รายงานการปฏิบัติบูชา หลวงพ่อเทียนจิตตสุโภ
โดยการนำของหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ
๑๒-๑๓ กันยายน ๒๕๕๘
ปฏิบัติบูชา (๑)
ภาคเช้า วันเสาร์ ๑๒ ก.ย. ๕๘
แม้การลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต
จะเต็มไปนานแล้ว
แต่ก็มีผู้ปฏิบัติทั้งใหม่และเก่า
walk in มารวมกัน ในวันแรม ๑๕ ค่ำ
โดยไม่ได้นัดหมาย
เพิ่มอีกกว่า ๑๐๐ ท่าน
จากยอดเดิมเกือบ ๒๐๐ ท่าน
ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า
ในการค้นหาคำตอบที่แท้จริงของชีวิต
ธรรมะย่อมอยู่เหนือกาลเวลาและกฎเกณฑ์
ผู้ปฏิบัติทุกท่าน (เก่าและใหม่อย่างละครึ่ง)
ต่างได้เข้าร่วมปฏิบัติและฟังธรรม
จากพระมหากัลยาณมิตรของเรา
ชาวชมรมคนเพียร
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
หรือท่าน Deva Nanda
โดยถ้วนหน้ากัน
บรรยากาศจึงเต็มไปด้วย
ความอบอุ่นใกล้ชิด
เพราะเบาะที่นั่งค่อนข้างจะติดกัน
แต่ก็ยังมีที่ว่างรอบกายให้ไหวตัว
สร้างจังหวะมือ และปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ๔
อย่างสบายๆ
ปฏิบัติบูชา (๒)
แม้ผู้ปฏิบัติแต่ละท่าน
จะมาจากทิศทางที่ต่างกัน
แต่ก็มีศัตรูตัวเดียวกันคือกิเลส
คอร์สนี้ต่างจากทุกคอร์สที่ผ่านมา
ผู้ปฏิบัติมีท่าทีที่จริงจังตั้งใจ
กว่าทุกครั้ง
ปกติแล้วหลวงพ่อจะแสดงธรรม
ที่มีเนื้อหาไม่หนักเกินไป
เพื่อผู้ปฏิบัติใหม่จะได้ไม่งง
เมื่อผู้ให้เต็มใจที่จะให้
ในขณะที่ผู้รับตั้งใจที่จะรับ
เหตุปัจจัยที่ถึงพร้อม
การแสดงธรรมแบบจัดหนักจึงเกิดขึ้น
นับเป็นคอร์สที่ไม่ธรรมดา
เริ่มต้นด้วยรูปนาม นามรูป
ไตรลักษณ์ สติปัฏฐาน ๔
สมมติ ปรมัตถ์ ขั้นต้นและขั้นสูง
ภายในเวลา ๓ ชั่วโมง
ผู้ปฏิบัติต่างพากันตั้งใจฟังและปฏิบัติ
อย่างจดจ่อ
เหมือนคนเดินทางไกลกระหายน้ำ
ต่างพากันดื่มด่ำธรรมรสอันสดชื่น
ดวงตากลมโตใสเป็นประกายแวววาว
เหมือนการ์ตูนแคนดี้
นับเป็นการลงทุนเวลาที่คุ้มค่า
ในวันหยุดสุดสัปดาห์
ไม่มีใครหลับ ทุกคนตื่นตัว
องค์แห่งพละ ๕
อันเริ่มต้นด้วยศรัทธาและวิริยะ
จึงดำเนินไปอย่างสมบูรณ์
ในเช้าวันแรก
ปฏิบัติบูชา (๓)
“สตรี” แปลว่าผู้มีสติ
หลวงพ่อกล่าว
ก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะเดินแถวออกมา
รับอาหารกลางวันด้านนอก
เพื่อไม่ให้ความหมายในพจนานุกรม
ต้องผิดเพี้ยนจนเกินไป
ผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะสุภาพสตรี
ต่างสำรวมระวัง ในการหยิบตัก
ลุกนั่ง รับประทานอาหาร
อย่างมีสติ
ถึงแม้จะมีการพูดคุยกันบ้าง
ก็ไม่หลุดเลยถึงขั้นหัวร่องอหาย
เพราะบางท่านไม่ได้พบกันมานาน
ต่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ในสมรภูมิปฏิบัติที่ผ่านมา
หลังรับประทานอาหารกลางวัน
เป็นช่วงที่ผู้ปฏิบัติใหม่บางท่าน
ทบทวนดูว่า
จะอยู่ต่อหรือจะกลับบ้าน
เนื่องจากเป็นวิธีปฏิบัติ
ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน
เหนือความคาดหมาย
ผู้ปฏิบัติทั้งเก่าและใหม่
เมื่อเสร็จธุระส่วนตัว
ต่างรีบกลับมานั่งที่เดิม
โดยเฉพาะแถวหน้า
ยังรักษาตำแหน่งวีไอพีไว้ได้
อย่างเหนียวแน่น
ปฏิบัติบูชา (๔)
ภาคบ่าย วันเสาร์
ความง่วงเป็นเรื่องธรรมชาติ
คนง่วงไม่ใช่คนบาป
หลังอาหารกลางวัน
ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย
กรรม จิต อุตุ อาหาร
ความง่วงของทุกคนมาตรงเวลา
เหมือนนัดไว้
หลวงพ่อไม่ปล่อยให้ผู้ปฏิบัติ
ตกเป็นเป้านิ่งของความง่วง
ท่านเน้นให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
ขณะสร้างจังหวะ
ไม่ให้จมแช่อยู่ในอิริยาบถใดนานๆ
เพราะจะทำให้เกิดความเพลิน
อันเป็นบ่อเกิดของความเผลอ
และเป็นที่มาของความง่วง
ลูกศิษย์หลวงพ่อตัวจริง
หรือแฟนพันธุ์แท้
ต้องรู้จักวิธีการเปลี่ยนอิริยาบถ
ขณะสร้างจังหวะมือ
ทั้งหมดมี ๑๐ ท่า ได้แก่
ขัดสมาธิราบ ขัดสมาธิสองชั้น
ขัดสมาธิเพชร (เฉพาะบางท่าน)
พับเพียบซ้าย พับเพียบขวา
นั่งทับส้นแบบผู้หญิง
นั่งทับส้นแบบผู้ชาย
นั่งคุกเข่า นั่งเหยียดขา ยืน
ด้วยวิธีการเปลี่ยนอิริยาบถตามลำดับนี้
และรู้เท่าทันความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง
ในขณะเปลี่ยนอิริยาบถ
จะทำให้ตื่นตัวตลอดเวลา
และเห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย
นับเป็นเคล็ดลับ
ที่ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มองข้าม
และหลงเพลินในความสงบ
เช่น เดินจงกรมนานๆ
นั่งสร้างจังหวะในท่าเดิมนานๆ
อันเป็นที่มาของการติดสุข
ปฏิบัติบูชา (๕)
พระธรรมเทศนา จากสวนโมกข์ ๑๒ ก.ย. ๕๘
โดย หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (Deva Nanda)
ในตัวเรามีอาการหลักๆ อยู่ ๒ ประการ
คือ สบายและไม่สบาย
เพราะเรายังไม่ได้เจริญสติเป็นเรื่องเป็นราว
เราจึงยังไม่สามารถสกัดกั้น
ความสบาย หรือไม่สบายทางกาย
ไม่ให้เข้าไปสู่จิต
เพราะสติเรายังไม่พอ
เมื่อเรารู้สึกไม่สบายกาย ใจก็รู้สึกไม่สบายไปด้วย
เมื่อเรารู้สึกสบายกาย ใจก็รู้สึกสบายไปด้วย
การที่เรามาเจริญสติสัมปชัญญะ
ก็เพื่อที่จะสกัดกั้นความรู้สึกสบายไม่สบายทางกาย
ไม่ให้แปรรูปเป็นความพอใจและไม่พอใจ
เมื่อเราขยันตามดูกาย เรียกว่า อาตาปี
แต่เป็นคนละคำกับคำว่า ตบะ
ตบะ เป็นการขยันเพ่งแบบนักพรต ฤาษี
แต่ถ้าขยันตามดูว่าอาการเป็นอย่างไร
ท่านใช้คำว่า อาตาปี
ตามดูด้วยลักษณะ ๒ ประการ คือ
สัมปชาโน และ สติมา
ไม่ได้ตามดูด้วย สมาธิ ปัญญา ศีล
แต่ตามดูด้วยสติและสัมปชัญญะ
เมื่อนำสติและสัมปชัญญะมาบวกกัน
เรียกว่า รู้สึกตัว
“รู้สึก” คือ สติสัมปชัญญะ
“ตัว” คือ กาย รูปของเรา หรือ รูปกับนาม
“รู้สึกตัว” หมายถึง รู้สึกรูปกับนาม
ปฏิบัติบูชา (๖)
“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
ดังที่หลวงพ่อกล่าวว่า
“คนเมืองมีปัญญาแข็ง แต่อินทรีย์อ่อน
คนชนบทมีอินทรีย์แข็ง แต่อ่อนปัญญา”
จากการประเมินกำลังของผู้ปฏิบัติ
ซึ่งเป็นคนเมืองหลวงแทบทั้งหมด
หากปล่อยให้เป็นฝ่ายตั้งรับ
ย่อมพ่ายแพ้แก่เสนามารแน่นอน
ในช่วงบ่ายเช่นนี้
ไส้ศึกคือความเพลิน และความเผลอ
ก็ได้เริ่มแทรกซึมเข้ามาบ้างแล้ว
หลวงพ่อในฐานะแม่ทัพใหญ่
เห็นเช่นนั้น จึงได้เกณฑ์ไพร่พล
ออกเดินจงกรมนอกห้องปฏิบัติ
วนรอบอาคารชั้น ๓
สำแดงพลังแห่งความเพียรอันยิ่งใหญ่
ให้หมู่มารได้เห็น
ความง่วงจึงได้ถอยทัพกลับไป
การเจริญสติในบ่ายวันเสาร์ครั้งนี้
ผู้ปฏิบัติต่างได้รับชัยชนะเหนือความง่วง
หลวงพ่อเห็นความตั้งใจจริง
ของคนเมืองผู้มีปัญญาแก่กล้า
จึงได้สัญญาว่าท่านจะแสดงธรรม
เรื่องการเกิดดับในวันพรุ่งนี้
ก่อนที่จะทำวัตรเย็น
และแยกย้ายกันกลับบ้าน
ปฏิบัติบูชา (๗)
พระธรรมเทศนา จากสวนโมกข์ ๑๒ ก.ย. ๕๘
โดย หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (Deva Nanda)
ท่านให้ดูจากของมากเป็นของน้อย
จากของน้อยให้เป็นของจริง
จากมะพร้าว ให้เป็นน้ำกะทิ
จากน้ำกะทิให้เป็นน้ำมัน
จากน้ำมันก็มาจุดไฟได้
จากจุดไฟได้ทำให้ตามองเห็น
ลักษณะการดูกรรมฐาน
ที่เป็นวิปัสสนาก็เหมือนกัน
จากการดูอาการทั้ง ๖ ของกาย
ลมหายใจ, อิริยาบถ ๔, อิริยาบถย่อย,
ธาตุ ๔, อาการ ๓๒, ปฏิกูล
อาการทั้งหมดรวมกันนับเป็นร้อยอย่าง
เราไม่สามารถแยกตามหลักวิชาการได้หมด
ท่านจึงมาให้ดูอาการ ๒ อย่าง
คือ ดูกายกับใจ กำลังทำอะไรอยู่
ง่ายๆ มี ๒ อาการ คือ หยุดและเคลื่อน
การหยุดและการเคลื่อนของกาย
มีอาการทางกายออกมาคือ
สบายและไม่สบาย
การหยุดและการเคลื่อนของจิต
ก็ออกมาเป็น ๒ อาการเหมือนกัน
คือ พอใจและไม่พอใจ
ทำของมากให้เป็นของน้อย
ทำของน้อยให้เป็นของจริง
ขณะนี้ความสบายไม่สบาย
ปรากฏจริงมั้ยในตัวเรา
ความพอใจไม่พอใจ
ปรากฏจริงมั้ย
ทำให้เรากลับมาดูการเคลื่อนไหว
ของกายอย่างไม่ลังเล
และทำให้เราไปตามดูการเคลื่อนไหว
ของจิตอย่างไม่ลังเล
กรรมฐานทั้งหมด ไม่ว่าตระกูลไหนก็ตาม
ต้องมาในสูตรนี้
ปฏิบัติบูชา (๘)
พระธรรมเทศนา จากสวนโมกข์ ๑๒ ก.ย. ๕๘
โดย หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (Deva Nanda)
วิธีการหลวงพ่อเทียนนี้
จึงเป็นการปฏิบัติ
ทั้งสมถะและวิปัสสนาในเวลาเดียวกัน
เพราะที่จริงแล้วสมถะและวิปัสสนา
แยกกันไม่ได้
ถ้าตามดูกาย เป็นสมถะ
ถ้าตามดูจิตเป็นวิปัสสนา
ระหว่างกายกับใจ
สิ่งไหนเปลี่ยนแปลงบางครั้งบางคราว
สิ่งไหนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ถ้าใจเปลี่ยนตลอดเวลาก็เป็นโรคจิต
เพราะจิตไม่ได้พัก มันเหนื่อยเกินไป
กายเป็นรูป
ตามกฎของธรรมชาติ
กายต้องเปลี่ยนแปลง
ตามกฎของไตรลักษณ์ตลอดเวลา
ที่ไหนมีรูป ที่นั่นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตลอดเวลา
แต่ใจของเราเป็นได้ทั้งนามและนามรูป
ใจเป็นได้ ๒ ลักษณะ คือ
รูปนาม และ นามรูป
ถ้าหากเรามาดูรูปนาม
จิตของเราเหลือนามล้วนๆ
ถ้าเราไปดูความคิด
จิตของเราก็จะมีนามรูปปรากฏ
เมื่อใดมันคิดขึ้นมาก็มีรูป
ความคิดเป็นรูปละเอียด
เรียกว่า Mental picture หรือ Image
คือ จินตนาการขึ้นมาเป็นรูปในนาม
เรียกว่า นามรูป
ปฏิบัติบูชา (๙)
เมื่อมีรูปอยู่ในนาม
นามนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามรูป
เหมือนน้ำกาแฟกับน้ำเปล่า
เอามาตั้งด้วยกัน
น้ำขวดไหนจะเปลี่ยนแปลงไว
อันไหนจะเปลี่ยนแปลงช้า
หรืออันไหนไม่เปลี่ยนแปลงเลย
น้ำเปล่าขวดนี้ เราทิ้งไว้สัก ๑ ปี
มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่บูด ไม่เสีย
แต่ถ้าน้ำขวดนี้เป็นน้ำกาแฟ ตั้งไว้ ๑ ปี
มันจะบูด เสีย เพราะมันมีรูปกาแฟ รูปน้ำตาลอยู่
น้ำล้วนๆ เปรียบเสมือนนาม
ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ใจของเราก็เหมือนกัน มันจะมี ๓ ลักษณะ
ลักษณะที่ปลอมปน เรียกว่า นามรูป
ลักษณะที่ไม่ปลอมปนเรียกว่า นามล้วนๆ
ขวด เรียกว่า รูปนาม
จิตของเรามี ๓ ลักษณะ
๑. เป็นขวดเปล่า เรียกว่ารูปนาม
๒. เป็นน้ำขวดใสๆ เรียกว่า นาม
๓. เป็นขวดน้ำกาแฟ เรียกว่า นามรูป
วันหนึ่งๆ ใจของเราเป็นลักษณะไหน
เราอยู่กับรูปนาม หรืออยู่กับนามรูป
หรืออยู่กับนามล้วน
เราอยู่กับความรู้สึกตัว
หรืออยู่กับความคิด
หรืออยู่กับความรู้ล้วนๆ
ส่วนใหญ่เราอยู่กับความคิดมากกว่า
แสดงว่าความคิดของเราเป็นรูปอยู่
ความคิดเป็นรูป
ถ้ายังมีความคิดอยู่
เราควรจะต้องเจริญสมถะมาช่วย
เราจะได้แก้รูปให้ออกจากใจให้ได้
ปฏิบัติบูชา (๑๐)
เราจะเอาอะไรไปแยกระหว่าง
น้ำล้วนๆ กับน้ำนมออกจากกัน
ในน้ำนมมีน้ำใสและส่วนที่เป็นแป้ง
รูปกับนามมารวมกัน
เหมือนน้ำกะทิหรือน้ำนม
ที่เรียกว่า นามรูป
เราจะเอาอะไรมาแยกออก
บางคนไม่มีเครื่องมือ
สะกดให้หยุดไว้ก่อนแล้วกัน
ลักษณะที่เรายังไม่ได้เจริญวิปัสสนา
เราจำเป็นจะต้องสะกดจิตตัวเอง
ให้หยุดคิด
บังคับจิตให้อยู่กับปัจจุบันให้นานที่สุด
นานเข้า ถ้าสติสัมปชัญญะเจริญไม่ทัน
ลักษณะของการหยุดคิด
กลายเป็นภาวะที่เก็บกด
เมื่อเก็บกดมากเข้า
ก็กลายเป็นความเครียด เกร็ง
ก็มีปัญหาต่อร่างกาย
ระบบประสาท สมอง
เมื่อเป็นวิปัสสนา
เราก็ต้องหาวิธีว่า
จะแยกรูปออกจากนามอย่างไร
ความรู้สึกตัวเป็นได้ทั้งนามและรูป
เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา
แต่ความรู้ล้วนๆ ท่านใช้คำว่า ตัวรู้
2 thoughts on “รายงานปฏิบัติบูชา หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ๑๒-๑๓ ก.ย. ๕๘ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ”
Comments are closed.