คอร์สสุดท้ายที่ยุโรป ค่อนข้างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เราจัดหนักๆ นึกว่า เขาจะสู้กันไม่ไหว ที่ไหนได้ ยิ่งหนักยิ่งสู้ เพราะมนุษย์เราชอบท้าทาย ดังนั้นท่านใดที่คิดว่า จัดหนักแล้ว นักปฏิบัติจะถอย เป็นการคิดผิดถนัด ดังนั้น กรุณาอ่านอย่างระมัดระวังหลายรอบ เพราะรอบเดียวอาจสับสนได้ เพราะนี่คือคำบรรยายแก่ผู้เข้าคอร์สเข้ม มันอาจจะดูสุ่มเสี่ยงและเข้าใจไขว้เขวได้ง่าย เชิญติดตามอ่านกันต่อไป
ตอนที่ ๓
ทีนี้กลับมาพิจารณานามที่เกี่ยวข้องกับจิต ท่านเคยสังเกตบ้างไหมว่า บางครั้งเราเผลอนิดเดียวจิตมันหลุดไปตั้งไกล เช่น คิดอยากไปทำสิ่งนั้น อยากไปพูดธุระกับคนนั้น หรือคิดไปทำอะไรก็ตาม ทันทีที่คิดไป จิตมันก็ไปสร้างเหตุการณ์ต่างๆไปตั้งเยอะแล้ว
สำหรับผู้ฝึกสติมาดีแล้ว ก็รู้ตัวทันทีว่า จิตหลุดไปแล้ว เราได้สติรู้ทันพอดี เราต้องเอาใจใส่ศึกษาการทำงานของจิตอยู่เสมอๆ เมื่อใดที่เผลอคิด ลองกลับเอาเรื่องที่เผลอคิดไปเมื่อสักครู่ กลับมาคิดทบทวน ใหม่อีกสักรอบ เพื่อตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของจิตว่า มันเริ่มสร้างความคิดอย่างไร ซึ่งวิธีนี้ ผู้พูดทดสอบทำบ่อยๆ ปรากฏว่า ได้ประสบการณ์ดีหลายอย่าง แทนที่จะเผลอแล้วเผลอเลย เหมาะสำหรับผู้ฝึกมาดีแล้วและต้องการศึกษา ส่วนสำหรับผู้ฝึกใหม่หรือกำลังฝึกนั้น เกมนี้ถ้าไม่ชำนาญอย่าเล่น เดี๋ยวเอาไม่อยู่จะยุ่งมากกว่า เช่น เราคิดถึงเวลาอาหาร เมื่อเวลาทานอาหารใกล้มาถึง เราเริ่มจิตนาการถึงชนิดอาหาร พอรู้ว่าคิดไป เราก็เริ่มกลับมาตั้งต้นคิดใหม่ เพราะเมื่อกี้มันเผลอคิด แต่เรารู้ทัน ที่นี้เราต้องการเป็นผู้กำหนดเกมส์การเล่นบ้าง เพราะถ้าเราเผลอ กิเลสเป็นคนกำหนดเกมส์เล่น เราตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะทำให้กิเลสมีกำลัง ต้องตั้งสติล้างเกมส์การปรุงทันที อย่าเผลอเข้าไปเล่นตามเกมส์ที่กิเลสกำหนด มันจะต่อยาวไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะมันชำนาญพื้นที่กว่าสติมาก จึงเริ่มมากำหนดตั้งต้นคิดใหม่ ก็ทำท่าเหมือนเผลอ ปล่อยให้จิตมันสร้างภาพอาหารขึ้นมา สังเกตให้ชัดๆว่า ถ้าเราใช้สติเป็นผู้กำหนดเกมส์เล่น ความคิดแทบจะเดินไปไม่เป็นเลยทีเดียว เหมือนกับผู้ร้ายที่ปล้น แล้วฆ่าเจ้าของร้านทองแล้วถูกตำรวจจับได้ แล้วพาตัวไปทำแผนที่เกิดเหตุ เราจะสังเกตเห็นว่า ผู้ร้ายมันแทบไปไม่เป็นเอาเลย มันทั้งเจ็บทั้งอายแทบมุดแผ่นดินหนีเลยทีเดียว เราลองฝึกทบทวนการทำแบบนี้บ่อยๆ ถ้าเราต้องการศึกษา มันจะมีผลต่อการเจริญปัญญาสิกขาอย่างสำคัญทีเดียว เพราะเป็นฝึกแบบจิตสิกขาและปัญญาสิกขาไปพร้อมๆกัน
อย่าทำแบบสงสัยหรือกล้าๆกลัว แต่ต้องกล้าได้กล้าเสียเสมอ
สมมติเราจะไปทานอาหาร ให้สังเกตว่า ภาพแรกที่เกิดขึ้นในใจคืออะไร เช่น อาหาร จานข้าว กับข้าวที่เราชอบ รูปที่เกิดขึ้นในจิตแรกคือ รูปอาหาร และรู้สึกอยากเป็นเวทนา อาการของกายที่ตอบสนองต่อความอยาก ความหิว ให้ตามสังเกตอย่างใกล้ชิดว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นกับกายและจิตขณะนั้น ภาพการกินปรากฏเรียกว่า สัญญา และรู้สึกถึงวิธีกิน รู้สึกถึงรสอาหารอร่อยหรือไม่อร่อย ชอบหรือไม่ชอบเป็นสังขาร จิตที่เข้าไปเสพรสอาหารในใจเป็นวิญญาณ สำเร็จเป็นภพชาติเรื่องกินอาหารไปหลายรอบแล้ว กว่าจะได้ลงมือกินจริงๆ นี้คือหนึ่งตัวอย่างที่ยกมา บางท่านอาจจะเริ่มต้นด้วยเรื่องง่ายๆ และสั้น ถ้าเราเป็นผู้ใหม่ ถ้ากำหนดเรื่องจำลองที่เสี่ยงเกินไป อาจคุมสถานการณ์ไม่อยู่ กิเลสเข้าสวมรอย ก็เผลอเข้าไปเล่นกับความคิด เข้าไปในความคิด ก็เสร็จมันอีก ดังนั้น สติต้องหนักแน่นแม่นยำจริงๆเท่านั้น จึงจะศึกษาเรื่องนี้ได้ดี
หันลองกลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกทีว่า อาหารที่ปรากฏ เป็นรูปขันธ์ ในขันธ์ห้า ซึ่งหมายถึงรูปที่เกิดขึ้นในใจหรือนามรูป เป็นเหตุมาจากการเผลอคิดคืออวิชชา นามที่เกิดในธาตุสี่และหกเรียกว่า รูปนาม นามที่เกิดในขันธ์ห้าด้วยอำนาจอวิชชาเรียกว่า นามรูป ตัวนี้จึงเป็นสมุทัยฝ่ายเดียว การที่สติเข้าไปรู้ทันในนามรูปนี้แล้วดับนามรูปนั้นได้ เรียกว่าวิปัสสนาญาณ สติที่เข้าไปรู้รูปนามปัจจุบัน ต้องเป็นรู้ตัวทั่วพร้อมที่ชัดเจน ไม่แฝงเร้นด้วยความคิดจินตนาการต่างๆ อันเป็นฝ่ายนามรูป เพราะมีสติเข้าไปติดตามเฝ้าดู รู้เห็นความเปลี่ยนแปลง ความเป็นทุกข์ของรูปนาม และตามรู้ความตั้งอยู่ไม่ได้ และการบังคับบัญชาอาการรูปนามไม่ได้ เพราะมีสติที่เข้าไปรู้เห็นอย่างต่อเนื่อง และมั่นคงเช่นนี้ เรียกว่า สติที่เคยทำงานแบบสัญชาตญาณ ได้พัฒนาเป็นสติแบบวิปัสสนาญาณทันที ?โดยอาศัยหลักการทำงานของสติฐานปัฏฐาน ๓ ประการ คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน โดยใช้ความเพียรเพ่งเผาความไม่รู้ออกไป
อาตาปี เป็นการทำงานของตบะ และวิริยะรวมกัน เรียกว่า อาตาปี เพราะคำว่า ตบะ หมายถึง ขันติ คือความอดทนและอดกลั้นต่อทุกขเวทนาชนิดต่างๆ ที่รุมเร้ารบกวน ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด เคร่งตึง ที่บีบรัดร่างกาย ในขณะเดียวกันก็มีตัว วิริยะและสัมมาวายามะเป็นตัวควบคุมปรับเปลี่ยนอาการของจิต ให้เข้ามาช่วยแก้ไขด้วยหลักของความพยายาม ๔ ขั้นตอน (อธิบายรายละเอียดภายหลัง)
อาตาปีจึงเปรียบเสมือนเตาไฟ เพราะทำความเพียรแบบเคลื่อนไหวแบบนี้ ทำไปนานๆ ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงยิ่ง ก่อให้เกิดความเร่าร้อนทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งเป็นความทุกข์ ที่เราเจตนาจะให้เกิด เพื่อใช้มันเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาเผาผลาญกิเลส และนิวรณ์ธรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมาตามลำดับ และเจตนาจะให้ทุกข์เกิด เพื่อใช้มันเป็นเป้าให้เกิดสนามพลังงานของสติปัญญา เสมือนเราตั้งใจจุดไฟขึ้นมาในเตาไฟ เป้าหมาย ก็เพื่อต้องการพลังงานความร้อน เอาไปทำงานหุงข้าวต้มแกงได้สำเร็จประโยชน์ ถ้าความร้อนไม่สูงพอ มันจะเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบให้เป็นอาหารสุกไม่ได้ ฉันใด อาตาปี คือความเพียรเพ่งเผากิเลส ด้วยกำลังของสติสัมปชัญญะ จนเกิดเป็นองค์ของปัญญาญาณ สามารถกำจัดความคิดและอารมณ์ที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ให้สลายหายไปจากจิตใจ และใช้สัมมาวายามะเป็นสนามงาน คอยติดตามสำรวจ และคอยปกป้องรักษาจิตให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอๆ ถ้าเราไม่ได้เจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้อง ถ้าเราละเลยเพิกเฉยต่ออาการของทุกขเวทนาเหล่านี้ เราไม่สนใจ ไม่เห็นความสำคัญ เราก็บำบัดทุกขเวทนาต่างๆ ตามความเคยชินเหมือนเดิมสติแบบสัญชาตญาณ ไม่ได้ทำให้เราเห็นรายละเอียดต่างๆของการเกิดทุกข์ เช่นเรานั่ง หรือยืนนานๆ เรารู้สึกปวดขา ถ้าเรากำลังฝึกสติอยู่ เราก็จะเริ่มสังเกตอาการที่เกิดตั้งแต่ต้น และเฝ้าดูระดับความเข้มข้นที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนท่าใหม่ ก็จะมีการกำหนดท่าที ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ท่าที่ต้องการ ขณะขยับเปลี่ยนผ่านท่าหนึ่งไปอีกท่าหนึ่ง ฝ่ายปัญญาญาณจะทำหน้าที่เฝ้าดู อาการทุกข์นั้นๆว่า มันเริ่มสลายหายไปด้วยอาการอย่างไร เรียกว่า ตามเห็นขบวนการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสังขารธรรมทุกๆระดับได้อย่างถี่ถ้วนชัดเจน ไม่พร่ามัวหรือเลอะเลือน ไม่ว่าฝ่ายรูปหรือนามก็ตาม นี่คือขบวนการวิปัสสนาแบบเคลื่อนไหว เราจะเน้นให้เห็นการเคลื่อนไหวทุกๆ ระดับ ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด มันจะต้องถูกตามดูอย่างถี่ถ้วนต่อเนื่อง และไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการเฝ้าดู ทนดูให้นานที่สุดเท่าที่สติปัญญา และความอดทนของเราจะสามารถทนได้ ถ้าไม่ทำกันขนาดนี้ ก็หวังความก้าวหน้าได้ยาก เมื่อเราปรับอาตาปี สัมปชาโน สติมา ให้ทำงานร่วมกันอย่างถูกต้องแล้ว จะสามารถกำจัดเหตุเกิดทางใจได้ตามบาลีท่านกล่าวว่า “วิเนยยะ โลเก อภิชฌา โทมะนัสสัง” แปลว่า สามารถกำจัดเอาความพอใจและความไม่พอใจออกจากใจเสียได้ ตามปกติปัญหาและความทุกข์ต่างๆของมวลมนุษย์ในโลกนี้ ก็เริ่มต้นด้วยสาเหตุ ๒ ตัวนี้ ไม่มีอะไรมาก แต่ด้วยความไม่รู้เท่าทันอาการของจิต ๒ ตัวนี้ มันเลยแตกงอกออกรากออกมาเป็นอาการต่างๆ เช่น ความพอใจ ก็แสดงออกมาเป็นความโลภ หรือราคะ เช่น เราต้องการความสุขมากๆ สนุกสนาน เพลิดเพลิน หมกมุ่น มัวเมา ลุ่มหลงชอบ รักใคร่ อยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น หวังปรารถนา เคลิบเคลิ้ม ยกย่อง ยินดี เป็นต้น เป็นพฤติกรรมของโลภและราคะและกามตัณหา ล้วนพัฒนาตัวมาจากอาการของอภิชฌาหรืความพึงพอใจทั้งสิ้น
ส่วนอาการของโทมนัส คืออาการของความไม่พอใจเล่า ก็จะแสดงออกมาในรูปของปฏิฆะ โกธะ โทสะ พยาปาทะ คือ ความรู้สึกหงุดหงิด เบื่อหน่าย โกรธ ไม่ชอบ ฉุนเฉียว งุ่นง่าน เร่าร้อน ตำหนิติเตียน วิพากย์ วิจารณ์ เป็นต้น อาการของจิตทั้งหมดนี้คือ ตัวสมุทัยหรือต้นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง แต่ความเจ็บปวดทางกาย หรือรูปนี้ ไม่ใช่สมุทัยของทุกข์ในอริยสัจโดยตรง เพียงเป็นอาการร่วม เรียกว่า ตัวร่วม แต่เราจำเป็นต้องฝึกดูอาการเกิดดับความทุกข์ของรูปกายนี้ให้เป็นให้เข้าใจเสียก่อน ให้ฝึกรู้กายไปเรื่อยๆก่อนเพื่อฝึกความไวของสติสัมปชัญญะจนชำนิชำนาญ จนสตินี้จะเปลี่ยนเป็นญาณปัญญาไปเรื่อยๆ อวิชชาก็จะเปลี่ยนเป็นวิชชาตรงนี้เอง
ดังนั้น นามที่เราสัมผัสได้ จัดการได้ ปรับปรุงแก้ไขได้ เป็นวิชชา แต่นามที่แก้ไม่ได้ พัฒนาให้เติบโตไม่ได้ เรียกว่า อวิชชา ที่เราสวดกันว่า “วิชชาจรณสัมปันโน” คือ ถึงพร้อมด้วยรู้และทำตามได้ปฏิบัติตามได้ คือ รู้แล้วไม่สงสัยที่จะทำตาม คือ ทำตามอย่างเข้าใจและเต็มใจ ความรู้ที่เกิดจากวิชชา จึงไม่ต้องอาศัยความคิดปรุงแต่ง เพราะเป็นองค์ของวิปัสสนาปัญญา สามารถรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นปรมัตถ์ ที่ไม่ขึ้นกับไตรลักษณ์ทุกสถานการณ์
ดังนั้น เบื้องต้นจึงให้รู้ ๒ อย่างนี้ก่อน คือรู้รูปตามความเป็นจริงว่า มันคือธาตุ ๔ นามคือขันธ์ทั้ง ๕ เป็นที่ตั้งของการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย และแตกดับ หรือวงจร ที่ดำเนินการของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตลอดเวลา มันจึงไม่อยู่ในอำนาจของเราที่จะไปครอบครองให้เป็นไปตามอำนาจความต้องการของเรา เมื่อเรารู้อย่างนี้ เราจึงเจริญวิปัสสนา คือเจริญให้นามมีกำลัง เพื่อรู้เท่าทันความเป็นไปของรูปทั้งหลายทั้งปวง แล้วถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากใจเสียได้ เราจะมีความสงบสุขตลอดกาลนาน.