สมัยนี้มีสำนักเปิดสอนสติปัฏฐานสี่ เป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น ก่อให้เกิดความสับสนซับซ้อนมากมาย นี้คือเหตุของความยากของนักปฏิบัติกรรมฐานสมัยนี้ จึงเกิดความสับสนและสงสัยว่า ?ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม? ตามความหมายที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงนั้น เป็นอย่างไรกันแน่?

ยิ่งนักปฏิบัติที่มีอายุมาก ยิ่งมีความคิดปรุงแต่งเยอะมาก เพราะแต่ละคนมีอดีตเบื้องหลังของตนมายาวนาน และก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นที่เหนียวแน่นและซับซ้อน เพราะจิตไปซึมซับเอาความคิดปรุงแต่งและให้ความสำคัญกับความคิดตรงนั้นว่า เป็นเราเป็นตัวตนของเรา ภาษาพระเรียกว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
จิตก็สร้างความคิดจินตนาการออกมาเป็นความคิดปรุงแต่งด้วยอำนาจของรากเหง้าอกุศลทั้งสี่ตัวนี้ มันจึงกลายมาเป็นฝ้าบดบังความรู้สึกตัว เหมือนเงาที่บังแสง
จิตที่สร้างความรู้สึกตัวขึ้นมาเอง มักตามมาด้วยความคิด มันไม่ใช่ความรู้สึกตัวเดิมแท้ ความรู้สึกตัวที่จิตสร้างขึ้นก็เป็นเสมือนคราบไคลของฝุ่นละอองที่ละเอียดอ่อน เข้าไปฉาบทาติดที่กระจก ทำให้มองเห็นหน้าตาตัวเองไม่ชัดเจนเลย ฉันใดก็ฉันนั้น

ความรู้สึกตัวแบบสัญชาตญาณ

เมื่อลงมือปฏิบัติ ความอยากด้วยตัณหา ก็ตั้งต้นตรงนั้นแหละ เมื่อความอยากรู้ ที่เกิดบ่อยๆและตั้งอยู่นานๆ ความรู้สึกตัวแบบซื่อๆ ง่ายๆ ก็หายไป เพราะความรู้สึกตัวธรรมดาๆ ไม่เห็นมีสีสันอะไรลึกซึ่งพิสดาร พอรู้สึกตัวแป๊บเดียวก็ลืม กลับไปเล่นกับความคิดปรุงแต่งเรื่องอื่นๆโดยไม่รู้ตัว ให้พยายามอดทนอยู่กับความรู้สึกตัวแบบซื่อๆ สดๆ ง่ายๆ ตื้นๆ นี้ ให้นานๆ หน่อย แล้วจิตเดิมแท้จะค่อยบอกเราว่า ความรู้สึกตัวแท้ๆ เป็นอย่างไร รู้สึกแบบไหนเป็นความรู้สึกตัวที่กิเลสสร้างขึ้นมา และแบบไหนเป็นความรู้สึกตัวแบบมีสติปัญญา ต้องหมั่นเฝ้าดู หมั่นสังเกต ให้อยู่กับความรู้สึกตัวจริงๆ แล้วจิตจะสร้างภาพความคิดมายาต่างๆมาหลอกเราไม่ได้ แต่คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ จะหลงไปกับความคิดได้ง่าย แต่ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปต่อต้านหรือเก็บกด ให้มีสติรู้เท่าทันมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันหยุดของมันเอง มันคิดใหม่ก็รู้ใหม่ไปเรื่อยๆ

ดังนั้น นักปฏิบัติคนไหนเข้าใจความรู้สึกแบบซื่อๆ ใสๆ ได้ไว ก็จะเห็นตัวเอง หรือเห็นธรรมะได้ไว ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมแบบนี้ ต้องเชื่อมั่นจริงๆ นะ เชื่อแบบไม่ต้องสงสัยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และให้จิตเข้าไปแนบสนิทอยู่กับความรู้สึกแบบนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ซึ่งจะให้สติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง มีพลัง เหมือนต้นไม้อยู่กับดินที่ชุ่มน้ำนานๆ ต้นไม้ก็จะงอกงามเอง ไม่ต้องไปปลูกใหม่ให้ยากลำบาก แต่ถ้าขาดน้ำมากๆ ถึงปลูกก็ตายได้

จิตขาดสติตามรู้เรื่อยๆ ก็เหมือนดินขาดน้ำ คือเผลอสติเมื่อไร เราก็ลืมตัว จิตจะหลุดจากความรู้สึกที่เป็นปัจจุบัน มันจะวิ่งไปอยู่กับความคิดที่เป็นอดีตอนาคตทันที และถูกความคิดลากเหมือนกับคนติดสิ่งเสพติดทั้งหลายนั้นเอง

ตามดูความรู้สึกตัวนอกรูปแบบให้มาก

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกตัวนอกรูปแบบเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพียงตั้งใจปฏิบัติตามรูปแบบเท่านั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวไม่ว่าที่ใดก็ตาม ให้ตั้งใจ ทำความรู้สึกตัวไปด้วยทันที ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ในบ้านในเรือน ไปทำงานนอกบ้าน ก็ให้น้ำหนักกับตัวรู้สึกแบบนี้ให้มากกว่าตัวนึกคิดเสมอ
การให้น้ำหนักไปที่ความรู้สึกในรูปนามอย่างต่อเนื่อง มันเป็นการรักษาความเพียร เพื่อทำให้สติมีกำลังที่ว่องไวให้รู้เท่าทันความคิดเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านี้ เพราะความรู้สึกตัวก็มีอยู่พร้อมแล้ว เพียงไม่ให้ความสำคัญกับความคิดเกินมากไปก็พอ

มีจิตให้ใช้จิต แต่อย่าให้จิตใช้เรา

ความเป็นจริงต้องอาศัยจิตคิดก่อนลงมือทำงานทุกอย่าง แต่ให้เข้าใจเสมอว่า จิตเป็นเพียงเครื่องมือ อย่าสำคัญผิดคิดว่า จิตเป็นเรา หรือเป็นเจ้านายของเรา แต่จงใช้จิตเป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น และถ้าใช้จิตเป็น จิตก็เป็นเครื่องมือทำงานให้เราได้อย่างวิเศษ

ถ้าจะว่าไปแล้ว ?รูปนาม? เป็นเสมือนตัวฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ แต่ ?จิต? เป็นเสมือนเป็นตัวโปรแกรม หรือตัวซอฟท์แวร์ โปรแกรมต่างๆ ที่นำเข้ามาใช้ในคอมพิวเตอร์นั้นเอง จะเปลี่ยนเอาโปรแกรมไหนเข้ามาใช้ก็ได้ ร้อยโปรแกรม พันโปรแกรม

แต่ตัว ?รูปนาม? คือรูปกับเวทนา ได้แก่ตัวคอมพิวเตอร์เปลี่ยนไม่ได้ เป็นตัวหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่า ความรู้สึกตัวก็เสมือนตัวโปรแกรมหลักที่ติดมากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนสัญญา สังขาร วิญญาณ ทำหน้าที่สร้าง ?นามรูป? เป็นซอฟแวร์ เป็นตัวทำงานอย่างวิเศษ

แต่เมื่อผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ยังเล่นไม่เก่งไม่มีความชำนาญ ใช้ถูกใช้ผิด ก็จะสับสนวุ่นวายมาก บางครั้งถูกไวรัสลงเครื่อง ก็ยุ่งเหมือนกัน ต้องซื้อโปรแกรมใหม่มาเปลี่ยนลงคอมฯ หรือไม่ก็ต้องลงโปรแกรมป้องกันไวรัสเสียเลย โปรแกรมป้องกันไวรัสใหม่ตัวหนึ่งๆ ก็แพงโขอยู่ ฉันใดก็ฉันนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็จำลองเครื่องคอมพิวเตอร์มาจากรูปนามนี้เช่นกัน

เมื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเต็มบริบูรณ์แล้ว ก็จะเกิดญาณปัญญา รู้เห็นความจริงด้วยตนเอง แต่ถ้าเราตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง ความรู้สึกตัวรั่วไหลออกไปเรื่อยๆ ไม่รู้วิธีแก้ไขให้ทันการณ์ ผลก็เกิดช้าขึ้นไปเรื่อยๆ เสียดายคนบางคนที่มีคุณสมบัติทางใจสั่งสมมาดีมากๆ ใช้เวลาสั่งสมยาวนานมามาก แต่กลับไม่สนใจเรื่องเจริญสติปัฏฐานแบบนี้เลย ก็หมดโอกาสที่จะพัฒนาให้ก้าวไปมากกว่านี้

เงามืดสีขาว คือ การยึดดีติดดีหลงดี

เคยฟังเรื่องราวที่คุณหมอวัฒนา สุพรหมจักร ถามหลวงพ่อเทียนว่า คนติดมืดสีดำไม่น่ากลัว แต่กลัวคนที่ติดมืดสีขาว เพราะว่าคนที่ติดมืดสีดำนั้น พอได้รับการชี้แจงให้เข้าใจด้วยเหตุผล เขาก็เลิกคิดในสิ่งที่ชั่วได้ง่าย แต่คนที่ติดความมืดสีขาว คือไปติดในคุณงามความดี ติดในเกียรติยศชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งไปติดบุญกุศลที่ตนได้ทำมา คนที่ติดแบบนี้เป็นอันตราย เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่า การยึดติดในสิ่งเหล่านี้มีผลเสียอย่างไร ซึ่งยากที่คนเหล่านี้จะเชื่อ แต่ความจริงก็ไม่ได้บอกให้เลิกทำดีหรอก เพียงแต่ให้เข้าใจว่าทำดีนั้นดีแล้ว แต่ไม่ควรยึดติดในความดีเท่านั้นเอง บางครั้งมันเปลี่ยนเป็นร้ายก็ให้ปล่อยวางได้

คนที่ติดดี ก็คือคนที่ติดอยู่ในความมืดสีขาวนั้นแหละ จึงก้าวหน้ายาก นอกจากจะไม่เข้าถึงสัจธรรมที่แท้แล้ว ก็ยังเป็นอันตรายต่อศาสนาของตนด้วย ยุคปัจจุบันนี้คนทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันในเรื่องการนับถือศาสนา อวดอ้างความดีต่างๆที่ตัวเองทำมา เอาความดีในลัทธิความเชื่อของตนมาข่มผู้อื่น ว่าของเองดีกว่าของคนอื่น คนเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของพวกติดดีทั้งนั้น ซึ่งมีให้เห็นกันทั่วไป บางแห่งถึงกับเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกและเกิดสงครามกันก็มีมาก ก็เพราะไปติดความมืดสีขาวแบบนี้เอง

เหมือนเอากระดาษสีขาว และสีดำมาบังข้างหน้า เมื่อมองจะมองทะลุไปอีกด้านหนึ่งได้ไหม? ไม่ได้เลย จนกว่าจะเอากระดาษทั้งสีดำและสีขาวออกไป หรือจนกว่าไม่มีทั้งสีขาวสีดำนั้นแหละ

อุปมานี้ฉันใด การหลงติดยึดในความดีก็เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ สอนไว้ว่า อย่ายึดเอาความดี และความชั่วมาปรุงแต่งนึกคิด เพราะมันจะบดบังจิตเดิมแท้ของเรา ความคิดดีเหมือนสีขาวถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ใช้ได้เป็นบางคราว ถ้าหมดความจำเป็นแล้วก็ให้สลัดความคิดดีนั้นออกไป แล้วทำให้ใจบริสุทธิ์สะอาดด้วยการปล่อยวาง ทำใจให้โล่งโปร่งเบาเอาไว้เสมอ

คำสอนนี้เป็นคำสอนหลัก มีในโอวาทปาติโมกข์ ท่านสอนว่า
1.ไม่ควรปล่อยให้ความคิดที่ขุ่นมัวเศร้าหมองมาบดบังจิต
2.ควรฝึกฝนจิตให้คิดสั่งสมแต่สิ่งที่ดีๆ ไว้เสมอ
3. ควรปล่อยวางหรือชำระ ความคิดทั้งดีและไม่ดีทันที เมื่อใช้แล้ว

ใช้สติตรวจสอบจิตคือวิธีชำระจิต

ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปรู้อะไรมากหรอก เพียงแต่ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมให้ชัดๆ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องอยากรู้อยากคิดโดยไม่จำเป็น คืออย่าปล่อยให้จิตคิดอะไรขึ้นมาได้ง่ายๆ แต่ถ้ามีความคิดอะไรผุดขึ้นมา มันต้องเฉลียวใจ ตรวจสอบทันที ไม่ปล่อยให้ลอยนวล เหมือนแขกเข้าบ้าน
แต่ละขณะๆ ที่มีความคิดเข้ามาในจิต ทั้งที่เป็นความคิดดีกุศลจิต และความคิดไม่ดีอกุศลจิต ก็ต้องตรวจสอบกันก่อน ไม่ควรอนุญาตให้เข้ามาคิดเพ่นพ่านโดยไม่จำเป็น เสมือนปล่อยให้คนแปลกหน้าเข้ามาเดินเล่นในบ้านโดยไม่ใส่ใจ อะไรจะเกิดขึ้น อันตรายแน่?

บางครั้งมีอารมณ์และความคิดแรงๆ เข้ามาโจมตีเข้ามาสู่ใจอย่างตั้งตัวไม่ทัน เราต้องกระตุ้นความรู้สึกตัวของให้ชัดเจนเป็นพิเศษทันที และดึงจิตกลับมาสู่ฐานของสติปัจจุบันให้ทันการณ์ อย่าละเลยหรือประมาทความคิดเป็นอันขาด ให้พยายามทำความรู้สึกตัวด้วยความมั่นใจ รู้สึกให้ชัดและรู้สึกให้เบาสบายเสมอ

การเฝ้าดูเวทนา เหตุให้เกิดปัญญา

อาตมาพูดถึงเรื่องนี้มาหลายครั้ง คือพูดถึงความต่างระหว่างความรู้สึกตัวที่เป็นเวทนา กับความรู้สึกตัวที่เป็นสติสัมปชัญญะ พยายามพิจารณาแยกให้รู้ชัดๆ ว่า ความรู้สึกตัวแบบไหนเป็นเวทนา ความรู้สึกตัวแบบไหนเป็นสติสัมปชัญญะ

ความรู้สึกที่เป็นเวทนานั้น เป็นเหมือนกับฝุ่นผงที่พลัดปลิวเข้าไปติดหน้ากระจก ให้เช็ดหรือขจัดฝุ่นผงนั้นออกเสมอ หมายความว่าให้บำบัดทุกขเวทนาต่างๆ ให้เบาบางเสมอ การบำบัดเวทนาให้ทำด้วยความรู้สึกตัวเสมอ เสมือนว่ากำลังปัดฝุ่นที่ติดอยู่หน้ากระจกออกแล้ว หน้ากระจกก็ใสสะอาดว่างๆ พระพุทธเจ้าใช้คำว่า ทุกขเวทนาทางกาย คือ มลทินของกาย ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ได้ชื่อว่าเป็นมลทินของจิต เพียงแต่เฝ้าดูไปเรื่อยๆ จะเคลื่อนไหวส่วนไหนของกาย ก็ต้องทำด้วยความรู้เท่าทันจิต และทำด้วยอุบายอันแยบคาย คือเฝ้าดูให้ชัดๆ ก่อนเปลี่ยนอิริยาบถนั้นๆ เสมอ

ดังนั้น การฝึกฝนก็มีความหมายเพียงการเฝ้าดู และพิจารณาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เมื่อมีอุปสรรคหรือนิวรณ์ตัวใดเกิดขึ้น ก็คอยบำบัดแก้ไขไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องตั้งความหวังว่าจะรู้อะไรไปมากกว่านี้ เพียงรู้ตัว รู้ใจไปเรื่อยๆ ก็พอ เมื่อถึงเวลา อะไรจะเกิดปรากฏให้รู้อีก ก็เฝ้าดูไปเฉยๆ ไม่ต้องเข้าไปแสดงร่วมกับอาการนั้นๆ รักษาอาการเฝ้าดูไว้อย่างเข้มแข็ง แล้วจะหายสงสัยเรื่องชีวิตจิตใจของตนเองไปเรื่อยๆ และเมื่อหายสงสัยในชีวิตของตัวเอง ก็หมดสงสัยในชีวิตของผู้อื่นด้วย เพราะชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย มีโครงสร้างขั้นพื้นฐาน คือธาตุสี่ขันธ์ห้า ไม่แตกต่างกัน เมื่อรู้หนึ่งก็คือรู้ทั้งหมด แต่รู้ให้ถูกต้องตามหลักของสัมมาทิฐิเท่านั้น ถ้าผิดไปจากหลักนี้ ก็ไม่รับรองว่า จะรู้หนึ่งคือทั้งหมด หรือรู้ทั้งหมดคือหนึ่งหรือไม่? นี่คือ เส้นทางที่จะนำไปสู่การสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นสงสัยนั้นเอง.