นิทานเรื่อง อาจารย์โง่ไปเรียนเซน

อาจารย์โง่ไปเรียนเซ็น ตอน 1

“อายุเข้าปูนนี้แล้ว เจ้ายังทำตัวเป็นเด็กอยู่นะ เมื่อไหร่ เจ้าจะเติบโตมากกว่านี้”
อาจารย์เซ็นแห่ง สำนักยอดเขาปู่เป้ง เอ่ยปากเตือนสติ ศิษย์รักคนหนึ่ง
“ท่านอาจารย์ต่างหาก ที่ยังเห็นผมเป็นเด็กอยู่ ถ้าท่านอาจารย์เติบโตมากกว่านี้ ก็คงไม่เห็นผมเป็นเด็กอีกต่อไป……!
ว่าแล้วศิษย์วัดก็เดินจากไป ปล่อยให้อาจารย็เซ็น ยืนซึมอยู่กับที่ พร้อมกับอุทานกับตัวเองเบาๆว่า ” เออ…. ท่าจะจริงของมันวะ..!กูต่างหากที่ยังไม่เติบโต…….! ถ้ากูเติบโตจริง กูคงไม่เตือนมันแบบนั้น?
คิดได้เช่นนั้น ท่านก็ตัดสินใจเข้าเก็บตัวเองอย่างเงียบๆ ในห้องกรรมฐาน เพื่อเฝ้าดูจิตของตนเองเป็นเวลา 1 เดือน
ปล่อยให้ศิษย์วัดคนนั้น ทำหน้าที่แทนตนเองทุกอย่าง
พอครบหนึ่งเดือน ท่านก็ออกจากห้องกรรมฐาน หลังจากเฝ้าพิจารณาจิตของตนเองอย่างจริงจัง ตั้งใจ ต่อเนื่องและถูกต้อง
” อ้อ… ท่านอาจารย์ออกมาแล้วหรือ?” ศิษย์คนเดิมเอ่ยปากทัก พร้อมกับยกมือพนมอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน
” ใช่! ข้าออกมาแล้ว ขอบใจเจ้ามากๆ ที่ให้สติข้า ทำให้ข้ารู้จักตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ต่อไป เจ้าไม่ใช่ศิษย์คนเดิมอีกต่อไป ที่จริงแล้ว โดยสภาวะปรมัตถธรรม เราต่างก็เป็นอาจารย์ของกันและกันได้เสมอ แต่โดยสมมติ เราทำหน้าต่างกันเท่านั้นเอง
” ศิษย์ขออนุโมทนาสาธุในความเติบโตของท่านอาจารย์ในครั้งนี้ ส่วนเกล้ากระผม จะไม่ประมาท จะทำหน้ารับใช้ท่านอาจารย์ตามโลกสมมติต่อไป……”
ศิษย์คนนั้นั่งลงกับพื้นพร้อมกับกราบท่านสามครั้ง แล้วขอตัวไปทำหน้าที่ต่อไป
……………………………………

อาจารย์โง่ไปเรียนเซ็น ตอน 2

“ผมอยากทราบว่า รูปนามที่แท้จริง เป็นอย่างไรขอรับ?”
พระหนุ่ม ผู้กำลังแสวงหาทางแห่งโพธิปัญญา เข้าไปถามข้อสงสัยกับอาจารย์เซ็น
ก่อนจะตอบ ท่านอาจารย์เซ็น หยิบขวดน้ำอยู่ใกล้ๆ ยกขวดขึ้นแล้วเปิดฝาขวดออกแล้วถามว่า
“ถ้าฉันโยนขวดน้ำขวดนี้ทิ้ง อะไรจะเกิดขึ้น?”
“อ้อ! น้ำก็ไหลออกไปหมดสิครับ” พระหนุ่มตอบ
เสร็จแล้วก็เอาฝามาปิดไว้เหมือนเดิม แล้วถามต่อว่า
“ตอนนี้ ฉันปิดฝาขวดแล้ว โยนไปใหม่ อะไรจะเกิดขึ้นม?”
“น้ำในขวดยังอยู่เหมือนเดิมขอรับ” พระหนุ่มตอบแบบไม่ต้องคิด
“เพราะอะไร น้ำจึงไม่ไหลออก?” ท่านถามกลับอีกครั้ง
“เพราะ ปิดฝาแล้วขอรับ” พระหนุ่มตอบแบบมั่นใจ
“งั้น คุณไปหาฝาขวดในใจของคุณให้พบ แล้วคุณจะรู้ว่า รูปนามที่แท้จริงคืออะไร!….”
พอตอบแค่นั้นแล้ว ท่านก็หันหลังไปเดินจงกรมต่อ ปล่อยให้พระหนุ่ม นั่งงง จังงังตั้งนาน พอสึกรู้ตัวอีกครั้ง ท่านอาจารย์เซ็นก็เดินไปแล้ว
เวลา 10 ปีผ่านไป…….พระหนุ่มกลับมาหาท่านอาจารย์เซ็นอีกครั้ง พร้อมกับคำตอบที่เคยถามอาจารย์
ทันทีที่ท่านเห็นหน้าพระหนุ่ม
ท่านอาจารย์เซ็น ก็ถามทันทีว่า ” เธอหาฝาขวดเจอแล้วยัง?”
“หาฝาขวดพบแล้วขอรับ” พระหนุ่มตอบอย่างมั่นใจ
“ไหน ลองว่าให้ฟังหน่อยสิว่า ฝาขวดที่แท้จริงเป็นอย่างไร?” ท่านถามต่อ
“ได้ขอรับ ที่แท้ขวดเสมือนกายนี้มันคือรูป น้ำเปรียบเสมือนนาม ที่มีอยู่พร้อมแล้วในรูปนี้ ฝาขวดเปรียบเสมือนสติสัมปชัญญะ หรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เราต้องมีไว้ประจำตัวตลอดเวลา จึงจะสามารถเปิดเอาโพธิปัญญามาใช้ได้ตามต้องการ เสมือนน้ำในขวด เราสามารถเปิดมาใช้ประโยชน์ได้ตามต้องการ
แต่เมื่อเราเปิดขวดใช้น้ำแล้ว ถ้าลืมปิดฝาขวด เกิดมีสิ่งใดมากระทบขวดล้ม น้ำก็จะไหลหายไปหมดขวดทันที
ดังนั้น เมื่อเปิดขวดใช้น้ำแล้ว ต้องปิดทันที และรู้จักวิธีเติมน้ำให้เต็มขวดไว้เสมอๆ อุปมานี้ฉันใด ทุกครั้งที่เราใช้ความคิดที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ความคิดนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นโพธิปัญญาทุกครั้งไป
แต่ถ้าเมื่อใด เราใช้ความคิดที่ขาดสติสัมปชัญญะ ก็เสมือนเราลืมปิดฝาขวด ความคิดก็จะเปลี่ยนเป็นกิเลส ตัณหาไปทันที เหมือนขวดที่ถูกชนล้ม น้ำก็จะไหลไปปนเปื้อนกับสิ่งสกปรกต่างๆได้ทันที
ดังนั้น เราจะต้องเจริญสติสัมปชัญญะ อยู่เสมอๆ เป็นกิจวัตรประจำวัน โพธิปัญญาจะเกิดเองเป็นเอง โดยไม่ต้องไปเล่าเรียนอะไรให้ลำบาก ความทุกข์ก็หมด เพราะหมดเหตุของทุกข์ คือขวดไม่ล้ม น้ำก็สะอาดเหมือนเดิม คือจิตไม่ล้มไปกับความคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่จรมากระทบกระแทกตลอดเวลาทั้งหกทิศหกทาง
เหมือนน้ำสะอาดในขวดที่ปิดสนิทแล้ว แม้จะถูกกระทบล้มไปกี่ครั้ง คลุกคลีกับสิ่งสกปรกสักกี่หนก็ตาม น้ำก็ยังใสอยู่เหมือนเดิม
กิจที่สำคัญที่สุดของเรา จึงต้องหมั่นเจริญมรรคคือสติสัมปชัญญะอยู่เสมอๆ เท่านั้นเอง แล้วทุกสิ่งที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ ก็จะเกิดโพธิปัญญาขึ้นมาเอง
…………………………………..

อาจารย์โง่ไปเรียนเซ็น ตอน 3 “วิธีสร้างวาสนาบารมีที่ถูกต้อง”

” ท่านอาจรย์ครับ ผมปฏิบัติเจริญสติแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ยังไม่รู้ไม่เห็น อะไรเลย ผมคงไม่เคยสร้างวาสนาบารมีมาทางนี้ ผมจะขอลาหลวงพ่อ กลับไปอยู่บ้าน เพื่อสร้างสมบุญวาสนาบารมีให้มากแล้ว ค่อยกลับมาใหม่ ”
ลูกศิษย์แก่ๆ เข้าไปหาอาจารย์ บอกถึงความประสงค์อยากกลับไปอยู่กับครอบครัว เพราะรู้สึกท้อถอย เบื่อหน่ายในการปฏิบัติ เพราะทำมาเป็นปีๆแล้ว จิตใจยังไม่ดีขึ้น พอท่านรายงานเสร็จ อาจารย์เลยถามว่า
” บุญบารมี ที่จะออกไปสร้างใหม่ มันแปลว่าอะไร?”
” ผมจะออกไปให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้มากขึ้นกว่าเดิมขอรับ”
ศิษย์ยกมือไหว้แล้วตอบ
“อ้อ ท่านเข้าใจผิดแล้ว วาสนาบารมี ที่ถูกต้องมันแปลว่า ความขยันทำ อดทนทำ ในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ที่ท่านทำมา มันเป็นการขยันทำแบบไม่ถูกต้อง คือทำด้วยความอยากรู้อยากเห็น นี่เขาเรียกว่า ขยันอดทนด้วยความอยาก ยิ่งขยัน ก็ยิ่งทุกข์ เหมือนชาวบ้านทั่วไป ขยันทำงานทั้งวันทั้งคืน ทั้งปีทั้งชาติ ก็ยังลำบากยากจนอยู่ แถมเป็นหนี้เป็นสินอีกมากมาย นั่นเขาเรียกว่า สร้างตัณหาบารมี มิใช่สร้างวาสนาบารมี!”
“ถ้าอย่างนั้น จะให้ผมสร้างวาสนาบารมีอย่างไร ถึงจะถูกต้องขอรับ?” ลูกศิษย์ขอความเห็น
“ตอ่ไปนี้ ให้ทำใหม่นะ เจริญสติ แต่ทำแบบไม่อยาก ทำไปให้ขยันรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย แม้พักจากการทำเพียรในรูปแบบแล้ว ก็ขยันรู้นอกรูปแบบอีกต่อไป เช่น คุณเดินจงกรมหรือทำการ เคลื่อนไหวมือตามรูปแบบ ก็รู้ไปซื่อๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องไปอยากรู้อยากเห็นอะไรทั้งสิ้น ทำสักแต่ว่าทำ อะไรเกิดขึ้นในกายในใจ ให้รู้ชัดๆเท่านั่นเอง แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องไปทำกิจธุระส่วนตัวอย่างอื่นๆ ก็ตามรู้ตัวเองไปเรื่อยๆ อย่าทิ้งผู้รู้ แต่อย่าเอาตัวรู้ อย่ายึดตัวรู้ อย่ายึดตัวคิด แต่ให้เป็นเพียงผู้สังเกตการกระทำสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตนเองในแต่ละขณะๆไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่อาจห้ามการแสดงออกทางกาย วาจา ใจได้เด็ดขาด แต่เราสามารถปรับปรุงใหม่ให้มันถูกต้องได้เสมอๆ เพียงแต่เราเพียรสร้างผู้รู้ผู้สังเกตที่ถูกต้องเท่านั้นเอง
นี่คือการสร้างวาสนาบารมีแบบวิถีพุทธ แต่ความขยันหมั่นเพียร ที่ท่านทำมา มันเป็นความแบบวิถีผี วิถีพราหมณ์ ทำไปร้อยวันพันปี ท่านก็รู้ธรรมไม่ได้”
ศิษย์คนนั้นเปลี่ยนใจ กลับมาทำตามที่อาจารย์เซ็นแน่นำใหม่ สงสัยตอนไหน ก็เข้าไปถามตอนนั้น ท่านสร้างวาสนาบารมีแบบนี้ได้ 14 วัน ท่านก็ได้บรรลุธรรมตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และปฏิบัติอยู่ต่อมาจนได้ทำหน้าที่ของอาจารย์เซ็นในเวลาต่อมา

 

พระพุทธยานันทภิกขุ
f: หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (goo.gl/QDxgyj)