สติที่เรากำลังฝึกอยู่นี้ แม้จะเน้นทางกายเป็นหลัก
สติที่เรากำลังฝึกอยู่นี้ แม้จะเน้นทางกายเป็นหลัก ดูเหมือนจะเป็นสมถะ แต่อารมณ์ที่เรากำหนดรู้ ไม่ได้เน้นเอารูปเป็นอารมณ์ แต่เน้นเอานามเป็นอารมณ์ หรือเอาปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เรียกว่า เน้นทั้งสมถะและวิปัสสนาไปพร้อมๆ กัน การจะเอารูปหรือนามเป็นอารมณ์กรรมฐาน ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่มากระทบในขณะนั้นๆ ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัวแบบกรรมฐานโดยทั่วไป ที่กำหนดไว้ว่า ต้องทำสมถะก่อนแล้วค่อยเจริญวิปัสสนาตามหลัง แต่หลักการแบบเคลื่อนไหวไม่เลือกเช่นนั้น การทำทั้งสมถะและวิปัสสนาไปพร้อมกัน ต้องเรียนรู้และสัมผัสอารมณ์ปฏิบัติไปตามลำดับ
เริ่มต้นจากการสัมผัสอารมณ์ของรูปก่อน คือรูปขันธ์ เช่น รูปของอาการเย็น ร้อน อ่อนแข็ง เคร่งตึง ไหว เจ็บปวดทางกาย ให้ชัดก่อน ก่อนที่จะบำบัดขัดเกลา เอาอาการที่ไม่พึงปรารถนาออกไป เมื่อเราตามรู้อาการต่างๆ ของกายแบบนี้ไปเรื่อยๆ จิตก็จะเรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์แห่งการรู้กายรู้ใจไปทีละขณะเรื่อยๆ จนเกิดประสบการณ์ทางจิต เกิดความรู้เข้าใจอาการทางกายและจิต
ตามความเป็นจริงมากขึ้น เรียกว่าเกิดวิชชาและปัญญา และอวิชชาก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นวิชชาไปเรื่อยๆ สติก็มีกำลังพัฒนาความรู้ตัวทั่วพร้อม ครอบคลุมทั้งรูปและนาม
การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้
ต้องทำความเข้าใจกันบ่อยๆ
เพื่อเน้นการทำให้ถูกต้อง นักปฏิบัติชาวพุทธที่คุ้นเคยกับกรรมฐานส่วนใหญ่ มีความรู้เรื่องสมถะวิปัสสนาเป็นอย่างดี แต่ว่าไม่สามารถมีความสุขกับอารมณ์ปัจจุบันได้ชัดเจน และจัดการกับอารมณ์ของตนเองไม่ได้ จึงไม่มีอะไรชี้วัดได้ว่า คนๆ นั้นได้เข้าใจอารมณ์สมถะและวิปัสสนาจริงแท้หรือไม่ ถ้าเป็นความรู้ที่เอามาใช้ไม่ได้ ก็ถือว่า ความรู้นั้นเป็นความรู้ของอวิชชา เพราะรู้ แต่เอามาใช้ไม่ได้ หมายความว่าเอามาปรับปรุงแก้ไขตนเอง หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจตนเองไม่ได้ และยังทำอะไรตามความโลภ ความโกรธ ความหลงของตนเอง และชีวิตก็ยังเป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่ ความรู้แบบนั้น จะรู้มากเท่าใด ก็ไม่มีประโยชน์ในการแก้ทุกข์ทางใจ เพราะเป็นความรู้ของโลกียะปัญญา อันเกิดจากความจำ มิใช่ความจริง แต่ความรู้ที่เรียกว่า วิชชา ถึงพร้อมด้วยจรณะ ทำตามได้อย่างที่ตนรู้ทุกประการ เรียกว่า วิชชาจะระณะสัมปันโน
การสัมผัสอารมณ์รูปนามแบบเคลื่อนไหว
การสัมผัสอารมณ์รูปนามแบบเคลื่อนไหว จึงมิใช่การนึกคิด คาดเดาเอาตามความเชื่อมั่นตนเองแบบผิดๆ เมื่อเรารู้จักรูป และรู้เท่าทันรูป ไม่ทุกข์กับความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของรูป เป็นวิปัสสนาเบื้องต้น เพราะจิตมาอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน คืออยู่กับตัวรู้ล้วนๆ ที่หลวงพ่อเทียนเรียกว่า รู้ซื่อๆ คือรู้โดยไม่อาศัยความคิด ถ้าคิดว่ารู้ นั้นเป็นความรู้ที่ไม่ซื่อแล้ว การรู้เข้าไปตรงๆกับอาการต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมา ไม่ว่าทางกายหรือใจ ความรู้สึกตัวแบบนี้ ไม่ได้เกิดจากความคิด แต่มันเป็นตัวของมันเอง มันเป็นอิสระจากความคิด ความคิดจะมีหรือไม่มี ตัวรู้ตัวนี้ก็ปรากฏอยู่เสมอ การรู้แบบนี้ เรียกว่า รู้รูปนามตามความเป็นจริง เพราะรู้แล้วมันไม่ลืม การรู้รูปนามแบบนี้ เราสามารถจัดการได้ทันที เช่น รูปรู้สึกไม่สบายเพราะปวดขา สติก็จัดการบำบัดเอาความรู้สึกปวดนั้นออกได้ทันที แม้อาการไม่สบายในรูปส่วนอื่นๆ ก็จัดการได้หมด ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่ เรียกว่า รู้รูปนาม เราจึงสามารถจัดการรูปนามนี้ไม่ให้เกิดทุกข์ได้ระดับหนึ่ง
นามรูปเกิดจากใจโดยตรง
แต่สำหรับนามรูป เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตโดยเฉพาะ ความรู้ทางใจ บางครั้งก็เริ่มมาจากกาย บางครั้งก็เกิดขึ้นจากใจโดยเฉพาะเช่น เรารู้สึกหิวข้าว อาการหิวเป็นอาการของกาย จิตรับรู้ ก็ตอบสนองด้วยเกิดอาการรู้สึกอยาก และสร้างจิตนาการถึงรูปอาหาร แล้วปรุงแต่งความคิดเรื่องอาหารขึ้นในจิต และสร้างความรู้สึกอยากให้บ่อยขึ้น และเพิ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีกำลังมากขึ้น จนสำเร็จเป็นตัณหา จึงเป็นสมุทัย คือเหตุของทุกข์ เมื่อสติยังไม่เกิด อาการความอยากผูกมัดรัดจิตแรงมากขึ้น จนมีกำลังแรงพอที่จะแสดงออกมาทางกายและวาจา จึงสำเร็จเป็นกรรมแล้วขบวนการแสวงหาอาหารก็เริ่มขึ้น จนครบวงจรของปฏิจจสมุปบาท วัฏฏสงสารก็หมุนทันที
มนุษย์และสัตว์ต่างก็มีสติแบบสัญชาตญาณ
เรามาเจริญสติ สมาธิ ปัญญาให้มากๆ เพื่อมาแก้สมุทัยของทุกข์ตรงนี้ให้ทัน แต่สติ สมาธิ ปัญญา แบบที่มันเกิดเองเป็นเอง เรียกว่า สัญชาตญาณ เป็นสติ สมาธิ ปัญญาของอวิชชา เราคิดอ่านหาวิธีให้ได้อาหารมาบำบัดความหิวด้วยสติปัญญา สัตว์ทั้งหลายเวลามันหิว มันก็หาอาหารใส่ปากใส่ท้องของมันด้วยสติปัญญาเหมือนกัน สติปัญญาของมันกับมนุษย์ไม่ต่างกัน เพราะมันก็สามารถบำบัดความหิวของมันได้สำเร็จเหมือนกัน
มนุษย์สามารถพัฒนาสติแบบสัญชาตญาณให้เป็นปัญญาญาณได้
สติปัญญาของมนุษย์เหนือกว่าสัตว์ ตรงที่ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาความรู้ตัวแบบสัญชาตญาณให้เป็นปัญญาญาณได้ มนุษย์สามารถพัฒนาความรู้ตัวให้เป็นความรู้ทางจิตได้ และพัฒนาความรู้ที่ผิดให้ถูกต้องได้ พัฒนาความรู้เพื่อฝึกฝนตนเองได้ เจริญเติบโตทางจิตวิญญาณได้ อันนี้เป็นความแตกต่างโดยทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ความแตกต่างที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ที่มนุษย์ทั่วไปทำได้ยาก ก็คือพัฒนาสติปัญญาระดับมนุษย์ธรรมดา ให้เป็นสติปัญญาของเทพ ของพรหม และของพระอริยะ จนสูงขึ้นไปเป็นสติปัญญาของพระอรหันต์และพระพุทธเจ้าได้ ตรงนี้มนุษย์ธรรมดาอาจเข้าถึงได้ยาก
ปฏิบัติถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการว่ามีหรือไม่มี
สติสัมปชัญญะปัญญาขั้นธรรมดา ถ้าได้พัฒนาด้วยระบบสมถะและวิปัสสนาอย่างถูกต้อง มันจะเกิดเป็นญาณปัญญาสูงขึ้น อาจเรียกมันเสียใหม่ว่า ธรรมจักษุ พุทธจักษุ หรือปัญญาจักษุ ก็คือตัวรู้ตัวเห็นกายใจของตนตามความเป็นจริงนั้นเอง ความรู้แบบนี้ ต้องผ่านการภาวนาเท่านั้น แม้แต่ผู้ภาวนาแล้ว ก็ยังทำถูกรู้ถูกก็มี ทำผิดรู้ผิดก็มี มิใช่ว่าจะรู้แบบเดียวกันหมด องค์ประกอบที่สำคัญของความถูกและผิดก็คือ การมีหรือไม่มีโยนิโสมนสิการ หรือความแยบคาย คือขบวนการรู้จักพิจารณา ศึกษา ตรวจสอบวิเคราะห์ วิจัยหาเหตุผลต้นปลายของเรื่องนั้นๆ
ส่วนใหญ่เราฟังแล้วก็ผ่านไป
ไม่ค่อยเก็บมาทบทวนตรวจสอบให้ถี่ถ้วน
เหตุที่ทำให้เราได้ความเข้าใจที่ถูกต้องมี ๒ อย่างคือ ๑. ได้กัลยาณมิตร ๒. เราเกิดโยนิโสมนสิการ สิ่งแรกหมายถึง เราได้ครูอาจารย์ผู้รู้เห็น มาชี้นำบอกกล่าวเล่าให้ฟัง เรียกว่า สร้างสุตมยปัญญา คือรู้ใคร่ครวญสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และเลือกเอาสาระมาปฏิบัติได้ เริยกว่า มีจินตามยปัญญา
เมื่อเราเกิดรู้จักและเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้รับการแนะนำ ไปใช้อย่างถูกต้องเรียกว่า ภาวนามยปัญญา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง จึงจะเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าเอามาทำไม่ถูกก็ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา มันกลับมีผลออกมาเป็นโมหะอวิชชาไปอีก นี้คือความยากของมัน แต่ส่วนใหญ่เราฟังแล้วก็ผ่านไป ไม่ค่อยเก็บมาทบทวนตรวจสอบให้ถี่ถ้วน
เราแก้ทุกข์ของตนเองได้แล้วมากน้อยเพียงใด
เราทั้งหลายเคยได้อ่านหนังสือธรรมะมามากเท่าไร ฟังซีดีธรรมะมากเท่าไร ฟังธรรมะจากอาจารย์เก่งๆ ดังๆ แล้วกี่รูป ซักถามปัญหากับท่านเหล่านั้นมาแล้วกี่หน แล้วเคยประมวลเอาประสบการณ์เหล่านั้น มาทบทวนตรวจสอบกับตนเองอย่างจริงจังกันบ้างไหม เมื่อทำแล้ว เราพอสรุปกับตัวเองได้ไหมว่า เราแก้ปัญหาของตนเอง แก้ทุกข์ของตนเองได้แล้วมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้เราต้องทำกันอย่างจริงจัง เราจะผ่านสิ่งเหล่านี้ไปวันๆ โดยไม่ได้อะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ มันเสียเวลา ชีวิตเราได้ลงทุนไปแล้วมหาศาลด้วยกาลเวลา สติปัญญา มันสมอง แรงกาย แรงใจ และแรงทรัพย์มากมายเท่าไร เราต้องคิดกันให้หนักเกี่ยวกับเรื่องนี้