ธัมมะฉันทะ หรือกามฉันทะ

ธัมมะฉันทะ หรือกามฉันทะ

ประเด็นการแก้ไขเพื่อก้าวหน้าต่อไป

กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ แต่ก่อนเมื่อเดินต่อเนื่องนานๆ จะเบาๆ ลอยไป แต่รู้สึกตัวตลอด โดยไม่ค่อยสังเกตเห็นนันทิ หลังจากฝึกกับหลวงพ่อ รู้จักนันทิ (ความเพลิน) ชัดเจน ขณะใช้การเคลื่อนไหว 14 จังหวะ มาฝึกครั้งนี้ใช้การเดินที่รู้ชัดทีละก้าว เดินต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง (ไม่เมื่อย) ก็เห็นสมาธิที่เพิ่มขึ้นๆ การเดินก็เบาๆ เหมือนเดิม แต่เห็นความเพลิน และลองปล่อยให้เกิดต่อเนื่อง จะเห็นความง่วงตามมา จึงแก้ไขด้วยการเพิ่มสติ เพิ่มแรงกระทบที่เท้า ความเพลินก็ดับหายไป ง่วงหายไป ตื่นตัวมากขึ้น จึงเดินต่อเนื่องอย่างเบิกบาน

อีกสิ่งที่พบเพิ่มเติม จากที่เคยเรียนปริยัติ คือสติปัฏฐาน4 ก็เห็น สติทำงานทั้ง 4 ฐาน เป็นครั้งแรก ที่รู้ชัดแยกฐานได้ชัดเจน แต่ก่อนก็เห็น แต่ไม่เคยตั้งใจแยกฐานให้รู้ชัด หลังจากรู้ชัด ก็ใช้สตินำ เดินกรรมฐานต่อเนื่องเจ้าค่ะ

กราบขอคำชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ

ตอบประเด็น เพื่อพัฒนาก้าวหน้า ต่อไป

การชี้นำการเจริญสัมมาสติปีนี้ จะมุ่งเน้นย้ำให้รู้เท่าทันความเพลิน สำหรับคนที่มีประสบการณ์เจริญสติมาบ้างแล้ว ถ้าเข้าใจรูปนามได้บ้างแล้ว จะสามารถรู้เท่าทันความพลินได้ เพราะเป็นต้นเหตุร่วมของการเกิดนิวรณ์ได้ทุกตัว จะว่าไปแล้ว ระวังความเพลินตัวเดียว รับรองนิวรณ์ไม่เกิด
แต่ปัญหาก็คือ คนส่วนมากตกเป็นทาสของความเพลินมานาน และเราก็อยากเสพมันเรื่อยๆ

ในชีวิตประำวัน เราแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินกันจนเป็นนิสัย เช่น เราเพลินกับการดูหนังฟังเพลง เพลินกับการหาดูสิ่งสวยๆ งามๆ การเพลิดเพลินกับการกินด้วยความเอร็ดอร่อย เป็นต้น ถ้าชีวิตนี้ไม่มี หรือขาดอะไรน่าสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ดูเหมือนว่าชีวิตนี้ จะเกิดความรู้สึกหดหู่แห้งแล้งทันที

แต่เวลามาทำกรรมฐาน หรือการภาวนา มันเป็นการทวนกระแสความรู้สึกเดิมๆ ของเราอย่างตรงข้าม เราจึงรู้สึกว่ามันยาก ดังนั้น เบื้องต้นของการภาวนาในทางหรือสายใดๆ ก็ตาม อาจารย์ผู้ชี้นำจึงต้องพูดเพื่อปลุกเร้า ให้ผู้ปฏิบัติเกิดศรัทธาและความเพียรเสียก่อน เมื่อมีศรัทธาและความเพียรต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง ก็เริ่มเกิดสติปัญญา สามารถเห็นโทษของกิเลส และเห็นคุณของธรรมะมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ปฏิบัติจะได้รับรสของความเพลินชนิดใหม่ แทนความเพลินเดิมๆ คือเกิดธัมมปีติ คือเพลินในธรรม เราก็จะเริ่มลืมความเพลินเก่าๆ คือเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และเพลินในอารมณ์ ที่เรียกว่า กามฉันทะ เปลี่ยนมาเป็นธัมมะฉันทะ

แต่เมื่ออารมณ์รูปนามยังไม่เข้มแข็ง ความเพลินระหว่างธรรมะกับกามะ มันก็จะเกิดสลับกันไปมาเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดญาณปัญญา เห็นโทษของกามทั้งหลาย ที่แสดงตัวออกมาในรูปของความเพลิดเพลินสนุกสนานในรูป เสียง กลิ่นรส เป็นต้น จะเกิดความพยายามจะเปลี่ยนความเพลินเป็นความเพียรได้มากและนานขึ้นเรื่อยๆ ทำความเพียรนั้นแก้ไขความเพลินได้ ธรรมฉันทะ ก็พัฒนาเป็น ธัมมะปีติ ด้วยวิธีนี้ ความเพลินเดิมๆ ก็เริ่มหมดอำนาจ ก็สามารถครอบงำนิวรณ์ได้ในที่สุด จากนั้น ก็จะเริ่มต้นเห็นรูปนามตามความเป็นจริง นั้นคือผลของการแก้ไขความเพลินชั้นหยาบๆ ได้ และเริ่มเผชิญหน้ากับความเพลินขั้นกลาง และละเอียดต่อไป

 

 

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจตน จะจนใจเอง

ถาม:

กราบพระอาจารย์ค่ะ มีคำถามค่ะ ในที่ประชุมแบ่งเป็นสองฝ่ายความคิดเห็นไม่ตรงกัน เถียงกันยาว เราฟังอยู่จนรู้สึกหงุดหงิดรำคาญจึงเข้าไปร่วมวงกับเขาด้วยคือไปเข้าข้างฝ่ายที่เราเห็นว่า (ok) พอเสร็จการประชุมจึงรู้สึกตัว และคิดว่าอยู่เฉยๆ น่าจะดีกว่า พระอาจารย์ช่วยดูให้หน่อยค่ะว่าในเหตุการณ์นี้มีตัวมานะเข้ามาร่วมวงด้วยหรือเปล่าคะ และยังมีตัวอื่นอีกไหม?

ตอบประเด็น:

ในฐานะที่เราสมัครจะเป็นนักปฏิบัติที่ชาญฉลาด ก่อนที่เราจะเข้าร่วมในสถานการณ์ใดๆก็ตาม เราต้องตั้งสติไว้ก่อนเสมอว่า ต่อไปนี้เราจะเจริญสติกับเรื่องนี้ๆ เมื่อเราอยู่ในท่ามกลางเหล่าคนทั้งหลายผู้ไร้การฝึกฝนสติ เราจึงไม่ควรไว้วางใจในทุกๆสถานการณ์ ไม่ว่า จะอยู่ต่อหน้าใครๆก็ตาม เหมือนเราตกอยู่ในสถานการณ์สงคราม พระพะพุทธองค์เคยตรัสไว้ก่อนท่านจะทิ้งธาตุขันธ์ของท่าน ท่านตรัสแก่เหล่าสาวนกว่า
“หันทะทานิ ภิกขเว อามันตะยามิโว ขะยะวะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า “บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สถานการณ์ทุกอย่าง มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสิ้น แปรปรวนตลอดเวลา ท่านทั้งหลาย อย่าวางใจ จงเตรียมใจรับสถานการณ์ ( สังขารทั้งปวง ) ด้วยการตั้งสติให้ดี มีความไม่ประมาทตลอดเวลาเถิด” พระดำรัสนี้เป็นอมตะวาจาตลอดเวลา
ดังนั้น พวกท่านจงจำพระคาถานี้ให้ขึ้นใจเถิด แล้วท่านจะปลอดภัยแคล้วคลาดจากความทุกข์อย่างแน่นอน

ดังนั้น ก่อนที่คุณจะเข้าร่วมประชุม พบปะใครกับใครก็ตาม นับตั้งแต่สองคนขึ้นไป คุณต้องเริ่มตั้งสติภาวนาอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดเฉพาะนี้คือสงครามแห่งความคิดความเห็น เต็มไปด้วยคำพูดสมมติว่าถูก ผิด ดี ชั่ว ควร ไม่ควร ถูกใจ ไม่ถูกใจเป็นต้น ถ้าเราขาดสติปัญญา ในการฟังคำโต้แย้งถกเถียงเหล่านี้ เสียงเหล่านนี้มันจะเริ่มก่อหวอดของความคิด แบ่งเป็นฝักฝ่ายทันที ซึ่งมันจะแนบเนียนและกลมกลืนอย่างแหลมคมยิ่ง เกินกว่าคนไร้สติจะรู้เท่าทัน และแหลคมเกินกว่าคนประมาทจะรู้เท่าทัน เขาจะถูกความคิดผลักใสให้กระโจนเข้าร่วมวงกับสถานการณ์นั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราถูกยั่วยุให้ตกอยู่ในวงล้อมของความคิดปรุงแต่งของตนเอง ด้วยอำนาจของตัณหา มานะ ทิฐิเสียแล้ว เรียกว่า You are falling in trouble situation unescaptablely. ดังนั้น โบราณท่านจึ่งสอนว่า ” อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง” ด้วยประการดั่งนี้แล.

 

 

ปิดฝาขวดด้วยสัมมาสติ

ถามประเด็นปริศนาฝาขวด โดย คุณตั๊ก:

กราบนมัสการพระอาจารย์ เจ้าคะ เรื่องรูปนามที่พระอาจารย์เคยเล่าว่าหลวงพ่อเทียน ท่านตอบเป็นปริศนาด้วยขวดน้ำที่มีฝาเกรียวปิด ถ้าไม่มีฝาเกรียวปิดโยนขวดไปน้ำก็ไหลออกจากขวด คำตอบอยู่ที่ฝาเกรียว หนูขอตอบว่า ขวดคือกาย น้ำคือใจหรือจิต ฝาเกรียวคือสติ. เมื่อมีสติแลัวใจจะไม่ไหลออกนอกกาย หรือส่งใจออกนอก หนูเขัาใจถูกไหมคะ

ตอบประเด็นปริศนาฝาขวด:

ถูกต้องเลยหนู! แต่ยังไม่ครบถ้วน ปกติแล้ว ขวดและฝาแม้จะมีเกลียวอย่างดีมากอย่างไร มันก็ปิดเปิดเองไม่ได้ จำเป็นต้องให้มือทำหน้าที่ปิดเปิดได้ดีด้วย เพราะบางคนปิดแน่น บางคนปิดไม่แน่น เพราะเร่งรีบหรือปิดไม่เป็น ปีนเกลียว น้ำอาจจะไม่หกหมดทันที แต่พอทิ้งไว้นานๆ น้ำก็รั่วซึมหายไปหมดได้เหมือนกัน ฉันใด ส่วนใหญ่ขวดทั่วไปมักจะมีสามเกลียวขึ้นไป สามเกลียว จึงหมายถึง ศีล สมาธิ และปัญญา แต่ผู้ที่จะปรับหรือหมุนให้ปิดเปิดฝาขวดได้สนิทแน่นแค่ไหน ต้องเป็นหน้าที่ของมือคน ซึ่งได้แก่ สัมมาสติ นั่นเอง ถ้าสติสัมปชัญญะไม่หนักแน่น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็พลอยหละหลวม และรั่วไหลไปด้วย

ดังนั้น จำเป็นต้องฝึกสัมมาสติให้ต่อเนื่อง มั่นคง น้ำคือจิต จึงไม่รั่วไหล ปนเปื้อนไปกับของสกปรกคือกิเลสต่างๆ ได้ จิตก็ใสสะอาด ยังเป็นจิตเดิมแท้ได้ตลอด เหมือนน้ำสะอาด จะกินจะดื่ม จะใช้อาบสรง จะต้มยำทำแกงอะไรก็ปลอดภัย หมายความว่าเมื่อจิตสะอาดแล้ว จะทำ พูด คิด สิ่งใดก็บริสุทธิ์ ปลอดภัย ไร้ทุกข์ ตรงกันข้ามกับจิตที่ไม่สะอาด จะทำ พูด คิดสิ่งใด ก็มักจะเป็นเหตุทำให้ตนเอง และผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนด้วยเสมอ เข้าใจตรงกันนะ

 

 

ตัวรู้เกิดจากจิต แต่ไม่ใช่จิต

คำถามค่ะ:

โยมเข้าใจว่าในสภาวะรู้ตัวจริงๆ สภาวะนั้นจะไม่มีอุปาทาน จึงไม่มีใครและสิ่งใดเป็นอะไรกับอะไรเลย นั้นเรียกอีกอย่างว่า อุปาทานขณะนั้นก็ไม่มี เราพึ่งเห็นอย่างนี้ ให้เจริญตรงนี้ถูกไหมคะ ทำแค่นี้พอถูกไหมคะ

ตอบตรงประเด็น:

ไก่เกิดจากไข่ แต่ไก่มิใช่ไข่ และไข่ก็เกิดจากไก่ แต่ไข่ก็มิไก่ แต่ไก่ก็ต้องทิ้งเปลือกไข่ด้วย เรื่องนี้ฉันใด จิตกับตัวรู้ และ จิตกับอุปาทาน ก็ฉันนั้น
หมายความว่า ตัวรู้เกิดจากจิต แต่ตัวรู้ไม่ใช่จิต อุปาทานเกิดจากจิต แต่จิตไม่ใช่อุปาทาน เพราะจิตมันสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง แล้วแต่ว่าขณะที่มีอารมณ์มากระทบจิต ที่จรมาจากอายะตนะทั้งหก เราจะมีสติตามรู้เท่าทัน หรือไม่ทันเท่านั้น ถ้าสติรู้เท่าทัน ก็เกิดปัญญาญาณ ถ้าสติตามรู้ไม่ทัน ก็เป็นสัญชาตญาณ และเปลี่ยนเป็นตัณหา อุปาทาน กรรมในที่สุด เข้าใจไหม? ถ้าไม่เข้าใจ ให้ไปพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติให้มาก เข้าใจถูกต้องให้กว่าเดิมนะ

 

กอดต่างกับประคอง สมาธิต่างกับสติสัมปชัญญะ

ถามตรงประเด็น:

ผมทำความรู้สึกตัว ลืมตา อ้าปาก กลืนน้ำลาย หายใจ เคลื่อนไหวกายให้รู้สึก แต่ไม่ต่อเนื่อง หากกำหนดว่ายืนหนอๆๆ เดินหนอๆๆๆ ขณะทำในปัจจุบัน มันทำให้เห็นอาการอันใหนชัด อันใหนไหว ชัดก้อกำหนดอันนั้นมันทำให้ดูเหมือนมั่นคงกว่าครับ พอละไม่กำหนดในใจ แต่กายส่วนใหนเคลื่อนชัดมันจะรู้เอง อย่างนี้ถือว่าใช้ได้ใหม และอีกอย่างคำว่าเห็นทั้งข้างนอกข้างใน แสดงว่าเราควรอยู่ตรงสันของเหรียญถูกต้องใหมครับ จะได้เห็นทั้งสองด้านในปัจจุบันขณะ นอกจากนั้น สภาวะอารมณ์กระทบจากอายตะหก ให้กำหนดรู้ภายใน เมื่อเกิดโลภะ โทสะ โมหะ ก็กำหนดรู้ แค่รู้และวาง ตามดูไม่ตามไปใช่หรือไม่ครับ

ตอบตรงประเด็น:

ข้อสังเกตของคุณ เหมือนจะถามว่า ปฏิบัติแบบเคลื่อนไหวร่วมกับวิธีของยุบ-พองหนอได้ไหม?

ความจริง ในขั้นตอนของสมถะ จะใช้วิธีปฏิบัติแบบไหนก็ได้ เพราะเป้าหมายอยู่ที่ทำจิตให้สงบ หรือไม่ให้มีความคิดมารบกวนเท่านั้นเอง เพราะสมถะจะเน้นความสงบด้วยวิธีบังคับหรือสะกดจิตไม่ให้แส่สายไปในอารมณ์อื่น แต่สมถะที่เอื้อต่อวิปัสสนา เราจะไม่เน้นการบังคบจิต เพ่งจิต หรือเพ่งรูปใดๆ แต่เราเน้นความสงบแบบตื่นรู้ โดยประคองจิตให้อยู่ร่วมกับสติสัมปชัญญะแบบสบายๆ ไม่ร่วมกับสมาธิมากเกินไป เพราะสมาธิจะเน้นการกด เกร็ง เพ่ง จ้อง สะกด บังคับจิตทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่วิปัสสนาจะเน้นสมาธิให้น้อยกว่าสติสัมชัญญะเสมอ

ดังนั้น คุณไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีว่า ระหว่างการกอด กำ ประคับประคอง อุ้ม อาการกริยามันต่างกันอย่างไร ระหว่าง สมาธิกับสติสัมปัญญะ ก็ต่างกันฉันนั้น

สติสัมปชัญญะ เน้นให้จิตเติบโตแบบตื่นรู้ เบิกบาน เกิดปีติแบบปัสสัทธิ คือตั้งมั่น ตื่นรู้ แต่สมาธิเน้นสงบ เน้นปีติสุข แต่เป็นสงบสุขแบบชั่วคราว เมื่อสมาธิหย่อน ความสงบสุขก็หายไป แต่การตื่นรู้ จะพัฒนาไปสู่วิปัสสนาญาณสูงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ให้ไปพิสูจน์ดูก่อน ยังไม่ต้องเชื่อตามนี้ก็ได้

 

ความคิดเหมือนเครื่องจักร

 

ถามประเด็นความรู้สึกตัว:

ขอเรียนถามพระอาจารย์ครับ ผมได้ปฏิบัติโดยการทำความรู้สึกตัวในอริยาบททั้งสี่ เมื่อก่อนสัญญาอารมณ์จะขึ้นมากวนใจตลอด แต่เมื่อทำความรู้สึกตัวอยู่ที่กายที่ใจ สัญญาอารมณ์ที่เคยขึ้นมากวนใจกลับลดลงไปมาก ขอเรียนถามพระอาจารย์ว่า…สภาวะที่ผมเป็นอยู่นี้คืออะไรเหรอครับ…ควรจะปฏิบัติไปในทิศทางใดต่อไปครับ ขอความเมตตาพระอาจารย์ช่วยชี้แนะให้ด้วยครับ…สาธุ

ตอบประเด็นถาม:

คุณเคยเจริญสติแบเคลื่อนไหวมาก่อนไหม ถ้าเคยก็ง่ายขึ้นเยอะ เพราะการเจริญสติ มันช่วยรู้ให้เท่าทันความคิดได้อยู่แล้ว ถ้าทำได้ถูกต้อง ความคิดจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะตัวรู้มันเข้าไปแทนที่ตัวคิด อันเกิดจากความไม่รู้อยู่แล้ว

แต่ความคิดที่ตั้งใจคิดในทางที่ถูกที่ควร เราไม่คือว่าเป็นกิเลส แต่มันเป็นสติปัญญา ที่เราจำเป็นต้องใช้ความคิดแบบนี้เยอะมาก แต่ต้องสั่งมันหยุดได้ด้วยถ้าหมดความจำเป็น เหมือนเราใช้เครื่องยนต์ เมื่อเปิดเป็น ก็ต้องปิดเป็นด้วย ฉันใดก็ฉันนั้นแหละคุณ

พระพุทธยานันทภิกขุ