น้ำตาแห่งปีติ

ลาก่อน ภวาสวะ

ปุจฉา;
กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ
ช่วงนี้ภาวนาพออาการหนัก เบา
ตามร่างกายชัด
จิตมันพิจารณาเห็นถึงกายไม่มี
มีแต่การรู้ว่ามันเคลื่ิอน มันหยุด
 
มันเหมือนมันกลัวว่าจะสูญเสียกายไป
เสียความเป็นเราไป
เป็นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเจ้าค่ะ
 
เป็นจนกระทั่งบอกได้เลยว่า
จะมาแนวเดิม ถึงตัวที่ร้องไห้เจ้าค่ะ
 
วันนี้ขี่จักรยานกลับบ้าน
มันรู้สึกถึงความหนัก
ปวด เมื่อย เป็นแห่งๆ
แต่เหมือนไม่มีร่างกายเจ้าค่ะ
 
เห็นแต่ก้อนความหนักๆ หน่วงๆ เมื่อยๆ
เหมือนสัญญาที่มันจำไว้ว่า
ร่างกายเรามันไม่มี
มันจึงไม่ไปรวมกับเวทนาทางกายเจ้าค่ะ
ความปรุงแต่งจึงไม่เกิด
ทุกข์เลยเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะมีแต่ความรู้สึกล้วนๆ
 
ขอความเมตตาช่วยแนะนำ
สั่งสอนลูกด้วย เจ้าค่ะ
วิสัชชนา;
เคยบอกมาก่อนแล้วว่า
การร้องให้เกิดจาก
การได้อารมณ์ปีติระดับหนึ่ง
 
มันจะเป็นสำหรับ
คนที่เคยทำสมถะมานาน
เรียกว่า ภวาสวะ
 
ถึงเวลามันเกิด ก็ปล่อยให้มันเกิด
เรามีหน้าที่ตามรู้เฉยๆ
ไม่ต้องแช่กับมัน
 
ไม่ยินดีหรือปฏิเสธ
และไม่ให้คุณค่าความหมายกับมัน
 
เมื่อภวาสวะหมดไป
อารมณ์ก็หมดไปด้วยในวันใดวันหนึ่ง
อย่าวิตกกับมันเกินไป

พระพุทธยานันทภิกขุ

………………………………………

ข้อมูลอ้างอิงจากโพสต์เดิม

ไม่ได้เสียใจ แต่ทำไมต้องร้องไห้

ประเด็นรายงานอารมณ์ของคุณอุ้ม;

โยมนั่งยกมือสร้างจังหวะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวชัด เหมือนมีแต่การเคลื่ิอนและหยุด เหมือนจิตมันที้งกาย ไม่อยู่ในความรู้สึกว่านี่คือแขน มีความรู้สึกแต่การเคลื่อน การหนักบางจุด แล้วมันมีอาการร้องให้มาอย่างมาก ทั้งๆ ที่โยมก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรที่ทำให้เสียใจ เหมือนไม่ใช่เราร้อง เห็นมันร้องออกมามากมาย แล้วพูดว่าทุกข์ ดูมันทุกข์มาก มากมายมานาน แต่โยมก็ไม่เข้าใจ แค่ยกแต่มือไปเรื่อยๆ ไม่เข้าใจว่ามันทุกข์อะไรถึงร้องขนาดนี้ โยมติดอารมณ์อยู่หรือเปล่าคะ ควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้ผ่านจุดนี้คะ

ตอบประเด็นการสอบอารมณ์ของคุณอุ้ม;

ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากๆ เลยนะอุ้ม อารมณ์ภาวนาของอุ้มได้ก้าวหน้าสู่ “นิพพิทาญาณ” คือเป็นความรู้สึก เบื่อหน่ายสุดขีด และเกิด “ธรรมสังเวช”และลึกมาก การร้องไห้อย่างรุนแรง เป็นอาการของสังเวชธรรม และธรรมปีติ อีกรูปแบบหนึ่ง ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก็เฝ้าดูทุกอย่างที่ กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปให้ชัดเจนเรื่อยๆ

ปีติแบบสมถะ ต่างกับ ปีติแบบวิปัสสนา

เมื่อวิริยะสัมโพชฌงค์
สมบูรณ์แล้ว
ตัวนิวรณ์ก็หมดไป
เพราะกำลังของสติมากขึ้น
ก็จะรู้สึกเบา

บางคนมีปีติมากน้ำหูน้ำตาไห
ร้องไห้หัวเราะ
แต่บางคนก็ปกติ

ปีติที่แรงผิดปกติ
เป็นปีติของสมถะ
ซึ่งเป็นปีติขององค์ฌาณ

เพราะอารมณ์สมถะมันค้างอยู่เยอะ
แต่ถ้าเป็นปีติของวิปัสสนา
มันจะเบา โปร่ง สบาย เฉยๆ
เหมือนนั่งลมพัดเย็นๆ
ไม่โครมครามเหมือนฝนตกฟ้าร้อง

เมื่อปีติสัมโพชฌงค์
หรือปีติของวิปัสสนา สงบลง
ก็เกิดปัสสัทธิ

ต่อมาจิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธ
อะไรมากระทบก็เฉย

แต่ถ้าเวลาผ่านไป
อารมณ์ปีติ ปัสสัทธิหมด
ก็เกิดความโกรธได้เหมือนเดิ

แต่ถ้าขยันปฏิบัติต่อเนื่อง
ก็จะยังรักษาไว้ได้
เมื่อสติหลุดก็รู้เท่าทันได้เร็ว

ตามตำราว่าสัมโพชฌงค์
ต้องเห็น ๔ รอบถึงจะหมด

สัมโพชฌงค์ของพระโสดาบัน
สัมโพชฌงค์ของพระสกิทาคามี
สัมโพชฌงค์ของพระอนาคามี
สัมโพชฌงค์ของพระอรหันต์

แต่สำหรับอาตมา
ถ้าทำไปแล้วสนุก
เหมือนอาหารอร่อย
อยากจะกินอยู่เรื่อยๆ
ถือว่าสำเร็จแล้ว
เพราะมันเห็นทาง

แต่ถ้าทำแล้วขี้เกียจ
ไม่อยากทำ…อีกนาน

พระพุทธยานันทภิกขุ