อบรมวิปัสสนากรรมฐาน ”ไตรลักษณ์ สู่ไตรสิกขา” โดย หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (พระอาจารย์อาวุโสในสายงาน หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคมฯ ศูนย์ ๒ ปทุมธานี เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐
#ศีลคือหิน
ศีลคือศิลาแปลว่าหิน
เราเอาชื่อของหินมาตั้งเป็นศีล
หินมีลักษณะดังนี้
๑ แข็ง หมายถึงความเข้มแข็ง
๒. ไม่หวั่นไหว แตกผุยาก
๓. จมลงก้นน้ำ
๔. ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม
เวลานำไปตากแดดก็จะร้อน อยู่ในน้ำก็จะเย็น
ท่านจึงนำลักษณะของหินมาเป็นชื่อของศีล
คนที่มีศีลจึงเป็นคนที่
๑. หนักแน่น
๒. ไม่หวั่นไหวต่ออะไรง่ายๆ
๓. มีความลึกซึ้ง
๔. เป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
เวลามีอะไรมากระทบกระแทก
ก็ไม่แตกง่าย มีสภาพที่คงที่
ผิดศีลคือผิดปกติ
ศีลห้าที่บัญญัติไว้
เราคุ้นกันจนเป็นธรรมเนียมของชาวพุทธ
ทำไมจึงต้องนำเรื่องการฆ่าสัตว์มาไว้ข้อที่หนึ่ง
คนทุกคนโดยสัญชาตญาณต้องการความปลอดภัย
แม้แต่สัตว์ตัวเล็กๆ เช่นยุงที่บินมาเกาะเรายังกลัวตาย
ในแง่ของศีลที่ว่าห้ามฆ่าสัตว์นั้น ยังแคบไป
ถ้าเรานั่งแล้วไม่สบาย อึดอัด ปวดแข้ง ปวดขา
ลักษณะที่ปวดเมื่อยนี้ถือว่าไม่ปกติ
เพราะร่างกายปกติจะไม่ปวด
ศีลโดยปรมัตถ์จึงแปลว่าปกติ
อะไรก็ตามที่ผิดปกติไป
โดยปรมัตถ์ถือว่าผิดแล้ว
เวลาเรานั่งสมาธินานๆ
ร่างกายเราเกร็ง ทื่อ ปวด
แล้วเราไม่ทำให้ปกติ
ถือว่าร่างกายผิดศีลแล้ว
ตามปกติร่างกายเราไม่ได้ง่วง
ถ้าคนไหนง่วงจนคอพับคอเอียง
ถือว่าผิดปกติ คือผิดศีลในแง่ของปรมัตถ์
ร่างกายผิดศีลนานไปก็จะไม่สบาย
คนที่ผิดศีลบ่อยๆ ก็จะเป็นคนป่วย
เพราะสั่งสมความไม่สบายทีละนิดๆ
เราต้องคอยรักษาร่างกายให้เป็นปกติ
เพราะร่างกายปกติมันไม่ค่อยสบายอยู่แล้ว
เดี๋ยวเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว
เราต้องรักษาร่างกายให้พอทนได้
ถ้าสบายเกินไปก็ผิดปกติ
ไม่สบายเกินไปก็ผิดปกติ
ให้มันสบายนิดหน่อยก็พอ
อาจจะไม่สบายบ้างแต่อย่าให้มากเกินไป
ถ้าใครรักแต่ความสบาย
ไม่ให้ร่างกายทุกข์ยากลำบาก
ไม่ยอมให้ทำอะไรหนัก
ในที่สุดร่างกายก็ผิดปกติ
อ่อนแอไม่มีภูมิต้านทาน
ถ้าใครทำให้ร่างกายผิดปกติบ่อยๆ
ร่างกายสั่งสมความเจ็บป่วย
ในที่สุดร่างกายก็ไม่สบายเป็นโรคภัยไข้เจ็บ
ท่านจึงให้รักษาศีลข้อที่หนึ่ง
ทั้งฝ่ายสมมติและปรมัตถ์
โดยปรมัตถ์หมายความว่าทำตนเองให้พอดี
อย่าให้ลำบากเกินไป และอย่าให้สบายเกินไป
โดยสมมติหมายความว่า
เราไม่นำความลำบากที่เกิดจากตัวเอง
ไปทำให้คนอื่นลำบากทั้งกายและใจ
ไม่เช่นนั้นจะเป็นการผิดศีล
ศีลข้อที่หนึ่งไม่ต้องถึงขนาดฆ่าแกงกัน
แต่ทำให้เขาลำบากใจก็ถือว่าผิดศีลแล้ว
นั่งสมาธิอยู่ก็ผิดศีลได้
ศีลปรมัตถ์จึงมีความละเอียดกว่าศีลสมมติ
เรานั่งสมาธิก็สามารถผิดศีลได้ถ้ามันเกินพอดี
ในแง่ของวิปัสสนาเราเน้นที่ความพอดี
ในแง่ของสมถะหรือตบะ
จะเกินพอดีหรือต่ำกว่าพอดีก็ไม่เป็นไร
เพราะถือว่าเป็นการฝึกฝนและการบำเพ็ญ
ให้ร่างกายได้รู้จักสุขทุกข์ระดับหนึ่ง
ค่อยมาปรับหาความพอดี
ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาถึงหกปี
แล้วพบว่าไม่ใช่ทาง ท่านจึงมาหาทางของตัวเอง
เป็นทางที่พอดีที่ร่างกายไม่ทุกข์ไม่สุขเกินไป
พอดีและพอทนได้
ท่านมานั่งเฝ้าดูเพียงคืนเดียวก็ทะลุหมดเลย
เมื่อก่อนท่านไม่รู้
คิดว่าร่างกายจิตใจทำให้เกิดกิเลส
ตามความจริงร่างกายและจิตใจไม่ได้มีกิเลส
แต่ความไม่รู้จักกายใจตามความเป็นจริงต่างหาก
ที่เป็นเหตุของทุกข์ ท่านใช้คำว่าอวิชชา
เพราะไม่รู้จักกายใจตามความเป็นจริง
ว่ามันเป็นเพียงธาตุสี่ขันธ์ห้า
ไปรู้จักว่าร่างกายนี้เป็นเรา
ก็เลยมีของของเรา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของเรา
ถ้าใครมากระทบของเราปั๊บก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที
ที่จริงแล้วร่างกายไม่ใช่ของเรา
มันเป็นธรรมชาติที่เกิดจากวิบากกรรม
ถ้าไม่มีวิบากเราก็ไม่ได้เกิดมา
เราจึงนำกุศลส่วนหนึ่งที่ได้เกิดมา
และอกุศลส่วนหนึ่งที่มีทุกข์ติดกายมาด้วย
มาศึกษาเรื่องศีล
ศีลข้อที่หนึ่งบอกว่า อย่าเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น
การเบียดเบียนตัวเองผิดศีลปรมัตถ์
การเบียดเบียนผู้อื่นผิดศีลสมมติ
บางคืนเรานอนไม่หลับ ถือเป็นการผิดศีลเช่นกัน
ลักทรัพย์ตัวเองผิดศีลปรมัตถ์
ศีลข้อที่สองไม่นำสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา
มาเป็นของของเรา
เราสำคัญผิดแต่แรกว่าร่างกายนี้เป็นของเรา
จึงมีสิ่งของของเราตามมา
ถ้าใครมาละเมิดสิ่งของของเราถือว่าผิดศีล
แต่เรากลับละเมิดทรัพย์ของตัวเอง
ด้วยการเล่นการพนัน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
จนทำให้ตัวเองลำบาก
เป็นการขโมยทรัพย์ของตนเอง
ในมิตินี้เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงกัน
การนำความรู้ต่างๆ มาใช้ในทางที่ไม่ถูก
ขโมยความรู้ของผู้อื่น
เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อศึกษา
ให้ตนเองเกิดความรู้
เป็นการสร้างความรู้ของเราเอง
ศีลข้อนี้ในแง่สมมติหมายความว่า
เราไปลักสิ่งของของคนอื่น
ในแง่ปรมัตถ์คือเราลักของตัวเอง
ทำให้ของตัวเองเสียหาย สิ้นเปลือง
ศีลและสติเป็นเรื่องเดียวกัน
ศีลข้อที่สามในแง่ของปรมัตถ์
เช่น การละเมิดสิทธิของผู้อื่น
มีคนมาค้นหาสิ่งของในห้องเรากระจัดกระจาย
ในแง่สมมติเป็นการผิดสามีภรรยาของผู้อื่น
ในแง่ปรมัตถ์ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบาย
ที่เราไปละเมิดในสิทธิของผู้อื่น
เช่นยืมของเขาไปใช้แล้วไม่เก็บที่เดิม
ศีลกับสติจึงเป็นเรื่องเดียวกัน
ถ้านำมาใช้ในด้านสมมติเรียกว่าศีล
ถ้านำมาใช้ในด้านปรมัตถ์เรียกว่าสติ
การรักษาศีลจึงต้องรักษาที่หัวใจของศีล
หัวใจของศีลคือหิริโอตตัปปะ
พระฤาษีออกข้อสอบเรื่องศีล
หลังจากที่ลูกศิษย์เรียนวิชามา ๗ ปี
ให้ลูกศิษย์แต่ละคน
ไปขโมยของมาคนละ ๑ ชิ้น
แต่มีข้อแม้ว่าอย่าให้คนเห็น
ถ้ามีคนเห็นถือว่าสอบตก
ไม่ได้ระบุว่าเป็นสิ่งของมีค่าหรือไม่
แต่ให้เป็นของๆ เขา
ลูกศิษย์แต่ละคนก็กระจายกันไป
ขโมยของกันคนละชิ้นกลับมาส่ง
มีเพียงลูกศิษย์คนเดียวที่ไม่มีของมาส่ง
พระฤาษีจึงถามว่าทำไมจึงขโมยไม่ได้
ลูกศิษย์จึงตอบว่า
“ผมไปขโมยของๆ ใครก็มีแต่คนเห็น
แม้แต่บ้านที่ห่างไกลเพื่อนบ้าน
และไม่มีคนอยู่ในบ้าน ก็ยังมีคนเห็น
เพราะผมเองก็เป็นคน
ผมเห็นตัวเองเวลาลักขโมย
ผมจึงขโมยของไม่ได้เลย
ผมยอมสอบตก”
พระฤาษีจึงให้ลูกศิษย์คนนี้
สอบผ่านคนเดียว
นอกนั้นสอบตกหมด
เพราะเขามีหิริโอตตัปปะ
ใครก็ตามที่มีหิริโอตตัปปะ
คนนั้นถือว่ามีหัวใจของศีลโดยแท้
ศีลทั้งหมดรวมอยู่ที่นี่
การอายชั่วกลัวบาปข้างนอก
ถือว่ายังเป็นสมมติอยู่ เพราะกลัวคนอื่นเห็น
แต่ถ้ากลัวตัวเองเห็นเป็นศีลปรมัตถ์ เป็นหัวใจของศีล
เมื่อเรามีความอายชั่วกลัวบาป
ก็จะละอายใจไม่กล้าละเมิดอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง
สัมมาสติต้องมีหิริโอตตัปปะ
สติที่เราเจริญอยู่ ถ้าเป็นสัมมาสติแล้ว
จะต้องก่อให้เกิดศีลตัวนี้ คือหิริโอตตัปปะ
ถ้าสติใดๆ ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติมานานขนาดไหนก็ตาม
แต่ในจิตใจของเรายังไม่เกิดหิริโอตตัปปะ
ถือว่าสตินั้นไม่เป็นสัมมาสติ
หนังสือนวโกวาท
ที่ผู้บวชใหม่ทุกคนจะต้องศึกษาหน้าแรก
คือเรื่องสติความระลึกได้
สัมปชัญญะคือความรู้ตัว
ธรรมสองประการนี้เปรียบเสมือนพ่อแม่
พ่อแม่ต้องรักษาลูกตามหน้าที่
เมื่อสติสัมปชัญญะดีแล้ว
จะต้องก่อให้เกิดหิริโอตตัปปะคือรักษาใจ
เพราะความชั่วและบาปทำให้ใจเสื่อม
ถ้ามีหิริโอตตัปปะก็จะรักษาใจได้
สตินั้นก็จะเป็นสัมมาสติ
เพราะมีตัวยืนยันคือหิริโอตตัปปะ
อันได้แก่ศีล
ศีลก่อให้เกิดสมาธิได้อย่างไร?
หิริโอตตัปปะเป็นธรรมที่รักษาและคุ้มครองคนในโลกได้
และธรรมสองประการนี้จะต้องดำเนินไปสู่ด้านภายใน
จะต้องก่อให้เกิดธรรมประการต่อมา คือขันติโสรัจจะ
ขันติโสรัจจะจึงเป็นหัวใจสำคัญของสมาธิ คือความอดทน
ในวิธีการเคลื่อนไหวจึงต้องใช้ความอดทนเป็นอันมาก
๑. อดทนต่อความขี้เกียจ
๒. ความง่วงเหงาหาวนอน
คนไหนนั่งง่วงถือว่าไม่มีความอดทน
เพราะยังง่วงอยู่ ถ้าอดทนแล้วต้องไม่ง่วง
๓. ความหงุดหงิด อึดอัด ขัดเคือง
๔. ความฟุ้งซ่าน
๕. ความคิดปรุงแต่ง
ธรรมที่ทำให้ร่างกายและจิตใจ
มีความงดงามคือขันติโสรัจจะ
ส่วนใหญ่มีความอดทนแบบหน้าดำคร่ำเครียด
เกร็ง บังคับ บีบคั้น ร่างกายไม่สบาย จิตใจก็ไม่งาม
อดทนแบบขันติโสรัจจะ
เป็นการอดทนอย่างงดงาม ผ่อนคลาย
แสดงว่ารักษาศีลมาถูก
ความอดทนอย่างผ่อนคลายเป็นหัวใจของสมาธิ
เรียกว่าขันติโสรัจจะ (โสรัจแปลว่างดงาม)
ขันติโสรัจจะนี้จะยืนยันว่าเรารักษาศีลมาถูกหรือไม่
คือความอดทนอย่างเสงี่ยมงาม
เมื่อรักษาศีลถูกเกิดหัวใจของสมาธิ
ทำให้เกิดหัวใจของปัญญา
คุณธรรมพื้นฐานสี่ประการ
หัวใจของปัญญา ในหน้าแรกของหนังสือนวโกวาท
๑. ทำดีให้คนอื่นก่อน
๒. ตอบแทนความดีของคนอื่น
เช่น พ่อแม่ คนในแผ่นดินทุกคน ต้นไม้ใบหญ้าภูเขา
ถ้าเราคนเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยบุคคลทั้งหลาย
ต้องอาศัยทหา ร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ
เมื่อเรานึกถึงคุณของท่านเหล่านี้
ก็พยายามทำตนให้ดี มีความสุข ไม่มีปัญหา
ชื่อว่าผู้มีปัญญา
พระอัครสาวกที่มีความกตัญญูสูงสุด คือพระสารีบุตร
ซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญารองมาจากพระพุทธเจ้า
เพราะท่านเป็นคนมีความกตัญญู
อาจารย์คนแรกของท่านคือพระอัสสชิ
ถ้าท่านได้ข่าวว่าพระอัสสชินอนอยู่ที่ไหน
ท่านจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น เพื่อบูชาคุณอาจารย์
คนที่มีปัญญาคือคนที่มีความกตัญญูเป็นหัวใจ
เราต้องกตัญญูต่อร่างกายของเราเอง
ที่ให้เราใช้ ต้องดูแลให้ดี ไม่ให้ทุกข์เกินไป
คุณธรรมพื้นฐานสี่ประการ
๑. สติสัมปชัญญะ เปรียบเสมือนพ่อแม่ที่จะรักษาเราไปจนหมดทุกข์ นิยามของพระอรหันต์คือผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ทุกข์อีกต่อไป พ่อแม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์
๒. หิริโอตตัปปะ
๓. ขันติโสรัจจะ
๔. กตัญญูกตเวที
การที่เราจะเปลี่ยนไตรลักษณ์ให้เป็นไตรสิกขาได้สำเร็จ
จะต้องมีคุณธรรมพื้นฐานสี่ประการนี้ให้ได้ก่อน
จึงจะถือว่าเป็นการรักษาศีลได้ทั้งหมด
วิบากกรรมโทรมาทวงหนี้
ที่เราสมาทานศีลในวันนี้
สิ่งใดที่จะเป็นอุปสรรคต่อการอบรมปฏิบัติ
ในช่วงเจ็ดวันนี้ เราต้องพยายามแก้ไขสิ่งนั้น
เราต้องเก็บโทรศัพท์ เพื่อตัดสายใยของวิบากกรรม
เพราะวิบากกรรมจะติดตามเรามาขอส่วนบุญ
ถ้าเขารู้ว่าเรามาบำเพ็ญวิปัสสนา
บางทีเราเพิ่งลงมือทำยังไม่ได้อะไรเป็นเรื่องเป็นราว
เขาโทรมาทวงหนี้แล้ว
บางคนรู้ว่าจะเก็บโทรศัพท์
ก็เตรียมมาสองสามเครื่องเลย
เราต้องมีความอดทนในการตัดเยื่อใยบางสิ่งบางอย่าง
เพราะมันเป็นช่วงของการฝึกฝน
ชีวิตที่สะดวกสบายเกินไป
ทำให้เราล่วงละเมิดศีลได้ง่าย
ในการอบรมเราต้องการส่งเสริม
โพธิปัญญาให้เติบโตขึ้น
ในแต่ละครั้งที่มาอบรม
เหมือนการรดน้ำต้นโพธิปัญญาให้เติบโต
จนวันหนึ่งก็จะออกดอกผล
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์
ไม่ว่าต้นไม้นั้นจะเป็นต้นอะไรก็ตาม
แต่มันเป็นต้นโพธิปัญญา
โพธิปัญญาคือสติสัมปชัญญะ
การที่เราคอยกระตุ้นให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ
โพธิปัญญาก็เติบโต
แต่ก็ต้องมีอุปสรรค เหมือนเราปลูกต้นไม้
ต้องมีหนอนแมลงมากัดกิน
ช่วงปฏิบัติมีความขี้เกียจ ความเบื่อ ความง่วง
ความอึดอัดขัดเคือง ความฟุ้งซ่าน เข้ามาเบียดเบียน
เพราะมันเป็นเจ้ากรรมนายเวรเก่าของเรา
ที่มาขอส่วนบุญ
เมื่อรู้เท่าทันเราก็ตั้งใจระมัดระวัง
จุดสกัดไตรลักษณ์
การภาวนาในวิธีการหลวงพ่อเทียน
ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย
เราต้องเผชิญกับความจริงไม่หลบหนี
ความจริงคือ
๑. ความไม่สบายทางกายและใจ
ที่ต้องเผชิญ ไม่หลบหลีกเลี่ยง ต้องแก้ไขไป
๒. ความสบายที่เราต้องไม่เข้าไปเสพ
ไม่ติด ไม่ยึด ไม่จมอยู่กับความสบาย
๓. บางครั้งเหมือนไม่มีอะไร โล่งๆ สบาย เฉยๆ
ร่างกายรู้สึกสบาย จิตใจรู้สึกสบาย
ในจุดนี้จะทำให้เราเข้าไปเสพได้ง่าย
ความจริงมีสามอย่าง
๑. ความทุกข์ในอริยสัจจ์
๒. เมื่อมีความทุกข์แล้ว ต้องมีการปลดเปลื้องแก้ไข
นำไปสู่ความสบาย
๓. ปลดเปลื้องแก้ไขแล้วก็นำไปสู่ความพอดี
สักพักหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงใหม่
ความจริงลักษณะนี้คือกฎของไตรลักษณ์
ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาในรูปแบบต่างๆ
เราจึงต้องกระตุ้นสติสัมปชัญญะให้มีกำลังอยู่เสมอ
เพื่อให้รู้เท่าทันความจริงนี้
เมื่อรู้เท่าทันความจริงของไตรลักษณ์ทุกครั้ง
ก็จะสามารถจำกัดความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ของร่างกาย ไม่ให้เข้าไปสู่จิต
จิตที่จะเกิดปัญญาเป็นจิตที่พอทนได้
แต่ถ้ากำลังของสติสัมปชัญญะ
ที่เราทำไม่เข้มแข็งพอ
ไม่สามารถสกัดกั้นกำลังของไตรลักษณ์
ที่มันอยู่ในกายไว้ได้ มันก็จะซึมเข้าสู่จิต
ก็จะออกมาเป็นความคิดเป็นนิวรณ์
ทุกครั้งที่ความคิดหรือนิวรณ์เกิดขึ้น
ให้รู้ว่าเราไม่สามารถจัดการกฎของไตรลักษณ์
ของร่างกายไม่ให้ไหลเข้าสู่จิตได้
ดังนั้นการทำความเพียร เราจึงทำแบบสบายๆ
ไม่นั่งนานเกินไป ไม่เดินนานเกินไป
สลับยืน เดิน นั่ง นอน ไปเรื่อยๆ
เพื่อสมดุลระหว่างความสบายไม่สบายให้เท่าเทียมกัน
แล้วจิตของเราก็จะราบรื่น
เป็นเหตุใกล้ให้เกิดโพธิปัญญา