น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ

น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ

ถาม:

ผมพยายามรู้สึกตัวแล้ว แต่บางครั้งเรื่องราวที่เราไม่พอใจ มักเข้ามาเกาะกุมจิต ทำให้จิตใจไม่สดชื่นไม่สบาย บางครั้งเหมือนจู่ๆ เรื่องราวนั้นหลุดไป จิตใจก็กลับมาเบาสบายอีก สลับไปมา จนรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับสภาวะแบบนี้ รบกวนขอคำแนะนำเพื่อที่จะรู้สึกตัวได้อย่างต่อเนื่องและเบาสบายน่ะครับ

ตอบ:

จำคำโบราณได้ไหมว่า “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ” เมื่อความรู้เนื้อรู้ตัวยังเบาบางไม่ชัดเจนอย่างสม่ำเสมอ ก็ยากที่จะจัดการกับความคิดที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องและฉับไวมากๆ ได้ ดังนั้นทางออกก็คือ ต้องพยายามหาวิธีวางแบบแปลน หาวิธีรู้เนื้อรู้ให้ชัดเจนต่อเนื่องอย่างรัดกุม มีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่าต้องทำได้ๆ และทำอย่างสนุกสนาน อาจหาญ ร่าเริง มิใช่ทำๆ หยุดๆ ลังเลสงสัย ไร้ศรัทธา ร้อยทั้งร้อยก็เสร็จมันเท่านั้นแหละคุณเอ้ย ไม่มีทางอื่นเลยนะ ที่จะแก้มันเกมส์มันได้ นอกจากวิธีนี้เท่านั้น ไม่เชื่อคุณลองทำจริงๆ ดูสิ ชนะทุกข์ได้อย่างสบายๆ เลยนะ

 

 

จะล้างจานอย่างไรดี?

ประเด็นถาม:

หลวงพ่อครับผมเริ่มอ่านหนังสือวิปัสสนาพามือขึ้นไหวดีมากครับ แต่มีคำถามครับ รู้ว่ากับรู้สึกคนละเรื่องกันอย่างไรครับ เช่นเวลาล้างชามให้รู้ว่าล้างชาม เวลากระพริบตาให้รู้ว่ากระพริบตาอันนี้ไม่ใช่ ต้องรู้สึกลงไปด้วยขณะกระทบสัมผัสนี่ ผมไม่ค่อยเข้าใจครับ ว่าให้รู้สึกกระทบสัมผัสมันต่างกับรู้ สึกตัวว่าเรากำลังล้างชาม ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยอธิบายให้ละเอียดซักหน่อยครับ ว่าให้รู้สึกในการล้างชามอย่างไรครับ เวลาล้างชามผมจะรู้ตัวว่าผมกำลังล้างชาม สัมผัสชาม ถู ใช้น้ำล้างทำความสะอาดอยู่ ยังไม่ถูกใช่ไหมครับ

 

ตอบประเด็น จับความรู้สึก:

ลืมตอบไปนาน เพราะคุณกวีไม่ค่อยเข้ามาบ่อยนัก เลยไปเข้าตอบให้คนที่ถามบ่อยๆ จนจำได้ แต่คุณกวีตั้งใจปฏิบัติดีมาก เลยไม่ค่อยถาม แต่ประเด็นที่ถามเป็นประโยชน์สำหรับคนใหม่มากๆ

  1. การเคลื่อนไหวในชีวิตเรา มันมีถึงหกระดับ คือรูปเคลื่อนไหวผ่านตา เสียงผ่านหู กลิ่นผ่านจมูก รสผ่านลิ้น สัมผัสผ่านกาย อารมณ์ผ่านใจ ย่อๆ แล้ว เหลือสอง ถ้ากระทบผ่านกาย เรียกความรู้สึกนั้นว่า “เวทนา” ถ้ากระทบผ่านจิต เรียกความรู้สึกนั้นว่า “อารมณ์”
    แต่ผู้รู้การกระทบทั้งสองระดับนั้นเรียกว่า จิตวิญญาณ แต่ตัวรู้ที่ตอบสนองเมื่อมีการกระทบทั้งทางกายและทางจิต มีสองแบบคือ แบบสัญชาตญาณ และแบบปัญญาญาณ

*คนที่ยังไม่รู้เรื่องวิปัสสนาปัญญา คือคนทั่วไปที่มีอวิชชาอยู่ จะตอบสนองสิ่งที่มากระทบ ด้วยความรู้ที่เป็นสัญชาตญาณ
*คนที่ฝึกวิปัสสนาจนได้ปัญญา มีวิชชาแล้ว จะตอบสนองการกระทบด้วยสติ หรือวิปัสสนาญาณ
แต่ความรู้สึกตัว เกิดจากความรู้สึกที่เกิดจากสติที่ไปรับรู้การกระทบทั้งกายและจิตไปพร้อมๆ กัน เราจึงเรียกรวมๆ ว่ารู้สึกตัว เมื่อเราล้างชาม หรือกำลังทำสิ่งใดอยู่ก็ตาม จิตไปรับรู้สิ่งที่กำลังถืออยู่ด้วย และจิตที่รับรู้มือกำลังทำด้วย และรับรู้กายทั้งหมดที่กำลังเคลื่อนไหวด้วย เราเรียกว่า สัมปชัญญะ คือรู้ตัวทั่วพร้อม และตัวที่เข้าไปดูแลการกระทำทั้งหมด ให้ถูกต้องดีงาม ไม่มีปัญหาทั้งภายนอกและภายใน คือขณะทำ ไม่มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ งานที่ออกมา ก็เรียบร้อยดีงาม ได้ผล สภาวะรู้ร่วมทั้งหมดนี้เรียกว่า ” วิปัสสนาญาณ”

  1. ตอบแล้วในข้อที่ 1 เพิ่มความเข้าใจให้ชัด ก็คือ การทำงานทุกอย่างด้วยความรู้สึกสบายๆ ผ่อนคลาย แม้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าจะทำให้ทุกข์ ให้เครียดได้ง่ายๆ เช่น ถูกบังคับให้ทำงานหนักกลางแดดร้อน ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น หรือฝนตก เป็นต้น ก็ยังสามารถประคองกายและจิตให้ปกติได้สบายๆ

ดังนั้น การฝึกฝนเจริญภาวนา ต้องทำให้ได้ในทุกๆ สถานการณ์ ถ้าจำเป็นต้องทำ ก็ทำได้ ถ้ามีเงื่อนไขที่ดีกว่า เราก็รู้จักเลือกเงื่อนไขที่เหมาะสมกับธาตุขันธ์ของเราไว้ก่อน ไม่ใช่ทำอะไรแบบเถรตรง ต้องรู้จักปรับใช้ด้วยสติป้ญญา หวังว่า คุณคงเข้าใจได้ไม่มากก็น้อย

 

 

ถ้าไม่คิดพิจารณา จะเกิดปัญญาได้อย่างไร?

ประเด็นถาม:

แล้วเราควรพิจารณาตอนไหนคะ ได้ยินได้ฟังมาให้พิจารณาๆ ให้เกิดปัญญาเพื่อทำลายกิเลส ถ้าเราทำตามข้อ 2 ก็ไม่ได้พิจารณาเลย มีแต่เห็นมันออกไปคิดเป็นไม่พอใจบ้าง พอใจบ้าง แล้วกลับอยู่ที่ความรู้สึกตัวที่กาย สิ่งเหล่านั้นก็หายไป ความคิดอันอื่นก็มาอีก แล้วจะเกิดปัญญาอย่างไรคะ

 

ประเด็นตอบ:

อ้อ! คนที่ถึงวิปัสสนาแล้ว ได้เคยพิจารณาแบบนั้นจนชำนาญแล้ว มันจบแล้ว เหมือนเรามาเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว จะย้อนไปเรียนประถมอีกทำไมให้เสียเวลา เวันแต่พวกเรียนประถมมาไม่สมบูรณ์ จะกลับไปซ่อมอีก คงไม่จำเป็นแล้วมังคุณ

ตามปกติ เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราใช้สมถะแก้ทั้งนั้นนะ คนเป็นวิปัสสนาแล้ว จะไม่มีอะไรเป็นปัญหาอีกเลย ถ้ามีปัญหาอยู่ แสดงว่ายังไม่จบอารมณ์วิปัสสนา ก็ย้อนกลับไปใช้สมถะเข้ามาช่วยแก้อยู่ดี

โยมเรียนประถมบ้าง. มัธยมบ้าง. มหาลัยบ้าง. เรียบเรียงไม่ถูกค่ะ. แต่บัดนี้เริ่มเห็นเส้นทางชัดเพราะความรู้สึกตัวที่กายชัด. ขอนอบน้อมกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ช่วยชี้แจงค่ะ

 

เฝ้าดูการเกิดดับทางกายให้ได้ก่อน

เพราะการเกิดดับทางจิตมีความถี่เป็น infinity

ประเด็นข้อสังเกต:

หนูอ่านแล้วเข้าใจว่าทุกอย่างเกิดที่จิตค่ะ ถ้าเห็นการเกิดที่จิต ก็จะเห็นการดับที่จิต แล้วจิตนั้นจะว่างใช่ใหมคะ?

ตอบประเด็นสังเกต:

ใช่ เหมือนการกระพริบตา ( หลับตา ลืมตา) แทบไม่ต่างกันเลยหนู ท่านจึงบอกว่า การเกิด และดับของจิต เกิดขึ้นชั่วพริบตาเท่านั้น การเกิดดับของจิต จึงมีความถี่ที่สูงสุดจนเป็นทศนิยมไม่รู้จบ หรือ infinity ดังนั้น ในภาคปฏิบัติ ท่านจึงแนะให้ดูการเคลื่อนไหวของกาย และ เฝ้าดูอาการเกิดดับทางกายเป็นหลัก ส่วนการรู้เห็นการเกิดดับนั้นเป็นผล เราไม่อาจจะทำตรงนั้นได้เพราะมันเป็นกฏตายตัวของธรรมชาติฝ่ายดับ เมื่อเราตามดูฝ่ายเกิดได้ถูกต้อง ฝ่ายดับไม่จำเป็นต้องดูก็ได้ เช่น เราหายใจเข้า ไม่จำเป็นต้องบอกให้หายใจออกก็ได้ หลับตาแล้ว ไม่ต้องบอกให้ลืมก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละหนู

 

พระพุทธยานันทภิกขุ