ทุกข์ตัวจริงคือความคิด

แล้วทีนี้ตัวความคิดนี้แหละ ที่พระพุทธองค์เรียกว่าเป็นตัวสมุทัย เป็นตัวทำให้เกิดทุกข์ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เกิดทุกข์ นอกจากความคิด ที่เราหลงคิดนี่ ความคิดที่เราหลงคิดนี้มันเป็นตัวสมุทัย ทีนี้ถ้าหากว่า เมื่อความคิดมันเกิดขึ้น ถ้าหากเราเอาสติเข้าไปรู้ทัน มันจะเป็นนิโรธ แต่ถ้าเราเอาสติไปรู้ไม่ทัน เห็นไม่ทัน ในขณะที่มันเกิดขึ้น มันก็จะเป็นทุกข์ คือระหว่าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มันอยู่ตรงข้ามกัน

ถ้าหากว่า เวลารูปมากระทบตา เกิดความคิด เกิดความรัก เกิดความชัง ถ้ามันเกิดความรักความชัง เห็นว่าสวยไม่สวยนี่ แสดงว่า สติของเราสกัดไม่ทัน ตรงเบื้องต้นนี้แหละ สติเราสกัดไม่ทันคือให้มันเลยไปถึงสมมติแล้ว ถ้าหากเรามีสติไปสกัดกั้นตอนที่มันถึงสมมติได้ มันก็หยุดอยู่ที่สมมติ ในเรื่องนี้

ในเรื่องการเจริญสตินี่ เคยได้อ่านในวิสุทธิมรรค ตอนที่เรียนประโยค๘ ท่านเปรียบอุปมาอุปมัยไว้ตอนหนึ่งว่า มีภิกษุผู้เจริญสติรูปหนึ่ง ลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เดินเข้าสู่ป่าเพื่อไปหาที่วิเวก แล้วขณะที่ท่านเดินทางไปนั้น บังเอิญว่ามีสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีจะพาภรรยาไปเยี่ยมบ้านเกิดของภรรยา แล้วก็มาเกิดทะเลาะกันอยู่กลางทาง พอทะเลาะกัน ก็แยกทางกันเดิน ผู้หญิงก็มุ่งหน้าไปสู่บ้าน ผู้ชายก็เดินกลับ บังเอิญผู้หญิงเดินสวนกับพระ แล้วก็ยิ้มให้พระ เดินผ่านไป พอดีผู้เป็นสามีคิดได้ว่า ภรรยาเข้าไปในดงคนเดียว กลัวจะเกิดอันตรายขึ้นก็เลยรีบตามมา มาเห็นพระท่านกำลังเดินทางไป ก็เลยถามว่า เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาทางนี้ไหม พระท่านก็บอกว่า ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย เห็นแต่ร่างกระดูกที่เดินผ่านไปทางนี้ อันนี้ท่านได้เปรียบอุปมาอุปมัยว่า การที่เจริญสติ ตัวสติมันจะรู้เฉพาะเป็นรูป คือไม่ได้เลยไปถึงรูปหญิงรูปชาย หรือได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าเสียง คือไม่รู้ว่าเสียงอะไร เสียงระฆัง เสียงนก เสียงกา ไม่ได้เลยไปถึงโน้น ท่านว่านั่นมันเลยไปถึงสมมติแล้ว คือให้มันอยู่ที่ ตรงที่มันเป็นสัจจะ ให้มันเป็นของจริง จริงๆ มันจะไม่ได้ปรุงแต่งว่าสวย ว่างาม ว่าไพเราะ ว่าดี ถ้าหากมีสวย มีงาม มีไพเราะแล้ว มันก็เกิดมีความรัก ความชังขึ้นมา เกิดความอยากได้ เกิดความอยากมีอะไรต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นภพเป็นชาติต่อไปได้