ถอดธรรมบรรยายประกอบภาพและเสียง “นวัตกรรมแห่งสติ๑๕” (ความรู้สึกตัวที่เป็นวิปัสสนา) พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท ณ วัดพระธาตุแสงเทียน (วัดดอย) เช้า ๙ ก.ค. ๖๐
รูปอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์
นามอยู่เหนือกฎไตรลักษณ์
ชีวิตประกอบด้วยสองส่วน
ส่วนที่เป็นรูปและส่วนที่เป็นนาม
ส่วนที่เป็นกายและส่วนที่เป็นจิต
ส่วนที่เป็นกาย หรือเป็นรูป
หรือเป็นสมมติ เป็นอันเดียวกัน
จะต้องตั้งอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ทั้งหมด
ไม่ว่ารูปที่เล็กที่สุดเป็นอนุภาคหรือปรมาณูก็ตาม
ต้องแปรปรวน เปลี่ยนแปลง แตกดับตลอดเวลา
หลักอริยสัจบอกว่ารูป หรือทุกข์ หรือวัตถุธาตุ
ต้องศึกษา เรียนรู้ เข้าใจ วิจัย
เพื่อหาเหตุว่าความทุกข์ ความแปรปรวน
ความแตกดับ มาจากไหน เกิดจากอะไร
ต้องแก้ไขบำบัด เพื่อให้ความทุกข์
ความแปรปรวนน้อยลง ความแตกดับช้าลง
ส่วนของนามที่ไม่มีรูป คือตัวปรมัตถ็ ความรู้สึกล้วนๆ
ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์
นักวิทยาศาสตร์วิจัยได้แค่รูประดับต่างๆ
หยาบ กลาง ละเอียด ประณีต ลึกจนถึงขั้นปรมาณู
แต่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบ
สิ่งที่พ้นจากรูปโดยสิ้นเชิงคือนาม
สายไฟคือรูปกระแสไฟคือนาม
การที่จิตของเราต้องรับเอาความแปรปรวน
เปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ ของรูปเข้าไป
จิตก็พลอยแปรปรวน เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไปด้วย
เป็นสิ่งที่ไม่มีแก่นสารไปด้วย
ผู้ปฏิบัติเบื้องต้นจึงมุ่งให้แยกรูปกับนามให้ชัด
แยกกายกับใจ แยกสมมติและปรมัตถ์ ให้ชัดที่สุด
แยกรูปนามไม่ได้หมายถึงแยกออกคนละส่วน คนละกอง
เหมือนแยกสายไฟกับกระแสไฟ
สายไฟเหมือนรูป กระแสไฟเหมือนนาม
วิธีการแยก เราไปจับแยกไม่ได้
มันเป็นรูปของพลังงานกระแสไฟ
ในร่างกายของเรา
กระแสความรู้สึกเป็นรูปของพลังงาน
ถ้าไม่จับแยกคนละส่วนมันก็จะช็อตกัน
การเดินสายไฟจึงต้องตีคู่
มีฉนวนกั้นไม่ให้สายไฟคู่นั้นเข้าหากัน
ถ้าเข้าหากันมันก็จะช็อต
กายกับใจเหมือนกัน ถ้าเราแยกไม่ออกมันก็จะช็อต
ช็อตกันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
แปรปรวน แตกดับ ตลอดเวลา
ออกมาในรูปของความไม่สบายใจ
ความพอใจ ความไม่พอใจ
ความชอบใจ ความเสียใจ ความเศร้าใจ ความน้อยใจ
อันนี้หมายความว่ามันเกิดการช็อตระหว่างรูปกับนาม
แต่เราไม่รู้ เพราะเราไม่เคยฝึกวิปัสสนา
วิปัสสนาจึงต้องแยกรูปกับนามให้ชัด
แต่ไม่ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง
ให้อยู่คู่กัน แต่อย่าให้มันติดกัน หรือไหลถึงกัน
ยกมือเปลี่ยนใจ
ถ้าไฟมีสายเดียวก็ไม่ทำงาน
แต่ถ้ามีสองสายติดกัน ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก
ต้องให้มันแยกกันให้ชัด
โดยมีฉนวนกั้น อยู่ในระยะช่วงพอดี
สายไฟทั้งสองคือขั้วบวกกับขั้วลบ
ถ้าเป็นรูปเป็นนาม คือขั้วเกิดกับขั้วดับ
ต้องไปด้วยกัน
การทำวิปัสสนายกมือเคลื่อนไหว
เพื่อให้เกิดตัวรู้ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง
ตัวรู้ดั้งเดิมที่ทุกคนมีมา คือตัวรู้ที่เกิดจากวิญญาณ
คือตัวรับรู้โดยธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณ
เรามาสร้างตัวรู้ใหม่ที่เป็นญาณ
แยกออกจากการรู้แบบสัญชาตญาณ
เหมือนกระแสไฟ กำลังดั้งเดิมคือตัว ดิน น้ำ ลม ไฟ
ที่เกิดจากถ่านหิน กระแสน้ำ กระแสลม แสงอาทิตย์
มีการแปรพลังงานออกจากกระแสหลัก
คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ออกมาเป็นกระแสไฟฟ้า
ตัวรู้สึกตัวที่เรายกมือเหมือนกระแสไฟฟ้า
ที่แยกออกมาจากพลังงานเดิมคือสัญชาตญาณ
เวลาเรายกมือแต่ละครั้ง ถ้าเราตั้งสติรู้ทุกครั้ง
ตัววิญญาณก็จะเปลี่ยนเป็นญาณ
วิญญาณทำงานกับรูป ญาณทำงานกับนาม
วิญญาณทำงานกับรูป
ญาณทำงานกับนามโดยตรง
วิญญาณทำงานกับรูป เรียกสัญชาตญาณ
ญาณทำงานกับนามล้วนๆ เรียกปัญญาญาณ
หรือวิปัสสนาญาณ
ผู้ใหม่จึงต้องเพียรในการแยกตัวรู้ออกมาต่างหาก
เรื่อยๆ อย่างมีระเบียบ
ในช่วงที่ยกมือหรือเคลื่อนไหว
เมื่อใดเราเผลอคิดปรุงแต่ง
นั่นหมายความว่ารูปกับนามเข้าไปปนกัน
เหมือนน้ำใสๆ มีอะไรตกลงไป น้ำก็จะใช้ไม่ได้
แม้จะเล็กน้อยก็ตาม น้ำก็จะถูกปรุงแต่ง
หน้าที่ของเราต้องกำหนดรู้ทุกข์
เพราะร่างกายเป็นที่ตั้งของทุกข์
รูปเป็นทุกข์ตามธรรมชาติ
การที่เราจะมีจิตเข้าไปกำหนดรู้
เป็นการป้องกันไม่ให้ทุกข์ทางรูปไหลไปถึงนาม
ตัวรู้ที่ทำอยู่จึงเป็นญาณปัญญา
ที่ไปกั้นกระแสของสัญชาตญาณไม่ให้ไหลไปสู่จิต
ถ้าไหลไปสู่จิตมันจะสร้างอีกรูปหนึ่งคือนามรูป
แต่ถ้ามันอยู่กับกายเรียกว่ารูปนาม
นามรูปจะออกมาเป็นความคิด
พอใจ ไม่พอใจ ชอบ ไม่ชอบ
เมื่อใดเกิดความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ
แสดงว่าความทุกข์จากรูปได้ไหลเข้าสู่นามเรียบร้อยแล้ว
เราจะต้องดิ้นรนออกให้ได้ ด้วยการกำหนดรู้สึกตัวชัดๆ
แล้วถอยห่างออกไป
สมถะใช้รูปเป็นอารมณ์
วิปัสสนาใช้นามเป็นอารมณ์
ถ้ารู้สึกตัวไม่เป็น รู้สึกตัวชัดขนาดไหน
ก็ยิ่งเครียด เกร็ง ตึง ไม่สบาย
แสดงว่าเป็นกระแสของสมถะ
ไม่ใช่กระแสของวิปัสสนา
สมถะใช้รูปเป็นอารมณ์
แต่วิปัสสนาใช้นามเป็นอารมณ์
สมถะจึงนำไปสู่ มรรค ผล นิพพาน ไม่ได้
เพราะมันมีรูปอยู่
แม้จะเป็นรูปละเอียด เช่นฌานทั้งหลาย
จนกว่าจะเป็นญาณ จึงจะพ้นจากรูป
ฌานในระดับต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าเคยศึกษา
กับอาฬารดาบสและอุทกดาบส
จิตสงบสูงสุด สามารถเหาะเหินเดินอากาศ
แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ตามต้องการ
ทำไมท่านจึงไม่พอใจในภาวะนั้น
เพราะว่ามันยังมีรูปอยู่ ฌานยังเสื่อมได้อยู่
รูปนามหรือนามรูป ต้องเป็นไปตามกฎเดิมของมัน
คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวจึงต้องมีหลายรูปแบบ
เพื่อให้จิตได้รับรู้หลายรูปแบบ
เพราะจิตไม่ชอบความซ้ำซาก
ไม่ชอบการนิ่งอย่างเดียว
ต้องมีอารมณ์เป็นที่เกาะเกี่ยว
ถ้าใช้รูปเป็นที่เกาะเกี่ยวอารมณ์ ยังเป็นสมถะ
เราจึงใช้ตัวรู้คือนามเป็นที่เกาะเกี่ยวอารมณ์
ใช้ความรู้สึกจากมือเป็นอารมณ์
มือที่ยกเป็นรูปก็จริง
แต่เราไม่ได้ใช้ตัวรูปเป็นอารมณ์
เราใช้ตัวนามเป็นอารมณ์
ใช้ความรู้สึกจากมือที่ยกเป็นอารมณ์
ผู้ใหม่ยังไม่เข้าใจให้ใช้รูปเป็นอารมณ์ไปก่อน
ใช้แขนหรือมือที่ยกเป็นอารมณ์ เอารูปเป็นอารมณ์
พอทำบ่อยขึ้น ได้รับการชี้แนะที่ถูกต้องมากขึ้น
ก็เริ่มเห็นความรู้สึกของแขน และแขนเป็นคนละส่วน
ถ้าเราไม่ยกมือ ความรู้สึกว่ายกมือก็ไม่มี
พอเรายกมือ ความรู้สึกว่ายกมือก็มี
ความรู้สึกที่รู้ว่ายกมือ กับมือที่ยก
เป็นอันเดียวกันหรือไม่?
ทุกข์ต้องวิจัย วิเคราะห์ กำหนดรู้
เป็นปริยายะกิจ คือรู้อย่างนี้
บางครั้งก็เป็นอันเดียวกัน
บางครั้งก็เป็นคนละอัน สลับกันไปมา
ขึ้นอยู่กับสติว่าชัดหรือไม่
ถ้าสติไม่ชัด มือกับความรู้สึกที่มือ
รูปกับนามกลายเป็นอันเดียวกัน
เป็นสมถะไป
แต่พอมีสติกำหนดรู้ชัด
รู้อาการของตัวรู้สึกล้วนๆ
ที่ไม่สำคัญว่ามีแขนอยู่เลย
ตัวแขนเปลี่ยนเป็นตัวนามทั้งหมด
นี่คือความยากของมัน
ที่มันช้าเพราะจิตของเราสลับไปมา
สลับเอารูปเป็นอารมณ์ สลับเอานามเป็นอารมณ์
กรองสติด้วยปะชานาติ
ท่านจึงใช้คำว่า ปะชานาติ
“คัจฉันโต วา คัจฉามีติ ปะชานาติ
ฐิโต วา ฐิโตมหีติ ปะชานาติ
นิสินโน วา นิสินโนมหีติ ปะชานาติ
สะยาโน วา สะยาโนมหีติ ปะชานาติ”
คำว่า “ปะชานาติ” คือรู้ชัดๆ รู้ทั่วๆ
รู้สึกชัดๆ ทั่วๆ เป็นตัวนามล้วนๆ
นามล้วนๆ ก่อให้เกิดเป็นปัญญาญาณ
เราสวดทำวัตรเช้า
“เกวะลัสสะ ทุกขันขันธัสสะ
อันตะกิริยา ปัญญาเยถาติ”
ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
จะพึงปรากฏชัด
ปัญญาแปลว่าปรากฏชัด
เป็นความหมายของส่วนที่เป็นนาม หรือปรมัตถ์
ปะชานาติ ขยายมาเป็น สัมปชัญญะ
สัมปชัญญะขยายเป็น ปัญญา
ตัวเดียวกันแต่กรองให้ละเอียดขึ้น
กลั่นตัวรู้ให้เป็นญาณปัญญา
เหมือนไฟ เมื่อก่อนเป็นไฟจากถ่าน
กลายเป็นไฟจากตะเกียงเจ้าพายุ
กลายเป็นไฟแรงเทียน ต่ำสุดจนสูงขึ้นไปตามลำดับ
ยิ่งสูงขึ้นไปก็ยิ่งมีความถี่สูง
ความรู้สึกก็เหมือนกัน
ความรู้สึกที่มีความละเอียดสูง
ตัวรู้ยิ่งละเอียดเท่าใด ก็ยิ่งบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ
ท่านจึงแบ่งญาณไว้ระดับต่างๆ
ตามระดับความหยาบละเอียดของตัวรู้
น้ำมันออกมาครั้งแรกเป็นน้ำมันดิบ
นำมากลั่นเป็นน้ำมันล้วนๆ
แบ่งเกรดเป็น น้ำมันเบนซิน โซล่า โซฮอล พรีเมียม
แบ่งตามเกรดของความบริสุทธิ์
ญาณก็เหมือนกัน
แบ่งตามเกรดของความบริสุทธิ์ของตัวรู้
ยิ่งมีความสะอาดบริสุทธิ์เท่าใด น้ำมันก็ยิ่งมีกำลังสูง
ถ้ามีการปนเปื้อน กำลังก็ลดลง
จิตของเราเหมือนกัน
ถ้าตัวรู้เป็นตัวรู้ล้วนๆ เมื่อใด ก็มีกำลังญาณสูง
ถ้าตัวรู้มีการปนเปื้อนของรูปเข้าไป ก็จะมีพลังต่ำ
ดังนั้นในส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนละรูป
อันหนึ่งเป็นรูปของวัตถุ
อีกอันหนึ่งเป็นรูปของพลังงาน หรือ Energy
ภาษาวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า โมเลกุล กับ Energy
รูปทั้งหมด หยาบ กลาง ละเอียด เป็นโมเลกุล
พลังงานทั้งหมด คือ Energy เป็นนาม
เวทนากายไม่ใช่เวทนาใจ
เมื่อเราเข้าใจ Concept การปฏิบัติอย่างนี้
เราก็มาดัดแปลงการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ
ยืนก็รู้ชัดว่ายืน นั่งก็รู้ชัดว่านั่งอยู่
ไม่ใช่จะรู้ชัดที่มืออย่างเดียว ต้องรู้ทั่วเนื้อทั่วตัว
ในร่างกายของเราขณะนั่ง
นอกจากมือที่ยกแล้ว มีอย่างอื่นอีก
เช่น ความหนักหน่วงในอิริยาบถที่เราทับอยู่
ก็เป็นความรู้สึก
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
ที่กำลังกระทบร่างกายอยู่ ก็เป็นความรู้สึก
แต่เป็นความรู้สึกหนักที่กายหรือใจ?
เบาที่กายส่วนเดียว หรือใจไปร่วมเบาด้วย?
สบายที่กายส่วนเดียว หรือสบายที่ใจด้วย?
นี่คือข้อยากของมัน
ถ้าเราไม่สังเกต ไม่แยบคาย
เราก็ไปสำคัญความสบายกาย ว่าเป็นความสบายจิต
เราก็เสพความสบายจิต
เวลาที่เกิดเหน็บชา หรือความหนักหน่วงที่มันกดทับอยู่
ถ้าเราไม่สังเกตแบบแยบคาย
เราก็ไปเข้าใจว่าความหนักหน่วงถ่วงทับ เป็นเรา
เราจึงรู้สึกไม่สบายใจกับมัน
เรียกว่ามันเกิดการปนปลอมเข้าไปแล้ว
เราจึงขยับหาให้ชัดว่า
ขณะที่เราหนักหน่วง อะไรหนักกันแน่?
กายหรือใจ? รูปหรือนาม?
คนจิตอ่อนชอบเสพความสงบ
วิธีการหลวงพ่อเทียนเป็นวิธีที่วิเศษมาก
เพราะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยน
ทดสอบได้ตลอดเวลา
ต่างจากวิธีอื่นที่ต้องนั่งนิ่งๆ ในอิริยาบถเดียว
กดทับดำดิ่งอยู่กับความสงบ ความไม่รู้อะไร
ซึ่งเป็นธรรมเนียมต่อเนื่องกันมา
ของฤาษีทั้งหลายที่ชอบหลับตา
เมื่อจิตอ่อนก็เสพความสงบ
คนที่จิตแข็งตาจะใสแป๋ว
หลวงพ่อเห็นตาหลวงพ่อเทียนแทบจะไม่พับเลย
แต่คนจิตอ่อนจะพับตาบ่อย และหลับ
รูปกับนามจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก
แต่ถ้าเราปฏิบัติวิปัสสนาหรือสมถะจะต่างกัน
สมถะเน้นความเป็นระเบียบ เน้นความสำคัญของรูป
แต่วิปัสสนาเน้นความสำคัญของนาม
ที่ออกมาในรูปของการตื่นรู้เบิกบาน
แต่สมถะจะออกมาในรูปของความดำดิ่ง นิ่ง เงียบ สงบ ลึก
ทุกคนต้องผ่านมาอย่างนั้น
จนกว่าจะสามารถประคับประคองจิตให้ตื่นรู้
เปิดอินทรีย์ทั้งหมดให้กว้างขึ้น ต่อเนื่องมากขึ้น
จิตก็จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
จิตที่อ่อนแอเคยเสพสุขในความสงบ นิ่ง ดำดิ่ง
ก็จะคลายตัว มานะทิฏฐิก็จะคลายลง
มานะทิฏฐิมาพร้อมกับการที่เราไปยึด ไปเสพ
แต่เมื่อใดที่การยึด การเสพ คลายตัวลง
ทิฏฐิมานะก็จะคลายตัวตามลำดับ เพราะมันมาด้วยกัน
ตื่นรู้เบิกบานไม่กดเกร็งเพ่งจ้อง
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าวิเศษมาก
แต่คนที่ยังไม่เข้าใจชัดเจนในแง่ของสัมมาทิฏฐิ
ก็จะสลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้
รูปบ้าง นามบ้าง สมถะบ้าง วิปัสสนาบ้าง
มันก็ไม่ผิดไม่ถูก แต่ว่าเราต้องการอะไรจริงๆ
เราต้องการการตื่นรู้เบิกบาน
หรือเราต้องการสงบ หลับ ดำดิ่ง
สงบ หลับ ดำดิ่ง เป็นลัทธิของฤาษี
เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติที่เรายังไม่รู้
ก็ต้องทำตามไปก่อน
ภาวะตื่นรู้เบิกบาน สะอาด สว่าง สงบ ว่องไว สดใส
เป็นลักษณะของวิปัสสนา เป็นลักษณะของพุทธะ
ซึ่งเราต้องการไปสู่เป้าหมายอันนั้น
แต่เราก็ให้โอกาสกัน บางครั้งคุณอาจจะอ่อนแออยู่บ้าง
คุณก็ต้องรู้ว่าคุณอ่อนแอ อย่าไปสำคัญผิดว่าเราเข้มแข็ง
ต้องยอมรับความเป็นจริง
ถ้าคุณไม่ยอมรับความเป็นจริง
คุณอ่อนแอแล้วคุณคิดว่าคุณเข้มแข็ง
มันก็แก้ไขไม่ได้แล้ว เรียกว่าสำคัญผิด
เป็นมิจฉาทิฏฐิ พัฒนายาก
พระพุทธเจ้าจึงเน้นการตื่นรู้เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติ
ความเบิกบานเป็นวิมุตติสุข เราต้องไปสู่เป้าหมายนั้น
หมายความว่าเราต้องพอกพูนกำลังสติปัญญา
พอกพูนกำลังของสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้อง