ถอดธรรมบรรยายจากคลิป นวัตกรรมแห่งสติ ๑๐ Published on 2017-07-182019-04-11 by เซ็น สยาม คลิปนวัตกรรมการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว๑๐ พระธรรมเทศนา ณ วัดดอย เย็น ๖ ก.ค. ๖๐ โดย หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, พระพุทธยานันทภิกขุ, หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, Direk Saksith, ดิเรก ศักดิ์สิทธิ์, Deva Nanda เรื่อง เปลี่ยนกรรมวิบากเป็นกรรมฐาน การปลีกวิเวกมีความสำคัญ เหมือนเราซักผ้าเสร็จแล้วไม่ได้นำมาตาก ถึงจะสะอาดแต่ก็ใส่ไม่สบาย บางทีจะแย่ยิ่งกว่าผ้าที่ไม่ได้ซักเสียอีก เช่นเดียวกับใจที่ชำระแล้ว แต่ยังไม่ได้ตากหรืออบ การเก็บอารมณ์ช่วยบ่มใจให้แห้ง ไก่ที่ไข่ออกมาแล้วถ้าไม่กก ก็ไม่เปลี่ยนเป็นลูกไก่ ข้าวที่แช่แล้วถ้าไม่หุงก็ไม่สุก การปลีกวิเวกคือการบ่มใจให้มันสุก จิตที่เราฝึกเหมือนรูปธรรมที่ต้องบ่ม คนอีสานเวลาที่ร่างกายช้ำในก็เอาไปย่าง เพื่อให้เลือดลมไหลเวียน จิตที่ช้ำใจ เครียด ขุ่นเคือง ก็ต้องเอาไปย่าง อารมณ์ที่ขึ้นสูงพอตกลงมาแรงก็เลยช้ำ อารมณ์พอใจขึ้นสูง พอเสียใจหล่นตุ้บลงมาเลย ช้ำแล้วช้ำอีก แต่ไม่เคยเอาไปย่าง ร่างกายนานๆ จะบอบช้ำสักที แต่จิตใจมีเรื่องให้บอบช้ำทุกวัน วันละหลายครั้ง เราจึงมาอบรมให้จิตเข้มแข็ง ตกลงมาสูงขนาดไหนก็ไม่ช้ำ ลูกบอลตกลงมาไม่ช้ำ ยิ่งตกก็ยิ่งกระเด้ง เพราะข้างในมันว่าง ถ้าจิตว่างถูกกระทบเท่าไรก็ไม่ช้ำ ขึ้นสูงลงต่ำไม่มีปัญหา ถ้าจิตมันวุ่นตกลงมาก็ช้ำ จะทำอย่างไรให้จิตว่างจะได้ไม่ช้ำใจ ถ้าไม่ว่างคือวุ่น ถ้าไม่วุ่นคือว่าง ว่างจากอะไร? ถ้าลูกบอลว่างแบบไม่มีอะไรเลย เวลาเราเตะไปมันก็จะแฟ่บ ที่มันกระเด้งได้เพราะมันมีลมอยู่ข้างใน ถ้าจิตว่างจากความวุ่นวาย กิเลสตัณหา แต่เต็มด้วยสติสัมปชัญญะ ใครเตะก็ไม่ช้ำ วัตถุกับนามธรรมไม่ต่างกัน แต่ที่มันต่างกันเพราะเราไม่เข้าใจ ไม่รู้เท่าทันในสิ่งนั้น เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่มีใครอยากทำจิตให้วุ่น แต่ทำไมมันจึงวุ่น ทำให้ว่างต้องทำใจ แต่ถ้ามันวุ่นไม่ต้องทำอะไรเลย แก้วที่มีน้ำเต็มแก้ว กับแก้วที่ว่าง อันไหนใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากัน? แก้วที่ว่างไม่มีน้ำ แต่มีอากาศอยู่ข้างใน ยังดื่มไม่ได้ เมื่อเติมน้ำจนเต็ม ไม่มีอากาศเหลืออยู่ ก็ดื่มน้ำได้ แก้วที่เต็มด้วยอากาศก็มีประโยชน์ เต็มด้วยน้ำก็มีประโยชน์ ถ้าเราดื่มน้ำในแก้ว แล้วเอาไปให้คนอื่นดื่มต่อ เขาก็ไม่กล้าดื่มเพราะมันสกปรก ถ้าเราเอาอะไรใส่ลงไป เขาก็ยิ่งไม่อยากดื่ม เพราะน้ำนั้นไม่ปกติ แก้วน้ำจึงมี ๓ ลักษณะ ๑ เต็มด้วยอากาศที่สะอาด ๒ เต็มด้วยน้ำที่สะอาด ๓ เต็มด้วยน้ำและอากาศที่ไม่สะอาด จิตของเราในแต่ละวันก็จะมี ๓ อย่าง ๑ จิตว่างแบบไม่มีอะไร ๒ จิตเต็มด้วยน้ำที่สะอาด ๓ จิตเต็มด้วยน้ำที่สกปรก ๑ จิตเต็มด้วยสติปัญญา ๒ จิตเต็มด้วยสติสัมปชัญญะ มีความคิดที่ดี ๓ จิตเต็มด้วยความคิดที่ไม่ดี กิเลส ตัณหา ๑ จิตเต็มด้วยอากาศแต่ว่างจากน้ำ ๒ จิตเต็มด้วยน้ำแต่ว่างด้วยอากาศ ๓ จิตเต็มด้วยน้ำที่ไม่สะอาด บางครั้งเราต้องการจิตว่าง บางครั้งก็ต้องการจิตที่คิดดีเป็นประโยชน์ บางครั้งจิตเต็มไปด้วยความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นอกุศล เราไม่ต้องการจิตแบบนี้ แต่ในชีวิตประจำวันจิตของเรา เต็มไปด้วยความคิดที่ไม่สะอาด จึงเป็นเหตุของทุกข์ เพราะเราขาดความรู้เท่าทัน ถ้ารู้เท่าทันเราก็จะไม่ใส่น้ำที่ไม่สะอาด ถ้าไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำ ก็ทำแก้วให้ว่างเอาไว้ เรารู้เท่าทัน เมื่อใดจะดื่มค่อยเอาไปตักน้ำ ถ้าไม่ต้องการดื่มก็ทำความสะอาดเก็บไว้ แต่ส่วนใหญ่เราดื่มก็ทิ้งแก้วไว้อย่างนั้น ไม่ดื่มก็ทิ้งแก้วไว้อย่างนั้น คนอื่นมาเห็นจะเอาแก้วไปตักน้ำมาดื่ม ก็ไม่รู้ว่าสะอาดหรือเปล่า มันจึงเต็มไปด้วยความไม่รู้ จิตไม่มีตัวตนเหมือนแก้วน้ำ เราจะไปจัดการมันได้อย่างไร? เราเอาจิตมาดูไม่ได้ แต่เอามือมาดูได้ จิตกับมือเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่? ถ้าเป็นคนละสิ่ง ทำไมเราบอกให้คนตายยกมือไม่ได้ แต่เราบอกคนเป็นให้ยกมือได้ เพราะคนตายไม่มีจิต แสดงว่าจิตกับมือเป็นคนละสิ่งเดียวกัน ขึ้นอยู่กับกรรม คือการกระทำ บอกให้ยกมือ เราจะยกหรือไม่ยกก็ได้ เพราะการยกคือกรรมอันหนึ่ง ถ้าเราบอกว่าใครยกมือเป็นสุนัข ก็จะไม่มีใครกล้ายก แต่ถ้าเราบอกว่าใครยกมือก่อน ได้รางวัลหนึ่งพันบาท คนก็จะรีบยกมือ กรรมเป็นการกระทำร่วมกัน ระหว่างกายกับใจ รูปกับนาม เฉพาะกายที่ไม่มีจิต ทำกรรมไม่ได้ เฉพาะจิตปราศจากกาย ก็ทำกรรมไม่ได้ สิ่งที่ทำร่วมกันได้คือกายกับจิต ทำออกมาเป็นกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมดี กรรมชั่ว กรรมไม่ดีไม่ชั่ว จิตนี้จึงทำงานได้ด้วยอาศัยกาย กายทำงานได้ด้วยอาศัยจิต เราจะกล่าวว่าจิตกับกายเป็นคนละอันไม่ได้ แต่เป็นคนละอันเดียวกัน คือรูปกับนาม กระบอกไฟฉายทรงกระบอก จับมาวางแนวนอนบนท่อนไม้กลม มันไม่สามารถตั้งอยู่ได้ แต่ถ้าจับกระบอกไฟฉายวางบนพื้นในแนวตั้ง มันก็จะตั้งอยู่ได้ กระบอกไฟฉายทรงกระบอก จับวางแนวนอน มันจะกลิ้งไปมา เป็นอนิจจังมันไม่เที่ยง เป็นทุกขังจึงตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาพึ่งไม่ได้ จับกระบอกไฟฉายวางแนวตั้ง ฐานมันเที่ยงไม่กลิ้งไปมา แต่ถ้าเป็นไม้ตะเกียบเล็กๆ ก็จะตั้งไม่อยู่ เพราะฐานมันเล็ก ถ้านำขันน้ำมาวางคว่ำ ฐานมันกว้าง ก็จะยิ่งมั่นคง แบ่งก้นขันออกเป็นสี่ส่วนคือ กาย เวทนา จิต ธรรม มันจึงเที่ยง จิตของเราถ้าตั้งอยู่บนฐานของ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็จะมั่นคง เราปฏิบัติเพื่อขยายฐานของสติให้กว้างขึ้น เรียกว่าสติปัฏฐาน จิตของเรามันจะไม่เที่ยงขนาดไหน พอตั้งอยู่บนฐานที่เที่ยง จิตก็พลอยเที่ยงไปด้วย นี่คือการพิสูจน์ธรรมะที่เป็นนามธรรมว่า ถ้าเอาจิตไปตั้งบนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่เที่ยง ฐานที่เป็นขัน มันเที่ยงเพราะมันกว้าง มันกว้างเพราะมันเที่ยง เราขยายฐานให้กว้าง เรียกว่ากรรมฐาน คือการขยายฐานสติสัมปชัญญะให้กว้างขึ้น การปฏิบัติที่ไม่ขยายฐาน ของสติสัมปชัญญะให้กว้างขึ้น ไม่เรียกว่ากรรมฐาน สมมติว่ากระบอกไฟฉายทรงกลมคือจิต เต็มไปด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่พออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเที่ยง กลายเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เกิดแสงสว่าง ถ้าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยังมืดอยู่ การที่จะเข้าใจสัจจธรรมได้ง่ายต้องอาศัยรูป หลวงพ่อยกมือขึ้น พวกเรามองเห็น แต่ถ้าหลวงพ่อยกจิตขึ้น ไม่มีใครเห็น หลวงพ่อยกทั้งมือทั้งจิต เห็นทั้งมือทั้งจิต เพราะถ้าไม่มีจิตก็จะไม่เห็นมือ เราเห็นมือเพราะจิตมันพายกขึ้น แต่ถ้าสั่งหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อไม่ทำตาม แสดงว่าไม่เกิดกรรม แต่ถ้าหลวงพ่อทำตามอย่างมีสติสัมปชัญญะ เกิดกรรมฐาน ถ้าทำแบบไร้สติสัมปชัญญะเป็นกรรมวิบาก เราต้องฝึกตัวรู้เพื่อขยายฐานของกรรม ขยายมากเข้าก็กลายเป็นกรรมฐาน แต่ที่เราขยายกรรมวิบาก ให้เป็นกรรมฐานได้ยาก เพราะความเคยชิน เราเคยชินกับฐานที่กลิ้งไปมา เพราะมันสนุก เล่นกับความเที่ยง ความไม่เที่ยง ความรัก ความชัง การได้การเสีย พระอริยเจ้าเห็นว่าการเล่นกับสิ่งเหล่านี้มันไม่จบ ท่านเลยยกจิตขึ้นมาบนฐานที่มันเที่ยง มันก็จบ ไม่เล่นแต่เป็นจริง เป็นสัจจธรรมที่ง่ายๆ แต่เรานึกไม่ถึง เรามัวแต่คิดเรื่องลึกๆ ไกลๆ ทุกวันนี้เราเล่นกับผิดกับถูก ดีกับชั่ว ผู้หญิงผู้ชาย นรกสวรรค์ ไม่เคยจบ เล่นมากี่ภพกี่ชาติจำไม่ได้ ถ้าเราไม่เล่นก็คงไม่ได้เกิดมาแบบนี้ ถ้าเราหยุดเล่นก็จะไม่ต้องเกิดอีก มันเที่ยงต่อการไปสู่ความสงบ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ถูดไม่ผิด ไม่ดีไม่ชั่ว เหนือสุขเหนือทุกข์ ไม่ขึ้นไม่ลง เป็นโลกุตตระ อย่าไปคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องยาก เพราะเราคิดเอาเองจึงกลายเป็นเรื่องยาก Direk Saksith www.buddhayanando.com f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้, หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม, Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ) ถอดธรรมบรรยายจากคลิป นวัตกรรมแห่งสติ ๒๐
One thought on “ถอดธรรมบรรยายจากคลิป นวัตกรรมแห่งสติ ๑๐”
Comments are closed.