นามรูป : ต้นทางแห่งภพชาติและความทุกข์
รูปนามคือภาชนะของกายใจ
รูปนามเปรียบเสมือนภาชนะของเรา คือภาชนะใจ ภาชนะกาย มันมักจะแปดเปื้อนด้วยทุกขเวทนาต่างๆ อยู่เสมอ เวทนาต่างๆ เข้ามากระทบทั้งกายและจิต ก็เป็นเหมือนมลทิน ฝุ่นผง ที่พัดเข้ามาจับต้องอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องคอยปรับเปลี่ยนบำบัด ขัดเกลาชำระล้างเอามลทินทุกข์นั้นๆ ออกไปอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเจ็บ ปวด เมื่อย เคล็ด คันฯลฯ จะรู้สึกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง หรืออ่อนแอของอินทรีย์แต่ละคนไป คนที่เข้มแข็ง ทุกขเวทนาก็เกิดช้าหน่อย คนที่อินทรีย์อ่อนแอ ก็เกิดไวหน่อย เพราะมันเป็นสังขารโดยกำเนิด ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ทั้งหมดไม่มียกเว้น
ทุกขเวทนากับสุขเวทนา จึงเป็นมลทินที่ไหลลื่นเข้ามาสู่กายใจไม่รู้จักหยุดหย่อน เวลาอยู่ในอิริยาบถใดนานๆ ทุกขเวทนาต้องเกิด เป็นมลทินฝ่ายลบ เราก็ต้องหาทางบำบัดขัดเกลามันออกไป และเมื่อได้สุขเวทนากลับเข้ามา ก็เป็นมลทินฝ่ายบวกยึดเราต่อไปอีก เวทนามันมีตลอดเวลา มลทินเหล่านี้เรียกตามปริยัติเรียกว่า อภิชฌาและโทมนัส คือความพอใจ และความไม่พอใจนั้นเอง เราสามารถรู้เท่าทันมลทินทางกายเวทนาเหล่านี้ และรู้จักวิธีบำบัดขัดเกลาเอามลทินทางจิตออกได้ ด้วยกำลังวิปัสสนาญาณ
อทุกขมสุขเวทนา ยังไม่ใช่อุเบกขา
อารมณ์หลักๆ ของรูปนาม เมื่อทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมชัดเจนดีแล้ว เราก็จะเห็นเวทนาทั้งลบและบวกได้โดยง่าย เราสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันได้ถูกต้อง และแปรสภาพของเวทนาให้เป็นประโยชน์ทางวิปัสสนาได้ ความรู้สึกเฉยๆ มาจากเวทนาก็มี มาจากอุเบกขาก็มี ที่มาจากเวทนาเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกที่ยังไม่แน่ว่า เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เช่นเราพึ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ ยังไม่แน่ว่าความรู้สึกทางกายขณะนั้น มันเป็นสุขหรือทุกข์ พอนั่งไปได้สัก 10 นาที 20 นาที ความรู้สึกเริ่มหนักหน่วงและเข้มข้นมากขึ้น จนเรารู้สึกว่าทุกขเวทนาเกิดแล้ว แต่สุขเวทนามันปรากฏตัวนิดเดียว พอหลุดจากนั้นไปไม่กี่นาที ทุกขเวทนามันก็เริ่มหนักหน่วงขึ้นอีก
อทุกขมสุขเวทนา มันเสมือนเป็นภาวะเฉยๆ เช่นกัน แต่มิใช่อุเบกขา แต่ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา คือภาวะจิตที่รู้เท่าทันความจริงของเวทนา และไม่ถูกเวทนาทุกอย่างครอบงำ แต่สามารถจัดการกับเวทนาได้ตามต้องการ ไม่ถูกเวทนาเบียดเบียน เป็นภาวะที่รู้เท่าทันจิตอันเกิดจากองค์ธรรมแล้ววางเฉยเวทนานั้นๆได้ หรือรู้มันซื่อๆ เฉยๆ ได้ ซึ่งมันคนละเรื่องกับอทุขมสุขเวทนาทีเดียว
นามรูปเปรียบเสมือนเงา
เรามาพูดถึงสถานะของนามรูปให้เห็นกันชัดๆ อุปมาต่อไปนี้อาจจะช่วยให้เห็นภาพของรูปนามและนามรูปได้ชัดขึ้นได้ คือรูปนามเปรียบเสมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง นามรูปเปรียบเสมือนเงาคือจิตสังขาร นามล้วนๆ เปรียบเสมือนแสงสว่างจากดวงไฟ คือสติปัญญาญาณ ไม่ใช่ทั้งรูปนามและนามรูป พอนึกภาพออกหรือยัง เพราะฉะนั้น นามรูปมันเป็นจึงเป็นเพียงรูปของปรากฏการณ์ จากการที่รูปนามและสติไม่มาอยู่ตรงแนวเดียวกัน เสมือนวัตถุกับแสงสว่างไม่ตรงกันเท่านั้นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง นามรูป ก็คือรูปที่เกิดจากอาการของนามคือจิตนั้นเอง ดังได้ให้อุปมาแต่ต้นแล้วว่า รูปเสมือนเป็นวัตถุ นามเสมือนเป็นแสงสว่าง นามรูปเสมือนเป็นเงา วัตถุทั้ง ๓ เกี่ยวของกันฉันใด ภาวะของรูปนาม นามรูป และสติ ก็สัมพันธ์กันฉันนั้น
นามรูปคือตัวจิตสังขาร หรือตัวความคิด แต่รูปนามคือความรู้สึกเวทนา แต่สติ เป็นตัวรู้สึกรู้เฉยๆ มันคือ ปรมัตถสภาวะ แต่จิตกับเจตสิกนั้น เป็นได้ทั้งรูปนาม นามรูป และนามล้วนๆ ผู้ไม่มีปริยัติอาจงงนิดหน่อย
นามรูปเป็นรูปที่ไม่จริง
รูปและนามเป็นปรมัตถ์ แต่นามรูปมันเป็นเพียงสมมุติ เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของรูปและนาม มันจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ของรูปและนามเท่านั้น ไม่ใช่รูปที่มีอยู่จริง กลับไปทบทวนทำความเข้าใจเรื่องเงากับแสงและวัตถุอีกครั้ง แล้วจะเห็นความจริงของเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด ดังนั้น นามรูปมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงเรียกมันว่า สังขารจิต คือเหตุเกิดทุกข์ตัวจริง คนที่ไม่ได้ฝึกจิตให้รู้เรื่องวิปัสสนา ก็พึ่งพาอาศัยแต่นามรูป ไม่ได้คิดพึ่งพาอาศัยรูปนาม เขาจึงประสบความทุกข์ของสังขารมากที่สุด เพราะนามรูป มันตกอยู่ภายใต้การสั่งงานของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา จึงเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เหมือนกับเราข้ามน้ำลึกโดยที่ไม่มีเรือ หรือเดินทางฝ่าความมืดโดยไม่มีไฟสว่าง เราก็มีแต่ทุกข์กับทุกข์ หรือตายกับตายเท่านั้นเอง