พระธรรมเทศนาคอร์ส “การศึกษาไตรลักษณ์ เพื่อเปลี่ยนเป็นไตรสิกขา” ณ ยุวพุุทธิกสมาคมฯ ปทุมธานี วันที่ ๒-๘ สิงหาคม ๒๕๖๐ โดย หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, พระพุทธยานันทภิกขุ, หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, Direk Saksith, ดิเรก ศักดิ์สิทธิ์, Deva Nanda
คลิปนวัตกรรมแห่งสติ๕๒ เย็นวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๐
คลิปนวัตกรรมการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว๕๒ (เย็น ๕ ส.ค. ๖๐) ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคมฯ (ศูนย์ ๒ ปทุมธานี) วันที่ ๒ – ๘ สิงหาคม โดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบรูปธรรม
แต่พระพุทธเจ้าค้นพบทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ที่เราปฏิบัติกันอยู่นี้เป็นเรื่องทันสมัย
เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้
โลกยิ่งเจริญมากเท่าใด
คนยิ่งหันหลังให้ศาสนามากเท่านั้น
ยิ่งวัตถุปราณีตมากเท่าใด
คนยิ่งยึดติดมากเท่านั้น
บางคนยังทำความรู้สึกตัวต่อเนื่อง
ในระหว่างวันไม่ได้
ทำได้แต่ในรูปแบบเช้าเย็น ยังไม่พอ
เราต้องทำตัวรู้นอกรูปแบบให้ต่อเนื่อง
เมื่อก่อนเราเคลื่อนไหวหยิบจับอะไร
จะเน้นที่วัตถุที่สอง สาม สี่ นอกตัว
แต่พอเรามาศึกษาเรื่องวิปัสสนานี้
เราต้องการกลับมาหาวัตถุที่หนึ่ง
คือรูปกับนาม
ถ้าจิตไปอยู่กับวัตถุที่สอง สาม สี่
จิตของเราก็จะถูกแบ่งแยกออกไปจากตัว
ก็จะไปให้น้ำหนักกับวัตถุที่สัมผัส
แม้แต่หนังสือสวดมนต์ที่อยู่ใกล้ตัว
พอไปขึ้นโปรเจ็กเตอร์ จิตของเราไปอยู่ที่นั่น
ทางที่ดีที่สุดคือให้จำ
เวลาที่เราเกี่ยวข้องกับตัวเอง
ให้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ในตัวมากที่สุด
เพื่อที่จะได้สัมผัสส่วนต่างๆ ของความรู้สึก
ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด
จิตของเราที่เข้าไปเห็นความรู้สึกสัมผัสต่างๆ
ก็เริ่มเห็นอะไรชัดเจนสว่างขึ้น
ไมใช่เป็นการสร้างจินตนาการ
แต่เป็นการสัมผัสลงไปในความรู้สึก
แทนที่เราจะใช้วัตถุนอกตัว
เช่น ลูกประคำ เทียน การบริกรรม ลูกแก้ว
การสร้างจินตนาการขึ้นมาเป็นรูปของสัญญาต่างๆ
ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุที่สองคือนามรูป
ถึงแม้จะอยู่ในกายในใจก็ตาม
แต่ก็ยังเป็นการใช้สัญญา
สัญญาอยู่ในขันธ์ห้า
ตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ เสื่อมได้
แต่พอมาจับที่สัญญาใหม่ที่เราสร้างขึ้นมา
เรียกว่าเป็นตัวตื่นรู้หรือตัวรู้สึก
Awareness คือความรู้สึกตัวด้วยสัญญา
ไม่ใช่ด้วยความรู้สึกตัว
เราจึงมาใช้คำใหม่ว่า Mindfulness (เต็มใจ)
Aware เป็นการสังวร ระมัดระวัง
ตระหนักรู้ในอีกสิ่งหนึ่ง
ซึ่งไม่ใช่การเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตโดยตรง
ในการฝึกนั้น เราจึงตั้งจิต
ให้อยู่ในลักษณะของความรู้สึกตัว ความรู้สึกใจ
ซึ่งเป็นสาระของความรู้สึกที่สัมพันธ์กัน
ระหว่างรูปกับนาม
สมมติว่าเราจุดเทียนไขขึ้นหนึ่งเล่ม
สาระที่เป็นวัตถุคือตัวเทียน
สาระที่เป็นพลังงานคือดวงไฟ
ดวงไฟไม่ใช่ปัจจัยที่เราใช้มันโดยตรง
แต่เราใช้แสงไฟ
ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เปรียบเสมือนเทียน
ความรู้สึกจากกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
เปรียบเสมือนดวงไฟ
ทั้งสองอย่างมาสัมพันธ์กัน
เป็นพลังงานและแสงไฟ
คือตัวสภาวะที่เป็นทุกขเวทนา
เรารับรู้ได้ เป็นความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้น
ตัวนี้ต่างหากที่เรียกว่าใจหรือวิญญาณ
จิตวิญญาณยังคงอยู่ในขันธ์ห้า
ต่อเมื่อเรามาใช้ญาณ
มันถึงแยกออกมาเป็นตัวรู้ต่างหาก
สิ่งแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
“จักขุงอุทะปาทิ” ได้แก่ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง
ทั้งสี่อย่างนี้เป็นแสงสว่าง
ตัวรู้ให้แสงสว่างภายใน
คือสติสัมปชัญญะและปัญญา
เรามารวมทั้งสี่อย่าง
ได้แก่ ญาณ ปัญญา วิชชา อโลกะ เป็นตัวรู้
ตัวรู้มีสามระดับ ตัวรู้ระดับหยาบ กลาง ละเอียด
ตัวรู้สามระดับในฝ่ายรูป
๑. ความรู้สึกที่เราทนไม่ได้ในส่วนหยาบ ก็ต้องเปลี่ยนออกไป
๒. ความรู้สึกตัวในกายที่เราทนได้ เราก็ตามดูต่อไป
๓. ความรู้สึกตัวที่เราไม่ต้องทน ละเอียด เรียกว่าสุขเวทนา
ระดับกลางและระดับหยาบ
เป็นทุกขเวทนาทางกายนั่นเอง
ระดับละเอียดเป็นสุขเวทนาทางกาย
เรามักรู้แค่สองระดับ คือระดับที่ทนได้และทนไม่ได้
แต่ตัวที่เราไม่ต้องทนหรือทนง่าย คือสุขเวทนา
ตัวนี้ต่างหากที่เราต้องการ
แต่มันก็ยังเป็นเพียงเวทนา
ตัวรู้สามระดับทางจิต
๑. ระดับหยาบ เราอยากกินจนทนไม่ได้ จึงต้องกินเลย
อยากตบจนทนไม่ได้ จึงตบหน้ามันเลย
อยากด่าจนทนไม่ได้ จึงต้องด่าไปเลย
ไม่สามารถยั้งจิตอยู่ คือความรู้สึกไม่ชอบมากๆ
๒. ระดับกลาง ขุ่นอยู่ในใจไม่ได้กระทำออกมา
ยังพอระงับได้อยู่ จะปะทุแรงขึ้นหรือไม่แล้วแต่เหตุปัจจัยประกอบ
ถ้าปะทุแรงขึ้นก็จะกลายเป็นความรู้สึกที่ทนไม่ได้ ต้องทำตาม
๓. ระดับละเอียด ความรู้สึกทางใจที่ทนได้สบาย คือความรู้สึกชอบ
ความรู้สึกที่ทนไม่ได้และพอทนได้ (ทุกขเวทนา) เป็นการเกิด
ความรู้สึกที่ไม่ต้องทน (สุขเวทนา) เป็นการดับ
สุขเวทนาเปลี่ยนไปตามกฎของอนิจจัง
การดับคือความสุข กลายมาเป็นหยาบ
คือความรู้สึกที่พอทนได้
พอหยาบขึ้นไปอีก กลายเป็นทนไม่ได้
ความรู้สึกหยาบ กลาง ละเอียด
จึงเป็นความรู้สึกเดียวกัน
แต่ทั้งหมดเป็นอาการเกิดและดับ
ในตัวของมันเองในกระบวนการเดียวกัน
การเกิดและการดับจึงเป็นกระบวนการเดียวกัน
แต่แบ่งชั้นความรู้สึก
ความรู้สึกชอบ ไม่ค่อยชอบ ไม่ชอบมาก
ก็เป็นกระบวนการเดียวกัน
ถ้าเห็นความสัมพันธ์ทั้งสามอย่างนี้ชัดเจน
เรียกว่าเห็นการเกิดดับทางอารมณ์
เมื่อเราเห็นการเกิดดับทั้งสามระดับ
ของกาย เวทนา จิต และอารมณ์แล้ว
เราก็จะทบทวนไปมา
เห็นการเกิดดับของเวทนาทั้งสามระดับ
มากขึ้น ชัดขึ้น นานขึ้น
ความรู้สึกที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้
เรียกว่าเป็นสัญญาใหม่
เป็นตัวที่พัฒนาขึ้นมาจากขันธ์ห้า
แต่อยู่นอกเหนือขันธ์ห้า
เหมือนต้นไม้กับผลไม้
ผลไม้ไม่ใช่ต้นไม้ ต้นไม้ไม่ใช่ผลไม้
แต่มันเกิดมาจากส่วนเดียวกัน
ถ้าต้นไม้ไม่มีผล มันจะไม่มีเมล็ด
ความรู้สึกที่หยาบและกลาง
คือต้นของมัน
ความรู้สึกละเอียดคือความสบาย
เป็นผลของมัน
ผลมีสองลักษณะ
ผลที่เป็นรูป (ยังอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์)
และผลที่เป็นนาม (อยู่นอกเหนือกฎไตรลักษณ์)
ในส่วนที่อยู่นอกเหนือกฎไตรลักษณ์นี้
เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
ความรู้สึกที่หยาบ เช่นรักมาก ชังมาก
กลับมาเป็นรูป เรียกว่านามรูป
ความรู้สึกสบายผ่อนคลาย
ก็เป็นนามรูปอีกชนิดหนึ่ง
แต่เราสามารถแยกออกได้ว่า
ความรู้สึกพอใจอย่างหยาบและกลาง
เป็นอาการที่ร้อน
ความพอใจที่ไม่ต้องทน
คือเย็นสบาย ผ่อนคลาย มีความสุข
เป็นอาการที่เย็น
ถ้ามีความรู้สึกตัวเข้าไปรับรู้
และไม่เข้าไปสำคัญมั่นหมาย
ว่าความรู้สึกสบายนี้เป็นเรา
มันก็จะตัดเอาตัวนามรูป
ออกจากรูปที่สบายได้เลย
ก็จะเหลือความรู้สึกโปร่ง โล่ง เบาสบายล้วนๆ
แยกนามรูปออก เหลือแต่นามล้วนๆ
ในสติปัฏฐานสูตร
ความรู้สึกระดับหยาบ
จะเน้นที่ปะชานาติ (รู้ให้ชัด, รู้เป็นจุด)
รู้ชัดว่ากำลังยืน เดิน นั่ง นอน
ความรู้สึกระดับกลาง
ท่านใช้คำว่า สัมปชานะการี (รู้ให้ทั่ว)
มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน
เหลียวซ้ายแลขวา เคลื่อนไหว
จนกระทั่งละเอียดลงไป หายใจเข้าออก
พับตา อ้าปาก รู้ให้ทั่ว
ระดับกลางให้รู้ให้ทั่ว
ระดับหยาบรู้ให้ชัด
อารมณ์ทางจิตก็เหมือนกัน
ราคะ โทสะ โมหะ เป็นความรู้สึกหยาบ
ต้องรู้ให้ชัด (ถึงแม้จะเป็นนามรูปแต่ก็มีรูปอยู่)
ความรู้สึกระดับละเอียด
พอเป็นความรู้สึกทั่วพร้อมทั้งหมด
ท่านไม่ใช้ทั้งปะชานาติและสัมปะชานะการี
ท่านใช้คำว่าสิกขาคือศึกษา
ถ้ารู้ทั้งหมดมันจะมีสามวง
วงที่หนึ่งเป็นปะชานาติ
วงที่สองขยายกว้างขึ้นเป็นสัมปะชานะการี
วงที่สามกว้างที่สุดเป็นสิกขา
การรู้จึงมีสามระดับ
ระดับหยาบ (รู้ให้ชัด) คือ ปะชานาติ
ระดับกลาง (รู้ให้ทั่ว) คือ สัมปะชานะการี
ระดับละเอียด (รู้ให้ชัดและรู้ให้ทั่ว) คือ สิกขา
๑. ดูให้ชัด (ลึก)
๒. ดูให้ทั่ว (กว้าง)
๓. ดูให้ชัดและทั่ว (กว้างและลึก)
ผู้ใดเห็นความเป็นเอง ผู้นั้นชื่อว่ามีการศึกษา
ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง ไปเห็นจากผู้อื่นบอก
ถือว่าไม่ได้รู้ด้วยตนเอง
ถึงแม้จะเรียนพระไตรปิฎกจบ
ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้
เพราะไม่ได้รู้เอง
ถ้ารู้ด้วยตนเอง
แม้จะไม่ได้อ่านพระไตรปิฎก
ก็ถือว่ามีการศึกษาสูงได้
ให้ดูอาการของความไม่พอใจชัดๆ ขณะที่มันเกิด
ถ้าไม่ได้ฝึกก็ดูไม่เป็น ไปดูคนที่เราโกรธแทน
ดูอาการของราคะชัดๆ
ในที่สุดก็จะเห็นการเกิดดับของกิเลส
มันจะเกิดความรุ่มร้อนบีบคั้นกดดัน
เป็นทุกข์เหมือนไฟเผา
การที่เราจะเบื่อหน่ายคลายจาง
จิตของเราจะต้องได้รับรู้โทษภัยของสิ่งนั้นจนซึ้ง
ในที่สุดก็เกิดญาณอันหนึ่ง เรียกว่านิพพิทาญาณ
ถ้าเราได้ดูอาการของความกำหนัด
ความโลภ ความเพลิน ราคะ โทสะ โมหะ
เป็นร้อยครั้งพันหน
เหมือนน้ำเกลือเข้มข้น เติมน้ำเปล่าเข้าไป
ร้อยแก้วพันแก้ว
น้ำที่เค็ม หวาน ร้อน ก็จะหมดสภาพ
ราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะดับปั๊บเลย
แต่เราได้เจือจางทุกครั้งที่มันเกิด
คนที่ยังไม่ได้ฝึก พอมันเกิด
เราก็ไปเติมความเข้มข้นให้มัน
ยิ่งเค็ม หวาน ร้อน ขึ้นอีก
เติมความรู้เข้าไปเรียกว่าสิกขติ
การศึกษาคือการเจือจางด้วยความรู้ของตัวเอง
ทักษะที่เราเจือจางลงไป
เรียกว่าวิปัสสนาญาณ ญาณทัสสนะ
สกิ แปลว่าเดี๋ยวเดียว
พระสกิทาคามี โกรธแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย
มีความใคร่เกิดขึ้นแป๊บเดียวก็หาย
ดูหนังฟังเพลงเพลินแป๊บเดียวก็เบื่อแล้ว
องค์มรรคต้องเริ่มด้วยปัญญา
สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ
องค์รัตนตรัยเริ่มต้นด้วยศีล
ดูออกไปข้างนอกเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ดูกลับเข้ามาข้างในเป็นสัมมาทิฏฐิ
ดูอดีตอนาคตเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ดูปัจจุบันเป็นสัมมาทิฏฐิ
ดูปัจจุบันเป็นเรื่องของสติปัญญา
ดูอดีตอนาคตเป็นเรื่องของตัณหาอุปาทาน
นิยามของอริยสัจสี่
๑. หลักการเบื้องต้นของสัมมาทิฏฐิคือ
ให้มารู้ว่าร่างกายเป็นที่ตั้งของทุกข์
อาการที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงตัวของทุกข์
ไม่ใช่เรา
ความง่วง ความลังเลสงสัย
เป็นอาการของทุกข์ทั้งหมด
เราอย่าไปเป็นกับมัน เฝ้าดูไปเรื่อยๆ
๒. ให้ตามดูว่าอาการเร่าร้อนวุ่นวายเกิดจากอะไร
ตามดูก็จะพบว่า
มันเกิดจากการที่เราคิดไปโดยไม่รู้สึกตัว
เราก็มาเร่งเร้าความรู้สึกตัวให้ชัดๆ
ก็จะละเหตุคือความทุกข์ได้
เพราะทุกข์เกิดจากการที่เราลืมดูอาการของมัน
๓. ปรับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้เข้มแข็ง
ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการ
นั่งแล้วเบื่อ ดูอาการเบื่อจนเต็มที่
แล้วก็ปรับเป็นยืนบ้าง เป็นเดินบ้าง
๔. เมื่อความรู้สึกตัวทั่วพร้อมชัดเจนผ่อนคลายแล้ว
ลองดูว่ามันเที่ยงหรือไม่
ดูว่ามันจะจืดจาง เลือนลางไปตอนไหน
เพราะมันเกิดแล้วต้องดับ
จะดับช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
การเกิดดับสมดุลกันเมื่อใด
ก็เกิดปัญญาทันที
ถ้ามันยังสไลด์ไปมา
สุขบ้างทุกข์บ้าง คิดบ้างไม่คิดบ้าง
เราก็ตามดูมัน
จนกระทั่งจุดโฟกัสมาเห็นปัจจุบันชัด
เกิดแสงสว่างวาบขึ้นมาทีหนึ่ง แล้วก็ดับไป
จิตก็วิ่งต่อไป สลับไปเรื่อยๆ เกิดการสั่งสม
ทุกครั้งที่ลงล็อคจะเกิดการผ่อนคลาย สบาย
แต่เนื่องจากสติสัมปชัญญะยังไม่คงที่
อีกสักพักหนึ่งก็สไลด์ไปมาอีก เราก็ปรับมันอีก
ช่วงใดปรับลงปั๊บก็จะได้อารมณ์ผ่อนคลาย
อาศัยการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวและสังเกต
เมื่อใดที่เราสามารถปรับการสไลด์ไปมา
ให้ลงตรงกลางพอดี
เราจะนั่งได้นานโดยไม่รู้สึกหนัก
เรียกว่าลง ณ ปัจจุบัน มันจะไม่ง่วง
จะตื่นตัวอยู่เสมอ